วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประวัติความเป็นมาของพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537-ส่วนที่ 1 การเสนอร่างพระราชบัญญัติ

ประวัติความเป็นมาของพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์


ส่วนที่ 1 การเสนอร่างพระราชบัญญัติ
          วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2532 คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. ... ว่าสมควรแยกการควบคุมการประกอบวิชาชีพจากพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา[1] ต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2532 คณะรัฐมนตรีก็ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อน นำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป[2] ต่อมามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อร่วมกันเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานเลขาธิการรัฐสภาเสนอ[3]
          วันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2533 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. ....  ตามที่กระทรวงสาธารณสุขและ ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอ   และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนนำเสนอ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรตรวจพิจารณาต่อไปแล้วให้ทบวงรับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดให้มีผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขในคณะกรรมการ ทบวงมหาวิทยาลัยไปดำเนินการต่อไป[4]
          วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. ....   ที่ได้แก้ไขตามมติคณะกรรมการกลั่นกรอง ฯ ฝ่ายสังคมและกฎหมาย และร่างพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ  พ.ศ. ....  ที่ประธานกรรมการกลั่นกรอง ฯ ได้ตรวจพิจารณาแล้ว และให้เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา พิจารณาต่อไป[5] ต่อมามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อร่วมกันเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีรับหลักการร่างพระราชบัญญัติตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอ ดังต่อไปนี้ (1) ฉบับของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังธรรม (นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ และนายแสวง ฤกษ์จรัล พรรคพลังธรรม เป็นผู้เสนอ) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2535[6]  (2) ฉบับของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคกิจสังคม (นายอัมพล จันทรเจริญ พรรคกิจสังคม เป็นผู้เสนอ) เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2535[7]
          วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป[8]

          การเสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... มีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 4 ฉบับ ดังนี้[9]
          1. ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ฉบับคณะรัฐมนตรี สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรับไว้เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2536 ในสมัยนั้นเป็นรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 18 ปีที่ 1 ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญ ครั้งที่ 2) วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2536
          2. ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ฉบับนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ และนายแสวง ฤกษ์จรัส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังธรรม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรับไว้เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2535 บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 18 ปีที่ 1 ครั้งที่ 8 (สมัยสามัญ ครั้งที่ 1) วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2535
            3. ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ฉบับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์[10]  สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรับไว้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2535 บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 18 ปีที่ 1 ครั้งที่ 12 (สมัยสามัญ ครั้งที่ 1) วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2535
          4. ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ฉบับนายอัมพร จันทรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคกิจสังคม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรับไว้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2535 บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 18 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญ ครั้งที่ 1) วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2535

            หลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติ มีดังนี้
          1. หลักการ ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับ มีข้อความที่เหมือนกัน คือ “ให้มีกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเภสัชกรรม”
          2. เหตุผล
            (1)  ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ฉบับคณะรัฐมนตรี ฉบับนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ และนายแสวง ฤกษ์จรัส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังธรรม และฉบับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ มีเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีข้อความเหมือนกันดังนี้
          “โดยที่การประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาเภสัชกรรม อยู่ในความควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งมีคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะทำหน้าที่ควบคุมการประกอบโรคศิลปะสาขาต่าง ๆ ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ ในปัจจุบันวิชาการและเทคโนโลยีทางด้านเภสัชศาสตร์ในประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมาก ประกอบกับจำนวนผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาเภสัชกรรมมีจำนวนมากขึ้น สมควรแยกการควบคุมการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ออกจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ โดยจัดตั้งสภาเภสัชกรรมขึ้นทำหน้าที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมแทนคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”  
          (2) ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ฉบับนายอัมพร จันทรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคกิจสังคม มีเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติดังนี้
          “โดยที่ในปัจจุบันการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาเภสัชกรรม กรรม อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ แต่เนื่องจากในปัจจุบันการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาเภสัชกรรมได้พัฒนาออกไปอย่างกว้างขวางและมีบุคลากรในสาขานี้เป็นจำนวนมาก จากกรณีดังกล่าวจึงสมควรแยกการควบคุมการประกอบวิชาชีพในสาขาเภสัชกรรมออกจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ โดยจัดตั้งสภาเภสัชกรรมขึ้นประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าว ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยผู้ประกอบวิชาชีพด้วยกันเองเป็นกรรมการ ทั้งนี้ เพื่อความคล่องตัวในการทำหน้าที่ควบคุมและส่งเสริมมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมได้โดยอิสระ เหมาะสม และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”





[1] มติคณะรัฐมนตรี 9 พฤษภาคม พ.ศ.2532
[2] มติคณะรัฐมนตรี 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2532
[3] มติคณะรัฐมนตรี 10 กรกฎาคม พ.ศ.2533
[4] มติคณะรัฐมนตรี 18 กันยายน พ.ศ.2533
[5] มติคณะรัฐมนตรี 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535
[6] มติคณะรัฐมนตรี 20 ตุลาคม พ.ศ.2535
[7] มติคณะรัฐมนตรี 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2535
[8] มติคณะรัฐมนตรี 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536
[9] สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 (นิติบัญญัติ ฉบับที่ 16), หน้า 3
[10] ยังไม่สามารถค้นหาข้อมูลได้ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการเมื่อใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น