วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เวลาเปิดทำการตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม


 ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

สมัยหนึ่งมีความสงสัยกันว่า เวลาเปิดทำการตาม พ.ร.บ.ยาฯ หมายความว่าอย่างไร เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้นิยามเวลาเปิดทำการไว้

ภายหลังที่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ 20/2528 เรื่อง นายวิษณุ หงส์พงศ์ กับพวก ร้องทุกข์ให้เพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้พื้นที่กรุงเทพมหานครต้องมีเภสัชกรตลอดเวลาเปิดทำการได้ให้มุมมองเวลาเปิดทำการไว้ด้วย ประกอบกับมุมมองของสมาคมร้านขายยาในขณะนั้น ทำให้พอสรุปประเด็นได้ดังนี้




เวลาเปิดทำการ (ของร้านยา) แบ่งออกเป็น
1. เวลาเปิดทำการตามความเป็นจริง เป็นเรื่องที่สมาคมร้านขายยาในขณะนั้นอ้างในทำนองว่าร้านยาไม่ได้ขายยาเพียงอย่างเดียวแต่ขายอย่างอื่นด้วย ช่วงใดที่ไม่ประสงค์จะขายยาก็ไม่ต้องมีเภสัชกร

ข้อสังเกต สมัยเริ่มแรกไม่มีกฎหมายกำหนดว่าเภสัชกรจะต้องอยู่ในร้านยาอย่างไร แต่ละร้านจึงกำหนดได้ตามใจเช่น วันละ 1 ชั่วโมง บางรายก็ไม่มาเลย ต่อมาก็มีกฎหมายแก้ไขใหม่มากำหนดให้ร้านยาต้องมีผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการอยู่ตลอดเวลาเปิดทำการ และขณะนั้นอยู่ในช่วงการอนุโลมให้มีเภสัชกรอย่างน้อย 3 ชั่วโมงจากเวลาเปิดร้านยาทั้งหมด ซึ่งสมาคมอ้างว่าหาเภสัชกรมาขายยาในช่วงเวลาอื่นไม่ได้ พอหาไม่ได้ก็จะทำให้ร้านยาถูกปิดไปด้วย

2. เวลาเปิดทำการตามการตีความของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ หมายถึง เวลาที่มีการขออนุญาตและได้รับอนุญาตให้เปิดทำการเป็นสถานที่ขายยา

ข้อสังเกต- คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ให้นิยามแบบนี้ไว้ในคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ 20/2528 เพราะอิงตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยายืนยันว่าจะอนุญาตให้เปิดขายยาได้เฉพาะในช่วงที่มีเภสัชกรมาประจำอยู่ได้จริง เพื่อเป็นหลักประกันว่ามีเภสัชกรมาอยู่ได้จริงตลอดเวลาเปิดทำการ  (หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือมีเภสัชกรมาให้บริการแก่ประชาชน-ผู้เขียน) และทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามิได้หมายถึงกรณีการเปิดร้านยาตามความเป็นจริงเพื่อขายสินค้าหรือยาอย่างอื่นที่ไม่ต้องขออนุญาตแต่อย่างใด โปรดสังเกตคำว่า “เป็นสถานที่ขายยา” นั่นอาจเป็นที่มาที่เข้าใจกันว่า นอกเวลาที่อนุญาตขายอย่างอื่นที่ไม่ต้องขออนุญาตได้ เช่น ยาสามัญประจำบ้าน แต่ยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ต้องขออนุญาตเสมอ ดังนั้นจึงไม่สามารถขายได้

ทีนี้ก็พอมองออกบ้างไหมว่าการเปิดร้านยาตามความเป็นจริง ไม่ได้มีหลักประกันว่าจะไม่มีการขายยาซึ่งในขณะนั้นไม่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติงานได้

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในสมัยนั้นไม่ทราบว่าจะให้หลักประกันว่ามีเภสัชกรตลอดเวลาได้อย่างไร จึงได้เสนอไปว่ามีเภสัชกรอยู่ในเวลาไหนก็ให้เปิดในเวลานั้น ก็ป้องกันคนที่ไม่ใช่เภสัชกรมาขายยาได้ระดับหนึ่ง (ตามหลักการ)  ทีนี้มันมีปัญหาอย่างหนึ่ง คือ ถ้าตีความแบบคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่กำหนดว่า เวลาเปิดทำการหมายถึงเวลาที่มีการขออนุญาตและได้รับอนุญาตให้เปิดทำการเป็นสถานที่ขายยา หากเภสัชกรจะขายยานอกเวลาที่ได้รับอนุญาต (แต่เป็นการเปิดทำการตามความเป็นจริง) อาจมีปัญหาว่าเป็นการขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ในช่วงเวลาที่ไม่ได้ขออนุญาต หรือขายยาโดยผิดเงื่อนไขจากใบอนุญาตทันที ทั้งที่หลักตามกฎหมายมีอย่างเดียว คือ เมื่อเปิดร้านยาเพื่อขายยาต้องมีเภสัชกร เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน (ตามนโยบายของรัฐบาลในสมัยนั้น)


ดูคำวินิจฉัยฉบับเต็มได้ที่ http://www.slideshare.net/rparun/20-2528
__________
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เภสัชกรประจำร้านขายยาแผนปัจจุบัน ประเภท ขย.1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น