วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ข้อสังเกตการโฆษณายาชื่อการค้า ดีคอลเจน (Decolgen) หรือทิฟฟี่ (Tiffy)

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
ปรับปรุงล่าสุด 30 มิถุนายน 2557

เดิมก่อนวันที่ 19 กันยายน 2554 สูตรยาชื่อการค้า ดีคอลเจน (Decolgen) หรือทิฟฟี่ (Tiffy) (หรือชื่อการค้าอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน แต่ขอยกตัวอย่าง 2 ชื่อนี้เนื่องจากสามารถพบเห็นโฆษณาได้บ่อย) ที่ถือว่าไม่เป็นยาอันตราย จะมีแค่ยาพาราเซตามอล (paracetamol) กับคลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต (chlorpheniramine maleate) เท่านั้น โดยต้องมี paracetamol ต้องอยู่ในขนาด 300 - 500 มิลลิกรัม, chlorpheniramine maleate ขนาด 1 - 2 มิลลิกรัม จึงจะได้รับการยกเว้นเป็นยาอันตราย (ดูรายการยาอันตรายลำดับที่ 32 ง) ต้องไม่มีตัวยา phenylephrine หรือ pseudoephredrine ถ้ามี phenylephrine หรือ pseudoephredrine ผสมด้วยจะถือเป็นยาอันตรายทันที

เมื่อสูตรยามีเพียงยาพาราเซตามอล (paracetamol) กับคลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต (chlorpheniramine maleate) ถือว่าไม่ใช่ยาอันตราย ดังนั้น จึงสามารถโฆษณาโดยตรงต่อประชาชนทั่วไปได้ แต่ทั้งนี้ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน แต่ถ้ามีสูตรยา phenylephrine หรือ pseudoephredrine ผสมด้วยจะถือเป็นยาอันตรายไม่สามารถโฆษณาโดยตรงต่อประชาชนได้

ปัญหามีอยู่ว่า ชื่อการค้า ดีคอลเจน (Decolgen) หรือทิฟฟี่ (Tiffy) นั้น มีทั้งที่สูตรไม่เป็นยาอันตราย และเป็นยาอันตราย แม้จะอ้างว่าสูตรที่เป็นยาอันตรายนั้น จะมีชื่อต่อท้าย เช่น พริน  เดย์ หรืออื่น ๆ ก็ตาม แต่ก็มีชื่อหลักที่เหมือนกันคือ ดีคอลเจน (Decolgen) หรือทิฟฟี่ (Tiffy) การโฆษณา “ชื่อยา” และ “สรรพคุณ” โดยใช้สูตรยาที่สามารถโฆษณาโดยตรงต่อประชาชนได้ แต่ชื่อการค้านั้นสามารถสื่อถึงสูตรยาอันตรายซึ่งไม่สามารถโฆษณาโดยตรงต่อประชาชนได้นั้นมีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด ถือว่าชิงความได้เปรียบในเรื่องของการโฆษณาหรือไม่ และอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการมียาที่ไม่เหมาะสมในร้านขายของชำ หรือร้านขายยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ (ร้านประเภท ขย.2) ก็ได้

ควรจะต้องมีการพิจารณาชื่อการค้าไม่ให้มีส่วนของชื่อที่ซ้ำกันระหว่างสูตรที่ไม่เป็นยาอันตราย และสูตรที่เป็นยาอันตราย เช่น สูตรที่ไม่เป็นยาอันตราย ใช้ชื่อ ดีคอลเจน (Decolgen) หรือทิฟฟี่ (Tiffy) ส่วนสูตรที่เป็นยาอันตราย ห้ามใช้ชื่อ ดีคอลเจน (Decolgen) + ชื่อต่อท้าย (เช่น prin) หรือ หรือทิฟฟี่ (Tiffy) + ชื่อต่อท้าย (เช่น DEY) แต่ให้เปลี่ยนชื่อการค้าใหม่ไปเลย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มี ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาอันตราย ฉบับที่ 24 (ราชกิจจานุเบกษา 19 กันยายน 2554) ประกาศออกมาแล้ว กำหนดให้ยาสูตรผสมที่มี phenylephrine ขนาดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม ผสมกับ chlorpheniramine ขนาดไม่เกิน 4 มิลลิกรัม หรือ brompheniramine ขนาดไม่เกิน 4 มิลลิกรัม ซึ่งจะมีพาราเซตามอล ขนาดไม่เกิน 325 มิลลิกรัม ผสมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งบรรจุเป็นยาบรรจุเสร็จชนิดเม็ดหรือแคปซูล แผงละ 4 เม็ด หรือ 10 เม็ด ตามเงื่อนไขที่กำหนด มีสถานะไม่เป็นยาอันตราย ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2554 เป็นต้นไป ส่งผลให้ยาที่มีสูตรผสมนี้สามารถโฆษณาโดยตรงต่อประชาชนได้ และสามารถขายในร้านขายยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษได้ (ร้าน ขย.2) (ดูรายละเอียดจากเรื่อง สถานะของยาที่มี phenylephrine เป็นส่วนประกอบ  http://rparun.blogspot.com/2011/10/phenylephrine.html ) แต่ยาสูตรผสมที่มี pseudophedrine เป็นส่วนประกอบ ทั้งชนิดเม็ด แคปซูล และชนิดน้ำ หากมีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบยังคงมีสถานะเป็นยาอันตราย ถ้าไม่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบจะเป็นยาควบคุมพิเศษ ไม่สามารถโฆษณาโดยตรงต่อประชาชนได้

แต่สูตร Tiffy DEY และ Decolgen Prin ยังคงเป็นยาอันตราย เนื่องจากมีพาราเซตามอลผสมอยู่ 500 มิลลิกรัม ซึ่งเกินข้อยกเว้นไม่เป็นยาอันตรายที่กำหนดปริมาณพาราเซตามอลเพียง 325 มิลลิกรัม (ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถโฆษณาโดยตรงต่อประชาชนได้)



ต่อมามีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ (เพิ่มเติม) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 3 เมษายน 2555 กำหนดให้ยาสูตรผสมที่มีซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine) ยกระดับเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 จึงทำให้ทิฟฟี่ ฟู, ดีคอลเจน พลัส กลายเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 ไปด้วย ซึ่งไม่สามารถโฆษณาโดยตรงต่อประชาชนได้เช่นกัน ขณะที่สูตรผสมที่มี phenylephrine ขนาดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม ผสมกับ chlorpheniramine ขนาดไม่เกิน 4 มิลลิกรัม หรือ brompheniramine ขนาดไม่เกิน 4 มิลลิกรัม ซึ่งจะมีพาราเซตามอล ขนาดไม่เกิน 325 มิลลิกรัม ผสมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ได้ ยังโฆษณาได้ตามปกติ

สรุป
1. สูตรที่โฆษณาได้โดยตรงต่อประชาชนทั่วไป มีแค่ chlorpheniramine maleate 1-2 mg ผสมกับ paracetamol 300-500 mg ที่ผลิตขึ้นเป็นยาบรรจุเสร็จชนิดเม็ด ยกเว้นเป็นยาอันตราย ลำดับที่ 32ง แต่ต้องบรรจุแผงละ 4 หรือ 10 เม็ด (ดู ยาที่ได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาอันตราย รายการที่ 5) แต่ไม่สามารถขายในร้านชำหรือร้านสะดวกซื้อได้ เนื่องจากไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน สามารถขายในร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ประเภท ข.ย.1) และร้านขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ (ประเภท ข.ย.2) ได้
2. สูตรที่ขายในร้านยา คือ ดีคอลเจน พริน, ทิฟฟี่ เดย์ เป็นยาอันตราย จึงไม่สามารถโฆษณาโดยตรงต่อประชาชนทั่วไปได้ (สาเหตุที่เป็นยาอันตราย เพราะมีพาราเซตามอลผสมอยู่ 500 มิลลิกรัม ซึ่งเกินข้อยกเว้นไม่เป็นยาอันตรายที่กำหนดปริมาณพาราเซตามอลเพียง 325 มิลลิกรัม) ขายได้เฉพาะร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ประเภท ข.ย.1) เท่านั้น
3. สูตรผสมที่มี phenylephrine ขนาดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม ผสมกับ chlorpheniramine ขนาดไม่เกิน 4 มิลลิกรัม หรือ brompheniramine ขนาดไม่เกิน 4 มิลลิกรัม ซึ่งจะมีพาราเซตามอล ขนาดไม่เกิน 325 มิลลิกรัม ผสมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งสามารถโฆษณาโดยตรงต่อประชาชนทั่วไปได้ แต่จากการค้นหาข้อมูลล่าสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ยังไม่พบสูตรนี้ของทิฟฟี่และดีคอลเจน
4. หากมีสูตรน้ำที่มีตัวยาแอนติฮิสตามีน (antihistamine) หรือ phenylephrine ชนิดน้ำจะเป็นยาอันตรายทันที เนื่องจากไม่มีข้อยกเว้นให้พ้นจากการเป็นยาอันตรายเลย




ส่วนคำเตือนในการใช้ยา ดูได้ที่ https://pharmaphila.wordpress.com/2013/07/20/tiffy-decolgen/ 

_______
ประวัติการแก้ไข
8 ตุลาคม 2554 เวลา 12.35 น.
4 เมษายน 2555 เวลา 7.00 น. 
17 พฤษภาคม 2555 เวลา 23.45 น. 
10 ตุลาคม 2555 เวลา 3.45 น. (เพิ่มรูป) 
30 มิถุนายน 2557 เพิ่มสรุปและแก้ไขชื่อการค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน

วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทบทวนข่าวผลิตภัณฑ์ Adoxy (เอโดซี) รอบปี พ.ศ. 2550 – 2553

เอโดซี (Adoxy) ตามข้อมูลที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตาม พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ผลิตภัณฑ์นี้เป็นผลิตภัณฑ์จากจมูกข้าวสาลีผง (Wheat germ powder) โปรตีนสกัดจากถั่วเหลือง (Isolate soy protein) สารสกัดจากแครอท (Carrot extract) ผงมะละกอ (Papaya powder) สารสกัดจากงาดำ (Black sesame extract) สารสกัดจากผักชี (parsley extract) ผงผักโขม (spinach powder) และสารสกัดจากถั่วขาว (navy bean extract) บรรจุในขวดพลาสติก-พีอี-สีขาว น้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 15-1000 มิลลิลิตร เลขสารบบอาหารที่ 10-1-30547-1-0037 ผู้ผลิต คือ บริษัทสยามไบโอเทคและอุตสาหกรรมเภสัช จำกัด

จุดขายของผลิตภัณฑ์นี้ มีความเชื่อว่ามีคุณสมบัติในการช่วยย่อยสารอาหาร การเพิ่มออกซิเจนในเลือด ขจัดสารพิษ ให้พลังงานแก่เซลล์ ฟื้นฟูพลังงาน ช่วยระบบขับถ่าย


ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เอโดซี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 – 2553 มีดังนี้

16 มีนาคม 2550
นักมวยชื่อดังสนใจทำธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชนิดนี้

25 เมษายน 2550
ผลิตภัณฑ์นี้ได้เข้ามาจำหน่ายในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจเป็นขายตรง

16 ตุลาคม 2550
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้แถลงข่าวการเปรียบเทียบปรับบริษัทผู้ฝ่าฝืนเรื่องการโฆษณาตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 40, 41 ประเด็นที่ฝ่าฝืนกฎหมายมีดังนี้

1. การโฆษณาฝ่าฝืนตามมาตรา 40 เป็นการหลอกลวงและโฆษณาเกินจริง
(1) การโฆษณาว่าเป็นน้ำออกซิเจน ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีการนำน้ำออกซิเจนมาเป็นส่วนผสมเลย
(2) การโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคเรื้อรังได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทั้งที่ไม่ได้เป็นยารักษาโรคตามที่กล่าวอ้าง
(3) ในทางการแพทย์ไม่มีการนำออกซิเจนไปให้เซลล์โดยการผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ ไม่มีสารอาหารใดสามารถนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายคนได้ และสารอาหารไม่สามารถนำออกซิเจนกระจายไปยังเซลล์ต่าง ๆ ได้ วิธีเดียวที่ออกซิเจนจะไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้นั้น จะต้องเป็นการหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปโดยกระบวนการหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไป เม็ดเลือดแดงจะจับออกซิเจนไปแลกเปลี่ยนที่ปอดแลวไปตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย

2. การโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 41 เนื่องจากมีการทำสื่อเผยแพร่ และการโฆษณาผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาในขณะนั้น (นพ.ศิริวัฒน์ ทิพยะราดล) ยังกล่าวด้วยว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าสามารถทำให้สุขภาพดีขึ้น สำหรับเลขสารบบอาหารที่ 10-1-30547-1-0037 ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาออกให้นั้น เป็นเพียงการประเมินในเรื่องคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของสารอาหารที่เป็นส่วนผสมว่าปลอดภัย สถานที่ผลิตมีระบบการผลิตที่ดีเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงการอนุญาตโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร เนื่องจากเป็นเพียงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เบื้องต้นยังไม่พบว่ามีสารอื่นที่ส่งผลร้ายต่อร่างกาย ข่าวยังแจ้งต่อไปอีกว่าผลิตภัณฑ์นี้ราคาสมาชิก 950 บาท และราคาขายปลีก 1,250 บาท ขนาดบรรจุ 15 มิลลิกรัม

13 มีนาคม 2551
นายไพโรจน์ รื่นวิชา รองประธานบริษัทวินเนอร์ ไวน์เวิร์ล กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์เอโดซีเริ่มต้นผลิตที่สหรัฐอเมริกา มีแพทย์หลายคนแนะนำให้รู้จักเพราะใช้แล้วได้ผล ผลิตภัณฑ์นี้อยู่ในตลาดตั้งแต่เมษายน 2549

15 กุมภาพันธ์ 2553
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เอโดซี (Adoxy) ว่ามีการอวดอ้างสรรพคุณโฆษณาเกินจริง มีการโฆษณาแพร่หลายทั้งในรูปแบบแผ่นพับ โฆษณาผ่านทีวีเคเบิล ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยระบุว่าสามารถรักษาได้หลายโรคทั้งเบาหวาน มะเร็ง หัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคอื่น ๆ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ระงับการโฆษณาแล้ว ส่วนการระบุเครื่องหมายรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นการรับรองเฉพาะส่วนประกอบและสถานที่ผลิตเท่านั้น ไม่ได้รับรองสรรพคุณที่มีการอวดอ้าง ผลิตภัณฑ์นี้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้องมีการระบุข้างขวดว่า “ไม่มีผลต่อการรักษา” แต่ไม่ปรากฏว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่พบข้อความดังกล่าวแต่อย่างใด

19 เมษายน 2553
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำหนังสือแจ้งมายังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อให้แจ้งไปยังวัดและพระสงฆ์ทราบข้อปฏิบัติในการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ และคุณภาพอาหารและยาตามสื่อต่าง ๆ ว่าการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ และคุณภาพอาหาร ต้องได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 และห้ามโฆษณามีลักษณะเป็นเท็จ ทำให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ตามมาตรา 41

6 มิถุนายน 2553
นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ามีผู้ร้องเรียนมาที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งการตรวจสอบของ อย. เอง พบว่ามีผลิตภัณฑ์ที่ยังคงฝ่าฝืนลักลอบโฆษณาทางเคเบิลทีวีอยู่ ได้แก่
1. ผลิตภัณฑ์ “จิ่วเจิ้งปู่เซินเจียวหนัง” อวดอ้างสรรพคุณฟื้นฟูตับไต ลดอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ แก้ปวดเมื่อย
2. ผลิตภัณฑ์ “ชาขาว White Nature” อวดอ้างสรรพคุณเหมือนอินซูลินตามธรรมชาติ ทำให้ผนังเส้นเลือดไม่ตีบ ระบบการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น
3. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “Majic Iris”อวดอ้างสรรพคุณฟื้นฟูกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศชาย ขับนิ่ว บำรุงไต ลดภาวะต่อมลูกหมากโต
4. ผลิตภัณฑ์ “Adoxy” อวดอ้างสรรพคุณเหมาะกับผู้มีปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นแผลเบาหวาน แผลติดเชื้อ แผลที่เกิดจากโรคมะเร็ง
5. ยาน้ำสมุนไพร “หลง หลง” อวดอ้างสรรพคุณบรรเทาอาการปวดเมื่อย ปวดประจำเดือน ไมเกรน เกาต์

24 มีนาคม 2554
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โฆษณาประกาศเตือนอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพอ้างรักษาสารพัดโรคร้าย ระวัง! อันตรายที่แฝงมา โดยมีภาพผลิตภัณฑ์เอโดซี (Adoxy) อยู่ในหน้าประกาศด้วย



สรุปข่าวผลิตภัณฑ์เอโดซี (Adoxy)
1. ผลิตภัณฑ์เอโดซี (Adoxy) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ไม่ใช่การขึ้นทะเบียนเป็นยา จึงไม่มีสิทธิอวดอ้างสรรพคุณในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค
2. ยังไม่พบข่าวของผลิตภัณฑ์มีปัญหาในกระบวนการผลิต หรือมีสารที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
3. ผลิตภัณฑ์นี้มีปัญหาเรื่องการโฆษณา เช่น การโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. การโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อน ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 41 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
5. ข้อสังเกตเกี่ยวกับพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 การโฆษณาอันเป็นเท็จ หรือโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ว่าจะเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ไม่สามารถเพิกถอนใบอนุญาตผลิตหรือนำเข้าอาหารได้ ทำได้แต่พักใช้ใบอนุญาตเท่านั้น แต่ถ้าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์หรือเป็นอาหารปลอม ต้องมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด ผู้อนุญาต (เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาหรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยามอบหมาย) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหาร มีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้ ตามมาตรา 46 วรรคสอง


เอกสารอ้างอิง
1. ‘หาดใหญ่’ ระดมเร่งเตรียมงานลุยจัดมหกรรมขายตรง ครั้งที่ 5. สยามธุรกิจ 25-27 เมษายน 2550 หน้า 31, 32
2. FDA bans supplementary product. The Nation. Vol. 32 No. 51675, 17 October 2007 page 2A
3. อย.ฟันอาหารเสริมเอโดซีสรรพคุณเกินจริง. โพสต์ทูเดย์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1714 วันพุธที่ 17 ตุลาคม 2550 หน้า A6
4. ตีทะเบียนอะลูเวีย ต้านไวรัสเอดส์ ปรับ-คุก ‘เอโดซี’ โฆษณาเกินจริง. คมชัดลึก ปีที่ 7 ฉบับที่ 2188 วันพุธที่ 17 ตุลาคม 2550 หน้า 1, 14
5. เปิดใจรองเลขาฯ อย. กรณีสินค้าขายตรง น้ำออกซิเจนที่ระบาดเต็มท้องตลาด. สยามธุรกิจ ปีที่ 13 ฉบับที่ 844 วันเสาร์ที่ 10 – 13 พฤศจิกายน 2550 หน้า 38
6. วอนรัฐบาลเหลียวมองธุรกิจขายตรง. สยามรัฐ ปีที่ 58 ฉบับที่ 20044 วันที่ 13 มีนาคม 2551 หน้า 17
7. ส่งเหยื่อป้าเช็ง เข้า รพ.ควักตา หยอดจนตาบอด ฤทธิ์ยาหยอดตาเจียระไนเพชรทำหนุ่มตาบอด อย.เงื้อฟันอาหารเสริม ‘เอโดซี’ แหกตา. ไทยโพสต์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 4856 วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 หน้า 1, 2
8. เตือนพระเป็นพรีเซนเตอร์ระวังผิดกฎหมาย. ไทยรัฐ ปีที่ 61 ฉบับที่ 19081 วันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2553 หน้า 15
9. อย.สั่งระงับโฆษณา 5 ผลิตภัณฑ์สุขภาพ. ไทยรัฐ ปีที่ 61 ฉบับที่ 19130 วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน 2553 หน้า 1, 19
10. เรื่องเด่นสุขภาพดีกับ อย. อย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพอ้างรักษาสารพัดโรคร้าย ระวัง! อันตรายที่แฝงมา. ข่าวสด ปีที่ 20 ฉบับที่ 7420 วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2554 หน้า 7

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เภสัชกรประจำร้านขายยาแผนปัจจุบัน ประเภท ขย.1

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2554



ผู้เกี่ยวข้องเมื่อเริ่มเปิดขออนุญาตเปิดร้านขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา

     ในที่นี้จะขอพูดถึงแต่ร้านยาแผนปัจจุบันที่เป็นประเภท ขย. 1 เท่านั้น (ร้านยาที่สามารถขายยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษได้) เมื่อต้องการขออนุญาตเปิดร้านยา ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มีบุคคลที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย คือ

     1. ผู้อนุญาต คือ ผู้ที่มีอำนาจอนุญาตให้เปิดร้านยาได้ ซึ่งหมายถึงเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (หรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยามอบหมาย ในที่นี้จะขอเรียกว่า อย.) กรณีร้านยาที่จะขออนุญาตเปิดอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดกรณีร้านยาที่จะขออนุญาตเปิดอยู่ต่างจังหวัด

     2. ผู้รับอนุญาต คือ ผู้ที่จะขอเปิดร้านยา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเจ้าของร้านยา (เจ้าของทุน) คนนี้จะเป็นเภสัชกรหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าไม่ใช่เภสัชกรก็ต้องหาผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านยาให้ได้

     3. ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ เนื่องจากในที่นี้พูดถึงแต่ร้านขายยาแผนปัจจุบันประเภท ขย. 1 จึงหมายถึง เภสัชกรเท่านั้น ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการหมายถึงเภสัชกรที่จะมาประจำร้านยาที่จะขออนุญาต หากเป็นเภสัชกรเป็นผู้รับอนุญาตหรือขอเปิดร้านเอง ก็สามารถใส่ชื่อตนเองเป็นเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการเองได้ หรือจะหาเภสัชกรคนอื่นมาเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการได้ หรือจะใส่ชื่อทั้งตัวเอง หรือคนอื่นมาเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการได้ ถ้าผู้รับอนุญาต (เจ้าของร้านยาหรือเจ้าของทุน) ไม่ใช่เภสัชกร ก็จะต้องหาเภสัชกรมาประจำร้านให้ได้ ร้านยาที่จะเปิดแห่งหนึ่งสามารถมีรายชื่อเภสัชกรมาประจำกี่คนก็ได้ กฎหมายไม่ได้ห้าม แต่เมื่อเปิดร้านทุกช่วงเวลาจะต้องมีเภสัชกรมาประจำอยู่ แต่ต้องไม่ลืมว่าหากมีเภสัชกรประจำร้านยิ่งมาก นั่นหมายความว่าร้านนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นตามไปด้วย ส่วนใหญ่จึงพบเห็นร้านยาส่วนใหญ่มีชื่อเภสัชกรเพียงคนเดียว


เวลาเปิดทำการ คืออะไร

     “เวลาที่เปิดทำการ” แม้ว่าพระราชบัญญัติยาจะไม่ได้นิยามคำนี้ไว้ แต่เป็นที่เข้าใจว่าคือเวลาที่สถานที่ขายยา (ร้านขายยา) ให้บริการแก่ประชาชน (เหมือนกับคำว่าเวลาสถานที่ที่ราชการเปิดทำการ ก็คือเวลาที่สถานที่ราชการให้บริการแก่ประชาชน)


ร้านยาต้องมีผู้ที่จะปฏิบัติการประจำอยู่ ณ สถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตลอดเวลาที่เปิดทำการ หมายความว่าอย่างไร

     กรณีร้านขายยาแผนปัจจุบัน พ.ร.บ.ยาฯ กำหนดให้ต้องมีผู้ที่จะปฏิบัติการประจำอยู่ ณ สถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตลอดเวลาที่เปิดทำการ นั่นหมายความว่า ถ้าร้านยาเปิดเวลาใด เมื่อเข้าไปในร้านจะต้องพบเภสัชกรอยู่ตลอด จะไม่มีเภสัชกรอยู่ประจำร้านแค่ 3 ชั่วโมง จากเวลาเปิดร้านทั้งหมด เพราะกฎหมายยกเลิกทุกกรณีที่อนุโลมไว้โดยสมบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529 แล้ว

     สมมติว่า ร้านยาแห่งหนึ่งต้องการเปิดร้านขายยาเป็นเวลา 18 ชั่วโมงต่อวัน โดยเปิดช่วง 6.00 – 24.00 น.



     หากร้านยานี้ต้องการทำถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ก็ควรจะต้องหาเภสัชกรมาประจำร้านให้ได้ 18 ชั่วโมงต่อวันทุกวัน ในความเป็นจริงเภสัชกรที่ไม่ใช่ตัวเจ้าของร้านยาเอง หรือไม่ใช่ญาติเจ้าของร้านยา ไม่สามารถอยู่ได้ถึงติดต่อกันถึง 18 ชั่วโมงต่อวัน และขัดกับกฎหมายแรงงานในปัจจุบัน แต่บางครั้งก็พบว่าผู้อนุญาต (อย. หรือผู้ว่าราชการจังหวัด) กลับไม่เฉลียวใจว่าเภสัชกรจะอยู่ปฏิบัติการได้จริงหรือไม่ ซึ่งทำให้เปิดปัญหาแขวนป้าย (มีชื่อเภสัชกรอยู่ประจำร้านแต่ไม่พบตัวเภสัชกรชื่อนั้น) อยู่บ่อยครั้ง เราทราบแล้วว่า ร้านยาแห่งหนึ่งจะมีเภสัชกรกี่คนก็ได้ เช่น กำหนดให้มีเภสัชกร 2 คน คนหนึ่งอาจปฏิบัติหน้าที่ช่วง 6.00 – 15.00 น. ส่วนอีกคนปฏิบัติหน้าที่ช่วง 15.00 – 21.00 น. ซึ่งไม่ขัดกับกฎหมายแรงงานด้วย

     หากร้านยานี้เริ่มทำสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมายในเรื่องช่วงเวลาเปิดร้าน เช่น ขอเปิดร้านในช่วง 12.00 – 24.00 น. แต่ขายยาจริง ตั้งแต่ 6.00 – 24.00 น. ช่วงเวลา 6.00 – 12.00 น. คือการเปิดร้านโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดของผู้รับอนุญาตเท่านั้น พนักงานเจ้าหน้าที่อาจมองว่าเป็นการขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต (ไม่ได้รับอนุญาตในช่วง 6.00 – 12.00 น.) ต้องระวางโทษตามมาตรา 101 คือ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือถ้าเบาหน่อยอาจตีความว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในกฎกระทรวงว่าด้วยการขายยา ซึ่งรับเพียงโทษปรับเท่านั้น

     ถ้าช่วงเวลาที่ขออนุญาตเปิดร้าน ระหว่าง 12.00 – 24.00 น. ต้องหาเภสัชกรมาประจำให้ได้ตลอดช่วงเวลา 12 ชั่วโมงนี้ สมมติว่าเภสัชกรคนหนึ่งตกลงกับผู้รับอนุญาต (เจ้าของร้านยา) ว่าสามารถมาปฏิบัติงานได้ในช่วงเวลา 18.00 – 21.00 น. ผู้รับอนุญาต (เจ้าของร้านยา) จะต้องหาเภสัชกรมาประจำร้านในช่วง 12.00 – 18.00 น. และช่วงเวลา 21.00 – 24.00 น. ให้ได้ ถ้า 2 ช่วงเวลานี้ ไม่มีเภสัชกรประจำ เป็นความผิดของผู้รับอนุญาต (เจ้าของร้านยา) ที่ไม่สามารถหาเภสัชกรที่จะมาประจำร้านยาได้ ซึ่งจะมีผลต่อการขายยาด้วย ตามกฎหมายโดยเคร่งครัดแล้ว ช่วงที่ไม่มีเภสัชกรอยู่จะสามารถขายได้เพียง “ยาสามัญประจำบ้าน” และ “ยาสมุนไพร” (“ยาสมุนไพร” ไม่ใช่ “ยาแผนโบราณ”) แต่คงจะทำได้ยาก เพราะเพียงแค่มีคนมาขอซื้อลูกอมฆ่าเชื้อก็มีความผิดฐานขายยาอันตรายในระหว่างเภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ (พ.ร.บ.ยาฯ มาตรา 32) ทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ของรัฐก็อนุโลมและผ่อนผัน เคร่งครัดเฉพาะยาฆ่าเชื้อนับเม็ด ยาฆ่าเชื้อแบบแผง หรือยาสำหรับโรคเรื้อรัง นอกจากนี้การปล่อยให้มีช่วงเวลาที่ไม่มีเภสัชกรอยู่ประจำร้านควรให้เป็นความผิดของผู้อนุญาต (อย.หรือผู้ว่าราชการจังหวัด) ที่ไม่ตรวจสอบ

     ถ้าช่วงเวลาที่ขออนุญาตเปิดร้าน ระหว่าง 12.00 – 24.00 น. มีเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการซึ่งตกลงกับผู้รับอนุญาต (เจ้าของร้านยา) แล้วไปแจ้งต่อผู้อนุญาตว่า เภสัชกรสามารถอยู่ปฏิบัติการช่วง 18.00 – 21.00 น. ได้ หากมีพนักงานเจ้าหน้าที่ไปตรวจในช่วงเวลา 18.00 – 21.00 น. แล้วไม่พบเภสัชกรอยู่ เภสัชกรมีความผิดฐานไม่อยู่ปฏิบัติการ ตาม พ.ร.บ.ยาฯ มาตรา 39 (หรือที่ในวงการเภสัชกรรมเรียกว่า “แขวนป้าย”) ต้องระวางโทษตามมาตรา 109 คือ ระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท และพนักงานเจ้าหน้าที่จะส่งเรื่องไปยังสภาเภสัชกรรมเพื่อพิจารณาคดีจรรยาบรรณวิชาชีพเภสัชกรรมต่อไป ส่วนผู้รับอนุญาต (เจ้าของร้าน) มีความผิดที่ไม่สามารถหาเภสัชกรที่จะมาประจำร้านยาในช่วงที่เภสัชกรไม่อยู่ได้ และห้ามผู้รับอนุญาตขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 32 หากมีการขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ต้องระวางโทษตามมาตรา 107 คือ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท

     ถ้าช่วงเวลา 18.00 – 21.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาปฏิบัติหน้าที่ของเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติงาน เกิดเหตุจำเป็นที่ทำให้เภสัชกรไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เภสัชกรได้มีเจตนาหลีกเลี่ยง หรือเภสัชกรได้แจ้งผู้รับอนุญาต (เจ้าของร้านยา) ว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลานั้น แม้พนักงานเจ้าหน้าที่มาตรวจร้านยานั้นแล้วไม่พบเภสัชกรดังกล่าว เภสัชกรคนนั้นก็ไม่ควรต้องรับผิดฐานไม่อยู่ปฏิบัติการ ตาม พ.ร.บ.ยาฯ มาตรา 39 และไม่ควรจะต้องคดีจรรยาบรรณวิชาชีพเภสัชกรรม อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่พึงฝากให้ระลึกถึงว่า กรณีความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับอนุญาต (เจ้าของร้านยา) กับเภสัชกร เป็นแบบสัญญาจ้างแรงงาน เภสัชกรอาจรับผิดแทนเจ้าของผู้รับอนุญาต (เจ้าของร้านยา) โดยอ้างว่าไม่ได้แจ้งไว้ทั้งที่อาจแจ้งไปแล้วก็ได้


เภสัชกรไม่อยู่ร้านในช่วงเวลาที่ระบุควรทำอย่างไร

     หากเภสัชกรผู้มีชื่อเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในช่วงเวลาที่แจ้งไว้ สามารถแก้ปัญหาได้ดังนี้

     1. ปิดร้านขายยาชั่วคราว จนกว่าจะมีเภสัชกรมาทำหน้าที่

     2. หากต้องการเปิดร้าน (ซึ่งตามหลักการแล้ว ควรหลีกเลี่ยง) ควรมีป้ายแสดงให้เห็นในทำนองว่าขณะนี้เภสัชกรไม่อยู่ ปิดบังพื้นที่ขายยาและห้ามขายยาที่ต้องดำเนินการโดยเภสัชกร เช่น การขายยาอันตราย หรือการขายยาควบคุมพิเศษ หรือยาเสพติดให้โทษ (กรณีร้านยามีใบอนุญาต) หรือขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (กรณีร้านยามีใบอนุญาต) ต้องเก็บหรือปิดตู้หรือล็อคให้เรียบร้อย

     3. สามารถขายได้เฉพาะยาสามัญประจำบ้าน และยาสมุนไพร ส่วนการขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในร้านขายยาแผนปัจจุบันในขณะเภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ เป็นช่องว่างของกฎหมายที่ไม่ได้กำหนดไว้และไม่มีบทลงโทษ ผู้รับอนุญาต (เจ้าของร้าน) จึงยังคงขายได้

     4. จัดหาเภสัชกรอื่นมาประจำร้านแทนในช่วงเวลาปฏิบัติการของเภสัชกรที่มีชื่อเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ (เภสัชกรห้วงเวลา, part time) กรณีเภสัชกรในร้านยาไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ในร้านยาชั่วคราวไม่เกิน 60 วัน ผู้รับอนุญาต (เจ้าของร้านยา) จะต้องจัดหาเภสัชกรที่มีคุณสมบัติเดียวกัน และแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้อนุญาต (อย. หรือผู้ว่าราชการจังหวัด) ก่อน เภสัชกรอื่นจึงจะปฏิบัติหน้าที่แทนได้ (มาตรา 33 ทวิ) ผู้รับอนุญาต (เจ้าของร้านยา) การฝ่าฝืนโดยการไม่จัดหาเภสัชกรมาปฏิบัติหน้าที่ ต้องระวางโทษตามมาตรา 107 ทวิ คือ ปรับไม่เกิน 500 บาท แต่มีข้อสังเกตว่าหากผู้รับอนุญาต (เจ้าของร้านยา) ไม่ได้แจ้งชื่อไปยังผู้อนุญาต เภสัชกรอื่นมาประจำร้านแทนอาจถือเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในสถานที่ขายยาโดยตนมิได้มีชื่อเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในสถานที่นั้น ตามมาตรา 45 ซึ่งจะทำให้ต้องระวางโทษตามมาตรา 110 คือ ปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเภสัชกรที่มาปฏิบัติหน้าที่แทน อย่างไรก็ตาม หากมีการฝ่าฝืนขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 32 ต้องระวางโทษตามมาตรา 107 คือ ผู้อนุญาต (เจ้าของร้านยา ถูกปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท


ผู้รับอนุญาตใช้ชื่อเภสัชกรคนหนึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ แต่ในทางปฏิบัติมีเภสัชกรคนอื่นทำหน้าที่ปฏิบัติงานจริง

     บางกรณีผู้รับอนุญาต (เจ้าของร้านยา) เมื่อครั้งขออนุญาตเปิดร้านขายยา ใช้ชื่อเภสัชกรคนหนึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ แต่ในความเป็นจริงมีเภสัชกรอีกคนทำหน้าที่เภสัชกรประจำร้านยานั้นแทน กรณีนี้สามารถแยกได้ดังนี้

     1. เภสัชกรซึ่งมีชื่อเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านยานั้น ปกติได้ปฏิบัติหน้าที่ในร้านยานั้นด้วย แต่มีเหตุไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน กรณีจะเข้ามาตรา 33 ทวิ ผู้รับอนุญาต (เจ้าของร้านยา) จะต้องหาเภสัชกรอื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามมาตรา 107 ทวิ คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

     2. เภสัชกรซึ่งมีชื่อเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านยานั้น เคยปฏิบัติงานในร้านยานั้น แต่ต่อมาเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เช่น มีการยกเลิกสัญญาจ้างเภสัชกร ปกติเภสัชกรต้องแจ้งไปยังผู้อนุญาต (อย. หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด) ภายใน 7 วันนับแต่วันที่พ้นหน้าที่ ตามมาตรา 34 หากเภสัชกรฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามมาตรา 108 คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ผู้รับอนุญาต (เจ้าของร้านยา) ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้อนุญาตทราบว่าไม่มีเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการภายใน 7 วัน ตามมาตรา 33 วรรคสอง หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามมาตรา 106 คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

     เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการประจำสถานที่ขายยา ถือเป็นสิ่งที่ผู้ขออนุญาตเปิดร้านยาจะต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 14(9) ถ้าไม่มีเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ผู้อนุญาตโดยคำแนะนำของคณะกรรมการยามีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 96 ได้ ส่งผลให้ร้านยานั้นถูกปิดได้ หากร้านยานั้นไม่สามารถหาเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการได้ทันในทางปฏิบัติอาจจะมีการร้องขอเภสัชกรนั้น ขอใช้ชื่อเภสัชกรนั้นเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการไปก่อน และจะหาเภสัชกรอื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทนจนกว่าจะได้เภสัชกรที่มาปฏิบัติหน้าที่ประจำร้านนั้น หากผู้รับอนุญาต (เจ้าของร้านยา) นั้นมีความซื่อสัตย์ก็จะจัดหาเภสัชกรอื่นมาปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน และแจ้งต่อผู้อนุญาตว่ามีเภสัชกรอื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน ตามมาตรา 33 ทวิ กรณีนี้ก็อาจมองว่าเป็นแขวนป้ายหรือไม่ เพราะมีชื่อเภสัชกรอยู่ประจำร้านแต่ไม่พบตัวเภสัชกรชื่อนั้นแต่กลับพบเภสัชกรอื่นแทน หากร้านยาสามารถหาเภสัชกรมาแทนที่เภสัชกรคนเดิมได้ จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้อนุญาตทราบ ตามมาตรา 33 วรรคแรก เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะสามารถเปลี่ยนตัวได้

     3. เภสัชกรซึ่งมีชื่อเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านยานั้น แต่ไม่เคยปฏิบัติงานในร้านยานั้นเลย กรณีเภสัชกรมีความผิดฐานไม่อยู่ปฏิบัติการ ตาม พ.ร.บ.ยาฯ มาตรา 39 (หรือที่ในวงการเภสัชกรรมเรียกว่า “แขวนป้าย”) ต้องระวางโทษตามมาตรา 109 คือ ระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท และพนักงานเจ้าหน้าที่จะส่งเรื่องไปยังสภาเภสัชกรรมเพื่อพิจารณาคดีจรรยาบรรณวิชาชีพต่อไป

     เภสัชกรผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนยังต้องมีหน้าที่เช่นเดียวกันกับเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการประจำร้าน ในช่วงเวลาที่ตนมาทำหน้าที่แทน ในขณะเดียวกันตราบใดที่เภสัชกรยังมีชื่อของตนเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการประจำร้านใด ก็ยังคงมีหน้าที่รับผิดชอบตามมาตรา 39 ต่อร้านนั้น แม้ว่าร้านนั้นจะหาเภสัชกรอื่นมาอยู่แทนก็ตาม


หน้าที่ของเภสัชกรประจำร้านขายยาแผนปัจจุบัน

1. อยู่ประจำ ณ สถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตลอดเวลาที่เปิดทำการ (ช่วงเวลาที่ตนมีชื่อเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ)

2. ควบคุมการแยกเก็บยาสำหรับสัตว์เป็นส่วนสัดจากยาอื่น การแยกเก็บยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ และยาอื่น ๆ ให้เป็นส่วนสัด

3. ควบคุมการปฏิบัติเกี่ยวกับฉลากยา จัดให้ฉลากตามที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาที่ภาชนะและหีบห่อบรรจุยาตามที่กำหนด ครบถ้วน คือ
     (ก) ชื่อยา
     (ข) เลขที่หรือรหัสใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา
     (ค) ปริมาณของยาที่บรรจุ
     (ง) ชื่อและปริมาณหรือความแรงของสารออกฤทธิ์อันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของยาซึ่งจะต้องตรงตามที่ขึ้นทะเบียนตำรับยา
     (จ) เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตหรือวิเคราะห์ยา
     (ฉ) ชื่อผู้ผลิตยาและจังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยา
     (ช) วัน เดือน ปี ที่ผลิตยา
     (ซ) คำว่า “ยาอันตราย” “ยาควบคุมพิเศษ” “ยาใช้ภายนอก” หรือ “ยาใช้เฉพาะที่” แล้วแต่กรณี ด้วยอักษรสีแดงเห็นได้ชัดในกรณีเป็นยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ยาใช้ภายนอก หรือยาใช้เฉพาะที่
     (ฌ) คำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” ในกรณีที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน
     (ญ) คำว่า “ยาสำหรับสัตว์” ในกรณีที่เป็นยาสำหรับสัตว์
     (ฎ) คำว่า “ยาสิ้นอายุ” และแสดงวัน เดือน ปี ที่ยาสิ้นอายุ ในกรณีเป็นยาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศยาที่ต้องแจ้งกำหนดสิ้นอายุไว้ในฉลาก หรืออายุของการใช้งานของยาบางชนิด

4. ควบคุมการขายยาให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ เช่น ห้ามขายยาปลอม ยาผิดมาตรฐาน ยาเสื่อมคุณภาพ ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ยาที่ทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก ยาที่ถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับยา การควบคุมดูแลเรื่องการโฆษณาขายยา

5. ปรุงยาในที่ที่ผู้รับอนุญาตขายยาได้จัดไว้เป็นส่วนสัดสำหรับปรุงยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์และสำหรับเก็บยาที่ใช้ในการนั้นด้วย

6. จัดให้มีฉลากที่ภาชนะและหีบห่อบรรจุยาที่ปรุงตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

7. ควบคุมการส่งมอบยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ หรือยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์

8. ควบคุมการทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

9. การอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เช่น การขายยาควบคุมพิเศษจะต้องมีใบสั่งแพทย์


__________
เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง
เวลาเปิดทำการตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม