ข่าววงการคณะเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย เดือนตุลาคม 2554
1. ข่าวนี้รวบรวมเฉพาะข่าวที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์เท่านั้น ไม่รวมสื่ออื่น เช่น โทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ต วารสารทางวิชาการ
2. หลายสถาบัน หลายคนอาจมีกิจกรรมมากกว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ได้
3. ข่าวนี้ไม่รวมกิจกรรมบันเทิง กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสถานประกอบการเอกชน
4. ข่าวที่มีข้อความซ้ำกันมาก ๆ อาจรวบเป็นข่าวเดียว หรือจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ความร่วมมือในการวิจัยสมุนไพรรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพ
ศูนย์วิจัยนวัตกรรม C.I.R.D. (CAPP Innovation Research and Development Center) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรได้ศึกษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile dysfunction:ED) โดยได้รับความร่วมมือจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ทำการวิจัยกลุ่มยาสมุนไพรตะวันออกที่มีการนำมาใช้ในการบำรุงร่างกายช่วงต้นปี2554 โดยการทดลองจริงทางคลินิก (Clinical Trials) ด้วยการใช้ทั้งยาจริงและยาหลอก สมุนไพรที่ทดลองนี้ ได้แก่ สอเอี้ยง(SuoYan),อิ มเอี้ยคัก(Yin YangHuo), เขากวาง(Lu Rong), เม็ดเก๋ากี้ (Gou Gi Zi), ปาเก็กทียน (Ba Ji Tian), เก้ากุ๊กเฮี้ยง (Gou Gu Ye), เน็กฉ่งยัง(Rou Cong Rong)และสมุนไพรอื่นๆซึ่งสมุนไพรเหล่านี้ถูกนำมาใช้ ในการรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ป่วยชายชาวเอเชียตะวันออก
(คอลัมน์ Healthy: "นกเขาไม่ขัน" ไม่ใช่เรื่องใหญ่ สมุนไพรช่วยได้ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 2-5 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 26, 27)
- มอบยาแก้น้ำกัดเท้า
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ วช.ร่วมกับ กลุ่มน้ำเอย น้ำใจ สโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอบขี้ผึ้งแก้น้ำกัดเท้า แก่ชุดเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ที่สนามบินดอนเมือง เมื่อเร็วๆ นี้
(พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 12)
- เกณฑ์จริยธรรมส่งเสริมการขายยา
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะรองประธานคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมจริยธรรมผู้สั่งใช้ยาและยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการดำเนินการร่างเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทยว่า หลังจากที่ได้รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในวันที่ 26 ก.ค. มาแล้วนั้น ขณะนี้ทางคณะทำงานได้เตรียมเรียบเรียงข้อมูลเพื่อเตรียมทำสื่อประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์ก่อนนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลในเร็วๆ นี้ เพื่อจะได้ประชุมตัวแทนจากสถานบริการสาธารณสุข เพื่อหาจำนวนสมาชิกที่อาจจะทดลองใช้เกณฑ์ในเบื้องต้นก่อนว่าจะสามารถใช้ได้ผลดีเพียงใด ก่อนที่จะผลักดันให้คณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการประชุมในเวทีใหญ่ราวเดือน ธ.ค.54 เพื่อส่งเสริมให้เป็นกฎหมายที่สามารถบังคับใช้ในระดับประเทศได้
ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในเรื่องของสื่อประชาสัมพันธ์และหลักเกณฑ์จริยธรรมเบื้องต้นนั้น ทางคณะทำงานจะจัดประชุมย่อยอีกครั้งในราววันที่ 1 พ.ย.นี้ เพื่อหารือร่วมกันว่าสถานบริการที่ทดลองใช้สามารถปฏิบัติตามข้อใดได้บ้าง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลายองค์กรท้วงติงในบางประเด็น อาทิ เรื่องของความกังวลว่าจะไม่มีกองทุนกลางที่จะเข้ามาดูแลและควบคุมอย่างจริงจังนั้น ตนคิดว่าน่าจะสามารถหาทางออกได้ สำหรับข้อท้วงติงรายละเอียดหลักเกณฑ์นั้น คณะทำงานอาจขอเวลาในการศึกษาข้อมูลวิชาการเพิ่มเติม ก่อนจะปรับปรุงเนื้อหาต่อไป แต่เนื่องจากขณะนี้ขั้นตอนทางกฎหมายค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้นคาดว่าจะใช้วิธีการนำร่องในสถานบริการสาธารณสุข แบบสมัครใจก่อนจะดีกว่า ได้ผลหรือไม่ อย่างไรค่อยมาปรับปรุง
"สาเหตุที่ต้องทำเรื่องนี้เพราะที่ผ่านมามีปัญหาการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ กระตุ้นให้เกิดการใช้ยาฟุ่มเฟือย เกิดปัญหาการใช้ยาเกินจำเป็น การใช้ยาราคาแพง รวมถึงการใช้ยาที่ไม่สมเหตุผลและทำให้ประเทศเสียงบประมาณมหาศาล" ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว
(นำร่องเกณฑ์ขายยา-สั่งยาอย่างมีจริยธรรม. บ้านเมือง 21 ตุลาคม 2554 หน้า 12)
- การรับบริจาคเพื่อสมทบทุนผลิตยารักษาโรคน้ำกัดเท้า
"นิสิตเภสัช" รั้วจามจุรี ก็ออกมายืนถือกล่องรับบริจาคเพื่อสมทบทุน "ผลิตยารักษาโรคน้ำกัดเท้า" กอล์ฟ-กิตติศักดิ์ แก้วไชยนาม นิสิตชั้นปี 4 คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และออม-ศรัณย์ธร สุขศรี ชั้นปี 3 คณะอักษรศาสตร์บอกว่า เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ออกมายืนรับบริจาคไม่รู้สึกอายหรือเหนื่อยแต่อิ่มใจมากกว่าที่ได้ช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก
“เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่อยากช่วยแต่ไม่มีเงินมากพอที่จะบริจาค การทำแบบนี้ก็จะช่วยให้เขามีช่องทางการทำบุญได้มากขึ้น" กอล์ฟบอก ขณะที่"ออม" เสริมว่า การลงมาช่วยแบบนี้เป็นอีกประสบเราเรียนเรื่องการสร้างบ้านมาโดยตรงก็อยากนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาช่วยเหลือให้มากที่สุด
(พักกิน พักเที่ยวคนรุ่นใหม่ รวมพลังสู้ภัยน้ำ. มติชน วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 25)
- ความรู้ในการใช้ยาในโรคที่มากับน้ำท่วม
สัปดาห์นี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศจากข้อมูลทางวิชาการด้านประชากรศาสตร์ เป็นข้อมูลสำหรับการดูแลสุขภาพในช่วงที่ต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้ชาวจุฬาฯได้ร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือเพื่อช่วยให้คนไทยลดความสูญเสียจากภัยน้ำท่วมข้อมูลชุดนี้ได้รับความอนุเคราะห์จาก รศ.ภญ.ดร.พิณทิพย์ พงษ์เพ็ชรคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ โดยมี ผศ.ภญ.อภิฤดี เหมะจุฑา เป็นผู้เรียบเรียงสัปดาห์นี้ขอเสนอเรื่องโรคตาแดงก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งผศ.ภญ.อภิฤดี ได้กล่าวไว้ดังนี้
โรคตาแดงเกิดจากอะไร
โรคตาแดงเกิดจากการอักเสบหรือระคายเคืองที่เยื่อบุตา ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส มักพบได้บ่อยในช่วงหน้าฝนและบริเวณที่มีน้ำท่วม ยังมีสาเหตุอื่น เช่น ตาแดงจากการแพ้ หรือระคายเคืองและตาแดงจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
อาการของโรคตาแดงเป็นอย่างไร
มีอาการระคายเคืองหรือแสบตาปวดตา น้ำตาไหล มีขี้ตามากกว่าปกติ เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง เห็นเส้นเลือดชัดขึ้นอาการตามสาเหตุ
ตาแดงที่เกิดจากเชื้อไวรัส อาจมีอาการกลัวแสง หนังตาบวม มักเริ่มที่ตาข้างหนึ่งก่อนแล้วจึงลามไปอีกข้าง ซึ่งหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์
ตาแดงที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีอาการ "ตาแฉะ" คือมีน้ำตาและขี้ตาปริมาณมาก ขี้ตามีลักษณะเป็นหนองหรือมูกเขียวเหลือง ลืมตาได้ยากและมองเห็นไม่ชัดโดยเฉพาะเมื่อตื่นนอน
ตาแดงที่เกิดจากการระคายเคืองหรือการแพ้ มักมีอาการโดยรวมไม่รุนแรง แต่มีอาการคันหัวตา เปลือกตา และแสบตาน้ำตาไหลเป็นอาการเด่น
การติดต่อโรคตาแดง
ตาแดงที่เกิดจากการติดเชื้อนั้น ติดต่อได้ง่ายโดยตรงจากการสัมผัสน้ำตา ขี้ตาหรือน้ำมูกของผู้ป่วย และผ่านการใช้ข้าวของเครื่องใช้ร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้าผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
การป้องกันโรคตาแดงทำได้อย่างไร
หลักการสำคัญที่สุด คือ การรักษาความสะอาดของมือและลดโอกาสที่จะรับเชื้อโรคหรือน้ำสกปรกเข้าสู่ตา
- หากน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา ควรใช้น้ำสะอาดรีบล้างหน้าและล้างตาทันที
- ไม่อยู่ใกล้หรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคตาแดง แยกของใช้ส่วนตัว เช่นผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
- หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ เท่าที่จะทำได้พยายามอย่าใช้มือสัมผัสกับดวงตา
การรักษาโรคตาแดง
ผู้ป่วยโรคตาแดงส่วนใหญ่สามารถหายจากอาการได้เองแม้จะไม่ได้ใช้ยา แต่ควรทราบหลักการเบื้องต้นสำหรับโรคตาแดงเพื่อดูแลตนเองและลดการติดต่อผู้อื่น
- ไม่ใช้ผ้าซับน้ำตา เนื่องจากกลายเป็นแหล่งของเชื้อโรคที่จะติดต่อถึงคนอื่นได้ หากมีน้ำตามากควรใช้กระดาษชำระทิ้งหลังจากใช้
- พักผ่อนสายตา หลับตาและผ่อนคลายเท่าที่ทำได้
- หากมีการระคายเคือง แสบหรือปวดตา อาจใช้ผ้าเย็นหรือผ้าสะอาดชุบน้ำหมาดๆ ประคบเพื่อลดอาการไม่สบายตาได้
- เมื่อมีอาการระคายเคืองร่วมกับอาการคันตา จากการระคายเคืองหรือการแพ้ พยายามอย่าขยี้ตา หากคันตามากอาจใช้ยาหยอดตาแก้แพ้ หรือรับประทานยาแก้แพ้ (ยาเม็ดสีเหลืองคลอเฟนิรามีนที่ใช้แก้แพ้ ลดน้ำมูก) เพื่อบรรเทาอาการคันตาและลดโอกาสขยี้ตาแล้วทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน
- หากใช้ยาหยอดตาแก้แพ้แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือกลับเป็นมากขึ้น ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม แต่ถ้าไม่สามารถเดินทางไปได้อาจใช้ยาหยอดตา หรือยาป้ายตาที่มียาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเป็นองค์ประกอบ แก้ไขไปก่อนเพื่อลดโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อนหรือลดความรุนแรงของการติดเชื้อแบคทีเรีย
- การใช้ยาหยอดตาซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อในระยะแรกควรหยอดหนึ่งหยดทั้งสองข้างบ่อยๆ ทุกๆ 2-4 ชั่วโมง อาการดีขึ้นแล้วในวันที่ 3 จึงหยอดห่างขึ้นเป็นทุก 6 ชั่วโมง
- ถ้าเป็นยาป้ายตาสำหรับฆ่าเชื้อ การป้ายตามีฤทธิ์อยู่นานกว่ายาหยอด อาจป้ายทุก 6-8 ชั่วโมง ข้อเสีย คือ เหนอะหนะ ตาพร่าจากเนื้อขี้ผึ้ง ทำให้รำคาญแต่ได้ผลดี
- ควรใช้ยาต่อเนื่องจนอาการอักเสบของเยื่อบุตาหายเป็นปกติ มักดีขึ้นภายใน1 สัปดาห์
- ไม่ใช้ยาหยอดตาที่มีตัวยาสเตียรอยด์เป็นองค์ประกอบ เพราะจะยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้น
- ถ้ามีอาการต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยด่วน ไม่นิ่งนอนใจเพราะบางกรณีอาจเกิดอันตรายจนถึงตาบอดได้
- อาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน หลังจากใช้ยาแล้วหรืออาการแย่ลง
- มีการมองเห็นแย่ลง หรือมองภาพไม่ชัดกลัวแสงมาก
- แสบหรือปวดตามาก
ข้อควรระวังหรืออาการข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคตาแดง
- ต้องล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังใช้ยาหยอดตา หรือยาป้ายตาทุกครั้ง
- อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ยาหยอดตาและยาป้ายตาคือการระคายเคืองหรือแสบ ตาข้างที่ใช้ยา หากใช้แล้วเกิดอาการ อาจหลับตาหรือพักสายตาสักครู่ ซึ่งน้ำตาจะค่อยๆ เจือจางยาและลดการระคายเคือง
- อาการตาพร่า หลังจากใช้ยาป้ายตาเนื่องจากเนื้อขี้ผึ้งของยา อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตา มองเห็นภาพไม่ชัด จึงต้องระวังไม่เดินหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ก่อนใช้ยาต้องสังเกตวันหมดอายุของยา รวมถึงลักษณะทางกายภาพของบรรจุภัณฑ์ก่อนใช้ เช่น ฝาปิดสนิทดีหรือไม่ ไม่ใช้ถ้าหมดอายุหรือมีลักษณะไม่น่าไว้วางใจ หรือไม่สะอาด และห้ามใช้ยาหยอดตาของคนอื่น เพราะอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนมาติดเราได้
- ยาหยอดตาและยาป้ายตามีอายุการใช้งานไม่เกิน 1 เดือน หลังจากวันแรกที่เปิดใช้
- ยาหยอดตาฆ่าเชื้อ ที่มีคลอแรมเฟนิคอลเป็นองค์ประกอบ ถ้ายังไม่ได้ใช้ให้เก็บไว้ในตู้เย็น ถ้าไม่มีตู้เย็น อย่างกรณีที่เป็นยาบริจาคแก่ผู้ประสบอุทกภัย เก็บในอุณหภูมิทั่วไป ยังใช้ได้อย่างน้อย 10 วันขึ้นไป แต่ต้องระวังไม่ให้สัมผัสแสงแดดหรืออยู่ในอุณหภูมิที่ร้อน เพราะอาจทำให้อายุยาสั้นลง
บทความนี้นำมาจากบทความชุด "ความรู้ในการใช้ยาในโรคที่มากับน้ำท่วม"โดยผศ.ภญ.อภิฤดี เหมะจุฑา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(คอลัมน์ โรคตาแดง ภัยร้ายที่มากับน้ำ. โพสต์ทูเดย์ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า Z10)
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- การเตรียมความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพแห่งภูมิภาค
รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิบการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพแห่งภูมิภาคว่า มข. มีองค์ความรู้ด้านการแพทย์ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ มีคณะที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ 6 คณะ คือ คณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์คณะเทคโนโลยีด้านอาหาร และคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ รวมทั้งโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ที่มีศูนย์หัวใจสิริกิติ์ และมข.จะเปิดศูนย์ไตและศูนย์ตับ รวมถึงมีโครงการก่อสร้างศูนย์กลางสุขภาพอาเซียน(Medical Hub) 24 ไร่ ใกล้กับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และได้รับงบประมาณซื้อเครื่องมือ 1,000 ล้านบาท
"ส่วนในเรื่องของความเชี่ยวชาญ ด้านการรักษาโรคเฉพาะด้าน มข. มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการวินิจฉัยโรคติดต่อเขตร้อนได้ค่อนข้างแม่นยำ และรวดเร็วติดอันดับโลกและเอเชีย เนื่องจากมีประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยในภาคอีสานและประเทศเพื่อนบ้านมายาวนาน อีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็จะเป็นประชาคมอาเซียน ดังนั้น การเคลื่อนย้ายทุกๆ ด้านก็จะเสรี รวมถึงด้านการแพทย์ และด้านสุขภาพด้วย สำหรับการเตรียมตัวรองรับผู้ป่วยที่จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากไทยมีชื่อเสียงในด้านการรักษาทางโรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลขอนแก่น ยังสามารถขยายรองรับผู้ป่วยได้อีก ส่วนทางด้านเอกชน ได้แก่โรงพยาบาลขอนแก่น-ราม ได้ขยายโรงพยาบาลไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับโรงพยาบาลราชพฤกษ์กำลังจะไปสร้างโรงพยาบาลที่ใหม่พื้นที่ 150 ไร่ และโรงพยาบาลเวชธานี ก็มีผู้ป่วยเข้าไปรักษาจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเอกชนยังสามารถขยายตัวรองรับผู้ป่วยได้อีก"
รศ.ดร.กิตติชัยกล่าวอีกว่า ปัญหาของโรงพยาบาลในขณะนี้คือ สมองไหล เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯมาดึงตัวบุคลากรทางด้านการแพทย์ที่มีประสบการณ์ไปค่อนข้างมาก เพื่อรองรับผู้ป่วยชาวต่างประเทศที่ยอมจ่ายแพงๆ ทำให้ต้องเร่งผลิตเจ้าหน้าที่ด้านนี้เพิ่ม โดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการทำงานทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ เพื่อให้ตระหนักในการดูแลผู้ป่วย ส่วนด้านรายได้แน่นอนว่าของเราจะไม่เท่าเอกชน แต่จะพยายามทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ รวมถึงจัดสวัสดิการให้เหมาะสม
('มข.'ผุดศูนย์กลางสุขภาพอาเซียน ทุ่มพันล้านพร้อมเร่งผลิตหมอหลังเจอสมองไหลเข้ากรุงเทพฯ, มติชน (กรอบบ่าย) 6 ตุลาคม 2554 หน้า 9)
- ยาช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม
รองศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.วงศ์วิวัฒน์ ทัศนียกุล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้พบข้อมูลว่าประชาชนต้องการยารักษาโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเป็นยาที่กำลังขาดแคลน ผ่านมาทางหน่วยงานด้านสาธารณสุขของจังหวัด จึงได้หารือร่วมกันในการผลิตยาซึ่งเป็นตำรับยาที่ใช้ได้ผล และมีราคาไม่แพง สามารถใช้วัตถุดิบที่หาได้และมีอยู่ อีกทั้งเรามีความพร้อมในด้านบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และมีวิชาที่สอนด้านนี้อยู่แล้ว จึงได้ร่วมกันดำเนินการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเร่งผลิตด้วยความร่วมมือกันทั้งบุคลากร และนักศึกษา ใช้เวลานอกเวลาทำการ และวันหยุด โดยที่ผู้ที่มาล้วนเป็นจิตอาสาที่ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ขณะนี้เราผลิตและส่งมอบไปยังจังหวัดต่างๆ แล้ว 600 ขวด และยังมอบผ่านโครงการรวมน้ำใจช่วยน้ำท่วมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปแล้วอีกจำนวนหนึ่ง ในขณะที่ยังมีความต้องการเข้ามาอีกอย่างมากจึงตั้งเป้าหมายไว้จำนวน 1 หมื่นขวด
คณบดีคณะเภสัชศาสตร์กล่าวต่อว่า ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า (Whitfields Ointment)ที่ทำขึ้นเป็นส่วนผสมของ เบนโซอิกแอซิด ที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อรา และแบคที่เรีย และสารซาลิไซลิกแอซิด ที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อราส่วนหนึ่ง และเป็นตัวที่ช่วยกัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออกไป และส่วนผสมอื่นๆ ที่หาได้ทั่วไปโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.ผดุงขวัญ จิตโรภาส ประธานสาขาวิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม และ เภสัชกร ดร.นรินทร์ จันทร์ศรี ได้ร่วมมือกันดำเนินการกับอาสาสมัคร ณ ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
"บุคลากรทุนคนต่างเห็นใจประชาชน และอยากช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในสิ่งที่สามารถทำได้ ในขณะเดียวกันนักศึกษาของเราที่ผ่านการบ่อเพาะทางความคิดและจริยธรรม ก็ได้ร่วมแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมที่พวกเขากำลังจะออกไปเป็นส่วนหนึ่ง และเราก็ตระหนักดีว่าองค์กรแห่งนี้เป็นของประชาชนเป็นแหล่งพึ่งพิงหนึ่งที่เป็นความคาดหวัง การร่วมกิจกรรในครั้งนี้เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในแนวทางการทำงานของเรา และเป็นการตอบแทนสู่สังคม" คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มข.กล่าว
(มข.ผลิตยารักษาโรคน้ำกัดเท้าตั้งเป้าหมื่นขวดแจกจว. น้ำท่วม คม ชัด ลึก วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 10)
เมื่อน้ำท่วมทำให้คนต้องอยู่กับน้ำแทบจะตลอดเวลา ทำให้โรคที่มากับน้ำโดยเฉพาะน้ำกัดเท้าเกิดขึ้นกับประชาชนจำนวนมาก เหตุนี้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงนำความรู้ความสามารถทางเภสัชกรรมมาช่วยเหลือสังคม โดยเร่งผลิตยารักษาโรคน้ำกัดเท้า ด้วยตำรับยาที่มีคุณภาพ จากงบประมาณของคณะที่ได้จัดสรรเพื่อการช่วยเหลือประชาชน และความร่วมมือด้านแรงงานในการผลิตจากคณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา โดยตั้งเป้าหมายไว้จำนวน 10,000 ขวด
รศ.เภสัชกร ดร.วงศ์วิวัฒน์ ทัศนียกุล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า ขณะนี้ได้ผลิตและส่งมอบไปยังจังหวัดต่างๆ แล้ว 600 ขวด และยังมอบผ่านโครงการรวมน้ำใจช่วยน้ำท่วมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปแล้วอีกจำนวนหนึ่ง ในขณะที่ยังมีความต้องการเข้ามาอีกอย่างมากจึงตั้งเป้าหมายไว้จำนวน 10,000 ขวด
ด้านตำรับยารักษาโรคน้ำกัดเท้า (Whitfield's Ointment) ที่ทำขึ้นเป็นส่วนผสมของ เบนโซอิกแอสิก ที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อราและแบคทีเรีย และสารซาลิซาลิกแอสิก ที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อราส่วนหนึ่ง และเป็นตัวที่ช่วยกัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออกไป และส่วนผสมอื่นๆ ที่หาได้ทั่วไป.
(มข.ทำยาแก้น้ำกัดเท้า. ไทยโพสต์ วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 9)
สภาพของการแช่ขังของน้ำที่มีความสกปรก ก่อให้เกิดโรคน้ำกัดเท้า คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงนำความรู้ความสามารถทางเภสัชกรรมมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยระดมบุคลากรและนักศึกษาเร่งผลิตยารักษาโรคน้ำกัดเท้าซึ่งกำลังขาดแคลน ขณะที่ความต้องการยังมีอีกมาก ตั้งเป้าหมายไว้ 10,000 ขวด
(WHAT WHEN WHERE: น้ำใจจากชาวเภสัชฯ. กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 29)
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
รศ.เภสัชกร ปราโมทย์ ทิพย์ดวงตา หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ระดมทีมจิตอาสานักศึกษา บัณฑิตศึกษาระดับปริญญาโท-เอก บุคลากร และอาจารย์ประจำภาควิชา ผลิตยาใช้ภายนอก 2 ชนิด คือ ขี้ผึ้งวิทฟิลใช้ทารักษาและป้องกันน้ำกัดเท้า ขี้ผึ้งตะไคร้หอม ป้องกันยุงกัดนาน 2-4 ชั่วโมง เพื่อส่งมอบแก่ผู้ประสบอุทกภัยที่กำลังเดือดร้อนจำนวนมากในขณะนี้
รศ.เภสัชกร ปราโมทย์ กล่าวว่า ขี้ผึ้งวิทฟิล เป็นยาที่ได้ผลดีในการฆ่าเชื้อรา โดยไม่มีการระคายเคือง ปกติองค์กรเภสัชกรรมจะผลิตเพื่อจำหน่ายขนาด 5 กรัม ในราคา 10 กว่าบาท แต่ที่ปรุงขึ้นครั้งนี้เป็นขนาด25 กรัม เพราะผู้ประสบภัยน่าจะต้องใช้ยานานกว่า 1 สัปดาห์จึงจะหาย
"มีปัญหาบ้างในการปรุงยาครั้งนี้ เพราะสารเคมีบางชนิดที่ใช้ต้องสั่งมาจากกรุงเทพฯ ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการขนส่งและมีราคาแพงขึ้น แต่เมื่อ บริษัทวิทยาศรม ทราบว่าจะนำมาปรุงเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคกลางจึงช่วยเหลือ"
(คอลัมน์ จับข่าวเอามายำ. มติชน วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 10)
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดมทีมจิตอาสาทำยาขี้ผึ้งแก้น้ำกัดเท้า "วิทฟิวออยเม้นท์" และขี้ผึ้งตะไคร้หอมไล่ยุง เพื่อบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ภก.ปราโมทย์ ทิพย์ดวงตา หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำทีมอาจารย์ นักศึกษา บัณฑิตศึกษา บุคลากร ช่วยกันปรุงยาขี้ผึ้งแก้น้ำกัดเท้า "วิทฟิวออยเม้นท์" และขี้ผึ้งตะไคร้หอมไล่ยุง เพื่อบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ณ ห้องปฏิบัติการ ภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีทีมอาสาจากนักข่าวเครือข่ายเฟซบุ๊ค และกลุ่มอาสาช่วยผู้ประสบภัยต่างๆ มาร่วมด้วยช่วยกันอีกแรง
เนื่องจากปัญหาโรคน้ำกัดเท้าที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบภัย ทำให้มีความต้องการใช้ยาจำนวนมาก ซึ่งมีการผลิตเป็นหลักจากองค์การเภสัชกรรม และจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอื่นๆ แต่การบริจาคจากเชียงใหม่โดยหน่วยงานและทีมจิตอาสาต่างๆ ที่จะส่งไปพื้นที่น้ำท่วม ยังมีความต้องการยาเพื่อให้สามารถนำไปช่วยผู้ประสบภัยในจุดต่างๆ ให้มากขึ้น ดังนั้น ภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม จึงได้พัฒนาสูตรยาเพื่อให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับผู้ประสบภัยที่ยังต้องเผชิญกับน้ำท่วม และระดมทุนด้วยการรับบริจาคจากคณาจารย์ นักศึกษา บุคลากร เพื่อจัดทำยา ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากร้านจำหน่ายเคมีภัณฑ์ในการจัดส่งสารเคมีและส่วนประกอบในการ ปรุงยา
ยาขี้ผึ้งแก้น้ำกัดเท้า "วิทฟิวออยเม้นท์" สูตรที่นำมาปรุงในครั้งนี้ มีข้อดีที่เหมาะสมในการใช้ คือเป็นกลุ่มยาขี้ผึ้งที่ไม่ละลายน้ำ จึงสามารถใช้ในภาวะที่มีน้ำท่วมได้ มีสรรพคุณในการป้องกันน้ำกัดเท้า และรักษาน้ำกัดเท้า รักษาโรคเชื้อรา ทำการบรรจุในขวดแก้ว เพื่อป้องกันความเสื่อมของตัวยา โดยบรรจุในขนาดขวด 25 กรัม ที่จะเป็นขนาดเหมาะสมในการใช้ทารักษาให้หาย ข้อแนะนำวิธีการใช้ คือทาบางๆ วันละ 2 ครั้ง และเมื่อหายแล้ว อาจทาต่ออีก 1 อาทิตย์ เพื่อป้องกันไม่ให้กลับเป็นซ้ำ อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังคืออาจเกิดการระคายเคือง เช่น เกิดผื่นแดง หรือแพ้ได้
ยาขี้ผึ้งไล่ยุง มีส่วนประกอบของน้ำมันตะไคร้หอม ซึ่งมีฤทธิ์ไล่ยุง ทำในรูปแบบยาขี้ผึ้งเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ นอกจากมีสรรพคุณในการไล่ยุงแล้ว ยังมีสรรพคุณรักษาอาการคันจากยุงหรือแมลงกัดต่อย
การปรุงยาเพื่อช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากทีมอาสา จากคณาจารย์ นักศึกษา บัณฑิตศึกษา และบุคลากรในคณะเภสัช มช. แล้ว ยังมีทีมอาสาจากนักข่าว เครือข่ายเฟซบุ๊ค และทีมอาสาช่วยผู้ประสบภัยต่างๆ มาช่วยกันบรรจุขวด ปิดฉลาก และนำไปบริจาค เพื่อให้สามารถส่งถึงมือผู้ประสบภัยต่อไป
(มช.ระดมทีมจิตอาสาทำยาช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม. บ้านเมือง ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 14)
รศ.ภก.ปราโมทย์ทิพย์ดวงตา หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรมคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า ทางคณะได้ปรุงยาขี้ผึ้งแก้นัดกัดเท้า "วิทฟิวออยเม้นท์" และขี้ผึ้งตะไคร้หอมไล่ยุง เพื่อบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเนื่องจากปัญหาโรคน้ำกัดเท้าที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยทำให้มีความต้องการใช้ยาจำนวนมาก ภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม มช.จึงได้พัฒนาสูตรยาขี้ผึ้งแก้น้ำกัดเท้า "วิทฟิวออยเม้นท์" มีข้อดีที่เหมาะสมในการใช้ คือเป็นกลุ่มยาขี้ผึ้งที่ไม่ละลายน้ำจึงสามารถใช้ในภาวะที่มีน้ำท่วมได้ มีสรรพคุณป้องกันน้ำกัดเท้าและรักษาน้ำกัดเท้า รักษาโรคเชื้อรา ส่วนยาขี้ผึ้งไล่ยุง นอกจากมีสรรพคุณในการไล่ยุงแล้ว ยังรักษาอาการคันจากยุงหรือแมลงกัดต่อยด้วย.
(คอลัมน์ โทรโข่งขยายข่าว: ยาขี้ผึ้งแก้น้ำกัดเท้า. ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 15)
มหาวิทยาลัยนเรศวร
- สารสกัดต้นพรมมิ
รศ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์หัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีสมุนไพร ภาควิชาเภสัชเคมีและเภสัชเวท คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ซึ่งได้ทำการศึกษาพัฒนาต้น"พรมมิ" เพื่อใช้เป็นสมุนไพรบำรุงความจำ พบว่าสารสกัดที่ได้จากต้นพรมมิ มีสารซาโปนิน (saponins) ที่สามารถชะลอการเสื่อมของเซลล์สมอง มีผลกระตุ้นความจำและการเรียนรู้ได้ รวมถึงมีฤทธิ์ในการป้องกันการถูกทำลายของเซลล์ประสาทด้วย คณะผู้วิจัยยังได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ศึกษาผลทางคลินิกของพรมมิ ในอาสาสมัครที่ร่างกายปกติอายุ 55-70 ปี จำนวน 60 คน โดยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้ยาหลอก กับกลุ่มที่ได้สารสกัดพรมมิขนาด 300 และ 600 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 3 เดือน พบว่าสารสกัดพรมมิช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการทรงตัว เพิ่มการตื่นตัวต่อสิ่งเร้า มีสมาธิมากขึ้น เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้และความจำคลายอาการซึมเศร้า ไม่พบอาการพิษและภาวะข้างเคียงใดๆ ในกลุ่มอาสาสมัคร ปัจจุบันได้มีการจดอนุสิทธิบัตรแล้ว ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ผลิตยาเม็ดขนาด 300 มิลลิกรัม เป็นยาต้นแบบที่มีคุณสมบัติทางกายภาพที่เหมาะสมและมีความคงตัวดี โดย มน.พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดสมุนไพรพรมมิ ในรูปแบบยาเม็ด ให้แก่องค์การเภสัชกรรม โดยเตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตตั้งแต่ การเตรียมสารสกัด การผลิตเป็นยาเม็ด และการควบคุมคุณภาพ ซึ่ง มน.มุ่งเน้นให้ผลิตภัณฑ์ยามีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานประชาชนผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีคุณภาพในราคาสมเหตุผล การรับประทานอาหารเสริมพรมมิ ควรรับประทาน 300 มิลลิกรัมต่อวัน เมื่อรับประทานเพียง 2 เดือนเห็นผลได้ชัดเจนและหากไม่รับประทานเป็นยาเม็ด ก็สามารถนำสมุนไพรพรมมิมารับประทานเป็นผักสดกับน้ำพริก ประมาณวันละ 50 กรัมก็ช่วยบำรุงสมองได้เช่นกัน ทั้งนี้ผลงานวิจัยนี้ ได้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์ ช่วยส่งเสริมสมุนไพรไทย ลดการนำเข้าสมุนไพรจากต่างประเทศต่อไปในอนาคต สนใจผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดสมุนไพรพรมมิ ในรูปแบบยาเม็ด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ องค์การเภสัชกรรม โทร.0-2203-8000 หรือ Call Center 1648
( (1) คอลัมน์ การศึกษาสู่เศรษฐกิจ: ม.นเรศวรสกัด'ต้นพรมมิ' ลด...อัลไซเมอร์, มติชน 4 ตุลาคม 2554 หน้า 23, (2) ม.นเรศวรจับมือเภสัชเปิดตัวยาเม็ด'พรมมิ'วิจัยพบบำรุงสมอง, สยามรัฐ 4 ตุลาคม 2554 หน้า 10)
มหาวิทยาลัยมหิดล
- คอลัมน์ สมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
(ตะเกราน้ำ)
Eriobotrya bengalensis (Roxb.) Hook.f.ROSACEAE ชื่ออื่น จำปีดง (เชียงใหม่) ปะองเทศ (ภาคตะวันตก) เมียด (เลย) เข็มลาย (อุบลราชธานี) สีเสียดน้ำ (บุรีรัมย์)
ไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 10 ม.ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปรีถึงรูปใบหอก กว้าง 4-7 ซ.ม. ยาว 10-20 ซ.ม.ปลายใบเรียวแหลม โคนใบรูปลิ่ม แหลมหรือมนขอบใบจักฟันเลื่อย
ดอก ช่อ แบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายยอดยาวได้ถึง 12 ซ.ม. มีกลิ่นหอม มีขนสีน้ำตาลปกคลุม กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีน้ำตาลอ่อน กลีบดอก5 กลีบ สีขาว
ผล สด ทรงกลมหรือรูปไข่เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 ซ.ม. สีเหลือง เมล็ด 1-2 เมล็ด กลม
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ราก ผสมรากเข็มแดงและรากเข็มพวงขาว ต้มน้ำดื่ม บำรุงโลหิต
(มติชนสุดสัปดาห์ 7-13 ตุลาคม 2554 หน้า 66)
คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
(แห้วประดู่)
Eriosema chinense Vogel LEGUMINOSAE (FABACEAE)-PAPILIONOIDEAE ชื่ออื่น หญ้าลูกลีบ (เลย) ค้อนกลอง (อุบลราชธานี ปราจีนบุรี)แห้วดำ (นครสวรรค์) มันช่าง (สตูล) มันท่ง (สุราษฎร์ธานี)
ไม้ล้มลุก สูง 15-50 ซ.ม.ใบ ประกอบมีใบย่อยใบเดียว เรียงสลับ รูปแถบหรือรูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้างประมาณ 5 ม.ม. ยาว 2.5-6 ซ.ม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน มีขน
ดอก ช่อ แบบช่อกระจุก ดอกย่อย 1-3 ดอก กลีบเลี้ยงรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกรูปดอกถั่ว สีเหลือง กลีบกลางมีเส้นประสีแดง
ผล เป็นฝักแห้งแตก รูปขอบขนาน เมล็ดมี 2 เมล็ด รูปไตยาพื้นบ้านอีสานใช้ ราก รับประทานสด บำรุงกำลัง
(มติชนสุดสัปดาห์ 14-20 ตุลาคม 2554 หน้า 66)
(กาติด)
Erycibe cochinchinensis Gagnep.
CONVOLVULACEAE
ชื่ออื่น หนาวเดือนห้า (ยโสธร)
ไม้เถา มีเนื้อไม้ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก กว้าง 3-4.5 ซ.ม. ยาว 9-13 ซ.ม. ปลายใบแหลม โคนใบมน แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง
ดอก ช่อ แบบช่อกระจุก ออกตามต้น ยาวได้ถึง 2 ซ.ม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียว มีขนสีน้ำตาล กลีบดอกมี 5 กลีบ สีขาวนวลแกมเหลืองอ่อน
ผล สด รูปทรงรี ยาวได้ถึง 2 ซ.ม. สีส้มแกมเหลือง
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ลำต้นต้มน้ำดื่ม ลดความร้อนภายในร่างกาย
ลำต้นผสมลำต้นกำแพงเจ็ดชั้นและลำต้นตากวาง ต้มน้ำดื่มเป็นยาระบายและบำรุงร่างกาย
(มติชนสุดสัปดาห์ 21-27 ตุลาคม 2554 หน้า 66)
(ปอมแดง)
Euphorbia capillaris Gagnep.EUPHORBIACEAE ชื่ออื่น ใต้ใบ (อุบลราชธานี)
ไม้ล้มลุก สูง 20-40 ซ.ม.ใบ เดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับถึงรูปขอบขนาน ขนาดเล็ก ปลายใบกลมหรือแหลม โคนใบมน
ดอก ช่อ แบบช่อรูปถ้วย ออกที่ปลายกิ่ง ใบประดับย่อยสีขาวมี 4-5 ใบ ปลายแยกเป็น 3 แฉก ดอกแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกันดอกเพศผู้มีหลายดอก ดอกเพศเมียมี 1 ดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกลดรูป
ผล แห้งแตก มี 3 พูยาพื้นบ้านอีสานใช้ ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ แก้ปวด
(มติชนสุดสัปดาห์ 28 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2554 หน้า 66)
- คอลัมน์ หนึ่งวันกับหนึ่งคน: เล่าเรื่องพริก
การสัมภาษณ์ ศ.ดร.นันทวัน บุณยะประภัศร ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล: พริกปลูกได้ทั้งปี ปลูกได้ทั่วทุกภาค ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกพริกเป็นอันดับห้าของโลก พริกเป็นหนึ่งในโครงการ "สมุนไพรเพื่อสุขภาพชีวิต" รับทุนสนับสนุนจาก สกว. พริกเป็นอาหารที่กินเข้าไปแล้วช่วยขยายหลอดเลือดสมอง จึงเป็นการป้องกันโรคได้ดี
(เนื้อหาคร่าว ๆ จาก ไทยโพสต์ 10 ตุลาคม 2554 หน้า 15, คอลัมน์ เวทีผู้หญิง: พริก. ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 15)
- กิจกรรมกระเป๋าตุง ปลอดมะเร็งในวัยทอง
รศ.พร้อมจิต ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ร่วมเป็นวิทยากร ในกิจกรรม ส่งเสริมสตรีวัยทอง ครั้งที่ 7 (ฟรี) จัดโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในหัวข้อ "กระเป๋าตุงและปลอดมะเร็งในวัยทอง" โดย ดร.ภาพร เอกอรรถพร นักวิชาการอิสระ และ รศ.พร้อมจิต ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล กิจกรรมดังกล่าวเพื่อชี้นำพฤติกรรมสุขภาพแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ สำรองที่นั่งและสอบถามเพิ่มเติมที่ หน่วยต่อมไร้ท่อทางนรีเวช ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โทร.0-241-94657-8 จัดงาน ณ ห้องตรีเพ็ชร์ อาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ชั้น 15 รพ.ศิริราช วันอังคารที่ 18 ต.ค.54 เวลา 08.30-12.00 น.
(บ้านเมือง 12 ตุลาคม 2554 หน้า 4, บ้านเมือง 12 ตุลาคม 2554 หน้า 4, บ้านเมือง 18 ตุลาคม 2554 หน้า 12)
- ครัวเคลื่อนที่ช่วยคนน้ำท่วม
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวการวิจัยออกแบบชุดช่วยเหลือด้านอาหาร หรือตู้คอนเทนเนอร์เคลื่อนที่ ที่มีการกำหนดปริมาณสารอาหารทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต พลังงาน ที่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมควรจะได้รับ รวมทั้งมีการให้ความรู้ในการเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากน้ำท่วม เช่น โรคเลปโตสไปโรซิส (โรคฉี่หนู) และโรคชิคุนกุนยา
(ทำครัวน้ำท่วมรับภาวะวิกฤติ ม.มหิดลทำครัวเคลื่อนที่ช่วยคนน้ำท่วม, ไทยโพสต์ 12 ตุลาคม 2554 หน้า 2)
- สมุนไพรกับเขตการค้าเสรีอาเซียน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยิ่งนับวันการแข่งขันในตลาดการค้าของอาเซียนยิ่ง สูงขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศต่างส่งเสริมคุณภาพสินค้าตัวเองเพื่อเป็นทางเลือกให้ประเทศคู่ค้าตกลงซื้อขายผลิตภัณฑ์จากประเทศตัวเอง ซึ่งนั่นหมายถึงเม็ดเงิน และดุลการค้าที่จะถ่วงมาทางฝั่งของตนมากขึ้น... "สมุนไพรไทย" ก็เป็นอีกหนึ่งของดีที่น่าจะตีตลาดได้ ทว่าด้วยภูมิภาคที่คล้ายคลึงกันทำให้หลายประเทศก็มีสมุนไพรเป็นสินค้าส่งออกหลักอีกอย่างหนึ่ง ทำให้เวทีการค้าสมุนไพรในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะที่กำลังจะเป็นฟรีเทรดในปี 2558 นี้เข้มข้นไม่แพ้สินค้าตัวใดเลยทีเดียว
รศ.ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์อาจารย์จากภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรชนิดหาตัวจับยากคนหนึ่งของเมืองไทย ในฐานะกำลังสำคัญหลักของโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ยาสมุนไพรไทยเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า AFTA โดยการสนับสนุนของกระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยว่า หลายประเทศที่วิจัยสมุนไพรไปไกลมากและคาดว่าจะเป็นคู่แข่งสำคัญทางการค้า เช่นมาเลเซียที่นำสมุนไพร "ปลาไหลเผือก"มาวิจัยเป็นไวอะกร้าจากธรรมชาติ ที่รัฐบาลทุ่มทั้งทุน และนักวิจัยระดับประเทศจนผลวิจัยสำเร็จ ใช้กันเป็นยาประจำบ้านได้
รับความนิยมจนกลายเป็นสินค้าส่งออก ในขณะที่ประเทศไทยยังไปไม่ถึงขนาดนั้น เพราะคนไทยเองก็ยังมีคำถามต่อความปลอดภัยของยาสมุนไพรไทยเช่นกัน นั่นทำให้กลับมาที่โจทย์ที่โครงการนี้จำเป็นต้องการ คือการทำอย่างไรให้ยาสมุนไพรไทยปลอดภัยได้มาตรฐาน จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการฯ ทั้ง 2 เฟส
"การดำเนินงานของโครงการขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 โดยระยะแรกเริ่มในปีพ.ศ. 2552 ระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเฟสแรกได้เริ่มต้นพัฒนายาสมุนไพรในบัญชียาหลัก เป็นการพัฒนาเชิงสนับสนุนให้สมุนไพรในบัญชียาหลัก 19 ตัวนั้นมีประสิทธิภาพดีขึ้น เช่น ยาแตกตัวได้เร็วบรรจุในแคปซูลแล้วไม่เสียง่าย ควบคู่ไปกับการอบรมให้ความรู้ว่าผลิตยาสมุนไพรอย่างไรจึงจะได้มาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภคให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสมุนไพรภาคเอกชน 60 คน อบรมให้บุคลากรทางการแพทย์ 50 คน รวมถึงเดินสายอบรม 4 ภาค ภาคละ 50 คนอีกด้วย"
สำหรับการดำเนินการล่าสุดในขณะนี้นั้น รศ.ดร.นพมาศ ระบุว่าอยู่ในระยะที่ 2 โดยมีกรอบการดำเนินงาน 2 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2554-2555 โดยในเฟสนี้เน้นการขยายกรอบการทำงานและต่อยอดจากเฟสที่ 1 คือเพิ่มการอบรมการผลิตสมุนไพรในอุตสาหกรรมอย่างปลอดภัยและได้มาตรฐานแก่ผู้ประกอบการเอกชน 100 คน รวมถึงเพิ่มการอบรมในส่วนภูมิภาคให้แก่ผู้ผลิตยาในโรงพยาบาลรัฐบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขและผู้นำชุมชนด้วย
"ส่วนในเรื่องของบัญชียาหลักซึ่งขณะนี้มีอยู่ 71 ชนิด เราจะดึงออกมา 8 ชนิดเพื่อพัฒนาเชิงสนับสนุนให้ประสิทธิภาพดีขึ้น ปลอดภัยและได้มาตรฐานขึ้นเหมือนที่เราทำกับ 19 ชนิดในเฟส 1 แต่จะมีอยู่ 1 ชนิดที่เราจะทำ Clinical trial คือการวิจัย และพิสูจน์ทางคลินิก โดยเราจะทำกับครีมไพลเพื่อพิสูจน์ว่าภูมิปัญญาไพลมีฤทธิ์ตามที่ตำรับแพทย์แผนไทยใช้สืบต่อกันมาหรือไม่ ถ้าพบว่าออกฤทธิ์รักษาอาการปวดข้อและกระดูกได้ ก็จะส่งผลการวิจัยนี้เพื่อบรรจุครีมไพลลงในบัญชี ยาหลักด้วย ซึ่งขณะนี้เรากำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการวิจัย"อาจารย์จากภาควิชาเภสัชวินิจฉัยรายนี้สรุปความคืบหน้าล่าสุด
จนถึงขณะนี้ แม้ในภาพรวมจะพบว่า การสนับสนุนจากทางภาครัฐที่มีต่อแวดวงสมุนไพรอาจจะมีน้อยไปสักหน่อยหากเทียบกับบางประเทศในอาเซียนที่ออกตัวแรงและทำท่าจะเป็นคู่แข่งทาง การค้าที่สำคัญของไทย แต่โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ยาสมุนไพรไทยเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า AFTA นี้ ก็น่าจะเป็นก้าวเล็กๆ ที่สำคัญไม่น้อย ต่อการพัฒนาวงการอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยอย่างแน่นอน
(ม.มหิดล เสริมเกราะสมุนไพร สู้ศึกเวทีการค้าเสรีอาเซียน , ASTVผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 33)
- วัคซีนชิคุนกุนยา
กรุงเทพฯ : ทีมวิจัย ม.มหิดลพัฒนาเชื้อไวรัสต้นแบบสำหรับผลิตวัคซีนชิคุนกุนยามีศักยภาพสูง ต้านเชื้อไวรัสปัจจุบันที่กลายพันธุ์ได้ดี เหมาะสำหรับผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ระดับกึ่งอุตสาหกรรมเพื่อทดสอบในคน
รศ.นพ.ดร.สุธี ยกส้าน หัวหน้าศูนย์ วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยระหว่างให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่ควรเฝ้าระวังที่จะมากับภาวะน้ำท่วมขังภายใต้หัวข้อ "ปัญหาการแพร่ระบาดและการเฝ้าระวังโรคชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) และการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคชิคุนกุนยา" ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงความสำเร็จของทีมวิจัยในการพัฒนาเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาต้นแบบที่พร้อมนำไปผลิตวัคซีนเพื่อทำการทดลองในคนต่อไป
ทั้งนี้ โรคไข้ชิคุนกุนยาหรือโรคปวดข้อยุงลายเกิดจากไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุง เป็นพาหะ ได้แก่ ยุงลายบ้านและยุงลายสวน โดยเชื้อไวรัสนี้มีการกลายพันธุ์และสามารถทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ทุกรอบ 20-30 ปี ค้นพบครั้งแรกในแทนซาเนีย ทวีปแอฟริกา ขณะที่การระบาดของโรคเป็นแบบมุ่งมาทางตะวันออกหรือแพร่จากทวีปแอฟริกาสู่เอเชีย คาดว่าเข้ามาไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนไวรัสไข้เลือดออกเด็งกีเล็กน้อย และฝังตัวกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งจากการสำรวจของทีมงานวิจัยมหิดลในปี 2545-2546 พบว่าชาวไทยอายุ 20-30 ปี มีภูมิคุ้มกันโรคนี้ราว 30% แสดงถึงการเคยติดเชื้อในอดีตแต่ไม่มีอาการหรือมีอาการ
การระบาดครั้งล่าสุดในไทยเกิดขึ้นบริเวณภาคใต้ปี 2552 ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยของมหิดลได้ตรวจสอบในเชิงลึกเพื่อหาข้อมูลที่ถูกต้องและทันต่อเหตุการณ์สำหรับออกแบบวัคซีนที่เหมาะสมจนสามารถแยกเชื้อชิคุนกุนยาจากคนไข้ได้สำเร็จ เข้าสู่กระบวนการแยกเชื้อ ทำให้อ่อนฤทธิ์ และประเมินผล จนขณะนี้ได้ไวรัสต้นแบบที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับนำไปทดลองผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม เพื่อใช้เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์สำหรับทดลองในคนระยะที่ 1 ต่อไป
ในการประชุมหารือระหว่างทีมงานวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลและฝ่ายผลิต ได้แก่ โรงงานวัคซีนในประเทศไทยมีการนำเสนอข้อมูลกับหน่วยผลิตอุตสาหกรรมต่างประเทศ และองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งจากข้อมูลเชิงลึกพบว่า เชื้อไวรัสต้นแบบของมหิดลมีศักยภาพต้านเชื้อชิคุนกุนยาสายพันธุ์ปัจจุบัน ซึ่งกลายพันธุ์ได้ดีกว่าวัคซีนทดลองในอดีตที่มีการพัฒนามาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี คาดว่าขั้นตอนการหารือเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การผลิตวัคซีนอาจต้องใช้เวลา 3 เดือน ถึง 1 ปี
(เล็งผลิตวัคซีนชิคุนกุนยา โลกวันนี้ ฉบับวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554
- ต้านยาปลอม
พล.ต.ต.นพ.ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์ กรรมการแพทยสมาคมฯ ภก.ศ.ดร.สมพล ประคองพันธ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหิดล ร่วมเสวนาโครงการ PARTNERSHIP FOR MEDICINE ผนึกกำลังต้านยาปลอมที่สั่งซื้อทางเน็ต ที่โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส เมื่อเร็วๆ นี้
(บ้านเมือง ฉบับวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 12)
- ยาช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมมือกันจัดทำ ยาขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้าและ โลชั่นตะไคร้หอมกันยุงเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องในเขตจังหวัดลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา พื้นที่นวนคร บางเลน บางบัวทองและสายไหม ฯลฯ โดยได้จัดทำไปแล้ว3 ครั้ง รวมจำนวนกว่า 25,000 ตลับ ซึ่งได้รวบรวมเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบจากคณาจารย์ บุคลากร นักศึกษาและศิษย์เก่า คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนญาติพี่น้องเพื่อนฝูง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)โดยบริจาคผ่านหน่วยแพทย์ของ โรงพยาบาลรามาธิบดี,มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลค่ายทหารบก, สารวัตรทหารบก, ทหารเรือบ้านอาสาใจดี, เหล่าทหาร และอาสาสมัคร ที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอดจนยังเตรียมรวบรวมกำลังในการผลิต เพื่อให้ความช่วยเหลือในเขตพื้นที่อื่นๆ ต่อไปทั้งนี้ ยังมีการวางแผนจัดทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความต้องการของผู้ประสบภัยน้ำท่วม สำหรับป้องกันโรคติดต่อที่มากับน้ำอีกด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
(คอลัมน์โฆษกชาวบ้าน. มติชน วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 21)
คณะเภสัช ม.มหิดล ทำขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้า ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เผยทำแจกไปแล้ว 2.5 หมื่นตลับ ชวนอาสาสมัครร่วมกันทำขี้ผึ้งทุกวันพุธ พร้อมแนะวิธีป้องกันและรักษาโรคน้ำกัดเท้าให้หายขาด
รศ.ดร.ดวงดาว ฉันทศาสตร์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ในขณะนี้ไม่เพียงแต่จะท่วมสูงแล้ว แต่ยังท่วมขังเป็นเวลานาน ส่งผลให้ผู้ประสบภัยมีปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโรคน้ำกัดเท้า ดังนั้น ม.มหิดล ได้จัดทำยาขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้า (Whitfields Ointment) ซึ่งเป็นสูตรที่อยู่ในตำรับยา หาซื้อไม่ได้ในท้องตลาด ต้องทำเองตามกระบวนการทางเภสัช โดยมีส่วนผสมตัวยา 2 ชนิดที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราผสมกับขี้ผึ้ง เมื่อถูกน้ำตัวยาไม่ละลาย และติดผิวหนังได้นานกว่าชนิดครีมที่โดนน้ำก็ละลายหายหมด ขี้ผึ้งแก้น้ำกัดเท้าเป็นทางเลือกที่ช่วยเยียวยารักษาได้เป็นอย่างดี
รศ.ดร.ดวงดาวระบุว่า คณะเภสัช ศาสตร์ ม.มหิดล ขออาสาเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตขี้ผึ้งเพื่อบริจาคบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย พวกเราทั้งคณาจารย์ เภสัชกร นักศึกษา และบุคลากรภายในองค์กร ได้ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันผลิตขี้ผึ้งแก้น้ำกัดเท้าไปแล้วจำนวน 25,000 ตลับ โดยส่งไปมอบให้พื้นที่น้ำท่วมหลายจังหวัดอย่างต่อเนื่อง เช่น ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี นครปฐม และกรุงเทพฯ
"การจัดทำขี้ผึ้งแก้น้ำกัดเท้าได้รับเงินบริจาคผ่านทางหน่วยแพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี หน่วยแพทย์มหาวิทยาลัยมหิดล หน่วยแพทย์โรงพยาบาลค่ายทหารบก หน่วยแพทย์สารวัตรทหารบก หน่วยแพทย์ทหารเรือ บ้านอาสาใจดี โดยนัดหมายทำขี้ผึ้งทุกวันพุธ มีกำลังการผลิตประมาณ 5,000-8,000 ตลับต่อวัน มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ราว 12 บาทต่อตลับ นอกจากนี้ยังผลิตโลชั่นตะไคร้หอมกันยุง และวางแผนจัดทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ซึ่งเป็นความต้องการของผู้ประสบภัยน้ำท่วมสำหรับป้องกันโรคติดต่อที่มากับน้ำอีกด้วย" อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล เผย
ส่วนการป้องกันและรักษาโรคน้ำกัดเท้าในสถานการณ์น้ำท่วม รศ.ดร.ดวงดาวบอกว่า โรคน้ำกัดเท้าเป็นโรคที่ป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน เนื่องจากเท้าจะเปื่อยหรือชุ่มชื้น ทำให้เกิดการติดโรคเชื้อราได้ แต่ในภาวะน้ำท่วมผู้ประสบภัยก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแช่น้ำได้ ภายหลังขึ้นจากน้ำควรใช้น้ำประปาล้างเท้า หรืออาจใช้คลอรีนเติมลงไปในตุ่มน้ำที่จะใช้ล้างเท้าปริมาณเล็กน้อย โดยแช่คลอรีนไว้ก่อนใช้ เพื่อให้ส่วนเกินของคลอรีนระเหยออกไป จากนั้นจึงนำมาใช้ล้างเท้า โดยอาจนวดฝ่าเท้าด้วยเพื่อให้เลือดไหลเวียนมาเลี้ยงฝ่าเท้า บริเวณรอบนิ้วเท้าจะไม่มีเนื้อเหี่ยวย่น
วิธีการใช้ขี้ผึ้งน้ำกัดเท้า คือ ทาให้ทั่วบางๆ วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ เมื่อหายแล้วอาจทาต่ออีก 1-2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้กลับเป็นซ้ำ อย่างไรก็ดี ยานี้อาจเกิดการระคายเคืองในเด็กเล็ก เช่น เกิดผื่นแดง หรือบางครั้งแพ้ได้ ต้องระมัดระวังในการใช้ โดยห้ามให้ขี้ผึ้งโดนใบหน้าอย่างบริเวณผิวหนังที่บางอย่างเด็ดขาด การรักษาโรคน้ำกัดเท้าไม่ยากเพียงแต่อาจใช้เวลานาน โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานและผู้สูงอายุ เพราะเลือดลมเดินไม่ค่อยสะดวก อาจจะต้องดูแลเป็นพิเศษมากขึ้น
หากหน่วยงานใดต้องการขี้ผึ้งรักษาโรคน้ำกัดเท้าไปบริจาคให้ผู้ประสบภัยโปรดแจ้งมายังคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โทร.0-2644-8677-91 ต่อ 1300 ในวันและเวลาราชการ.
(เภสัชมหิดลทำขี้ผึ้งแจกรักษาน้ำกัดเท้า. ไทยโพสต์ วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 3)
มหาวิทยาลัยรังสิต
- บุคคลที่เป็นต้นแบบที่ดีของเยาวชน
ศ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตเข้ารับรางวัลในฐานะบุคคลผู้เป็นต้นแบบที่ดีของเยาวชน พร้อมทั้งให้เกียรติเข้าร่วมกิจกรรมโครงการ "YOUTH Day in Wonder Lens : ทำดีไร้ยางอายกับเด็กชายแว่นโต" เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งจัดโดย เครือข่ายเยาวชนพัฒนาศักยภาพ(องค์กรสาธารณประโยชน์) Youth for Next Step ร่วมกับ ชมรมพัฒนาศักยภาพPEACE GEN ณ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ปทุมวัน
((1) บุคคลต้นแบบเยาวชน, สยามรัฐ 3 ตุลาคม 2554 หน้า 10, (2) ไทยโพสต์ 9 ตุลาคม 2554 หน้า 18, (3) ไทยรัฐ กรอบบ่าย 14 ตุลาคม 2554 หน้า 15)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- การมีส่วนร่วมในการสร้างแหล่งเรียนรู้พืชสมุนไพร
รศ.สุมาลี เหลืองสกุล คณบดีคณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางคณะวัฒนธรรมฯ กำลังจัดทำแหล่งเรียนรู้พฤกษศาสตร์วิถีธรรมชาติชุมชน มศว ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ โรงเรียนสาธิตองครักษ์ จ.นครนายก เพื่อให้นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในบริเวณ ดังกล่าวเข้าชมได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้กำลังดำเนินการสวนพฤกษศาสตร์บนพื้นที่ 40 ไร่ จัดเป็นพื้นที่การเรียนรู้เพื่อให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทำงานกับทางมหาวิทยาลัย ซึ่ง มศว ได้ร่วมมือกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ว.ว.) เพื่อปลูกพืชที่หายาก ใกล้สูญพันธุ์ และเป็นพรรณพืชที่มีอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ประกอบด้วยพรรณไม้เศรษฐกิจ และพรรณพืชสมุนไพร เป็นการทำงานเพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมพืชซึ่งได้ร่วมมือและทำงานกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเป็นโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งนี้ยังได้ร่วมมือกับคณะต่างๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ อาทิ คณะแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และโรงพยาบาลอภัยภูเบศร์ ปราจีนบุรี ช่วยกันสร้างมูลค่าของสมุนไพรให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องดึงองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานด้วย เพื่อช่วยในเรื่องของการดูแลรักษา ขยายพันธุ์พืชสมุนไพร สิ่งสำคัญต้องให้ชาวบ้านมีรายได้ เพื่อว่าเขาจะได้ช่วยทางสวนพฤกษศาสตร์ทำงาน
(บ้านเมือง ฉบับวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 13)
มหาวิทยาลัยศิลปากร
- ยาช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม
อีกแรงพยุงพี่น้องไทยฝ่าวิกฤตน้ำท่วมมาจากจิตอาสาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยศักยภาพและความสามารถแห่งวิชาชีพ คือการผลิตยาสำหรับทาเพื่อป้องกันและรักษาโรคน้ำกัดเท้า
ภญ.รศ.ดร.จุไรรัตน์ นันทานิชคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของคณะเภสัชศาสตร์ เพื่อเป็นองค์กรสร้างปัญญาทางเภสัชศาสตร์สู่สังคมระดับนำของประเทศ คณะจึงมีนโยบายสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นการให้บริการด้านวิชาการและวิชาชีพสู่สังคม โดยได้ช่วยประสานงานและสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการโครงการ และคณะยังได้รับบริจาคสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยามาสมทบจากหน่วยงานภาคเอกชน ศิษย์เก่าและผู้มีจิตศรัทธาด้วย และได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์เจ้าหน้าที่และนักศึกษาทุกระดับชั้น เพื่อเป็นอีกช่องทางบรรเทาทุกข์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยป้องกันโรคน้ำกัดเท้า ภัยอย่างหนึ่งที่อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้าน ภญ.ผศ.ดร.สุชาดา พิริยะประสาธน์หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม เปิดเผยว่า เมื่อได้ทราบข่าวปัญหาสุขภาวะของผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม ภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม จึงได้จัดทำโครงการผลิตยาขี้ผึ้งสำหรับโรคน้ำกัดเท้าเพื่อมอบให้กับชุมชนที่ประสบภัยในภูมิภาคต่างๆ และเพื่อเป็นบริการทางวิชาการแก่สังคม นอกจากนี้ยังเป็นการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนและการมีจิตสาธารณะกับกิจกรรมของนักศึกษา และหวังว่าคณะจะสามารถเป็นที่พึ่งพิงในเรื่องยาและสุขภาพต่อชุมชนได้
สำหรับยาที่ผลิตครั้งนี้มี 2 ประเภท คือ ยาทาป้องกันน้ำกัดเท้าแบบวาสลีนและยาทาแก้โรคน้ำกัดเท้าแบบขี้ผึ้ง โดยภญ.ผศ.ดร.พนิดาอัศวพิชยนต์ หัวหน้าทีมการผลิตยาครั้งนี้ให้รายละเอียดว่า ในด้านสูตรตำรับยาอ้างอิงจากเภสัชตำรับประเทศอังกฤษ (British Pharmacopeia) ที่ใช้สอนนักศึกษาเภสัชศาสตร์อยู่แล้ว ตัวยามีส่วนประกอบของกรดเบนโซอิก (benzoic acid) ที่มีผลในการฆ่าเชื้อราและกรดซาลิไซลิก (salicylic acid) ที่ช่วยลอกผิวหนังที่เป็นขุย สะเก็ดหรือปื้นขาว ทำให้ตัวยาฆ่าเชื้อราออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น โดยสูตรที่ผลิตมีจุดเด่นคือเป็นลักษณะขี้ผึ้งทนน้ำและราคาถูก
"ตัวยาที่คณะผลิตมี 2 ตัวยา คือยาสำหรับป้องกันที่เป็นวาสลีนใช้ทาก่อนจะลุยน้ำเพื่อลดการโดนน้ำกัดเท้า และตัวยาที่ใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้าสำหรับทาบริเวณที่มีอาการคัน แดงและลอกของผิวหนัง ก่อนใช้ควรอ่านฉลากให้ชัดเจนและถูกต้องกับอาการก่อนใช้ โดยยาที่ผลิตมีอายุประมาณ 1-2 ปี เก็บไว้ใช้หลังน้ำท่วมได้สำหรับผู้ที่ต้องทำงานอยู่กับความชื้นหรือเสี่ยงกับการเป็นโรคน้ำกัดเท้า"
สมกมล แม้นจันทร์บัณฑิตศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิศวเภสัชกรรม หนึ่งในจิตอาสา กล่าวว่า พี่ๆ ปริญญาเอกและปริญญาโทจะเริ่มจัดเตรียมความพร้อมก่อนจะถึงวันผลิตยาจริง โดยมีหน้าที่ในการควบคุมน้องๆ ปริญญาตรีในการเตรียมส่วนประกอบ ผสมและกระบวนการทำยาในขั้นตอนต่างๆรวมถึงลงมือทำเองจากทักษะที่เรียนมาภูมิใจมากที่ได้มีส่วนร่วม ถึงแม้จะไม่สามารถลงไปช่วยได้ถึงพื้นที่ประสบภัย แต่ก็ดีใจที่จะได้ส่งยาจากฝีมือเภสัชกรของศิลปากรไปช่วยบรรเทาอาการน้ำกัดเท้าและป้องกันให้กับประชาชนที่กำลังประสบอุทกภัยในครั้งนี้ ซึ่งหนักมากจริงๆ
ขณะที่ ไพลินรัฐศาสตร์วารินปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 บอกว่าผู้ประสบภัยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนยาที่ผลิตและนำไปแจกเพราะลำบากกันมากอยู่แล้ว และถือเป็นโอกาสที่ดีของตนเองที่ได้ช่วยทำงานได้เรียนรู้กระบวนการทำงานและได้ส่งผลงานที่ผลิตสู่ประชาชนจริงๆ ใช้รักษาได้จริงให้ประสบการณ์มากกว่าในห้องเรียน
การผลิตยาครั้งนี้นอกจากจะได้แรงงานและแรงใจสำคัญจากคณาจารย์นักศึกษาและนักวิทยาศาสตร์ของคณะช่วยกันเตรียม ผลิตและบรรจุ กว่า30,000 ตลับ ก่อนกระจายสู่ผู้ประสบอุทกภัย ยังมีองค์กรภาคเอกชนสนับสนุนวัตถุดิบ สารเคมี ตัวยาสำคัญ ตลับใส่ยาฉลากยา และเงินทุนด้วย ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยหรือหน่วยงานที่ต้องการใช้ยา ติดต่อได้ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
(รายงานพิเศษ: เภสัชศิลปากรผ่อนทุกข์ภัยน้ำท่วมจิตอาสาผลิตยาน้ำกัดเท้า. ข่าวสด ฉบับวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 26)
สถานการณ์อุทกภัยทำให้เกิดความเดือดร้อนกันไปทั่วกว่าครึ่งประเทศแต่ในสภาพการณ์เช่นนี้ยังทำไห้คนไทยแสดงน้ำใจด้วยการช่วยเหลือในด้านการมีจิตอาสา แบ่งปัน พึ่งพากันอย่างทั่วถึง และอีกหนึ่งความสามารถของคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัยครั้งนี้คือการผลิตยาสำหรับทาเพื่อป้องกันและรักษาโรคน้ำกัดเท้า อีกปัญหาที่มักพบบ่อยกับอุทกภัยและผู้ที่ต้องแช่น้ำเป็นเวลานาน
ภญ.รศ.ดร.จุไรรัตน์ นันทานิช คณบดีคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่าทางคณะได้รับบริจาคสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาจากหน่วยงานภาคเอกชน ศิษย์เก่าและผู้มีจิตศรัทธาเพื่อสนับสนุนกิจกรรมจิตอาสาในครั้งนี้เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในการป้องกันโรคน้ำกัดเท้า
ในด้านตัวยาที่ผลิตครั้งนี้มี 2 ประเภทคือยาทาป้องกันน้ำกัดเท้าแบบวาสลีน และยาทาแก้โรคน้ำกัดเท้าแบบขี้ผึ้งโดยที่ ภญ.ผศ.ดร.พนิดา อัศวพิชยนต์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าทีมการผลิตยาครั้งนี้ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับตัวยาและการใช้ยาว่าหน่วยงานเราได้รวบรวมจิตอาสาจากนักศึกษาทุกระดับชั้นเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตในด้านสูตรตำรับยาอ้างอิงจากเภสัชตำรับประเทศอังกฤษ (British Pharmacopeia) ที่ใช้สอนนักศึกษาเภสัชศาสตร์อยู่แล้ว ตัวยามีส่วนประกอบของกรดเบนโซอิก (benzoic acid) ที่มีผลในการฆ่าเชื้อรา และกรดซาลิไซลิก (salicylic acid) ที่ช่วยลอกผิวหนังที่เป็นขุยสะเก็ดหรือปื้นขาวทำให้ตัวยาฆ่าเชื้อราออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น
"สูตรที่เราผลิตมีจุดเด่น คือ เป็นลักษณะขี้ผึ้งทนน้ำและราคาถูก และตัวยาที่คณะฯผลิตขึ้นมาสองชนิด ยาที่ป้องกันเป็นวาสลีนใช้ทาก้อนจะลุยน้ำเพื่อลดการโดนน้ำกัดเท้าและตัวยาที่ใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้าสำหรับทาบริเวณที่มีอาการคัน แดง และลอกของผิวหนังที่ถูกน้ำกัดเท้า ก่อนใช้ควรอ่านฉลากให้ชัดเจนและถูกต้องกับอาการก่อนใช้โดยยาที่ผลิตมีอายุประมาณ 1-2 ปี สามารถเก็บไว้ใช้หลังน้ำท่วมได้"
ในการผลิตยาป้องกันและแก้โรคน้ำกัดเท้าครั้งนี้มีนักศึกษาในคณะดังกล่าวหลายคนมาช่วยกันทำงาน ไพลิน รัฐศาสตร์วาริน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรหนึ่งในจิตอาสาครั้งนี้ กำลังบรรจุตัวยาที่ผลิตเสร็จเพื่อนำไปให้ประชาชน
"เป็นโอกาสดีที่ได้ทำงานเป็นทีมกับคนเยอะๆ ทั้งอาจารย์ นักวิทยาศาสตร์และพี่ๆปริญญาโท พวกเราอยากช่วยผู้ประสบภัยจะนำยาที่ผลิตไปแจกให้ประชาชน เพราะพวกเขาลำบากมาก"
(จิตอาสาเภสัชกรผลิตยา. กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 2)
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลิตยาสำหรับน้ำกัดเท้าแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ยาทาป้องกันน้ำกัดเท้าแบบวาสลีน ทาก่อนจะลุยน้ำเพื่อลดการถูกน้ำกัดเท้า และยาทาแก้โรคน้ำกัดเท้าแบบขี้ผึ้ง สำหรับทาบริเวณที่มีอาการคัน แดงและลอกของผิวหนังที่ถูกน้ำกัดเท้า เป็นสูตรตำรับยาอ้างอิงจากเภสัชตำรับประเทศอังกฤษ (British Pharmacopeia) ที่ใช้สอนนักศึกษาเภสัชศาสตร์อยู่แล้ว ตัวยามีส่วนประกอบของกรดเบนโซอิก (benzoic acid) ที่มีผลในการฆ่าเชื้อรา และกรดซาลิไซลิก (salicylic acid) ที่ช่วยลอกผิวหนังที่เป็นขุย สะเก็ด หรือปื้นขาว ทำให้ตัวยาฆ่าเชื้อราออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น ทั้งนี้ยาที่ผลิตมีอายุ 1-2 ปี จึงเก็บไว้ใช้หลังน้ำท่วมได้สำหรับผู้ที่ต้องทำงานอยู่กับความชื้นหรือเสี่ยงกับการเป็นโรคน้ำกัดเท้า
(คอลัมน์ SCI WATCH: เภสัชศาสตร์ผลิตยารักษาน้ำกัดเท้า. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 9)
คณะเภสัชศาสร์ ศิลปากร จะเปิดสายการผลิตยาขี้ผึ้งสำหรับน้ำกัดเท้าเพื่อผู้ประสบอุทกภัยเร็วๆ นี้ ซึ่งผ่านมาได้รับบริจากวัตถุดิบเพื่อผลิตยาขี้ผึ้ง 3 หมื่นตลับ ต้นทุนประมาณ 4.5 แสนบาท จากทั้งคณะฯ โรงงานยาและศิษย์เก่า และจะผลิตเพิ่มอีก 2 หมื่นตลับ ต้องการระดมทุนเพิ่มจากที่มีอีกประมาณ 200,000 บาท ร่วมบริจาคได้ที่ฝ่ายการเงิน คณะเภสัชศาสตร์ 0-3425-5800 หรือ 08-9919-2009 หรือบีญชี เภสัชศิลปากรเพื่อผู้ประสบภัย เลขที่บัญชี 537-2-09394-7 ธนาคารทหารไทย สาขามหาวิทยาลัยศิลปากร-พระราชวังสนามจันทร์
(คอลัมน์ ใคร อะไร ที่ไหน. คม ชัด ลึก วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554 หน้า 5)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น