วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2554

ฉลากเครื่องสำอาง

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ ภบ., นบ.


เครื่องสำอาง

“เครื่องสำอาง” หมายความว่า

(1) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใด ต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงามและรวมตลอดทั้งเครื่องประทินผิวต่าง ๆ ด้วย แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัวซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย
(2) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางโดยเฉพาะ หรือ
(3) วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวงให้เป็นเครื่องสำอาง


ลักษณะของฉลากเครื่องสำอาง
ฉลากของเครื่องสำอาง ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. การระบุข้อความอันจำเป็น ฉลากเครื่องสำอางต้องระบุข้อความอันจำเป็น ดังนี้
(1) ชื่อเครื่องสำอางและชื่อทางการค้าของเครื่องสำอาง ซึ่งต้องมีขนาดใหญ่กว่าข้อความอื่น
(2) ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง
          เครื่องสำอางตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
          (2.1) เครื่องสำอางควบคุมพิเศษ ซึ่งเป็นเป็นเครื่องสำอางที่อาจเป็นอันตรายรุนแรงต่อผู้ใช้ หรือมีส่วนประกอบของวัตถุมีพิษ หรือวัตถุอื่นที่อาจก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงต่อสวัสดิภาพอนามัยของบุคคล ต้องมีข้อความว่า “เครื่องสำอางควบคุมพิเศษ”
          (2.2) เครื่องสำอางควบคุม เป็นเครื่องสำอางที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเป็นเครื่องสำอางควบคุม ต้องมีข้อความว่า “เครื่องสำอางควบคุม”
          (2.3) เครื่องสำอางทั่วไป เป็นเครื่องสำอางที่ไม่อยู่ในประเภทเครื่องสำอางควบคุมพิเศษหรือเครื่องสำอางควบคุม
          ปัจจุบันกำหนดให้เครื่องสำอางทุกชนิดเป็นเครื่องสำอางควบคุมเท่านั้น ไม่มีประเภทเครื่องสำอางควบคุมพิเศษหรือเครื่องสำอางทั่วไปอีกต่อไป กรณีปรับจากเครื่องสำอางควบคุมพิเศษมาเป็นเครื่องสำอางควบคุมนั้นทำให้ระดับการควบคุมนั้นอ่อนลง ส่วนการปรับเครื่องสำอางทั่วไปเป็นเครื่องสำอางควบคุมพิเศษนั้นทำให้มีระดับการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น เมื่อเป็นเครื่องสำอางควบคุมจะต้องมีการแจ้งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับปัจจุบัน คือ กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม พ.ศ. 2553 (ราชกิจจานุเบกษา 2 มิถุนายน 2553)
(3) ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งจะต้องเป็นชื่อตามตำราที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศกำหนด และจะต้องเรียงลำดับตามปริมาณของสารจากมากไปหาน้อย
(4) วิธีใช้เครื่องสำอาง
(5) ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต กรณีเป็นเครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศ ชื่อและที่ตั้งของผู้นำเข้าและชื่อผู้ผลิตและประเทศที่ผลิต กรณีที่เป็นเครื่องสำอางนำเข้า
(6) ปริมาณสุทธิ
(7) เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต
(8) เดือน ปี ที่ผลิต หรือ ปี เดือน ที่ผลิต
          การระบุวันผลิต เป็นข้อความที่ถูกบังคับในฉลาก ไม่ต้องระบุว่าผลิตในวันใด เพียงแต่ให้ระบุ เดือนที่ผลิต ปีที่ผลิตเท่านั้น จะนำเดือนขึ้นก่อนแล้วตามด้วยปี หรือนำปีขึ้นก่อนแล้วตามด้วยปีก็ได้
          เมื่อพิจารณาการระบุในลักษณะนี้อาจทำให้เกิดความสับสนได้ เนื่องจากไม่ได้กำหนดให้ชัดเจนว่าเดือนที่ผลิตต้องเป็นตัวเลขหรืออักษร ปีที่ผลิตต้องระบุตัวเลขกี่หลัก เป็นปีพุทธศักราชหรือคริสต์ศักราช เช่น ระบุว่า วันผลิต 08/10 สามารถแปลความหมายได้ว่า ผลิตเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.2010 หรืออาจจะแปลว่าผลิตปี ค.ศ.2008 เดือนตุลาคม ก็ได้
(9) เดือน ปี ที่หมดอายุ หรือ ปี เดือน ที่หมดอายุ หรือข้อความอื่นที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน สำหรับกรณีที่เป็นเครื่องสำอางที่มีอายุการใช้น้อยกว่า 30 เดือน
          การระบุวันหมดอายุ ไม่ใช่ข้อความที่ถูกบังคับในฉลากเครื่องสำอาง ยกเว้นเครื่องสำอางที่มีอายุการใช้งานน้อยกว่า 30 เดือน ได้แก่ เครื่องสำอางที่มีไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide)
(10) คำเตือนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่ออนามัยของบุคคล (ถ้ามี)
(11) เลขที่ใบรับแจ้ง (เลขที่จดแจ้ง 10 หลัก)
          พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 28 กำหนดให้ผู้ประสงค์จะผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม ต้องปฏิบัติดังนี้
          (1) แจ้งชื่อ ที่ตั้งสำนักงาน และสถานที่ผลิตหรือสถานที่เก็บเครื่องสำอาง แล้วแต่กรณี
          (2) แจ้งชื่อ ประเภท หรือชนิดของเครื่องสำอางที่ตนจะผลิตหรือนำเข้า
          (3) แจ้งปริมาณของส่วนประกอบสำคัญของเครื่องสำอางนั้น
          การแจ้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ปัจจุบันมีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม พ.ศ. 2553 (ราชกิจจานุเบกษา 2 มิถุนายน 2553) ซึ่งได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุมให้สอดคล้องกับแบบการแจ้ง ตามที่คณะกรรมการเครื่องสำอางอาเซียน (ASEAN Cosmetic Committee) กำหนด ตามที่ประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยแผนการปรับกฎระเบียบเครื่องสำอางให้สอดคล้องกันแห่งอาเซียน (Agreement on the ASEAN Harmonized Cosmetic Regulatory Scheme) ที่จะปรับกฎระเบียบด้านเครื่องสำอางให้สอดคล้องกันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับการแจ้งรายละเอียดพร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน และตรวจสอบรายละเอียดการแจ้งและเอกสารและหลักฐานหากเห็นว่าถูกต้องครบถ้วน ให้ออกใบรับแจ้งให้แก่ผู้แจ้งไว้เพื่อเป็นหลักฐานภายในสามวันทำการนับแต่วันแจ้ง ให้ผู้รับใบรับแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุมก่อนวันที่กฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับ (3 มิถุนายน 2553) ดำเนินการแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุมตามกฎกระทรวงนี้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลใช้บังคับ (ภายในวันที่ 2 มิถุนายน 2554) เลขที่ใบรับแจ้งนี้เป็นสิ่งที่จะต้องแสดงในฉลากเครื่องสำอาง

2. ลักษณะข้อความอื่น
(1) การแจ้งชื่อผู้ผลิต หรือแหล่งผลิต หรือแจ้งการขึ้นทะเบียนต้องแจ้งตามความเป็นจริง มิฉะนั้นถือว่าเป็นเครื่องสำอางปลอม
(2) นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณามาใช้บังคับแก่การโฆษณาเครื่องสำอางโดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการ เช่น ไม่ใช้ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง ไม่ใช้ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง หรือไม่ก็ตาม

3. ภาษาที่ใช้ในฉลากเครื่องสำอาง
          เครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลาก ข้อความอันจำเป็นต้องใช้ข้อความภาษาไทยที่มองเห็นและอ่านได้ชัดเจน นอกจากข้อความอันจำเป็นที่ได้กำหนดไว้แล้ว อาจมีข้อความอื่นหรือมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้ ยกเว้นชื่อของสารที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง อาจใช้ภาษาไทยหรือเขียนภาษาไทยทับศัพท์ภาษาอังกฤษ หรือใช้ภาษาอังกฤษ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้


วิธีการติดฉลากเครื่องสำอาง
1. ต้องจัดหรือติดแสดงไว้ในที่เปิดเผยมองเห็นได้ชัดเจนที่เครื่องสำอาง หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อของภาชนะบรรจุเครื่องสำอาง
2. เครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลากซึ่งนำเข้าเพื่อขาย ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำฉลากเป็นภาษาไทยที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อ ในขณะนำเข้าที่ด่านศุลกากร แต่ต้องจัดทำฉลากเป็นภาษาไทยก่อนนำออกจำหน่ายให้แล้วเสร็จและถูกต้องภายใน 30 วัน นับแต่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ตรวจปล่อยให้นำเข้าแล้ว
3. ฉลากของเครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลากที่ผลิตเฉพาะเพื่อการส่งออกให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า
4. กรณีของเครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลากที่มีภาชนะบรรจุขนาดเล็ก และมีพื้นที่ในการแสดงฉลากน้อยกว่า 20 ตารางเซนติเมตร อย่างน้อยต้องแสดงข้อความ
          (1) ชื่อเครื่องสำอางและชื่อทางการค้าของเครื่องสำอาง ซึ่งต้องมีขนาดใหญ่กว่าข้อความอื่น
          (2) เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต
          (3) เดือน ปี ที่ผลิต หรือ ปี เดือน ที่ผลิต
          (4) เลขที่ใบรับแจ้ง (เลขที่จดแจ้ง 10 หลัก)
          สำหรับข้อความอันจำเป็นที่ไม่สามารถแสดงในฉลากที่มีพื้นที่ในการแสดงฉลากน้อยกว่า 20 ตารางเซนติเมตร ได้ให้แสดงไว้ที่ใบแทรกหรือเอกสารหรือคู่มือที่ใช้ประกอบเครื่องสำอางนั้นด้วย
          เดิมประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง เรื่อง ฉลากของเครื่องสำอาง (ลงวันที่ 2 กันยายน 2551, ราชกิจจานุเบกษา 22 กันยายน 2551) กำหนดให้แสดงเพียงชื่อเครื่องสำอาง และเลขที่ครั้งที่ผลิตเท่านั้น แต่ขณะนี้มีประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง เรื่อง ฉลากของเครื่องสำอาง (ราชกิจจานุเบกษา 17 มีนาคม 2554) กำหนดให้มีการเดือน ปี ที่ผลิต หรือ ปี เดือน ที่ผลิต และเลขที่ใบรับแจ้ง ซึ่งจะใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (14 กันยายน 2554)



โทษของการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง



          พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 57 กำหนดบทลงโทษผู้ขาย ผู้ผลิต ผู้นำเข้าเครื่องสำอางซึ่งไม่มีฉลาก หรือแสดงฉลากไม่ถูกต้องดังนี้

มาตรา 57 ผู้ใดขายเครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายเครื่องสำอางที่มีฉลากที่คณะกรรมการสั่งเลิกใช้ตามมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำโดยประมาท ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

                   ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขายหรือผู้นำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลาก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


เอกสารอ้างอิง
1. พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535
2. ประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง เรื่อง ฉลากของเครื่องสำอาง. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนพิเศษ 31 ง วันที่ 17 มีนาคม 2554 หน้า 34
3. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม พ.ศ. 2553 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนพิเศษ 36 ก วันที่ 2 มิถุนายน 2553 หน้า 15


http://rparun.exteen.com/20110406/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น