วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เมื่อร้านขายยาขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทโดยฝ่าฝืนกฎหมาย นี่คือผลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น


ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

          การขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 เป็นสิ่งที่ร้านขายยาต้องระมัดระวัง หากคิดฝ่าฝืนกฎหมายหรือมีความผิดพลาดนั่นหมายความว่าอาจถูกลงโทษถึงขั้นจำคุกได้

          ร้านขายยาไม่ใช่ว่ามีใบอนุญาตขายยาแล้วจะสามารถขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทได้ หากสิ่งที่ขายเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 3,4 ต้องมีใบอนุญาตขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3, 4 ไม่สามารถขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1,2 ได้ 


กรณีที่ขายโดยไม่มีใบอนุญาต
          ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างกรณีที่เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 และ 4 เนื่องจากมักเป็นปัญหาในร้านขายยา
          หากเป็นขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 เช่น Alprazolam, Midazolam, Pseudoephedrine, Phentermine, Zolpidem ฝ่าฝืนความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง รับโทษตามมาตรา 89 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท
          หากเป็นการขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 4 เช่น Diazepam, Lorazepam, Clobazepam, Chlordiazepoxide ฝ่าฝืนความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง รับโทษตามมาตรา 90 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
          การลงโทษขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 และประเภท 4 อยู่คนละมาตรา จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน (นับโทษรวมกัน)

จะลงโทษในประเด็นขายหรือครอบครอง
          ถ้ามีการพบเห็นผู้ครอบครองวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทโดยฝ่าฝืนกฎหมาย (เช่น การครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต การครอบครองเพื่อเสพโดยไม่ได้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ทันตแพทย์) สามารถถูกตั้งข้อหาครอบครองวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 ได้แน่ ๆ (ถ้าไม่เข้าข่ายการครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ก็ไม่ต้องดูข้อความต่อไป)
          เมื่อทราบแน่ชัดแล้วว่าครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ต่อมาค่อยดูว่าสิ่งที่ครอบครองนั้น คือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภทใด หากสิ่งที่ครอบครองเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1,2 ที่แน่ ๆ คือ สามารถลงโทษตามมาตรา 106 วรรคหนึ่ง ได้อยู่แล้ว คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท แต่ถ้าจะให้รับโทษหนักกว่าเดิม ก็ดูว่าปริมาณที่ครอบครองซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายเป็นเท่าไหร่ เกินที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันใช้เกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1หรือประเภท 2 พ.ศ. 2555 ถ้าเกินตามประกาศนี้ก็จะถูกลงโทษตามมาตรา 106 ทวิ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท (ขณะที่เขียนเรื่องนี้มีกำหนดเพียง ephedrine 5.000 กรัม, pseudoephedrine 5.000 กรัม และ ketamine 0.500 กรัม ดังนั้นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 ตัวอื่น จึงยังลงโทษตามมาตรา 106 ทวิ ไม่ได้)
          ถ้าสิ่งที่ครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          การตั้งข้อหาเรื่องการครอบครอง อาจเป็นเพราะไม่ได้มีการล่อซื้อหรือร้านขายยานั้นไม่ได้มีการขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในช่วงเวลานั้น (หรืออาจจะขอให้ลงโทษเพียงแค่นี้ก็ได้เพื่อประโยชน์กรณีการรอลงอาญา) แต่ถ้าหากพบว่าวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ขาย ก็สามารถพิจารณาในประเด็นมีไว้เพื่อขาย ซึ่งอยู่ในนิยามของคำว่า “ขาย” ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ได้ ดังนั้น ถ้ามีการขายโดยไม่มีใบอนุญาตเกิดขึ้น ก็ย้อนกลับไปดูกรณีที่ขายโดยไม่มีใบอนุญาตตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว


ข้อสังเกต
1. การขาย การมีไว้เพื่อขาย (มีลักษณะของการครอบครอง) อยู่ในนิยามของคำว่า “ขาย” ตาม พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงเป็นความผิดบทเดียวกัน ถ้าพิจารณาลงโทษเรื่องขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในแต่ละประเภทโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ไม่ต้องลงโทษเรื่องครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง (ซึ่งใช้กับวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาททุกประเภท) ซึ่งถือเป็นบททั่วไปอีก ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10125/2551 (ข้อสังเกตเมื่อเทียบกับกฎหมายอื่น เช่น นิยามคำว่า “จำหน่าย” ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ไม่มีคำว่า “มีไว้เพื่อขาย”)   
2. ขึ้นศาล ศาลต้องสั่งริบวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด ตามพ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 116


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  10125/2551
          ร้านขายยาที่เกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 2 ที่ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างดำเนินการซื้อและขายยาแทน จำเลยที่ 1 ได้ขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 10 เม็ด ให้แก่สายลับ เมื่อเจ้าพนักงานเข้าไปตรวจค้นพบวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และประเภท 4 ภายในร้านขายยานั้น โดยจำเลยที่ 2 ก็ทราบดีว่ามีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และประเภท 4 อยู่ในร้านดังกล่าว แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในร้าน แต่ตามพฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายยาและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 10 เม็ด ให้แก่สายลับ และมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และประเภท 4 ไว้ในครอบครองเพื่อขาย
          การขายและการมีวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในครอบครองเพื่อขายเป็นความผิดฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ตามนิยาม คำว่า “ขาย” ใน พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4 มิใช่เป็นความผิดหลายบท
          ความผิดฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 เป็นความผิดที่มีบทความผิดและบทลงโทษคนละมาตรากับความผิดฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน
          เมื่อการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 16 วรรคหนึ่ง, 89, 90 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
          ศาลล่างทั้งสองมิได้สั่งริบวัตถุออกฤทธิ์ให้แก่กระทรวงสาธารณสุขตามมาตรา 116 เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้

 ________________________________

            โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 13 ทิว, 16, 62, 89, 90, 106, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และขอให้ริบวัตถุออกฤทธิ์ของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ คืนเงินจำนวน 300 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ

          จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 16 วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 90, 106 (ที่ถูกมาตรา 106 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตา 83) การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขาย เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 8 ปี ฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ไว้ในครอบครองเพื่อขาย จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 คงจำคุก 5 ปี 4 เดือน ฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ไว้ในครอบครองเพื่อขาย คงจำคุก 2 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 11 ปี ริบวัตถุออกฤทธิ์ของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ คืนธนบัตรจำนวน 300 บาท ที่ใช้ล่อซื้อของกลางแก่เจ้าของ

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          จำเลยทั้งสองฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งคัดค้านฟังเป็นยุติได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 10 เม็ด ราคา 300 บาท และเจ้าพนักงานตรวจยึดวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และประเภท 4 ของกลางได้จากร้านขายยาอินเตอร์เภสัชของจำเลยที่ 2 ที่ร้านขายยาดังกล่าวไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและขายวัตถุออกฤทธิ์ จำเลยที่ 2 ทราบว่าวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และประเภท 4 ของกลางเก็บอยู่ในร้านขายยานั้น จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ขายยาอยู่ที่ร้านขายยาอินเตอร์เภสัช

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดและต้องรับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน โดยเฉพาะนางนัยนาเป็นเจ้าพนักงานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไม่มีส่วนได้รับความดีความชอบโดยตรงจากการตรวจค้นจับกุมครั้งนี้ จึงไม่มีเหตุน่าระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสอง เชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริงขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 17.30 นาฬิกา พระอาทิตย์ยังไม่ตกดิน พยานทั้งสองยืนอยู่ตรงข้ามกับร้านขายยาที่เกิดเหตุห่างประมาณ 10 เมตร จึงเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจน ประกอบกับชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ คดีจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (เฟนเตอมีน) ของกลางจำนวน 10 เม็ด ให้แก่สายลับในราคา 300 บาท ร้านขายยาที่เกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 2 ที่ให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างดำเนินการซื้อและขายยาแทน ทั้งเจ้าพนักงานตรวจค้นพบวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และประเภท 4 ของกลางภายในร้านขายยานั้น โดยจำเลยที่ 2 ก็ทราบดีว่า มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และประเภท 4 ของกลางอยู่ในร้านดังกล่าว ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในร้าน แต่ตามพฤติการณ์ดังกล่าวก็ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายยาและเป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 10 เม็ด ของกลางให้แก่สายลับ และมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และประเภท 4 ไว้ในครอบครองเพื่อขายตามฟ้อง...

          และที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คำว่า “ขาย” ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4 หมายความรวมถึงการมีไว้เพื่อขายด้วย ดังนั้นการมีวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในครอบครองเพื่อขายและขายวัตถุออกฤทธิ์นั้นไปบางส่วนในระยะเวลาต่อเนื่องใกล้เคียงกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกันคือการขาย หามีความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายอีกกรรมหนึ่งไม่นั้น สำหรับการขายและมีไว้ในครอบครองเพื่อขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทและให้ลงโทษฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เพียงบทเดียว มิได้ลงโทษหลายกรรมดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา แต่อย่างไรก็ตาม การมีวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในครอบครองเพื่อขายนั้นเป็นความผิดฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ตามคำนิยามดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองปรับเป็นความผิดหลายบทจึงไม่ถูกต้อง ส่วนการมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ไว้ในครอบครองเพื่อขายก็เป็นความผิดที่มีบทความผิดและบทลงโทษคนละมาตรากับความผิดฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จึงเป็นความผิดต่างกรรมกันอย่างชัดแจ้ง ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยทั้งสองกรณีนี้อีกกรรมหนึ่งจึงชอบแล้ว แต่ถือเป็นความผิดฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ไม่ใช่ฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ไว้ในครอบครองเพื่อขาย

          จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62, 106 ซึ่งตามมาตรา 106 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดโทษจำคุกไว้เพียงตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี แต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองเกินคำขอนั้นก็ปรากฏว่า นอกจากโจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 62, 106 แล้ว ยังขอให้ลงโทษตามมาตรา 13 ทวิ, 89 ด้วย ซึ่งมาตรา 89 กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 89 จึงมิได้พิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองข้ออื่นๆ เป็นเพียงรายละเอียดและไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

          อนึ่ง เมื่อการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 16 วรรคหนึ่ง, 89, 90 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก กับการที่ศาลล่างทั้งสองได้สั่งริบวัตถุออกฤทธิ์ให้แก่กระทรวงสาธารณสุขตามมาตรา 116 เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้

          พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 16 วรรคหนึ่ง, 89, 90, 116 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เพียงบทเดียวกรรมหนึ่ง และฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 อีกกรรมหนึ่ง ริบวัตถุออกฤทธิ์ของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์


( ชัยรัตน์ เบ็ญจะมโน - พรเพชร วิชิตชลชัย - สุธี เทพสิทธา )

ศาลอาญา - นายสุพจน์ ตันไชย

ศาลอุทธรณ์ - นายคัมภีร์ กิตติปริญญาพงศ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น