วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สภาวิชาชีพกำหนดให้ต่ออายุใบประกอบวิชาชีพได้เพียงใด

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว แพทยสภาก็เคยออกข้อบังคับแพทยสภาเกี่ยวกับการต่ออายุใบประกอ​บวิชาชีพ (โปรดดูข้อ 25 แห่งข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการศึกษาต่อเนื่องสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2543 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2543/D/064/22.PDF) ต่อมาก็ถูกฟ้องศาลปกครอง เพราะพระราชบัญญัติวิชาชีพเ​วชกรรมฯ ยังไม่ให้ทำแบบนั้นได้ ศาลปกครองสูงสุดก็ให้รับคำร้อง เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2545  (http://court.admincourt.go.th/ordered/Attach/45_pdf/s45-0586-o01.pdf) คาดว่าแพทยสภาคงไม่เชื่อจึงนำเรื่องไปปรึกษากับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมี บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง  การกำหนดให้แพทย์ต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม (เรื่องเสร็จที่ 49/2546) ให้ความเห็นว่าต้องแก้พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 เท่านั้น (ดูรายละเอียดที่ http://www.lawreform.go.th/lawreform/images/th/jud/th/deca/2546/c2_0049_2546.htm) และต่อมาก็มีการยกเลิกข้อความในข้อบังคับแพทยสภานั้น (โปรดดู ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการศึกษาต่อเนื่องสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2546 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00126605.PDF) ไม่พบคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ อาจเป็นเพราะประเด็นที่จะวินิจฉัยไม่มีอีกต่อไปแล้วเนื่องจากมีการยกเลิกข้อบังคับแพทยสภาดังกล่าวหรือไม่ก็ผู้ร้องขอถอนคำร้องออกไป

กฎหมายของวิชาชีพเภสัชกรรมก็หน้าตาแบบเดียวกับกฎหมายวิ​ชาชีพเวชกรรม ต้องรอแก้ไขพระราชบัญญัติวิ​ชาชีพเภสัชกรรม ครับ ต้องรอให้คณะรัฐมนตรีหรือสม​าชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอเข้า​ไปใหม่อีกครั้ง เพราะกฎหมายวิชาชีพในปัจจุบันไม่เอื้อให้ทำอย่างนั้น และร่างกฎหมายใหม่ล่าสุดที่​พอหามาได้ก็มีความพยายามเสน​อแล้ว แต่ยุบสภาไปก่อน และรัฐสภาก็ไม่ได้รับรองให้​พิจารณาต่อ ดังนั้นต้องเสนอเข้าไปใหม่ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://​rparun.blogspot.com/2011/​09/draftpharmacyact01.htmlและดูความหลังของการประชาพิจารณ์ได้ที่ http://www.slideshare.net/rparun/2544-pharmaistrenewallicense)

ส่วนพยาบาลแก้กฎหมายวิชาชีพ​แล้ว จึงดำเนินการเรื่องต่ออายุใบ​ประกอบวิชาชีพได้ ส่วนบุคคลที่เคยได้รับใบอนุญาตไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับใหม่ใช้บังคับ  เมื่อมีพระราชบัญญัติฉบับใหม่ซึ่งกำหนดให้ต่ออายุใบอนุญาตแล้ว ก็อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ด้วย ไม่ถือว่าเป็นการออกกฎหมายที่ให้ผลยอนหลังในทางที่ไม่เป็นคุณ ศาลรัฐธรรมนูญเคยให้เหตุผลว่า เนื่องจากใบอนุญาตเดิมไม่ได้กำหนดอายุใบอนุญาตไว้กฎหมายใหม่มีช่วงเวลาต่ออายุออกไปอีกระยะเวลาหนึ่งนับแต่วันที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับ ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการต่ออายุใบอนุญาต จึงไม่ได้มีผลย้อนหลังไปนับตั้งแต่วันออกใบอนุญาต และการกำหนดให้ต่ออายุใบอนุญาตนี้ย่อมเป็นประโยชน์แก่ประชาชนให้ได้รับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ทั้งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและการจัดระเบียบการประกอบอาชีพของสังคมเพื่อสวัสดิภาพของประชาชน จึงไม่ถือว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ   โปรดดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 28/2547 วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0A/00147233.PDF)

ส่วนกรณีการรับฟังความเห็นในกระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเมื่อยังอยู่ในขั้นตอนของฝ่ายบริหาร เช่น อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาเภสัชกรรม หรือกระทรวงสาธารณสุข หรือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ส่วนตัวมีความเห็นว่าถ้ามีการรับฟังความคิดเห็นได้ก็เป็นเรื่องที่ดี ทำให้เกิดความมีส่วนร่วมจากสมาชิก แต่ถ้าไม่มีการรับฟังความเห็นเลยจะฟ้องศาลปกครองได้หรือไม่นั้น พึงศึกษากรณีดังนี้


นวคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 409/2552  (http://court.admincourt.go.th/ordered/Attach/52_pdf/1-3-52-409.pdf) ซึ่งเป็นกรณีที่อ้างว่าร่างพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้ผ่านการประชาพิจารณ์ ศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักไว้ว่า

การดำเนินการให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และนำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามีมติให้เสนอต่อสภา โดยสภาพแล้วการกระทำ ไม่มีผลทางกฎหมายออกสู่ภายนอกไปกระทบกระเทือนต่อสิทธิ เสรีภาพ หรือประโยชน์ อันชอบธรรมอย่างใดๆ ของผู้ฟ้องคดีหรือของบุคคลใดๆ หรือก่อความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะก่อความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือบุคคลใดๆ โดยตรงและเป็นการเฉพาะตัวแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดี

นอกจากนี้ยังมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 58/2555 วันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2555 ออกมาในทำนองเดียวกัน

ผู้ฟ้องคดีทั้งสามฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสามในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และในฐานะประชาชนคนไทย ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กระทรวงสาธารณสุข) ยกร่าง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) ได้ร่วมร่าง แก้ไข เพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญและรับรองร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่า กระบวนการในการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้งในระดับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เห็นว่า การดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และการร่วมร่าง แก้ไข เพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ และรับรองร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นเพียงการดำเนินการให้มีการยกร่างและนำร่างพระราชบัญญัติข้างต้นเสนอต่อ คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามีมติให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำในความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองกับคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เสนอร่างพระราชบัญญัติต่างๆ ต่อสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น โดยสภาพแล้วการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดังกล่าวจึงไม่มีผลทางกฎหมายออกสู่ภายนอกไปกระทบกระเทือนต่อสิทธิ เสรีภาพ หรือประโยชน์อันชอบธรรมอย่างใดๆ ของผู้ฟ้องคดีทั้งสามไม่ว่าในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือในฐานะประชาชน คนไทยหรือของบุคคลใดๆ หรือก่อความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะก่อความเดือดร้อนหรือเสียหายให้ แก่ผู้ฟ้องคดีหรือบุคคลใดๆ โดยตรงและเป็นการเฉพาะตัวแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีจึงไม่เป็นผู้ซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ความเดือดร้อนของผู้ฟ้องคดีทั้งสามไม่ได้เกิดจากการที่หน่วยงานทางปกครอง กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด หรืองดเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดของหน่วยงานทางปกครองตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ อีกทั้ง คำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสามที่ประสงค์ให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาว่า กระบวนการในการยกร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... ทั้งในระดับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ นั้น เป็นคำขอที่ศาลปกครองไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม จึงมิใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว


จากแนวคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวนี้ จะเห็นว่า ถ้าร่างพระราชบัญญัติยังอยู่ในขั้นตอนของฝ่ายบริหารแล้ว ไม่สามารถฟ้องศาลปกครองได้ เนื่องจากโดยสภาพแล้วการกระทำ ไม่มีผลทางกฎหมายออกสู่ภายนอกไปกระทบกระเทือนต่อสิทธิ เสรีภาพ หรือประโยชน์ อันชอบธรรมอย่างใดๆ ของผู้ฟ้องคดีหรือของบุคคลใดๆ หรือก่อความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะก่อความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือบุคคลใดๆ โดยตรงและเป็นการเฉพาะตัวแต่อย่างใด

1 ความคิดเห็น: