วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

กฎหมายเกี่ยวกับการแยกการสั่งจ่ายยาและการจ่ายยาในประเทศไทย

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

          หลักการแยกการสั่งจ่ายยาและการจ่ายยาของแพทย์และเภสัชกรมีวัตถุประสงค์เพื่อแยกบทบาทการทำหน้าที่ให้สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญของแต่ละวิชาชีพออกจากกัน ในขณะเดียวกันก็เป็นการเสริมระบบทบทวนการจ่ายยาหรือตรวจสอบให้รอบคอบก่อนจ่ายยาเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้ยา การพิจารณาว่าจะใช้ระบบนี้ได้หรือไม่นั้นส่วนหนึ่งขึ้นกับจำนวนของแพทย์หรือเภสัชกร ความพร้อมของผู้ประกอบวิชาชีพ ความพร้อมของประชาชนในด้านการเข้าถึงยาและการรับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพ ตลอดจนผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายที่จะตามมา

          ประเทศไทยมีแนวคิดเรื่องการแยกการสั่งจ่ายยาและการจ่ายยาเพียงใดนั้น อาจพิจารณาได้จากระบบกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งมีประวัติความเป็นมาดังนี้

          ก่อนวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2466 ขณะนั้นยังไม่มีพระราชบัญญัติการแพทย์ พระพุทธศักราช 2466 จึงไม่มีการควบคุมการประกอบวิชาชีพ จึงไม่มีการป้องกันให้ผู้ไม่มีความรู้เข้ามาประกอบวิชาชีพ ในขณะเดียวกันก็ไม่มีการควบคุมเกี่ยวกับการแยกบทบาทหน้าที่ระหว่างวิชาชีพด้วย
  
          วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2466 พระราชบัญญัติการแพทย์ พระพุทธศักราช 2466 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และบังคับใช้นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการประกาศพระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองมหาชนให้ปราศจากอันตรายอันเกิดแต่การประกอบโรคศิลปะของผู้ที่ไร้ความรู้และไม่ได้ฝึกหัด และมีพระราชดำริเห็นสมควรควบคุม วางระเบียบบังคับ และเลื่อนฐานะแห่งการประกอบโรคศิลปะให้สูงยิ่งขึ้นไป
          ขอบเขตการควบคุมการประกอบวิชาชีพ มีการควบคุมเกี่ยวกับการบำบัดโรคทางยาและทางผ่าตัด การผดุงครรภ์ การช่างฟัน การสัตวแพทย์ การปรุงยา การพยาบาล การนวด หรือการรักษาคนบาดเจ็บป่วยไข้โดยประการใด ๆ ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณโดยต้องมาขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตก่อน แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันเท่านั้น หากขึ้นทะเบียนในด้านใดได้เฉพาะในด้านนั้น ประกอบวิชาชีพพระราชบัญญัติการแพทย์ พระพุทธศักราช 2466 มาตรา 16 ให้อำนาจในการออกกฎเสนาบดีเพื่อกำหนดขอบเขตการประกอบวิชาชีพได้

          วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2472 รัชกาลที่ 7 มีพระบรมราชโองการประกาศพระราชบัญญัติการแพทย์เพิ่มเติม พุทธศักราช 2472 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งเป็นการแก้ไขพระราชบัญญัติการแพทย์ พระพุทธศักราช 2466 และบังคับใช้นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
          ขอบเขตการควบคุมการประกอบวิชาชีพ มีการแก้ไขขอบเขตการประกอบวิชาชีพการช่างฟันเป็นการทำและรักษาฟัน และเพิ่มการจำหน่ายยาให้เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบวิชาชีพจากเดิมมีเพียงแค่เรื่องการปรุงยาเท่านั้น

          วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2472 กฎเสนาบดี ตามความในมาตรา 8 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. 2466 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แม้ในพระราชบัญญัติการแพทย์ พระพุทธศักราช 2466 และพระราชบัญญัติการแพทย์เพิ่มเติม พุทธศักราช 2472 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าให้การประกอบวิชาชีพแบ่งออกเป็นกี่ชั้น แต่กฎเสนาบดีนี้ให้ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นหนึ่งและชั้นสอง ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งกำหนดคุณสมบัติดังนี้
ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง
ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นสอง
เป็นผู้ทรงวิทยาคุณ คือ มีปริญญาหรือประกาศนียบัตรจากกระทรวงธรรมการ หรือประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความสามารถอันได้รับจากมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนหรือคณะใด ซึ่งสภาการแพทย์เห็นว่าเสมอกับประกาศนียบัตรของกระทรวงธรรมการ
ผู้ที่มิได้ทรงวิทยาคุณเหมือนชั้นหนึ่ง แต่มีผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง 3 นาย ลงนามรับรองว่าสามารถทำการได้ในสาขาหนึ่งสาขาใดหรือหลายสาขาก็ดี ถ้าสภาการแพทย์เห็นสมควรก็มีอำนาจอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนในประเภทแผนปัจจุบันชั้นสองได้
          ขอบเขตการควบคุมการประกอบวิชาชีพ กฎเสนาบดี ตามความในมาตรา 8 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. 2466 มีการกำหนดรายละเอียดขอบเขตการประกอบวิชาชีพดังนี้
           (1) แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง มีสิทธิที่จะทำการบำบัดโรคได้ทุก ๆ สาขาแห่งโรคศิลปะปราศจากจำกัด เว้นแต่ว่าจะปรุงยาหรือจำหน่ายยาให้แก่ผู้ซึ่งมิได้เป็นคนไข้ของตนหรือปรุงหรือจำหน่ายยาทำนองร้านขายยาทั่วไปนั้นไม่ได้
           (2) ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง ในสาขาปรุงหรือจำหน่ายยา มีสิทธิที่จะกระทำการปรุงหรือจำหน่ายยาได้ปราศจากจำกัด แต่จะสั่งตั้งยาหรือบำบัดโรคให้แก่คนป่วย หรือวางยาสลบหรือฉีดยาไม่ได้
           (3) ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นสอง ในสาขาปรุงหรือจำหน่ายยา มีสิทธิที่จะกระทำการปรุงหรือจำหน่ายยาได้ทุกอย่าง แต่จะปรุงหรือจำหน่ายยาซึ่งมียาในบัญชีท้ายกฎนี้ผสมอยู่ด้วยไม่ได้ นอกจากจะทำอยู่ในความควบคุมของผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง และจะสั่งตั้งยาหรือบำบัดโรคให้แก่คนป่วย หรือวางยาสลบหรือฉีดยาไม่ได้
       จากกรณีในปี พ.ศ.2472 ดังกล่าว สามารถวิเคราะห์บทบาทของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งและเภสัชกรในส่วนที่เกี่ยวกับยา ได้ดังนี้
              (1.1) การบำบัดโรค การวางยาสลบ การฉีดยา แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งสามารถทำได้ เภสัชกรไม่สามารถทำได้
              (1.2) การสั่งจ่ายยา แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งสามารถทำได้ เภสัชกรไม่สามารถทำได้
              (1.3) การปรุงยาสำหรับคนไข้ของตน ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งสามารถกระทำได้ แต่ถ้าปรุงยาให้คนที่ไม่ใช่คนไข้ของตนไม่สามารถกระทำได้ หรือปรุงทำนองร้านขายยาทั่วไป (เน้นการค้า) แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งไม่สามารถกระทำได้แต่เภสัชกรสามารถทำได้ (เพียงแต่ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นสอง ในสาขาปรุงหรือจำหน่ายยา มีข้อจำกัดในการปรุงยาบางชนิด)
              (1.4) ถ้าจ่ายยาหรือจำหน่ายยาสำหรับคนไข้ของตน ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพสามารถกระทำได้ แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งสามารถกระทำได้ (ไม่จำกัดประเภทยา เพราะสมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายกำหนดประเภทยา) แต่ถ้าจ่ายหรือจำหน่ายยาให้คนที่ไม่ใช่คนไข้ของตนไม่สามารถกระทำได้ หรือปรุงทำนองร้านขายยาทั่วไป (เน้นการค้า) แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งไม่สามารถกระทำได้ แต่เภสัชกรสามารถทำได้ (เพียงแต่ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นสอง ในสาขาปรุงหรือจำหน่ายยา มีข้อจำกัดในการจำหน่ายยาบางชนิด)  

          วันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2480 ขณะนั้นตรงกับสมัยรัชกาลที่ 8 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 เป็นกฎหมายควบคุมการประกอบวิชาชีพฉบับใหม่ซึ่งซึ่งยกเลิกพระราชบัญญัติการแพทย์ พระพุทธศักราช 2466 พระราชบัญญัติการแพทย์เพิ่มเติม พุทธศักราช 2472 พระราชบัญญัติการแพทย์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476 มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2480
          ขอบเขตการควบคุมการประกอบวิชาชีพ กำหนดเฉพาะการบำบัดโรคของมนุษย์แบ่งการควบคุมการประกอบวิชาชีพออกเป็น 6 สาขา ดังนี้
           (1) เวชกรรม คือ การบำบัดโรคทางยาหรือทางผ่าตัดหรือทั้งสองอย่างหรือรวมทั้งทางสูติกรรมด้วย
           (2) ทันตกรรม คือ การบำบัดโรคฟัน การช่างฟัน หรือทั้งสองอย่าง
           (3) เภสัชกรรม คือ การปรุงหรือผสมยา หรือการประดิษฐ์วัตถุใดๆ ขึ้นเป็นยา
           (4) การผดุงครรภ์
           (5) การพยาบาล
           (6) การกระทำโดยวิธีอื่นใดเพื่อบำบัดโรค          
          พระราชบัญญัตินี้ได้ควบคุมการประกอบวิชาชีพทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณโดยต้องมาขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตก่อน แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันเท่านั้น กรณีที่เป็นการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาเวชกรรม ทันตกรรม เภสัชกรรม และการผดุงครรภ์ แบ่งระดับการประกอบวิชาชีพเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นหนึ่งและชั้นสอง และได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งและชั้นสอง ดังนี้
ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง
ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นสอง
(1) มีปริญญาหรือประกาศนียบัตรสำหรับสาขานั้นๆ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือจากสถานศึกษาอื่นในประเทศสยาม ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะเห็นว่ามีหลักสูตรเทียบได้ไม่ต่ำกว่าหลักสูตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ถ้าสาขาใดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมิได้เปิดการศึกษาและวางหลักสูตรไว้ ให้คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะมีอำนาจกำหนดหลักสูตรเพื่อสอบความรู้ผู้นั้นได้ตามที่เห็นสมควร
(2) มีปริญญาหรือประกาศนียบัตรจากสาขาในต่างประเทศและได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะในประเทศนั้นๆ ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะได้สอบสวนความประพฤติและความรู้ของผู้นั้นเป็นที่พอใจแล้ว แต่ถ้าบุคคลเช่นนี้มีสัญชาติเป็นไทยก็ไม่ต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะในประเทศที่ผู้นั้นได้รับการศึกษา
เป็นผู้ซึ่งได้รับการอบรมศึกษาจากโรงพยาบาลหรือสถานศึกษาใดของรัฐบาลหรือเทศบาลหรือสถานศึกษาอื่นใดในประเทศสยามซึ่งรัฐมนตรีได้กำหนดความรู้และเงื่อนไขอันควรให้ขึ้นทะเบียนได้ไว้ในกฎกระทรวง
          หากพิจารณาขอบเขตการควบคุมการประกอบวิชาชีพในด้านเภสัชกรรมมีการแก้ไขกฎหมายไม่ให้มีเรื่องการควบคุมการขายยาอยู่ในส่วนกฎหมายวิชาชีพ แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งสามารถประกอบโรคศิลปะในสาขาอื่นได้ แต่ถ้าจะประกอบโรคศิลปะในสาขาเภสัชกรรมโดยมิใช่เป็นการกระทำในหน้าที่ราชการหรือในกิจการของเทศบาล ให้ทำได้เฉพาะการปรุงหรือผสมจำหน่ายให้แก่คนไข้ของตน หรือในที่ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่น้อยกว่า 5 กิโลเมตรจากร้านขายยาที่มีผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขาเภสัชกรรมแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งทำการอยู่แล้ว
          ขณะเดียวกันในสมัยนั้นก็ได้มีพระราชบัญญัติควบคุมการขายยา พุทธศักราช 2479 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2480 เช่นเดียวกัน และก็มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2480 ในวันเดียวกันกับการประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 เพียงแต่การพิจารณาพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 ในสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติควบคุมการขายยา พุทธศักราช 2479
          เหตุผลที่ไม่ให้การขายยาเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบวิชาชีพในครั้งนั้น นาวาตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ในสมัยนั้นยังไม่มีกระทรวงสาธารณสุข) ให้เหตุผลต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2480 (เทียบปีตามการเปลี่ยนศักราชแบบใหม่แล้ว)  ว่าการขายยาเป็นการค้ายิ่งกว่าเป็นการประกอบอาชีพทั้งนี้ก็เพราะว่าการเภสัชกรรมของประเทศยังไม่เจริญพอเป็นพฤติการณ์ที่ต่างกับบางประเทศ จึงควรแยกการควบคุมเฉพาะการขายยาซึ่งนับว่าเป็นการค้าไว้ในพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งต่างหากจากการควบคุมการประกอบวิชาชีพ และเนื่องจากการพิจารณาพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 ซึ่งเสร็จไปก่อนหน้านั้นไม่รวมเรื่องการขายยาไว้ จึงจำเป็นต้องมีพระราชบัญญัติอีกฉบับหนึ่งเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนเนื่องจากการใช้ยา
          ในพระราชบัญญัติควบคุมการขายยา พุทธศักราช 2479 มีหมวดการขายยาโดยทั่วไป และหมวดการขายยาอันตราย มีมาตรา 6 วรรคแรก กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการขายยาโดยมิได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน และมีข้อยกเว้นที่ไม่ต้องได้รับใบอนุญาต ตามมาตรา 7 ดังนี้
           (1) การขายยาตำราหลวงของรัฐบาล
           (2) การขายยาสมุนไพร ซึ่งมิใช่ยาอันตราย
           (3) การขายยาสามัญประจำบ้าน
           (4) การขายยาเฉพาะแก่บุคคล ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ขายยาตามพระราชบัญญัตินี้
           (5) การขายยาโดยแพทย์หรือทันตแพทย์เฉพาะแก่คนไข้ของตนหรือการขายยาโดยสัตวแพทย์เฉพาะสำหรับสัตว์ซึ่งตนบำบัดโรค
          ในส่วนการขายยาอันตราย ตามมาตรา 13 ได้กำหนดทำได้เฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้
           (1) ผู้รับใบอนุญาตประเภท (ก) ซึ่งเป็นใบอนุญาตที่ออกให้แก่เจ้าของกิจการขายยาที่เป็นเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือที่มีเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งเป็นผู้ควบคุมกิจการนั้น หรือในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเป็นเจ้าของกิจการ ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเป็นเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือที่มีเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งควบคุมกิจการนั้น แต่ถ้าเจ้าของกิจการขายยามิใช่เป็นเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง การขายต้องอยู่ในความควบคุมของเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง
           (2) ผู้รับใบอนุญาตประเภท (ข) ซึ่งเป็นใบอนุญาตที่ออกให้แก่เจ้าของกิจการขายยาที่เป็นเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นสองหรือที่มีเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นสองเป็นผู้ควบคุมกิจการนั้น หรือในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเป็นเจ้าของกิจการ ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเป็นเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นสอง หรือที่มีเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นสองควบคุมกิจการนั้น แต่ถ้าเจ้าของกิจการขายยามิใช่เป็นเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นสอง การขายยาต้องอยู่ในความควบคุมของเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นสอง นอกจากนี้การขายยาอันตรายโดยเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นสองหรือในความควบคุมของเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นสองนั้น ให้ขายได้เฉพาะแก่ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือแก่องค์การในรัฐบาล
          ข้อสังเกตของกฎหมายนี้ ถ้าอ่านกฎหมายเพียงว่า “การขายยาโดยแพทย์หรือทันตแพทย์เฉพาะแก่คนไข้ของตนหรือการขายยาโดยสัตวแพทย์เฉพาะสำหรับสัตว์ซึ่งตนบำบัดโรค” ไม่ต้องได้รับใบอนุญาตขายยาตามพระราชบัญญัติควบคุมการขายยา พุทธศักราช 2479 แล้วไปเข้าใจว่าแพทย์สามารถขายยาอันตรายสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายได้นั้น เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะเมื่อไปพิจารณาจากรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2481 มีการอภิปรายพระราชบัญญัติควบคุมการขายยา พุทธศักราช 2479 ว่าไม่ให้แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งสามารถขายยาอันตรายสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายได้ จึงเป็นที่มาของพระราชบัญญัติควบคุมการขายยา (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2481 มาตรา 5 ซึ่งยกเลิกความในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการขายยา พุทธศักราช 2479 และกำหนดเพิ่มให้ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งสาขาเวชกรรมหรือทันตกรรมสามารถขายยาอันตรายเฉพาะแก่คนไข้ของตนได้
          จากกรณีในปี พ.ศ.2480 ดังกล่าว สามารถวิเคราะห์บทบาทของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งและเภสัชกรในส่วนที่เกี่ยวกับยา ได้ดังนี้
           (1) การบำบัดโรค การวางยาสลบ การฉีดยา แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งสามารถทำได้ เภสัชกรไม่สามารถทำได้
           (2) การสั่งจ่ายยา แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งสามารถทำได้ เภสัชกรไม่สามารถทำได้
           (3) การปรุงยาอยู่ภายใต้กฎหมายวิชาชีพ (ในขณะนั้นคือ พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479)  
                     (3.1) การปรุงยาสำหรับคนไข้ของตน แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งสามารถปรุงยาได้
                     (3.2) การปรุงยาสำหรับผู้ที่ไม่ใช่คนไข้ของตน หากเป็นการกระทำในหน้าที่ราชการหรือในกิจการของเทศบาล  แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งสามารถทำได้ แต่ถ้าไม่ใช่การกระทำในหน้าที่ราชการหรือในกิจการของเทศบาล (เช่น ในสถานประกอบการส่วนตัวหรือสถานประกอบการเอกชน) แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งไม่สามารถปรุงยาได้ จะปรุงยาได้เมื่อไม่มีร้านขายยาที่มีผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขาเภสัชกรรมแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งทำการในระยะ 5 กิโลเมตร
                     (3.3) เภสัชกรสามารถปรุงยาได้ (เพียงแต่ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นสอง ในสาขาปรุงหรือจำหน่ายยา ปรุงหรือผสมยาเฉพาะตามใบสั่งของแพทย์ และมีข้อจำกัดในการปรุงยาบางชนิด)
           (4) การจ่ายยาหรือจำหน่ายยาไม่ถูกควบคุมภายใต้กฎหมายวิชาชีพ (ในขณะนั้นคือ พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479) แต่ให้อยู่ภายใต้กฎหมายยา (ในขณะนั้น คือ พระราชบัญญัติควบคุมการขายยา พุทธศักราช 2479)
                     (4.1) การจำหน่ายยาสำหรับคนไข้ของตน แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งสามารถจำหน่ายยาได้ แม้ว่ายาที่จำหน่ายนั้นจะปรุงเองหรือไม่ก็ตาม (มีปัญหาตรงที่ไม่สามารถขายยาอันตรายสำหรับคนไข้เฉพาะรายของตนได้ จึงเป็นที่มาของพระราชบัญญัติควบคุมการขายยา (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2481 มาตรา 5
                     (4.2) การจำหน่ายยาสำหรับผู้ที่ไม่ใช่คนไข้ของตน ในกฎหมายวิชาชีพหากเป็นการกระทำในหน้าที่ราชการหรือในกิจการของเทศบาล  แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งสามารถทำได้ แต่ถ้าไม่ใช่การกระทำในหน้าที่ราชการหรือในกิจการของเทศบาล (เช่น ในสถานประกอบการส่วนตัวหรือสถานประกอบการเอกชน) แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งไม่สามารถจำหน่ายยาได้ (สอดคล้องระหว่างกฎหมายวิชาชีพและกฎหมายยา) แต่มีข้อยกเว้นในกฎหมายวิชาชีพ (ในขณะนั้นคือ พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 มาตรา 16(ก)) ซึ่งในกฎหมายยา (ในขณะนั้น คือ พระราชบัญญัติควบคุมการขายยา พุทธศักราช 2479) ไม่ได้ระบุไว้ตรงที่ แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งสามารถจำหน่ายยาที่ตนเองปรุงหรือผสมได้ได้เมื่อไม่มีร้านขายยาที่มีผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขาเภสัชกรรมแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งทำการในระยะ 5 กิโลเมตร และไม่ได้กำหนดว่าสามารถขายยาอันตรายสำหรับคนไข้เฉพาะรายของตนได้ จึงเป็นที่มาของพระราชบัญญัติควบคุมการขายยา (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2481 มาตรา 5 จึงเป็นช่วงที่การสั่งจ่ายยากับการจ่ายยาเฉพาะหมที่เป็นอันตรายแยกบทบาทระหว่างแพทย์และเภสัชกรออกจากกัน (เพียงแค่ 21 เดือน)
                     (4.3) เภสัชกรสามารถปรุงยาได้ (เพียงแต่ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นสอง ในสาขาปรุงหรือจำหน่ายยา ปรุงหรือผสมยาเฉพาะตามใบสั่งของแพทย์ และมีข้อจำกัดในการปรุงยาบางชนิด)

          วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2482 ขณะนั้นตรงกับสมัยรัชกาลที่ 8 พระราชบัญญัติควบคุมการขายยา (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2481 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ได้เพิ่มใบอนุญาตขายยาประเภท (ค) ซึ่งเป็นใบอนุญาตที่ออกให้แก่เจ้าของหรือผู้จัดการที่มิได้เป็นเภสัชกรแผนปัจจุบัน หรือไม่มีเภสัชกรแผนปัจจุบันเป็นผู้ควบคุมกิจการนั้น
          ในส่วนการขายยาอันตราย ได้กำหนดทำได้เฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้
           (1) ผู้รับใบอนุญาตประเภท (ก) ซึ่งเป็นใบอนุญาตที่ออกให้แก่เจ้าของกิจการขายยาที่เป็นเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือที่มีเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งเป็นผู้ควบคุมกิจการนั้น หรือในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเป็นเจ้าของกิจการ ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเป็นเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือที่มีเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งควบคุมกิจการนั้น แต่ถ้าเจ้าของกิจการขายยามิใช่เป็นเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง การขายต้องอยู่ในความควบคุมของเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง ในกรณีที่เภสัชกรผู้ควบคุมกิจการไม่อยู่ ให้ผู้รับอนุญาตขายยาอันตรายที่ปรุงไว้สำเร็จเพื่อใช้ได้แล้วแก่ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือแก่ผู้มีใบสั่งของผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งโดยชอบด้วยกฎหมายได้
           (2) ผู้รับใบอนุญาตประเภท (ข) ซึ่งเป็นใบอนุญาตที่ออกให้แก่เจ้าของกิจการขายยาที่เป็นเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นสองหรือที่มีเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นสองเป็นผู้ควบคุมกิจการนั้น หรือในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเป็นเจ้าของกิจการ ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเป็นเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นสอง หรือที่มีเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นสองควบคุมกิจการนั้น แต่ถ้าเจ้าของกิจการขายยามิใช่เป็นเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นสอง การขายยาอันตรายต้องอยู่ในความควบคุมของเภสัชกรแผนปัจจุบันชั้นสอง ให้ขายยาที่ยังไม่ปรุงสำเร็จได้เฉพาะแก่ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือแก่ผู้มีใบสั่งของผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือแก่องค์การในรัฐบาล
          ถ้าเภสัชกรผู้ควบคุมกิจการไม่อยู่ ให้ผู้รับใบอนุญาตขายยาอันตรายที่ปรุงไว้สำเร็จเพื่อใช้ได้แล้วแก่ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือแก่ผู้มีใบสั่งของผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งโดยชอบด้วยกฎหมายได้
           (3) ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งสาขาเวชกรรมหรือทันตกรรมขายยาอันตรายเฉพาะแก่คนไข้ของตน
          จากกรณีในปี พ.ศ.2482 ดังกล่าว สามารถวิเคราะห์บทบาทของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งและเภสัชกรในส่วนที่เกี่ยวกับยา ได้ดังนี้ คือ การบำบัดโรค การวางยาสลบ การฉีดยา การสั่งจ่ายยา การปรุงยา ยังคงหลักการเดิม แต่การจ่ายยาอันตรายได้มีการแก้ไขกฎหมายให้ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งสาขาเวชกรรมหรือทันตกรรมขายยาอันตรายเฉพาะแก่คนไข้ของตนได้
          มีการผ่อนปรนเรื่องการขายยาอันตรายในขณะที่เภสัชกรไม่อยู่ควบคุมกิจการได้ หากเป็นยาที่ปรุงไว้สำเร็จแล้วแก่ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือแก่ผู้มีใบสั่งของผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้เหตุผลว่าสมัยนั้นมีเภสัชกรชั้นหนึ่งเพียงแค่หกสิบกว่าคนเท่านั้น หากต้องให้เภสัชกรเท่านั้นเป็นผู้ขายประชาชนอาจไม่มียาใช้ และอ้างว่าเป็นการเพิ่มบทบาทของเภสัชกรชั้นสองให้การขายยาอันตรายได้        

          วันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2484 ขณะนั้นตรงกับสมัยรัชกาลที่ 8 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2483 และบังคับใช้นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
          ขอบเขตการควบคุมการประกอบวิชาชีพ กำหนดให้การตรวจโรคและการป้องกันโรคเพิ่มเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบวิชาชีพด้วย และเปลี่ยนการควบคุมการประกอบวิชาชีพออกเป็น 5 สาขา โดยตัดในสาขาการกระทำโดยวิธีอื่นใดเพื่อบำบัดโรคออกไป แต่เปลี่ยนแปลงในส่วนวิชาชีพเวชกรรม คือ การบำบัดโรคด้วยยา ด้วยศัลยกรรม ด้วยแสงรัศมี ด้วยสูติกรรม และด้วยจิตวิเคราะห์ (เพิ่มเรื่องการฉายรังสีและจิตวิเคราะห์) แบ่งระดับการประกอบวิชาชีพในสาขาแผนปัจจุบันเป็น 2 ชั้นเป็น คือ ชั้นหนึ่งและชั้นสอง ยกเว้นสาขาเวชกรรมมีการเปลี่ยนชื่อเป็น ประเภท ก. และประเภท ข.

ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง
ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นสอง
(1) มีปริญญาหรือประกาศนียบัตรสำหรับสาขานั้นๆ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือจากสถานศึกษาอื่นในประเทศสยาม ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะเห็นว่ามีหลักสูตรเทียบได้ไม่ต่ำกว่าหลักสูตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ถ้าสาขาใดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมิได้เปิดการศึกษาและวางหลักสูตรไว้ ให้คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะมีอำนาจกำหนดหลักสูตรเพื่อสอบความรู้ผู้นั้นได้ตามที่เห็นสมควร
(2) มีปริญญาหรือประกาศนียบัตรจากสาขาในต่างประเทศและได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะในประเทศที่ตนได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตร ทั้งคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะได้สอบความรู้เป็นที่พอใจแล้ว แต่ถ้าบุคคลเช่นนี้มีสัญชาติเป็นไทยก็ไม่ต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะในประเทศที่ผู้นั้นได้รับการศึกษา
(3) ผู้ที่มีปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาในสาขาเวชกรรมจากสถานศึกษาดังกล่าวใน (1) หรือ (2) ให้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตในประเภท ก. สำหรับผู้ที่มีประกาศนียบัตรวิชาในสาขาเวชกรรมจากสถานศึกษาของรัฐบาลไทย ซึ่งมีเวลาการศึกษาไม่ต่ำกว่าสี่ปี และคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะเห็นชอบด้วยหลักสูตรการศึกษาแห่งสถานที่นั้นแล้ว ให้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตในประเภท ข.
เป็นผู้ซึ่งได้รับการอบรมศึกษาจากโรงพยาบาลหรือสถานศึกษาใดของรัฐบาลหรือเทศบาลหรือสถานศึกษาอื่นใดในประเทศไทยซึ่งรัฐมนตรีได้กำหนดความรู้และเงื่อนไขอันควรให้ขึ้นทะเบียนได้ไว้ในกฎกระทรวง แต่สำหรับผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาการผดุงครรภ์ ถ้าได้รับการอบรมศึกษาและได้รับประกาศนียบัตรจากกรมสาธารณสุขก็ให้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตได้

          วันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2490  ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 9 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2490 และบังคับใช้นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
          ขอบเขตการควบคุมการประกอบวิชาชีพ ยังกำหนดให้การตรวจโรคและการป้องกันโรคเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบวิชาชีพด้วย และคงการควบคุมการประกอบวิชาชีพออกเป็น 5 สาขา เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต ดังนี้

ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง
ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นสอง
(1) มีปริญญาหรือประกาศนียบัตรสำหรับสาขานั้นๆ จากสถานศึกษาในประเทศไทย ที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะรับรอง แต่คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะอาจสอบความรู้ก่อนก็ได้ หรือ
(2) มีปริญญาหรือประกาศนียบัตรจากสถานศึกษาในต่างประเทศและได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะในประเทศที่ตนได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตร ทั้งคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะได้สอบความรู้เป็นที่พอใจแล้ว และถ้าบุคคลเช่นนี้มีสัญชาติเป็นไทย ก็ไม่ต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะในประเทศที่ผู้นั้นได้รับการศึกษา
(3) ผู้ที่มีปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาในสาขาเวชกรรมจากสถานศึกษาดังกล่าวใน (1) หรือ (2) ให้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตในประเภท ก. สำหรับผู้ที่มีประกาศนียบัตรวิชาในสาขาเวชกรรมจากสถานศึกษาของประเทศไทย ซึ่งมีเวลาการศึกษาไม่ต่ำกว่าสี่ปี และคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะเห็นชอบด้วยหลักสูตรการศึกษาแห่งสถานที่นั้นแล้ว ให้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตในประเภท ข. แต่คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะอาจสอบความรู้ก่อนก็ได้
เป็นผู้ซึ่งได้รับการอบรมศึกษาจากโรงพยาบาลหรือสถานศึกษาในประเทศไทยซึ่งรัฐมนตรีได้กำหนดความรู้และเงื่อนไขอันควรให้ขึ้นทะเบียนได้ไว้ในกฎกระทรวง

          วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2493 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ.2493 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป กฎหมายฉบับนี้ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการขายยา พุทธศักราช 2479 และพระราชบัญญัติควบคุมการขายยา (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2481
          การประกอบธุรกิจการขายยาต้องได้รับใบอนุญาตขายยา เว้นแต่การขายยาโดยผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขาเวชกรรมหรือทันตกรรมเฉพาะสำหรับคนไข้ของตน หรือการขายยาโดยสัตวแพทย์เฉพาะสำหรับสัตว์ซึ่งตนบำบัดหรือป้องกันโรค
          การผลิตยาที่ต้องขึ้นทะเบียนตำรับยา จะใช้กับยาที่ผลิตหรือปรุงขึ้นตามตำรับนอกตำราฟาร์มาโคเปียใด ๆ หรือตำราใด ๆ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศ

          วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2504 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2504 และบังคับใช้นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
          ขอบเขตการควบคุมการประกอบวิชาชีพ คงเดิม เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต ดังนี้

ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง
ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นสอง
(1) มีปริญญาหรือประกาศนียบัตรสำหรับสาขานั้นๆ จากสถานศึกษาในประเทศไทย ที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะรับรอง แต่คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะอาจสอบความรู้ก่อนก็ได้
สำหรับสาขาเวชกรรมต้องได้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลและหรือสถาบันทางแพทย์เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีภายหลังวันที่สถานศึกษาได้อนุมัติให้ปริญญาแล้วและเป็นที่พอใจของคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ
(2) มีปริญญาหรือประกาศนียบัตรจากสถานศึกษาในต่างประเทศและได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะในประเทศที่ตนได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตร ทั้งคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะได้สอบความรู้เป็นที่พอใจแล้ว และถ้าเป็นคนไทย ไม่จำต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะในประเทศที่ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตร
สำหรับสาขาเวชกรรมต้องมีใบรับรองของโรงพยาบาลและหรือสถาบันทางแพทย์แสดงว่าได้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลและหรือสถาบันทางแพทย์นั้นแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีภายหลังวันที่ได้ปริญญา และเป็นที่พอใจของคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ
ไม่มีการกล่าวถึงเภสัชกรชั้นสอง

          วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2509 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2509 และบังคับใช้นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
          ขอบเขตการควบคุมการประกอบวิชาชีพ ขยายขอบเขตการควบคุม ดังนี้
           (1) เวชกรรม คือ การตรวจโรค การป้องกันโรค หรือการบำบัดโรคมนุษย์ด้วยกรรมวิธีของการประกอบโรคศิลปะตามแผนนั้น ๆ
           (2) ทันตกรรม คือ การตรวจหรือบำบัดโรคฟันหรืออวัยวะที่เกี่ยวกับฟันโดยตรง หรือการทำฟันในช่องปากของมนุษย์
           (3) เภสัชกรรม คือ การปรุงหรือผสมยา หรือการประดิษฐ์วัตถุใดๆ ขึ้นเป็นยาสำหรับมนุษย์  
           (4) การพยาบาล คือ การกระทำในการช่วยเหลือผู้ป่วยเพื่อบรรเทาอาการของโรค
           (5) การผดุงครรภ์ คือ การตรวจและการปฏิบัติต่อหญิงมีครรภ์ เพื่อป้องกันความผิดปกติในการคลอดบุตร การทำคลอด ตลอดถึงการดูแลมารดาและทารกในระยะหลังคลอด
          และให้หมายความรวมถึงการผ่าตัด ฉีดยา ฉีดสสารหรือสอดใส่วัตถุใด ๆ เข้าในร่างกาย เพื่อการเสริมสวย การคุมกำเนิด การทำหมัน หรือการบำรุงร่างกายด้วย เหตุผลที่ต้องเพิ่มเติมเข้ามาเพราะเดิมไม่มีกฎหมายควบคุมการกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน

ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง
ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นสอง
(1) มีปริญญาหรือประกาศนียบัตรสำหรับสาขานั้นๆ จากสถานศึกษาในประเทศไทย ที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะรับรอง แต่คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะอาจสอบความรู้ก่อนก็ได้
สำหรับสาขาเวชกรรมต้องมีใบรับรองของโรงพยาบาลและหรือสถาบันทางแพทย์แสดงว่าได้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลและหรือสถาบันทางแพทย์นั้นแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีภายหลังวันที่ได้ปริญญา และเป็นที่พอใจของคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ
(2) มีปริญญาหรือประกาศนียบัตรจากสถานศึกษาในต่างประเทศและได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะในประเทศที่ตนได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตร ทั้งคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะได้สอบความรู้เป็นที่พอใจแล้ว และถ้าเป็นคนไทย ไม่จำต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะในประเทศที่ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตร
สำหรับสาขาเวชกรรมต้องมีใบรับรองของโรงพยาบาลและหรือสถาบันทางแพทย์แสดงว่าได้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลและหรือสถาบันทางแพทย์นั้นแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีภายหลังวันที่ได้ปริญญา และเป็นที่พอใจของคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ
ไม่มีการกล่าวถึงเภสัชกรชั้นสอง

          วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2510 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ในราชกิจจานุเบกษา และให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
          ขอบเขตการควบคุมการประกอบวิชาชีพ พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มีการกำหนดของเขตของการประกอบวิชาชีพบางประการเกิดขึ้น ส่งผลให้พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2511 บัญญัติขอบเขตการประกอบวิชาชีพไว้ชัดเจนในเวลาต่อมาว่าให้อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยยา (ขอบเขตของแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร มีอยู่เพียงใดนั้น ขึ้นกับพระราชบัญญัติยาด้วย) ขอบเขตการประกอบวิชาชีพตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 เช่น
           (1) การผลิตยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบโรคศิลปะสำหรับคนไข้เฉพาะราย หรือตามใบสั่งยาของผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์สำหรับสัตว์เฉพาะราย ไม่ต้องได้รับใบอนุญาตผลิตยา
           (2) การขายยาสมุนไพรที่ไม่ใช่ยาอันตราย การขายยาสามัญประจำบ้าน การขายยาซึ่งผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขาเวชกรรมหรือทันตกรรมขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตน หรือการขายยาซึ่งผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ขายสำหรับสัตว์ซึ่งตนบำบัดหรือป้องกันโรค ไม่ต้องได้รับใบอนุญาตขายยา
           (3) ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันในสถานที่ผลิตยาในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ดังกล่าว ซึ่งตรงนี้จะเชื่อมโยงไปยังกฎหมายวิชาชีพได้ว่าผลิตยาแผนปัจจุบันในสถานที่ผลิตยาเป็นบทบาทของเภสัชกรเท่านั้น
           (4) ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรหรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งตรงนี้จะเชื่อมโยงไปยังกฎหมายวิชาชีพได้ว่าการขายยาอันตรายในสถานที่ขายยาเป็นบทบาทของเภสัชกรหรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์เท่านั้น
          ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมเรื่องการแบ่งประเภทยาของไทยด้วย กล่าวคือ ยาควบคุมพิเศษในประเทศไทยต้องใช้ใบสั่งยาเมื่อมาซื้อยาที่ร้านขายยา แต่ในขณะที่ยาอันตรายหรือยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายเภสัชกรสามารถจ่ายยาหรือขายยาได้เองโดยไม่ต้องมีใบสั่งยา

          วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2511 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2511 ในราชกิจจานุเบกษา และบังคับใช้นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
          ขอบเขตการควบคุมการประกอบวิชาชีพ วิชาชีพเวชกรรมได้มีกฎหมายแยกตัวออกไปต่างหาก และกำหนดไว้ชัดเจนว่าให้ผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขาเภสัชกรรมมีเฉพาะชั้นหนึ่ง ซึ่งเดิมพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2504 และพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2509 ก็ไม่ได้กล่าวถึงแล้ว นอกจากนี้ได้แก้คุณสมบัติใหม่ ดังนี้
ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง
ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นสอง
(1) มีปริญญาหรือประกาศนียบัตรสำหรับสาขานั้นๆ จากสถานศึกษาในประเทศไทย ที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะรับรอง แต่คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะอาจสอบความรู้ก่อนก็ได้
(2) มีปริญญาหรือประกาศนียบัตรสำหรับสาขานั้น ๆ จากสถานศึกษาในต่างประเทศและได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะในประเทศที่ตนได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตร และคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะได้สอบความรู้เป็นที่พอใจแล้ว แต่ถ้าเป็นคนไทย ไม่จำต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะในประเทศที่ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตร
กฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนให้มีเฉพาะเภสัชกรชั้นหนึ่งเท่านั้น  
          หากเป็นการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับยา พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2511 มาตรา 6 ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 มาตรา 16 อีกทั้งพระราชบัญญัตินี้ยังได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยยา ห้ามมิให้ผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขาหนึ่งสาขาใดประกอบโรคศิลปะในสาขาอื่นซึ่งตนมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” นั่นหมายความว่าการบัญญัติกฎหมายวิชาชีพในลักษณะดังกล่าว มีเจตนารมณ์ว่ากฎหมายวิชาชีพจะขัดหรือแย้งกับกฎหมายยาไม่ได้ ซึ่งข้อความตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังคงใช้อยู่จนกระทั่งมีพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 ก็ไม่มีข้อความนี้อีก (ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวิชาชีพเวชกรรม วิชาชีพทันตกรรม วิชาชีพเภสัชกรรม ไม่อยู่ภายใต้       พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 แล้ว แต่ก็อาจส่งผลถึงการตีความตามกฎหมายว่าด้วยยาซึ่งเกิดก่อนปี พ.ศ.2542 ด้วย)
          แม้ว่าพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2511 จะให้มีเฉพาะเภสัชกรชั้นหนึ่งเท่านั้น แต่เภสัชกรชั้นสองที่มีอยู่ก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ก็ยังประกอบวิชาชีพต่อไปได้ภายใต้ข้อจำกัดและเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตไว้
          ขณะเดียวกันก็ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2511 ในราชกิจจานุเบกษา และบังคับใช้นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
          ขอบเขตการควบคุมการประกอบวิชาชีพ พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2511 ให้นิยาม “วิชาชีพเวชกรรม” หมายความว่า วิชาชีพเกี่ยวกับการตรวจโรค การป้องกันโรค การบำบัดโรค หรือการผดุงครรภ์ ด้วยวิธีการที่กระทำโดยตรงต่อร่างกายของบุคคลอื่นตามหลักวิทยาศาสตร์ และหมายความรวมถึงการกระทำโดยตรงต่อร่างกายของบุคคลอื่นด้วยวิธีการผ่าตัด ฉีดยา ฉีดสสารเข้าในร่างกายเพื่อการเสริมสวย การบำรงร่างกาย การทำหมัน การคุมกำเนิด หรือสอดใส่วัตถุใดๆ เข้าในมดลูกหรือครอบมดลูกเพื่อการคุมกำเนิด
          จากกรณีในปี พ.ศ.2511 สามารถวิเคราะห์บทบาทของแพทย์และเภสัชกรในส่วนที่เกี่ยวกับยา ได้ดังนี้ คือ นิยามวิชาชีพเวชกรรม ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2511 ไม่ได้กล่าวถึงบทบาทของแพทย์ในการจ่ายยา การขายยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย แต่พบพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ให้อำนาจการขายยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายไว้ ส่วนการขายยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายจะเป็นการประกอบโรคศิลปะสาขาเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่นั้น ขณะนั้นมีพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2511 มาตรา 6 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยยา ห้ามมิให้ผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขาหนึ่งสาขาใดประกอบโรคศิลปะในสาขาอื่นซึ่งตนมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ซึ่งมีเจตนารมณ์ว่ากฎหมายวิชาชีพจะขัดหรือแย้งกับกฎหมายยาไม่ได้ ส่งผลให้การขายยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ไม่เป็นการประกอบโรคศิลปะในสาขาเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต

          วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2525 พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และบังคับใช้นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
           ขอบเขตการควบคุมการประกอบวิชาชีพ พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2511 ให้นิยาม “วิชาชีพเวชกรรม” หมายความว่า หมายความว่า วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การผดุงครรภ์ การปรับสายตาด้วยเลนซ์สัมผัส การแทงเข็มหรือการฝังเข็มเพื่อบำบัดโรคหรือเพื่อระงับความรู้สึก และหมายความรวมถึงการกระทำทางศัลยกรรม การใช้รังสี การฉีดยาหรือสสาร การสอดใส่วัตถุใด ๆ เข้าไปในร่างกาย  ทั้งนี้ เพื่อการคุมกำเนิด การเสริมสวย หรือการบำรุงร่างกายด้วย
          จากกรณีในปี พ.ศ.2525 สามารถวิเคราะห์บทบาทของแพทย์และเภสัชกรในส่วนที่เกี่ยวกับยา ได้ดังนี้ คือ มีการปรับปรุงนิยามวิชาชีพเวชกรรม แต่บทบาทหน้าที่ในการจ่ายยาของแพทย์ และบทบาทของเภสัชกรยังคงเดิม ไม่ได้แตกต่างไปจากปี พ.ศ.2511

          วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2537 พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้นิยาม วิชาชีพเภสัชกรรมหมายความว่า วิชาชีพที่เกี่ยวกับการกระทำในการเตรียมยา การผลิตยา การประดิษฐ์ยา การเลือกสรรยา การวิเคราะห์ยา การควบคุมและการประกันคุณภาพยา การปรุงและจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพ ทันตกรรม หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ รวมทั้งการดำเนินการปรุงยาและการขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา
          ขอบเขตการควบคุมการประกอบวิชาชีพ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต
          จากกรณีในปี พ.ศ.2537 สามารถวิเคราะห์บทบาทของแพทย์และเภสัชกรในส่วนที่เกี่ยวกับยา ได้ดังนี้
           (1) การเตรียมยา การผลิตยา การประดิษฐ์ยา การเลือกสรรยา การวิเคราะห์ยา การควบคุมและการประกันคุณภาพยา หากเป็นยาแผนปัจจุบัน เนื่องจากพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ไม่ได้กำหนดเป็นอย่างอื่น ดังนั้นมีเพียงเภสัชกรเท่านั้นที่สามารถกระทำได้
           (2) การสั่งจ่ายยา ไม่กล่าวถึงในนิยามวิชาชีพ
           (3) การปรุงและจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพ ทันตกรรม หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ เป็นบทบาทหน้าที่ของเภสัชกรตาม พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 แต่มีปัญหาตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 13(2) ไม่ระบุให้ชัดเจนว่า การผลิตยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือของผู้ประกอบโรคศิลปะที่สั่งสำหรับคนไข้เฉพาะราย หรือตามใบสั่งยาของผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์สำหรับสัตว์เฉพาะราย เป็นบทบาทหน้าที่ของเภสัชกรเท่านั้น ถ้าหากพิจารณาประวัติการปรุงยาจะพบว่าเภสัชกรเองก็ไม่ได้มีสิทธิเด็ดขาดในการปรุงยาตามกฎหมายในอดีต เนื่องจากในสมัยนั้นมีเภสัชกรชั้นหนึ่งเพียงหกสิบกว่าคนเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีเภสัชกรมากกว่าสามหมื่นคนการตีความจึงต้องเลือกว่าจะตีความตามเจตนารมณ์แรกเริ่มของกฎหมายหรือตีความตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป  
           (4) การปรุงยาและการขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา ต้องแยกพิจารณาแต่ละกรณี ดังนี้
                     (4.1) การขายยาสามัญประจำบ้าน แม้ว่าการขายยาจะอยู่ในนิยามของกฎหมายวิชาชีพ แต่การขายยาสามัญประจำบ้านตามกฎหมายว่าด้วยยา กลับให้อำนาจบุคคลซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพขายยาสามัญประจำบ้านได้ ถ้าพิจารณาตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2511 มาตรา 6 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าให้อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยยา จึงต้องตีความว่า การขายยาสามัญประจำบ้านตามกฎหมายว่าด้วยยามิใช่การประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
                     (4.2) การขายยาแผนปัจจุบันซึ่งเป็นยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในสถานที่ขายยา ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 32 หากไม่ใช่เภสัชกรหรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์เป็นผู้ขาย ก็เป็นการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
                     (4.3) การขายยาซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขาทันตกรรมขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตน หรือการขายยาซึ่งผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ขายสำหรับสัตว์ซึ่งตนบำบัดหรือป้องกันโรค กฎหมายนี้บัญญัติขึ้นในสมัยที่เภสัชกรยังมีจำนวนน้อยอยู่ จึงเปิดโอกาสให้แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ ขายยาสำหรับคนไข้ของตนได้ แต่การขายนี้หากพิจารณาตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่ดั้งเดิมแล้วต้องผ่านขั้นตอนของกระบวนการทางวิชาชีพนั้นมาก่อน จะมาขายยาในลักษณะเดียวกับร้านขายยาไม่ได้

           วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 และกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมก่อนหน้า  พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ฉบับนี้กำหนดให้ การประกอบโรคศิลปะหมายความว่า การประกอบวิชาชีพที่กระทำหรือมุ่งหมายจะกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพ การผดุงครรภ์ แต่ไม่รวมถึงการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ
          ขอบเขตการควบคุมการประกอบวิชาชีพ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประกอบโรคศิลปะ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิทำการประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต เว้นแต่ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
           (1) การประกอบโรคศิลปะที่กระทำต่อตนเอง
           (2) การช่วยเหลือหรือเยียวยาผู้ป่วยตามหน้าที่ ตามกฎหมาย หรือตามธรรมจรรยา โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน
           (3) นักเรียน นักศึกษา หรือผู้รับการฝึกอบรมซึ่งทำการฝึกหัดหรืออบรมในความควบคุมของผู้ประกอบโรคศิลปะซึ่งเป็นผู้ให้การศึกษาหรือฝึกอบรม  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการวิชาชีพกำหนด
           (4) บุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือสภากาชาดไทย มอบหมายให้ประกอบโรคศิลปะในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะหรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
           (5) บุคคลซึ่งปฏิบัติงานในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล กระทำการประกอบโรคศิลปะในความควบคุมของผู้ประกอบโรคศิลปะ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
           (6) การประกอบโรคศิลปะของที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญของทางราชการหรือผู้สอนในสถาบันการศึกษาซึ่งมีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะของต่างประเทศ  ทั้งนี้ โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการวิชาชีพ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการวิชาชีพกำหนด

          ปัจจุบันมีกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่น ซึ่งไม่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ดังนี้
           (1) แพทย์ มีพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525
           (2) พยาบาล มีพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2528 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
           (3) เภสัชกร มีพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
           (4) ทันตแพทย์ มีพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537
           (5) นักกายภาพบำบัด มีพระราชบัญญัติวิชาชีพกายภาพบำบัด พ.ศ. 2547
           (6) เทคนิคการแพทย์ มีพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. 2547
           (7) แพทย์แผนไทย มีพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556
           (8) วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน มีพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556

          วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
          ขอบเขตการควบคุมการประกอบวิชาชีพ มีการปรับปรุงนิยาม วิชาชีพเภสัชกรรมหมายความว่า วิชาชีพที่เกี่ยวกับการกระทำในการเตรียมยา การผลิตยา การประดิษฐ์ยา การเลือกสรรยา การวิเคราะห์ยา การควบคุมและการประกันคุณภาพยา การปรุง และการจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ การปรุงยา การจ่ายยา การขายยา และการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยยาและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับยา การให้คำแนะนำปรึกษาและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยา รวมทั้งการดำเนินการหรือร่วมกับผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการค้นหา ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยา
          จากกรณีในปี พ.ศ.2558 สามารถวิเคราะห์บทบาทของแพทย์และเภสัชกรในส่วนที่เกี่ยวกับยา ได้ดังนี้ คือ บทบาทของเภสัชกรขยายขอบเขตไปยังกฎหมายอื่นและขยายขอบเขตการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น กล่าวคือ ขยายขอบเขตไปยังการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยยาและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับยา การให้คำแนะนำปรึกษาและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยา รวมทั้งการดำเนินการหรือร่วมกับผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการค้นหา ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยา ส่วนบทบาทของแพทย์ในการจ่ายยาไม่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้

สรุป
          ระบบกฎหมายที่มีอยู่ของไทย ถ้าพิจารณาประวัติของกฎหมายในแต่ละฉบับจากในอดีตจะพบว่า ไม่ได้แยกเรื่องการสั่งจ่ายยา การปรุงยา การจ่ายยาหรือขายยาออกจากกันอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการบัญญัติกฎหมายในอดีตมีการผ่อนปรนหลักการลงมา เนื่องจากข้อจำกัดด้านจำนวนเภสัชกรในสมัยนั้น และเกรงว่าประชาชนจะเข้าไม่ถึงยา จึงได้กำหนดข้อยกเว้นในกฎหมายวิชาชีพ หรือกำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยา และมีบางช่วงก็ให้กฎหมายวิชาชีพอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยยาอีกซึ่งล้วนส่งผลต่อการตีความกฎหมายด้วย แม้ว่ากฎหมายวิชาชีพในปัจจุบันจะดูเหมือนว่าบัญญัติขอบเขตการประกอบวิชาชีพแยกออกจากกัน แต่ก็มีกฎหมายอื่นอนุญาตให้ทำได้ เช่น กฎหมายว่าด้วยยา ส่วนกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ไม่กระทบต่อการสั่งจ่ายยา การปรุงยา และการจ่ายยา จึงไม่กล่าวถึงในที่นี้ เว้นเสียแต่ว่าจะมีมาตรการกำหนดเกี่ยวกับการจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยพักค้างคืน (ผู้ป่วยใน) หรือผู้ป่วยไม่พักค้างคืนในสถานพยาบาล (ผู้ป่วยนอก) ในอนาคต




ข้อเสนอแนะ
          เนื่องจากนิยามของวิชาชีพเวชกรรมและเภสัชกรรมแยกบทบาทของแต่ละวิชาชีพออกจากกันในประเด็นที่เกี่ยวกับยา เหลือเพียงแต่กฎหมายว่าด้วยยา ซึ่งยังคงอนุญาตให้มีการซ้อนทับระหว่างบทบาทของแพทย์กับเภสัชกรอยู่ หากต้องการแยกเรื่องการสั่งจ่ายยาและการจ่ายยาออกจากกัน ต้องแก้กฎหมายว่าด้วยยาให้ชัดเจน แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมเรื่องการแบ่งประเภทยาของไทยซึ่งมียาที่เภสัชกรสามารถจ่ายหรือขายยาได้เองโดยไม่ต้องมีใบสั่งยา