วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ทันตแพทย์กับการโฆษณายาสีฟัน

 ปรุฬห์ รุจนธำรงค์


การโฆษณายาสีฟันซึ่งในประเทศไทยจัดเป็นเครื่องสำอาง ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 แต่การโฆษณาเครื่องสำอางให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งไม่ได้กำหนดให้ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณา และก็ไม่ได้ห้ามผู้ประกอบวิชาชีพมาโฆษณา แต่ผู้ประกอบวิชาชีพที่จะมาโฆษณาต้องคำนึงถึงจรรยาบรรณการประกอบวิชาชีพของตนเองด้วย


กรณีทันตแพทย์ ข้อบังคับทันตแพทยสภาว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2538 ข้อ 29 กำหนดไว้ว่า "ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมต้องไม่โฆษณา ใช้ จ้าง หรือยินยอมให้ผู้อื่นเอาตน หรือชื่อของตนไปโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางทันตกรรมต่อประชาชนทางสื่อต่าง ๆ" ซึ่งข้อบังคับนี้ใช้กับผลิตภัณฑ์ตามกฎหมายทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ทันตแพทย์จึงหลีกเลี่ยงการโฆษณายาสีฟัน และอาจรวมถึงกรณีผลิตภัณฑ์อื่นซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางทันตกรรม เช่น น้ำยาบ้วนปาก แปรงสีฟัน แปรงสีฟันไฟฟ้า ยาเม็ดฟลูออไรด์ อุปกรณ์ทำฟันหรือจัดฟัน ลวดดัดฟัน ครีมติดฟันปลอม

ในทางปฏิบัติก็หลบไปใช้ทันตแพทย์จากต่างประเทศแทน เพราะถ้าไม่ใช่ทันตแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตเมืองไทยก็พิจารณาคดีจรรยาบรรณ วิชาชีพของไทยไม่ได้ หรือถ้าเป็นคนไทยเคยได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในเมืองไทย แต่ตอนนี้เขาไปทำงานตั้งรกรากต่างประเทศแล้ว ก็ไม่สนใจอะไร จะถูกพิจารณาคดีจรรยาบรรณอย่างไรก็ไม่สำคัญกับเขา ขณะเดียวกันก็เลี่ยงไปใช้คำว่า "ผู้เชี่ยวชาญทางด้านทันตกรรม" แทน ซึ่งก็เกิดปัญหาอีกว่าจะเป็นทันตแพทย์หรือไม่ หรือเชี่ยวชาญจริงหรือไม่ (เพราะถ้าไม่เชี่ยวชาญจริงก็ถือว่าเป็นการหลอกลวงได้เช่นกัน) 



เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโฆษณาความรู้ความสามารถของตน สถานที่ประกอบธุรกิจของตนหรือสถานที่ตนปฏิบัติงาน ทำได้หรือไม่