ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
ขณะที่เขียนเรื่องนี้
เนื่องจากมีกลุ่มผู้แทนยาของบริษัทยา (ดีเทลยา) ทราบมาว่ามีชื่อของตัวเองปรากฏในเว็บไซต์ของรัฐสภาว่าร่วมเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติยา
พ.ศ. .... โดยมีนายบรรยวัสถ์ สังข์วรรณะ เป็นผู้แทนของผู้ซึ่งเสนอกฎหมาย หรือก็คือผู้ไปยื่นรายชื่อนั่นแหละ
(ดูภาพได้จาก ภาพจาก http://register.parliament.go.th/pet/) แล้วเกิดความตื่นตระหนกว่าชื่อของฉัน
เพื่อนของฉัน พ่อแม่พี่น้องของฉันไปอยู่ในนั้นได้อย่างไร ฉันไม่รู้เรื่อง
ฉันจำได้ว่าส่งแต่รายชื่อไปคัดค้านอย่างเดียว นี่
อย.มันหลอกเอารายชื่อของพวกฉันไปสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... ของตัวเองที่มันมีปัญหาหรือเปล่า
ภาพที่ 1 ภาพจาก
http://register.parliament.go.th/pet/
จากภาพข้างบน
เมื่อคลิกไปตรงที่ (รายชื่อทั้งหมด) หรือคลิกไปที่ http://register.parliament.go.th/pet/petlist.aspx?pid=SXSwhiaHi9I= ก็จะปรากฏรายชื่อออกมา
ตรงคำว่า ผู้เสนอกฎหมายรวมรายชื่อผู้คัดค้าน
(หมายความว่ารายชื่อทั้งหมดก่อนมีการแก้ไข) เมื่อหักด้วยจำนวนผู้คัดค้าน
ก็จะได้ช่องจำนวนรายชื่อที่ถูกต้อง
ภาพที่ 2 รายชื่อผู้เสนอกฎหมาย
(รวมชื่อผู้คัดค้าน)
ผมขอให้ตั้งสติให้ดีและนึกถึงความหลังให้ดี
ๆ นะครับ ท่านอาจเคยร่วมลงชื่อด้วยความเต็มใจในครั้งนั้น
โดยที่ผู้ขอรายชื่อเขาไม่ได้หลอกลวงอะไรเลยก็ได้
หลายคนมีปัญหาตอนที่รณรงค์หรือต้องการคัดค้านอะไร เขาบอกอะไรมาก็เชื่อหมด
ไม่เคยคิดค้นหาเอกสารหรือขอข้อมูลเพิ่มเติม ขอแค่เพียงสิ่งที่เขาพูดนั้นตรงกับความเชื่อของตัวเองก็พอ
แล้วต่อมาก็ลืมหมดว่าเคยทำอะไรลงไปบ้าง
ก่อนอื่นต้องขอทบทวนในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่อาจเป็นสาเหตุของปัญหาการตื่นตระหนกในครั้งนี้ว่า
เดิมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ฉบับที่ถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ
หรือ คสช.ฉีกทิ้งนั่นแหละ) เขาได้กำหนดช่องทางการยื่นเสนอกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติไว้หลายช่องทาง
ตามมาตรา 142 คือ
(1)
คณะรัฐมนตรี
(2)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
(3)
ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์กรและกฎหมายที่ประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ
หรือ
(4)
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามมาตรา 163
ถ้าต้องการจะยื่นร่างกฎหมายฉบับใหม่อย่างเช่น
ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... จะทำได้อย่างไรนั้น ถ้าเป็นฉบับของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
(อย.) กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นฉบับที่หลายคนบอกว่าเป็นร่างกฎหมายที่มีปัญหา
ไม่คุ้มครองผู้บริโภค เขาก็ส่งไปตามขั้นตอนของระบบราชการ เช่น
ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ท้ายที่สุดให้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
ถ้าคณะรัฐมนตรีรับรอง นายกรัฐมนตรีลงนามเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงเรียกโดยรวมว่าเป็นฉบับรัฐบาล ไม่เห็นต้องไปขอรายชื่อจากภาคประชาชนมาสนับสนุนเลย
พวกเธอจะค้านก็ค้านไปถ้าฉันจะเอาซะอย่างจะทำอะไรได้
(นึกถึงตัวอย่างร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ. .... ที่หลายคนออกไปเดินคัดค้านให้ดี)
ภาคประชาชน
โดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาและคณะ เช่น แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย)
แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส, ชื่อในขณะนั้น)
หรือหลายคนเรียกว่าเป็นฉบับเอ็นจีโอ (NGO)
ก็ได้มองเห็นแล้วว่าร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ฉบับของ อย.นั้นน่าจะมีปัญหา
มีแนวคิดหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดกลุ่มของตน เช่น
เห็นว่าไม่มีการคุ้มครองผู้บริโภคที่เพียงพอ ไม่ได้ยกระดับของวิชาชีพ
ไม่มีการควบคุมเรื่องการโฆษณาและการส่งเสริมการขายที่เพียงพอ
ขาดมาตรการควบคุมเรื่องการขึ้นทะเบียนตำรับยาว่ายาที่ติดสิทธิบัตรอยู่นั้นมีความคุ้มค่าที่จะขึ้นทะเบียนตำรับยามากน้อยขนาดไหน
ภาครัฐไม่ได้มีมาตรการขึ้นมาเพื่อช่วยในการทำงานของตัวเอง เช่น ไม่มีมาตรการบังคับทางปกครอง
(ซึ่งบางคนอาจจะเห็นว่าสุดโต่งไปด้วยซ้ำ)
แต่จะทำอย่างไรที่ทำให้แนวคิดของตนถูกบรรจุในร่างพระราชบัญญัติยาได้
เพราะภาครัฐอย่างเช่น อย. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก) คงไม่เอาแน่
จะไปเถียงหรือไปชี้แจงต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาคงไม่ได้ผลอยู่ดี จึงมองหาช่องทางอื่น
คือ เห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้เปิดโอกาสให้ประชาชน10,000
คน เข้าชื่อเสนอกฎหมายได้
แล้วก็มีโอกาสร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อไปแปรญัตติ (คือ ไปปรับแก้ไข
เพิ่มเติม ตัดต่อ ดัดแปลง อธิบายความ หรือไปเถียงต่อ เพื่อเสนอต่อทั้งรัฐสภานั่นแหละ)
ถึงหนึ่งในสามทั้งในชั้นสภาผู้แทนราษฎรและชั้นวุฒิสภา (ตัวอย่างเช่น สภาผู้แทนราษฎรให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน
33 คน ดังนั้น ก็ไปแบ่งสัดส่วนกันให้มาจากภาคประชาชน 11
คน ส่วนที่เหลือ 22 คน ก็มาจากคณะรัฐมนตรี
สส.ฝ่ายรัฐบาล สส.ฝ่ายค้าน) ก็เอาอย่างนี้แล้วกัน
เราก็ไปขายแนวคิดแล้วหาคนมาสนับสนุนพวกเรา ซึ่งไปก็หาตามกลุ่มวิชาชีพ อย่างเช่น
เภสัชกรด้วยนะ แต่ไม่มีใครเห็นความสำคัญเท่าไหร่ ลงชื่อมาแค่ประมาณ 2 พันราย ที่เหลือก็เป็นรายชื่อของประชาชนทั่วไปที่เห็นความสำคัญ
ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ฉบับนี้จึงเป็นร่างกฎหมายสายที่สองที่เกิดขึ้น
เป็นฉบับประชาชนฉบับหนึ่ง
ตอนนั้นก็เริ่มมีร่างคร่าว
ๆ ออกมาบ้างแล้วทั้งฉบับรัฐบาล และฉบับประชาชนโดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา
สภาเภสัชกรรมก็เคยจัดการเสวนาพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ... ผลกระทบต่อวิชาชีพเภสัชกรรม
เมื่อวันที่ 2
ตุลาคม 2554 ณ โรงแรมโกลเด้นทิวลิป ซอฟเฟอริน
กรุงเทพฯ เมื่อเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติของทั้งคู่ โดยมี
ผศ.ภก.มังกร ประพันธ์วัฒนะ (ผู้ล่วงลับไปแล้ว) ได้บันทึกการประชุมในครั้งนั้นด้วย
อ่านรายละเอียดได้ที่ http://goo.gl/y6YNki แต่ละฝ่ายก็รับไปปรับปรุงร่างกฎหมายของตัวเอง
ทีนี้ ช่วงประมาณปี
พ.ศ.2554
อย. หรือ สคก.นี่แหละ ก็ปล่อยข่าวออกมาว่า ร่างพระราชบัญญัติยา
ฉบับรัฐบาลใกล้จะเสร็จแล้วนะ ในส่วนของฉบับประชาชนโดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาและคณะก็ตาลีตาเหลือกเร่งหารายชื่อผู้สนับสนุนจากภาคต่างๆ
รวมทั้งนิสิตนักศึกษาที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
เพื่อให้ไปทันยื่นพร้อมกันที่รัฐสภาแล้วจะได้ไปเถียงกันต่อในสภาได้
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2555 ก็ยื่นต่อรัฐสภาได้สำเร็จ (ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้ยื่น) แล้วเขาก็เอารายชื่อเราไปตรวจสอบว่าส่งเอกสารมาถูกต้องไหม
เช่น ลงชื่อในแบบฟอร์มไหม มีสำเนาบัตรประชาชนไหม (เดิมสมัยนั้นต้องแนบสำเนาทะเบียนบ้านด้วยนะ
แต่ตอนหลังแก้กฎหมายแล้วใช้สำเนาบัตรประชาชนอย่างเดียวก็พอ)
ไปเลือกตั้งมาหรือเปล่า แล้วก็ประกาศเผยแพร่รายชื่อออกมาว่าใครจะคัดค้านไหม (ก็แสดงรายชื่อให้คัดค้านเหมือนภาพข้างต้นเหมือนกัน)
ถ้าคัดค้านให้คัดค้านภายในระยะเวลาที่กำหนด แล้วก็รอให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่รัฐสภา
ซึ่งก็ไม่มีใครรับรองเลยโดยอ้างว่าร่าง ของ อย.ยังไม่ถูกส่งมา
ช่วงประมาณปลายเดือนสิงหาคม
– 4 กันยายน พ.ศ.2554 เอง ก็มีข่าวลือว่า ร่างพ.ร.บ.ยา
พ.ศ. .... อนุญาตให้พยาบาลออกใบสั่งยาในยาที่ต้องใช้ใบสั่งยาเองได้
ซึ่งก็ไม่เป็นความจริง
ทำให้การรวบรวมรายชื่อประชาชนของร่างฉบับมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา เกิดปัญหาอีก
แต่เมื่อชี้แจงไปแล้วเหตุการณ์นั้นก็สงบลงได้ภายใน 1 สัปดาห์
(คนที่ไม่มีร่างกฎหมายอยู่ในมือก็ลือไปเรื่อย
โดยที่ตัวเองก็ไม่เคยเห็นหรือไม่เคยอ่านเนื้อหาเลย)
ต่อมาก็ดันมีหมอกลุ่มหนึ่งพยายามรวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์
พ.ศ. .... อีก โดยอ้างว่าร่างกฎหมายนี้จะทำให้หมอถูกฟ้องร้องมากขึ้น
มีการเก็บเงินจากโรงพยาบาลและร้านยาก็อาจถูกเก็บเงินด้วยนะ มีการขอรายชื่ออย่างรวดเร็ว
บางคนก็เคยรายงานมาว่าต้องลงชื่อด้วยความเกรงใจ โดยรายชื่อที่รวบรวมได้มีประมาณ 1 แสนราย
(ครั้งนั้นขอแต่ชื่อแต่ไม่มีการเก็บสำเนาบัตรประชาชน)
ประเด็นการลงชื่อคัดค้านลักษณะนี้
ก็ได้มีความเห็นกันว่าไม่มีผลต่อการหยุดร่างพระราชบัญญัติที่มีอยู่ได้หรอก สิ่งที่จะทำได้
คือ การรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างกฎหมายของตนขึ้นมา
แล้วส่งไปให้เขาพิจารณาคู่กับร่างกฎหมายที่มีอยู่
ต่อมาหมอกลุ่มนี้ก็ไปเข้าสู่กระบวนการรวบรวมรายชื่อใหม่เหมือนขึ้นตอนข้างบนที่กล่าวมาแล้ว
และได้ร่างพระราชบัญญัติของกลุ่มตนเองด้วย
ตอนนี้ มองออกหรือยังว่า การคัดค้านที่ได้ผลเขาต้องทำอย่างไร
รูปแบบการคัดค้านอาจทำได้โดยการเสนอสิ่งใหม่ที่แตกต่างเข้าไปแทนก็ได้
เมื่อมาดูเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติที่มีอยู่ทั้งของฉบับรัฐบาลและของมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา
ก็พบว่ามีประเด็นที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เขาก็ต้องหาทางคัดค้านเป็นธรรมดา
ก็มีทั้งไปติดต่อชี้แจงกับบุคคลต่าง ๆ เป็นรายบุคคลหรือเข้าชี้แจงในคณะกรรมการ
คณะกรรมาธิการต่าง ๆ
ก็คงมีเสียงจากส่วนหนึ่งนี่แหละที่บอกว่าอย่าคิดเสียเวลาทำแบบนี้เลย มันไม่สง่างาม
ไปหารายชื่อประชาชนผู้สนับสนุนมาแล้วไปถกเถียงกันในรัฐสภาดีกว่า
นั่นก็เป็นที่มาของร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... สายที่สาม
ซึ่งถือว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติฉบับประชาชนเหมือนกัน แต่ทำไปทำมาจึงเป็นนายบรรยวัสถ์
สังข์วรรณะ ซึ่งเป็นนักกฎหมาย เป็นทนายความ (เคยเป็นทนายความของบัวขาว ป.ประมุข
ด้วย) มาเป็นผู้ยื่นก็ไม่ทราบได้
แต่จะยื่นในนามภาคธุรกิจก็ไม่สมควรก็ต้องมีกลุ่มผู้ป่วยมาร่วมยื่นด้วย
เอ็นจีโอบางท่านก็ว่าเป็นผู้ป่วยในเครือ PReMA ซึ่งได้รับความช่วยเหลือในการให้ได้รับยาใหม่ในการรักษาโรคเรื้อรังหรือโรคต่าง
ๆ ช่วงเวลาที่ดำเนินการรวมรายชื่อ คาดว่าจะเลยช่วงที่ฉบับมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนายื่นไปแล้ว คือ หลัง 19 มกราคม 2555 - พฤษภาคม 2557
ลองทบทวนประเด็นร่างฉบับรัฐบาลและของฉบับประชาชนโดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา
(ขอกล่าวไปรวม ๆ แล้วกัน ไม่แยกรายละเอียดปลีกย่อย) มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ดังนี้
1. การควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขาย ยังเล็งเห็นว่า
การโฆษณาและส่งเสริมการขายมีผลต่อผู้ประกอบวิชาชีพอาจทำให้เกิดการสั่งใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลได้
เรื่องความรู้นั่น สมัยนี้อินเตอร์เน็ตและระบบสารสนเทศมันพัฒนาแล้ว
หาข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือได้ไม่ยาก
อย.เองก็ให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือได้ ภาคการศึกษาก็ให้ข้อมูลได้ ไม่ต้องรอภาคธุรกิจมาให้ข้อมูลอย่างเดียว
ใครไม่หาข้อมูลใหม่ ๆ เลย ก็ตกยุคการรักษา ดีไม่ดีอาจถูกฟ้องร้องอีก
และที่เขามาคุมเนี่ย ไม่ได้จงใจมาคุมธุรกิจยาของต่างชาตินะ
มาคุมธุรกิจยาภายในประเทศที่มันก็มีปัญหาการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง แจกแถมประจำบ่อยๆ
ด้วย แต่เนื้อหากฎหมายแบบนี้มันก็กระทบภาคธุรกิจตรงนี้อาจทำให้สินค้าขายได้น้อยลง
2. การขึ้นทะเบียนของยาที่มีสิทธิบัตร ทั้ง 2 ฉบับเห็นว่ายาที่ติดสิทธิบัตรบางตัว
มันเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมควรได้รับเสียด้วยซ้ำ (ความผิดพลาดของกรมทรัพย์สินทางปัญญา)
เอาแค่ 2 ตัวมาผสมกันเพื่อให้กินง่ายขึ้นเท่านั้น กลับได้สิทธิบัตรยาไป ประสิทธิภาพก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เอาอย่างนี้แล้วกัน
ก็ไม่ให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเลยเมื่อเห็นว่ายาที่ติดสิทธิบัตรนั้นมีโครงสร้างราคาที่ไม่เหมาะสมหรือไม่คุ้มค่า
แต่เนื้อหากฎหมายแบบนี้มันก็กระทบภาคธุรกิจตรงที่จดสิทธิบัตรก็เสียค่าธรรมเนียมไปตั้งเยอะ
แต่ดันเอามาขึ้นทะเบียนไม่ได้ ขายไม่ได้อีก
3. โครงสร้างราคายา ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้
กำหนดให้ตอนขึ้นทะเบียนตำรับยาแสดงโครงสร้างราคายามาแล้ว เช่น ยาราคา 100 บาท
เป็นค่าต้นทุนวัตถุดิบ ค่าเก็บรักษา ค่าขนส่ง ค่าวิจัยและพัฒนา
ค่าการตลาดและส่งเสริมการขายเป็นร้อยละเท่าใด (อาจรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
ซึ่งไม่อาจเปิดเผยได้)
4. การควบคุมราคา ร่างฉบับประชาชน
ยึดอำนาจการควบคุมราคายาซึ่งเดิมเป็นของกระทรวงพาณิชย์ แต่แทบไม่ทำอะไร
(ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมยาในโรงพยาบาลเอกชนถึงได้แพงมาก บางทีแพงกว่าราคาป้ายที่ติดข้างกล่องเสียอีก
ก็เลยไม่ให้กล่องมาด้วย) มาให้ อย.ทำหน้าที่อย่างบูรณาการซะเลย
ด้วยเหตุนี้ร่างพระราชบัญญัติยา
พ.ศ. ...สายที่สาม ซึ่งเป็นสายของภาคธุรกิจและสายผู้ป่วยในเครือ PReMA (บางท่านอาจจะเห็นคำว่า
ฉบับประชาชนรักษ์สุขภาพ) จึงได้ร่วมกันเสนอร่างกฎหมายมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.
ไม่ให้มีการลดโทษแก่ผู้ผลิต นำเข้า และขาย ยาปลอม
ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับผู้กระทำความผิด (กล่าวคือ
อย่างไปลดหย่อนโทษให้ใครเด็ดขาด แม้จะเป็นเรื่องปลอมเครื่องหมายการค้าก็ตาม)
2.
ให้ควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขายเพื่อคุ้มครองประชาชน แต่ยกเว้นการให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์
เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมความรู้ใหม่ ๆ และให้ข้อมูลแก่วงการแพทย์
เพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาลประชาชน
3.
จำแนกบทบาทของ อย. และกรมการค้าภายในให้ชัดเจน โดยให้ อย.เน้นบทบาทการประเมิน
ประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัยของยา ส่วนกรมการค้าภายในรับผิดชอบเรื่องราคายา
เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพและมีความรวดเร็วในการเข้าถึงการรักษาใหม่ ๆ
4.
กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขึ้นทะเบียนตำรับยาสามัญใหม่ เพื่อป้องกันกรณีพิพาท
ในการละเมิดสิทธิบัตรของบริษัทยาสามัญโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
5.
เพิ่มกรรมการในคณะกรรมการยาแห่งชาติ โดยให้มีกรรมการมาจากสาขาวิชาชีพทางสาธารณสุข
เพื่อให้เกิดความสมดุลและให้มีข้อมูลรอบด้าน จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่ม
โดยเฉพาะจากองค์กรผู้ป่วยที่มีประสบการณ์การรักษา
จากนั้นก็ต้องการรายชื่อประชาชนผู้สนับสนุน
โดยอาจจะไปแบ่งสายไปรวมรายชื่อ (ตรงนี้ลองนึกให้ดี
เพราะพวกท่านอาจอยู่ในขั้นตอนนี้ ว่าเขาขอรายชื่อหน่อย)
1. สายผู้ป่วย
ก็ชูประเด็นว่าเราต้องมียาใหม่เข้ามาใช้
กฎหมายของเอ็นจีโออาจทำให้เราไม่มียาใหม่ใช้ และแพทย์อาจไม่ได้รับข้อมูลยาใหม่ ๆ เพราะอาจห้ามผ้แทนยามาแนะนำเรื่องยาต่อแพทย์
2. สายบริษัทที่นำเข้ายา
ชูประเด็นว่า เขาจะให้แสดงโครงสร้างราคายา ซึ่งจะส่งผลต่อความลับทางการค้าได้
และยาที่มีสิทธิบัตรบางตัวอาจไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยา
3. สายผู้แทนยาและวิชาชีพในสถานพยาบาล
ชูประเด็นว่า ร่างกฎหมายยาฉบับใหม่จะมาคุมเรื่องการโฆษณาและส่งเสริมการขาย
ผู้แทนยาจะถูกควบคุม จะเข้ามาคุมเรื่องการประชุมวิชาการ
4. สายผู้ประกอบการ
ร้านยา ผู้แทนยา ชูประเด็นว่า ไม่ควรให้มีการควบคุมราคา ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด
ทำให้บางส่วนคิดไปเองว่า ร่างกฎหมายของสายที่สามนี่ดีนะ ป้องกันคนมาต่อราคาได้ด้วย
ทุกวันนี้คนมาต่อราคายาในร้านยานี่น่าปวดหัวเหลือเกิน สายผู้ประกอบการและผู้แทนยาก็เคลิ้มเห็นว่าโรงพยาบาลนี่ก็ขูดรีดราคายาเหลือเกิน
ทุกวันนี้ก็แทบอยู่ไม่ได้แล้ว ยอดก็จะปิดไม่ได้อยู่แล้ว
แล้วน่าจะมีประโยคที่พูดทำนองว่า ใครไม่เห็นด้วย
ต้องการจะค้านกฎหมายของเอ็นจีโอ ก็มาร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายกับเรา ตรงนี้แหละที่บอกว่าคนจำได้แต่คัดค้าน
แต่ลืมประโยคหลังตรงที่เขาบอกว่าให้มาร่วมเสนอกฎหมายกับเรา เขาก็ไม่ได้หลอกนะ
แต่ด้วยนิสัยที่ตามกระแสของหลายคนต่างหากที่จำข้อมูลได้ไม่หมด
แต่มีบางส่วนยังคิดไปเองต่างหาก กลับไปลองนึกให้ดีว่าคุณต้องอยู่ในเหตุการณ์ในข้างบนข้างต้นแน่
อาจจะเกิดอารมณ์ร่วม ถูกบังคับ หรือเกรงใจร่วมลงชื่อก็ได้
พอได้รายชื่อมาครบและตรวจเช็ครายชื่อเบื้องต้นเรียบร้อย เมื่อเดือนพฤษภาคม
พ.ศ.2557 เขาก็เปิดให้คัดค้านตั้งแต่วันที่
22 พฤษภาคม – 4 กรกฎาคม 2557
ส่วนร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ฉบับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
(อย.) เพิ่งทำเสร็จจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อ 24 กันยายน พ.ศ.2557 หลังจากที่ร่างฉบับประชาชนโดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนายื่นไปเสร็จนานมากแล้ว
รอแล้วรอเล่าร่างของ อย.ก็ไม่ยอมเสร็จซะที ก็เลยต้องทวงออกสื่อเป็นระยะ
แม้แต่ไปชี้แจงต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย http://www.slideshare.net/rparun/ss-37350448
หยุดจินตนาการว่า การรวมเสนอร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ....
ที่มีปัญหาข้างต้น เป็นการสนับสนุนร่างกฎหมายของ อย. เพราะ (1)
ร่างกฎหมายฉบับรัฐบาลเขาสามารถเสนอของตัวเองได้เสมอ
แม้ว่าจะมีผู้คัดค้านเพียงใดก็ตาม (ถ้าไม่กลัวผลต่อคะแนนเสียงครั้งต่อไป) (2) ช่วงเวลาที่ยื่นเกิดก่อนที่มีปัญหาในปัจจุบัน (ช่วงสิงหาคม – ปัจจุบัน)
มีปัญหาแล้วทำอย่างไร
1. ระดับที่อ่อนที่สุด คือ ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 14 ไม่ได้ให้อำนาจประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ดังนั้น
ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ฉบับนี้ก็ไม่มีผลอะไรเลย (ฉบับมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาหรือบางคนเรียกฉบับเอ็นจีโอก็ได้รับผลกระทบด้วย) สงสัยอะไรให้ไปถาม PReMA
2. ระดับปานกลาง คือ ลงชื่อไปคัดค้านไป แม้จะเลยช่วงเวลาแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันรัฐธรรมนูญในอนาคตอาจเปิดช่องให้นำร่างพระราชบัญญัติของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาใช้ได้
แต่ให้ดูตามข้อ 1 คือ
ตอนนี้ร่างพระราชบัญญัติฉบับประชาชนไม่มีผลอะไรเลย
3. ระดับรุนแรงที่สุด แจ้งความดำเนินคดี ถ้าลงชื่อตั้งแต่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2556 เป็นต้นไป จะอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556
ถ้าบอกว่าเขาหลอกลวง คนนั้นจะต้องถูกลงโทษตามมาตรา 13 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน
100,000 บาท (ระวังให้ดีสืบไปสืบมาอาจไปถึงหัวหน้าหรือเจ้านายของพวกคุณก็ได้นะ)
แต่ถ้าเราไปหลอกให้เขาถอนรายชื่อก็รับโทษตามมาตรานี้ด้วยเหมือนกันนะ (แต่ถ้าลงชื่อก่อน
17 ธันวาคม พ.ศ.2556 ซึ่งใช้กฎหมายเก่าเมื่อปี
พ.ศ.2542 ยังไม่มีบทลงโทษตามกฎหมายนี้
ต้องหาฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้ลงโทษแทน)
สรุป
"ตั้งสติก่อนนะครับ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนหน้าปัจจุบันหลายเดือน
(ประมาณเดือน พฤษภาคม 2557)
ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ... ก่อนที่จะฉีกรัฐธรรมนูญฯ 2550 มี 3 สาย
1. สายรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข
2. สายประชาชน โดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาและคณะ (อ.นิยดา ผู้ยื่น)
3. สายประชาชน (ตามภาพที่มีปัญหานี้) โดย นายบรรยวัสถ์ สังข์วรรณะ (ผู้ยื่น) บ้างก็ว่าเป็นสายผู้ป่วยในเครือของ PReMA ดังนั้น หากดีเทลท่านใดมีปัญหาสงสัยว่ารายชื่อของตนไปอยู่ในร่างสายที่ 3 ได้อย่างไร ให้ลองตั้งสติและนึกถึงความหลังให้ดี ๆ นะครับ ท่านอาจเคยร่วมลงชื่อด้วยความเต็มใจในครั้งนั้นก็ได้
(ผมมั่นใจว่า พวกท่านอาจเคยร่วมลงชื่อในช่วง มกราคม2555-พฤษภาคม 2557 ก็ได้)"
ปล.ถ้านึกอะไรออกอีก จะค่อยมาเพิ่มข้อมูลต่อไป
ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ... ก่อนที่จะฉีกรัฐธรรมนูญฯ 2550 มี 3 สาย
1. สายรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข
2. สายประชาชน โดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาและคณะ (อ.นิยดา ผู้ยื่น)
3. สายประชาชน (ตามภาพที่มีปัญหานี้) โดย นายบรรยวัสถ์ สังข์วรรณะ (ผู้ยื่น) บ้างก็ว่าเป็นสายผู้ป่วยในเครือของ PReMA ดังนั้น หากดีเทลท่านใดมีปัญหาสงสัยว่ารายชื่อของตนไปอยู่ในร่างสายที่ 3 ได้อย่างไร ให้ลองตั้งสติและนึกถึงความหลังให้ดี ๆ นะครับ ท่านอาจเคยร่วมลงชื่อด้วยความเต็มใจในครั้งนั้นก็ได้
(ผมมั่นใจว่า พวกท่านอาจเคยร่วมลงชื่อในช่วง มกราคม2555-พฤษภาคม 2557 ก็ได้)"
ปล.ถ้านึกอะไรออกอีก จะค่อยมาเพิ่มข้อมูลต่อไป
กราบขอบพระคุณมากครับ ค่อยๆอ่านทีละส่วน ทำความเข้าใจในผลกระทบแต่ละด้าน
ตอบลบเป็นบทความที่ดีมาก
ยาวไป เค้าไม่อ่านหรอกครับ :)
ตอบลบขอบคุณที่ให้ความกระจ่างค่ะ แสดงว่าที่ผ่านมาเข้าใจผิดมาตลอดว่าลงชื่อ 'คัดค้าน' เพียงอย่างเดียวค่ะ
ตอบลบ