วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การเพิกถอนทะเบียนตำรับยาและการยกเลิกทะเบียนตำรับยา รอบปี พ.ศ.2552 – 2554

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์



         การเพิกถอนทะเบียนตำรับยา คือ กระบวนการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการยาตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 สั่งให้เพิกถอนทะเบียนตำรับยา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อปรากฏว่ายาใดที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้ว ไม่มีสรรพคุณตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ หรืออาจไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ หรือเป็นยาปลอมตามมาตรา 72 (1) หรือยานั้นได้เปลี่ยนไปเป็นวัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นอาหารหรือเครื่องสำอาง โดยได้รับใบอนุญาตผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารที่ควบคุมเฉพาะหรือได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น



        การยกเลิกทะเบียนตำรับยา คือ กระบวนการที่ผู้รับอนุญาตผลิตยาหรือผู้รับอนุญาตให้นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรสมัครใจขอยกเลิกทะเบียนตำรับยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้วโดยแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกระบวนการที่ผู้รับอนุญาตผลิตยาหรือผู้รับอนุญาตให้นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ได้มีการผลิต หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ซึ่งเป็นการยกเลิกทะเบียนตำรับยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้วโดยปริยาย[1]



        ในรอบปี พ.ศ.2552 – พ.ศ.2554 (1 มกราคม 2552 – 31 สิงหาคม 2554) มีรายการยาที่ถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับยา และการยกเลิกทะเบียนตำรับยาซึ่งในที่นี้หมายถึงการยกเลิกทะเบียนตำรับยาโดยสมัครใจ ดังนี้

         1. การเพิกถอนทะเบียนตำรับยา

                1.1 การเพิกถอนทะเบียนตำรับยาทุกทะเบียนตำรับยาที่มียาบางตัวเป็นส่วนประกอบ

                ก. รอบปี พ.ศ.2552

                (1) Anabolic steroid + vitamin, ± cyproheptadine เพิกถอนทะเบียนตำรับยา และมีผลเป็นการยกเลิกยาควบคุมพิเศษ ลำดับที่ 41 เนื่องจากยาสูตรผสมของยามีแธนดีโนน (Methandienone) กับ ยาไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) เนื่องจากเป็นสูตรยาที่ไม่เหมาะสม อาจมีการนำไปใช้ในเด็กจนก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็ก (คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 736/2552 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา, ราชกิจจานุเบกษา 31 สิงหาคม 2552) เดิมยาที่มีส่วนผสมของ anabolic steroids กับ vitamins หรือ anabolic steroids กับ cyproheptadine หรือ anabolic steroids กับ vitamins และ cyproheptadine เป็นยาควบคุมพิเศษ ลำดับที่ 41 ตัวอย่างชื่อการค้าของยาที่ถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับยา ได้แก่ Anapromine, Azolol plus และ Cetabon

                (2) Carisoprodol เพิกถอนทะเบียนตำรับยา เนื่องจากเป็นยาในกลุ่มคาร์บาเมทออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางไม่มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อโดยตรง มีฤทธิ์สงบประสาทเป็นยานอนหลับและเสพติดได้ อีกทั้งมีความเสี่ยงในการนำไปใช้ในทางที่ผิด อาจเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ยา (คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 547/2552 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา, ราชกิจจานุเบกษา 19 มิถุนายน 2552) นอกจากนี้ carisoprodol ยังเป็นวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ลำดับที่ 235

                (3) Cascara sagrada เพิกถอนทะเบียนตำรับยา ซึ่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยาที่มีคาสคารา ซากราดา (Cascara sagrada) เป็นส่วนประกอบในข้อบ่งใช้ทางระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากอาจได้รับความเสี่ยงจาก genotoxicity และ carcinogenicity ของสารที่เป็นส่วนประกอบในยาดังกล่าว (คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 859/2552 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา, ราชกิจจานุเบกษา 28 สิงหาคม 2552)

                (4) Methocarbamol and Indomethacin เพิกถอนทะเบียนตำรับยา ซึ่งเป็นยาสูตรผสมระหว่าง Methocarbamol และ Indomethacin ชนิดรับประทาน เนื่องจากยาไม่มีสรรพคุณในโรคข้ออักเสบตามที่ขึ้นทะเบียนไว้และอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ (คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 848/2552 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา, ราชกิจจานุเบกษา 24 สิงหาคม 2552)



                ข. รอบปี พ.ศ.2553

                (1) Chlorzoxazone เพิกถอนทะเบียนตำรับยาที่มีตัวยานี้เป็นส่วนประกอบ เนื่องจากไม่มีประสิทธิผลในการคลายกล้ามเนื้อตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ และได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความเป็นพิษต่อตับ จึงอาจเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ยา (คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 1115/2552 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา, ราชกิจจานุเบกษา 26 มีนาคม 2553)

                (2) Fenoverine เพิกถอนทะเบียนตำรับยา เนื่องจากทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่ร้ายแรง คือ rhapdomyolysis ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ (คำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 1421/2552 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา, ราชกิจจานุเบกษา 21 กรกฎาคม 2553)

                (3) Phenolphthalein and Santonin เพิกถอนทะเบียนตำรับยาระบายที่มีฟีนอล์ฟธาลีนเป็นส่วนประกอบ และทะเบียนตำรับยาที่มีฟีนอล์ฟธาลีนและแซนโตนิน เนื่องจากฟีนอล์ฟธาลีนเป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง จึงอาจทำให้เกิดมะเร็งในคนจากการใช้ยาในระยะยาว ซึ่งเมื่อยาเข้าสู่ร่างกายจะถูกขจัดออกอย่างช้า ๆ จึงเพิ่มความเสี่ยงจากการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปฏิกิริยาที่ผิวหนัง และระดับโปแตสเซียมต่ำ เป็นต้น แซนโตนิน มีฤทธิ์เพิ่มพิษต่อระบบประสาท (neurotoxic) และมีรายงานการเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงแม้ใช้ในขนาดต่ำ (คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 985/2553 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา, ราชกิจจานุเบกษา 23 มิถุนายน 2553) นอกจากนี้ยังได้มีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 986/2553 เรื่อง แก้ไขทะเบียนตำรับยาสูตรผสมนิโคลซาไมด์ (Niclosamide) และฟีนอล์ฟธาลีน (Phenolphthalein) (ราชกิจจานุเบกษา 23 มิถุนายน 2553) ให้ตัด Phenolphthalein ออกจากสูตรยาภายใน 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                (4) Phenolphthalein เพิกถอนทะเบียนตำรับยาสูตรผสมที่มีฟีนอล์ฟธาลีน (Phenolphthalein) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีข้อบ่งใช้เป็นยาระบาย เนื่องจากฟีนอล์ฟธาลีนเป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง จึงอาจทำให้เกิดมะเร็งในคนจากการใช้ยาในระยะยาว ซึ่งเมื่อยาเข้าสู่ร่างกายจะถูกขจัดออกอย่างช้า ๆ จึงเพิ่มความเสี่ยงจากการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ อาจทำให้เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ยา (คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 1923/2553 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา, ราชกิจจานุเบกษา 30 พฤศจิกายน 2553)



                ค. รอบปี พ.ศ.2554   

                Rosiglitazone เพิกถอนทะเบียนตำรับยาที่มีโรซิกลิทาโซนเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด (คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 447/2554 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา, ราชกิจจานุเบกษา 18 พฤษภาคม 2554)



                1.2 การเพิกถอนทะเบียนตำรับยาเฉพาะบางทะเบียนตำรับยา

                พบการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาในรอบปี พ.ศ.2554 ดังนี้  

                (1) เพิกถอนทะเบียนตำรับยาเฉพาะชื่อการค้า Paril 5 (เลขทะเบียน 1C 173/51) และชื่อการค้า Paril 20 (เลขทะเบียน 1C 174/51) เนื่องจากมีปริมาณตัวยาสำคัญ คือ อีนาลาพริลมาลีเอท (Enalapril maleate) ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้เกินกว่าร้อยละยี่สิบ เข้าข่ายเป็นยาปลอมตามมาตรา 73 (5) ต้องห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือ นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 72 (1) แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 (คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 462/2554 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา, ราชกิจจานุเบกษา 8 มิถุนายน 2554)

                (2) ยาแผนโบราณ ชื่อยาน้ำ ตราบีเวลล์ (B-VELL BRAND ORAL MIXTURE) (เลขทะเบียนที่ G 273/48) เนื่องจากตรวจพบตัวยาวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาควบคุมพิเศษผสมอยู่ ยาดังกล่าวจึงไม่ใช่ยาแผนโบราณตามตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้และเป็นยาที่ไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ เข้าข่ายเป็นยาปลอมตามมาตรา 73 (1) และ (4) ต้องห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือ นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 72 (1) แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 (คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 506/2554 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา, ราชกิจจานุเบกษา 8 มิถุนายน 2554)



         2. การยกเลิกทะเบียนตำรับยาโดยสมัครใจ 

        การยกเลิกทะเบียนตำรับยาโดยสมัครใจในที่นี้ มักจะเป็นเรื่องทะเบียนตำรับยาดังกล่าวมีปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยในการใช้ยา จากการศึกษาข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา[2] พบว่ามีการขอยกเลิกทะเบียนตำรับยาในรอบปี พ.ศ.2552-2554 ดังนี้

        (1) Efalizumab ชื่อการค้า Raptiva (เลขทะเบียน 1C 140/50) ซึ่งเป็นยาที่มีข้อบ่งใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อนกวางชนิดปานกลางถึงรุนแรงที่มีแผ่นพลาค (plaque) โดยมีผลในวันที่ 8 มิถุนายน 2552 เนื่องจากความเสี่ยงเกี่ยวกับการเกิด progressive multifocal leukoencephalopathy (PML) และอาการไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงอื่น เช่น Guillain-Barré และ Miller-Fixher syndromes, encephalitis, sepsis และ opportunistic infections เป็นต้น ทั้งนี้บริษัท เมิร์ค จำกัด ได้หยุดจัดจำหน่ายยาเป็นการภายในตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552[3]  

        (2) Sibutramine ชื่อการค้า Reductil® ได้แก่ Reductil® 10 mg (เลขทะเบียนที่ 1C 48/47 (NC)) และ Reductil® 15 mg (เลขทะเบียน 1C 49/47 (NC)) ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป เนื่องจากบริษัท แอ็บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด ประกาศถอนยาไซบูทรามีน (Sibutramine) ในสหรัฐอเมริกาโดยสมัครใจ เพราะข้อมูลการทดลองทางคลินิก (SCOUT : Sibutramine Cardiovascular OUTcome Trial) ชี้ให้เห็นว่ายาดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงต่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองถึงร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงน้ำหนักที่ลดลงของผู้ที่ได้รับยานี้กับผู้ที่ได้รับยาหลอกแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย สำหรับองค์การด้านยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicinal Agency) ได้มีการระงับการจำหน่ายยาดังกล่าวในสหภาพยุโรปตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2553[4] แต่ข่าวที่ปรากฏตามสื่อมวลชนต่าง ๆ ว่าเป็นการเพิกถอนทะเบียนตำรับยานั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากไม่ได้มีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา โดยเฉพาะยาที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนประกอบ เป็นเพียงการยกเลิกทะเบียนตำรับยาเท่านั้น  



        ผลของการเพิกถอนทะเบียนตำรับยา และการยกเลิกทะเบียนตำรับยา

        หลายครั้งพบว่ามีการใช้คำที่สับสนกันระหว่างการเพิกถอนทะเบียนตำรับยากับการยกเลิกทะเบียนตำรับยา ซึ่งทั้ง 2 คำนี้มีผลทางกฎหมายที่แตกต่างกันดังนี้  

        1. การเพิกถอนทะเบียนตำรับยา เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ยาที่ถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับยา ไม่สามารถผลิต ขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรอีกต่อไป 

        2. การยกเลิกทะเบียนตำรับยา เมื่อทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิกแล้ว ผู้รับอนุญาตผลิตยาและผู้รับอนุญาตให้นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรห้ามผลิตหรือห้ามนำเข้าอีกต่อไป แต่ยาที่ยกเลิกทะเบียนตำรับยานั้นยังสามารถขายได้ภายใน 6 เดือน สำหรับผู้รับอนุญาตขายยา[5] ซึ่งทั้งผู้รับอนุญาตผลิตยาและผู้รับอนุญาตให้นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรก็ยังสามารถขายส่งยาดังกล่าวได้ภายใน 6 เดือนเช่นกัน เนื่องจากถือว่าเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขายส่งสำหรับยาที่ตนผลิตหรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรด้วย แล้วแต่กรณี ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 15 วรรคสอง



        ข้อสังเกต

        1. ผลของการยกเลิกทะเบียนตำรับยาในพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 72(5) ในกรณีการขายที่ระบุคำว่า “สำหรับผู้รับอนุญาตขายยา” อาจไม่ครอบคลุมเรื่องการใช้ยาในสถานพยาบาล ซึ่งอาจจะมีการใช้ยานั้นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 6 เดือนได้ หากปล่อยให้เป็นดุลพินิจของแพทย์ก็ดูเป็นนามธรรมเกินไปนัก

        2. ยาบางตัวแม้ว่าจะมีอันตรายจากการใช้ยาเกินกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากยาสูงมาก เมื่อใช้วิธียกเลิกทะเบียนตำรับยา ก็มีผลเฉพาะผู้รับอนุญาตซึ่งขอยกเลิกทะเบียนตำรับยาเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อผู้รับอนุญาตรายอื่น แต่ที่ดูเสมือนว่าการยกเลิกทะเบียนตำรับยาแล้วไม่มียาชื่อสามัญนั้นขายอีกต่อไป อาจเป็นเพราะยาดังกล่าวมักเป็นยาที่มีผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว หรือเป็นยาที่มีสิทธิบัตร ซึ่งสามารถขายได้เฉพาะผู้ทรงสิทธิในช่วงเวลานั้น แต่ถ้ายาดังกล่าวหมดอายุของสิทธิบัตรเมื่อใด ผู้รับอนุญาตรายอื่นก็สามารถขึ้นทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญนั้นได้เช่นกัน แต่พนักงานเจ้าหน้าที่อาจไม่รับขึ้นทะเบียนตำรับยาให้เมื่อคณะกรรมการยาเห็นว่ายาที่ขอขึ้นทะเบียนตำรับยานั้นไม่สามารถเชื่อถือได้ในสรรพคุณได้หรืออาจไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ ซึ่งก็อาจมีปัญหาต่อไปอีกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธการขอขึ้นทะเบียนตำรับยาของผู้ขอรับอนุญาตรายอื่นได้หรือไม่ เมื่อโดยปกติการยกเลิกทะเบียนตำรับยาโดยสมัครใจนั้น คณะกรรมการยาก็มิได้มีมติเรื่องความไม่ปลอดภัยเกี่ยวกับยาดังกล่าวแต่อย่างใด หากต้องการไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีการขอยกเลิกทะเบียนตำรับยาได้อีกนั้น คณะกรรมการยาต้องมีมติว่ายาใดมีปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยจากการใช้ยาด้วยซึ่งคณะกรรมการยาสามารถให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นได้ ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 10(1)[6] 

         3. ยาที่เคยถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับยาไปแล้ว ก็อาจนำกลับมาใช้เป็นยาอีกครั้งได้ หากมีมาตรการจัดการความเสี่ยงของยานั้นได้ หรือภายหลังพบว่ายานั้นมีความปลอดภัยสูงพอ ในกรณีที่ยานั้นถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับยาเพราะอาจไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ หรือมีการยืนยันถึงสรรพคุณของยาในกรณีที่เพิกถอนทะเบียนตำรับยาเพราะไม่มีสรรพคุณตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งคณะกรรมการยาอาจให้ความเห็นในการขึ้นทะเบียนตำรับยา ตามตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 10(1) หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีประกาศให้ยานั้นเป็นยาควบคุมพิเศษ หรือยาอันตราย หรือยาสามัญประจำบ้าน ตามที่เห็นสมควร



        หมายเหตุ

        ธาลิโดไมด์ (Thalidomide) ไม่เคยมีประวัติการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาในประเทศไทย เนื่องจากไม่มีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา ดังนั้น จึงเป็นเพียงการยกเลิกทะเบียนตำรับยาเท่านั้น ปัจจุบัน มีการนำธาลิโดไมด์ (Thalidomide) กลับมาใช้อีกครั้ง มีข้อบ่งใช้รักษาโรคที่ร้ายแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต ได้แก่ โรค multiple myeloma (MM) ซึ่งเป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่ง ซึ่งแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาต้องมีความรู้ความชำนาญด้านโลหิตวิทยา และโรค erythema nodosum leprosum (ENL) ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคผิวหนังในคนไข้โรคเรื้อน แพทย์ผู้สั่งจ่ายยาต้องมีความรู้ความชำนาญด้านโรคผิวหนัง โดยมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 32 (ราชกิจจานุเบกษา 8 มิถุนายน 2550) กำหนดให้เป็นยาควบคุมพิเศษ ลำดับที่ 68



[1] แต่ในทางปฏิบัติพนักงานเจ้าหน้าที่จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้รับอนุญาตทราบ
[2] ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. http://thaihpvc.fda.moph.go.th/thaihvc/Public/Webpage/main.jsp
[3] ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.  การยกเลิกตำรับยา Raptiva โดยสมัครใจ. http://thaihpvc.fda.moph.go.th/thaihvc/Public/News/uploads/hpvc_2_5_100146.pdf
[4]  ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. Sibutramine : เพิกถอนทะเบียน ตำรับโดยสมัครใจ.  Newsletter 7/2553 วันที่ 15 ตุลาคม 2553 http://thaihpvc.fda.moph.go.th/thaihvc/Public/News/uploads/hpvc_2_5_0_100206.pdf
[5]   พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 72(5)
    มาตรา 72 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาต่อไปนี้
    (5) ยาที่ทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก สำหรับผู้รับอนุญาตผลิตยาและผู้รับอนุญาตให้นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร หรือทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิกเกินหกเดือนสำหรับผู้รับอนุญาตขายยา                
[6]   พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 10(1)  
    มาตรา 10  ให้คณะกรรมการมีหน้าที่ให้คำแนะนำหรือความเห็นในเรื่องต่อไปนี้
    (1) การอนุญาตผลิตยา ขายยา หรือนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรและการขึ้นทะเบียนตำรับยา

วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ปัญหาการห้ามผลิตภัณฑ์ที่มี Bisphenol A หรือ BPA ในประเทศไทย

 ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

        Bisphenol A (บิสฟีนอล เอ) หรือ BPA (บีพีเอ) คือ อะไร หรือมีความเป็นมาอย่างไรนั้น เบื้องต้นขอให้ศึกษาจาก Fact Sheet สาร BPA ในขวดนม ซึ่งเป็นเอกสารของสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (เอกสารวันที่ 20 มิถุนายน 2554) ดูรายละเอียดได้จาก http://newsser.fda.moph.go.th/fast/data_center/ifm_mod/dyn_page/Fact_Sheet__BPA_in_Baby_Bottle.pdf
        สาเหตุมีความพยายามยกเลิกการใช้ BPA ในผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์ขวดนม เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าเป็นสารก่อมะเร็ง (แต่เอกสารของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาข้างต้น ยังยืนยันว่าสาร BPA ไม่เป็นสารก่อะเร็ง) นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพในด้านอื่นและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลายประเทศมีการประกาศห้ามใช้แล้ว เช่น แคนาดา จีน ประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป ส่วนบางประเทศที่ยังไม่ได้ประกาศห้าม แต่ก็ได้มีความพยายามที่จะลดการใช้ BPA หรือเปลี่ยนไปใช้สารอื่นแทน
        การดำเนินการในประเทศไทย มีความพยายามให้มีการยกเลิกการใช้สาร BPA ในการผลิตพลาสติกโดยเฉพาะขวดนม แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ (มีเพียงเรื่องเดียวที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ การประกาศให้ Bisphenol A หรือ BPA เป็นวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ลำดับที่ 1170) อีกทั้งมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานใดจะเริ่มดำเนินการก่อน ดังนี้
        1. การผลิต การผลิตขวดนมในระดับอุตสาหกรรม อาจมีการส่งเรื่องให้เป็นความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 สามารถกำหนดชนิดและวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิต นั่นหมายความว่าสามารถห้ามวัตถุบางประเภทมาใช้ในการผลิตได้ (เคยมีประกาศห้ามใช้ CFC ในกระบวนการผลิตมาแล้ว)
        2. การขาย ขวดนมที่ผลิตได้อาจมีการส่งเรื่องให้เป็นความรับผิดชอบสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 36 สามารถสั่งห้ามขายได้ ถ้าทำไม่สำเร็จ ก็กำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมฉลากและออกมาตรการด้านฉลาก ตามมาตรา 30-33 (อาจขยายไปยังสินค้าอื่นที่อาจพบ BPA ได้ เช่น ของเล่นเด็ก)
        3. การนำมาใช้ อาจส่งให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 6(6) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุและการใชภาชนะบรรจุ ตลอดจนการห้ามใช้วัตถุใดเป็นภาชนะบรรจุอาหารด้วย ซึ่งก็มีประกาศที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 ฉบับ คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 117 (พ.ศ. 2532) เรื่อง ขวดนม, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 (พ.ศ. 2528) เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุ การใช้ภาชนะบรรจุและการห้ามใช้วัตถุใดเป็นภาชนะบรรจุอาหาร, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 295) พ.ศ.2548 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก
        นอกจากนี้เรื่องการกำหนดมาตรฐานก็อาจจะส่งให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมก็ได้ ซึ่งก็เคยกำหนดมาตรฐานภาชนะบรรจุอาหารที่เป็นสแตนเลส, หัวนมยางสำหรับขวดนมมาแล้ว แต่เมื่อ อย.เคยออกมาตรการเกี่ยวกับขวดนมมาแล้ว ดังนั้น ในเรื่องของการนำมาใช้ ควรเริ่มจาก อย.น่าจะเร็วที่สุด  

วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554

คำพิพากษาศาลฎีกา คดีแพทย์สั่งยาเกินขนาดและนักปรุงยาได้ปรุงยาตามแพทย์สั่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946 - 947/2475
         
กรมอัยการหลวงขจร กลางสนามแลนางขจร กลางสนาม โจทก์
ขุนปราบสรรพโรค ที่ 1 นายจิตร์ ศุขสนั่นที่  2 จำเลย


          คดีทั้ง ๒ สำนวนนี้ โจทก์ต่างฟ้องจำเลยมีข้อหาอย่างเดียวกันว่า เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๓ จำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๒ ผสมยาเฆโนโปเดียมเบื่อพยาธิให้เด็กชายจำเนียน อายุ ๑๒ ขวบ และเด็กชายน้อยอายุ ๖ ขวบ  บุตรหลวงและนางขจร กลางสนาม กินโดยความประมาท เกิดเป็นพิษแก่เด็กทั้ง ๒ จำเลยมิได้รักษาตามสมควร จนเด็กทั้ง ๒ ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๖๔-๒๕๒ และพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ.๒๔๖๖ มาตรา ๑๙ และกฎเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย วันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๒ ข้อ ๒๓-๓๔-๓๕ (๕) ส่วนหลวงขจรและนางขจร กลางสนาม เรียกค่าเสียหาย ๕๐๐๐ บาทฯ

          จำเลยทั้ง ๒ ให้การปฏิเสธความรับผิด จำเลยที่ ๑ ว่าเป็นแพทย์ประจำร้านขายยาวิบูลย์โอสถ จำเลยที่ ๒ เป็นนักปรุงยาประจำร้าน จำเลยที่ ๑ ได้สั่งให้จำเลยที่ ๒ จ่ายยาเฆโนโปเดียมให้แก่เด็กทั้ง ๒ กินจริง และจำเลยที่ ๒ ได้ทำตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ โดยไม่ได้ประมาทการใด ๆ

          ศาลพระราชอาชญาพิจารณาแล้วฟังว่า เด็กทั้ง ๒ ได้ตายเพราะกินยาของจำเลยเกินขนาด โดยจำเลยที่ ๑ สั่งให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนักปรุงยา ไม่มีอำนาจทำการบำบัดโรคทางยาจัดยาให้เด็กกิน เป็นการละเมิดพระราชบัญญัติการแพทย์ มาตรา ๑๙ และเมื่อยาเกิดเป็นพิษแก่เด็ก จำเลยที่ ๑ ไม่รับไปรักษาแก้ไข กลับใช้จำเลยที่ ๒ ไปรักษาแทน จำเลยทั้ง ๒ มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๕๒ จึงพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนดโทษ ๒ ปี จำเลยที่ ๑ มีกำหนดโทษ ๑ ปี กับปรับ ๕๐๐ บาท แต่จำเลยที่ ๑ ได้รับราชการมานานถึง ๑๐ ปี และมีบรรดาศักดิ์เป็นขุน จึงให้รอการลงอาญาจำคุกไว้ กับให้จำเลยทั้ง ๒ ช่วยกันใช้ค่าทำขวัญให้โจทก์ ๒๐๐๐ บาทฯ

          กรมอัยการโจทก์ และจำเลยทั้ง ๒ ต่างอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์ว่าไม่ควรรอการลงอาญาจำเลยที่ ๑ เพราะเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยทั้ง ๒ อุทธรณ์คัดค้านว่าตนไม่ควรมีความผิด

          ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนแล้วเห็นสอดคล้องในข้อเท็จจริงที่ศาลเดิมวินิจฉัยมาทุกประการ แต่ยังไม่เห็นด้วยในข้อกำหนดโทษ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ ๑ เพราะปรากฏว่าแพทย์ได้ผ่าศพเด็กออกตรวจไม่พบตัวพยาธิเลย แสดงว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ตรวจถึงความป่วยไข้ในร่างกายของเด็ก และทั้งไม่ได้ตรวจอุจจาระด้วยก่อนให้กินยา ตรงได้ก็สั่งให้ผสมยาอย่างแรงให้เด็กกินทีเดียว เด็กได้ถึงแก่ความตาย เพราะพิษยาที่จำเลยที่ ๑ สั่งให้ผสมแรงเกินขนาดโดยไม่ต้องสงสัย  ทั้งจำเลยที่ ๑ ปล่อยให้จำเลยที่ ๒ มิใช่แพทย์ มีความรู้แต่เพียงผสมยาเล็กน้อยผสมนั้นเป็นการเลินเล่ออย่างร้ายแรง เมื่อยาเกิดเป็นพิษแก่เด็ก จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ไปแก้ไขพิษยานั้นทันที แต่จำเลยได้ฉีดยาสูบอุจจาระออก และให้กินบรั่นดีเหล่านี้ในภายหลังไม่เกี่ยวแก่การทำลายพิษยา นอกจากจำเลยที่ ๑ ได้เลินเล่อแล้ว ไม่ใส่ใจต่อคนไข้ที่หวังฝากชีวิตแก่จำเลยเสียเลย การที่จำเลยได้กระทำไปนั้น เพียงแต่พอให้พ้น ๆ หน้าที่ไป เท่านั้นฯ

          การที่เด็กทั้ง ๒ ได้ตายลงด้วยความไม่แยแสต่อหน้าที่ของแพทย์ประกอบด้วยความเลินเล่ออันมิบังควรนั้น กระทำให้คนทั้งครอบครัวของเด็กเป็นที่เศร้าโศกมาก กิจการของแพทย์ที่ดี ย่อมรับกันว่าเป็นที่น่านับถือและไว้วางใจ แต่แพทย์ที่เห็นแก่เงินอย่างเดียว ไม่เฉลียวว่าผู้ป่วยไข้จะเป็นอย่างไรนั้น เป็นที่เสียหายต่อพวกแพทย์อื่น ๆ และสาธารณชนยิ่งนัก เพราะฉะนั้นแพทย์ชนิดนี้จำต้องป้องกันเพื่อประโยชน์ของมหาชนฯ

          ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่า จำเลยทั้ง ๒ มีความผิดฐานทำให้ตายโดยประมาท แต่จำเลยที่ ๑ เป็นแพทย์ และเป็นนายของจำเลยที่ ๒ เป็นต้นเรื่องแห่งการกระทำผิดยิ่งกว่าจำเลยที่ ๒ ๆ มีความรู้แต่เพียงเล็กน้อย อยู่ในใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ เพราะฉะนั้นความผิดของจำเลยที่ ๒ จะเทียบกับจำเลยที่ ๑ หาได้ไม่ จึงพิพากษายืนกำหนดโทษจำเลยที่ ๑ ตามศาลเดิมที่วางมา แต่แก้การรอลงอาชญาเป็นให้จำคุกจำเลยที่ ๑ ไปทีเดียว และแก้กำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ ให้ลดลงเหลือ ๖ เดือน และรอการลงอาญาไว้ นอกจากที่แก้คงพิพากษายืนฯ

          จำเลยที่ ๑ ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาในปัญหากฎหมายหลายข้อ แต่ควรยกวินิจฉัย คือฯ
          (๑) ศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคำพิพากษาไม่ตรงตามหลักและคำพยานในสำนวนฯ
          (๒) ศาลวินิจฉัยว่า เด็กตายเพราะกินยาของจำเลยที่ ๑ เกินขนาด เป็นหน้าที่ของจำเลยต้องสืบว่าไม่ได้สั่งให้จ่ายยาเกินขนาดนั้นไม่ชอบ ควรเป็นหน้าที่โจทก์ต้องสืบว่า จำเลยที่ ๑ สั่งยาเกินขนาด เมื่อโจทก์สืบไม่สม จำเลยไม่ต้องสืบแก้ฯ
          (๓) จำเลยที่ ๑ สั่งให้จำเลยที่ ๒ ผสมยาไม่เกินขนาด แต่จำเลยที่ ๒ ผสมเกินขนาด จำเลยที่ ๑ จะมีความผิดฐานทำให้ตายโดยประมาทด้วยหรือฯ

          กรรมการศาลฎีกาได้ตรวจสำนวน ฟังคำแถลงความของคู่ความทั้งสองฝ่าย และประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว ข้อเท็จจริงของคดีคงฟังได้ดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ส่วนปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขึ้นมานั้นในข้อ ๑ กรรมการศาลฎีกาได้ตรวจดูถ้อยคำสำนวนโดยละเอียดตลอดแล้วเห็นว่า ศาลล่างได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในข้อใหญ่ใจความตรงกับหลักฐานคำพยานดังที่ปรากฏในตัวสำนวนทุกประการแล้ว หาได้เป็นการผิดแผกไปจากสำนวนมิได้ฯ

          ในประเด็นข้อ ๒ กรรมการเห็นว่า ในข้อนี้ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยบ่งว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยต้องสืบดังที่จำเลยฎีกาคัดค้านขึ้นมา ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดข้อเท็จจริงไว้ว่า เพราะปรากฏว่าแพทย์ได้ผ่าศพเด็กออกตรวจไม่พบตัวพยาธิเลย แสดงว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ตรวจถึงความป่วยไข้ในร่างกายของเด็ก และทั้งไม่ได้ตรวจอุจจาระเลย ตรงได้ก็สั่งให้ผสมยาอย่างแรงให้เด็กกินทีเดียว กล่าวโดยเฉพาะ คือ ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ ๑ เด็กทั้ง ๒ ได้ตายเพราะพิษยาเฆโนโปเดียมซึ่งจำเลยสั่งให้ผสมแรงเกินขนาดโดยไม่ต้องสงสัย ข้อเท็จจริงนี้ศาลฎีกาจำต้องฟังตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาฯ

          ในประเด็นข้อ ๓ กรรมการเห็นว่า ข้อที่จำเลยที่ ๑ ยกขึ้นอ้างแก้ว่า จำเลยที่ ๑ สั่งให้จำเลยที่ ๒ ผสมยาไม่เกินขนาด หากจำเลยที่ ๒ ผสมยาเกินขนาดเอง ข้อนี้จำเลยที่ ๑ ไม่มีหลักฐานอื่นประกอบว่าจำเลยที่ ๒ ผสมยาเกินขนาดผิดไปจากคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และตามคำของจำเลยที่ ๑ เองก็ได้ความว่า จำเลยที่ ๑ ได้ปลุกจำเลยที่ ๒ สั่งจำเลยที่ ๒ ด้วยปากเปล่าให้ ๆ ยาเฆโนโปเดียมแก่เด็กกิน สั่งแล้วก็กลับไปนอน ต่อเมื่อจำเลยที่ ๒ ขึ้นไปหาน้ำร้อน และถามจำเลยที่ ๑ ว่า จะให้เด็กกินยาในขนาดใด จำเลยที่ ๑ ได้สั่งว่า เด็กอายุ ๑๒ ขวบ ๒๐ หยด เด็ก ๙ ขวบ ๑๕ หยด เด็ก ๓ ขวบ ๕ หยด แต่เด็ก ๓ ขวบนี้ จำเลยประมาณอายุเอาเอง คำสั่งของจำเลยเช่นนี้เห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ ๒ ได้ผสมยาให้เด็กกินตามขนาดที่จำเลยที่ ๑ สั่งนั้น แต่เป็นขนาดยาที่เกินขนาดสำหรับเด็กทั้ง ๒ ๆ กินยาแล้วจึงเกิดเป็นพิษขึ้น ถึงแก่ความตาย ดังนี้ อาศัยเหตุดังกล่าวข้างต้น กรรมการเห็นว่าข้อต่อสู้ของจำเลยในฎีกาเป็นอันฟังไม่ได้ จึงพร้อมกันพิพากษาให้ยกฎีกาจำเลยเสีย

( พรหม - หริศ - หริศ )

ศาลเดิม - พระยานิติศาสตร์
ศาลอุทธรณ์ – นายประแดร์

หมายเหตุ:รายละเอียดคำพิพากษาศาลฎีกานี้นำมาจาก มานิตย์ จุมปา. ข้อควรระวังทางกฎหมายของพยาบาล. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555, หน้า 46-52


สรุปคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946 - 947/2475




(1) คดีนี้เป็นตัวอย่างคดีทางการแพทย์ซึ่งสั่งจ่ายยาฆ่าพยาธิให้เด็กกิน ต่อมาเด็กตาย จึงถูกตัดสินว่าทำให้ตายโดยประมาท
(2) การตัดสินว่าประมาทหรือไม่นั้น ศาลพระราชอาชญา (ศาลชั้นต้น) เห็นว่า ประมาทตรงที่จ่ายยาเกินขนาด ส่วนศาลอุทธรณ์ตัดสินโดยอาศัยพยาน คือ แพทย์ที่ผ่าพิสูจน์เด็ก ไม่พบตัวพยาธิในเด็ก จึงถูกตัดสินว่าประมาทตรงที่ไม่ได้ตรวจโรคเด็กก่อนที่จะจ่ายยา ประเด็นอื่นซึ่งที่ศาลเห็นว่าประมาท คือ เมื่อยาเกิดเป็นพิษแก่เด็กไม่ได้ไปแก้ไขพิษยานั้นทันที ทำการแก้ไขซึ่งไม่เกี่ยวกับการทำลายพิษยา ประเมินอายุของเด็กเอาเอง
(3) แพทย์ ศาลเห็นว่าแพทย์กระทำความผิดจริง เมื่อเด็กตายจึงต้องถูกลงโทษและใช้ค่าเสียหาย ค่าทำขวัญแก่บิดามารดาเด็ก
(4) นักปรุงยา หรือเทียบได้กับเภสัชกรในปัจจุบัน ปรุงยาหรือจัดยาที่เกิดขนาดตามใบสั่งแพทย์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นความผิด จึงกำหนดโทษไว้ แต่ให้รอลงอาญา
(5) คดีนี้มีเพียงแพทย์เท่านั้นที่ฎีกาส่วนนักปรุงยาไม่ได้ฎีกา อาจเป็นเพราะนักปรุงยาเห็นว่าตนไม่ต้องถูกลงโทษจำคุกก็ได้ เนื่องจากศาลให้รอลงอาญา จึงพอใจคำตัดสินเพียงเท่านี้