ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
กัญชงหรือเฮมพ์ (hemp) เป็นชนิดย่อย (ซับสปีชีส์, subspecies) ของกัญชา เนื่องจากกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จึงส่งผลให้กัญชงหรือเฮมพ์ซึ่งเป็นชนิดย่อยของกัญชาก็กลายเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไปด้วย แต่กัญชงก็มีประโยชน์ตรงที่เส้นใยมีความเหนียวสามารถนำมาทำเป็นสิ่งทอได้ จึงเป็นช่องทางที่จะผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจได้ และเพื่อเป็นการสนับสนุนงานโครงการหลวงด้วย
ต่อมาก็ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 12) ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ได้กำหนดเพิ่มเติมเงื่อนไขของพืชกัญชาซึ่งได้รับการยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง และผลิตภัณฑ์จากเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง ไม่ให้เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งก็เป็นการเปิดช่องให้กับการใช้ประโยชน์จากเส้นใยของกัญชง (ซึ่งกัญชงเป็นชนิดย่อยของกัญชาตามที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นแล้ว)
เนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง ไม่ให้เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 นั่นหมายความว่า หากเป็นเปลือกสด แกนลำต้นสด เส้นใยสด ก็ยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อยู่ ซึ่งหากมีการปลูกเพื่อเพิ่มจำนวนซึ่งถือว่าเป็นการผลิต มีการจำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ก็ถือว่าฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 ด้วย แต่กฎหมายก็เปิดช่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเป็นราย ๆ ไปได้ โดยการขออนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้น สิ่งที่ยังขาดในขั้นตอนนี้ คือ ร่างกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตและควบคุมการปลูกพืชกัญชง (เฮมพ์) ซึ่งเดิมเคยมีแผนกำหนดให้แล้วเสร็จและเสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 แต่ก็ยังไม่ได้เป็นไปตามเป้าแต่อย่างใด จนกระทั่งเกิดรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2557 แล้วมีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีใหม่อีกครั้ง
ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2557 เรื่อง
ร่างกฎกระทรวงขออนุญาตและการออกใบอนุญาตเฮมพ์ (Hemp) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงขออนุญาตและการออกใบอนุญาตเฮมพ์
(Hemp) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
กระทรวงสาธารณสุข เสนอว่า
1.
เฮมพ์เป็นชนิดย่อยของกัญชา จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยมีสารสำคัญ คือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol,THC) ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง
และมีลักษณะทางกายภาพคล้ายกับกัญชามากจนยากในการจำแนก
ขณะเดียวกันเฮมพ์เป็นพืชที่สามารถนำมาแปรรูปและใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ
เช่น สิ่งทอ กระดาษ ผลินภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยมีการปลูกเฮมพ์เพื่อนำเส้นใยมาใช้ในการทอผ้าเพื่อเป็นเครื่องนุ่งห่ม
และปัจจุบันมีการสนับสนุนให้มีการศึกษาและส่งเสริมให้ปลูกเฮมพ์เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน
และอนาคตจะส่งเสริมให้ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจและนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น
2.
เดิมการขออนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
เฮมพ์ต้องดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2522)
ออกตามความในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่เนื่องจากกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการขออนุญาต
การออกใบอนุญาต การควบคุม และการกำกับดูแลการปลูกเฮมพ์เป็นการเฉพาะ ดังนั้น
เพื่อให้สามารถส่งเสริมการปลูกเฮมพ์
เป็นพืชเศรษฐกิจได้ภายใต้การควบคุมและกำกับดูแลการดำเนินการที่เข้มงวดรัดกุม
มิให้มีการรั่วไหลไปใช้ในทางที่ผิด
จึงจำเป็นต้องดำเนินการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การควบคุม
และการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวกับเฮมพ์เป็นการเฉพาะ
ซึ่งร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1.
กำหนดวัตถุประสงค์ในการขอรับใบอนุญาตผลิต จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งเฮมพ์
และคุณสมบัติของผู้รับในอนุญาต
2.
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตการเพิกถอนใบอนุญาต
และอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการควบคุม
กำกับดูแลการดำเนินการของผู้ได้รับอนุญาต
ตลอดจนการสั่งอายัดหรือห้ามเคลื่อนย้ายเฮมพ์
3.
กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องปฏิบัติในการผลิตจำหน่าย
และการเก็บรักษาเฮมพ์ การตรวจวิเคราะห์หาปริมาณเตตราไฮโดรแคนนาบินอล
4.
กำหนดบทเฉพาะกาลให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตจำหน่าย
หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งเฮมพ์ตามกฎกระทรวงนี้ เป็นระยะเวลา 3
ปีนับจากวันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้
และให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษพิจารณาความเหมาะสมในการอนุญาตให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอื่นมายื่นขอรับในอนุญาต
หากพิจารณาแล้วยังไม่อนุญาตให้เสนอรัฐมนตรีหรือพิจารณาขยายระยะเวลาของบทเฉพาะกาลนี้ไปอีก
2 ปี
5.
กำหนดบทเฉพาะกาลให้ในระหว่างที่ยังไม่สามารถจัดหาเมล็ดพันธุ์รับรองตามกฎหมายว่าด้วยพันธุ์พืช
ให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการจดทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืช
และมีผลการตรวจวิเคราะห์แสดงปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล
ไม่เกินปริมาณตามที่กำหนด
6.
กำหนดบทเฉพาะกาลให้ใบอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งเฮมพ์ที่ออกให้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
ให้คงใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าใบอนุญาตนั้นสิ้นอายุ
หลังจากนั้น รอประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป หากมีความคืบหน้าประการใดจะแจ้งในที่นี่