วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การจัดประเภทสูตรตำรับยาที่มี Pseudoephedrine เป็นส่วนประกอบ และระดับการควบคุมตามกฎหมาย

 
ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
แก้ไขครั้งที่ 1 วันที่  8 ตุลาคม 2554

แก้ไขครั้งที่ 2 วันที่ 3 เมษายน 2555



สืบเนื่องจากการพยายามควบคุมการแพร่ระบาดปัญหายาเสพติด เนื่องจากมีการนำยา pseudoephedrine ไปเป็นวัตถุดิบในการผลิต Methamphetamine จึงมีความพยายามในการปรับระดับการควบคุมสูตรตำรับยาซึ่งประกอบด้วย  Pseudoephedrine + Triprolidine,  Pseudoephedrine + Brompheniramine, Pseudoephedrine + Chlorpheniramine ทั้งชนิดเม็ดและชนิดแคปซูล ให้เป็นยาควบคุมพิเศษ จำหน่ายได้เฉพาะสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (ตามมติคณะกรรมการยา 21 กรกฎาคม 2554)  สาเหตุของการปรับเฉพาะ 3 สูตรนี้ไม่มีการแถลงข่าวอย่างแน่ชัดหรือไม่มีสถิติการจับกุมที่ชัดเจนเผยแพร่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เจ้าหน้าที่บางรายมีการให้เหตุผลว่า ทั้ง 3 สูตรนี้เป็นสูตรที่พบเห็นได้จากการจับกุมมากที่สุด บ้างก็อ้างว่าสาเหตุที่ห้ามเฉพาะชนิดเม็ดหรือแคปซูลนั้น เนื่องจากชนิดน้ำเชื่อม (syrup) นำไปสกัดแยกให้เป็น Pseudoephedrine ชนิดเดี่ยวได้ยากกว่า
 
แต่การห้ามเฉพาะ 3 สูตรที่มี Pseudoephedrine ครอบคลุมทุกสูตรตำรับยาที่มี Pseudoephedrine ทั้งหมดในประเทศหรือไม่ สะท้อนการมาตรการจัดการความเสี่ยง และการแก้ปัญหายาเสพติดที่ดีหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณา และติดตามกันต่อไป
 


ระดับการควบคุมสูตรตำรับของยาที่มี Pseudoephedrine เป็นส่วนประกอบ (ข้อมูลก่อนวันที่ 19 กันยายน 2554)

(1) Pseudoephedrine เฉพาะเภสัชเคมีภัณฑ์และวัตถุตำรับเดี่ยว เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2



(2) Pseudoephedrine + Triprolidine,  Pseudoephedrine + Brompheniramine, Pseudoephedrine + Chlorpheniramine ชนิดเม็ดและแคปซูล ปัจจุบันยังคงเป็นยาอันตราย แต่ในอนาคตจะปรับให้เป็นยาควบคุมพิเศษ จำหน่ายได้เฉพาะสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน รอจนกว่าจะมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
ชนิดเม็ด/แคปซูล

Pseudoephedrine 60 mg + Brompheniramine 4 mg

Pseudoephedrine 30 mg + Triprolidine 1.25 mg

Pseudoephedrine 60 mg + Triprolidine 2.5 mg

Pseudoephedrine 30 mg + Chlorpheniramine 2 mg

Pseudoephedrine 60 mg + Chlorpheniramine 4 mg


(3) สูตรตำรับที่ (2) ชนิดน้ำเชื่อม หรือชนิดหยอด ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มียาบรรเทาอาการไอผสมอยู่ด้วย เป็นยาอันตราย

ชนิดน้ำเชื่อม (Syrup) ใน 5 มิลลิลิตร ประกอบด้วย

Pseudoephedrine 15 mg + Brompheniramine 1 mg

Pseudoephedrine 15 mg + Brompheniramine 2.5 mg

Pseudoephedrine 30 mg + Brompheniramine 2 mg

Pseudoephedrine 30 mg + Brompheniramine 5 mg


Pseudoephedrine 15 mg + Brompheniramine 1 mg + Bromhexine 2 mg

Pseudoephedrine 15 mg + Brompheniramine 1 mg + Dextromethorphan 5 mg

Pseudoephedrine 15 mg + Brompheniramine 1 mg + Dextromethorphan 7.5 mg


Pseudoephedrine 15 mg + Chlorpheniramine 1 mg

Pseudoephedrine 30 mg + Chlorpheniramine 2 mg


Pseudoephedrine 15 mg + Chlorpheniramine 1 mg + Dextromethorphan 5 mg

Pseudoephedrine 10 mg + Chlorpheniramine 2 mg + Dextromethorphan 10 mg

Pseudoephedrine 20 mg + Chlorpheniramine 2 mg + Dextromethorphan 10 mg

Pseudoephedrine 30 mg + Chlorpheniramine 2 mg + Dextromethorphan 15 mg


Pseudoephedrine 15 mg + Chlorpheniramine 2 mg + Dextromethorphan 7.5 mg + Ammonium chloride 100 mg

Pseudoephedrine 30 mg + Chlorpheniramine 1 mg + Dextromethorphan 10 mg + Glyceryl Guaiacolate 50 mg
 

Pseudoephedrine 30 mg + Triprolidine 1.25 mg
 

Pseudoephedrine 30 mg + Triprolidine 1.25 mg + Dextromethorphan 10 mg

Pseudoephedrine 30 mg + Triprolidine 1.25 mg + Glyceryl Guaiacolate 100 mg


ชนิด oral solution drop ใน 5 มิลลิลิตร ประกอบด้วย

Pseudoephedrine 15 mg + Chlorpheniramine 1 mg + Dextromethorphan 7.5 mg + Glyceryl Guaiacolate 25 mg



(4) Pseudoephedrine + Carbinoxamine ชนิดเม็ด ยาอันตราย

ชนิดเม็ด

Pseudoephedrine 60 mg + Carbinoxamine 6 mg



(5) Pseudoephedrine + Diphenhydramine ± ยาอื่น (เช่น อาจจะมีหรือไม่มียาบรรเทาอาการไอหรือยาลดไข้ผสมอยู่ด้วย) เป็นยาอันตราย

ชนิดเม็ด/แคปซูล

Pseudoephedrine 30 mg + Diphenhydramine 12.5 mg + Glyceryl Guaiacolate 100 mg

Pseudoephedrine 30 mg + Diphenhydramine 25 mg + Paracetamol 300 mg

Pseudoephedrine 30 mg + Diphenhydramine 25 mg + Paracetamol 500 mg



ชนิดน้ำเชื่อม (Syrup) ใน 5 มิลลิลิตร ประกอบด้วย

Pseudoephedrine 30 mg + Diphenhydramine 12.5 mg

Pseudoephedrine 30 mg + Diphenhydramine 12.5 mg + Dextromethorphan 15 mg

Pseudoephedrine 15 mg + Diphenhydramine 5 mg + Paracetamol 120 mg + Glyceryl Guaiacolate 60 mg



(6) สูตรตำรับ (2) + Paracetamol ยาอันตราย

Pseudoephedrine 30 mg + Chlorpheniramine 2 mg + Paracetamol 500 mg



(7) ยาใหม่แบบมีเงื่อนไข (เมื่อพ้นเงื่อนไข และไม่มีประกาศให้เป็นยาควบคุมพิเศษ จะเป็นยาอันตรายทันที) ยาแผนปัจจุบันที่ใช้สำหรับมนุษย์ (ยาใหม่) แบบมีเงื่อนไข เป็นยาควบคุมพิเศษลำดับที่ 58

Pseudoephedrine 120 mg + Cetirizine 5 mg (film coated tablet)

Pseudoephedrine 120 mg + Cetirizine 5 mg (sustained release tablet)

Pseudoephedrine 120 mg + Desloratadine 2.5 mg (sustained release tablet)

Pseudoephedrine 120 mg + Fexofenadine 60 mg (film coated tablet)

Pseudoephedrine 60 mg + Loratadine 2.5 mg + Paracetamol 500 mg (tablet)



(8) Pseudoephedrine + ตัวยาบรรเทาไอตั้งแต่ 1 ตัวขึ้นไป  เป็นยาอันตราย

ชนิดแคปซูลนิ่ม

Pseudoephedrine 30 mg + Dextromethorphan 10 mg + Glyceryl Guaiacolate 200 mg

Pseudoephedrine 30 mg + Dextromethorphan 15 mg + Glyceryl Guaiacolate 100 mg



ชนิดน้ำเชื่อม (Syrup) ใน 5 มิลลิลิตร ประกอบด้วย

Pseudoephedrine 15 mg + Glyceryl Guaiacolate 50 mg

Pseudoephedrine 30 mg + Glyceryl Guaiacolate 100 mg



ชนิด oral solution drop ใน 5 มิลลิลิตร ประกอบด้วย

Pseudoephedrine 15 mg + Dextromethorphan 5 mg



(9) Pseudoephedrine + Loratadine ชนิดเม็ด sustained release เป็นยาควบคุมพิเศษ ลำดับที่ 59

Pseudoephedrine 60 mg + Loratadine 5 mg (sustained release tablet)

Pseudoephedrine 120 mg + Loratadine 5 mg (sustained release tablet)

Pseudoephedrine 240 mg + Loratadine 10 mg (sustained release tablet)



(10) Pseudoephedrine + Loratadine ชนิดน้ำเชื่อม เป็นยาอันตราย

ชนิดน้ำเชื่อม (Syrup) ใน 5 มิลลิลิตร ประกอบด้วย

Pseudoephedrine 60 mg + Loratadine 5 mg



ส่วนมาตรการควบคุม pseudoephedrine ในต่างประเทศ จะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป


___________________________________

19 กันยายน 2554

มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่ 40 กำหนดให้ ยาสูตรผสมที่มีซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) เป็นส่วนประกอบในรูปแบบยาเม็ดแคปซูล และน้ำ ยกเว้นสูตรผสมที่มีพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นส่วนประกอบ เป็นยาควบคุมพิเศษลำดับที่ 76 โดยประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 19 กันยายน 2554)




ส่งผลให้รายการยาทุกตัวตามข้อ (2) - (10) ข้างต้นเป็นยาควบคุมพิเศษทันที ถ้ายาสูตรผสมมี paracetamol ผสมอยู่ยังถือเป็นยาอันตราย (ตัวอย่างสูตรที่ 6) แต่ถ้าไม่มี paracetamol ด้วย จะเป็นยาควบคุมพิเศษ การขายยาดังกล่าวต้องใช้ใบสั่งแพทย์
 

แต่ดูเหมือนไม่ได้ระบุว่าให้ใช้เฉพาะสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนประเภทไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน

 
เอกสารอ้างอิง

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่ 40. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนพิเศษ 107 ง วันที่ 19 กันยายน 2554 หน้า 2
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/E/107/2.PDF

___________________________________ 

20 กันยายน 2554

มติคณะรัฐมนตรี 20 กันยายน 2554 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการลักลอบนำยาแก้หวัดสูตรผสมที่มี ซูโดอีเฟดรีน (Pseudophedrine) ไปใช้ในการผลิตยาเสพติด



                   คณะรัฐมนตรีรับทราบการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำยาแก้หวัดสูตรผสมที่มี ซูโดอีเฟดรีน (Pseudophedrine) ไปใช้ในการผลิตยาเสพติด ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ 
                   กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า
                   สืบเนื่องจากปัญหาการกว้านซื้อยาแก้หวัดสูตรผสมที่มีส่วนประกอบของซูโดอีเฟดรีนจาก โรงงานผลิตยา ร้านขายยา และคลินิกเวชกรรม เพื่อนำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการมาตรการป้องปรามปราบปราม เพื่อควบคุมการผลิตและจำหน่ายยาดังกล่าวอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ยังพบการลักลอบนำยาแก้หวัดสูตรผสมที่มีส่วนประกอบของซูโดอีเฟดรีน ไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ประกอบกับปัญหาที่ตรวจพบจะเป็นรายงานการกว้านซื้อจากร้านขายยาหรือคลินิค จากสถิติการจับกุมยาแก้หวัดฯ ในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ถึงปัจจุบัน รวม 36 คดี พบของกลางที่เป็นยาแก้หวัดสูตรผสมที่มีส่วนประกอบของซูโดอีเฟดรีน ทั้งที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยและมาจากต่างประเทศรวมถึง 43.78 ล้านเม็ด เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำยาแก้หวัดสูตรผสมที่มีซูโดอีเฟดรีนไปใช้ในการผลิตยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยาในการประชุมครั้งที่ 3/2554 และครั้งที่ 4/2554 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 9 กันยายน 2554 จึงได้มีมาตรการดำเนินการดังนี้ 
                   1.ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่ 40 ลงวันที่ 16 กันยายน 2554 จัดให้ยาสูตรผสมที่มีซูโดอีเฟดรีน เป็นส่วนประกอบในรูปแบบยาเม็ด แคปซูล และยาน้ำ ยกเว้นสูตรผสมที่มีพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นส่วนประกอบ เป็นยาควบคุมพิเศษ
                   2. มีมาตรการควบคุมการจำหน่ายยาสูตรผสมที่มีซูโดอีเฟดรีน เป็นส่วนประกอบในรูปแบบยาเม็ด แคปซูล และยาน้ำ ยกเว้นสูตรผสมที่มีพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นส่วนประกอบ เฉพาะในสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลของเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนเท่านั้น และควบคุมปริมาณการจำหน่ายให้สถานพยาบาลของเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนได้ไม่เกิน 5,000 เม็ด (ห้าพันเม็ด) ต่อแห่งต่อเดือน

_______________________________


ดังนั้น สถานะของยาที่มี pseudophedrine เป็นส่วนประกอบ ระหว่าง 19 ธันวาคม 2554 - 3 เมษายน 2555 จึงมีดังนี้

(1) เฉพาะเภสัชเคมีภัณฑ์และวัตถุตำรับเดียว วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2

(2) เฉพาะยาสูตรผสมที่มีซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine) เป็นส่วนประกอบในรูปแบบยาเม็ด แคปซูล และน้ำ ยกเว้นสูตรผสมที่มีพาราเซตามอล (paracetamol) เป็นส่วนประกอบ ยาควบคุมพิเศษ ลำดับที่ 76 โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่ 40, ราชกิจจานุเบกษา 19 กันยายน 2554) นอกจากนี้จะมีมาตรการควบคุมการจำหน่ายยาสูตรผสมที่มีซูโดอีเฟดรีน เป็นส่วนประกอบในรูปแบบยาเม็ด แคปซูล และยาน้ำ ยกเว้นสูตรผสมที่มีพาราเซตามอล (paracetamol) เป็นส่วนประกอบ เฉพาะในสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลของเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนเท่านั้น และควบคุมปริมาณการจำหน่ายให้สถานพยาบาลของเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนได้ไม่เกิน 5,000 เม็ด (ห้าพันเม็ด) ต่อแห่งต่อเดือน (มติคณะรัฐมนตรี 20 กันยายน 2554) ส่งผลให้สูตรผสม  pseudoephedrine ตัวยาอื่น  ซึ่งถือเป็นยาจำพวก adrenergic drugs เป็นยาอันตรายลำดับที่ 9 หรือสูตรผสมของลอราทาดีน (loratadine) ในลักษณะ immediate release กับ pseudoephredrine หรือเกลือของ pseudoephredrine ในลักษณะ sustained release เป็นยาควบคุมพิเศษลำดับที่ 59  เปลี่ยนเป็นยาควบคุมพิเศษ ลำดับที่ 76

(3) ยาสูตรผสมที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำ เป็นยาอันตราย

(4) ยาที่มี pseudoephredrine เป็นส่วนประกอบชนิดยาเม็ดหรือแคปซูล เป็นยาที่ผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบัน ผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักร และผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันที่เป็นขายส่งต้องทำบัญชีรายชื่อวัตถุดิบที่ใช้ผลิต บัญชีรายชื่อยาที่นำหรือสั่งเข้ามาและรายงานการขายส่งยาต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาตามแบบ ผ.ย. 4 หรือ น.ย. 4 และ ข.ย. 8 ทุก 4 เดือน และผู้รับอนุญาตต้องเสนอบัญชีและรายงานการขายส่งยาตามแบบ ผ.ย. 4 แบบ น.ย. 4 และแบบ ข.ย. 8 ต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาภายใน 30 วัน นับแต่วันครบ 4 เดือน (ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดให้ยาเม็ดหรือแคปซูลที่มีซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine) เป็นส่วนประกอบต้องรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)


___________________________________

3 เมษายน 2555

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ (เพิ่มเติม) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 3 เมษายน 2555





สถานะของยาที่มี pseudophedrine เป็นส่วนประกอบ ตั้งแต่ 4 เมษายน 2555 เป็นต้นไป
วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 ห้ามขายในร้านยาเด็ดขาด

ภายในสามสิบวันนับจากวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ (ใช้บังคับ 4 เมษายน 2555) ให้สถานพยาบาลที่ไม่มีใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และไม่ประสงค์จะมีไว้ในครอบครอง ยาตำรับที่มีซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนผสมเพื่อการบำบัดรักษา และร้านขายยาทุกแห่ง ดำเนินการจัดส่งยาตำรับที่มีซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนผสมคืนให้กับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า


__________


แก้ไขหน้านี้ล่าสุด 3 เมษายน 2555 เวลา 20.30 น.









วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ยาควบคุมพิเศษ รอบปี พ.ศ.2554

Lenalidomide ยาควบคุมพิเศษ ลำดับที่ 75 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่ 39, ราชกิจจานุเบกษา 19 เมษายน 2554)

Pseudoephedrine เฉพาะยาสูตรผสมที่มีซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) เป็นส่วนประกอบในรูปแบบยาเม็ด แคปซูล และน้ำ ยกเว้นสูตรผสมที่มีพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นส่วนประกอบ ยาควบคุมพิเศษ ลำดับที่ 76 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่ 40, ราชกิจจานุเบกษา 19 กันยายน 2554)


__________

หมายเหตุ: ปัจจุบัน สูตรตำรับที่มี  ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) เป็นส่วนประกอบมีสถานะเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2555 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ (เพิ่มเติม))

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537

พระราชบัญญัติ
วิชาชีพเภสัชกรรม
พ.ศ. ๒๕๓๗

             




ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๗
เป็นปีที่ ๔๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเภสัชกรรม

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. ๒๕๓๗

มาตรา ๒[] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

วิชาชีพเภสัชกรรม หมายความว่า วิชาชีพที่เกี่ยวกับการกระทำในการเตรียมยา การผลิตยา การประดิษฐ์ยา การเลือกสรรยา การวิเคราะห์ยา การควบคุมและการประกันคุณภาพยา การปรุงและจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพ
ทันตกรรม หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ รวมทั้งการดำเนินการปรุงยาและการขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา

ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หมายความว่า บุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจากสภาเภสัชกรรม

ใบอนุญาต หมายความว่า ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจากสภาเภสัชกรรม

สมาชิก หมายความว่า สมาชิกสภาเภสัชกรรม

กรรมการ หมายความว่า กรรมการสภาเภสัชกรรม

คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการสภาเภสัชกรรม

พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

เลขาธิการ หมายความว่า เลขาธิการสภาเภสัชกรรม

รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


มาตรา ๕ ในกรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดอ้างถึงการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาเภสัชกรรม หรือผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน สาขาเภสัชกรรม ให้หมายความถึงการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งออกกฎกระทรวงและระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงและระเบียบนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


หมวด ๑
สภาเภสัชกรรม
             

มาตรา ๗ ให้มีสภาเภสัชกรรม มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ให้สภาเภสัชกรรมเป็นนิติบุคคล

มาตรา ๘ สภาเภสัชกรรมมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัยและการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม 
(๒) ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก
(๓) ผดุงไว้ซึ่งสิทธิ ความเป็นธรรมและส่งเสริมสวัสดิการให้แก่สมาชิก
(๔) ควบคุมความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม
(๕) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนและองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการเภสัชกรรมและการสาธารณสุข
(๖) ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับการเภสัชกรรมและการสาธารณสุข
(๗) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทย

มาตรา ๙ สภาเภสัชกรรมมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
(๒) วินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๔๒ วรรคสาม
(๓) รับรองปริญญา ประกาศนียบัตรในวิชาเภสัชศาสตร์ หรือวุฒิบัตรในวิชาชีพเภสัชกรรมของสถาบันต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการสมัครเป็นสมาชิก
(๔) รับรองหลักสูตรต่าง ๆ สำหรับการฝึกอบรมเป็นผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ ของวิชาชีพเภสัชกรรมของสถาบันที่ทำการฝึกอบรมเป็นผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ ของวิชาชีพเภสัชกรรม
(๕) รับรองวิทยฐานะของสถาบันที่ทำการฝึกอบรมใน (๔)
(๖) ออกหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสาขาต่าง ๆ และออกหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพเภสัชกรรม
(๗) ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาเภสัชกรรม

มาตรา ๑๐ สภาเภสัชกรรมอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้
(๑) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน
(๒) ค่าขึ้นทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
(๓) ผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินและกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในมาตรา ๘ 
(๔) เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้ให้แก่สภาเภสัชกรรม
(๕) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔)

มาตรา ๑๑ ให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งสภาเภสัชกรรมมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้


หมวด ๒
สมาชิก
             


มาตรา ๑๒ ผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาเภสัชกรรมต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(๒) มีความรู้ในวิชาชีพเภสัชกรรมโดยได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชาเภสัชศาสตร์จากสถาบันการศึกษาที่ทบวงมหาวิทยาลัยรับรองหรือที่สภาเภสัชกรรมรับรอง
(๓) ไม่เป็นผู้ประพฤติเสียหายซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
(๔) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
(๕) ไม่เป็นผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือไม่เป็นโรคที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสภา

มาตรา ๑๓ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกมีดังต่อไปนี้
(๑) ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ขอหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสาขาต่าง ๆ หรือขอหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพเภสัชกรรม โดยปฏิบัติตามข้อบังคับสภาเภสัชกรรมว่าด้วยการนั้น
(๒) แสดงความเห็นเป็นหนังสือเกี่ยวกับกิจการของสภาเภสัชกรรมส่งไปยังคณะกรรมการเพื่อพิจารณา และในกรณีที่สมาชิกร่วมกันตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป เสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องใดที่เกี่ยวกับกิจการของสภาเภสัชกรรม คณะกรรมการต้องพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้เสนอทราบโดยไม่ชักช้า
(๓) เลือก รับเลือก หรือรับเลือกตั้งเป็นกรรมการ
(๔) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพและปฏิบัติตนตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๔ สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๒ (๑) (๒) หรือ (๕)
(๔) คณะกรรมการมีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ เพราะเห็นว่าเป็นผู้นำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพตามมาตรา ๑๒ (๓) หรือ (๔)


หมวด ๓
คณะกรรมการ
             


มาตรา ๑๕ ให้มีคณะกรรมการสภาเภสัชกรรม ประกอบด้วย
(๑) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับความเห็นชอบหรือได้รับอนุญาตจากทบวงมหาวิทยาลัยให้จัดตั้งขึ้นตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอจำนวนห้าคน
(๒) กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยเป็นผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขสามคน จากกระทรวงกลาโหมหนึ่งคน และจากกระทรวงมหาดไทยหนึ่งคน และ
(๓) กรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยสมาชิกมีจำนวนเท่ากับจำนวนกรรมการใน (๑) และ (๒) รวมกันในขณะเลือกตั้งแต่ละคราว
ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ


มาตรา ๑๖ คณะกรรมการอาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาได้
ให้ที่ปรึกษาดำรงตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้ง

มาตรา ๑๗ ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการภายในสามสิบวัน นับจากวันเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๕ (๓) เพื่อดำรงตำแหน่งนายกสภาเภสัชกรรม อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่หนึ่งและอุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่สอง ตำแหน่งละหนึ่งคน
ให้นายกสภาเภสัชกรรมเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการ รองเลขาธิการ ประชาสัมพันธ์ และเหรัญญิก ตำแหน่งละหนึ่งคน และอาจเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งอื่นได้ตามความจำเป็น ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ให้นายกสภาเภสัชกรรมมีอำนาจถอดถอนเลขาธิการ รองเลขาธิการ ประชาสัมพันธ์ เหรัญญิก และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามวรรคสองออกจากตำแหน่งได้ ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ให้นายกสภาเภสัชกรรม อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่หนึ่งและอุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่สอง ดำรงตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้ง
เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาเภสัชกรรมพ้นจากหน้าที่ ให้เลขาธิการ รองเลขาธิการ ประชาสัมพันธ์ เหรัญญิก และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามวรรคสองพ้นจากตำแหน่งด้วย

มาตรา ๑๘ การเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๕ การแต่งตั้งที่ปรึกษาตามมาตรา ๑๖ การเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา ๑๗ และการเลือกหรือการเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๒๒ ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาเภสัชกรรม

มาตรา ๑๙ กรรมการตามมาตรา ๑๕ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(๑) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
(๒) เป็นผู้ไม่เคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต
(๓) เป็นผู้ไม่เคยถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย
ความใน (๑) มิให้นำมาใช้บังคับกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข

มาตรา ๒๐ กรรมการตามมาตรา ๑๕ (๓) มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับเลือกตั้งใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองคราวติดต่อกันไม่ได้
ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งกรรมการขึ้นใหม่


มาตรา ๒๑ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้ง ได้รับเลือกตั้ง หรือได้รับเลือก พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๔
(๒) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๙
(๓) ลาออก


มาตรา ๒๒ เมื่อตำแหน่งกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งตามมาตรา ๑๕ (๓) ว่างลงไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการดังกล่าวทั้งหมดก่อนครบวาระ ให้คณะกรรมการเลือกสมาชิกผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๒ เป็นกรรมการแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งกรรมการนั้นว่างลง
ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการตามวรรคหนึ่งว่างลงรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้ง ให้มีการเลือกตั้งกรรมการโดยสมาชิกขึ้นแทนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่จำนวนกรรมการดังกล่าวได้ว่างลงเกินกึ่งหนึ่ง
ถ้าวาระของกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน คณะกรรมการจะให้มีการเลือกหรือเลือกตั้งกรรมการแทนหรือไม่ก็ได้
ให้ผู้ซึ่งเป็นกรรมการแทนนั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน


มาตรา ๒๓ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารและดำเนินกิจการสภาเภสัชกรรมตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในมาตรา ๘
(๒) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณ คณะอนุกรรมการสอบสวน และคณะอนุกรรมการอื่น เพื่อทำกิจการหรือพิจารณาเรื่องต่าง ๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของสภาเภสัชกรรม
(๓) กำหนดงบประมาณของสภาเภสัชกรรม
(๔) ออกข้อบังคับสภาเภสัชกรรมว่าด้วย
(ก) การเป็นสมาชิก
(ข) การกำหนดโรคตามมาตรา ๑๒ (๕)
(ค) การกำหนดค่าขึ้นทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้
(ง) การเลือกและการเลือกตั้งกรรมการ และการแต่งตั้งที่ปรึกษา
(จ) การประชุมคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะที่ปรึกษา
(ฉ) การกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาตามมาตรา ๑๖
(ช) การกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามมาตรา ๑๗ วรรคสอง
(ซ) คุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมตามมาตรา ๓๒
(ฌ) หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนและการออกใบอนุญาตแบบและประเภทใบอนุญาต
(ญ) การกำหนดหลักเกณฑ์การพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต
(ฎ) หลักเกณฑ์การออกหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสาขาต่าง ๆ และหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพเภสัชกรรม
(ฏ) จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม
(ฐ) การจัดตั้ง การดำเนินการ และการเลิกสถาบันที่ทำการฝึกอบรมเป็นผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ ของวิชาชีพเภสัชกรรม
(ฑ) หลักเกณฑ์ว่าด้วยการสอบความรู้ตามอำนาจหน้าที่ของสภาเภสัชกรรม
(ฒ) หลักเกณฑ์ว่าด้วยการสืบสวนหรือสอบสวนในกรณีที่มีการกล่าวหาหรือการกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
(ณ) ข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
(ด) เรื่องอื่น ๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของสภาเภสัชกรรมหรืออยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาเภสัชกรรมตามกฎหมายอื่น
ภายใต้บังคับมาตรา ๒๗ ข้อบังคับสภาเภสัชกรรมเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


มาตรา ๒๔ นายกสภาเภสัชกรรม อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่หนึ่ง อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่สอง เลขาธิการ รองเลขาธิการ ประชาสัมพันธ์ เหรัญญิก ที่ปรึกษาและผู้ดำรงตำแหน่งอื่นมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) นายกสภาเภสัชกรรม มีอำนาจหน้าที่
(ก) บริหารและดำเนินกิจการของสภาเภสัชกรรมให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามมติของคณะกรรมการ
(ข) เป็นผู้แทนสภาเภสัชกรรมในกิจการต่าง ๆ
(ค) เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ
นายกสภาเภสัชกรรมอาจมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการอื่นปฏิบัติหน้าที่แทนตามที่เห็นสมควรได้
(๒) อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่หนึ่ง เป็นผู้ช่วยนายกสภาเภสัชกรรมในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสภาเภสัชกรรมตามที่นายกสภาเภสัชกรรมมอบหมาย และเป็นผู้ทำการแทนนายกสภาเภสัชกรรมเมื่อนายกสภาเภสัชกรรมไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
(๓) อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่สอง เป็นผู้ช่วยนายกสภาเภสัชกรรมในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสภาเภสัชกรรมตามที่นายกสภาเภสัชกรรมมอบหมายและเป็นผู้ทำการแทนนายกสภาเภสัชกรรมเมื่อทั้งนายกสภาเภสัชกรรมและอุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่หนึ่งไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
(๔) เลขาธิการ มีอำนาจหน้าที่
(ก) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่สภาเภสัชกรรมทุกระดับ
(ข) ควบคุมรับผิดชอบในงานธุรการทั่วไปของสภาเภสัชกรรม
(ค) รับผิดชอบในการดูแลรักษาทะเบียนสมาชิก ทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม และทะเบียนอื่น ๆ ของสภาเภสัชกรรม
(ง) ควบคุมดูแลทรัพย์สินของสภาเภสัชกรรม
(จ) เป็นเลขานุการคณะกรรมการ
(๕) รองเลขาธิการ เป็นผู้ช่วยเลขาธิการในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการตามที่เลขาธิการมอบหมาย และเป็นผู้ทำการแทนเลขาธิการเมื่อเลขาธิการไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
(๖) ประชาสัมพันธ์ มีอำนาจหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ แนะนำและเผยแพร่กิจการของสภาเภสัชกรรมแก่ประชาชนและองค์กรอื่น
(๗) เหรัญญิก มีอำนาจหน้าที่ควบคุม ดูแล รับผิดชอบการบัญชี การเงิน และการงบประมาณของสภาเภสัชกรรม
(๘) ผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาตามมาตรา ๑๖ ให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการกำหนด
(๙) ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามมาตรา ๑๗ วรรคสอง ให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการกำหนด


หมวด ๔
การดำเนินการของคณะกรรมการ
             


มาตรา ๒๕ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มติของที่ประชุมในกรณีให้สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๑๔ (๔) หรือให้พักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๒ วรรคสาม (๔) หรือ (๕) ให้ถือคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะ
การประชุมคณะอนุกรรมการ ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
การประชุมคณะที่ปรึกษา ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาเภสัชกรรม

มาตรา ๒๖ สภานายกพิเศษจะเข้าฟังการประชุมและชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการ หรือจะส่งความเห็นเป็นหนังสือไปยังสภาเภสัชกรรมในเรื่องใด ๆ ก็ได้
มาตรา ๒๗ มติของที่ประชุมคณะกรรมการในเรื่องดังต่อไปนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษก่อน จึงจะดำเนินการตามมตินั้นได้
(๑) การออกข้อบังคับ
(๒) การกำหนดงบประมาณของสภาเภสัชกรรม
(๓) การให้สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๑๔ (๔)
(๔) การวินิจฉัยชี้ขาดให้พักใช้ใบอนุญาตหรือให้เพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๔๒ วรรคสาม (๔) หรือ (๕)
ให้นายกสภาเภสัชกรรมเสนอมติตามวรรคหนึ่งต่อสภานายกพิเศษโดยไม่ชักช้า สภานายกพิเศษอาจมีคำสั่งยับยั้งมตินั้นได้ ในกรณีที่มิได้ยับยั้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับมติที่นายกสภาเภสัชกรรมเสนอ ให้ถือว่าสภานายกพิเศษให้ความเห็นชอบมตินั้น
ถ้าสภานายกพิเศษยับยั้งมติใด ให้คณะกรรมการประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการยังยั้ง ในการประชุมนั้น ถ้ามีเสียงยืนยันมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะ ก็ให้ดำเนินการตามมตินั้นได้


หมวด ๕
การควบคุมการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
             


มาตรา ๒๘ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต เว้นแต่ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) การประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่กระทำต่อตนเอง
(๒) นักเรียน นักศึกษา หรือผู้รับการฝึกอบรมซึ่งทำการฝึกหัดหรือฝึกอบรมในความควบคุมของสถาบันการศึกษาวิชาเภสัชศาสตร์ของรัฐหรือที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้จัดตั้งสถาบันทางการแพทย์ของรัฐ หรือสถาบันการศึกษาหรือสถาบันทางการแพทย์อื่นที่คณะกรรมการรับรอง ทั้งนี้ ภายใต้ความควบคุมของเจ้าหน้าที่ผู้ฝึกหัดหรือผู้ให้การฝึกอบรมซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
(๓) บุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือสภากาชาดไทย มอบหมายให้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(๔) การประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมของที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญของทางราชการหรือผู้สอนในสถาบันการศึกษาของรัฐ ซึ่งมีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมของต่างประเทศ ทั้งนี้ โดยอนุมัติของคณะกรรมการ

มาตรา ๒๙ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้คำหรือข้อความด้วยอักษรไทยหรืออักษรต่างประเทศว่า เภสัชกร เภสัชกรหญิง แพทย์ปรุงยา นักปรุงยา หรือใช้อักษรย่อของคำดังกล่าว หรือใช้คำแสดงวุฒิการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ หรือใช้อักษรย่อของวุฒิดังกล่าวประกอบกับชื่อหรือชื่อสกุลของตน หรือใช้คำหรือข้อความอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน หรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ซึ่งทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ทั้งนี้ รวมถึงการใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าวให้แก่ตน เว้นแต่ผู้ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชาเภสัชศาสตร์


มาตรา ๓๐ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้คำหรือข้อความที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสาขาต่าง ๆ ทั้งนี้ รวมถึงการใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าวให้แก่ตน เว้นแต่ผู้ได้รับหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรว่าเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสาขานั้น ๆ จากสภาเภสัชกรรมหรือที่สภาเภสัชกรรมรับรองหรือผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาเภสัชกรรม

มาตรา ๓๑ การขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต การออกหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสาขาต่าง ๆ และหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพเภสัชกรรม ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาเภสัชกรรม

มาตรา ๓๒ ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตต้องเป็นสมาชิกแห่งสภาเภสัชกรรมและมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสภาเภสัชกรรม
เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมผู้ใดขาดจากสมาชิกภาพ ให้ใบอนุญาตของผู้นั้นสิ้นสุดลง
ให้ผู้ซึ่งขาดจากสมาชิกภาพตามวรรคสองส่งคืนใบอนุญาตต่อเลขาธิการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบการขาดจากสมาชิกภาพ

มาตรา ๓๓ ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมต้องรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรมตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสภาเภสัชกรรม

มาตรา ๓๔ บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายเพราะการประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม มีสิทธิกล่าวหาผู้ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นโดยทำเรื่องยื่นต่อสภาเภสัชกรรม
กรรมการหรือบุคคลอื่นมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมว่าประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม โดยแจ้งเรื่องต่อสภาเภสัชกรรม
สิทธิการกล่าวหาตามวรรคหนึ่งหรือสิทธิการกล่าวโทษตามวรรคสองสิ้นสุดลงเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้กล่าวโทษรู้เรื่องการประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรมดังกล่าว และรู้ตัวผู้ประพฤติผิด ทั้งนี้ ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่มีการประพฤติผิดจรรยาบรรณนั้น
การถอนเรื่องการกล่าวหาหรือการกล่าวโทษที่ได้ยื่นหรือแจ้งไว้แล้วนั้นไม่เป็นเหตุให้ระงับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๓๕ เมื่อสภาเภสัชกรรมได้รับเรื่องการกล่าวหาหรือการกล่าวโทษตามมาตรา ๓๔ หรือในกรณีที่คณะกรรมการมีมติว่ามีพฤติการณ์อันสมควรให้มีการพิจารณาเกี่ยวกับจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ให้เลขาธิการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อประธานอนุกรรมการจรรยาบรรณโดยไม่ชักช้า


มาตรา ๓๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๓ (๒) ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณจากสมาชิกประกอบด้วยประธานคนหนึ่ง และอนุกรรมการมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าสามคนมีอำนาจหน้าที่สืบสวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องที่ได้รับตามมาตรา ๓๕ แล้วทำรายงานพร้อมทั้งความเห็นเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณเกินกว่าหนึ่งคณะก็ได้


มาตรา ๓๗ เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานและความเห็นของคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณแล้ว ให้คณะกรรมการพิจารณารายงานและความเห็นดังกล่าวแล้วมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) ให้คณะอนุกรรมการจรรยาบรรณสืบสวนหาข้อข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา
(๒) ให้คณะอนุกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนในกรณีที่เห็นว่าข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษนั้นมีมูล
(๓) ให้ยกข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษในกรณีที่เห็นว่าข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษนั้นไม่มีมูล


มาตรา ๓๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๓ (๒) ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนจากสมาชิกประกอบด้วยประธานคนหนึ่ง และอนุกรรมการมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าสามคนมีอำนาจหน้าที่สอบสวนสรุปผลการสอบสวนและเสนอสำนวนการสอบสวน พร้อมทั้งความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด
คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนเกินกว่าหนึ่งคณะก็ได้


มาตรา ๓๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณและ ของคณะอนุกรรมการสอบสวนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อนุกรรมการจรรยาบรรณและ อนุกรรมการสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มีอำนาจเรียกบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำและมีหนังสือแจ้งให้บุคคลใด ๆ ส่งเอกสารหรือวัตถุเพื่อประโยชน์แก่การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการดังกล่าว

มาตรา ๔๐ ให้ประธานอนุกรรมการสอบสวนมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา หรือข้อกล่าวโทษพร้อมทั้งส่งสำเนาเรื่องที่กล่าวหาหรือกล่าวโทษ ให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันเริ่มทำการสอบสวน
ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษมีสิทธิทำคำชี้แจงหรือนำพยานหลักฐานใด ๆ มาให้คณะอนุกรรมการสอบสวน
คำชี้แจงหรือพยานหลักฐานให้ยื่นต่อประธานอนุกรรมการสอบสวนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากประธานอนุกรรมการสอบสวน หรือภายในกำหนดเวลาที่คณะอนุกรรมการสอบสวนจะขยายให้


มาตรา ๔๑ เมื่อคณะอนุกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วให้เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นต่อคณะกรรมการโดยไม่ชักช้าเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด


มาตรา ๔๒ เมื่อคณะกรรมการได้รับสำนวนการสอบสวนและความเห็นของคณะอนุกรรมการสอบสวนแล้ว ให้คณะกรรมการพิจารณาสำนวนการสอบสวนและความเห็นดังกล่าวโดยไม่ชักช้า
คณะกรรมการอาจให้คณะอนุกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมก่อนวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้
คณะกรรมการมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) ยกข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษ
(๒) ว่ากล่าวตักเตือน
(๓) ภาคทัณฑ์
(๔) พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินสองปี
(๕) เพิกถอนใบอนุญาต
ภายใต้บังคับมาตรา ๒๗ คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการตามมาตรานี้ให้ทำเป็นคำสั่งสภาเภสัชกรรมพร้อมด้วยเหตุผลของการวินิจฉัยชี้ขาด และให้ถือเป็นที่สุด


มาตรา ๔๓ ให้เลขาธิการแจ้งคำสั่งสภาเภสัชกรรมตามมาตรา ๔๒ ไปยังผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้บันทึกข้อความตามคำสั่งนั้นไว้ในทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมด้วย

มาตรา ๔๔ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๘ ห้ามมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมนับแต่วันที่ทราบคำสั่งสภาเภสัชกรรมที่สั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้น


มาตรา ๔๕ ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนตามมาตรา ๔๔ และถูกลงโทษจำคุกตามมาตรา ๕๐ โดยคำพิพากษาถึงที่สุด ให้คณะกรรมการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้นั้นนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด


มาตรา ๔๖ ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตอาจขอรับใบอนุญาตอีกได้เมื่อพ้นสองปีนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต แต่เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาคำขอรับใบอนุญาตและปฏิเสธการออกใบอนุญาต ผู้นั้นจะยื่นคำขอรับใบอนุญาตได้อีกต่อเมื่อสิ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการปฏิเสธการออกใบอนุญาต ถ้าคณะกรรมการปฏิเสธการออกใบอนุญาตเป็นครั้งที่สองแล้ว ผู้นั้นเป็นอันหมดสิทธิขอรับใบอนุญาตอีกต่อไป
ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาเภสัชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะผู้ใดซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับประสงค์จะยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ให้ดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้


หมวด ๖
พนักงานเจ้าหน้าที่
             


มาตรา ๔๗ ในการปฏิบัติหน้าที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือผู้ที่มีเหตุผลสมควรเชื่อว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในระหว่างเวลาที่ทำการอยู่หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าทำการอยู่เพื่อตรวจใบอนุญาต ค้นหรือยึดเอกสารหลักฐานหรือสิ่งของที่อาจใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร


มาตรา ๔๘ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัว
บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง


มาตรา ๔๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา



หมวด ๗
บทกำหนดโทษ
             


มาตรา ๕๐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๘ หรือมาตรา ๔๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๕๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๙ หรือมาตรา ๓๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา ๕๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ วรรคสาม หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๔๗ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท


มาตรา ๕๓ ผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำหรือไม่ส่งเอกสารหรือวัตถุใด ๆ ตามที่เรียกหรือแจ้งให้ส่งตามมาตรา ๓๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


บทเฉพาะกาล
             

มาตรา ๕๔ ผู้ใดได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน สาขาเภสัชกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นสมาชิกสภาเภสัชกรรมตามพระราชบัญญัตินี้


มาตรา ๕๕ ผู้ใดได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน สาขาเภสัชกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะและใบอนุญาตนั้นยังคงใช้ได้ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ถือว่าผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมตามพระราชบัญญัตินี้


มาตรา ๕๖ ในระยะเริ่มแรกที่ยังมิได้เลือกตั้งสมาชิกสภาเภสัชกรรมเป็นกรรมการ ให้คณะกรรมการประกอบด้วยปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นนายสภาเภสัชกรรมและผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๑๕ (๑) และ (๒) เป็นกรรมการ การแต่งตั้งดังกล่าวจะต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเลือกกรรมการตามมาตรา ๑๕ (๑) หรือ (๒) ทำหน้าที่เลขาธิการ รองเลขาธิการ และเหรัญญิก ตำแหน่งละหนึ่งคน ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามมาตรา ๑๗ วรรคสอง
การเลือกตั้งสมาชิกสภาเภสัชกรรมเป็นกรรมการตามมาตรา ๑๕ (๓) ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ


มาตรา ๕๗ ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะในส่วนที่เกี่ยวกับวิชาชีพเภสัชกรรมมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๕๘ ให้ถือว่าการกระทำผิดมรรยาทหรือข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะในส่วนที่เกี่ยวกับวิชาชีพเภสัชกรรม ซึ่งได้กระทำก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ และการดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
ในกรณีที่มีการดำเนินการกับผู้กระทำผิดมรรยาทหรือข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน สาขาเภสัชกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้และการดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ


ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี


อัตราค่าธรรมเนียมวิชาชีพเภสัชกรรม


             


(๑) ค่าขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็น
ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม                 ฉบับละ ,๐๐๐ บาท


(๒) ค่าหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน
เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม            ฉบับละ ๕๐๐ บาท


(๓) ค่าหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตรแสดง
ความรู้ความชำนาญในการประกอบ
วิชาชีพเภสัชกรรม                             ฉบับละ ,๐๐๐ บาท


(๔) ค่าใบแทนใบอนุญาต                         ฉบับละ ๕๐๐ บาท


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาเภสัชกรรมอยู่ในความควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะทำหน้าที่ควบคุมการประกอบโรคศิลปะสาขาต่าง ๆ ทั้งแผนปัจจุบัน และแผนโบราณ ในปัจจุบันวิชาการและเทคโนโลยีทางด้านเภสัชศาสตร์ในประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมาก ประกอบกับจำนวนผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาเภสัชกรรมมีจำนวนมากขึ้น สมควรแยกการควบคุมการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ออกจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ โดยจัดตั้งสภาเภสัชกรรมขึ้นทำหน้าที่ส่งเสริมและควบคุมมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมได้โดยอิสระ เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้



_________________

[] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๒๘ ก วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๗ หน้า ๒๒