วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เกณฑ์พิจารณาว่ายาใดเป็นยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ


ปรุฬห์ รุจนธำรงค์


หากพิจารณานิยามยาควบคุมพิเศษ ยาอันตราย หรือยาสามัญประจำบ้าน ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 จะพบว่ายาในรายการเหล่านี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะต้องประกาศกำหนดรายการยาขึ้นมา แต่รายการยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษนี้ เกิดขึ้นมาลอย ๆ ไม่มีนิยามกำหนดไว้ว่าคืออะไร แต่ปรากฏคำว่า "ยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ" ปรากฏเพิ่มขึ้นมาในพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ดังจะเห็นใน มาตรา 15(4)  มาตรา 19(3) มาตรา 22 มาตรา 41 มาตรา 47(2 ทวิ)

ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีรายการกำหนดไว้โดยเฉพาะ แต่มีวิธีพิจารณาผลิตภัณฑ์ยาบรรจุเสร็จดังต่อไปนี้
(1) ไม่ใช่ยาควบคุมพิเศษ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ
(2) ไม่ใช่ยาอันตราย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาอันตราย
(3) ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบันและยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ
(4) มีการกำหนดรายการยายกเว้นไม่ให้เป็นยาอันตราย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาอันตราย หรือหากไม่มีก็ต้องเข้าเกณฑ์ตาม ข้อ (1) - (3)

ตัวอย่าง

พาราเซตามอล (สูตรเดี่ยว) 500 มิลลิกรัม กระปุกละ 100 เม็ด มีสถานะตามกฎหมายอย่างไร ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510

พาราเซตามอล เป็นยาแผนปัจจุบัน บรรจุเสร็จในกระปุกละ 100 เม็ด

1. ไม่ใช่ยาควบคุมพิเศษ เพราะไม่มีประกาศพาราเซตามอลให้เป็นยาควบคุมพิเศษ

2. ไม่ใช่ยาอันตราย เพราะยกเว้นการเป็นยาอันตรายเอาไว้ (ยกเว้นการเป็นยาอันตราย ลำดับที่ 30 จ)
3. ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน เพราะไม่ได้บรรจุแผงละ 4, 10 เม็ด

แม้ว่าจะไม่อยู่ในรายการยายกเว้นไม่เป็นยาอันตราย แต่เข้าเกณฑ์ข้อ1-3 ดังนั้น กรณีนี้จึงเป็นยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ


ฉลากยา 
ในแง่ของฉลากยา ยาควบคุมพิเศษ ยาอันตราย ต้องมีตัวหนังสือสีแดงที่เขียนว่า "ยาควบคุมพิเศษ" "ยาอันตราย"

ยาสามัญประจำบ้านทั้งแผนปัจจุบันหรือแผนโบราณ ต้องมีตัวหนังสือสีเขียวในกรอบสีเขียวที่เขียนว่า "ยาสามัญประจำบ้าน"

ส่วนที่ไม่ใช่ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษ หรือยาสามัญประจำบ้าน ไม่มีกฎหมายระบุไว้ว่าให้เขียนอะไร จึงไม่ต้องแสดงอะไรเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น