วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

ใครถูกพิจารณาคดีจรรยาบรรณวิชาชีพเภสัชกรรมได้บ้าง


ปรุฬห์ รุจนธำรงค์


กรณีศึกษา บุคคลที่สอบใบประกอบวิชาชีพยังไม่ผ่าน แล้วมาทำหน้าที่ขายยาในร้านยาแทนเภสัชกรตัวจริงซึ่งพบว่ามีการขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษด้วย จะถูกพิจารณาคดีจรรยาบรรณวิชาชีพได้หรือไม่ หรือมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 อย่างไร?


การขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา (ปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ถือเป็นการกระทำที่เข้านิยาม “วิชาชีพเภสัชกรรม” ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 ยิ่งโดยเฉพาะการขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษแล้ว ซึ่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 32 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเภสัชกรเท่านั้น

เมื่อเข้านิยาม “วิชาชีพเภสัชกรรม” แล้ว ผู้ที่มาทำหน้าที่ขายยาในร้านยาแทนเภสัชกรตัวจริงดังกล่าว จะถูกพิจารณาคดีจรรยาบรรณวิชาชีพได้หรือไม่?

หากพิจารณาพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 34 จะพบว่าการกล่าวหา การกล่าวโทษว่าประพฤติผิดจรรยาบรรณ ใช้กับ "ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม" และตามนิยาม "ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม"  หมายความว่า บุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจากสภาเภสัชกรรม

เมื่อยังไม่ได้รับใบประกอบวิชาชีพ จึงไม่สามารถถูกพิจารณาคดีจรรยาบรรณวิชาชีพได้ หรือหากดูที่ผลของการพิจารณาคดีจรรยาบรรณประกอบตามมาตรา 42 จะเห็นว่าถ้าไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม จะไปลงโทษภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต เพิกถอนใบอนุญาตก็ไม่ได้ด้วย เพราะว่าในขณะนั้นยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพ จึงไม่สามารถบังคับอะไรได้

แต่ไม่ได้หมายความว่า บุคคลตามกรณีศึกษาจะไม่สามารถถูกลงโทษอะไรได้เลย เนื่องจากการกระทำดังกล่าวตามกรณีศึกษานี้ก่อให้เกิดผลที่ร้ายแรงกว่านั้น คือ ความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 เพราะเป็นการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 50

สรุป
1. ผู้ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมไม่สามารถถูกพิจารณาคดีจรรยาบรรณวิชาชีพเภสัชกรรมได้ เนื่องจากยังไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม จึงไม่เข้าข่ายผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 34
2. ผู้ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม แต่กระทำในสิ่งที่เป็นการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 เพราะเป็นการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 50

เอกสารเพิ่มเติม ร้านขายยาร้านใด ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ โดยไม่มีเภสัชกรเป็นผู้ขาย มีโทษถึงจำคุก!!! (http://rparun.blogspot.com/2011/09/pharmacist01.html)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น