วันอังคารที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สถานะทางกฎหมายของกัญชง (เฮมพ์): จากพืชยาเสพติดกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์


กัญชงหรือเฮมพ์ (hemp) เป็นชนิดย่อย (ซับสปีชีส์, subspecies) ของกัญชา เนื่องจากกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จึงส่งผลให้กัญชงหรือเฮมพ์ซึ่งเป็นชนิดย่อยของกัญชาก็กลายเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไปด้วย แต่กัญชงก็มีประโยชน์ตรงที่เส้นใยมีความเหนียวสามารถนำมาทำเป็นสิ่งทอได้ จึงเป็นช่องทางที่จะผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจได้ และเพื่อเป็นการสนับสนุนงานโครงการหลวงด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการผลักดันเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประโยชน์จากกัญชง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2556 เรื่อง ความคืบหน้าเกี่ยวกับกรอบแนวทางการพิจารณาเพื่อการควบคุมและส่งเสริมการปลูก พืชกัญชง (เฮมพ์) เป็นพืชเศรษฐกิจ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://rparun.blogspot.com/2013/05/cabinetresolution25560507cannabis.html) มีประเด็นการแก้ไขกฎหมาย คือ กำหนดให้มีการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2539) ซึ่งเป็นประกาศที่ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 และให้มีการจัดทำร่างกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตและควบคุมการปลูกพืชกัญชง (เฮมพ์) ให้แล้วเสร็จและเสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 

ต่อมาก็ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 12) ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ได้กำหนดเพิ่มเติมเงื่อนไขของพืชกัญชาซึ่งได้รับการยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง และผลิตภัณฑ์จากเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง ไม่ให้เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งก็เป็นการเปิดช่องให้กับการใช้ประโยชน์จากเส้นใยของกัญชง (ซึ่งกัญชงเป็นชนิดย่อยของกัญชาตามที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นแล้ว)

เนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง  ไม่ให้เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 นั่นหมายความว่า หากเป็นเปลือกสด แกนลำต้นสด เส้นใยสด ก็ยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อยู่ ซึ่งหากมีการปลูกเพื่อเพิ่มจำนวนซึ่งถือว่าเป็นการผลิต มีการจำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ก็ถือว่าฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 ด้วย แต่กฎหมายก็เปิดช่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเป็นราย ๆ ไปได้ โดยการขออนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้น สิ่งที่ยังขาดในขั้นตอนนี้ คือ ร่างกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตและควบคุมการปลูกพืชกัญชง (เฮมพ์) ซึ่งเดิมเคยมีแผนกำหนดให้แล้วเสร็จและเสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 แต่ก็ยังไม่ได้เป็นไปตามเป้าแต่อย่างใด จนกระทั่งเกิดรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2557 แล้วมีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีใหม่อีกครั้ง 


ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2557 เรื่อง ร่างกฎกระทรวงขออนุญาตและการออกใบอนุญาตเฮมพ์ (Hemp) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้ 

          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงขออนุญาตและการออกใบอนุญาตเฮมพ์ (Hemp) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
          กระทรวงสาธารณสุข เสนอว่า
          1. เฮมพ์เป็นชนิดย่อยของกัญชา จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยมีสารสำคัญ คือ  เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol,THC) ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง และมีลักษณะทางกายภาพคล้ายกับกัญชามากจนยากในการจำแนก ขณะเดียวกันเฮมพ์เป็นพืชที่สามารถนำมาแปรรูปและใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ เช่น สิ่งทอ กระดาษ ผลินภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น สำหรับประเทศไทยมีการปลูกเฮมพ์เพื่อนำเส้นใยมาใช้ในการทอผ้าเพื่อเป็นเครื่องนุ่งห่ม และปัจจุบันมีการสนับสนุนให้มีการศึกษาและส่งเสริมให้ปลูกเฮมพ์เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน และอนาคตจะส่งเสริมให้ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจและนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น
          2. เดิมการขออนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฮมพ์ต้องดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่เนื่องจากกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการขออนุญาต การออกใบอนุญาต การควบคุม และการกำกับดูแลการปลูกเฮมพ์เป็นการเฉพาะ ดังนั้น เพื่อให้สามารถส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ เป็นพืชเศรษฐกิจได้ภายใต้การควบคุมและกำกับดูแลการดำเนินการที่เข้มงวดรัดกุม มิให้มีการรั่วไหลไปใช้ในทางที่ผิด จึงจำเป็นต้องดำเนินการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การควบคุม และการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวกับเฮมพ์เป็นการเฉพาะ ซึ่งร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษแล้ว 

          สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
          1. กำหนดวัตถุประสงค์ในการขอรับใบอนุญาตผลิต จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งเฮมพ์ และคุณสมบัติของผู้รับในอนุญาต
          2. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตการเพิกถอนใบอนุญาต และอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการควบคุม กำกับดูแลการดำเนินการของผู้ได้รับอนุญาต ตลอดจนการสั่งอายัดหรือห้ามเคลื่อนย้ายเฮมพ์
          3. กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องปฏิบัติในการผลิตจำหน่าย และการเก็บรักษาเฮมพ์ การตรวจวิเคราะห์หาปริมาณเตตราไฮโดรแคนนาบินอล
          4. กำหนดบทเฉพาะกาลให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งเฮมพ์ตามกฎกระทรวงนี้ เป็นระยะเวลา 3 ปีนับจากวันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ และให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษพิจารณาความเหมาะสมในการอนุญาตให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอื่นมายื่นขอรับในอนุญาต หากพิจารณาแล้วยังไม่อนุญาตให้เสนอรัฐมนตรีหรือพิจารณาขยายระยะเวลาของบทเฉพาะกาลนี้ไปอีก 2 ปี
          5. กำหนดบทเฉพาะกาลให้ในระหว่างที่ยังไม่สามารถจัดหาเมล็ดพันธุ์รับรองตามกฎหมายว่าด้วยพันธุ์พืช ให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการจดทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืช และมีผลการตรวจวิเคราะห์แสดงปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ไม่เกินปริมาณตามที่กำหนด
          6. กำหนดบทเฉพาะกาลให้ใบอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งเฮมพ์ที่ออกให้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าใบอนุญาตนั้นสิ้นอายุ

หลังจากนั้น รอประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป หากมีความคืบหน้าประการใดจะแจ้งในที่นี่

วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2557

รายชื่อผู้แทนยา (ดีเทล) ไปร่วมสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... ได้อย่างไร

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

ขณะที่เขียนเรื่องนี้ เนื่องจากมีกลุ่มผู้แทนยาของบริษัทยา (ดีเทลยา) ทราบมาว่ามีชื่อของตัวเองปรากฏในเว็บไซต์ของรัฐสภาว่าร่วมเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... โดยมีนายบรรยวัสถ์ สังข์วรรณะ เป็นผู้แทนของผู้ซึ่งเสนอกฎหมาย หรือก็คือผู้ไปยื่นรายชื่อนั่นแหละ (ดูภาพได้จาก ภาพจาก http://register.parliament.go.th/pet/)  แล้วเกิดความตื่นตระหนกว่าชื่อของฉัน เพื่อนของฉัน พ่อแม่พี่น้องของฉันไปอยู่ในนั้นได้อย่างไร ฉันไม่รู้เรื่อง ฉันจำได้ว่าส่งแต่รายชื่อไปคัดค้านอย่างเดียว นี่ อย.มันหลอกเอารายชื่อของพวกฉันไปสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... ของตัวเองที่มันมีปัญหาหรือเปล่า



ภาพที่ 1 ภาพจาก http://register.parliament.go.th/pet/

จากภาพข้างบน เมื่อคลิกไปตรงที่ (รายชื่อทั้งหมด) หรือคลิกไปที่ http://register.parliament.go.th/pet/petlist.aspx?pid=SXSwhiaHi9I=  ก็จะปรากฏรายชื่อออกมา ตรงคำว่า ผู้เสนอกฎหมายรวมรายชื่อผู้คัดค้าน (หมายความว่ารายชื่อทั้งหมดก่อนมีการแก้ไข) เมื่อหักด้วยจำนวนผู้คัดค้าน ก็จะได้ช่องจำนวนรายชื่อที่ถูกต้อง


ภาพที่ 2 รายชื่อผู้เสนอกฎหมาย (รวมชื่อผู้คัดค้าน)

ผมขอให้ตั้งสติให้ดีและนึกถึงความหลังให้ดี ๆ นะครับ ท่านอาจเคยร่วมลงชื่อด้วยความเต็มใจในครั้งนั้น โดยที่ผู้ขอรายชื่อเขาไม่ได้หลอกลวงอะไรเลยก็ได้ หลายคนมีปัญหาตอนที่รณรงค์หรือต้องการคัดค้านอะไร เขาบอกอะไรมาก็เชื่อหมด ไม่เคยคิดค้นหาเอกสารหรือขอข้อมูลเพิ่มเติม ขอแค่เพียงสิ่งที่เขาพูดนั้นตรงกับความเชื่อของตัวเองก็พอ แล้วต่อมาก็ลืมหมดว่าเคยทำอะไรลงไปบ้าง

ก่อนอื่นต้องขอทบทวนในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่อาจเป็นสาเหตุของปัญหาการตื่นตระหนกในครั้งนี้ว่า เดิมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ฉบับที่ถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช.ฉีกทิ้งนั่นแหละ) เขาได้กำหนดช่องทางการยื่นเสนอกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติไว้หลายช่องทาง ตามมาตรา 142 คือ
(1) คณะรัฐมนตรี
(2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
(3) ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์กรและกฎหมายที่ประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ หรือ
(4) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามมาตรา 163

ถ้าต้องการจะยื่นร่างกฎหมายฉบับใหม่อย่างเช่น ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... จะทำได้อย่างไรนั้น ถ้าเป็นฉบับของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นฉบับที่หลายคนบอกว่าเป็นร่างกฎหมายที่มีปัญหา ไม่คุ้มครองผู้บริโภค เขาก็ส่งไปตามขั้นตอนของระบบราชการ เช่น ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ท้ายที่สุดให้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ถ้าคณะรัฐมนตรีรับรอง นายกรัฐมนตรีลงนามเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงเรียกโดยรวมว่าเป็นฉบับรัฐบาล ไม่เห็นต้องไปขอรายชื่อจากภาคประชาชนมาสนับสนุนเลย พวกเธอจะค้านก็ค้านไปถ้าฉันจะเอาซะอย่างจะทำอะไรได้ (นึกถึงตัวอย่างร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ. .... ที่หลายคนออกไปเดินคัดค้านให้ดี)

ภาคประชาชน โดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาและคณะ เช่น แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส, ชื่อในขณะนั้น) หรือหลายคนเรียกว่าเป็นฉบับเอ็นจีโอ (NGO) ก็ได้มองเห็นแล้วว่าร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ฉบับของ อย.นั้นน่าจะมีปัญหา มีแนวคิดหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดกลุ่มของตน เช่น เห็นว่าไม่มีการคุ้มครองผู้บริโภคที่เพียงพอ ไม่ได้ยกระดับของวิชาชีพ ไม่มีการควบคุมเรื่องการโฆษณาและการส่งเสริมการขายที่เพียงพอ ขาดมาตรการควบคุมเรื่องการขึ้นทะเบียนตำรับยาว่ายาที่ติดสิทธิบัตรอยู่นั้นมีความคุ้มค่าที่จะขึ้นทะเบียนตำรับยามากน้อยขนาดไหน ภาครัฐไม่ได้มีมาตรการขึ้นมาเพื่อช่วยในการทำงานของตัวเอง เช่น ไม่มีมาตรการบังคับทางปกครอง (ซึ่งบางคนอาจจะเห็นว่าสุดโต่งไปด้วยซ้ำ)

แต่จะทำอย่างไรที่ทำให้แนวคิดของตนถูกบรรจุในร่างพระราชบัญญัติยาได้ เพราะภาครัฐอย่างเช่น อย. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก) คงไม่เอาแน่ จะไปเถียงหรือไปชี้แจงต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาคงไม่ได้ผลอยู่ดี จึงมองหาช่องทางอื่น คือ เห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้เปิดโอกาสให้ประชาชน10,000 คน เข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ แล้วก็มีโอกาสร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อไปแปรญัตติ (คือ ไปปรับแก้ไข เพิ่มเติม ตัดต่อ ดัดแปลง อธิบายความ หรือไปเถียงต่อ เพื่อเสนอต่อทั้งรัฐสภานั่นแหละ) ถึงหนึ่งในสามทั้งในชั้นสภาผู้แทนราษฎรและชั้นวุฒิสภา (ตัวอย่างเช่น สภาผู้แทนราษฎรให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 33 คน ดังนั้น ก็ไปแบ่งสัดส่วนกันให้มาจากภาคประชาชน 11 คน ส่วนที่เหลือ 22 คน ก็มาจากคณะรัฐมนตรี สส.ฝ่ายรัฐบาล สส.ฝ่ายค้าน)  ก็เอาอย่างนี้แล้วกัน เราก็ไปขายแนวคิดแล้วหาคนมาสนับสนุนพวกเรา ซึ่งไปก็หาตามกลุ่มวิชาชีพ อย่างเช่น เภสัชกรด้วยนะ แต่ไม่มีใครเห็นความสำคัญเท่าไหร่ ลงชื่อมาแค่ประมาณ 2 พันราย ที่เหลือก็เป็นรายชื่อของประชาชนทั่วไปที่เห็นความสำคัญ ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ฉบับนี้จึงเป็นร่างกฎหมายสายที่สองที่เกิดขึ้น เป็นฉบับประชาชนฉบับหนึ่ง

ตอนนั้นก็เริ่มมีร่างคร่าว ๆ ออกมาบ้างแล้วทั้งฉบับรัฐบาล และฉบับประชาชนโดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา สภาเภสัชกรรมก็เคยจัดการเสวนาพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ... ผลกระทบต่อวิชาชีพเภสัชกรรม เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2554 ณ โรงแรมโกลเด้นทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพฯ เมื่อเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติของทั้งคู่ โดยมี ผศ.ภก.มังกร ประพันธ์วัฒนะ (ผู้ล่วงลับไปแล้ว) ได้บันทึกการประชุมในครั้งนั้นด้วย อ่านรายละเอียดได้ที่ http://goo.gl/y6YNki แต่ละฝ่ายก็รับไปปรับปรุงร่างกฎหมายของตัวเอง

ทีนี้ ช่วงประมาณปี พ.ศ.2554 อย. หรือ สคก.นี่แหละ ก็ปล่อยข่าวออกมาว่า ร่างพระราชบัญญัติยา ฉบับรัฐบาลใกล้จะเสร็จแล้วนะ ในส่วนของฉบับประชาชนโดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาและคณะก็ตาลีตาเหลือกเร่งหารายชื่อผู้สนับสนุนจากภาคต่างๆ รวมทั้งนิสิตนักศึกษาที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เพื่อให้ไปทันยื่นพร้อมกันที่รัฐสภาแล้วจะได้ไปเถียงกันต่อในสภาได้ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2555 ก็ยื่นต่อรัฐสภาได้สำเร็จ (ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้ยื่น) แล้วเขาก็เอารายชื่อเราไปตรวจสอบว่าส่งเอกสารมาถูกต้องไหม เช่น ลงชื่อในแบบฟอร์มไหม มีสำเนาบัตรประชาชนไหม (เดิมสมัยนั้นต้องแนบสำเนาทะเบียนบ้านด้วยนะ แต่ตอนหลังแก้กฎหมายแล้วใช้สำเนาบัตรประชาชนอย่างเดียวก็พอ) ไปเลือกตั้งมาหรือเปล่า แล้วก็ประกาศเผยแพร่รายชื่อออกมาว่าใครจะคัดค้านไหม (ก็แสดงรายชื่อให้คัดค้านเหมือนภาพข้างต้นเหมือนกัน) ถ้าคัดค้านให้คัดค้านภายในระยะเวลาที่กำหนด แล้วก็รอให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งก็ไม่มีใครรับรองเลยโดยอ้างว่าร่าง ของ อย.ยังไม่ถูกส่งมา

ช่วงประมาณปลายเดือนสิงหาคม – 4 กันยายน พ.ศ.2554 เอง ก็มีข่าวลือว่า ร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... อนุญาตให้พยาบาลออกใบสั่งยาในยาที่ต้องใช้ใบสั่งยาเองได้ ซึ่งก็ไม่เป็นความจริง ทำให้การรวบรวมรายชื่อประชาชนของร่างฉบับมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา เกิดปัญหาอีก แต่เมื่อชี้แจงไปแล้วเหตุการณ์นั้นก็สงบลงได้ภายใน 1 สัปดาห์ (คนที่ไม่มีร่างกฎหมายอยู่ในมือก็ลือไปเรื่อย โดยที่ตัวเองก็ไม่เคยเห็นหรือไม่เคยอ่านเนื้อหาเลย)

ต่อมาก็ดันมีหมอกลุ่มหนึ่งพยายามรวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ พ.ศ. .... อีก โดยอ้างว่าร่างกฎหมายนี้จะทำให้หมอถูกฟ้องร้องมากขึ้น มีการเก็บเงินจากโรงพยาบาลและร้านยาก็อาจถูกเก็บเงินด้วยนะ มีการขอรายชื่ออย่างรวดเร็ว บางคนก็เคยรายงานมาว่าต้องลงชื่อด้วยความเกรงใจ โดยรายชื่อที่รวบรวมได้มีประมาณ 1 แสนราย (ครั้งนั้นขอแต่ชื่อแต่ไม่มีการเก็บสำเนาบัตรประชาชน)

ประเด็นการลงชื่อคัดค้านลักษณะนี้ ก็ได้มีความเห็นกันว่าไม่มีผลต่อการหยุดร่างพระราชบัญญัติที่มีอยู่ได้หรอก สิ่งที่จะทำได้ คือ การรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างกฎหมายของตนขึ้นมา แล้วส่งไปให้เขาพิจารณาคู่กับร่างกฎหมายที่มีอยู่ ต่อมาหมอกลุ่มนี้ก็ไปเข้าสู่กระบวนการรวบรวมรายชื่อใหม่เหมือนขึ้นตอนข้างบนที่กล่าวมาแล้ว และได้ร่างพระราชบัญญัติของกลุ่มตนเองด้วย

ตอนนี้ มองออกหรือยังว่า การคัดค้านที่ได้ผลเขาต้องทำอย่างไร รูปแบบการคัดค้านอาจทำได้โดยการเสนอสิ่งใหม่ที่แตกต่างเข้าไปแทนก็ได้

เมื่อมาดูเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติที่มีอยู่ทั้งของฉบับรัฐบาลและของมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา ก็พบว่ามีประเด็นที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เขาก็ต้องหาทางคัดค้านเป็นธรรมดา ก็มีทั้งไปติดต่อชี้แจงกับบุคคลต่าง ๆ เป็นรายบุคคลหรือเข้าชี้แจงในคณะกรรมการ คณะกรรมาธิการต่าง ๆ ก็คงมีเสียงจากส่วนหนึ่งนี่แหละที่บอกว่าอย่าคิดเสียเวลาทำแบบนี้เลย มันไม่สง่างาม ไปหารายชื่อประชาชนผู้สนับสนุนมาแล้วไปถกเถียงกันในรัฐสภาดีกว่า นั่นก็เป็นที่มาของร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... สายที่สาม ซึ่งถือว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติฉบับประชาชนเหมือนกัน แต่ทำไปทำมาจึงเป็นนายบรรยวัสถ์ สังข์วรรณะ ซึ่งเป็นนักกฎหมาย เป็นทนายความ (เคยเป็นทนายความของบัวขาว ป.ประมุข ด้วย) มาเป็นผู้ยื่นก็ไม่ทราบได้ แต่จะยื่นในนามภาคธุรกิจก็ไม่สมควรก็ต้องมีกลุ่มผู้ป่วยมาร่วมยื่นด้วย เอ็นจีโอบางท่านก็ว่าเป็นผู้ป่วยในเครือ PReMA ซึ่งได้รับความช่วยเหลือในการให้ได้รับยาใหม่ในการรักษาโรคเรื้อรังหรือโรคต่าง ๆ ช่วงเวลาที่ดำเนินการรวมรายชื่อ คาดว่าจะเลยช่วงที่ฉบับมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนายื่นไปแล้ว คือ หลัง 19 มกราคม 2555 - พฤษภาคม 2557

ลองทบทวนประเด็นร่างฉบับรัฐบาลและของฉบับประชาชนโดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (ขอกล่าวไปรวม ๆ แล้วกัน ไม่แยกรายละเอียดปลีกย่อย) มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ดังนี้
1. การควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขาย ยังเล็งเห็นว่า การโฆษณาและส่งเสริมการขายมีผลต่อผู้ประกอบวิชาชีพอาจทำให้เกิดการสั่งใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลได้ เรื่องความรู้นั่น สมัยนี้อินเตอร์เน็ตและระบบสารสนเทศมันพัฒนาแล้ว หาข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือได้ไม่ยาก อย.เองก็ให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือได้ ภาคการศึกษาก็ให้ข้อมูลได้ ไม่ต้องรอภาคธุรกิจมาให้ข้อมูลอย่างเดียว ใครไม่หาข้อมูลใหม่ ๆ เลย ก็ตกยุคการรักษา ดีไม่ดีอาจถูกฟ้องร้องอีก และที่เขามาคุมเนี่ย ไม่ได้จงใจมาคุมธุรกิจยาของต่างชาตินะ มาคุมธุรกิจยาภายในประเทศที่มันก็มีปัญหาการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง แจกแถมประจำบ่อยๆ ด้วย แต่เนื้อหากฎหมายแบบนี้มันก็กระทบภาคธุรกิจตรงนี้อาจทำให้สินค้าขายได้น้อยลง
2. การขึ้นทะเบียนของยาที่มีสิทธิบัตร ทั้ง 2 ฉบับเห็นว่ายาที่ติดสิทธิบัตรบางตัว มันเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมควรได้รับเสียด้วยซ้ำ (ความผิดพลาดของกรมทรัพย์สินทางปัญญา) เอาแค่ 2 ตัวมาผสมกันเพื่อให้กินง่ายขึ้นเท่านั้น กลับได้สิทธิบัตรยาไป ประสิทธิภาพก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เอาอย่างนี้แล้วกัน ก็ไม่ให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเลยเมื่อเห็นว่ายาที่ติดสิทธิบัตรนั้นมีโครงสร้างราคาที่ไม่เหมาะสมหรือไม่คุ้มค่า  แต่เนื้อหากฎหมายแบบนี้มันก็กระทบภาคธุรกิจตรงที่จดสิทธิบัตรก็เสียค่าธรรมเนียมไปตั้งเยอะ แต่ดันเอามาขึ้นทะเบียนไม่ได้ ขายไม่ได้อีก
3. โครงสร้างราคายา ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ กำหนดให้ตอนขึ้นทะเบียนตำรับยาแสดงโครงสร้างราคายามาแล้ว เช่น ยาราคา 100 บาท เป็นค่าต้นทุนวัตถุดิบ ค่าเก็บรักษา ค่าขนส่ง ค่าวิจัยและพัฒนา ค่าการตลาดและส่งเสริมการขายเป็นร้อยละเท่าใด (อาจรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งไม่อาจเปิดเผยได้)
4. การควบคุมราคา ร่างฉบับประชาชน ยึดอำนาจการควบคุมราคายาซึ่งเดิมเป็นของกระทรวงพาณิชย์ แต่แทบไม่ทำอะไร (ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมยาในโรงพยาบาลเอกชนถึงได้แพงมาก บางทีแพงกว่าราคาป้ายที่ติดข้างกล่องเสียอีก ก็เลยไม่ให้กล่องมาด้วย) มาให้ อย.ทำหน้าที่อย่างบูรณาการซะเลย

ด้วยเหตุนี้ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ...สายที่สาม ซึ่งเป็นสายของภาคธุรกิจและสายผู้ป่วยในเครือ PReMA (บางท่านอาจจะเห็นคำว่า ฉบับประชาชนรักษ์สุขภาพ) จึงได้ร่วมกันเสนอร่างกฎหมายมีสาระสำคัญ ดังนี้ 
1. ไม่ให้มีการลดโทษแก่ผู้ผลิต นำเข้า และขาย ยาปลอม ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับผู้กระทำความผิด (กล่าวคือ อย่างไปลดหย่อนโทษให้ใครเด็ดขาด แม้จะเป็นเรื่องปลอมเครื่องหมายการค้าก็ตาม)
2. ให้ควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขายเพื่อคุ้มครองประชาชน แต่ยกเว้นการให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมความรู้ใหม่ ๆ และให้ข้อมูลแก่วงการแพทย์ เพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาลประชาชน
3. จำแนกบทบาทของ อย. และกรมการค้าภายในให้ชัดเจน โดยให้ อย.เน้นบทบาทการประเมิน ประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัยของยา ส่วนกรมการค้าภายในรับผิดชอบเรื่องราคายา เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพและมีความรวดเร็วในการเข้าถึงการรักษาใหม่ ๆ
4. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขึ้นทะเบียนตำรับยาสามัญใหม่ เพื่อป้องกันกรณีพิพาท ในการละเมิดสิทธิบัตรของบริษัทยาสามัญโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
5. เพิ่มกรรมการในคณะกรรมการยาแห่งชาติ โดยให้มีกรรมการมาจากสาขาวิชาชีพทางสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความสมดุลและให้มีข้อมูลรอบด้าน จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่ม โดยเฉพาะจากองค์กรผู้ป่วยที่มีประสบการณ์การรักษา




จากนั้นก็ต้องการรายชื่อประชาชนผู้สนับสนุน โดยอาจจะไปแบ่งสายไปรวมรายชื่อ (ตรงนี้ลองนึกให้ดี เพราะพวกท่านอาจอยู่ในขั้นตอนนี้ ว่าเขาขอรายชื่อหน่อย)
1. สายผู้ป่วย ก็ชูประเด็นว่าเราต้องมียาใหม่เข้ามาใช้ กฎหมายของเอ็นจีโออาจทำให้เราไม่มียาใหม่ใช้ และแพทย์อาจไม่ได้รับข้อมูลยาใหม่ ๆ เพราะอาจห้ามผ้แทนยามาแนะนำเรื่องยาต่อแพทย์
2. สายบริษัทที่นำเข้ายา ชูประเด็นว่า เขาจะให้แสดงโครงสร้างราคายา ซึ่งจะส่งผลต่อความลับทางการค้าได้ และยาที่มีสิทธิบัตรบางตัวอาจไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยา
3. สายผู้แทนยาและวิชาชีพในสถานพยาบาล ชูประเด็นว่า ร่างกฎหมายยาฉบับใหม่จะมาคุมเรื่องการโฆษณาและส่งเสริมการขาย ผู้แทนยาจะถูกควบคุม จะเข้ามาคุมเรื่องการประชุมวิชาการ
4. สายผู้ประกอบการ ร้านยา ผู้แทนยา ชูประเด็นว่า ไม่ควรให้มีการควบคุมราคา ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ทำให้บางส่วนคิดไปเองว่า ร่างกฎหมายของสายที่สามนี่ดีนะ ป้องกันคนมาต่อราคาได้ด้วย ทุกวันนี้คนมาต่อราคายาในร้านยานี่น่าปวดหัวเหลือเกิน สายผู้ประกอบการและผู้แทนยาก็เคลิ้มเห็นว่าโรงพยาบาลนี่ก็ขูดรีดราคายาเหลือเกิน ทุกวันนี้ก็แทบอยู่ไม่ได้แล้ว ยอดก็จะปิดไม่ได้อยู่แล้ว

แล้วน่าจะมีประโยคที่พูดทำนองว่า ใครไม่เห็นด้วย ต้องการจะค้านกฎหมายของเอ็นจีโอ ก็มาร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายกับเรา ตรงนี้แหละที่บอกว่าคนจำได้แต่คัดค้าน แต่ลืมประโยคหลังตรงที่เขาบอกว่าให้มาร่วมเสนอกฎหมายกับเรา เขาก็ไม่ได้หลอกนะ แต่ด้วยนิสัยที่ตามกระแสของหลายคนต่างหากที่จำข้อมูลได้ไม่หมด แต่มีบางส่วนยังคิดไปเองต่างหาก  กลับไปลองนึกให้ดีว่าคุณต้องอยู่ในเหตุการณ์ในข้างบนข้างต้นแน่ อาจจะเกิดอารมณ์ร่วม ถูกบังคับ หรือเกรงใจร่วมลงชื่อก็ได้

พอได้รายชื่อมาครบและตรวจเช็ครายชื่อเบื้องต้นเรียบร้อย เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2557 เขาก็เปิดให้คัดค้านตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม – 4 กรกฎาคม 2557

ส่วนร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ฉบับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพิ่งทำเสร็จจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อ 24 กันยายน พ.ศ.2557 หลังจากที่ร่างฉบับประชาชนโดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนายื่นไปเสร็จนานมากแล้ว รอแล้วรอเล่าร่างของ อย.ก็ไม่ยอมเสร็จซะที ก็เลยต้องทวงออกสื่อเป็นระยะ แม้แต่ไปชี้แจงต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย http://www.slideshare.net/rparun/ss-37350448

หยุดจินตนาการว่า การรวมเสนอร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ที่มีปัญหาข้างต้น เป็นการสนับสนุนร่างกฎหมายของ อย. เพราะ (1) ร่างกฎหมายฉบับรัฐบาลเขาสามารถเสนอของตัวเองได้เสมอ แม้ว่าจะมีผู้คัดค้านเพียงใดก็ตาม (ถ้าไม่กลัวผลต่อคะแนนเสียงครั้งต่อไป) (2) ช่วงเวลาที่ยื่นเกิดก่อนที่มีปัญหาในปัจจุบัน (ช่วงสิงหาคม ปัจจุบัน)

มีปัญหาแล้วทำอย่างไร
1. ระดับที่อ่อนที่สุด คือ ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 14 ไม่ได้ให้อำนาจประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ฉบับนี้ก็ไม่มีผลอะไรเลย (ฉบับมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาหรือบางคนเรียกฉบับเอ็นจีโอก็ได้รับผลกระทบด้วย) สงสัยอะไรให้ไปถาม PReMA
2. ระดับปานกลาง คือ ลงชื่อไปคัดค้านไป แม้จะเลยช่วงเวลาแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันรัฐธรรมนูญในอนาคตอาจเปิดช่องให้นำร่างพระราชบัญญัติของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาใช้ได้ แต่ให้ดูตามข้อ 1 คือ ตอนนี้ร่างพระราชบัญญัติฉบับประชาชนไม่มีผลอะไรเลย
3. ระดับรุนแรงที่สุด แจ้งความดำเนินคดี ถ้าลงชื่อตั้งแต่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2556 เป็นต้นไป จะอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 ถ้าบอกว่าเขาหลอกลวง คนนั้นจะต้องถูกลงโทษตามมาตรา 13 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท  (ระวังให้ดีสืบไปสืบมาอาจไปถึงหัวหน้าหรือเจ้านายของพวกคุณก็ได้นะ) แต่ถ้าเราไปหลอกให้เขาถอนรายชื่อก็รับโทษตามมาตรานี้ด้วยเหมือนกันนะ (แต่ถ้าลงชื่อก่อน 17 ธันวาคม พ.ศ.2556 ซึ่งใช้กฎหมายเก่าเมื่อปี พ.ศ.2542 ยังไม่มีบทลงโทษตามกฎหมายนี้ ต้องหาฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้ลงโทษแทน)  

สรุป

"ตั้งสติก่อนนะครับ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนหน้าปัจจุบันหลายเดือน (ประมาณเดือน พฤษภาคม 2557)
ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ... ก่อนที่จะฉีกรัฐธรรมนูญฯ 2550 มี 3 สาย
1. สายรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข
2. สายประชาชน โดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาและคณะ (อ.นิยดา ผู้ยื่น)
3. สายประชาชน (ตามภาพที่มีปัญหานี้) โดย นายบรรยวัสถ์ สังข์วรรณะ (ผู้ยื่น) บ้างก็ว่าเป็นสายผู้ป่วยในเครือของ PReMA ดังนั้น หากดีเทลท่านใดมีปัญหาสงสัยว่ารายชื่อของตนไปอยู่ในร่างสายที่ 3 ได้อย่างไร ให้ลองตั้งสติและนึกถึงความหลังให้ดี ๆ นะครับ ท่านอาจเคยร่วมลงชื่อด้วยความเต็มใจในครั้งนั้นก็ได้
(ผมมั่นใจว่า พวกท่านอาจเคยร่วมลงชื่อในช่วง มกราคม2555-พฤษภาคม 2557 ก็ได้)"



ปล.ถ้านึกอะไรออกอีก จะค่อยมาเพิ่มข้อมูลต่อไป

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3772/2553 ทำแชมพูและครีมนวดผมกรอกใส่ขวดที่มียี่ห้อ

 คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3772/2553 เป็นกรณีที่มีผู้นำแชมพูสระผมและครีมนวดผมที่ตัวเองผลิตนั้นไปใส่ในขวดแชมพูสระผมและครีมนวดที่มียี่ห้อถูกต้องอยู่แล้ว ถือว่าเป็นเครื่องสำอางปลอม โดยเป็นการแจ้งชื่อผู้ผลิตหรือแหล่งผลิตที่มิใช่ความจริง ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 34(3) (รับโทษตามมาตรา 59 วรรคสอง โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ), ก่อให้เกิดความใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสารสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ตามมาตรา 56 (โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) แต่กรณีนี้ศาลเห็นว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงลงโทษบทหนักที่สุดเพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

 

----------


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3772/2553
พนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรี
     โจทก์
นาง...... กับพวก
     จำเลย

ป.อ. มาตรา 83, 90, 91
พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 4, 34, 56, 59, 63


          การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันนำขวดแชมพูสระผมและครีมนวดผมยี่ห้อเฮด แอนด์ โชว์เดอร์ รีจอยซ์และแพนทีน ที่ใช้ไปหมดแล้ว โดยข้างขวดมีฉลากระบุว่าผลิตจากบริษัท ด. มาบรรจุแชมพูสระผมและครีมนวดผมที่จำเลยทั้งสองร่วมผลิตกันขึ้นเอง ก็เพราะจำเลยทั้งสองมีจุดประสงค์ที่จะนำแชมพูสระผมและครีมนวดผมที่จำเลยทั้งสองผลิตขึ้นออกขายแก่ประชาชน โดยให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าแชมพูสระผมและครีมนวดผมที่จำเลยทั้งสองทำขึ้นมีแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ เช่นเดียวกับแชมพูสระผมและครีมนวดผมยี่ห้อเฮด แอนด์ โชว์เดอร์ รีจอยช์ และแพนทีน จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาและจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน เพื่อลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในเครื่องสำอาง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานร่วมกันก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ เกี่ยวกับเครื่องสำอาง และฐานร่วมกันผลิตเพื่อขายซึ่งเครื่องสำอางปลอมที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิตและแหล่งผลิตที่มิใช่ความจริง เป็นสองกรรม และจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้อง ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

________________________________




            โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 4, 34 (3), 56, 59 วรรคสอง, 63 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 และริบของกลาง

          จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 4, 34 (3), 56 วรรคหนึ่ง, 59 วรรคสอง, 63 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพคุณภาพ ปริมาณ เกี่ยวกับเครื่องสำอาง จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันผลิตเพื่อขายซึ่งเครื่องสำอางปลอมที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิตและแหล่งผลิตที่มิใช่ความจริง จำคุกคนละ 6 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุกคนละ 12 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือน และริบของกลาง

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
            ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 59 วรรคสอง เพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันนำขวดแชมพูสระผมและครีมนวดผมยี่ห้อเฮด แอนด์ โชว์เดอร์ รีจอยซ์ และแพนทีน โดยข้างขวดมีฉลากระบุว่าผลิตจากบริษัทเดอะพร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล จำกัด มาบรรจุแชมพูสระผมและครีมนวดผมที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตขึ้น ก็เพราะจำเลยทั้งสองมีจุดประสงค์ที่จะนำแชมพูสระผมและครีมนวดผมที่จำเลยทั้งสองผลิตขึ้นออกขายแก่ประชาชน โดยให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าแชมพูสระผมและครีมนวดผมที่จำเลยทั้งสองทำขึ้นมีแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ เช่นเดียวกับแชมพูสระผมและครีมนวดผมยี่ห้อเฮด แอนด์ โชว์เดอร์ รีจอยซ์และแพนทีน จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาและจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน เพื่อลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในเครื่องสำอาง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องเป็นสองกรรม และจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้อง ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
          พิพากษายืน



( ไสว จันทะศรี - สมชาย สินเกษม - สู่บุญ วุฒิวงศ์ )


ศาลแขวงนนทบุรี - นางรัชนีกร บุญพิทักษ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นางสมศรี หรูจิตตวิวัฒน์

พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510: 1.6 คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ยา

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

1.6 คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ยา


ผลิตภัณฑ์ยาจะต้องมีคุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัยในการใช้เมื่อเทียบกับความเสี่ยงจากการใช้ยา สามารถเชื่อถือและวางใจในการใช้ยาได้

พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 72 กำหนดยาที่ห้ามผลิต ขาย นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนี้
1. ยาปลอม  พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ให้รายละเอียดลักษณะของยาปลอมตาม ในมาตรา 73 ดังนี้
(1) ยาหรือวัตถุที่ทำเทียมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนว่าเป็นยาแท้
(2) ยาที่แสดงชื่อว่าเป็นยาอื่น หรือแสดงเดือน ปี ที่ยาสิ้นอายุ ซึ่งมิใช่ความจริง
(3) ยาที่แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือที่ตั้งสถานที่ผลิตยา ซึ่งมิใช่ความจริง
(4) ยาที่แสดงว่าเป็นยาตามตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งมิใช่ความจริง
(5) ยาที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามมาตรฐานถึงขนาดที่ปริมาณหรือความแรงของสารออกฤทธิ์ขาดหรือเกินกว่าร้อยละยี่สิบจากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุด ซึ่งกำหนดไว้ในตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้ตามมาตรา 79



 
2. ยาผิดมาตรฐาน  พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ให้รายละเอียดลักษณะของยาผิดมาตรฐานในมาตรา 74 ดังนี้
(1) ยาที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามมาตรฐานโดยปริมาณหรือความแรงของสารออกฤทธิ์ขาดหรือเกินจากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุดที่กำหนดไว้ในตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้ตามมาตรา 79 แต่ไม่ถึงขนาดดังกล่าวในมาตรา 73 (5)
(2) ยาที่ผลิตขึ้นโดยความบริสุทธิ์หรือลักษณะอื่นซึ่งมีความสำคัญต่อคุณภาพของยาผิดไปจากเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้ตามมาตรา 79 หรือตำรับยาที่รัฐมนตรีสั่งแก้ไขทะเบียนตำรับยาแล้วตามมาตรา 86 ทวิ



3. ยาเสื่อมคุณภาพ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ให้รายละเอียดลักษณะของยาเสื่อมคุณภาพในมาตรา 75 ดังนี้
(1) ยาที่สิ้นอายุตามที่แสดงไว้ในฉลาก
          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาระบุยาที่ต้องแจ้งกำหนดสิ้นอายุไว้ในฉลาก ตามมาตรา 76(7) โดยมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาที่ต้องแจ้งกำหนดสิ้นอายุไว้ในฉลาก พ.ศ. 2543 กำหนดให้ยาแผนปัจจุบันทุกชนิดเป็นยาที่ต้องแจ้งกำหนดสิ้นอายุไว้ในฉลาก
(2) ยาที่แปรสภาพจนมีลักษณะเช่นเดียวกันกับยาปลอม ตามมาตรา 73 (5) หรือยาผิดมาตรฐานตามมาตรา 74



 ภาพแผนผังแสดงยาที่ได้มาตรฐาน ยาผิดมาตรฐาน ยาปลอม และยาเสื่อมคุณภาพ

คำถาม: ยา A ระบุปริมาณตัวยาสำคัญบนฉลาก 500 มิลลิกรัม โดยมีช่วงในการขอขึ้นทะเบียนตำรับยาอยู่ที่ร้อยละ 95 – 110 ของปริมาณตัวยาสำคัญบนฉลาก หากมีการสุ่มตรวจวิเคราะห์ปริมาณตัวยาสำคัญ โดยพบตัวยาปริมาณดังต่อไปนี้ มีความผิดตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร
(ก) ตรวจพบยา A ปริมาณ 550 มิลลิกรัม
(ข) ตรวจพบยา A ปริมาณ 480 มิลลิกรัม
(ค) ตรวจพบยา A ปริมาณ 400 มิลลิกรัม
(ง) ตรวจพบยา A ปริมาณ 380 มิลลิกรัม
(จ) ตรวจพบยา A ปริมาณ 350 มิลลิกรัม
คำแนะนำ: พิจารณานิยามยาปลอม ยาผิดมาตรฐาน ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510


4. ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา  ตามมาตรา 79 (รายละเอียดกล่าวไว้แล้วในหัวข้อ 1.4) แต่กรณีนี้ไม่ใช้บังคับแก่กระทรวง ทบวง กรม ในหน้าที่ป้องกันหรือบำบัดโรคสภากาชาดไทย และองค์การเภสัชกรรม ตามมาตรา 72 วรรคสอง หากเป็นผู้รับอนุญาตขายยาก็ควรต้องระมัดระวัง เนื่องจากบางกรณีหน่วยงานเหล่านี้ได้ผลิตยา หรือนำเข้ายาที่ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนตำรับยา ซึ่งหน่วยงานนั้นสามารถที่จะขายได้ แต่ผู้รับอนุญาตขายยาอื่นจะไม่สามารถขายได้ เพราะเข้าข่ายขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา และไม่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 72 วรรคสอง

5. ยาที่ทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก
      กรณีผู้ผลิต นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ถ้ามีการยกเลิกทะเบียนตำรับยาเมื่อใด จะมีผลใช้บังคับทันที แต่ถ้าเป็นผู้รับอนุญาตขายยายังสามารถขายยานั้นได้อีก 6 เดือนนับแต่วันที่ทะเบียนตำรับยานั้นยกเลิก

6. ยาที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยา ตามมาตรา 86 ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการยามีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยาโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ ซึ่งยาที่อยู่ในเกณฑ์เพิกถอนทะเบียนตำรับยาได้นั้น ได้วางหลักเกณฑ์ ดังนี้
(1) ไม่มีสรรพคุณตามที่ขึ้นทะเบียนไว้
(2) อาจไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ กรณียาที่อาจไม่ปลอดภัยในการใช้นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาจไม่ใช้มาตรการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาทันทีก็ได้ แต่อาจใช้มาตรการให้แก้ไขทะเบียนตำรับยาก่อนได้ตามมาตรา 86 ทวิ เมื่อผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามก็ถือว่ายานั้นอาจไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ได้ จึงเข้าข่ายยาที่สามารถถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับยาได้
(3) เป็นยาปลอม
(4) เปลี่ยนไปเป็นวัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นอาหารหรือเครื่องสำอาง โดยได้รับใบอนุญาตผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารที่ควบคุมเฉพาะหรือได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น



ข้อสังเกต แม้ว่าในต่างประเทศจะมีการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาแล้ว แต่ถ้าในประเทศไทยยังไม่มีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา ยานั้นก็ยังสามารถผลิต ขาย นำเข้าในประเทศไทยได้

ตัวอย่างรายการยาที่เพิกถอนทะเบียนตำรับยาในประเทศไทย เช่น ยารักษาสิวชนิดทาภายนอกที่มียาสเตอรอยด์ชนิดใช้ภายนอก (topical steroids) เป็นส่วนประกอบ, ยา rosiglitazone


วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510: 1.5 ฉลากยาและเอกสารกำกับยา

1.5 ฉลากยาและเอกสารกำกับยา

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

นิยามที่เกี่ยวข้อง

            “ฉลาก” หมายความรวมถึง รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือ ข้อความใด ๆ ซึ่งแสดงไว้ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยา
            “เอกสารกำกับยา” หมายความรวมถึง กระดาษหรือวัตถุอื่นใดที่ทำให้ปรากฏความหมายด้วยรูป รอยประดิษฐ์เครื่องหมายหรือข้อความใด ๆ เกี่ยวกับยาที่สอดแทรกหรือรวมไว้กับภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยา
            “ยาบรรจุเสร็จ”  หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่ได้ผลิตขึ้นเสร็จในรูปต่าง ๆ ทางเภสัชกรรม ซึ่งบรรจุในภาชนะหรือหีบห่อที่ปิดหรือผนึกไว้ และมีฉลากครบถ้วนตามพระราชบัญญัตินี้
            “ผลิต”  หมายความว่า ทำ ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ และหมายความรวมถึงเปลี่ยนรูปยา แบ่งยาโดยมีเจตนาให้เป็นยาบรรจุเสร็จ ทั้งนี้ จะมีฉลากหรือไม่ก็ตาม

- กรณียาแผนปัจจุบัน ผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบัน ต้องจัดให้มีฉลากตามมาตรา 25(3) ผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรต้องจัดให้มีฉลากยาตามมาตรา 27(5)  แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2530 กรณียาแผนโบราณ ผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนโบราณ ต้องจัดให้มีฉลากตามมาตรา 57(2) ผู้นำเข้ายาแผนโบราณต้องจัดให้มีฉลากยาตามมาตรา 59(3)

- ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันต้องปฏิบัติตามมาตรา 26 (3) ผู้รับอนุญาตขายยาแผนโบราณต้องปฏิบัติตามมาตรา 58(2) แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2522 คือ จัดให้ฉลากที่ภาชนะและหีบห่อบรรจุยาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 25(3) กรณียาแผนปัจจุบัน และมาตรา 57(2) กรณียาแผนโบราณคงมีอยู่ครบถ้วน

- ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ มีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติเกี่ยวกับฉลากหรือเอกสารกำกับยา ตามมาตรา 38(2), มาตรา 39(2)(5), มาตรา 40 ทวิ(2), มาตรา 41(1), มาตรา 42(2), มาตรา 44(2), มาตรา 68(2), มาตรา 69(1), มาตรา 70(2)(3)

- ฉลากและเอกสารกำกับยา เป็นสิ่งที่ต้องแจ้งรายละเอียดเมื่อมีการขอขึ้นทะเบียนตำรับยา ตามมาตรา 80(5)(6)

- การจัดทำฉลากปลอม อาจเข้าข่ายยาปลอม ตามมาตรา 72(1) ประกอบมาตรา 73

- การจัดทำเอกสารกำกับยาสำหรับประชาชน (ติดตามความคืบหน้าจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)
 

รายการต้องระบุในฉลากยา

ยาแผนปัจจุบัน

ยาแผนโบราณ

หมายเหตุ

ผลิต

นำเข้า

ขาย

ผลิต

นำเข้า

ขาย

1. ชื่อยา

/

/
 
/

/
 
สำหรับผู้ผลิตแม้ว่าภาชนะบรรจุจะมีขนาดเล็กต้องระบุเสมอ

2. เลขที่หรือรหัสใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา

/

/
 
/

/
 
สำหรับผู้ผลิตแม้ว่าภาชนะบรรจุจะมีขนาดเล็กต้องระบุเสมอ

3. ปริมาณของยาที่บรรจุ

/

/
 
/

/
 
 

4. ชื่อและปริมาณหรือความแรงของสารออกฤทธิ์อันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของยาซึ่งจะต้องตรงตามที่ขึ้นทะเบียนตำรับยา

/

/
    
 

5. เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตหรือวิเคราะห์ยา

/

/

 

/

/

 

ถ้าเป็นการผลิตยาแผนโบราณไม่มีคำว่า หรือวิคราะห์ยา

6. ชื่อผู้ผลิตยาและจังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยา

/

/

 

/

/

 

กรณีนำเข้าให้ระบุชื่อเมืองและประเทศที่ตั้งสถานที่ผลิตยาแทนชื่อจังหวัด และให้ระบุชื่อของผู้นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร และจังหวัดที่ตั้งสถานที่นำหรือสั่งยาไว้ด้วย ตามมาตรา 27(3) และมาตรา 59(3)

7. วัน เดือน ปี ที่ผลิตยา

/

/

 

/

/

 

สำหรับผู้ผลิตยาแผนโบราณแม้ว่าภาชนะบรรจุจะมีขนาดเล็กต้องระบุเสมอ

8. วันสิ้นอายุของยา

/

/

 

 

 

 

1. สำหรับผู้ผลิตยาแผนปัจจุบันแม้ว่าภาชนะบรรจุจะมีขนาดเล็กต้องระบุเสมอ

2. ยาที่สิ้นอายุตามที่แสดงไว้ในฉลาก เป็นยาเสื่อมสภาพ ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 75(1)

3. ยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบันและแผนโบราณต้องระบุวันหมดอายุเสมอ (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบัน ข้อ 3, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบัน ข้อ 4 กำหนดให้ยาสามัญประจำบ้านทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณต้องระบุวันหมดอายุ)

4. ยาแผนปัจจุบันทุกชนิดเป็นยาที่ต้องแจ้งกำหนดสิ้นอายุไว้ในฉลาก (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาที่ต้องแจ้งกำหนดสิ้นอายุไว้ในฉลาก พ.ศ.2543 กำหนดเฉพาะยาแผนปัจจุบันเท่านั้นที่ต้องแสดงวันสิ้นอายุ)

 

9. คำว่า ยาแผนโบราณ ให้เห็นได้ชัด

 

 

 

/

/

 

 

10. คำว่า ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ แล้วแต่กรณี

/

/

 

 

 

 

อักษรสีแดงเห็นได้ชัด

สำหรับผู้ผลิตยาแผนปัจจุบันแม้ว่าภาชนะบรรจุจะมีขนาดเล็กต้องระบุเสมอ

11. คำว่า ยาใช้ภายนอก หรือ ยาใช้เฉพาะที่ แล้วแต่กรณี

/

/

 

/

/

 

 

12. คำว่า ยาสามัญประจำบ้าน ในกรณีที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน

/

/

 

/

/

 

คำว่า ยาสามัญประจำบ้าน ในกรอบสีเขียว มีขนาดตัวอักษรที่สามารถอ่านได้ชัดเจน

13. คำว่า ยาสำหรับสัตว์ ในกรณีที่เป็นยาสำหรับสัตว์

/

/

 

/

/

 

อักษรสีแดงเห็นได้ชัด

 

14. จัดให้มีฉลากที่ภาชนะและหีบห่อบรรจุยาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 25 (3) กรณีเป็นยาแผนปัจจุบัน หรือมาตรา 57(2) กรณีเป็นยาแผนโบราณ คงมีอยู่ครบถ้วน

 

/

/

 

/

/

กรณีนำเข้าให้ระบุชื่อเมืองและประเทศที่ตั้งสถานที่ผลิตยาแทนชื่อจังหวัด และให้ระบุชื่อของผู้นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร และจังหวัดที่ตั้งสถานที่นำหรือสั่งยาไว้ด้วย ตามมาตรา 27(3) และมาตรา 59(3)

15. ใช้ฉลากและเอกสารกำกับยาตามที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้ และข้อความในฉลากและเอกสารกำกับยาต้องอ่านได้ชัดเจน เอกสารกำกับยาถ้าเป็นภาษาต่างประเทศต้องมีคำแปลเป็นภาษาไทยด้วย

/

/

 

/

/

 

 

16. จัดให้มีคำเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและที่เอกสารกำกับยา สำหรับยาที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา 76 (9)

/

/

 

 

 

 

กรณีฉลากมีเอกสารกำกับยาอยู่ด้วย คำเตือนการใช้ยาจะแสดงไว้ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของฉลากหรือเอกสารกำกับยาก็ได้

17. จัดให้มีฉลากที่ภาชนะและหีบห่อบรรจุยาที่ปรุงตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

 

/

 

 

 

 

ตัวอย่างคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับยา ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาที่ต้องแจ้งคำเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและที่เอกสารกำกับยาและข้อความของคำเตือน


รายการยา

คำเตือนในฉลาก

คำเตือนในเอกสารกำกับยา

(ข้อความที่เพิ่มเติม

จากคำเตือนในฉลาก)

(1.26.2) ยาอะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin)

1. ห้ามใช้ในผู้ที่เคยแพ้ยานี้

2. ยานี้อาจทำให้เกิดการแพ้และเป็นอันตรายถึงชีวิต

3. หากเกิดอาการผื่นแดง ระคายเคืองหรือบวม ให้หยุดใช้ยาและปรึกษาแพทย์

4. หากใช้ยานี้แล้วมีอาการผื่นแดง หรือมีอาการคล้ายเป็นหวัด ให้หยุดยาและรีบปรึกษาแพทย์ทันที

เหมือนฉลากและเพิ่ม

5. เมื่อใช้ยานี้หากมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น ไข้ ผื่นแดง ตุ่มน้ำพอง มีการหลุดลอกของผิวหนังและบริเวณเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ในช่องปาก ลำคอ จมูก อวัยวะสืบพันธุ์ และเยื่อบุตาอักเสบให้หยุดยาและปรึกษาแพทย์เพราะอาจเป็น Stevens-Johnson syndrome

(1.33) ยาจำพวกซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) สำหรับใช้ภายใน

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้

2. ยานี้อาจทำให้เกิดอันตรายต่อตับ ไต ได้

3. ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน หญิงมีครรภ์ ระยะให้นมบุตร

เหมือนฉลาก

(59) อัลโลพูรินอล (Allopurinol)

1. หากใช้ยานี้แล้วมีอาการผื่นแดง หรือมีอาการคล้ายเป็นหวัด ให้หยุดยาและรีบปรึกษาแพทย์ทันที

2. ห้ามใช้ในผู้ที่เคยแพ้ยานี้

เหมือนฉลาก และเพิ่ม

3. เมื่อใช้ยานี้หากมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น ไข้ ผื่นแดง ตุ่มน้ำพอง มีการหลุดลอกของผิวหนังและบริเวณเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ในช่องปาก ลำคอ จมูก อวัยวะสืบพันธุ์ และเยื่อบุตาอักเสบให้หยุดยาและปรึกษาแพทย์เพราะอาจเป็น Stevens-Johnson syndrome

ดูเอกสารเพิ่มเติมได้ที่