วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.๒๕๓๗

 
ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์



ประวัติการเสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...

๑. ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ฉบับคณะรัฐมนตรี

            ๑.๑ มติคณะรัฐมนตรี ๑ สิงหาคม ๒๕๔๙

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ ... ) พ.ศ. ... โดยมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมมีอายุห้าปี นับแต่วันที่ออกอายุใบอนุญาต และกำหนดให้ใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. ๒๕๓๗ ที่ยังมีผลอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับมีอายุต่อไปอีกห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อีกครั้งหนึ่ง
 

            ๑.๒ มติคณะรัฐมนตรี ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว มีสาระสำคัญ คือ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.๒๕๓๗ ในส่วนของบทนิยามคำว่า “วิชาชีพเภสัชกรรม” และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสภาเภสัชกรรมในการออกข้อบังคับสภาเภสัชกรรม เรื่อง การต่อายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาต รวมทั้งกำหนดอายุใบอนุญาตและการต่ออายุใบอนุญาต และเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
 

            ๑.๓ มติคณะรัฐมนตรี ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอสรุปผลการกระชุมคณะกรรมการประสานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๙/๒๕๕๐ วันจันทร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณา
 

            ๑.๔ มติคณะรัฐมนตรี ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๒

                   คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว  ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ  และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา  ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป 

                   สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

                   แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. ๒๕๓๗ ดังต่อไปนี้ 

                   . แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า วิชาชีพเภสัชกรรมให้มีความหมายครอบคลุมถึงการปรุงและจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขอื่นฯ (ร่างมาตรา ๓)
                   . แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสภาเภสัชกรรมในการออกข้อบังคับสภาเภสัชกรรม  เรื่องการต่ออายุใบอนุญาต  และการออกใบแทนใบอนุญาต (ร่างมาตรา ๔)
                   . แก้ไขเพิ่มเติมให้มีการต่ออายุใบอนุญาต  โดยกำหนดให้ใบอนุญาตมีอายุ ๕ ปี  นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต (ร่างมาตรา ๕)
                   . เพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต (ร่างมาตรา ๖)
                   . กำหนดบทเฉพาะกาล  เพื่อรองรับสิทธิประโยชน์ที่มีตามกฎหมายเดิม โดยกำหนดให้ใบอนุญาตที่มีอยู่เดิมใช้บังคับต่อไปได้อีก ๕ ปี  นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ร่างมาตรา ๗)
           

            ๑.๕ มติคณะรัฐมนตรี ๒๐ เมษายน ๒๕๕๔

                   คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร วันพุธที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๔ ซึ่งให้เสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องเร่งด่วน ตามที่สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรเสนอ

             ๑.๖ มติคณะรัฐมนตรี ๘ ตุลาคม ๒๕๕๖

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ  และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา  ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป  
                   ทั้งนี้ สธ. เสนอว่า พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 มาตรา 4 ได้บัญญัติบทนิยามคำว่า “ วิชาชีพเภสัชกรรม” หมายความว่า วิชาชีพที่เกี่ยวกับการกระทำในการเตรียมยา การผลิตยา การประดิษฐ์ยา การเลือกสรรยา การวิเคราะห์ยา การควบคุมและการประกันคุณภาพยา การปรุงและจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ รวมทั้งดำเนินการปรุงยาและการขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา นั้น ไม่สอดคล้องกับภารกิจที่เภสัชกรปฏิบัติ นอกจากนั้นพระราชบัญญัติดังกล่าวยังไม่ได้มีการกำหนดเรื่องอายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมไว้ด้วย ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้สภาเภสัชกรรมมีเครื่องมือเพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้ประกอบวิชาชีพ เภสัชกรรมมีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในการให้บริการด้านวิชาชีพแก่ประชาชนและเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้สภาเภสัชกรรมปรับปรุงข้อมูลของสมาชิกให้เป็นปัจจุบัน จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “วิชาชีพเภสัชกรรม” และเพิ่มเติมการกำหนดอายุของใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่น ๆ ให้สอดคล้องกัน

                   สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ


                   . แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า วิชาชีพเภสัชกรรมให้มีความหมายครอบคลุมถึงการปรุงและจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ 
                   . แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสภาเภสัชกรรมในการออกข้อบังคับสภาเภสัชกรรม  เรื่องการต่ออายุใบอนุญาต  และการออกใบแทนใบอนุญาต 
                   . แก้ไขเพิ่มเติมให้มีการต่ออายุใบอนุญาต  โดยกำหนดให้ใบอนุญาตมีอายุ ๕ ปี  นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต
                   . เพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต 
                   . กำหนดบทเฉพาะกาล  เพื่อรองรับสิทธิประโยชน์ที่มีตามกฎหมายเดิม โดยกำหนดให้ใบอนุญาตที่มีอยู่เดิมใช้บังคับต่อไปได้อีก ๕ ปี  นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
                    ข้อสังเกต: ข้อความของมติคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ มีลักษณะเช่นเดียวกับมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๒
                   



๒. การบรรจุร่างพระราชบัญญัติในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

          ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ถูกบรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๓ ปีที่ ๔ วันพุธที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔ (รายละเอียดติดตามได้จาก http://library2.parliament.go.th/giventake/content_hr/hr23/050454.pdf) จำนวน ๓ ฉบับ คือ

          ๑. ฉบับนายวิชาญ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชาชน และคณะ รวม ๒๒ คน (หนังสือลงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประทับเลขรับ ๑๕/๒๕๕๑ วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๑ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีให้การรับรอง ๒๒ เมษายน ๒๕๕๔) เป็นเรื่องที่เสนอใหม่ ลำดับที่ ๖.๑๗   

          ๒. ฉบับนางพัฒนา สังขทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย และคณะ รวม ๒๐ คน (หนังสือลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประทับเลขรับ ๒๔/๒๕๕๓ วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีให้การรับรอง ๒๒ เมษายน ๒๕๕๔) เป็นเรื่องที่เสนอใหม่ ลำดับที่ ๖.๑๘ 

          ๓. ฉบับคณะรัฐมนตรี (หนังสือเลขที่ นร ๐๕๐๓/๒๕๗๔ ลงวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๔ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประทับเลขรับ ๑๓/๒๕๕๔ วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๔) เป็นเรื่องด่วนลำดับที่ ๖๕


          ข้อสังเกต: เดิมได้บรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว แต่ได้มีการยุบสภาแล้วมีการเลือกตั้งใหม่ คณะรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นรัฐบาลภายหลังจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มีการรับรองร่างพระราชบัญญัติที่ไม่ใช่ร่างพระราชบัญญัติของภาคประชาชน จึงจำเป็นต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าไปใหม่ ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินี้ วันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๖


๓. สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... แต่ละฉบับ

          ร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๓ ฉบับ มีข้อความที่เหมือนกันทุกประการ



ร่าง

พระราชบัญญัติ

วิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ ...)

พ.ศ. ...

___________________



.........................................................

.........................................................

.........................................................



          ............................................................................................................................................................................



          โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเภสัชกรรม

          พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

    ......................................................................................................................................................................................



          มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ เรียกว่า “พระราชบัญญัติวิชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...”



          มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

          มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “วิชาชีพเภสัชกรรม” ในมาตรา ๔ แห่งพระราบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.๒๕๓๗ และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

          ““วิชาชีพเภสัชกรรม” หมยความว่า วิชาชีพที่เกี่ยวกับการกระทำในการเตรียมยา การผลิตยา การประดิษฐ์ยา การเลือกสรรยา การวิเคราะห์ยา การควบคุมและการประกันคุณภาพยา การปรุงและการจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ และผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามที่กฎหมายว่าด้วยวิชาชีพนั้น ๆ กำหนด และการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยยา กฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกทธิ์ต่อจิตและประสาท และกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ รวมทั้งการร่วมกับผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการค้นหา ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยา”

          มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความใน (ฌ) ของ (๔) ในมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.๒๕๓๗ และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

          “(ฌ) หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต แบบและประเภทใบอนุญาต”
 

          มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

          “มาตรา ๓๑ การขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญการในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสาขาต่าง ๆ และหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพเภสัชกรรม ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาเภสัชกรรม

          ใบอนุญาตให้มีอายุห้าปีนับแต่วันที่ออกอายุใบอนุญาต

          มาตรา ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑/๑) ของอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.๒๕๓๗

          “(๑/๑) ค่าต่ออายุใบอนุญาต                ฉบับละ ๒,๕๐๐ บาท

          มาตรา ๗ ให้ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน สาขาเภสัชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ และใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเภสัชกรรม ที่ยังมีผลอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีอายุต่อไปอีกห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

          มาตรา ๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
 

...................................
  นายกรัฐมนตรี


บันทึกวิเคราะห์สรุป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...

_________________________



                   คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ต่อสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้จัดทำบันทึกวิเคราะห์ สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติตามมาตรา ๑๔๒ วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังต่อไปนี้

๑. เหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ

                   โดยที่ปัจจุบันบทนิยามคำว่า “วิชาชีพเภสัชกรรม” ยังไม่สอดคล้องกับภารกิจที่เภสัชกรปฏิบัติ และเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบบทนิยามคำว่า “วิชาชีพเภสัชกรรม” และกำหนดอายุใบอนุญาตและการต่ออายุใบอนุญาต รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว

๒. สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

                   ๒.๑ แก้ไขเพิ่มเติมนิยามคำว่า “วิชาชีพเภสัชกรรม” โดยกำหนดให้มีความหมายครอบคลุมถึงการปรุงและการจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขอื่น เพื่อรองรับกรณีที่กฎหมายว่าด้วยวิชาชีพนั้น ๆ กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีอำนาจในการออกใบสั่งยาได้ และเพิ่มเติมให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ เพื่อให้สอดคล้องกับการกำหนดหน้าที่ของเภสัชกรตามกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งเพิ่มเติมให้ครอบคลุมภารกิจที่รับผิดชอบในปัจจุบันเกี่ยวกับการร่วมกับผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการค้นหา ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยา (ร่างมาตรา ๓)

                   ๒.๒ แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเภสัชกรรม โดยกำหนดให้มีอำนาจในการออกข้อบังคับเกี่ยวกับการต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาต เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการต่ออายุใบอนุญาตตามร่างพระราชบัญญัตินี้ และสอดคล้องกับอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติที่กำหนดค่าใบแทน (ร่างมาตรา ๔)

                   ๒.๓ แก้ไขเพิ่มเติมให้มีการต่ออายุใบอนุญาต โดยกำหนดให้ใบอนุญาตมีอายุห้าปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการต่ออายุใบอนุญาตเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมได้มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (ร่างมาตรา ๕)

                   ๒.๔ เพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการต่ออายุใบอนุญาตตามร่างพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา ๖)

                   ๒.๕ กำหนดบทเฉพาะกาล เพื่อรองรับสิทธิประโยชน์ที่มีตามกฎหมายเดิม โดยกำหนดให้ใบอนุญาตที่มีอยู่เดิมใช้บังคับต่อไปได้อีกห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ร่างมาตรา ๗)

                   ๒.๖ กำหนดผู้รักษาการตามกฎหมาย เพื่อรองรับการดำเนินการตามบทเฉพาะกาล (ร่างมาตรา ๘)



ตารางเปรียบเทียบระหว่างร่างพระราชบัญญัติ






ขณะนี้ พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2558 แล้ว มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2557 เป็นต้นไป
สาระสำคัญของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ 
1. แก้ไขนิยามวิชาชีพเภสัชกรรม

“วิชาชีพเภสัชกรรม” หมายความว่า วิชาชีพที่เกี่ยวกับการกระทําในการเตรียมยา การผลิตยา การประดิษฐ์ยา การเลือกสรรยา การวิเคราะห์ยา การควบคุมและการประกันคุณภาพยา การปรุงและการจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ การปรุงยา การจ่ายยา การขายยา และการดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยยาและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับยา การให้คําแนะนําปรึกษาและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยา รวมทั้งการดำเนินการหรือร่วมกับผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการค้นหา ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยา
2. รองรับเรื่องการต่ออายุใบอนุญาต
3. สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่ได้รับใบอนุญาตตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ตั้งแต่ 27 มีนาคม 2558) ใบอนุญาตให้มีอายุ 5 ปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต และต้องเสียค่าต่ออายุใบอนุญาตทุก 5 ปี ไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัติหรือเป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการต่ออายุใบอนุญาต ตามที่สภาเภสัชกรรมกำหนด
4. สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่ได้รับใบอนุญาตก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ก่อน 27 มีนาคม 2558) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ใบอนุญาตยังคงใช้ได้ตลอดไป ไม่ต้องเสียค่าต่ออายุใบอนุญาตทุก 5 ปี อย่างไรก็ตามต้องมีการศึกษาต่อเนื่องตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามข้อบังคับสภาเภสัชกรรม
ศึกษารายละเอียดได้ที่http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/021/69.PDF

ประวัติการแก้ไขล่าสุด
- ๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๖ เวลา ๑๗.๔๕ น.
- ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๘ เวลา ๗.๐๙ น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น