วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทบทวนข่าวผลิตภัณฑ์ Adoxy (เอโดซี) รอบปี พ.ศ. 2550 – 2553

เอโดซี (Adoxy) ตามข้อมูลที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตาม พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ผลิตภัณฑ์นี้เป็นผลิตภัณฑ์จากจมูกข้าวสาลีผง (Wheat germ powder) โปรตีนสกัดจากถั่วเหลือง (Isolate soy protein) สารสกัดจากแครอท (Carrot extract) ผงมะละกอ (Papaya powder) สารสกัดจากงาดำ (Black sesame extract) สารสกัดจากผักชี (parsley extract) ผงผักโขม (spinach powder) และสารสกัดจากถั่วขาว (navy bean extract) บรรจุในขวดพลาสติก-พีอี-สีขาว น้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 15-1000 มิลลิลิตร เลขสารบบอาหารที่ 10-1-30547-1-0037 ผู้ผลิต คือ บริษัทสยามไบโอเทคและอุตสาหกรรมเภสัช จำกัด

จุดขายของผลิตภัณฑ์นี้ มีความเชื่อว่ามีคุณสมบัติในการช่วยย่อยสารอาหาร การเพิ่มออกซิเจนในเลือด ขจัดสารพิษ ให้พลังงานแก่เซลล์ ฟื้นฟูพลังงาน ช่วยระบบขับถ่าย


ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เอโดซี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 – 2553 มีดังนี้

16 มีนาคม 2550
นักมวยชื่อดังสนใจทำธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชนิดนี้

25 เมษายน 2550
ผลิตภัณฑ์นี้ได้เข้ามาจำหน่ายในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจเป็นขายตรง

16 ตุลาคม 2550
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้แถลงข่าวการเปรียบเทียบปรับบริษัทผู้ฝ่าฝืนเรื่องการโฆษณาตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 40, 41 ประเด็นที่ฝ่าฝืนกฎหมายมีดังนี้

1. การโฆษณาฝ่าฝืนตามมาตรา 40 เป็นการหลอกลวงและโฆษณาเกินจริง
(1) การโฆษณาว่าเป็นน้ำออกซิเจน ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีการนำน้ำออกซิเจนมาเป็นส่วนผสมเลย
(2) การโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคเรื้อรังได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทั้งที่ไม่ได้เป็นยารักษาโรคตามที่กล่าวอ้าง
(3) ในทางการแพทย์ไม่มีการนำออกซิเจนไปให้เซลล์โดยการผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ ไม่มีสารอาหารใดสามารถนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายคนได้ และสารอาหารไม่สามารถนำออกซิเจนกระจายไปยังเซลล์ต่าง ๆ ได้ วิธีเดียวที่ออกซิเจนจะไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้นั้น จะต้องเป็นการหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปโดยกระบวนการหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไป เม็ดเลือดแดงจะจับออกซิเจนไปแลกเปลี่ยนที่ปอดแลวไปตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย

2. การโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 41 เนื่องจากมีการทำสื่อเผยแพร่ และการโฆษณาผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาในขณะนั้น (นพ.ศิริวัฒน์ ทิพยะราดล) ยังกล่าวด้วยว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าสามารถทำให้สุขภาพดีขึ้น สำหรับเลขสารบบอาหารที่ 10-1-30547-1-0037 ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาออกให้นั้น เป็นเพียงการประเมินในเรื่องคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของสารอาหารที่เป็นส่วนผสมว่าปลอดภัย สถานที่ผลิตมีระบบการผลิตที่ดีเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงการอนุญาตโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร เนื่องจากเป็นเพียงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เบื้องต้นยังไม่พบว่ามีสารอื่นที่ส่งผลร้ายต่อร่างกาย ข่าวยังแจ้งต่อไปอีกว่าผลิตภัณฑ์นี้ราคาสมาชิก 950 บาท และราคาขายปลีก 1,250 บาท ขนาดบรรจุ 15 มิลลิกรัม

13 มีนาคม 2551
นายไพโรจน์ รื่นวิชา รองประธานบริษัทวินเนอร์ ไวน์เวิร์ล กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์เอโดซีเริ่มต้นผลิตที่สหรัฐอเมริกา มีแพทย์หลายคนแนะนำให้รู้จักเพราะใช้แล้วได้ผล ผลิตภัณฑ์นี้อยู่ในตลาดตั้งแต่เมษายน 2549

15 กุมภาพันธ์ 2553
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เอโดซี (Adoxy) ว่ามีการอวดอ้างสรรพคุณโฆษณาเกินจริง มีการโฆษณาแพร่หลายทั้งในรูปแบบแผ่นพับ โฆษณาผ่านทีวีเคเบิล ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยระบุว่าสามารถรักษาได้หลายโรคทั้งเบาหวาน มะเร็ง หัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคอื่น ๆ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ระงับการโฆษณาแล้ว ส่วนการระบุเครื่องหมายรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นการรับรองเฉพาะส่วนประกอบและสถานที่ผลิตเท่านั้น ไม่ได้รับรองสรรพคุณที่มีการอวดอ้าง ผลิตภัณฑ์นี้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้องมีการระบุข้างขวดว่า “ไม่มีผลต่อการรักษา” แต่ไม่ปรากฏว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่พบข้อความดังกล่าวแต่อย่างใด

19 เมษายน 2553
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำหนังสือแจ้งมายังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อให้แจ้งไปยังวัดและพระสงฆ์ทราบข้อปฏิบัติในการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ และคุณภาพอาหารและยาตามสื่อต่าง ๆ ว่าการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ และคุณภาพอาหาร ต้องได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 และห้ามโฆษณามีลักษณะเป็นเท็จ ทำให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ตามมาตรา 41

6 มิถุนายน 2553
นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ามีผู้ร้องเรียนมาที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งการตรวจสอบของ อย. เอง พบว่ามีผลิตภัณฑ์ที่ยังคงฝ่าฝืนลักลอบโฆษณาทางเคเบิลทีวีอยู่ ได้แก่
1. ผลิตภัณฑ์ “จิ่วเจิ้งปู่เซินเจียวหนัง” อวดอ้างสรรพคุณฟื้นฟูตับไต ลดอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ แก้ปวดเมื่อย
2. ผลิตภัณฑ์ “ชาขาว White Nature” อวดอ้างสรรพคุณเหมือนอินซูลินตามธรรมชาติ ทำให้ผนังเส้นเลือดไม่ตีบ ระบบการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น
3. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “Majic Iris”อวดอ้างสรรพคุณฟื้นฟูกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศชาย ขับนิ่ว บำรุงไต ลดภาวะต่อมลูกหมากโต
4. ผลิตภัณฑ์ “Adoxy” อวดอ้างสรรพคุณเหมาะกับผู้มีปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นแผลเบาหวาน แผลติดเชื้อ แผลที่เกิดจากโรคมะเร็ง
5. ยาน้ำสมุนไพร “หลง หลง” อวดอ้างสรรพคุณบรรเทาอาการปวดเมื่อย ปวดประจำเดือน ไมเกรน เกาต์

24 มีนาคม 2554
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โฆษณาประกาศเตือนอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพอ้างรักษาสารพัดโรคร้าย ระวัง! อันตรายที่แฝงมา โดยมีภาพผลิตภัณฑ์เอโดซี (Adoxy) อยู่ในหน้าประกาศด้วย



สรุปข่าวผลิตภัณฑ์เอโดซี (Adoxy)
1. ผลิตภัณฑ์เอโดซี (Adoxy) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ไม่ใช่การขึ้นทะเบียนเป็นยา จึงไม่มีสิทธิอวดอ้างสรรพคุณในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค
2. ยังไม่พบข่าวของผลิตภัณฑ์มีปัญหาในกระบวนการผลิต หรือมีสารที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
3. ผลิตภัณฑ์นี้มีปัญหาเรื่องการโฆษณา เช่น การโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. การโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อน ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 41 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
5. ข้อสังเกตเกี่ยวกับพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 การโฆษณาอันเป็นเท็จ หรือโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ว่าจะเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ไม่สามารถเพิกถอนใบอนุญาตผลิตหรือนำเข้าอาหารได้ ทำได้แต่พักใช้ใบอนุญาตเท่านั้น แต่ถ้าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์หรือเป็นอาหารปลอม ต้องมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด ผู้อนุญาต (เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาหรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยามอบหมาย) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหาร มีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้ ตามมาตรา 46 วรรคสอง


เอกสารอ้างอิง
1. ‘หาดใหญ่’ ระดมเร่งเตรียมงานลุยจัดมหกรรมขายตรง ครั้งที่ 5. สยามธุรกิจ 25-27 เมษายน 2550 หน้า 31, 32
2. FDA bans supplementary product. The Nation. Vol. 32 No. 51675, 17 October 2007 page 2A
3. อย.ฟันอาหารเสริมเอโดซีสรรพคุณเกินจริง. โพสต์ทูเดย์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1714 วันพุธที่ 17 ตุลาคม 2550 หน้า A6
4. ตีทะเบียนอะลูเวีย ต้านไวรัสเอดส์ ปรับ-คุก ‘เอโดซี’ โฆษณาเกินจริง. คมชัดลึก ปีที่ 7 ฉบับที่ 2188 วันพุธที่ 17 ตุลาคม 2550 หน้า 1, 14
5. เปิดใจรองเลขาฯ อย. กรณีสินค้าขายตรง น้ำออกซิเจนที่ระบาดเต็มท้องตลาด. สยามธุรกิจ ปีที่ 13 ฉบับที่ 844 วันเสาร์ที่ 10 – 13 พฤศจิกายน 2550 หน้า 38
6. วอนรัฐบาลเหลียวมองธุรกิจขายตรง. สยามรัฐ ปีที่ 58 ฉบับที่ 20044 วันที่ 13 มีนาคม 2551 หน้า 17
7. ส่งเหยื่อป้าเช็ง เข้า รพ.ควักตา หยอดจนตาบอด ฤทธิ์ยาหยอดตาเจียระไนเพชรทำหนุ่มตาบอด อย.เงื้อฟันอาหารเสริม ‘เอโดซี’ แหกตา. ไทยโพสต์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 4856 วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 หน้า 1, 2
8. เตือนพระเป็นพรีเซนเตอร์ระวังผิดกฎหมาย. ไทยรัฐ ปีที่ 61 ฉบับที่ 19081 วันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2553 หน้า 15
9. อย.สั่งระงับโฆษณา 5 ผลิตภัณฑ์สุขภาพ. ไทยรัฐ ปีที่ 61 ฉบับที่ 19130 วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน 2553 หน้า 1, 19
10. เรื่องเด่นสุขภาพดีกับ อย. อย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพอ้างรักษาสารพัดโรคร้าย ระวัง! อันตรายที่แฝงมา. ข่าวสด ปีที่ 20 ฉบับที่ 7420 วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2554 หน้า 7

1 ความคิดเห็น:

  1. เราเสนอสินเชื่อจาก€ 100,000.00 ถึง 200,000,00 €ในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมและไม่มีการตรวจสอบเครดิตเราเสนอสินเชื่อส่วนบุคคลสินเชื่อรวมหนี้เงินร่วมทุนสินเชื่อธุรกิจสินเชื่อเพื่อการศึกษา ? เรามีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% !!!
    อีเมล: guaranteeloanoffer@outlook.com หรือติดต่อ WhatsApp @ +38972751056

    ตอบลบ