วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554

คำพิพากษาศาลฎีกา คดีแพทย์สั่งยาเกินขนาดและนักปรุงยาได้ปรุงยาตามแพทย์สั่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946 - 947/2475
         
กรมอัยการหลวงขจร กลางสนามแลนางขจร กลางสนาม โจทก์
ขุนปราบสรรพโรค ที่ 1 นายจิตร์ ศุขสนั่นที่  2 จำเลย


          คดีทั้ง ๒ สำนวนนี้ โจทก์ต่างฟ้องจำเลยมีข้อหาอย่างเดียวกันว่า เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๓ จำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๒ ผสมยาเฆโนโปเดียมเบื่อพยาธิให้เด็กชายจำเนียน อายุ ๑๒ ขวบ และเด็กชายน้อยอายุ ๖ ขวบ  บุตรหลวงและนางขจร กลางสนาม กินโดยความประมาท เกิดเป็นพิษแก่เด็กทั้ง ๒ จำเลยมิได้รักษาตามสมควร จนเด็กทั้ง ๒ ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๖๔-๒๕๒ และพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ.๒๔๖๖ มาตรา ๑๙ และกฎเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย วันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๒ ข้อ ๒๓-๓๔-๓๕ (๕) ส่วนหลวงขจรและนางขจร กลางสนาม เรียกค่าเสียหาย ๕๐๐๐ บาทฯ

          จำเลยทั้ง ๒ ให้การปฏิเสธความรับผิด จำเลยที่ ๑ ว่าเป็นแพทย์ประจำร้านขายยาวิบูลย์โอสถ จำเลยที่ ๒ เป็นนักปรุงยาประจำร้าน จำเลยที่ ๑ ได้สั่งให้จำเลยที่ ๒ จ่ายยาเฆโนโปเดียมให้แก่เด็กทั้ง ๒ กินจริง และจำเลยที่ ๒ ได้ทำตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ โดยไม่ได้ประมาทการใด ๆ

          ศาลพระราชอาชญาพิจารณาแล้วฟังว่า เด็กทั้ง ๒ ได้ตายเพราะกินยาของจำเลยเกินขนาด โดยจำเลยที่ ๑ สั่งให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนักปรุงยา ไม่มีอำนาจทำการบำบัดโรคทางยาจัดยาให้เด็กกิน เป็นการละเมิดพระราชบัญญัติการแพทย์ มาตรา ๑๙ และเมื่อยาเกิดเป็นพิษแก่เด็ก จำเลยที่ ๑ ไม่รับไปรักษาแก้ไข กลับใช้จำเลยที่ ๒ ไปรักษาแทน จำเลยทั้ง ๒ มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๕๒ จึงพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนดโทษ ๒ ปี จำเลยที่ ๑ มีกำหนดโทษ ๑ ปี กับปรับ ๕๐๐ บาท แต่จำเลยที่ ๑ ได้รับราชการมานานถึง ๑๐ ปี และมีบรรดาศักดิ์เป็นขุน จึงให้รอการลงอาญาจำคุกไว้ กับให้จำเลยทั้ง ๒ ช่วยกันใช้ค่าทำขวัญให้โจทก์ ๒๐๐๐ บาทฯ

          กรมอัยการโจทก์ และจำเลยทั้ง ๒ ต่างอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์ว่าไม่ควรรอการลงอาญาจำเลยที่ ๑ เพราะเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยทั้ง ๒ อุทธรณ์คัดค้านว่าตนไม่ควรมีความผิด

          ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนแล้วเห็นสอดคล้องในข้อเท็จจริงที่ศาลเดิมวินิจฉัยมาทุกประการ แต่ยังไม่เห็นด้วยในข้อกำหนดโทษ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ ๑ เพราะปรากฏว่าแพทย์ได้ผ่าศพเด็กออกตรวจไม่พบตัวพยาธิเลย แสดงว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ตรวจถึงความป่วยไข้ในร่างกายของเด็ก และทั้งไม่ได้ตรวจอุจจาระด้วยก่อนให้กินยา ตรงได้ก็สั่งให้ผสมยาอย่างแรงให้เด็กกินทีเดียว เด็กได้ถึงแก่ความตาย เพราะพิษยาที่จำเลยที่ ๑ สั่งให้ผสมแรงเกินขนาดโดยไม่ต้องสงสัย  ทั้งจำเลยที่ ๑ ปล่อยให้จำเลยที่ ๒ มิใช่แพทย์ มีความรู้แต่เพียงผสมยาเล็กน้อยผสมนั้นเป็นการเลินเล่ออย่างร้ายแรง เมื่อยาเกิดเป็นพิษแก่เด็ก จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ไปแก้ไขพิษยานั้นทันที แต่จำเลยได้ฉีดยาสูบอุจจาระออก และให้กินบรั่นดีเหล่านี้ในภายหลังไม่เกี่ยวแก่การทำลายพิษยา นอกจากจำเลยที่ ๑ ได้เลินเล่อแล้ว ไม่ใส่ใจต่อคนไข้ที่หวังฝากชีวิตแก่จำเลยเสียเลย การที่จำเลยได้กระทำไปนั้น เพียงแต่พอให้พ้น ๆ หน้าที่ไป เท่านั้นฯ

          การที่เด็กทั้ง ๒ ได้ตายลงด้วยความไม่แยแสต่อหน้าที่ของแพทย์ประกอบด้วยความเลินเล่ออันมิบังควรนั้น กระทำให้คนทั้งครอบครัวของเด็กเป็นที่เศร้าโศกมาก กิจการของแพทย์ที่ดี ย่อมรับกันว่าเป็นที่น่านับถือและไว้วางใจ แต่แพทย์ที่เห็นแก่เงินอย่างเดียว ไม่เฉลียวว่าผู้ป่วยไข้จะเป็นอย่างไรนั้น เป็นที่เสียหายต่อพวกแพทย์อื่น ๆ และสาธารณชนยิ่งนัก เพราะฉะนั้นแพทย์ชนิดนี้จำต้องป้องกันเพื่อประโยชน์ของมหาชนฯ

          ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่า จำเลยทั้ง ๒ มีความผิดฐานทำให้ตายโดยประมาท แต่จำเลยที่ ๑ เป็นแพทย์ และเป็นนายของจำเลยที่ ๒ เป็นต้นเรื่องแห่งการกระทำผิดยิ่งกว่าจำเลยที่ ๒ ๆ มีความรู้แต่เพียงเล็กน้อย อยู่ในใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ เพราะฉะนั้นความผิดของจำเลยที่ ๒ จะเทียบกับจำเลยที่ ๑ หาได้ไม่ จึงพิพากษายืนกำหนดโทษจำเลยที่ ๑ ตามศาลเดิมที่วางมา แต่แก้การรอลงอาชญาเป็นให้จำคุกจำเลยที่ ๑ ไปทีเดียว และแก้กำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ ให้ลดลงเหลือ ๖ เดือน และรอการลงอาญาไว้ นอกจากที่แก้คงพิพากษายืนฯ

          จำเลยที่ ๑ ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาในปัญหากฎหมายหลายข้อ แต่ควรยกวินิจฉัย คือฯ
          (๑) ศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคำพิพากษาไม่ตรงตามหลักและคำพยานในสำนวนฯ
          (๒) ศาลวินิจฉัยว่า เด็กตายเพราะกินยาของจำเลยที่ ๑ เกินขนาด เป็นหน้าที่ของจำเลยต้องสืบว่าไม่ได้สั่งให้จ่ายยาเกินขนาดนั้นไม่ชอบ ควรเป็นหน้าที่โจทก์ต้องสืบว่า จำเลยที่ ๑ สั่งยาเกินขนาด เมื่อโจทก์สืบไม่สม จำเลยไม่ต้องสืบแก้ฯ
          (๓) จำเลยที่ ๑ สั่งให้จำเลยที่ ๒ ผสมยาไม่เกินขนาด แต่จำเลยที่ ๒ ผสมเกินขนาด จำเลยที่ ๑ จะมีความผิดฐานทำให้ตายโดยประมาทด้วยหรือฯ

          กรรมการศาลฎีกาได้ตรวจสำนวน ฟังคำแถลงความของคู่ความทั้งสองฝ่าย และประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว ข้อเท็จจริงของคดีคงฟังได้ดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ส่วนปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขึ้นมานั้นในข้อ ๑ กรรมการศาลฎีกาได้ตรวจดูถ้อยคำสำนวนโดยละเอียดตลอดแล้วเห็นว่า ศาลล่างได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในข้อใหญ่ใจความตรงกับหลักฐานคำพยานดังที่ปรากฏในตัวสำนวนทุกประการแล้ว หาได้เป็นการผิดแผกไปจากสำนวนมิได้ฯ

          ในประเด็นข้อ ๒ กรรมการเห็นว่า ในข้อนี้ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยบ่งว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยต้องสืบดังที่จำเลยฎีกาคัดค้านขึ้นมา ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดข้อเท็จจริงไว้ว่า เพราะปรากฏว่าแพทย์ได้ผ่าศพเด็กออกตรวจไม่พบตัวพยาธิเลย แสดงว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ตรวจถึงความป่วยไข้ในร่างกายของเด็ก และทั้งไม่ได้ตรวจอุจจาระเลย ตรงได้ก็สั่งให้ผสมยาอย่างแรงให้เด็กกินทีเดียว กล่าวโดยเฉพาะ คือ ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ ๑ เด็กทั้ง ๒ ได้ตายเพราะพิษยาเฆโนโปเดียมซึ่งจำเลยสั่งให้ผสมแรงเกินขนาดโดยไม่ต้องสงสัย ข้อเท็จจริงนี้ศาลฎีกาจำต้องฟังตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาฯ

          ในประเด็นข้อ ๓ กรรมการเห็นว่า ข้อที่จำเลยที่ ๑ ยกขึ้นอ้างแก้ว่า จำเลยที่ ๑ สั่งให้จำเลยที่ ๒ ผสมยาไม่เกินขนาด หากจำเลยที่ ๒ ผสมยาเกินขนาดเอง ข้อนี้จำเลยที่ ๑ ไม่มีหลักฐานอื่นประกอบว่าจำเลยที่ ๒ ผสมยาเกินขนาดผิดไปจากคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และตามคำของจำเลยที่ ๑ เองก็ได้ความว่า จำเลยที่ ๑ ได้ปลุกจำเลยที่ ๒ สั่งจำเลยที่ ๒ ด้วยปากเปล่าให้ ๆ ยาเฆโนโปเดียมแก่เด็กกิน สั่งแล้วก็กลับไปนอน ต่อเมื่อจำเลยที่ ๒ ขึ้นไปหาน้ำร้อน และถามจำเลยที่ ๑ ว่า จะให้เด็กกินยาในขนาดใด จำเลยที่ ๑ ได้สั่งว่า เด็กอายุ ๑๒ ขวบ ๒๐ หยด เด็ก ๙ ขวบ ๑๕ หยด เด็ก ๓ ขวบ ๕ หยด แต่เด็ก ๓ ขวบนี้ จำเลยประมาณอายุเอาเอง คำสั่งของจำเลยเช่นนี้เห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ ๒ ได้ผสมยาให้เด็กกินตามขนาดที่จำเลยที่ ๑ สั่งนั้น แต่เป็นขนาดยาที่เกินขนาดสำหรับเด็กทั้ง ๒ ๆ กินยาแล้วจึงเกิดเป็นพิษขึ้น ถึงแก่ความตาย ดังนี้ อาศัยเหตุดังกล่าวข้างต้น กรรมการเห็นว่าข้อต่อสู้ของจำเลยในฎีกาเป็นอันฟังไม่ได้ จึงพร้อมกันพิพากษาให้ยกฎีกาจำเลยเสีย

( พรหม - หริศ - หริศ )

ศาลเดิม - พระยานิติศาสตร์
ศาลอุทธรณ์ – นายประแดร์

หมายเหตุ:รายละเอียดคำพิพากษาศาลฎีกานี้นำมาจาก มานิตย์ จุมปา. ข้อควรระวังทางกฎหมายของพยาบาล. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555, หน้า 46-52


สรุปคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946 - 947/2475




(1) คดีนี้เป็นตัวอย่างคดีทางการแพทย์ซึ่งสั่งจ่ายยาฆ่าพยาธิให้เด็กกิน ต่อมาเด็กตาย จึงถูกตัดสินว่าทำให้ตายโดยประมาท
(2) การตัดสินว่าประมาทหรือไม่นั้น ศาลพระราชอาชญา (ศาลชั้นต้น) เห็นว่า ประมาทตรงที่จ่ายยาเกินขนาด ส่วนศาลอุทธรณ์ตัดสินโดยอาศัยพยาน คือ แพทย์ที่ผ่าพิสูจน์เด็ก ไม่พบตัวพยาธิในเด็ก จึงถูกตัดสินว่าประมาทตรงที่ไม่ได้ตรวจโรคเด็กก่อนที่จะจ่ายยา ประเด็นอื่นซึ่งที่ศาลเห็นว่าประมาท คือ เมื่อยาเกิดเป็นพิษแก่เด็กไม่ได้ไปแก้ไขพิษยานั้นทันที ทำการแก้ไขซึ่งไม่เกี่ยวกับการทำลายพิษยา ประเมินอายุของเด็กเอาเอง
(3) แพทย์ ศาลเห็นว่าแพทย์กระทำความผิดจริง เมื่อเด็กตายจึงต้องถูกลงโทษและใช้ค่าเสียหาย ค่าทำขวัญแก่บิดามารดาเด็ก
(4) นักปรุงยา หรือเทียบได้กับเภสัชกรในปัจจุบัน ปรุงยาหรือจัดยาที่เกิดขนาดตามใบสั่งแพทย์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นความผิด จึงกำหนดโทษไว้ แต่ให้รอลงอาญา
(5) คดีนี้มีเพียงแพทย์เท่านั้นที่ฎีกาส่วนนักปรุงยาไม่ได้ฎีกา อาจเป็นเพราะนักปรุงยาเห็นว่าตนไม่ต้องถูกลงโทษจำคุกก็ได้ เนื่องจากศาลให้รอลงอาญา จึงพอใจคำตัดสินเพียงเท่านี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น