วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ทำไมร้านสะดวกซื้อไม่ปิดบังผลิตภัณฑ์บุหรี่ ถ้าทราบเหตุผลนี้แล้วจะอึ้ง


ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

          หลายคนคงสงสัยว่าเหตุใดจุดที่ขายบุหรี่ในร้านสะดวกซื้อจึงไม่ยอมหาอะไรมาปิดบังไม่ให้ผู้บริโภคเห็นทั้งที่มีกฎหมายห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์บุหรี่ไม่ใช่หรือ ด้านคนที่ผลักดันกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบเองก็บอกว่าตอนร่างกฎหมายนั้นมีเจตนาให้ต้องปิดบังผลิตภัณฑ์ยาสูบทำไมจึงไม่มีใครทำ บางคนก็สังเกตว่าเมื่อก่อนก็เห็นปิดบังผลิตภัณฑ์บุหรี่กันแต่ทำไมตอนนี้ไม่ปิดบังผลิตภัณฑ์บุหรี่แล้ว ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ยอมทำอะไรโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจากกระทรวงสาธารณสุข


 ภาพจาก อ.นพ.สุธีร์ รัตนมงคลกุล



         ประเด็นพิจารณา คือ
          1. พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 มาตรา 8 ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
               “มาตรา 8  ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบในสิ่งพิมพ์ ทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้ หรือใช้ชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบในการแสดง การแข่งขัน การให้บริการหรือการประกอบกิจกรรมอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์ให้สาธารณชนเข้าใจว่าเป็นชื่อ หรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบ
               บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับกับการถ่ายทอดสดรายการจากต่างประเทศทางวิทยุโทรทัศน์ และการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบในสิ่งพิมพ์ซึ่งจัดพิมพ์นอกราชอาณาจักรโดยมิได้มี วัตถุประสงค์ให้นำเข้ามาจำหน่ายจ่ายแจกในราชอาณาจักรโดยเฉพาะ”

          2. แนวทางปฏิบัติการโฆษณาบุหรี่ ณ จุดขาย
          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้มี “แนวทางปฏิบัติการโฆษณาบุหรี่ ณ จุดขาย” ซึ่งจะใช้แนวปฏิบัตินี้ตั้งแต่ 24 กันยายน พ.ศ.2548 เป็นต้นไป ซึ่งมีข้อความดังนี้
               “เพื่อให้การดำเนินการวางผลิตภัณฑ์ยาสูบที่จุดขายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีแนวทางปฏิบัติเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกันการริเริ่ม หรือลองสูบบุหรี่ประเภทผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชนและประชาชนอันเนื่องจากการโฆษณาส่งเสริมการขาย ณ จุดจำหน่าย จึงให้ใช้แนวทางปฏิบัตินี้ ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2548 เป็นต้นไป กล่าวคือ
               1. แนวทางนี้ให้ใช้ในทุกท้องที่ในราชอาณาจักร รวมทั้งร้านค้าปลอดอากรทุกแห่งยกเว้นร้านค้าปลอดอากรซึ่งจำหน่ายสินค้า ให้แก่บุคคลเฉพาะที่จะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรเท่านั้น
               2. ผู้ประกอบการค้าที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท จะต้องไม่ดำเนินการใดๆ ที่เป็นการแสดง ชื่อ ตรา เครื่องหมายการค้า ของผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นตู้ ชั้นวางจำหน่ายทุกประเภทหรือสิ่งอื่นใดที่จุดจำหน่าย ทั้งนี้ ให้รวมถึงการกระทำอื่นใดที่ทำให้ประชาชนเห็นซึ่งชื่อ ตรา เครื่องหมายการค้า ซอง กล่องหรือภาชนะ บรรจุผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาสูบ นั้นด้วย
               3. ผู้ประกอบการค้าที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท อาจจัดให้มีป้ายทำด้วยวัสดุใดๆ ขนาดพื้นที่ไม่เกินกว่าพื้นที่ของกระดาษขนาด A4 ตัวอักษรสีดำหรือน้ำเงินบนพื้นสีขาว ติดไว้ที่บริเวณจุดจำหน่ายได้ 1 จุด โดยมีข้อความ สถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบได้รับอนุญาตหรือ สถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือ ที่นี่จำหน่ายบุหรี่หรือ ที่นี่จำหน่ายบุหรี่/ซิการ์แล้วแต่กรณี
               4. ผู้ประกอบการค้าที่ได้รับอนุญาตอาจแสดงราคาจำหน่ายส่งและปลีกผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยการเขียนหรือพิมพ์ หรือกระทำให้ปรากฏด้วยวิธีการอื่นใดในบริเวณที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือนำออกมาแสดงให้ผู้บริโภคเมื่อได้รับการร้องขอ การแสดงชื่อหรือตราผลิตภัณฑ์ยาสูบ ตลอดจนแสดงราคา ให้จัดทำเป็นตัวอักษรขนาดไม่เกิน 20 พอยต์ (ประมาณ 3 มิลลิเมตร) ด้วยสีดำหรือสีน้ำเงินบนกระดาษหรือวัสดุอื่นใดที่มีสีขาว”
          ต่อมาหลังจากที่มีบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การห้ามแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย - คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) - เรื่องเสร็จที่ 718/2548 (พฤศจิกายน 2548) แล้ว กระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีการประชุมผู้เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2548 ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนกรมสรรพสามิต ผู้แทนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีและรองอธิบดีกรมควบคุมโรค และข้าราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบ “แนวปฏิบัติบังคับใช้กฎหมาย “ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย”” ดังนี้
               1. ตำแหน่งที่วางผลิตภัณฑ์ยาสูบ ต้องเป็นตำแหน่งที่จะทำให้บุคคลจากภายนอกหรือภายในร้านมองเห็นได้ง่าย
               2. การตั้งวางเรียงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ให้สามารถสังเกตเห็นได้ง่ายไม่ว่าจะมีจำนวนเท่าใดหรือนำผลิตภัณฑ์ยาสูบมาใส่ภาชนะใดๆ ที่มีลักษณะสะดุดตาเป็นพิเศษ
               3. ตำแหน่งที่วางผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย เป็นตำแหน่งที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบกำหนดหรือเจาะจงให้วางโดยอาจมีผลประโยชน์ตอบแทนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม




    

ปัญหาอยู่ที่ตรงไหน

          เรื่องการห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย มีบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถึง 2 ครั้ง คือ
          (1) บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การห้ามแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย - คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) - เรื่องเสร็จที่ 718/2548 (พฤศจิกายน 2548)
          (2) บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง หารือแนวทางปฏิบัติบังคับใช้กฎหมาย “ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย” เรื่องเสร็จที่ 6/2549 (มกราคม 2549) ซึ่งเป็นการพิจารณาร่วมกันระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และคณะที่ 10

          บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การห้ามแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย - คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) - เรื่องเสร็จที่ 718/2548 ซึ่งสรุปประเด็นได้ดังนี้
          ประเด็นที่หนึ่ง การแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย เป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 หรือไม่
               (1) คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) มีความเห็นว่าการแสดงสินค้า ณ จุดขาย เป็นประเพณีปฏิบัติในทางการค้า เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีอิสระในการเลือกหาสินค้าอันเป็นสิทธิอย่างหนึ่งของผู้บริโภคที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 4 (2) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แต่โดยที่ผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นสินค้าที่ทำให้เกิดโรคภัยร้ายแรงแก่ผู้บริโภค จึงมีกฎหมายควบคุมเกี่ยวกับการขายและการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ แต่การอ้างว่า “การแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย” เข้าข่าย “สิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้” จึงก็ควรจะต้องมีการห้ามโฆษณา แต่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) มีความเห็นว่า คำว่า “สิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้” อยู่ท้ายข้อความ “สิ่งพิมพ์ ทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์” จึงต้องตีความว่า “สิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้” เป็นสื่อโฆษณาทำนอง เดียวกับการโฆษณาในสิ่งพิมพ์ ทางวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ด้วย  ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการตีความกฎหมายที่ว่า กรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายมีถ้อยคำต่อเนื่องกันและคำสุดท้ายเป็นคำที่มีความ หมายทั่วไปต้องตีความคำสุดท้ายให้มีความหมายทำนองเดียวกับคำที่มาก่อน (Ejusdem generis rule)
               (2) การแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย จึงอาจจะมีทั้งกรณีที่เข้าข่ายและไม่เข้าข่ายเป็นการ “โฆษณา” ที่ต้องห้ามตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535  ดังนั้น จึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆ ไป
                    (2.1) ประเด็นที่ถือว่าเป็นการโฆษณา คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) มีความเห็นว่า ถ้าการแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย นั้น มีข้อเท็จจริงหรือการกระทำอย่างอื่นซึ่งส่อหรือแสดงให้เห็นได้ว่าผู้ผลิตหรือผู้ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบมีเจตนาที่จะโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขายเพื่อประโยชน์ในทางการค้าหรือมุ่งเน้นที่จะใช้จุดขายเป็นสถานที่โฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบประกอบอยู่ด้วย เช่น การแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบไว้ในตำแหน่งที่คนทั่วไปสามารถมองเห็นได้ง่าย โดยการนำซองผลิตภัณฑ์ยาสูบมาตั้งหรือวางเรียงให้เห็นเป็นที่สะดุดตาเป็นพิเศษ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาเพื่อการโฆษณายิ่งกว่าการแสดงเพื่อขายตามปกติ หรือถ้ามีข้อเท็จจริงว่าผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ขายในการเจาะจงตำแหน่งที่จะแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ
                    (2.2) ประเด็นที่ไม่เป็นการโฆษณา คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) มีความเห็นว่า การนำผลิตภัณฑ์ยาสูบออกแสดงเพื่อขาย ณ สถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และมิได้มีข้อเท็จจริงหรือการกระทำในลักษณะที่ส่อหรือแสดงให้เห็นได้ว่าผู้ผลิตหรือผู้ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบมีเจตนาที่จะโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขายเพื่อประโยชน์ในทางการค้าหรือมุ่งเน้นที่จะใช้จุดขายเป็นสถานที่โฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบประกอบอยู่ด้วย
                    (2.3) หากนโยบายของรัฐบาลที่จะห้ามการแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย โดยเด็ดขาดในทุกกรณีก็จะต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยยาสูบและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติต่อไป

          ประเด็นที่สอง สถานะแนวทางปฏิบัติการโฆษณาบุหรี่ ณ จุดขาย ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้อ้างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 มาตรา 8 จึงเป็นเพียงคำแนะนำเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติ (คงสื่อทำนองว่าไม่ได้มีสภาพบังคับ)
          ประเด็นที่สาม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสูบหรือร้านค้ายาสูบ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอุตสาหกรรมยาสูบทุกฉบับ (ไม่ใช่ปฏิบัติตามแค่พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535)


          จากนั้นกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ไปปรับปรุงแนวปฏิบัติใหม่ จนได้แนวปฏิบัติบังคับใช้กฎหมาย “ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย” (11 พฤศจิกายน 2548) ทั้ง 3 ข้อ และมาขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา จนกระทั่งมีบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง หารือแนวทางปฏิบัติบังคับใช้กฎหมาย “ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย” เรื่องเสร็จที่ 6/2549 (มกราคม 2549) ซึ่งเป็นการพิจารณาร่วมกันระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และคณะที่ 10 ซึ่งเป็นประเด็นพิจารณา แนวปฏิบัติบังคับใช้กฎหมาย “ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย” (11 พฤศจิกายน 2548)
          คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และคณะที่ 10 มีความเห็นว่าแนวปฏิบัติดังกล่าวไม่สอดคล้องกับ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การห้ามแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย - คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) - เรื่องเสร็จที่ 718/2548 สรุปได้ดังต่อไปนี้
               (1) ข้อความ “การตั้งวางเรียงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ให้สามารถสังเกตเห็นได้ง่ายไม่ว่าจะมีจำนวนเท่าใดหรือนำผลิตภัณฑ์ยาสูบมาใส่ภาชนะใดๆ ที่มีลักษณะสะดุดตาเป็นพิเศษ”  เป็นการเพิ่มเติมความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา 2 ประการ ได้แก่ จำนวนผลิตภัณฑ์ยาสูบ และ การนำผลิตภัณฑ์ยาสูบมาใส่ภาชนะใดๆ ที่มีลักษณะสะดุดตาเป็นพิเศษ (คณะกรรมการกฤษฎีกายกตัวอย่างเพียง การแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบไว้ในตำแหน่งที่คนทั่วไปสามารถมองเห็นได้ง่าย โดยการนำซองผลิตภัณฑ์ยาสูบมาตั้งหรือวางเรียงให้เห็นเป็นที่สะดุดตาเป็นพิเศษ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาเพื่อการโฆษณายิ่งกว่าการแสดงเพื่อขายตามปกติ หรือถ้ามีข้อเท็จจริงว่าผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ขายในการเจาะจงตำแหน่งที่จะแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ)
               (2) ข้อความ “ตำแหน่งที่วางผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย เป็นตำแหน่งที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบกำหนดหรือเจาะจงให้วางโดยอาจมีผลประโยชน์ตอบแทนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม”  แตกต่างจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา 2 ประการ ได้แก่ เพิ่มเติม “ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ” และมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับผลประโยชน์ตอบแทนโดยใช้ถ้อยคำว่า “อาจมีผลประโยชน์ตอบแทนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม”
               (3) แนวทางปฏิบัติบังคับใช้กฎหมาย “ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย” ไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย หากเป็นแต่เพียงคำแนะนำเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง เท่านั้น เนื่องจากพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้ให้อำนาจในการออกหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไว้แต่อย่างใด


ข้อคิดการแสดงบุหรี่ ณ จุดขาย
          กรณีที่เป็นปัญหาการแสดงบุหรี่ ณ จุดขาย มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
          1. คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่า การแสดงบุหรี่ ณ จุดขาย อาจเป็นการโฆษณาหรือไม่ก็ได้ ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป ไม่ใช่เห็นบอกว่าแสดงว่ามีบุหรี่ขายก็ถือว่าห้ามโฆษณาแล้ว จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่กล้าเข้าไปแตะต้องในประเด็นนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่แตะต้อง ร้านค้าบุหรี่จึงไม่ได้มีความกังวลในการเปิดตู้ให้เห็นบุหรี่ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความแตกต่างจากผู้ผลักดันกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบให้การวางขายเป็นลักษณะหนึ่งของการโฆษณาด้วย
          2. คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่าหากจะห้ามการแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย โดยเด็ดขาดในทุกกรณีก็จะต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยยาสูบและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อให้เกิดความชัดเจน แต่ก็ไม่เห็นถึงความพยายามของกระทรวงสาธารณสุขในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
         3. หากต้องการให้ แนวทางปฏิบัติบังคับใช้กฎหมาย “ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย” มีสภาพบังคับ ต้องแก้กฎหมายให้พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 มาตรา 8 มีอำนาจออกหลักเกณฑ์ที่ถือว่าเป็นการโฆษณาได้ แต่ก็ไม่เห็นถึงความพยายามของกระทรวงสาธารณสุขในการแก้ไขปัญหานี้เช่นกัน
          4. ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาผูกพันกระทรวง ทบวง กรม ผู้หารือ ตามมติคณะรัฐมนตรี 28 กุมภาพันธ์ 2482 (แต่ไม่ได้ผูกพันศาล) ซึ่งกรณีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานี้มีผลผูกพันถึงการปฏิบัติงานของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานผู้หารืออย่างแน่นอน


เอกสารอ้างอิง
1. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การห้ามแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย - คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) - เรื่องเสร็จที่ 718/2548 (พฤศจิกายน 2548). สืบค้นจาก http://web.krisdika.go.th/data/comment/comment2/2548/c2_0718_2548.pdf
2. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง หารือแนวทางปฏิบัติบังคับใช้กฎหมาย “ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย” เรื่องเสร็จที่ 6/2549 (มกราคม 2549). สืบค้นจาก http://web.krisdika.go.th/data/comment/comment2/2549/c2_0006_2549.pdf




ความจริงอันโหดร้าย

 - ขายบุหรี่ต้องมีใบอนุญาต และต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 28 (พ.ศ. 2549) ออกตามความในพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 เช่น ห้ามขายในสถานศึกษา ศาสนสถาน รวมทั้งบริเวณต่อเนื่องติดกับสถานศึกษา หรือศาสนสถาน ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 46 ซึ่งโทษปรับก็น้อยนิดมากในปัจจุบัน แต่อาจจะถือว่าสูงในสมัยปี พ.ศ.2509
(ดู กฎกระทรวง ฉบับที่ 28 (พ.ศ. 2549) ออกตามความในพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 ได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2549/A/074/7.PDF)

- โชว์บุหรี่ ณ จุดขาย ถ้าวางแบบสินค้าทั่วไป คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าเป็นประเพณีปฏิบัติในทางการค้า เป็นสิทธิในการเลือกหาสินค้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 4(2) จึงไม่ผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง แต่ถ้าวางแบบมีอะไรสะดุดตาเป็นพิเศษ มีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ขายในการเจาะจงตำแหน่งที่จะแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ จึงจะผิด

- ถ้าจะให้การโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย เป็นความผิด คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แนะนำให้มีการแก้พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 มาตรา 8 เมื่อ 9 ปีที่แล้ว แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ทำไม่สำเร็จ (ดูความหลังได้ที่ http://rparun.blogspot.com/2015/05/cigarette.html)

- กระทรวงสาธารณสุขเคยจะควบคุมบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า ก็ไม่เห็นมีอะไรคืบหน้า แต่กระทรวงพาณิชย์ได้ห้ามนำเข้าแล้วโดยมีประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการ นำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 และคณะกรรมการคุ้มครองผูบริโภคได้ห้ามขายและห้ามให้บริการแล้ว โดยมีคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” (ดู สถานะทางกฎหมายของบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ได้ที่ http://rparun.blogspot.com/2015/02/baraku.html






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น