วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รถเร่ขายยา

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

          รถเร่ขายยา คืออะไร ถ้านึกภาพไม่ออก ให้ลองนึกคร่าว ๆ ถึงรถขายเงาะ ทุเรียน หรือขายผักผลไม้ ที่แล่นเข้ามาขายสินค้าตามหมู่บ้านหรือตามตรอกซอกซอย เพียงแต่เปลี่ยนสินค้าจากผักผลไม้เป็นยารักษาโรคแทน

          กรณีรถเร่ขายยาสามารถทำได้หรือไม่ หรือมีปัญหาทางกฎหมายอย่างไร พิจารณาดังต่อไปนี้
          1. ประเภทยาที่ขายในรถเร่
                        1.1 กรณีที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน การขายยาสามัญประจำบ้าน หากเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบันไม่ได้ต้องได้รับอนุญาตก่อนการขายยา ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 13(3) จึงไม่อยู่ในฐานะผู้รับอนุญาตขายยา ตามมาตรา 12 (ผู้รับอนุญาต หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ และในกรณีนิติบุคคลเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต ให้หมายความรวมถึงผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการด้วย) หากเป็นยาแผนโบราณที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน ไม่ต้องได้รับใบอนุญาตก่อนการขายยา ตามมาตรา 47(3) จึงไม่อยู่ในฐานะผู้รับอนุญาตขายยา ตามมาตรา 46 
                   หากพิจารณาเรื่องการขายยานอกสถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต กรณียาแผนปัจจุบัน มาตรา 19(1) ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันนอกสถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่เป็นการขายส่ง กรณีการขายยาแผนโบราณ มาตรา 53 ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตขายยาแผนโบราณนอกสถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่เป็นการขายส่ง
                   เมื่อการขายยาสามัญประจำบ้านไม่ต้องได้รับใบอนุญาตก่อนการขายยา จึงไม่อยู่ในฐานะผู้รับอนุญาตขายยา ดังนั้นจึงไม่สามารถนำมาตรา 19(1) หรือมาตรา 53 มาใช้ได้ เนื่องจากในมาตราดังกล่าวนี้กล่าวถึงผู้รับอนุญาตขายยา กรณีของรถเร่ขายยาที่เป็นยาสามัญประจำบ้านจึงไม่มีกฎหมายควบคุมในเรื่องการขายยานอกสถานที่ หรือต้องขายยาอย่างเป็นหลักแหล่ง ซึ่งต่างจากกฎหมายของประเทศอังกฤษ Medicines Act 1968 ใน Section 53 แม้ว่ายานั้นในอังกฤษจะอยู่ใน General Sale List (เทียบเท่ายาสามัญประจำบ้านของไทย) แม้จะขายที่ไหนก็ได้ แต่ต้องขายเป็นหลักแหล่ง ไม่ขายในร้านแผงลอย หรือเปิดท้ายขายของ

                   1.2 กรณีที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน จะต้องได้รับอนุญาตก่อนการขายยา หากฝ่าฝืนขายยาโดบไม่เคยได้รับใบอนุญาตขายยา กรณีที่ยานั้นเป็นยาแผนปัจจุบัน ถือว่าเป็นการขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 12 จะต้องได้รับโทษตามมาตรา 101 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท กรณีเป็นยาแผนโบราณ ถือว่าเป็นเป็นการขายยาแผนโบราณโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 46 จะต้องได้รับโทษตามมาตรา 111 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5,000 บาท 
                   กรณีที่ผู้นั้นเคยขออนุญาตขายยามีสถานที่ขายยาเป็นหลักแหล่งแล้ว แต่กลับนำยานั้นออกมาเร่ขาย กรณียาแผนปัจจุบัน มาตรา 19(1) ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันนอกสถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่เป็นการขายส่ง ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2,000 - 5,000 บาท ตามมาตรา 102 กรณีการขายยาแผนโบราณ มาตรา 53 ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตขายยาแผนโบราณนอกสถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่เป็นการขายส่ง ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 - 3,000 บาท ตามมาตรา 112

            2. การโฆษณาขายยา
                   เนื่องจากพฤติกรรมของรถเร่ขาย มักมีการประกาศเชิญชวนให้มาซื้อสินค้าที่ขาย กรณีที่ประกาศว่ามีการขายยา มีการเชิญชวนให้มาซื้อยา ซึ่งเป็นลักษณะของการโฆษณาขายยา ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณ จะต้องได้รับอนุญาตโฆษณาขายยาก่อน ตามมาตรา 88 ทวิ หากไม่ได้รับอนุญาตต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาทตามมาตรา 124

            ตัวอย่างอันตรายจากการซื้อยาจากรถเร่ขายยา
          - ยาสมุนไพรหรือยาแผนโบราณที่ซื้อ อาจพบสารสเตียรอยด์ (ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554 หน้า 15) 



          - ปัญหาการแพ้ยา,การได้รับยาเกินขนาด, การได้รับยาซ้ำซ้อนซึ่งส่งผลให้เสียประโยชน์จากการต้องเข้ารับการรักษาอย่าง ต่อเนื่องและสูญเสียเงินทองไม่คุ้มประโยชน์ (เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 หน้า 12) 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น