วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ระดับการควบคุมเซทิริซีน (cetirizine) ในแต่ละประเทศ



ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

เซทิริซีน (cetirizine) เป็นยาในกลุ่มแอนติฮิสตามีน (antihistamine) แต่ละประเทศมีระดับการควบคุม ดังนี้

ไทย 
ยาอันตราย (ต้องขายในร้านขายยาแผนปัจจุบัน โดยมีเภสัชกรเป็นผู้ควบคุมการขาย)

แคนาดา
เซทิริซีนและเกลือ เมื่อขายในความเข้มข้นของเซทิริซีนมากกว่า 8.5 มิลลิกรัมต่อหน่วยการใช้ จัดอยู่ใน Schedule F part I (ต้องใช้ใบสั่งแพทย์)

นิวซีแลนด์
(1) นอกเหนือชนิดรับประทาน  ยาที่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์
(2) ชนิดรับประทาน ซึ่งเป็นรูปแบบของแข็งมีปริมาณยาเซทิริซีน ไฮโดรคลอไรด์ (cetirizine hydrochloride) น้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 มิลลิกรัม สำหรับรักษาอาการ seasonal allergic rhinitis ซึ่งมีขนาดบรรจุจากผู้ผลิตสำหรับใช้ไม่เกิน 5 วัน เป็นยาที่ขายได้โดยทั่วไป (general sale)
(3) ชนิดรับประทาน นอกเหนือจากกรณีตามข้อ 2 (ตัวอย่างเช่น ชนิดน้ำสำหรับรับประทาน หรือชนิดของแข็งซึ่งมีขนาดบรรจุสำหรับใช้เกิน 5 วัน) เป็นยาที่จ่ายเฉพาะร้านขายยา (pharmacy only)

http://www.medsafe.govt.nz/profs/class/classification.asp 

สหรัฐอเมริกา 
Over-The-Counter หรือ OTC (ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์)
 

สิงคโปร์ 
Pharmacy Only (เทียบยาอันตราย ในประเทศไทย)
 

สหราชอาณาจักร 
มีทั้งที่เป็น general sale list หรือ pharmacy only medicine ขึ้นกับเงื่อนไขของยา เช่น ยาเม็ดที่เป็น general sale list (เทียบยาสามัญประจำบ้านในประเทศไทย) ต้องเข้าเงื่อนไข (Max strength: 10mg. Max daily dose: 10mg Max pack: 14 tablets) นอกนั้นเป็น pharmacy only medicine (เทียบยาอันตรายในประเทศไทย)

ออสเตรเลีย
ตาม Poisons Standard 2012 ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 52D(2)(b) แห่ง The Therapeutic Goods Act 1989 ซึ่งมีสถานะการควบคุมดังนี้
(1) รูปแบบรับประทาน อยู่ใน Schedule 2 Pharmacy medicine ซึ่งเป็นสารที่ปลอดภัยในการใช้หรืออาจจะต้องการคำแนะนำจากเภสัชกรไม่ว่าจะอยู่ในร้านยาหรือไม่ก็ตาม 
(2) รูปแบบอื่นนอกเหนือจากรูปแบบรับประทาน อยู่ใน Schedule 4 Prescription Only Medicine ซึ่งเป็นสารที่จะรับจากเภสัชกรได้ต่อเมื่อมีใบสั่งจากแพทย์ 
นอกจากนี้ยังต้องมีคำเตือนเรื่องผลของยาที่ทำให้ง่วงซึมได้ 

http://www.comlaw.gov.au/Details/F2012L01200  

แอฟริกาใต้
จัดให้อยู่ใน Schedule2 เภสัชกรหรือผู้ช่วยเภสัชกรซึ่งอยู่ในความควบคุมของเภสัชกร สามารถขายได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยา

http://www.doh.gov.za/docs/regulations/2003/medcontrol1.html


ฮ่องกง 
Over-The-Counter หรือ OTC (เทียบเท่ายาสามัญประจำบ้านในประเทศไทย)

วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สถานะทางกฎหมายของเฟนเทอร์มีน (phentermine)



 
phentermine (ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Phentermine)


 เฟนเทอร์มีน (phentermine) มีโครงสร้างในกลุ่ม phenethylamine ซึ่งคล้ายกับแอมเฟตามีน (amphetamine) ถูกนำไปใช้ในเรื่องของการลดความอยากอาหาร 

สถานะทางกฎหมายของ เฟนเทอร์มีน (phentermine) ในประเทศไทย

ก่อนวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2531 ไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและสาท พ.ศ.2518 จึงมีสถานะเป็นยา ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510

วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2531 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 51 (พ.ศ.2531) เรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้ phentermine ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า alpha, alpha-dimethyl-phenethylamine เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 4 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (27 ตุลาคม พ.ศ.2531)

วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2531 วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 4

วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2535 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 84 (พ.ศ. 2535) เรื่อง เปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อ จิตและประสาท พ.ศ. 2518 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เปลี่ยนแปลงประเภทของ phentermine จากวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 4 เป็น วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (22 มกราคม พ.ศ.2536)

วันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2536 วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2

วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2539  ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ.2539) เรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แม้ว่าจะยกเลิกประกาศที่จัดประเภทของวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทก่อนหน้านั้น และจัดประเภทใหม่ ก็ยังกำหนดให้ phentermine เป็น วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 60 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา นั่นหมายความว่า phentermine ยังคงเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2ไม่เปลี่ยนแปลง


สรุป เฟนเทอร์มีน (phentermine) ถูกประกาศเป็น วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2536



ด้วยเหตุที่เฟนเทอร์มีน (phentermine) ซึ่งเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 ถูกนำมาใช้ในเรื่องการลดความอ้วน ทำให้พบปัญหาทำให้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย หากมีการฝ่าฝืน ผู้ขายต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 - 400,000 บาท ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 89 ซึ่งบทลงโทษเรื่องการขายไม่ได้กำหนดให้ลงโทษเพราะการกระทำโดยประมาทหรือโดยไม่รู้ ดังนั้น จึงใช้กับกรณีที่มีการกระทำโดยเจตนาที่จะขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเท่านั้น ตามนัยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคแรก และมาตรา 17


ที่มา  


ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 51) พ.ศ. 2531 เรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518. 
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2531/D/123/5643.PDF
  


ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 84 (พ.ศ. 2535) เรื่อง เปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518. ราชกิจจานุเบกษา 28 กรกฎาคม พ.ศ.2531.
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2535/D/136/11868.PDF


ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ.2539) เรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518. ราชกิจจานุเบกษา 16 สิงหาคม พ.ศ.2539