วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2557

รายชื่อผู้แทนยา (ดีเทล) ไปร่วมสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... ได้อย่างไร

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

ขณะที่เขียนเรื่องนี้ เนื่องจากมีกลุ่มผู้แทนยาของบริษัทยา (ดีเทลยา) ทราบมาว่ามีชื่อของตัวเองปรากฏในเว็บไซต์ของรัฐสภาว่าร่วมเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... โดยมีนายบรรยวัสถ์ สังข์วรรณะ เป็นผู้แทนของผู้ซึ่งเสนอกฎหมาย หรือก็คือผู้ไปยื่นรายชื่อนั่นแหละ (ดูภาพได้จาก ภาพจาก http://register.parliament.go.th/pet/)  แล้วเกิดความตื่นตระหนกว่าชื่อของฉัน เพื่อนของฉัน พ่อแม่พี่น้องของฉันไปอยู่ในนั้นได้อย่างไร ฉันไม่รู้เรื่อง ฉันจำได้ว่าส่งแต่รายชื่อไปคัดค้านอย่างเดียว นี่ อย.มันหลอกเอารายชื่อของพวกฉันไปสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... ของตัวเองที่มันมีปัญหาหรือเปล่า



ภาพที่ 1 ภาพจาก http://register.parliament.go.th/pet/

จากภาพข้างบน เมื่อคลิกไปตรงที่ (รายชื่อทั้งหมด) หรือคลิกไปที่ http://register.parliament.go.th/pet/petlist.aspx?pid=SXSwhiaHi9I=  ก็จะปรากฏรายชื่อออกมา ตรงคำว่า ผู้เสนอกฎหมายรวมรายชื่อผู้คัดค้าน (หมายความว่ารายชื่อทั้งหมดก่อนมีการแก้ไข) เมื่อหักด้วยจำนวนผู้คัดค้าน ก็จะได้ช่องจำนวนรายชื่อที่ถูกต้อง


ภาพที่ 2 รายชื่อผู้เสนอกฎหมาย (รวมชื่อผู้คัดค้าน)

ผมขอให้ตั้งสติให้ดีและนึกถึงความหลังให้ดี ๆ นะครับ ท่านอาจเคยร่วมลงชื่อด้วยความเต็มใจในครั้งนั้น โดยที่ผู้ขอรายชื่อเขาไม่ได้หลอกลวงอะไรเลยก็ได้ หลายคนมีปัญหาตอนที่รณรงค์หรือต้องการคัดค้านอะไร เขาบอกอะไรมาก็เชื่อหมด ไม่เคยคิดค้นหาเอกสารหรือขอข้อมูลเพิ่มเติม ขอแค่เพียงสิ่งที่เขาพูดนั้นตรงกับความเชื่อของตัวเองก็พอ แล้วต่อมาก็ลืมหมดว่าเคยทำอะไรลงไปบ้าง

ก่อนอื่นต้องขอทบทวนในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่อาจเป็นสาเหตุของปัญหาการตื่นตระหนกในครั้งนี้ว่า เดิมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ฉบับที่ถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช.ฉีกทิ้งนั่นแหละ) เขาได้กำหนดช่องทางการยื่นเสนอกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติไว้หลายช่องทาง ตามมาตรา 142 คือ
(1) คณะรัฐมนตรี
(2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
(3) ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์กรและกฎหมายที่ประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ หรือ
(4) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามมาตรา 163

ถ้าต้องการจะยื่นร่างกฎหมายฉบับใหม่อย่างเช่น ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... จะทำได้อย่างไรนั้น ถ้าเป็นฉบับของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นฉบับที่หลายคนบอกว่าเป็นร่างกฎหมายที่มีปัญหา ไม่คุ้มครองผู้บริโภค เขาก็ส่งไปตามขั้นตอนของระบบราชการ เช่น ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ท้ายที่สุดให้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ถ้าคณะรัฐมนตรีรับรอง นายกรัฐมนตรีลงนามเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงเรียกโดยรวมว่าเป็นฉบับรัฐบาล ไม่เห็นต้องไปขอรายชื่อจากภาคประชาชนมาสนับสนุนเลย พวกเธอจะค้านก็ค้านไปถ้าฉันจะเอาซะอย่างจะทำอะไรได้ (นึกถึงตัวอย่างร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ. .... ที่หลายคนออกไปเดินคัดค้านให้ดี)

ภาคประชาชน โดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาและคณะ เช่น แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส, ชื่อในขณะนั้น) หรือหลายคนเรียกว่าเป็นฉบับเอ็นจีโอ (NGO) ก็ได้มองเห็นแล้วว่าร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ฉบับของ อย.นั้นน่าจะมีปัญหา มีแนวคิดหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดกลุ่มของตน เช่น เห็นว่าไม่มีการคุ้มครองผู้บริโภคที่เพียงพอ ไม่ได้ยกระดับของวิชาชีพ ไม่มีการควบคุมเรื่องการโฆษณาและการส่งเสริมการขายที่เพียงพอ ขาดมาตรการควบคุมเรื่องการขึ้นทะเบียนตำรับยาว่ายาที่ติดสิทธิบัตรอยู่นั้นมีความคุ้มค่าที่จะขึ้นทะเบียนตำรับยามากน้อยขนาดไหน ภาครัฐไม่ได้มีมาตรการขึ้นมาเพื่อช่วยในการทำงานของตัวเอง เช่น ไม่มีมาตรการบังคับทางปกครอง (ซึ่งบางคนอาจจะเห็นว่าสุดโต่งไปด้วยซ้ำ)

แต่จะทำอย่างไรที่ทำให้แนวคิดของตนถูกบรรจุในร่างพระราชบัญญัติยาได้ เพราะภาครัฐอย่างเช่น อย. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก) คงไม่เอาแน่ จะไปเถียงหรือไปชี้แจงต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาคงไม่ได้ผลอยู่ดี จึงมองหาช่องทางอื่น คือ เห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้เปิดโอกาสให้ประชาชน10,000 คน เข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ แล้วก็มีโอกาสร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อไปแปรญัตติ (คือ ไปปรับแก้ไข เพิ่มเติม ตัดต่อ ดัดแปลง อธิบายความ หรือไปเถียงต่อ เพื่อเสนอต่อทั้งรัฐสภานั่นแหละ) ถึงหนึ่งในสามทั้งในชั้นสภาผู้แทนราษฎรและชั้นวุฒิสภา (ตัวอย่างเช่น สภาผู้แทนราษฎรให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 33 คน ดังนั้น ก็ไปแบ่งสัดส่วนกันให้มาจากภาคประชาชน 11 คน ส่วนที่เหลือ 22 คน ก็มาจากคณะรัฐมนตรี สส.ฝ่ายรัฐบาล สส.ฝ่ายค้าน)  ก็เอาอย่างนี้แล้วกัน เราก็ไปขายแนวคิดแล้วหาคนมาสนับสนุนพวกเรา ซึ่งไปก็หาตามกลุ่มวิชาชีพ อย่างเช่น เภสัชกรด้วยนะ แต่ไม่มีใครเห็นความสำคัญเท่าไหร่ ลงชื่อมาแค่ประมาณ 2 พันราย ที่เหลือก็เป็นรายชื่อของประชาชนทั่วไปที่เห็นความสำคัญ ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ฉบับนี้จึงเป็นร่างกฎหมายสายที่สองที่เกิดขึ้น เป็นฉบับประชาชนฉบับหนึ่ง

ตอนนั้นก็เริ่มมีร่างคร่าว ๆ ออกมาบ้างแล้วทั้งฉบับรัฐบาล และฉบับประชาชนโดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา สภาเภสัชกรรมก็เคยจัดการเสวนาพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ... ผลกระทบต่อวิชาชีพเภสัชกรรม เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2554 ณ โรงแรมโกลเด้นทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพฯ เมื่อเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติของทั้งคู่ โดยมี ผศ.ภก.มังกร ประพันธ์วัฒนะ (ผู้ล่วงลับไปแล้ว) ได้บันทึกการประชุมในครั้งนั้นด้วย อ่านรายละเอียดได้ที่ http://goo.gl/y6YNki แต่ละฝ่ายก็รับไปปรับปรุงร่างกฎหมายของตัวเอง

ทีนี้ ช่วงประมาณปี พ.ศ.2554 อย. หรือ สคก.นี่แหละ ก็ปล่อยข่าวออกมาว่า ร่างพระราชบัญญัติยา ฉบับรัฐบาลใกล้จะเสร็จแล้วนะ ในส่วนของฉบับประชาชนโดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาและคณะก็ตาลีตาเหลือกเร่งหารายชื่อผู้สนับสนุนจากภาคต่างๆ รวมทั้งนิสิตนักศึกษาที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เพื่อให้ไปทันยื่นพร้อมกันที่รัฐสภาแล้วจะได้ไปเถียงกันต่อในสภาได้ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2555 ก็ยื่นต่อรัฐสภาได้สำเร็จ (ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้ยื่น) แล้วเขาก็เอารายชื่อเราไปตรวจสอบว่าส่งเอกสารมาถูกต้องไหม เช่น ลงชื่อในแบบฟอร์มไหม มีสำเนาบัตรประชาชนไหม (เดิมสมัยนั้นต้องแนบสำเนาทะเบียนบ้านด้วยนะ แต่ตอนหลังแก้กฎหมายแล้วใช้สำเนาบัตรประชาชนอย่างเดียวก็พอ) ไปเลือกตั้งมาหรือเปล่า แล้วก็ประกาศเผยแพร่รายชื่อออกมาว่าใครจะคัดค้านไหม (ก็แสดงรายชื่อให้คัดค้านเหมือนภาพข้างต้นเหมือนกัน) ถ้าคัดค้านให้คัดค้านภายในระยะเวลาที่กำหนด แล้วก็รอให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งก็ไม่มีใครรับรองเลยโดยอ้างว่าร่าง ของ อย.ยังไม่ถูกส่งมา

ช่วงประมาณปลายเดือนสิงหาคม – 4 กันยายน พ.ศ.2554 เอง ก็มีข่าวลือว่า ร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... อนุญาตให้พยาบาลออกใบสั่งยาในยาที่ต้องใช้ใบสั่งยาเองได้ ซึ่งก็ไม่เป็นความจริง ทำให้การรวบรวมรายชื่อประชาชนของร่างฉบับมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา เกิดปัญหาอีก แต่เมื่อชี้แจงไปแล้วเหตุการณ์นั้นก็สงบลงได้ภายใน 1 สัปดาห์ (คนที่ไม่มีร่างกฎหมายอยู่ในมือก็ลือไปเรื่อย โดยที่ตัวเองก็ไม่เคยเห็นหรือไม่เคยอ่านเนื้อหาเลย)

ต่อมาก็ดันมีหมอกลุ่มหนึ่งพยายามรวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ พ.ศ. .... อีก โดยอ้างว่าร่างกฎหมายนี้จะทำให้หมอถูกฟ้องร้องมากขึ้น มีการเก็บเงินจากโรงพยาบาลและร้านยาก็อาจถูกเก็บเงินด้วยนะ มีการขอรายชื่ออย่างรวดเร็ว บางคนก็เคยรายงานมาว่าต้องลงชื่อด้วยความเกรงใจ โดยรายชื่อที่รวบรวมได้มีประมาณ 1 แสนราย (ครั้งนั้นขอแต่ชื่อแต่ไม่มีการเก็บสำเนาบัตรประชาชน)

ประเด็นการลงชื่อคัดค้านลักษณะนี้ ก็ได้มีความเห็นกันว่าไม่มีผลต่อการหยุดร่างพระราชบัญญัติที่มีอยู่ได้หรอก สิ่งที่จะทำได้ คือ การรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างกฎหมายของตนขึ้นมา แล้วส่งไปให้เขาพิจารณาคู่กับร่างกฎหมายที่มีอยู่ ต่อมาหมอกลุ่มนี้ก็ไปเข้าสู่กระบวนการรวบรวมรายชื่อใหม่เหมือนขึ้นตอนข้างบนที่กล่าวมาแล้ว และได้ร่างพระราชบัญญัติของกลุ่มตนเองด้วย

ตอนนี้ มองออกหรือยังว่า การคัดค้านที่ได้ผลเขาต้องทำอย่างไร รูปแบบการคัดค้านอาจทำได้โดยการเสนอสิ่งใหม่ที่แตกต่างเข้าไปแทนก็ได้

เมื่อมาดูเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติที่มีอยู่ทั้งของฉบับรัฐบาลและของมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา ก็พบว่ามีประเด็นที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เขาก็ต้องหาทางคัดค้านเป็นธรรมดา ก็มีทั้งไปติดต่อชี้แจงกับบุคคลต่าง ๆ เป็นรายบุคคลหรือเข้าชี้แจงในคณะกรรมการ คณะกรรมาธิการต่าง ๆ ก็คงมีเสียงจากส่วนหนึ่งนี่แหละที่บอกว่าอย่าคิดเสียเวลาทำแบบนี้เลย มันไม่สง่างาม ไปหารายชื่อประชาชนผู้สนับสนุนมาแล้วไปถกเถียงกันในรัฐสภาดีกว่า นั่นก็เป็นที่มาของร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... สายที่สาม ซึ่งถือว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติฉบับประชาชนเหมือนกัน แต่ทำไปทำมาจึงเป็นนายบรรยวัสถ์ สังข์วรรณะ ซึ่งเป็นนักกฎหมาย เป็นทนายความ (เคยเป็นทนายความของบัวขาว ป.ประมุข ด้วย) มาเป็นผู้ยื่นก็ไม่ทราบได้ แต่จะยื่นในนามภาคธุรกิจก็ไม่สมควรก็ต้องมีกลุ่มผู้ป่วยมาร่วมยื่นด้วย เอ็นจีโอบางท่านก็ว่าเป็นผู้ป่วยในเครือ PReMA ซึ่งได้รับความช่วยเหลือในการให้ได้รับยาใหม่ในการรักษาโรคเรื้อรังหรือโรคต่าง ๆ ช่วงเวลาที่ดำเนินการรวมรายชื่อ คาดว่าจะเลยช่วงที่ฉบับมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนายื่นไปแล้ว คือ หลัง 19 มกราคม 2555 - พฤษภาคม 2557

ลองทบทวนประเด็นร่างฉบับรัฐบาลและของฉบับประชาชนโดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (ขอกล่าวไปรวม ๆ แล้วกัน ไม่แยกรายละเอียดปลีกย่อย) มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ดังนี้
1. การควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขาย ยังเล็งเห็นว่า การโฆษณาและส่งเสริมการขายมีผลต่อผู้ประกอบวิชาชีพอาจทำให้เกิดการสั่งใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลได้ เรื่องความรู้นั่น สมัยนี้อินเตอร์เน็ตและระบบสารสนเทศมันพัฒนาแล้ว หาข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือได้ไม่ยาก อย.เองก็ให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือได้ ภาคการศึกษาก็ให้ข้อมูลได้ ไม่ต้องรอภาคธุรกิจมาให้ข้อมูลอย่างเดียว ใครไม่หาข้อมูลใหม่ ๆ เลย ก็ตกยุคการรักษา ดีไม่ดีอาจถูกฟ้องร้องอีก และที่เขามาคุมเนี่ย ไม่ได้จงใจมาคุมธุรกิจยาของต่างชาตินะ มาคุมธุรกิจยาภายในประเทศที่มันก็มีปัญหาการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง แจกแถมประจำบ่อยๆ ด้วย แต่เนื้อหากฎหมายแบบนี้มันก็กระทบภาคธุรกิจตรงนี้อาจทำให้สินค้าขายได้น้อยลง
2. การขึ้นทะเบียนของยาที่มีสิทธิบัตร ทั้ง 2 ฉบับเห็นว่ายาที่ติดสิทธิบัตรบางตัว มันเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมควรได้รับเสียด้วยซ้ำ (ความผิดพลาดของกรมทรัพย์สินทางปัญญา) เอาแค่ 2 ตัวมาผสมกันเพื่อให้กินง่ายขึ้นเท่านั้น กลับได้สิทธิบัตรยาไป ประสิทธิภาพก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เอาอย่างนี้แล้วกัน ก็ไม่ให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเลยเมื่อเห็นว่ายาที่ติดสิทธิบัตรนั้นมีโครงสร้างราคาที่ไม่เหมาะสมหรือไม่คุ้มค่า  แต่เนื้อหากฎหมายแบบนี้มันก็กระทบภาคธุรกิจตรงที่จดสิทธิบัตรก็เสียค่าธรรมเนียมไปตั้งเยอะ แต่ดันเอามาขึ้นทะเบียนไม่ได้ ขายไม่ได้อีก
3. โครงสร้างราคายา ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ กำหนดให้ตอนขึ้นทะเบียนตำรับยาแสดงโครงสร้างราคายามาแล้ว เช่น ยาราคา 100 บาท เป็นค่าต้นทุนวัตถุดิบ ค่าเก็บรักษา ค่าขนส่ง ค่าวิจัยและพัฒนา ค่าการตลาดและส่งเสริมการขายเป็นร้อยละเท่าใด (อาจรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งไม่อาจเปิดเผยได้)
4. การควบคุมราคา ร่างฉบับประชาชน ยึดอำนาจการควบคุมราคายาซึ่งเดิมเป็นของกระทรวงพาณิชย์ แต่แทบไม่ทำอะไร (ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมยาในโรงพยาบาลเอกชนถึงได้แพงมาก บางทีแพงกว่าราคาป้ายที่ติดข้างกล่องเสียอีก ก็เลยไม่ให้กล่องมาด้วย) มาให้ อย.ทำหน้าที่อย่างบูรณาการซะเลย

ด้วยเหตุนี้ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ...สายที่สาม ซึ่งเป็นสายของภาคธุรกิจและสายผู้ป่วยในเครือ PReMA (บางท่านอาจจะเห็นคำว่า ฉบับประชาชนรักษ์สุขภาพ) จึงได้ร่วมกันเสนอร่างกฎหมายมีสาระสำคัญ ดังนี้ 
1. ไม่ให้มีการลดโทษแก่ผู้ผลิต นำเข้า และขาย ยาปลอม ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับผู้กระทำความผิด (กล่าวคือ อย่างไปลดหย่อนโทษให้ใครเด็ดขาด แม้จะเป็นเรื่องปลอมเครื่องหมายการค้าก็ตาม)
2. ให้ควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขายเพื่อคุ้มครองประชาชน แต่ยกเว้นการให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมความรู้ใหม่ ๆ และให้ข้อมูลแก่วงการแพทย์ เพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาลประชาชน
3. จำแนกบทบาทของ อย. และกรมการค้าภายในให้ชัดเจน โดยให้ อย.เน้นบทบาทการประเมิน ประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัยของยา ส่วนกรมการค้าภายในรับผิดชอบเรื่องราคายา เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพและมีความรวดเร็วในการเข้าถึงการรักษาใหม่ ๆ
4. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขึ้นทะเบียนตำรับยาสามัญใหม่ เพื่อป้องกันกรณีพิพาท ในการละเมิดสิทธิบัตรของบริษัทยาสามัญโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
5. เพิ่มกรรมการในคณะกรรมการยาแห่งชาติ โดยให้มีกรรมการมาจากสาขาวิชาชีพทางสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความสมดุลและให้มีข้อมูลรอบด้าน จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่ม โดยเฉพาะจากองค์กรผู้ป่วยที่มีประสบการณ์การรักษา




จากนั้นก็ต้องการรายชื่อประชาชนผู้สนับสนุน โดยอาจจะไปแบ่งสายไปรวมรายชื่อ (ตรงนี้ลองนึกให้ดี เพราะพวกท่านอาจอยู่ในขั้นตอนนี้ ว่าเขาขอรายชื่อหน่อย)
1. สายผู้ป่วย ก็ชูประเด็นว่าเราต้องมียาใหม่เข้ามาใช้ กฎหมายของเอ็นจีโออาจทำให้เราไม่มียาใหม่ใช้ และแพทย์อาจไม่ได้รับข้อมูลยาใหม่ ๆ เพราะอาจห้ามผ้แทนยามาแนะนำเรื่องยาต่อแพทย์
2. สายบริษัทที่นำเข้ายา ชูประเด็นว่า เขาจะให้แสดงโครงสร้างราคายา ซึ่งจะส่งผลต่อความลับทางการค้าได้ และยาที่มีสิทธิบัตรบางตัวอาจไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยา
3. สายผู้แทนยาและวิชาชีพในสถานพยาบาล ชูประเด็นว่า ร่างกฎหมายยาฉบับใหม่จะมาคุมเรื่องการโฆษณาและส่งเสริมการขาย ผู้แทนยาจะถูกควบคุม จะเข้ามาคุมเรื่องการประชุมวิชาการ
4. สายผู้ประกอบการ ร้านยา ผู้แทนยา ชูประเด็นว่า ไม่ควรให้มีการควบคุมราคา ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ทำให้บางส่วนคิดไปเองว่า ร่างกฎหมายของสายที่สามนี่ดีนะ ป้องกันคนมาต่อราคาได้ด้วย ทุกวันนี้คนมาต่อราคายาในร้านยานี่น่าปวดหัวเหลือเกิน สายผู้ประกอบการและผู้แทนยาก็เคลิ้มเห็นว่าโรงพยาบาลนี่ก็ขูดรีดราคายาเหลือเกิน ทุกวันนี้ก็แทบอยู่ไม่ได้แล้ว ยอดก็จะปิดไม่ได้อยู่แล้ว

แล้วน่าจะมีประโยคที่พูดทำนองว่า ใครไม่เห็นด้วย ต้องการจะค้านกฎหมายของเอ็นจีโอ ก็มาร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายกับเรา ตรงนี้แหละที่บอกว่าคนจำได้แต่คัดค้าน แต่ลืมประโยคหลังตรงที่เขาบอกว่าให้มาร่วมเสนอกฎหมายกับเรา เขาก็ไม่ได้หลอกนะ แต่ด้วยนิสัยที่ตามกระแสของหลายคนต่างหากที่จำข้อมูลได้ไม่หมด แต่มีบางส่วนยังคิดไปเองต่างหาก  กลับไปลองนึกให้ดีว่าคุณต้องอยู่ในเหตุการณ์ในข้างบนข้างต้นแน่ อาจจะเกิดอารมณ์ร่วม ถูกบังคับ หรือเกรงใจร่วมลงชื่อก็ได้

พอได้รายชื่อมาครบและตรวจเช็ครายชื่อเบื้องต้นเรียบร้อย เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2557 เขาก็เปิดให้คัดค้านตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม – 4 กรกฎาคม 2557

ส่วนร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ฉบับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพิ่งทำเสร็จจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อ 24 กันยายน พ.ศ.2557 หลังจากที่ร่างฉบับประชาชนโดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนายื่นไปเสร็จนานมากแล้ว รอแล้วรอเล่าร่างของ อย.ก็ไม่ยอมเสร็จซะที ก็เลยต้องทวงออกสื่อเป็นระยะ แม้แต่ไปชี้แจงต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย http://www.slideshare.net/rparun/ss-37350448

หยุดจินตนาการว่า การรวมเสนอร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ที่มีปัญหาข้างต้น เป็นการสนับสนุนร่างกฎหมายของ อย. เพราะ (1) ร่างกฎหมายฉบับรัฐบาลเขาสามารถเสนอของตัวเองได้เสมอ แม้ว่าจะมีผู้คัดค้านเพียงใดก็ตาม (ถ้าไม่กลัวผลต่อคะแนนเสียงครั้งต่อไป) (2) ช่วงเวลาที่ยื่นเกิดก่อนที่มีปัญหาในปัจจุบัน (ช่วงสิงหาคม ปัจจุบัน)

มีปัญหาแล้วทำอย่างไร
1. ระดับที่อ่อนที่สุด คือ ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 14 ไม่ได้ให้อำนาจประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ฉบับนี้ก็ไม่มีผลอะไรเลย (ฉบับมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาหรือบางคนเรียกฉบับเอ็นจีโอก็ได้รับผลกระทบด้วย) สงสัยอะไรให้ไปถาม PReMA
2. ระดับปานกลาง คือ ลงชื่อไปคัดค้านไป แม้จะเลยช่วงเวลาแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันรัฐธรรมนูญในอนาคตอาจเปิดช่องให้นำร่างพระราชบัญญัติของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาใช้ได้ แต่ให้ดูตามข้อ 1 คือ ตอนนี้ร่างพระราชบัญญัติฉบับประชาชนไม่มีผลอะไรเลย
3. ระดับรุนแรงที่สุด แจ้งความดำเนินคดี ถ้าลงชื่อตั้งแต่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2556 เป็นต้นไป จะอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 ถ้าบอกว่าเขาหลอกลวง คนนั้นจะต้องถูกลงโทษตามมาตรา 13 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท  (ระวังให้ดีสืบไปสืบมาอาจไปถึงหัวหน้าหรือเจ้านายของพวกคุณก็ได้นะ) แต่ถ้าเราไปหลอกให้เขาถอนรายชื่อก็รับโทษตามมาตรานี้ด้วยเหมือนกันนะ (แต่ถ้าลงชื่อก่อน 17 ธันวาคม พ.ศ.2556 ซึ่งใช้กฎหมายเก่าเมื่อปี พ.ศ.2542 ยังไม่มีบทลงโทษตามกฎหมายนี้ ต้องหาฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้ลงโทษแทน)  

สรุป

"ตั้งสติก่อนนะครับ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนหน้าปัจจุบันหลายเดือน (ประมาณเดือน พฤษภาคม 2557)
ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ... ก่อนที่จะฉีกรัฐธรรมนูญฯ 2550 มี 3 สาย
1. สายรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข
2. สายประชาชน โดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาและคณะ (อ.นิยดา ผู้ยื่น)
3. สายประชาชน (ตามภาพที่มีปัญหานี้) โดย นายบรรยวัสถ์ สังข์วรรณะ (ผู้ยื่น) บ้างก็ว่าเป็นสายผู้ป่วยในเครือของ PReMA ดังนั้น หากดีเทลท่านใดมีปัญหาสงสัยว่ารายชื่อของตนไปอยู่ในร่างสายที่ 3 ได้อย่างไร ให้ลองตั้งสติและนึกถึงความหลังให้ดี ๆ นะครับ ท่านอาจเคยร่วมลงชื่อด้วยความเต็มใจในครั้งนั้นก็ได้
(ผมมั่นใจว่า พวกท่านอาจเคยร่วมลงชื่อในช่วง มกราคม2555-พฤษภาคม 2557 ก็ได้)"



ปล.ถ้านึกอะไรออกอีก จะค่อยมาเพิ่มข้อมูลต่อไป