วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

ผลทางกฎหมายกับกรณีคลินิกทำเครื่องสำอางสำหรับผู้รับบริการเฉพาะราย


ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

          เครื่องสำอางทุกประเภทที่ขายในประเทศไทย ปัจจุบันจัดเป็นเครื่องสำอางควบคุม การผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม ต้องปฏิบัติดังนี้[1]
          (1) แจ้งชื่อ ที่ตั้งสำนักงาน และสถานที่ผลิตหรือสถานที่เก็บเครื่องสำอาง แล้วแต่กรณี
          (2) แจ้งชื่อ ประเภท หรือชนิดของเครื่องสำอางที่ตนจะผลิตหรือนำเข้า
          (3) แจ้งปริมาณของส่วนประกอบสำคัญของเครื่องสำอางนั้น
          การแจ้งตามข้อ (1) (3) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง[2] โดยให้แจ้งรายละเอียดตามข้อ (1) (3) ก่อนวันผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายตามแบบที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเครื่องสำอาง และประกาศในราชกิจจานุเบกษาพร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน ดังต่อไปนี้
          (1) กรณีเป็นบุคคลธรรมดา
                   (ก) สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง
                   (ข) สำเนาทะเบียนบ้านของสำนักงานและสถานที่ผลิตหรือสถานที่เก็บเครื่องสำอางแล้วแต่กรณี
                   (ค) สำเนาทะเบียนพาณิชย์ (ถ้ามี)
                   (ง) แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงาน และสถานที่ผลิตหรือสถานที่เก็บเครื่องสำอาง แล้วแต่กรณี
                   (จ) หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจกรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นแจ้ง
          (2) กรณีเป็นนิติบุคคล
                   (ก) สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจทำการแทนผู้แจ้ง
                   (ข) สำเนาทะเบียนบ้านของสำนักงาน และสถานที่ผลิตหรือสถานที่เก็บเครื่องสำอางแล้วแต่กรณี
                   (ค) สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลซึ่งออกให้ไม่เกินหกเดือน
                   (ง) หลักฐานแสดงการเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล
                   (จ) แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงาน และสถานที่ผลิตหรือสถานที่เก็บเครื่องสำอาง แล้วแต่กรณี
                   (ฉ) หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจกรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นแจ้ง
           การแจ้งให้ยื่น ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแห่งท้องที่ที่สำนักงาน และสถานที่ผลิตหรือสถานที่เก็บเครื่องสำอางของผู้ผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุมนั้นตั้งอยู่ หรือแจ้งผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
          เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับการแจ้งรายละเอียดพร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบรายละเอียดการแจ้งและเอกสารและหลักฐาน หากเห็นว่าถูกต้องครบถ้วน ให้ออกใบรับแจ้งให้แก่ผู้แจ้งไว้เพื่อเป็นหลักฐานภายในสามวันทำการนับแต่วันแจ้ง

          เครื่องสำอางที่ผ่านการจดแจ้งเครื่องสำอางแล้ว จะต้องมีเลขที่ใบรับแจ้งที่ติดที่ฉลากเครื่องสำอางชนิดนั้น

          กรณีแพทย์หรือบุคคลใดผลิตเครื่องสำอางของคลินิกสำหรับผู้รับบริการ ถือว่าเป็นการผลิตเพื่อขายหรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาจากนิยาม “ขาย” ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535  หมายความว่า จำหน่าย จ่ายแจก หรือแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการค้าและหมายความรวมถึงมีไว้เพื่อขายด้วย ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับนิยาม “ขาย” ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 แต่พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ไม่ได้มีข้อยกเว้นกรณีที่แพทย์ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายซึ่งเป็นเหตุไม่ต้องไปจดแจ้งเครื่องสำอางตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 28  ต่างจากกรณีตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 หากมีการผลิตยาตามใบสั่งแพทย์ก็ไม่ต้องขออนุญาต หรือการขายยาสำหรับคนไข้เฉพาะตนตามใบสั่งแพทย์ ไม่ต้องขอใบอนุญาตผลิตหรือขอใบอนุญาตขาย
          ดังนั้น แพทย์หรือบุคคลใดผลิตเครื่องสำอางของคลินิกสำหรับผู้รับบริการแม้จะเป็นการผลิตสำหรับผู้รับบริการเฉพาะรายก็ตาม หากไม่ได้จดแจ้งเครื่องสำอาง ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 28 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามมาตรา 55 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ







เอกสารอ้างอิง
[1] พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 28
[2] กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม พ.ศ. 2553 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนพิเศษ 36 ก วันที่ 2 มิถุนายน 2553 หน้า 15

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น