วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

ซูโดอีเฟดรีนกับกรณีปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

          ภายหลังจากที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งวัตถุออกฤทธิ์ (เพิ่มเติม) ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 3 เมษายน 2555 กำหนดให้ซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine) ไม่ว่าจะเป็นรูปใดก็ตามเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 พร้อมทั้งมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 พ.ศ. 2555 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันเดียวกัน
          ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 เป็นประกาศที่อาศัยอำนาจตามความมาตรา 6(7 ทวิ) ด้วย ซึ่งมาตรา 6(7 ทวิ) เป็นเรื่องกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ตามมาตรา 106 ทวิ
          หลายคนเมื่อได้เห็นชื่อ “กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2” อาจเกิดความเข้าใจผิดว่าคือปริมาณที่สามารถครอบครองได้โดยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น
          ถ้าการครอบครองนั้นไม่เข้าเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 63 เช่น การครอบครองที่ไม่ได้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์ในมาตรา 63(2) (เพราะกฎหมายมาตรา 62 วรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับมาตรา 63) หรือไม่เข้าหลักเกณฑ์ต้องได้รับใบอนุญาตในการครอบครองตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง ถือว่าเป็นการครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง (หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการฝ่าฝืนมาตรา 62 วรรคหนึ่ง)
          กรณีมาตรา 106 วรรคหนึ่ง และมาตรา 106 ทวิ ใช้กับผู้ที่ครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 โดยฝ่าฝืนมาตรา 62 วรรคหนึ่ง ถ้าถือได้ว่ามีการฝ่าฝืนแล้ว ก็รับโทษตามมาตรา 106 แล้วให้ดูต่อไปอีกว่ามีประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดปริมาณที่ครอบครองซึ่งจำกัดจำนวนครอบครองหรือไม่ เพราะประกาศนี้จะมีผลทำให้ต้องได้รับโทษหนักมากขึ้น โดยรับโทษตามมาตรา 106 ทวิ

ตัวอย่าง
(1) ถ้าครอบครองซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine) เนื่องจากไปพบแพทย์แล้วแพทย์จ่ายซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine) ชนิดเดี่ยวหรือชนิดผสมที่มีซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine) ก็ไม่เป็นความผิดฐานครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 โดยไม่ได้รับอนุญาต กฎหมายไม่ระบุจำนวนที่สามารถครอบครองได้ในกรณีเพื่อประโยชน์ด้านการรักษาด้วย หากสามารถตรวจสอบย้อนไปถึงประวัติการรักษา หลักฐานบนซองยา และบัญชีซึ่งบันทึกประวัติการสั่งจ่ายโดยแพทย์ เนื่องจากมาตรา 62 วรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับกรณีที่อยู่ในมาตรา 63 ซึ่งการครอบครองตามแพทย์สั่งเพื่อประโยชน์ด้านการรักษาเป็นกรณีที่อยู่ในมาตรา 63(2) การครอบครองจึงไม่ต้องไปขอใบอนุญาตครอบครองตามมาตรา 62 วรรคหนึ่งด้วย
(2) ถ้าครอบครองซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine) โดยไม่มีประวัติการรักษาหรือการสั่งจ่ายโดยแพทย์ หากเป็นการครอบครองภายหลังวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2555 ถือว่าไม่อยู่ในเงื่อนไขของมาตรา 63(2) ต้องพิจารณาต่อไปว่ามีการขออนุญาตครอบครองตามหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวงซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง หรือไม่ หลักเกณฑ์นั้นคือ เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์หรือทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น และผู้อนุญาตเห็นสมควรแล้ว (ดูรายละเอียดในกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2520) ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518) ถ้าไม่มีการขออนุญาตครอบครองด้วย ถือว่าเป็นการครอบครองโดยฝ่าฝืนมาตรา 62 วรรคหนึ่ง กรณีนี้รวมถึงกรณีสถานพยาบาลไม่ได้ดำเนินการขออนุญาตครอบครองให้ถูกต้องด้วย ขั้นต่ำต้องรับโทษตามมาตรา 106 แน่นอน คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ต่อมาดูปริมาณที่ครอบครองแล้วคิดเป็นปริมาณสารบริสุทธิ์ว่าเกินปริมาณตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 พ.ศ. 2555 กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งกรณีกำหนดปริมาณซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine) อยู่ที่ 5.000 กรัม (ห้ากรัม) กรณีนี้คำนวณปริมาณซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine) เป็นสารบริสุทธิ์แล้วไม่เกินกำหนดห้ากรัม ดังนั้นจึงรับโทษตามมาตรา 106 เท่านั้น แต่ถ้าครอบครองแล้วคำนวณปริมาณซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine) เป็นสารบริสุทธิ์เกิน 5.000 กรัม ก็รับโทษตามมาตรา 106 ทวิ ซึ่งเป็นโทษที่หนักขึ้น โดยต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 1 – 4 แสนบาท
(3) การครอบครองแม้ว่าจะเป็นการครอบครองตามคำสั่งแพทย์ก็ตาม ห้ามนำยาที่ได้รับนั้นไปแจกให้กับบุคคลอื่น การแจกนั้นจะเป็นการขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 ทันที ต้องระวางโทษตามมาตรา 89 คือ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
(4) การนำติดตัวออกนอกราชอาณาจักร รูปแบบการนำติดตัวแม้ว่าจะเป็นการครอบครองอย่างหนึ่ง แต่ถ้าจะนำติดตัวออกนอกราชอาณาจักรต้องไม่เกินปริมาณที่จำเป็นต้องใช้รักษาเฉพาะตัวใน 30 วัน ทั้งนี้ต้องมีหนังสือรับรองของแพทย์ (ใบรับรองแพทย์) 

ข้อสังเกต
กฎหมายไม่บอกด้วยว่าปริมาณที่ผู้ป่วยสามารถครอบครองได้เพื่อเพียงพอกับการรักษาเป็นเท่าใด ตรงนี้เป็นจุดอ่อนที่สามารถใช้บุคคลที่เรียกว่าผู้ป่วยเป็นช่องทางในการรั่วไหลของวัตถุออกฤทธิ์ได้ ก็คงต้องขึ้นอยู่กับแนวทางปฏิบัติในทางการแพทย์ (guideline) แล้วว่าหากเป็นโรคใดที่ต้องใช้ยานี้ควรจะจ่ายแต่ละครั้งให้ได้เท่าไหร่ สถานพยาบาลของรัฐอาจจะพอกำกับปริมาณการสั่งจ่าย จำนวนครั้งที่สามารถสั่งจ่ายได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยอาศัยเรื่องการบังคับบัญชาและการบริหารได้บ้าง แต่เอกชนไม่สามารถควบคุมตรงนี้ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น