ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
สื่อสารสนเทศเป็นช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร
และการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านทางอินเตอร์เน็ต
หากพบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีปัญหาทางอินเตอร์เน็ตจะดำเนินการอย่างไร
จะพิจารณาจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
ซึ่งมีส่วนสำคัญในการปรับใช้ในการแก้ปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหา ดังต่อไปนี้
1. โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย
จะใช้กฎหมายนี้ได้อย่างไร
มาตรา 14
ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี
หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1)
นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
พิจารณาองค์ประกอบของความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อน
ส่วนคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์เป็นเพียงเครื่องมือในการประกอบอาชญกรรม
แม้ว่าจะมีมาตรานี้แล้วก็ต้องพิจารณาด้วยว่าอาจเป็นความผิดตามกฎหมายอีกด้วยหรือไม่[1]
นิยามคำว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์”
ตามกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์เท่านั้น
แต่เป็นข้อความใดหรือสิ่งอื่นใดที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ก็ได้[2]
ดังนั้น ข้อความโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในระบบคอมพิวเตอร์จึงถือได้ว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้เช่น
หากมีการให้ข้อมูลปลอม หรือเป็นเท็จ แล้วน่าจะทำให้ประชาชนเกิดความเสียหายได้ เช่น
หลงเชื่อใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้วเกิดอันตราย
นอกจากจะมีความผิดตามกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีสิทธิที่จะดำเนินคดีได้ตลอดเวลาและสั่งให้ผู้กระทำผิดระงับการโฆษณาได้ทันที
หากฝ่าฝืนคำสั่งระงับการโฆษณาโดยปกติก็มีโทษทั้งจำคุกและปรับอยู่แล้ว ยังเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
พ.ศ. 2550 มาตรา 14(1) ได้เช่นกัน
ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ให้บริการ ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา
14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน
ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14 ด้วยตามมาตรา 15
เมื่อเป็นความผิดตามมาตรา
14(1) แล้ว ประเด็นต่อไป คือ
ภาครัฐจะมีส่วนช่วยแก้ไข บรรเทา หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร
จึงต้องพิจารณาจากมาตรา 20 ต่อไป
2. การระงับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางอินเตอร์เน็ต
มาตรา
20
ในกรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาคสองลักษณะ
1 หรือลักษณะ 1/1
แห่งประมวลกฎหมายอาญา
หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายนั้นเอง
หรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้
หากมีการกระทำผิดโดยทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์แพร่หลายตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
พ.ศ. 2550 มาตรา 20 จะมีมาตรการในการระงับข้อมูลคอมพิวเตอร์
ซึ่งสามารถนำมาใช้กับการปิดเว็บไซต์ได้
หากพิจารณาจากกรณีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายนี้ เมื่อมีความผิดตามกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว
ถือได้ว่าการโฆษณาดังกล่าวมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ตามมาตรา 20 วรรคหนึ่งทันที หากต้องการปิดเว็บไซต์ตามกฎหมายนี้จะอาศัยอำนาจศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง
โดยกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรียื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐาน[3]ต่อศาลที่มีเขตอำนาจ
และต้องขอให้ศาลมีคำสั่งในการปิดเว็บไซต์ที่พบว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมายได้ กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ปิดเว็บไซต์
พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
พ.ศ. 2550 มีทางเลือก 2 ทาง คือ
(1) ทำการระงับการทำให้แพร่หลายนั้นเอง กล่าวคือ ดำเนินการปิดเว็บไซต์ด้วยตนเอง
หรือมีช่องทางในการสกัดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์
(2) สั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้
กล่าวคือ สั่งให้ผู้ให้บริการปิดเว็บไซต์นั้นได้
3. ความแตกต่างในเรื่องการระงับโฆษณาตามกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการระงับโฆษณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
พ.ศ. 2550
การระงับโฆษณาตามกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น
การระงับโฆษณาตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 90 ทวิ, พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 42, พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 มาตรา 60, พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องอาศัยอำนาจศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง
มีอำนาจเพียงสั่งให้ผู้อื่นระงับการโฆษณาเท่านั้น
ไม่สามารถลงไปดำเนินการระงับการโฆษณาด้วยตนเอง โดยเฉพาะเรื่องการโฆษณาทางอินเตอร์เน็ตด้วยแล้วซึ่งต่างจากการระงับโฆษณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
พ.ศ. 2550 มาตรา 20 ต้องมีอำนาจศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง
เมื่อศาลสั่งระงับการโฆษณาแล้ว สามารถดำเนินการปิดเว็บไซต์เองได้
4. เว็บไซต์ที่เปิดในต่างประเทศทำอย่างไร
ปัญหาประการหนึ่งในการจัดการเรื่องการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางอินเตอร์เน็ต
คือ เว็บไซต์ที่ดำเนินการเปิดในต่างประเทศ หรือใช้เซิร์ฟเวอร์ของต่างประเทศ
ทำให้ไม่สามารถปิดเว็บไซต์ได้ ปัญหานี้หากใช้ความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยร่วมมือกับตำรวจสากล
(INTERPOL)
เว็บไซต์ตำรวจสากล
(INTERPOL) ได้ประกาศข่าวการกวาดล้างเว็บไซต์ขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้รับอนุญาต
ซึ่งกิจกรรมนี้ร่วมมือกันระหว่างตำรวจสากล (INTERPOL) กับอีก 100 ประเทศทั่วโลก
ในการจัดการเว็บไซต์ที่ขายยาอย่างผิดกฎหมาย (เช่น ขายพวกยาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ยาที่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์แต่เว็บไซต์ไม่ได้เรียกใบสั่ง
ฯลฯ) และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับช่วยลดน้ำหนัก
มีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา
ซึ่งยาเหล่านี้เป็นยาที่มีอันตรายจนถึงขั้นคุกคามชีวิตได้[4] หากมีปัญหาเรื่องแหล่งที่โฆษณาหรือเซิร์ฟเวอร์อยู่ในต่างประเทศ
ตำรวจสากลจะประสานงานกับประเทศปลายทางให้ดำเนินการตามกฎหมายของประเทศนั้นต่อไป
นอกจากนี้หน่วยงานของรัฐที่ดูแลเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพหลายประเทศก็ได้แสดงการดำเนินกิจกรรมนี้ทางเว็บไซต์ของตน
เช่น
สิงคโปร์
The Health Sciences Authority (HSA) ได้มีการยึดผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายซึ่งขายบนอินเตอร์เน็ต
ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน ถึงวันที่ 2
ตุลาคม พ.ศ.2555 รวมกันเป็นมูลค่า 18,000 เหรียญสิงคโปร์ (ราว 450,000 บาท)
และยึดเป็นจำนวนได้กว่า 13,000 หน่วย (เช่น เม็ด, แคปซูล, แผง) โดยผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายเหล่านี้
เป็นการขายทางออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ผลิตภัณฑ์ปลอม หรือมีการปลอมปน
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ขาย เช่น ยาคุมกำเนิด ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก เครื่องมือแพทย์
(เช่น คอนแทคเลนส์ ถุงยางอนามัย ชุดตรวจตั้งครรภ์)[5]
ออสเตรเลีย
Department of Health and Ageing Therapeutic Goods Administration ได้แถลงข่าวว่ามีการยึดยาปลอมและยาที่ผิดกฎหมายผ่านทางอินเตอร์เน็ต
โดยยึดเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 37,000 เม็ด
ผลิตภัณฑ์ที่ถูกดำเนินการ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์สเตียรอยด์ ยาปลอม
ยาที่ไม่ได้รับอนุญาต ในระหว่างวันที่ 25 กันยายน ถึงวันที่ 2
ตุลาคม ค.ศ.2012 ยาเหล่านี้ทำให้เกิดความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ[6]
สหรัฐอเมริกา
U.S. Food and Drug Administration (USFDA) ได้ติดตามร้านขายยาผ่านอินเตอร์เน็ตกว่า 4,100 แห่ง
ระหว่างวันที่ 25 กันยายน – 2 ตุลาคม
ค.ศ.2012 ซึ่งได้ดำเนินการผิดกฎหมาย เช่น มีการขายยาอันตราย
ยาที่ไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ ยาที่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์แต่ไม่ได้มีการเรียกใช้ใบสั่งแพทย์เมื่อมีการขายยา
ตัวอย่างยาที่ถูกดำเนินการ เช่น domperidone (ยานี้ถูกนำออกจากตลาดสหรัฐอเมริกาในปี
ค.ศ.1998), isotretinoin (USFDA
ให้ใช้เฉพาะแคปซูลเท่านั้น), oseltamivir phosphate USFDA อนุญาตเฉพาะชื่อการค้า Tamiflu เท่านั้น, Viagra
(sildenafil citrate) ไม่ได้มีการขายภายใต้ดุลพินิจของแพทย์หรือภายใต้การติดตามของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ[7]
สหราชอาณาจักร Medicines and Healthcare products Regulatory Agency (MRHA) ได้ยึดยากว่า 2.3 ล้านหน่วยการใช้
(doses) รวมทั้งยาปลอมกว่า 68,000 เม็ด
และได้กำลังปิดเว็บไซต์ 120 ชื่อ[8]
เอกสารอ้างอิง
[1] พรเพชร วิชิตชลชัย. คำอธิบายพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550. www.coj.go.th/coj2008/document/computer_miss_2550.pdf
[1] พรเพชร วิชิตชลชัย. คำอธิบายพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550. www.coj.go.th/coj2008/document/computer_miss_2550.pdf
[2] “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด
บรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้
และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
[3] ประเด็นพยานหลักฐานต่อศาลนี้
ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องมอบข้อมูลหลักฐานนี้ให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
พ.ศ. 2550
[4] INTERPOL.
Global crackdown on illicit online pharmacies. http://www.interpol.int/News-and-media/News-media-releases/2012/PR077
(October 4, 2012)
[5] Health Sciences Authority. About S$18,000 Worth of
Illegal Health Products Sold Online Seized by Hsa During Internet Blitz. http://www.hsa.gov.sg/publish/hsaportal/en/news_events/press_releases/2012/about_s_18_000_worth.html
(October 5, 2012)
[6] Department of Health and
Ageing Therapeutic Goods Administration. TGA part of international seizure of
fake and illegal medicines. http://www.tga.gov.au/newsroom/media-2012-seizure-medicines-121005.htm (October 5, 2012)
[7] U.S. Food and Drug
Administration. FDA takes action against thousands of illegal Internet
pharmacies. http://www.fda.gov/NewsEvents/Newsroom/PressAnnouncements/ucm322492.htm
(October 4, 2012)
[8] Medicines and Healthcare products Regulatory Agency.
Press Release: MHRA plays vital role in £6.5million drugs bust and stopping
spam emails. http://www.mhra.gov.uk/NewsCentre/Pressreleases/CON189211
(October 4, 2012)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น