วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557

[ข่าว]-ไต้หวันห้ามนำยารักษาโรคทุกชนิดเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต

ข่าวสารนิเทศ : ไต้หวันห้ามนำยารักษาโรคทุกชนิดเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต

ด้วยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้ให้สัมภาษณ์ว่า สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ณ กรุงไทเป ได้รายงานกรณีแรงงานต่างชาติประสบปัญหาจากการที่ญาติส่งยารักษาโรคไปให้ แล้วถูกดำเนินคดีข้อหานำยาเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการไต้หวัน และมีแรงงานไทยในไต้หวันหลายรายได้รับหมายเรียกให้ไปขึ้นศาลในกรณีการนำยา รักษาโรคประเภทยาแก้ปวดและยาแก้ไข้หวัด (เช่น ทิฟฟี่และดีคอลเจน) ที่มีส่วนผสมของตัวยาพีพีเอหรือฟีนิลโปรปาโนลามีน ซึ่งเป็นยาต้องห้ามที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ ๒ ของไต้หวันเข้าเมือง

กระทรวงการต่างประเทศจึงขอประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่า ไต้หวันมีกฎระเบียบกำหนดว่า การนำยาทุกชนิดเข้าไต้หวันจะต้องได้รับอนุญาตก่อนการนำเข้าทุกครั้ง ดังนั้น ขอให้แรงงานไทยปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้

๑. แรงงานที่จะเดินทางไปทำงานในไต้หวัน และนำยารักษาโรคติดตัวไป จะต้องยื่นขออนุญาตต่อสำนักงานอาหารและยา (Food and Drug Administration) กระทรวงสาธารณสุขไต้หวัน โดยเอกสารที่ต้องใช้ประกอบด้วย
(๑) แบบฟอร์มขออนุญาตนำเข้ายา (Application for Import Certificate และ Import Certificate)
(๒) ใบรับรองแพทย์ (ภาษาอังกฤษ)
(๓) ใบสั่งยาจากแพทย์ (ภาษาอังกฤษ)

โดยส่งเอกสารทั้งสามรายการไปที่ Food and Drug Administration, Ministry of Health and Welfare, No. 161-2, Kunyang Street, Nangang District, Taipei City 11561, Taiwan. ซึ่งสำนักงานอาหารและยาไต้หวันจะจัดส่งใบอนุญาตนำเข้า (Import Certificate) ไปให้แรงงาน โดยจะต้องสำแดงใบอนุญาตดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่เมื่อเดินทางถึงไต้หวัน

๒. โดยที่แรงงานต่างชาติในไต้หวันทุกคนจะได้รับการประกันสุขภาพ โดยสามารถไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาพยาบาลได้ จึงขอแนะนำแรงงานไทยว่า ไม่ควรแจ้งให้ญาติจัดส่งยาจากประเทศไทยไปให้ เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการใช้ยาไม่ตรงกับโรคแล้ว ยังเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีข้อหานำเข้ายาโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย

ที่มา: http://www.mfa.go.th/main/th/media-center/14/41471-ไต้หวันห้ามนำยารักษาโรคทุกชนิดเข้าเมืองโดยไม่ได้รั.html

-----------
ข้อสังเกต
1. ปัจจุบันสูตรทิฟฟี่ หรือดีดอลเจน ไม่ได้ใช้ พีพีเอหรือฟีนิลโปรปาโนลามีน เป็นตัวบรรเทาอาการคัดจมูกในประเทศไทยอีกต่อไป

ปีม้ากับความรู้เรื่องยาม้า (หรือชื่อยาบ้าในปัจจุบัน)


เมทแอมเฟตามีน (methamphetamine) ที่สมัยก่อนในประเทศไทย เรียกยาม้า ไม่ใช่กินแล้วคึกเหมือนม้า แต่เป็นเพราะว่า ยาที่นำจากบริษัท Burroughs Wellcome ที่มาขายในประเทศประเทศไทย ได้ปั๊มรูปม้าบนเม็ดยา

ในประเทศไทยได้จัดให้ เมทแอมเฟตามีน (methamphetamine) เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2520/D/020/1136.PDF)

ต่อมาในสมัยนายเสนาะ เทียนทอง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ พ.ศ.2539 เห็นว่าชื่อดังกล่าวทำให้คนเกิดความเข้าใจผิดว่ากินยานี้แล้วจะคึกเหมือนม้า คนที่กินยานี้แล้วควบคุมสติของตนเองไม่ได้ จึงให้เปลี่ยนจากเรียกชื่อ ยาม้า เป็นยาบ้า และนิยมเรียกชื่อยาบ้ามาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ได้เปลี่ยนสถานะจากวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 ซึ่งเดิมยังสามารถใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ เปลี่ยนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไม่มีการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในประเทศไทยอีกต่อไป (ดูประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2539) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2539 ดูไฟล์ได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2539/E/023/8.PDF )

มีข้อสังเกตว่า สมัยนั้น ไม่ปรับสถานะให้เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ได้เลือกที่จะปรับสถานะเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เนื่องจากมีบทลงโทษทางกฎหมายที่เด็ดขาดกว่าโดยเฉพาะเรื่องการผลิต และการขาย เพราะมีบทลงโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต กล่าวคือ

- ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ มาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท ถ้าเป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต

- ผู้ใดจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ถ้ามีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไปต้องระวางโทษจำคุก ตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต

ส่วนผู้เสพ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ