พนักงานอัยการจังหวัดหนองคาย โจทก์
นาง ส. ส. จำเลย
ป.อ. มาตรา 90
ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225
พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 117 วรรคหนึ่ง
ความผิดฐานผลิตยาแผนปัจจุบัน ยาปลอม และยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยากับความผิดฐานขายและมีไว้เพื่อขายซึ่งยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาปลอมและที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา เมื่อยาที่จำเลยผลิต ขาย และมีไว้เพื่อขายดังกล่าวล้วนเป็นจำนวนเดียวกันและถูกเจ้าพนักงานยึดไว้เป็นของกลางในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานผลิตยาปลอมตาม พ.ร.บ. ยาฯ มาตรา 117 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์เรียงกระทงลงโทษจำเลยมานั้นจึงเป็นการมิชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
________________________________
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 4, 12, 72, 73 (1), 79, 101, 117, 119, 122, 126 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 4, 12 วรรคหนึ่ง, 72 (1) (4), 73 (1), 79, 101, 117 วรรคหนึ่ง, 119 วรรคหนึ่ง, 122, 126 ฐานผลิตยาแผนปัจจุบัน ยาปลอม หรือยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักฐานผลิตยาปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ฐานขายหรือมีไว้เพื่อขายยาแผนปัจจุบันซึ่งเป็นยาปลอมหรือยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักฐานขายยาปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 79 ริบของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การกระทำความผิดของจำเลยเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน เห็นว่า ความผิดฐานผลิตยาแผนปัจจุบันยาปลอม และยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา กับความผิดฐานขายและมีไว้เพื่อขายซึ่งยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาปลอมและที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา เมื่อยาที่จำเลยผลิตขายและมีไว้เพื่อขายดังกล่าวล้วนเป็นจำนวนเดียวกัน และถูกเจ้าพนักงานยึดไว้เป็นของกลางในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานผลิตยาปลอมตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 117 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เรียงกระทงโทษจำเลยมานั้นจึงเป็นการมิชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติซึ่งจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านได้ความว่า ยาลูกกลอนดำของกลางในคดีนี้มีส่วนผสมของยาเด็กซ์ซ่าเมธาโซนและยาเพรดนิโซโลน ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันประเภทควบคุมพิเศษ มีสรรพคุณในการรักษาโรคแก้แพ้ โรคข้อ กระดูก โรคที่ไม่ทราบอาการหรือโรคที่ใช้ยาอื่นรักษาแล้วไม่หาย แต่มีผลเสียต่อระบบกระเพาะอาหาร หากรับประทานเป็นเวลานานจะทำให้กระเพาะทะลุได้ และยังมีผลต่อตับและไต ทำให้ไตวายได้ง่าย ยาประเภทนี้มีขายเฉพาะร้านขายยาแผนปัจจุบันซึ่งต้องมีเภสัชกรประจำและขายยาตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น การที่จำเลยผลิต ขาย และมีไว้เพื่อขายซึ่งยาลูกกลอนดำของกลาง อันเป็นยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาปลอมและที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา นอกจากเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้ว การกระทำของจำเลยยังเป็นเหตุให้ยาซึ่งมีผลเสียต่อร่างกายดังกล่าวแพร่ออกสู่ประชาชนโดยปราศจากการควบคุมของรัฐ นับเป็นอันตรายต่อสังคมและประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับยาลูกกลอนดำของกลางในคดีนี้มีจำนวนมากถึง 1,730 เม็ด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานผลิตยาปลอมมีกำหนด 4 ปี ก่อนลดโทษให้และไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานผลิตยาแผนปัจจุบัน ยาปลอม และยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา กับความผิดฐานขายและมีไว้เพื่อขายซึ่งยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาปลอมและที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานผลิตยาปลอมตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 117 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
( เกรียงชัย จึงจตุรพิธ - วิชัย วิวิตเสวี - สำรวจ อุดมทวี )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น