วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510: ประวัติความเป็นมา


ประวัติความเป็นมา
ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ ประเทศไทยเคยมีพระราชบัญญัติการแพทย์ พระพุทธศักราช 2466 (แก้ไขเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง) ซึ่งควบคุม วางระเบียบบังคับ และเลื่อนฐานะของการประกอบโรคศิลปะ ทั้งต้องการคุ้มครองประชาชนปราศจากอันตรายจากการได้รับบริการจากผู้ไม่รู้หรือผู้ไม่เคยฝึกหัดในการประกอบโรคศิลปะ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับยานั้นมีเพียงเรื่องการปรุงยาที่อยู่ในนิยามของโรคศิลปะ ยังไม่มีเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องกับยา เช่น การขาย การนำเข้า การโฆษณา จนกระทั่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยา คือ
1. พระราชบัญญัติควบคุมการขายยา พุทธศักราช 2479, พระราชบัญญัติควบคุมการขายยา (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2481, พระราชบัญญัติควบคุมการขายยา (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2484
2. พระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. 2493, พระราชบัญญัติการขายยา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2498, พระราชบัญญัติการขายยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2499, พระราชบัญญัติการขายยา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2500, พระราชบัญญัติการขายยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2505

กฎหมายว่าด้วยการขายยาซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ยังมีการควบคุมกิจการเกี่ยวกับการผลิตยา ขายยา และนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรตลอดจนการควบคุมให้มีเภสัชกรรับผิดชอบเกี่ยวกับการขายยาอันตราย และส่วนอื่น ๆ อีกที่ยังไม่รัดกุมและเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชน จึงเป็นเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510

พระราชบัญญัติยา ฉบับปัจจุบัน มีดังนี้ 
1. พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510
          ยกเลิกพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. 2493 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม  
2. พระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2518
          แก้ไขนิยามของคำว่า "ผู้อนุญาต" เนื่องจากในขณะนั้นได้โอนอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกรมส่งเสริมสาธารณสุข และอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสาธารณสุข เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกองควบคุมอาหารและยา ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องแก้ไขบทนิยามคำว่า "ผู้อนุญาต" เสียใหม่ให้ตรงตามหน้าที่ของส่วนราชการในกระทรวงสาธารณสุขที่ได้มีการปรับปรุงใหม่ โดยเปลี่ยนผู้มีหน้าที่อนุญาตผลิตยา หรือการนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร จากปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  อีกทั้งในขณะนั้นได้มีการยุบรวมจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกันและต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรุงเทพมหานครแล้ว จึงเปลี่ยนข้อความจาก "จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี" เป็น "กรุงเทพมหานคร" ด้วย
3. พระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522
          ปรับปรุงส่วนที่เกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนผู้ใช้ยา ทั้งในด้านผู้รับอนุญาต อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ และในส่วนที่เกี่ยวกับคุณภาพของยารวมทั้งวิธีการควบคุมคุณภาพและการโฆษณาขายยา ให้คุ้มครองและให้ความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ใช้ยาอย่างพอเพียง เช่น การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการยา  การอนุญาตการผลิต ขาย นำเข้ายา ปรับปรุงหน้าที่ของผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ปรับปรุงหน้าที่ของผู้รับอนุญาต ปรับปรุงประเภทยาที่ห้ามผลิต ขาย นำเข้า ปรับปรุงเงื่อนไขการโฆษณายา และปรับปรุงบทกำหนดโทษ
4. พระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2527
          สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ไม่ได้มีการระบุว่าให้มีเภสัชกรตลอดเวลาเปิดทำการ จึงทำให้ไม่มีมีเภสัชกรประจำร้านยาหรืออยู่กี่ชั่วโมงก็ได้ ต่อมาพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 3) ได้กำหนดให้ร้านยาต้องมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาทำการ แต่ร้านยาที่เปิดก่อน 14 พฤษภาคม พ.ศ.2522 ได้อนุโลมให้มีเภสัชกรอยู่ 3 ชั่วโมงติดต่อกัน ส่วนร้านยาที่เปิดใหม่ไม่ได้รับการอนุโลม และปรากฏว่าร้านยาที่เปิดก่อน 14 พฤษภาคม พ.ศ.2522 นั้นยังไม่สามารถหาเภสัชกรประจำตลอดเวลาเปิดทำการได้ พระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 4) จึงได้มีการผ่อนผันออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2529 อย่างไรก็ตามถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าท้องที่ใดมีเภสัชกรเพียงพอที่จะกำหนดให้ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันต้องจัดให้มีเภสัชกรประจำอยู่ตลอดเวลาที่เปิดทำการก่อนวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2529 ก็ได้
5. พระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2530
          แก้ไขนิยามคำว่า "ยาใช้ภายนอก" "ยาใช้เฉพาะที่" "ยาบรรจุเสร็จ" "ผลิต" "ขาย" เพิ่มนิยามคำว่า "ขายส่ง" ""ด่านนำเข้า" ปรับปรุงประเภทใบอนุญาต ปรับปรุงหน้าที่ผู้รับอนุญาต หน้าที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ การกำหนดเรื่องการขายยาเป็นชุด ปรับปรุงการเพิกถอนทะเบียนตำรับยา และปรับปรุงบทกำหนดโทษ