วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558

ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเป็นข้าราชการประจำได้หรือไม่

กรณีนี้ ศาลปกครองสูงสุดถึงขั้นต้องมีการพิจารณาในที่ประชุมใหญ่แล้วในประเด็นพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 25(3) ซึ่งกำหนดให้ผู้ดำเนินการต้องสามารถควบคุมดูแลกิจการสถานพยาบาลได้โดยใกล้ชิด สรุปได้ความว่า กฎหมายกำหนดให้ต้องดูแลได้โดยใกล้ชิดเพื่อให้แก้ปัญหาหากเกิดกรณีฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นต้องให้ผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อเป็นข้าราชการประจำย่อมไม่มีเวลาดูแลกิจการสถานพยาบาลซึ่งเปิดทำการในช่วงเวลาที่ตนเองต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ได้

เมื่อถือว่าไม่มีผู้ดำเนินการอยู่ใกล้ชิด จึงเป็นเหตุไม่อนุญาตให้ต่ออายุสถานพยาบาลได้ (ก็คือต้องปิดสถานพยาบาลนั่นเอง)

(คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อ.511-512/2556)


__________

ที่มา ฐิติพร ป่านไหม. ข้าราชการประจำเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลได้หรือไม่. 
.http://www.admincourt.go.th/00_web/09_academic/document/05_case/20141222-Article-16-57.pdf

ระยะเวลาในการพิจารณาคดีจรรยาบรรณวิชาชีพ

ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 466/2557 กรณีที่มีการพิจารณาคดีจรรยาบรรณวิชาชีพหรือจริยธรรมวิชาชีพล่าช้า และตามกฎหมายเฉพาะไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ว่าให้พิจารณาเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาใด จึงต้องนำพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 45 มาใช้บังคับ ควรมีกำหนดระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องเรียน มิฉะนั้นถือว่าพิจารณาล่าช้าเกินสมควร เพื่อคุ้มครอง"สิทธิของคู่กรณีที่จะต้องได้รับการพิจารณาโดยรวดเร็ว"



__________

คอลัมน์ คดีปกครอง: '90 วัน'...ระยะเวลาอันสมควร ในการพิจารณาอุทธรณ์!
นายปกครอง. บ้านเมือง ฉบับวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2558 หน้า 3
         
          คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังฉบับนี้เป็นกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยให้ฝ่ายปกครองทำหน้าที่ภายในเวลาที่กำหนด เนื่องจากฝ่ายปกครองทำหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
          โดยคดีนี้สามีของผู้ฟ้องคดีได้เข้ารับการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลของรัฐ หลังจากแพทย์ตรวจดูอาการแล้วก็ให้กลับบ้าน แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยเกิดอาการช็อกไม่รู้สึกตัว จึงได้เข้าตรวจรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลอื่น
          ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นหนังสือร้องเรียนต่อแพทยสภา ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2553 ว่า แพทย์ของโรงพยาบาลของรัฐประมาทเลินเล่อวินิจฉัยโรคโดยประเมินอาการไม่ถูกต้อง และปล่อยให้กลับบ้านทั้งที่มีอาการป่วยอย่างหนัก จึงขอให้ตรวจสอบการทำงานของแพทย์ดังกล่าว เลขาธิการแพทยสภารับเรื่องร้องเรียนไว้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียน
          แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไป 1 ปี ก็ยังไม่ได้รับทราบคำวินิจฉัย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แพทยสภาพิจารณาเรื่องร้องเรียน
          แพทยสภาชี้แจงว่า จำเป็นต้องแสวงหาข้อเท็จจริงต่างๆ ให้ครบถ้วนและให้ความเป็นธรรมกับคู่กรณีทุกฝ่าย และไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนได้
          เรื่องนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 45 ได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งไว้ต้องพิจารณาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ทั้งหมดหรือบางส่วนให้รายงานความเห็นพร้อมเหตุผลไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลานั้น และผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงาน และขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้อีกไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลา ซึ่งรวมระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์คือเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์
          ดังนั้น คดีนี้ การที่แพทยสภาพิจารณาเรื่องร้องเรียนนานกว่า 1 ปี ถือว่าแพทยสภาละเลยหรือล่าช้าในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือไม่?
          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 และข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับคดีด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่แพทยสภาควรต้องดำเนินการในการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิจารณาสอบสวนความผิดด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมไว้ จึงต้องนำมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาใช้บังคับ

          ซึ่งเมื่อพิจารณาเทียบเคียงจากระยะเวลาขั้นสูงในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของฝ่ายปกครองตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว "ระยะเวลาอันสมควร" ที่จะถือเป็นเกณฑ์เบื้องต้นว่า แพทยสภาจำต้องพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ฟ้องคดีให้เสร็จสิ้นนั้น ควรมีกำหนดระยะเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่แพทยสภาได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องเรียน หาใช่ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดหรือไม่สามารถจะกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนได้ตามที่แพทยสภากล่าวอ้างแต่ประการใด และการที่เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง ทั้งที่เวลาได้ล่วงพ้นไปกว่า 1 ปี 6 เดือนแล้ว จึงถือว่าแพทยสภาปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ฟ้องคดีล่าช้าเกินสมควร (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 466/2557) คดีนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีแก่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอุทธรณ์หรือพิจารณาเรื่องร้องเรียนดังเช่นคดีนี้ว่า เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจะต้องเคารพต่อสิทธิของคู่กรณี โดยจะต้องพิจารณาโดยรวดเร็ว และที่สำคัญจะต้องอยู่ภายในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หากกฎหมายที่ให้อำนาจไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ ก็จะต้องนำระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประกันความเป็นธรรมให้แก่คู่กรณีในกระบวนการพิจารณาทางปกครองและมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการทั่วไปมาใช้บังคับ เพื่อคุ้มครอง"สิทธิของคู่กรณีที่จะต้องได้รับการพิจารณาโดยรวดเร็ว"...ครับ!

วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558

คำอธิบายพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์



เนื้อหาคำอธิบายตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ในที่นี้ ประกอบด้วย
1. เครื่องสำอาง ตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 คืออะไร
2. ประเภทของเครื่องสำอาง
3. การผลิต การนำเข้าเครื่องสำอางควบคุม
4. การส่งออกเครื่องสำอาง
5. ใบจดแจ้งเครื่องสำอางมีอายุเท่าใด
6. การผลิตเครื่องสำอางสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย โดยไม่ต้องจดแจ้งเครื่องสำอาง ทำได้หรือไม่
7. การเปิดร้านขายเครื่องสำอาง หรือขายเครื่องสำอางทางอินเตอร์เน็ต ต้องขออนุญาตจากผู้อนุญาต หรือไม่
8. ฉลากเครื่องสำอางต้องระบุอะไรบ้าง
9. คำเตือนของเครื่องสำอาง
10. เครื่องสำอางแสดงข้อความที่ฉลากว่ารักษาโรคได้
11. เครื่องสำอางที่ห้ามผลิต ขาย นำเข้า ในประเทศไทย มีลักษณะอย่างไร
12. บทลงโทษเครื่องสำอางที่ห้ามผลิตเพื่อขาย ขาย นำเข้าเพื่อขาย
13. สารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง มีลักษณะอย่างไร หากเครื่องสำอางมีสารห้ามใช้ จะต้องได้รับโทษอย่างไร
14. สารที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางมีอะไรบ้าง หากเครื่องสำอางนั้นใช้สารดังกล่าวเกินกำหนดจะต้องได้รับโทษอย่างไร
15. การโฆษณาขายเครื่องสำอาง จะต้องขออนุญาตจาก อย.หรือไม่ เพราะเหตุใด
16. ข้อห้ามของการโฆษณาเครื่องสำอาง มีอะไรบ้าง
17. หากมีการฝ่าฝืนเรื่องโฆษณาเครื่องสำอาง จะต้องรับโทษตามพ.ร.บ.เครื่องสำอางได้หรือไม่ หากมีปัญหาตามกฎหมายจะแก้ไขอย่างไร
18. นำเข้าเครื่องสำอางโดยไม่จดแจ้งอย่างถูกต้อง และโฆษณาผ่านเว็บไซต์ว่าสามารถลดรอยเหี่ยวย่นได้ ฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่อย่างไร
19. พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ให้อำนาจสามารถสั่งปิดร้านขายเครื่องสำอางได้หรือไม่ อย่างไร
20. อำนาจจับ

กรณีศึกษา

คำอธิบาย พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์



ส่วนที่ 1 ผลิตภัณฑ์ยา

ส่วนที่ 2 ผู้รับอนุญาต


ส่วนที่ 4 ผู้ประกอบวิชาชีพและบุคลากร



ส่วนที่ 8 ความรับผิดทางกฎหมาย


เอกสารเพิ่มเติม





พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510: ส่วนที่ 8 ความรับผิดทางกฎหมาย

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

ส่วนที่ 8 ความรับผิดทางกฎหมาย
          กรณีผู้ละเมิดกฎหมายในด้านความรับผิดทางแพ่ง พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535, พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 (แต่ในส่วนพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ในอนาคตจะมีมาตรการนี้) ความรับผิดทางกฎหมายของ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 จึงมีเพียงความรับผิดทางอาญา และมาตรการทางปกครอง (เช่น การปรับรายวัน การพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต) ดูหมวด 14 บทกำหนดโทษ
          ในส่วนบทบัญญัติที่มีโทษทางอาญาจะต้องตีความโดยเคร่งครัด กล่าวคือ บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 จึงต้องพิจารณาเนื้อหาของบทลงโทษให้ดีว่าใช้กับใคร เช่น ใช้กับ “ผู้ใด” “ผู้รับอนุญาต” (ต้องสังเกตอีกว่าเป็นผู้รับอนุญาตประเภทใดด้วย) “ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ” อีกทั้งการรับโทษอาญาตามกฎหมายนี้ ใช้เฉพาะกับการกระทำโดยเจตนาไม่ใช้กับการกระทำโดยประมาทด้วย หมายความว่า ถ้ากระทำด้วยความประมาทก็ไม่สามารถลงโทษได้ ซึ่งเป็นผลมาจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคแรกซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา”. และเนื่องจาก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 และมาตรา 59 อยู่ในภาค 1 ของประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น จึงให้ใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เว้นแต่กฎหมายนั้น ๆ จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 บางกรณีใน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 แม้ไม่ได้มีเจตนาก็เป็นความผิดได้ เช่น กรณีขาย นำเข้า โดยไม่รู้ว่าเป็นยาปลอม ยาผิดมาตรฐาน ยาเสื่อมคุณภาพ ยาที่ทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก ยาที่ถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับยา ก็มีบทลงโทษ

วันเสาร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2558

พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510: ส่วนที่ 7 ผู้บริโภคหรือประชาชน

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

ส่วนที่ 7 ผู้บริโภคหรือประชาชน
          ผู้บริโภคยังไม่มีบทบาทใน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 เท่าใดนัก และแทบไม่มีหน้าที่รับผิดชอบตนเองเกี่ยวกับการใช้ยาเลย ซึ่งต่างจากกรณีกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มีภาระหน้าที่ของผู้บริโภคอยู่บ้าง เช่น ห้ามเสพยาเสพติดหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทบางรายการ

พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510: ส่วนที่ 6 นโยบายของรัฐและการควบคุม

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

ส่วนที่ 6 นโยบายของรัฐและการควบคุม

6.1 ผู้อนุญาต
          ผู้อนุญาต ตามพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 เป็นบุคคลที่สามารถอนุญาตให้มีการประกอบกิจการด้านการผลิต ขาย นำเข้า ผลิตภัณฑ์ยาได้ ส่วนกิจการประเภทใดใครเป็นผู้อนุญาตนั้น สามารถพิจารณาได้ตามตารางนี้ 

พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510: ส่วนที่ 5 การโฆษณาและส่งเสริมการขาย

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

ส่วนที่ 5 การโฆษณาและส่งเสริมการขาย

          การโฆษณาและการส่งเสริมการขายมีผลต่อการทำให้สินค้าของตนเป็นที่รู้จักและสามารถเพิ่มยอดขายสินค้ายาของตนได้ แต่ยาก็เป็นสินค้าที่ต้องใช้อย่างสมเหตุผล เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายจากการใช้ยาหรือปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการใช้ยาเช่นกัน ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ เช่น ปัญหาเชื้อดื้อยา ปัญหาอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา หรืออาจจะเป็นปัญหาที่เกิดกับสังคม เช่น การใช้ยาเพื่อทำแท้ง หรือการโฆษณาเพื่อหลอกลสงทำให้ต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทองโดยไม่สมควร กฎหมายจึงจำเป็นต้องมีมาตรการบางอย่างเพื่อป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบที่จะตามมาขึ้น โดยกำหนดให้มีการควบคุมเนื้อหาตลอดจนวิธีการในการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยา

พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510: 4.3 กรณีศึกษาช่วงเวลาการเปิดร้านขายยาแผนปัจจุบัน

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์


4.3 กรณีศึกษาช่วงเวลาการเปิดร้านขายยาแผนปัจจุบัน
          โปรดศึกษา เวลาเปิดทำการตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ได้ที่ http://rparun.blogspot.com/2012/08/openingtime.html

           กรณีที่เข้าใจกันว่าร้านขายยาแม้เปิดร้านทั้งวัน แต่ต้องมีเภสัชกรอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวันนั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2527 ได้หมดระยะเวลาผ่อนผันโดยสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2529 แล้ว ดังนั้น เมื่อเปิดร้านเพื่อขายยาจึงต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำตลอดเวลาที่เปิดทำการ  

           นอกจากนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกมายืนยันอีกครั้ง โดยมีการประชาสัมพันธ์เรื่อง “ย้ำชัด ๆ ร้านขายยาแผนปัจจุบัน จะซื้อ...จะขายยา ต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำตลอดเวลา” ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 11 มกราคม 2553 หน้า 15





           รศ.ดร.ทิพาพร พิมพิสุทธิ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เขียนถึงความเป็นมาเรื่องการกำหนดให้ร้านขายยาต้องมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาที่เปิดทำการ ในหนังสือ "การกำหนดและการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ" (PA370) ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง สรุปได้ดังนี้


           เรื่องการกำหนดให้ร้านขายยาต้องมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาที่เปิดทำการ นี้มีการเล่าถึงประวัติความเป็นมาของนโยบาย คือ เพื่อให้เภสัชกรควบคุมการขายและจำหน่ายยาเพื่อให้ประชาชนได้ยาที่มีมาตรฐาน คุณภาพดี เหมาะสมกับโรคภัยไข้เจ็บ และปลอดภัยในการใช้ยา นโยบายนี้เกิดขึ้นมาจากการริเริ่มผลักดันของข้าราชการมากกว่าการริเริ่มจากสมาชิกรัฐสภา และการกล่าวถึงกลุ่มธุรกิจ สมาคมที่คัดค้านว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น สมาคมร้านขายยา แต่ในขณะที่เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยเห็นว่าการกำหนดนโยบายนี้ไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติแต่อย่างใด

           กลุ่มผู้คัดค้านได้พยายามผลักดันนโยบายให้มีการผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายออกไป ซึ่งทำได้สำเร็จ โดยมีการขยายระยะเวลาให้ร้านยาต้องมีเภสัชกรประจำอย่างน้อย 3 ชั่วโมงติดต่อกันในเวลาเปิดทำการ ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2529 (ปัจจุบันในทางกฎหมายไม่มีการผ่อนผันให้อีก) โดยเหตุผลในการอ้าง คือ เภสัชกรมีจำนวนไม่เพียงพอ เงินเดือนของเภสัชกรสูง ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะจ้างเภสัชกร การอยู่ร้านทำให้ราคายาของร้านยาเพิ่มสูงขึ้น เภสัชกรไม่ยอมมาอยู่ประจำร้านยาเนื่องจากความมั่นคงน้อยกว่างานที่ทำประจำอยู่เดิม

           หนังสือเล่มนี้มีการตั้งข้อสังเกตบางประการที่ทำให้นโยบายนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ขาดการศึกษาวิจัยเรื่องสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม ตัวอย่างเช่น ประชาชนต้องการบริการจากเภสัชกรในร้านขายยามากน้อยเพียงใด ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่มีเภสัชกรให้บริการในการซื้อยามากน้อยเพียงใด ที่สำคัญ คือ เภสัชกรนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างไร

(ที่มา: ทิพาพร พิมพิสุทธิ์. การกำหนดและการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ (PA370). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ฉบับปรับปรุงใหม่ พ.ศ.2551. หน้า 128-141
http://e-book.ram.edu/e-book/p/PA370%2851%29/PA370-6.pdf )