วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

ร้านขายยาร้านใด ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ โดยไม่มีเภสัชกรเป็นผู้ขาย มีโทษถึงจำคุก!!!

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์


พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 ก็อาจจะช่วยจัดการคนนอกวิชาชีพเภสัชกรรม ที่ขายยาโดยไม่มีเภสัชกรประจำร้านขายยาได้นะครับ (มาตรานี้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ายังไม่เคยใช้มาก่อนเป็นเวลาถึง 17 ปี)


“มาตรา 28 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต เว้นแต่ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้...”

เมื่อพิจารณานิยามวิชาชีพเภสัชกรรม ที่มีข้อความตอนหนึ่งว่า “...รวมทั้งการดำเนินการปรุงยาและการขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา”


การขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา หมายความว่า การดำเนินการขายยาตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ที่กำหนดให้เภสัชกรเท่านั้นที่มีหน้าที่ต้องทำ


เมื่อ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.
2510 มาตรา 32 กำหนดห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ นั่นหมายความว่า เมื่อกฎหมายว่าด้วยยา (พ.ร.บ.ยาฯ) ถือว่าการขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยยาเป็นหน้าที่ของเภสัชกรเท่านั้น การขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษดังกล่าวจึงเป็นการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่ว่า “การขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา” อีกด้วย

ดังนั้น คนนอกวิชาชีพเภสัชกรรม จึงไม่มีสิทธิที่จะขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ เพราะถือว่ากำลังประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ใดฝ่าฝืน พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 50


ขอให้สภาเภสัชกรรมและผู้เกี่ยวข้อง หาช่องทางนี้ในการจัดการปัญหาคนนอกวิชาชีพขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษโดยไม่มีเภสัชกร ควบคู่ไปกับการลงโทษจรรยาบรรณของเภสัชกรที่มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วย จะได้ดูว่าเป็นการใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น