วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พยาบาลกับการจ่ายยาในคลินิกพยาบาล (บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 520/2555 เรื่อง การรักษาโรคเบื้องต้นและการให้ภูมิคุ้มกันโรคในสถานพยาบาล)

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีบันทึกเรื่องเสร็จที่ 520/2555 เรื่อง การรักษาโรคเบื้องต้นและการให้ภูมิคุ้มกันโรคในสถานพยาบาล ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพการพยาบาล สรุปได้ดังนี้








1. การรักษาโรคเบื้องต้นในคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขหลายประการตามมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพการพยาบาลโดยเคร่งครัด ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาให้ใช้ยาได้ตามคู่มือการใช้ยาที่สภาการพยาบาลกำหนด การให้ภูมิคุ้มกันโรคก็ให้เป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดและตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ดังนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลชั้นหนึ่ง หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง จึงสามารถกระทำการรักษาโรคเบื้องต้นและให้ภูมิคุ้มกันโรคในสถานพยาบาลที่ขอเปิดนั้นได้

2. การใช้ยา ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลชั้นหนึ่ง หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง สามารถทำการรักษาโรคเบื้องต้นและการให้ภูมิคุ้มกันโรคในสถานพยาบาลได้ ดังนั้น หากจำเป็นต้องใช้ยาในการบำบัดโรคแก่คนไข้เพื่อแก้ไขปัญหาความเจ็บป่วยและ บรรเทาอาการของโรคก็สามารถจ่ายยาตามคู่มือการใช้ยาที่สภาการพยาบาลกำหนดตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการประกอบวิชาชีพการพยาบาลตามข้อกำหนดในการรักษาโรคเบื้องต้นและการ ให้ภูมิคุ้มกันโรค พ.ศ. 2545 ได้เท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมายว่าด้วยยา

ติดตามรายละเอียดได้ที่ http://web.krisdika.go.th/data/comment/comment2/2555/c2_0520_2555.pdf

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การขายผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่มีไซบูทรามีน (Sibutramine) มีโทษตามกฎหมาย

การขายผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่มีไซบูทรามีน (Sibutramine) มีโทษตามกฎหมาย

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

          ไซบูทรามีน (Sibutramine) แรกเริ่มนั้นใช้เป็นยาต้านอาการซึมเศร้า ซึ่งพบว่าสามารถลดความอยากอาหารได้ โดยการไปยับยั้งการดูดกลับ (reuptake) ของซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์อะดรีนาลีน (noradrenaline) ที่สมองส่วนไฮโปธาลามัสซึ่งเป็นส่วนที่ควบคมการรับประทานอาหาร จึงมีการพยายามนำมาใช้เพื่อเป็นยาลดน้ำหนัก แต่พบความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น มีความดันโลหิตสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและเสียงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ในด้านของการลดน้ำหนักเมื่อรับประทานยาผ่านไป 6 เดือน กลับพบว่าให้ผลต่างกับยาหลอกเพียงเล็กน้อย จึงทำให้หลายประเทศมีความพยายามในการเลิกใช้ยานี้
          ไซบูทรามีน (Sibutramine) เดิมประเทศไทยมีเพียงชื่อการค้าเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยา คือ รีดักทิล (Reductil) ชนิดแคปซูล 10 มิลลิกรัมและ 15 มิลลิกรัม ต่อมาบริษัทผู้นำเข้ายกเลิกทะเบียนตำรับยาโดยสมัครใจภายใต้คำแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตั้งแต่ 11 ตุลาคม 2553 ดังนั้น ปัจจุบันห้ามผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือผู้รับอนุญาตขายยาผู้ใดขาย นำเข้า ยาที่ทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 72(5) ผู้ฝ่าฝืนต้องได้รับโทษตามมาตรา 120 วรรคสอง คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือมาตรา 120 วรรคสาม ถ้ากระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นยาทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาทแล้วแต่กรณี ส่วนประชาชนทั่วไปที่ขายยาหรือนำเข้ายานี้ ถือว่าเป็นการขายยาแผนปัจจุบันหรือนำเข้ายาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 12 ต้องรับโทษตามมาตรา 101 คือ  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000 บาท ด้วย




รูปที่ 1 ข่าวจากศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

          กรณีของไซบูทรามีน (Sibutramine) ในประเทศไทยนี้คำที่ถูกต้องจะใช้คำว่ายกเลิกทะเบียนตำรับยา ไม่ใช้คำว่าเพิกถอนทะเบียนตำรับยา เนื่องจากไม่ได้มีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา โดยเฉพาะยาที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนประกอบ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่อย่างใด อีกทั้งข่าวจากศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ฉบับที่ 7/2553 วันที่ 15 ตุลาคม 2553 (http://thaihpvc.fda.moph.go.th/thaihvc/Public/News/uploads/hpvc_2_5_0_100206.pdf) และข่าวเพื่อสื่อมวลชน กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา วันที่ 20 ตุลาคม 2553 ข่าวแจก 5/ปีงบประมาณ 2554 (http://elib.fda.moph.go.th/fulltext2/word/41633/41633.pdf) ระบุว่าเป็นเพียงการยกเลิกทะเบียนตำรับยาโดยสมัครใจเท่านั้น



รูปที่ 2 ข่าวจากกองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

          ส่วนไซบูทรามีน (Sibutramine) ในรูปผลิตภัณฑ์ยาชื่อการค้าอื่น เช่น Reduce-15 mg เป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาในประเทศไทย ห้ามผลิต ขาย นำเข้า ตามมาตรา 72(4) ผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษตามมาตรา 122 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ประชาชนทั่วไปที่ขายยาหรือนำเข้ายานี้ ถือว่าเป็นการขายยาแผนปัจจุบันหรือนำเข้ายาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 12 ต้องรับโทษตามมาตรา 101 คือ  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000 บาท ด้วย
          หากผลิตภัณฑ์ใดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทย และมีไซบูทรามีน (Sibutramine) เป็นส่วนผสม ถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจเข้าข่ายอาหารปลอมหากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ตามมาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 27(4) ต้องระวางโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 100,000 บาท
          ประเด็นเรื่องการโฆษณา การโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ยาที่มีไซบูทรามีน (Sibutramine) เป็นส่วนผสม ตัวอย่างเช่น รีดักทิล (Reductil) หรือ รีดิวซ์ (Reduce-15 mg) ตามสื่อต่าง ๆ จะเป็นการโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2522 มาตรา 88 ทวิ นอกจากนี้ยังเป็นการโฆษณาขายยาโดยฝ่าฝืนมาตรา 88(6) ผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษตามมาตรา 124 คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หากเป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการแสดงสรรพคุณในการลดน้ำหนัก เช่น การโฆษณากาแฟลดน้ำหนัก จะเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 41 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามมาตรา 71 คือ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท และเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามมาตรา 70 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


เอกสารอ้างอิง
1. Rang, H. P et al. Rang and Dale's pharmacology.          6th ed. Philadelphia : Elsevier/Churchill Livingstone, 2007, p417
2. ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. Sibutramine : เพิกถอนทะเบียน ตำรับโดยสมัครใจ. ข่าวฉบับที่ 7/2553 วันที่ 15 ตุลาคม 2553 สืบค้นจาก http://thaihpvc.fda.moph.go.th/thaihvc/Public/News/uploads/hpvc_2_5_0_100206.pdf
3. กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. อย. เผยขณะนี้ได้มีการถอนผลิตภัณฑ์ ยาไซบูทรามีนออกจากตลาด โดยความสมัครใจของผู้ผลิตหลังพบเสี่ยงต่อผู้มีประวัติเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ขอให้แพทย์ เภสัชกร งดสั่งจ่ายยาไซบูทรามีนพร้อมเตือนประชาชน ระวังอันตรายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ลักลอบใส่ยาไซบูทรามีนเพื่อลดความอ้วน. วันที่ 20 ตุลาคม 2553 ข่าวแจก 5/ปีงบประมาณ 2554 สืบค้นจาก http://elib.fda.moph.go.th/fulltext2/word/41633/41633.pdf

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
การเพิกถอนทะเบียนตำรับยาและการยกเลิกทะเบียนตำรับยา รอบปี พ.ศ.2552-2554. http://rparun.blogspot.com/2011/12/drugwithdrawal2552-2554.html

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รายชื่อยาเสพติดให้โทษ รอบปี พ.ศ.2555


          รอบปี พ.ศ.2555 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 8 (1) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ประกาศรายชื่อยาเสพติดให้โทษเพิ่มเติม ดังนี้

ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1
Benzylpiperazine หรือ N-benzylpiperazine หรือ BZP เบนซิลพิเพอราซีน หรือชื่อทางเคมี 1-benzylpiperazine ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 10), ราชกิจจานุเบกษา 26 มีนาคม พ.ศ.2555)

Trifluoromethylphenylpiperazine หรือ 3-Trifluoromethylphenylpiperazine หรือ TFMPP ไทรฟลูออโรเมทิลฟีนิล พิเพอราซีน หรือชื่อทางเคมี 1-(3-(trifluoromethyl)phenyl)piperazine ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 10), ราชกิจจานุเบกษา 26 มีนาคม พ.ศ.2555)

ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2
Oripavine ออริพาวีน หรือชื่อทางเคมี (5R)-6,7,8,14-tetradehydro-4,5-epoxy-6-methoxy-17-methylmorphinan-3-ol ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 9), ราชกิจจานุเบกษา 26 มีนาคม พ.ศ.2555)

เพิกถอนทะเบียนวัตถุตำรับที่มีวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท รอบปี พ.ศ. 2550-2555

diazepam + lidocaine เพิกถอนวัตถุตำรับที่มีวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 4 ที่มีไดอะซีแพม (diazepam) และลิโดเคน (lidocaine) เป็นส่วนผสม เป็นยาสูตรผสมที่อาจไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ เพราะอาจเกิดผลเสียต่อระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจ (คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 1355/2553 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนวัตถุตำรับที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4, ราชกิจจานุเบกษา 16 กันยายน 2553)

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ยาควบคุมพิเศษ รอบปี พ.ศ.2555

Zanamivir ยาควบคุมพิเศษ ลำดับที่ 77 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่ 41, ราชกิจจานุเบกษา 2 พฤษภาคม 2555)

Pioglitazone ยาควบคุมพิเศษ ลำดับที่ 78 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่ 42, ราชกิจจานุเบกษา 3 กันยายน 2555)

ยานี้เป็นลดระดับน้ำตาลในเลือด และเป็นยาที่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์เมื่อซื้อยา พร้อมกันนี้ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาที่ต้องแจ้งคำเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและที่เอกสารกำกับยาและข้อความของคำเตือน ฉบับที่ 47 กำหนดให้ ไพโอกลิทาโซน (Pioglitazone) มีคำเตือนดังต่อไปนี้

คำเตือน
1. ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่มีหัวใจล้มเหลวในระดับที่รุนแรง (NYHA ในระดับ 3 และ 4) ยานี้อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หากใช้ยานี้แล้วมีอาการหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย น้ำหนักเพิ่มอย่างรวดเร็ว หรือเกิดอาการบวมมากให้รีบปรึกษาแพทย์โดยทันที
2. การใช้ร่วมกับ NSAIDs Coxib หรืออินซูลินจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะบวมน้ำ และหัวใจล้มเหลวมากขึ้นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง
3. ยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
4. ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่กำลังเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
5. ให้ใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงประโยชน์และความเสี่ยงในผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ การใช้ยา pioglitazone มากกว่า 1 ปี อาจจะเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเพิ่มขึ้น
6. หากมีอาการ หรืออาการแสดงปัสสาวะเป็นเลือด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปวดเวลาปัสสาวะ ปวดหลัง หรือปวดท้อง ให้ปรึกษาแพทย์

ที่มา:
1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่ 42
2. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาที่ต้องแจ้งคำเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและที่เอกสารกำกับยาและข้อความของคำเตือน ฉบับที่ 47

Nimesulide ยาไนมิซุไลด์ ยกเว้นที่เป็นยาใช้ภายนอก ยาควบคุมพิเศษ ลำดับที่ 79 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่ 44, ราชกิจจานุเบกษา 25 ธันวาคม 2555)

วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สถานะทางกฎหมายของคลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต (chlorpheniramine maleate)

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
ปรับปรุงล่าสุด 30 เมาายน 2557

            คลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต (chlorpheniramine maleate) เป็นยาต้านฮิสตามีน (antihistamine) ใช้สำหรับบรรเทาอาการแพ้ ลดน้ำมูก สถานะทางกฎหมายของคลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต (chlorpheniramine maleate) ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มีดังต่อไปนี้

(1) โดยทั่วไปเป็นยาอันตราย ลำดับที่ 32

(2) chlorpheniramine maleate 2 mg ที่ผลิตขึ้นเป็นยาบรรจุเสร็จชนิดเม็ด ยกเว้นเป็นยาอันตราย ลำดับที่ 32ค แต่ต้องบรรจุแผงละ 4 หรือ 20 เม็ด (ดู ยาที่ได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาอันตราย รายการที่ 4)

(3) chlorpheniramine maleate 2 mg บรรจุแผงพลาสติกหรืออะลูมิเนียม แผงละ 4 และ 10 เม็ด เป็นยาสามัญประจำบ้าน ประเภทยาเม็ดแก้แพ้ ลดน้ำมูก คลอร์เฟนิรามีน (ยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบัน ลำดับที่ 6.1) 
          หมายเหตุ กรณี chlorpheniramine maleate 2 mg แผงละ 4 เม็ด จะเป็นยาสามัญประจำบ้าน ลำดับที่ 6.1 หรือเป็นยาที่ได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาอันตราย รายการที่ 4 ให้ดูที่วิธีการเขียนฉลากว่าเข้าเงื่อนไขของอะไร ถ้าเป็นยาสามัญประจำบ้านจะระบุ "ผู้ใหญ่ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 12 เม็ด" "เด็กไม่ควรรับประทานเกินวันละ 6 เม็ด" ส่วนการเก็บรักษา มีการระบุว่า "เก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียส" แต่ฉลากของ ยาที่ได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาอันตราย รายการที่ 4 ไม่ได้กำหนดไว้

(4) หากเป็น chlorpheniramine maleate 1-2 mg ผสมกับ paracetamol 300-500 mg ที่ผลิตขึ้นเป็นยาบรรจุเสร็จชนิดเม็ด ยกเว้นเป็นยาอันตราย ลำดับที่ 32ง แต่ต้องบรรจุแผงละ 4 หรือ 10 เม็ด (ดู ยาที่ได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาอันตราย รายการที่ 5)


(5) ถ้ามีฟีนิลเอฟรีน (phenylephrine) ขนาดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม ผสมกับ คลอร์เฟนิรามีน (chlorpheniramine) ขนาดไม่เกิน 4 มิลลิกรัม ที่ผลิตขึ้นเป็นยาบรรจุเสร็จชนิดเม็ดหรือแคปซูล เป็นยาที่ไม่ใช่ยาอันตราย โดยต้องมีขนาดบรรจุแผงละ 4 และ 10 เม็ด(ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาอันตราย ฉบับที่ 24, ราชกิจจานุเบกษา 19 กันยายน 2554)

(6) ถ้ามีฟีนิลเอฟรีน (phenylephrine) ขนาดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม ผสมกับ พาราเซตามอล (paracetamol) และคลอร์เฟนิรามีน (chlorpheniramine) ขนาดไม่เกิน 4 มิลลิกรัม ที่ผลิตขึ้นเป็นยาบรรจุเสร็จชนิดเม็ดหรือแคปซูล เป็นยาที่ไม่ใช่ยาอันตราย โดยต้องมีขนาดบรรจุแผงละ 4 และ 10 เม็ด (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาอันตราย ฉบับที่ 24, ราชกิจจานุเบกษา 19 กันยายน 2554)

(7) สูตรผสม phenylephrine กับยาอื่นใน (4) และ (5) ถ้ามีสูตรอื่นที่ไม่ใช่ยาเม็ดหรือแคปซูล เป็นยาอันตราย เนื่องจากยังไม่มีประกาศยกเว้นไว้

(8) chlorpheniramine + lidocaine + hexachlorophene+ methyl salicylate + menthol + camphor ถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับยา เนื่องด้วยปรากฏข้อมูลทางวิชาการว่า ยาต้านฮิสตามีนชนิดใช้ภายนอกและยาชาชนิดใช้ภายนอก (topical antihistamine and topical anesthetic) มีประสิทธิภาพต่ำในการบรรเทาอาการคันและอาจทำให้เกิดการแพ้และภาวะภูมิไวเกิน (hypersensitivity) ในผู้ป่วยบางราย และการทาลิโดเคน (lidocaine) ในบริเวณกว้างอาจดูดซึมถึงระดับเป็นพิษได้และพบว่า เฮ็กซาคลอโรฟีน (hexachlorophene) ห้ามใช้ในผิวหนังที่ไหม้ ถูกน้ำร้อนลวก หรือไม่มีหนังกำพร้า (burn, denuded skin) และอาจจะทำให้เกิด spongiform lesionsที่สมอง (คำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 611/2549  เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา)

วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การแบ่งประเภทยาตามระดับการควบคุมการขายของนานาชาติ

 ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

ประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 แบ่งออกเป็นยาควบคุมพิเศษ (ขายในร้านยาแผนปัจจุบันประเภท ขย.1 ต้องใช้ใบสั่งแพทย์) ยาอันตราย (ขายในร้านยาแผนปัจจุบันประเภท ขย.1 ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์) ยาสามัญประจำบ้าน (ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์) และมียาอีกประเภทหนึ่ง คือ  ยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ซึ่งเกิดจากการยกเว้นยาบางชนิดไม่ให้เป็นยาอันตราย หรือเกิดจากช่องว่างของกฎหมาย 





ส่วนประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แบ่งยาออกเป็น 3 ระดับ คือ General Sale List (นิวซีแลนด์ใช้คำว่า Medicine for General Sale) หากเทียบกับในประเทศไทย คือ ยาสามัญประจำบ้าน ขายที่ไหนก็ได้ Pharmacy medicine (หรือ Pharmacy only) เทียบได้กับยาอันตรายในประเทศไทย เป็นยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ แต่ต้องควบคุมการจ่ายโดยเภสัชกร และ Prescription medicine เทียบได้กับยาควบคุมพิเศษในประเทศไทย  เป็นยาที่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์


ส่วนสหรัฐอเมริกา แบ่งแค่เพียง Over-the-counter (OTC) ซึ่งเป็นยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ และ Prescription medicine ซึ่งเป็นยาที่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์

รายการยาใดที่ขายในร้านยาแล้วต้องใช้ใบสั่งแพทย์ รายการยาใดที่สามารถขายได้โดยทั่วไป หรือขายในร้านยาแต่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ ขึ้นอยู่กับนโยบายและสภาพปัญหาของประเทศนั้น และอาจมีการเปลี่ยนแปลงการจัดประเภทได้ทุกเมื่อ ซึ่งต้องติดตามเป็นระยะ

วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การขายยาสูตรผสมโคเดอีน (codeine)


 การขายยาสูตรผสมโคเดอีน (codeine)

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

(1) โคเดอีน (codeine) ตัวเดี่ยวเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 แต่ถ้าสูตรผสมเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 3 (ตัวอย่างเช่น ยาแก้ไอที่มีโคเดอีน ยาเม็ดแก้ปวดที่มีโคเดอีน)

(
2) การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสมเกินจำนวน 250 มิลลิลิตร หรือ 30 เม็ด หรือ 30 แคปซูล ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 181) พ.ศ. 2545 เรื่อง กำหนดจำนวนยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ตำรับที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสมที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย)

(
3) ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ตำรับที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสม ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(
3.1) การจำหน่ายให้จำหน่ายได้เฉพาะแก่สถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลและสถานพยาบาลของรัฐ
(
3.2) ในการขนส่งไปนอกสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตผลิต นำเข้า จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แล้วแต่กรณี และเป็นการขนส่งเพื่อการจำหน่ายตาม (3.1) ให้ผู้รับอนุญาตจัดให้มีสำเนาเอกสารกำกับการขนส่งยาเสพติดให้โทษนั้น เพื่อการตรวจสอบระหว่างการขนส่ง โดยเอกสารดังกล่าวอย่างน้อยต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนยาเสพติดให้โทษ วันเดือนปี การเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์และระบุผู้รับปลายทางที่ชัดเจน (กฎกระทรวงควบคุมการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ตำรับที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสม พ.ศ. 2546)

ดังนั้นร้านยาและสถานพยาบาลเอกชนที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (คลินิก) จึงไม่สามารถขายได้ แม้ว่าจะมีใบอนุญาตขายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 หรือไม่ก็ตาม หากมีการขายถือเป็นการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 20 วรรคแรก ถ้าพบในร้านแม้จะอ้างว่าไม่ได้ขายก็เป็นการครอบครองเพื่อจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 20 วรรคแรก (ต้องรับโทษตามมาตรา 76 วรรคแรก กล่าวคือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) หากพบครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสมเกินจำนวน 250 มิลลิลิตร หรือ 30 เม็ด หรือ 30 แคปซูล ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามมาตรา 20 วรรคสี่ (ต้องระวางโทษหนักขึ้นตามมาตรา 76 วรรคสอง กล่าวคือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท)

วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประวัติความเป็นมาของพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537-ส่วนที่ 3 ชื่อกฎหมาย วันบังคับใช้ การบังคับใช้กฎหมาย

ประวัติความเป็นมาของพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
ส่วนที่ 3 ชื่อกฎหมาย วันบังคับใช้ การบังคับใช้กฎหมาย
          ชื่อกฎหมาย วันบังคับใช้กฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ได้มีการแก้ไขแต่อย่างใด ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
          1. ชื่อกฎหมาย พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. ....” เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ.2537 จึงมีชื่อว่า “พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537
          2. วันบังคับใช้กฎหมาย พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1] โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2537 ดังนั้น วันที่มีผลใช้บังคับ คือ วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2537
          3. การบังคับใช้กฎหมาย บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน[2]



[1] พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 2
[2] พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 3
 

ประวัติความเป็นมาของพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537-ส่วนที่ 2 การรับหลักการร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร

ประวัติความเป็นมาของพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

ส่วนที่ 2 การรับหลักการร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร
          การรับหลักการของพระราชบัญญัติหรือไม่ เป็นขั้นตอนการพิจารณาในวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎร ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 18 ปีที่ 1 ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญ ครั้งที่ 2) วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2536 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ทั้ง 4 ฉบับ มีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้[1]
          1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่เห็นด้วยที่มีการนำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณา เนื่องจากว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เริ่มร่างมาหลายสมัยแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณาเลยสักครั้งเดียว
          2. เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในอาชีพเภสัชกร เพราะถ้าหากอยู่ในรูปแบบเดิม คือ อยู่ในความควบคุมของการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งมีคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะทำหน้าที่ควบคุม จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมเวลาที่มีเรื่องร้องเรียน
          3. เภสัชกรได้รอโอกาสที่จะให้มีสภาเภสัชกรรมเข้ามาควบคุมการทำงานของเภสัชกรด้วยกันเองมานานแล้ว เพราะทำให้สามารถเข้าใจได้ลึกซึ้งถึงความต้องการของวิชาชีพกลุ่มนี้ และเพื่อมิให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน
          4. ตามมาตรา 46 ถือได้ว่าเป็นการตัดสิทธิของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมมากเกินไป ทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกันได้ ควรที่จะให้โอกาสแก่คนที่ได้กระทำความผิดมาแล้วได้มีโอกาสแก้ตัวได้บ้าง
          เมื่อการอภิปรายยุติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับ ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ และคณะรัฐมนตรีได้เสนอให้ส่งคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขพิจารณาโดยใช้ร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณา กำหนดการแปรญัตติภายใน 7 วัน

          คณะกรรมาธิการสาธารณสุข พิจารณาร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ประกอบด้วย
1. นายอร่าม อามระดิษ  ประธานคณะกรรมาธิการ
2. นายทรงธรรม ปัญญาดี รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง
3. นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง
4. นายวิชัย ชัยจิตวณิชกุล รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สาม
5. นายวัลลภ ยังตรง รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สี่
6. นายประเสริฐ มงคลศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการ
7. นายทรงศักดิ์ ทองศรี ผู้ช่วยโฆษกคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง
8. นายภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ผู้ช่วยโฆษกคณะกรรมาธิการ คนที่สอง
9. นายประเทือง ปานลักษณ์
10. นางพิมพา จันทร์ประสงค์
11. นายวิชัย วงศ์ไชย
12. นายสมมาศ เฮงสวัสดิ์
13. นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
14. นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์
15. นายสุรพล เกียรติไชยากร
16. นางนิภา พริ้งศุลกะ เลขานุการคณะกรรมาธิการ
17. นายไกรสิทธิ์ ไกรสิทธิพงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการ

          คณะกรรมาธิการสาธารณสุขได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เสร็จแล้ว จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติพร้อมด้วยรายงานของคณะกรรมาธิการต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 18 ปีที่ 2 ครั้งที่ 11 (สมัยสามัญ ครั้งที่ 1) วันพุธที่ 27 ตุลาคม 2536 เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่  2 และ 3 ต่อไป




[1] สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, นิติบัญญัติ ฉบับที่ 16  (พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537), หน้า 7-8

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประวัติความเป็นมาของพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537-ส่วนที่ 1 การเสนอร่างพระราชบัญญัติ

ประวัติความเป็นมาของพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์


ส่วนที่ 1 การเสนอร่างพระราชบัญญัติ
          วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2532 คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. ... ว่าสมควรแยกการควบคุมการประกอบวิชาชีพจากพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา[1] ต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2532 คณะรัฐมนตรีก็ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อน นำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป[2] ต่อมามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อร่วมกันเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานเลขาธิการรัฐสภาเสนอ[3]
          วันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2533 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. ....  ตามที่กระทรวงสาธารณสุขและ ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอ   และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนนำเสนอ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรตรวจพิจารณาต่อไปแล้วให้ทบวงรับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดให้มีผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขในคณะกรรมการ ทบวงมหาวิทยาลัยไปดำเนินการต่อไป[4]
          วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. ....   ที่ได้แก้ไขตามมติคณะกรรมการกลั่นกรอง ฯ ฝ่ายสังคมและกฎหมาย และร่างพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ  พ.ศ. ....  ที่ประธานกรรมการกลั่นกรอง ฯ ได้ตรวจพิจารณาแล้ว และให้เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา พิจารณาต่อไป[5] ต่อมามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อร่วมกันเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีรับหลักการร่างพระราชบัญญัติตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอ ดังต่อไปนี้ (1) ฉบับของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังธรรม (นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ และนายแสวง ฤกษ์จรัล พรรคพลังธรรม เป็นผู้เสนอ) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2535[6]  (2) ฉบับของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคกิจสังคม (นายอัมพล จันทรเจริญ พรรคกิจสังคม เป็นผู้เสนอ) เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2535[7]
          วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป[8]

          การเสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... มีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 4 ฉบับ ดังนี้[9]
          1. ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ฉบับคณะรัฐมนตรี สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรับไว้เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2536 ในสมัยนั้นเป็นรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 18 ปีที่ 1 ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญ ครั้งที่ 2) วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2536
          2. ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ฉบับนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ และนายแสวง ฤกษ์จรัส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังธรรม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรับไว้เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2535 บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 18 ปีที่ 1 ครั้งที่ 8 (สมัยสามัญ ครั้งที่ 1) วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2535
            3. ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ฉบับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์[10]  สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรับไว้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2535 บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 18 ปีที่ 1 ครั้งที่ 12 (สมัยสามัญ ครั้งที่ 1) วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2535
          4. ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ฉบับนายอัมพร จันทรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคกิจสังคม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรับไว้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2535 บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 18 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญ ครั้งที่ 1) วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2535

            หลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติ มีดังนี้
          1. หลักการ ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับ มีข้อความที่เหมือนกัน คือ “ให้มีกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเภสัชกรรม”
          2. เหตุผล
            (1)  ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ฉบับคณะรัฐมนตรี ฉบับนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ และนายแสวง ฤกษ์จรัส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังธรรม และฉบับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ มีเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีข้อความเหมือนกันดังนี้
          “โดยที่การประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาเภสัชกรรม อยู่ในความควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งมีคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะทำหน้าที่ควบคุมการประกอบโรคศิลปะสาขาต่าง ๆ ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ ในปัจจุบันวิชาการและเทคโนโลยีทางด้านเภสัชศาสตร์ในประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมาก ประกอบกับจำนวนผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาเภสัชกรรมมีจำนวนมากขึ้น สมควรแยกการควบคุมการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ออกจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ โดยจัดตั้งสภาเภสัชกรรมขึ้นทำหน้าที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมแทนคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”  
          (2) ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ฉบับนายอัมพร จันทรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคกิจสังคม มีเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติดังนี้
          “โดยที่ในปัจจุบันการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาเภสัชกรรม กรรม อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ แต่เนื่องจากในปัจจุบันการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาเภสัชกรรมได้พัฒนาออกไปอย่างกว้างขวางและมีบุคลากรในสาขานี้เป็นจำนวนมาก จากกรณีดังกล่าวจึงสมควรแยกการควบคุมการประกอบวิชาชีพในสาขาเภสัชกรรมออกจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ โดยจัดตั้งสภาเภสัชกรรมขึ้นประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าว ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยผู้ประกอบวิชาชีพด้วยกันเองเป็นกรรมการ ทั้งนี้ เพื่อความคล่องตัวในการทำหน้าที่ควบคุมและส่งเสริมมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมได้โดยอิสระ เหมาะสม และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”





[1] มติคณะรัฐมนตรี 9 พฤษภาคม พ.ศ.2532
[2] มติคณะรัฐมนตรี 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2532
[3] มติคณะรัฐมนตรี 10 กรกฎาคม พ.ศ.2533
[4] มติคณะรัฐมนตรี 18 กันยายน พ.ศ.2533
[5] มติคณะรัฐมนตรี 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535
[6] มติคณะรัฐมนตรี 20 ตุลาคม พ.ศ.2535
[7] มติคณะรัฐมนตรี 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2535
[8] มติคณะรัฐมนตรี 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536
[9] สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 (นิติบัญญัติ ฉบับที่ 16), หน้า 3
[10] ยังไม่สามารถค้นหาข้อมูลได้ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการเมื่อใด