มติคณะรัฐมนตรี 1 พฤศจิกายน 2554
เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้มีสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุม ส่งเสริม และพัฒนาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ (ร่างมาตรา 5 และร่างมาตรา 6)
2. กำหนดให้รายได้ของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์มาจากเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน ค่าขึ้นทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ผลประโยชน์จากการดำเนินกิจกรรมของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้ เงินหรือทรัพย์สินที่สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ได้รับตามกฎหมายหรือโดยนิติกรรมอื่น และดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินข้างต้น (ร่างมาตรา 7)
3. กำหนดประเภทของสมาชิกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ กำหนดคุณสมบัติ สิทธิและหน้าที่ การสิ้นสุดความเป็นสมาชิกภาพของสมาชิก (ร่างมาตรา 9 – ร่างมาตรา 11 และร่างมาตรา 15)
4. กำหนดให้มีคณะกรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ กำหนดองค์ประกอบ คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และอำนาจหน้าที่ (ร่างมาตรา 16 ร่างมาตรา 18 – ร่างมาตรา 20 และร่างมาตรา23)
5. กำหนดประเภทของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ที่เป็นวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ควบคุม(ร่างมาตรา 28)
6. กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ควบคุมหรือกระทำด้วยวิธีใด ๆ ที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิที่จะประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ควบคุมโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้ (ร่างมาตรา 29)
7. กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ต้องประกอบวิชาชีพให้เป็นไปตามข้อบังคับ และต้องดำรงตนและปฏิบัติตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ด้วย (ร่างมาตรา 32)
8. กำหนดให้ข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสังคมสงเคราะห์จัดทำขึ้นเป็นภาษาไทย และกำหนดโทษการประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ (ร่างมาตรา 33– ร่างมาตรา 34)
9. กำหนดให้มีคณะกรรมการจรรยาบรรณ คุณสมบัติของคณะกรรมการ องค์ประกอบ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง (ร่างมาตรา 35 – ร่างมาตรา37)
10. กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ควบคุม ซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ควบคุม หรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ควบคุม (ร่างมาตรา43)
11. กำหนดให้มีบทกำหนดโทษ(ร่างมาตรา 45 – ร่างมาตรา 47)
12. กำหนดบทเฉพาะกาล (ร่างมาตรา 48 – ร่างมาตรา 50)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น