แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ความรู้ภาษีเบื้องต้นสำหรับร้านยา


ความรู้ภาษีเบื้องต้นสำหรับร้านยา
ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

          รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับบัญญัติให้บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่จะเสียภาษีอย่างไร เสียจำนวนเท่าใดนั้น ก็ต้องรู้เบื้องต้นว่าภาษีที่เสียนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งก็จะทำให้ช่วยกำหนดทิศทางของการประกอบกิจการได้ ช่วยทำให้เสียภาษีอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายได้กำหนดแนวทางไว้ให้ ไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทำให้เกิดค่าใช้จ่ายของการประกอบกิจการโดยไม่จำเป็น และยังเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของผู้ประกอบการด้วย
          ภาษีที่จะกล่าวถึงในที่นี้ ประกอบด้วย ภาษีเงินได้  ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ และอื่น ๆ ดังนี้

1. ภาษีเงินได้
          ภาษีนี้จะจัดเก็บจากผู้มีเงินได้ ซึ่งมีทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนร้านขายยาจะต้องเสียภาษีรูปแบบใดนั้น อาจพิจารณาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นขอรับใบอนุญาตขายยาขอในนามบุคคลธรรมดาหรือขอในนามนิติบุคคลซึ่งก็จะมีผลต่อการคิดภาษีเงินได้ตามมาด้วย 
          สมมติว่าร้านยามีรายได้จากการขายสินค้าในร้านเพียงอย่างเดียว (เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8)) ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ถึงร้อยละ 80 หากร้านยาเป็นบุคคลธรรมดาจะคิดภาษีตามเงินได้สุทธิ ส่วนร้านยาที่เป็นนิติบุคคลจะคิดภาษีตามกำไรสุทธิ ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการวางแผนภาษีซึ่งทำให้จำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีลดลงได้จะไม่กล่าวรายละเอียดในที่นี้ ตัวอย่างการเสียภาษีเงินได้โดยประมาณ ตามตารางที่ 1 โดยมีรอบการยื่นภาษีและแบบยื่นภาษี ตามตารางที่ 2     

ตารางที่ 1 ยอดขายต่อปีและอัตราภาษีที่ต้องจ่าย
รายการ
ร้านยาบุคคลธรรมดา[1]
ร้านยานิติบุคคล[2]
ยอดขายต่อปี 1,500,000 บาท
เสียภาษี 7,500 บาท[3]
(1) ถ้ากำไรสุทธิไม่เกิน 3 แสนบาท ไม่เสียภาษี
(2) ถ้ากำไรสุทธิ 4 แสนบาท เสียภาษี 10,000 บาท
(3) ถ้ากำไรสุทธิ 5 แสนบาท เสียภาษี 20,000 บาท
ยอดขายต่อปี 2,000,000 บาท
เสียภาษี 14,500 บาท
ยอดขายต่อปี 3,000,000 บาท
เสียภาษี 38,000 บาท
          จากตารางที่ 1 หากร้านยาขาดทุนหรือมีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท ร้านยาที่เป็นนิติบุคคลจะได้เปรียบเนื่องจากไม่ต้องเสียภาษี และสามารถนำผลการขาดทุนภายใน 5 ปีมาหักค่าใช้จ่ายภาษีได้ ส่วนร้านยาบุคคลธรรมดายังต้องเสียภาษี 7,500 บาท แต่การเลือกเป็นร้านยานิติบุคคลก็อาจมีภาระเรื่องบัญชีตามประมวลรัษฎากร เช่น การทำบัญชีงบดุล บัญชีทำการ บัญชีกำไรขาดทุน[4] และการทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการทำบัญชีด้วย

          สำหรับการทำบัญชีของร้านยาบุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (5) (6) (7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร จัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่ายเป็นประจำวัน ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 161) เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่าย ดังรูปที่ 1 ซึ่งเป็นบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่ายเป็นประจำวัน
          รูปที่ 1 จัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่ายเป็นประจำวัน ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 161) เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่าย

ตารางที่ 2 รอบการยื่นภาษีและแบบยื่นภาษี   
ประเภท
ภาษีครึ่งปี
ภาษีเงินได้ประจำปี
ร้านยาบุคคลธรรมดา[5]
ภ.ง.ด.94
กรกฎาคม - กันยายน ของปีภาษีนั้น
ภ.ง.ด.90
มกราคม - มีนาคม ของปีภาษีถัดไป
ร้านยานิติบุคคล[6]
ภ.ง.ด.51
ภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของทุก 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
ภ.ง.ด.50
ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
         
2. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
          ภาษีชนิดนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการจ่ายเงินได้ และกฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่หักเงินไว้จำนวนหนึ่งแล้วนำส่งภาษีนั้นแก่รัฐ อัตราภาษีที่ต้องหักขึ้นกับว่าผู้รับเงินนั้นคือใคร (หรือจ่ายเงินให้กับใคร) และเงินที่จ่ายนั้นเป็นค่าอะไร ถ้ากฎหมายไม่กำหนดให้หัก ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายเงินได้ก็ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งมีรายการจำนวนมาก (โปรดดูข้อมูลจากเว็บไซต์กรมสรรพากร) โดยมีตัวอย่างกรณีที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามตารางที่ 3
          เมื่อมีการหักเงิน ณ ที่จ่าย ก็จะมี “หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย” เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการเสียภาษี ลดภาระการเสียภาษีตอนสิ้นปี ตลอดจนสามารถขอคืนภาษีได้
 
ตารางที่ 3 ตัวอย่างกรณีที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย[7]
กรณีที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
ผู้จ่ายเงิน
ที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย
ผู้ถูกหักภาษี[8]
แบบรายการ
อัตราการหักภาษี ณ ที่จ่าย
การจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้าง
ผู้จ่ายเงินทุกราย
บุคคลธรรมดา
ภ.ง.ด.1
คำนวณจากเงินได้พึงประเมินที่คาดว่าได้รับทั้งปี หักด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน เหลือเป็นเงินได้สุทธิ และนำไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะได้ภาษีที่ต้องชำระทั้งปี หารด้วยจำนวนครั้งที่จ่าย จะได้จำนวนภาษีที่ต้องหักแต่ละครั้ง
จ้างผู้สอบบัญชี
บริษัท
ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
นิติบุคคลอื่น
บุคคลธรรมดา
ภ.ง.ด.3
3%
นิติบุคคล
ภ.ง.ด.53
3%
ค่าเช่าอาคาร
บริษัท
ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
นิติบุคคลอื่น
บุคคลธรรมดา
ภ.ง.ด.3
5%
บริษัท
ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ภ.ง.ด.53
5%
มูลนิธิ สมาคม ที่ประกอบการซึ่งมีรายได้ แต่ไม่ใช่มูลนิธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 47(7)
ภ.ง.ด.53
5%
จ้างทำของ
การรับเหมาที่ลงทุนจัดหาสัมภาระเอง
บริษัท
ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
นิติบุคคลอื่น
บุคคลธรรมดา
ภ.ง.ด.3
3%
บริษัท
ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ที่ตั้งขั้นตามกฎหมายไทย
ภ.ง.ด.53
3%

ค่าโฆษณา
บริษัท
ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
นิติบุคคลอื่น
บุคคลธรรมดา
ภ.ง.ด.3
2%
นิติบุคคล
ภ.ง.ด.53
2%
ค่าขนส่งที่มิใช่ขนส่งสาธารณะ
บริษัท
ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
นิติบุคคลอื่น
บุคคลธรรมดา
ภ.ง.ด.3
1%
นิติบุคคล
ภ.ง.ด.53
1%
          ทั้งนี้ ให้นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภายในวันที่ 1-7 ของเดือนถัดไปจากเดือนที่จ่ายเงินได้[9] ส่วนกรณีเมื่อสิ้นปีภาษี ถ้าเป็น ภ.ง.ด.1 ยื่นแบบสรุป ภ.ง.ด.1 ก ภายในกุมภาพันธ์ปีถัดไป ถ้าเป็น ภ.ง.ด.3 ยื่นแบบสรุป ภ.ง.ด.3 ก ภายในเดือนมกราคมปีถัดไป
         
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
          ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value added tax หรือ VAT) เป็นภาษีที่เก็บจากผู้ขายสินค้าในประเทศ การให้บริการในประเทศ และการ นำเข้าสินค้า ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพเป็นปกติธุระ ไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดา คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือนิติบุคคลใด ๆ หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยคำนวณภาษีที่ต้องเสียจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี[10]
          หากมีรายได้ 1,800,000 บาท จะถูกบังคับให้เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม[11] หรือถ้าไม่ถึงแต่จะเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้[12] ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มใช้อัตรา 7%
          ปัจจุบัน การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม[13] การให้บริการการประกอบโรคศิลปะ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม[14] การขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุง รักษา ป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์ ก็ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม[15] แต่การให้บริการของร้านยา  การขายยาสำหรับมนุษย์ ยังไม่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
          สิ่งที่จะตามมาเมื่อเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น
                    - การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
                    - ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังต่อไปนี้ คือ (1) รายงานภาษีขาย (2) รายงานภาษีซื้อ (3) รายงานสินค้าและวัตถุดิบ เฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายสินค้า[16]
                    - ต้องจัดทำใบกำกับภาษี และสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการทุกครั้ง และต้องจัดทำทันทีที่ความรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น[17]
                   - ส่งมอบใบกำกับภาษีให้ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ กรณีการขายปลีกหรือประกอบกิจการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้[18]
                   - ใบกำกับภาษีจะต้องเป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด มิฉะนั้นจะไม่สามารถนำไปหักภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้[19] ตรงนี้จะมีระบบคอมพิวเตอร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการพิมพ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น “ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี” ตามมาตรา 86/4 (2) แห่งประมวลรัษฎากร มิได้ตีพิมพ์จากโรงพิมพ์ รายการตามมาตรา 86/4 ของใบกำกับภาษีจะต้องจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด จึงจะนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายได้ หากรายการใดรายการหนึ่งมิได้จัดทำโดยระบบคอมพิวเตอร์ ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามข้อ 2(5)(12) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535[20]
                    - ผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มห้ามออกใบกำกับภาษี[21] เพราะจะมีบางกิจกรรมที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนหรือต้องการให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยจูงใจให้ผู้ซื้อใช้ใบกำกับภาษีจากผู้ประกอบการมาเป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษี เช่น ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
                    - เก็บและรักษารายงานใบกำกับภาษี สำเนาใบกำกับภาษี เอกสารประกอบการลงรายงาน ตลอดจนเอกสารอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือวันทำรายงาน[22]
                   - การยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม
                             ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
                             ส่วน ภ.พ.36 ใช้สำหรับผู้จ่ายเงินซึ่งจ่ายเงินซื้อค่าสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ (ก) ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว (ข) ผู้ประกอบการที่ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร (ค) ผู้ประอบการอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา (ปัจจุบันยังไม่กำหนด) โดยนำส่งเงินภาษีภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินให้ผู้ประกอบการ
                    - ถ้าภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย สามารถขอคืนภาษีได้หรือเก็บไว้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไป (หักกลบในเดือนต่อไปได้) แต่ถ้าภาษีซื้อน้อยกว่าภาษีขายก็ต้องเสียภาษีให้กรมสรรพากรเท่ากับส่วนต่าง[23]

4. ภาษีป้าย
          ภาษีป้าย เป็นภาษีที่เก็บจากป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้าหรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะได้แสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใด ๆ ด้วยอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึกหรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น[24]
          ภาษีป้ายจะติดตามขนาดของป้าย ขั้นต่ำของแต่ละป้ายเริ่มต้นที่ 200 บาท จะคิดอัตราภาษีทุก 500 ตารางเซนติเมตร ถ้ามีเศษเกินกึ่งหนึ่งของ 500 ตารางเซนติเมตร ให้นับเป็น 500 ตารางเซนติเมตร ถ้าไม่เกินกึ่งหนึ่ง ให้ปัดทิ้ง
                    (1) ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน ให้คิดอัตรา 3 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
                   (2) ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศและหรือปนกับภาพ และหรือเครื่องหมายอื่นให้คิดอัตรา 20 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
                    (3) ป้ายดังต่อไปนี้ให้คิดอัตรา 40 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
                             (ก) ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่
                             (ข) ป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
          การออกแบบป้ายร้าน การติดตั้งป้ายสินค้าหรือบริการตลอดจนป้ายต่าง ๆ ทั้งภายนอกร้าน ตลอดจนภายในร้านมีความสำคัญต่อการคิดภาษีป้ายด้วย ตัวอย่างเช่น
                    - ป้ายชื่อร้านต้องคิดภาษีป้าย
                    - ป้ายโฆษณาก็คิดภาษีป้ายได้
                    - ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่มีลักษณะทั่วไป ก็ถือเป็นป้ายที่ต้องเสียภาษี เคยมีกรณีป้ายระบุว่า “สำนักงานแพทย์ สิว ฝ้า โรคผิวหนัง และโรคทั่วไป”[25] ถ้าหากเป็นกรณีของร้านยา ป้ายที่ระบุว่า “ขายยาโดยเภสัชกร” ก็อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีป้ายเช่นกัน
                    - ข้อความภาษาไทย หรือภาษาต่างประเทศ ตำแหน่งของข้อความภาษาไทยอยู่ตรงไหนของป้ายเมื่อเทียบกับข้อความภาษาต่างประเทศ[26]
                    - ป้ายติดในร้าน แต่บุคคลภายนอกร้านมองเห็น ก็คิดภาษีป้าย[27]
                    - ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นหรือภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐาน ทั้งนี้ เพื่อหารายได้ ถ้าแต่ละป้ายไม่เกิน 3 ตารางเมตรไม่คิดภาษีป้าย[28]
                    - ป้ายหน้าร้านมองเห็นได้ทั้ง 2 ด้าน ก็คิดราคาเท่ากับมีป้ายนั้น 2 ป้าย[29]
                    - ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถหาตัวเจ้าของป้ายได้ ให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายนั้นเป็นผู้เสียภาษีป้าย[30]
          การชำระภาษีป้าย โปรดติดต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของท่านที่ป้ายนั้นตั้งอยู่ โดยชำระภาษีป้ายภายในเดือนมีนาคมของทุกปี[31] กรณีเจ้าของป้ายติดตั้งหรือแสดงป้ายอันต้องเสียภาษีภายหลังเดือนมีนาคม ติดตั้งหรือแสดงป้ายใหม่แทนป้ายเดิมและมีพื้นที่ ข้อความ ภาพ และเครื่องหมายอย่างเดียวกับป้ายเดิมที่ได้เสียภาษีป้ายแล้ว หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขพื้นที่ป้าย ข้อความ ภาพ หรือเครื่องหมายบางส่วนในป้ายที่ได้เสียภาษีป้ายแล้ว อันเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของป้ายยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ติดตั้งหรือแสดงป้าย หรือนับแต่วันเปลี่ยนแปลง แก้ไขข้อความ ภาพ หรือเครื่องหมายในป้ายเดิม แล้วแต่กรณี[32]

5. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่
           ภาษีโรงเรือนและที่ดิน กรณีที่มีโรงเรือน อาคาร ที่ดิน และมีรายได้จากการให้เช่า ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในอัตราร้อยละ 12.5 ของค่ารายปี (“ค่ารายปี” หมายความว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ)[33] ตามแบบ ภ.ร.ด. 2 โดยชำระที่สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี[34]
          ภาษีบำรุงท้องที่ เป็นภาษีที่เก็บจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นบุคคลหรือคณะบุคคลไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือครอบครองอยู่ในที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน โดยที่ดินในที่นี้ หมายความว่า พื้นที่ดิน และให้หมายความรวมถึงพื้นที่ที่เป็นภูเขาหรือที่มีน้ำด้วย การเสียภาษีบำรุงท้องที่จะยื่นแบบ ภ.บ.ท.5 ภายในเดือนมกราคมของปีแรกที่มีการตีราคาปานกลาง แบบแสดงรายการนี้ให้ใช้ได้ทุกปีในรอบระยะเวลา 4 ปี และผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่จะต้องชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในเดือนเมษายนของทุกปี โดยชำระที่สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่[35]
          ในขณะนี้มีร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... ซึ่งจะยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 ซึ่งจะมีการกำหนดอัตราภาษีตามลักษณะการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยเก็บตามลักษณะการใช้ประโยชน์จริง เช่น อาคาร 2 ชั้น ชั้นบนเป็นที่พักอาศัย ส่วนชั้นล่างเป็นร้านค้า จะคิดอัตราภาษีแยกกัน รายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้จะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป

6. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
          ภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 ใช้เฉพาะกับบางธุรกิจเท่านั้น ซึ่งเป็นธุรกิจการธนาคาร การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ การรับประกันชีวิต การรับจำนำ การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร การขายหลักทรัพย์ ตลอดจนการประกอบกิจการอื่นตามที่กำหนด โดยใช้แบบ ภ.ธ.40 ในการยื่นภาษีภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ทีสถานประกอบการนั้นตั้งอยู่ กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรให้ยื่น ภ.ธ.40 พร้อมกับชำระภาษีในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้น   
          โดยหลักแล้วร้านยาจะไม่อยู่ในธุรกิจชนิดนี้ จึงไม่มีภาษีธุรกิจเฉพาะ เว้นเสียแต่ว่าเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงิน ก็อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะได้

7. อากรแสตมป์
                อากรแสตมป์ เป็นภาษีที่เก็บจากการทำตราสาร ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ตามประมวลรัษฎากร ปัจจุบันมี 28 ลักษณะ บัญชีอัตราอากรแสตมป์จะระบุถึงลักษณะแห่งตราสาร ค่าอากรแสตมป์ ผู้ที่ต้องเสียภาษีอากร ผู้ที่ต้องขีดข่าแสตมป์
                    ตัวอย่าง การเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น เสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาท ทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท แห่งค่าเช่าหรือเงินกินเปล่า หรือทั้งสองอย่างรวมกันตลอดอายุการเช่า โดยผู้ให้เช่าเป็นผู้ที่ต้องเสียภาษีอากร ผู้เช่าเป็นผู้ที่ต้องขีดฆ่าแสตมป์
          ความสำคัญของอากรแสตมป์อยู่ตรงที่ ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ และขีดฆ่าแล้ว ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 แต่ทั้งนี้ ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรตามประมวลรัษฎากรมาตรา 113 และมาตรา 114

8. ภาษีอื่น ๆ
          ภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้า (สิ่งซึ่งผลิตหรือนำเข้าและระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต) และบริการ (การให้บริการในทางธุรกิจในสถานบริการตามที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เช่น การประกอบกิจการในด้านบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ ในสถานบริการเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ เช่น สถานมหรสพ สถานที่ฉายภาพยนตร์ ไนท์คลับ คาบาเรต์ ดิสโกเธค เป็นต้น)
          ภาษีศุลกากร เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากสิ่งของที่นำเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
          ร้านยาโดยปกติแล้วแล้วไม่ได้อยู่ในฐานะผลิต นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งออกสินค้าไปนอกราชอาณาจักร จึงไม่ขอกล่าวถึงภาษีทั้งคู่ในที่นี้

เอกสารอ้างอิง
ประมวลรัษฎากร
พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510
พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475
กรมสรรพากร. ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไร และเมื่อใด? สืบค้นจาก http://www.rd.go.th/publish/558.0.html (ปรับปรุงล่าสุด 9 พฤษภาคม 2559)
กรมสรรพากร. ภาษีเงินได้นิติบุคคล: การยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี. สืบค้นจาก http://www.rd.go.th/publish/840.0.html (ปรับปรุงล่าสุด 10 พฤษภาคม 2559)
กรมสรรพากร. สรุปภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย: ผู้รับเงินได้. สืบค้นจาก http://www.rd.go.th/publish/38062.0.html (ปรับปรุงล่าสุด 16 พฤษภาคม 2559)
กรมสรรพากร. ประเภทภาษี. สืบค้นจาก http://www.rd.go.th/publish/38055.0.html (ปรับปรุงล่าสุด 16 พฤษภาคม 2559)
ไทยพับลิก้า. จากร้านทองถึงร้านขายยา สรรพากรแจ้ง 20,000 ราย เข้าระบบTax e-Payment เครื่องมือตรวจเส้นทางการเงินผู้เสียภาษี. สืบค้นจาก http://thaipublica.org/2016/07/tax-e-payment-3/ (1 กรกฎาคม 2559)


[1] จำนวนภาษีเปลี่ยนแปลงได้ตามนโยบายของรัฐบาล เช่น จำนวนค่าใช้จ่ายที่สามารถหักได้ จำนวนส่วนลดหย่อน ตลอดจนโครงสร้างอัตราภาษี ในปี พ.ศ.2560 ก็ต้องคิดใหม่เนื่องจากมีการเพิ่มค่าใช้จ่ายที่สามารถหักได้ และเพิ่มค่าลดหย่อนส่วนตัว
[2] อัตรานี้คำนวณโดยใช้อัตราภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 603) พ.ศ. 2559 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 21 เมษายน พ.ศ.2559) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท และใช้เฉพาะรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 31 ธันวาคม พ.ศ.2559
[3] วิธีคิดนี้มาจากการนำยอดขาย หักด้วยค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 80 หักค่าลดหย่อนส่วนบุคคล เงินได้สุทธิที่เหลือนำไปคิดภาษี (ดู “จากร้านทองถึงร้านขายยา สรรพากรแจ้ง 20,000 ราย เข้าระบบ Tax e-Payment เครื่องมือตรวจเส้นทางการเงินผู้เสียภาษี”)
[4] ประมวลรัษฎากร มาตรา 68 ทวิ
[5] กรมสรรพากร, ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไร และเมื่อใด?, สืบค้นจาก http://www.rd.go.th/publish/558.0.html
[6] กรมสรรพากร, ภาษีเงินได้นิติบุคคล: การยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี, สืบค้นจาก http://www.rd.go.th/publish/840.0.html
[7] กรมสรรพากร, สรุปภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย: ผู้รับเงินได้, สืบค้นจาก http://www.rd.go.th/publish/38062.0.html
[8] บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ในที่นี้หมายถึง ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามลำดับ
[9] ประมวลรัษฎากร มาตรา 52 ประกอบประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ (ประกาศ ณ วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2544)
[10] กรมสรรพากร, ประเภทภาษี, สืบค้นจาก http://www.rd.go.th/publish/38055.0.html
[11] ประมวลรัษฎากร มาตรา 81/1 ประกอบพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548
[12] ประมวลรัษฎากร มาตรา 81/3
[13] ประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1)(ญ)
[14] ประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1)(ฌ)
[15] ประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1)(จ)
[16] ประมวลรัษฎากร มาตรา 87
[17] ประมวลรัษฎากร มาตรา 86
[18] ประมวลรัษฎากร มาตรา 86/6
[19] ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
[20] หนังสือข้อหารือภาษีอากร กค 0811/พ.6195 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2543
[21] ประมวลรัษฎากร มาตรา 86/13
[22] ประมวลรัษฎากร มาตรา 87/3
[23] ประมวลรัษฎากร มาตรา 82/3
[24] พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510
[25] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 995/2531
[26] “ป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ" ย่อมแสดงให้เห็นว่าป้ายที่แม้มีเพียงบางส่วนของอักษรไทยอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศก็ถือเป็นป้ายตามบัญชีอัตราภาษีป้าย (3) (ข) โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีอักษรไทยอยู่ที่ส่วนใดของป้ายอีกหรือไม่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18437/2555)
[27] ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้ายเฉพาะป้ายที่แสดงไว้ภายในสถานที่ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือภายในอาคารอันเป็นที่รโหฐานเท่านั้นกล่าวคือต้องเป็นป้ายที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกของสถานที่ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือจากภายนอกอาคาร (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 82/2539)
[28] พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 8(5) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510
[29] ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2519
[30] พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 18
[31] พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 12
[32] พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 14
[33] พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 8
[34] พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 19
[35] พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 มาตรา 35