วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

หนังสือเภสัชเพื่อชุมชน ของชมรมเภสัชเพื่อชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ปี 2518




วันนี้ (6 พฤษภาคม 2554) ผมพบหนังสือเล่มหนึ่ง มีชื่อว่า "เภสัชเพื่อชุมชน" ของชมรมเภสัชเพื่อชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อปี 2518

สิ่งที่แปลกใจมากก็คือ หนังสือเล่มนี้ไม่ได้อยู่ที่ห้องสมุดคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ไม่มีเสียด้วยซ้ำ) แต่อยู่ที่ห้องสมุดคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ความหนา (รวมหน้าโฆษณาและผู้สนับสนุน 113 หน้า ) เลขที่ชั้นวางหนังสือ RM31 จ249ภ 2518  จำนวน 1 เล่ม และระบบสืบค้นข้อมูลหนังสือพบว่าพบที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีก 1 เล่ม

ผมหยิบและเปิดหนังสือเล่มนี้ด้วยความระมัดระวังอย่างมาก เพราะกระดาษหนังสือเป็นสีเหลืองไปแล้ว และค่อนข้างจะกรอบง่าย อีกทั้งต้องเปิดเบา ๆ เพราะเกรงว่าจะมีสปอร์ของเชื้อราปลิวเข้าจมูกได้

สิ่งที่น่าประทับใจ คือ หนังสือเล่มนี้ระบุว่าค่ายที่ออกชุมชนนี้ เป็นค่ายแรกของชมรมที่จัดตั้งขึ้น รุ่นพี่ของพวกเราออกไปเยี่ยมชุมชน เมื่อกลับมายังได้รายงาน ได้หนังสือหนึ่งเล่มกลับมาด้วย เป็นรายงานการดำเนินงานของค่าย อ่านทั้งเล่มแล้วน่าจะเป็นรายงานประจำปีของชมรมเภสัชชุมชนเสียด้วยซ้ำ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และเป็นแนวทางการดำเนินงานของรุ่นหลัง และยังช่วยตรวจสอบได้ว่าการดำเนินงานค่ายเภสัชเพื่อชุมชนในรุ่นหลังนั้นได้ พัฒนาไปกว่ารุ่นพี่ที่ทำไว้เมื่อ 36 ปีก่อนได้หรือไม่ และเมื่ออ่านจบแล้วจะพบว่าปัญหาหลายอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 36 ปีก่อน ก็ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน เช่น เรื่อง เภสัชกรแขวนป้าย ปัญหาความเชื่อในการใช้ยาฉีดของชาวบ้าน ปัญหาแพทย์กับเภสัชกรในการสั่งจ่ายการขายยา ปัญหาการใช้ยาแก้ปวด การใช้ยาปฏิชีวนะ


หนังสือเล่มนี้ มีเนื้อหาประกอบด้วย

1. บทบาทของเภสัชกรในสายตาของแพทย์คนหนึ่ง
แพทย์คนนี้ คือ นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานุภาพ ซึ่งขณะนั้นปฏิบัติงานที่ศูนย์การแพทย์และอนามัยบางปะอิน (2518) ซึ่งก็สะท้อนปัญหาในสมัยนั้นว่า นิสิตนักศักษาบางคนถามว่าจบเภสัชแล้วไปไหน เรียนไปทำไม ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย ทำประโยชน์แก่สังคมได้ไม่เต็มที่ (ปัญหานี้ช่างคล้ายในปัจจุบันเหลือเกิน) สมัยนั้นเภสัชกรร้อยละ 70 เข้าเป็นดีเทลยา และมีรายได้พิเศษจากการแขวนป้าย "การเป็นดีเทลยาไม่ได้ใช้ความรู้โดยตรงหากแต่กลายเป็นธุรกิจที่ต้องรู้จัก เอาใจลูกค้า (ส่วนใหญ่คือแพทย์นั่นเอง)" เพราะเภสัชกรแขวนป้าย จึงทำให้หมอตี๋มีบทบาทมากกว่าเภสัชกร ส่วนเภสัชกรในโรงพยาบาลสมัยนั้น ก็แทบไม่มีคนพูดถึง เพราะไม่ได้รับผิดชอบดูแลรักษาผู้ป่วยโดยตรง แต่ "มีชีวิตในอาณาจักรเล็ก ๆ ของตนเท่านั้น คือ "ห้องยา""

เมื่อประสบปัญหาเรื่องการขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวม จึงเริ่มมีการรณรงค์ให้เลิกการแขวนป้าย (ซึ่งปัจจุบันก็ยังทำอยู่) มีการเสนอว่าให้แพทย์และเภสัชกรเสียสละกันคนละครึ่ง โดยแพทย์ทำหน้าที่ตรวจและสั่งยา ส่วนเภสัชกรเป็นคนขายยาให้ เหมือนประเทศตะวนตก (ซึ่งก็ยังเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน)


2. สรุปผลงานค่าย
กิจกรรมออกค่าย ณ จังหวัดกำแพงเพชร
1. รายงานผลงานที่ทำ มักเน้นไปทางงานก่อสร้าง (ตรงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้จริง ๆ)
2. โครงงานสอน เป็นวิชาพื้นฐานของเด็ก ไม่ลงเนื้อหาเรื่องยา
3. มีกิจกรรมด้านสาธารณสุขระหว่างไปค่าย เช่น การเก็บข้อมูล การจัดอบรมการใช้ยาและป้องกันโรคแก่ชาวบ้าน การมอบตู้ยาประจำหมู่บ้าน การติดต่อหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อมารักษาชาวบ้าน
ปัญหาของการออกค่าย (ครั้งนี้เป็นครั้งแรก) คือ ความฉุกละหุกในการเตรียมงาน การเตรียมอุปกรณ์ไม่พร้อม ผู้สอนไม่มีความรับผิดชอบเพียงพอ ชาวค่ายไม่ได้คำนึงถึงหน้าที่ของตน ไม่ดูแลรักษาพัสดุของค่าย

3. รายงานผลโครงการศึกษาปัญหาเภสัชชุมชนในเมืองหลวง
รายงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาเภสัชกรชุมชนจากร้านขายยาใน กรุงเทพหานคร และจากประชาชนผู้บริโภค ระหว่าง 1 กันยายน – 6 พฤศจิกายน 2517 พบว่า
- ร้านยาเป็นด่านแรกที่ประชาชนเข้ามาใช้บริการมากกว่าร้อยละ 70 แต่ร้านยาที่มีเภสัชกรประจำมีไม่ถึงร้อยละ 1
- ต้องเคร่งครัดและกวดขันให้เภสัชกรปฏิบัติการตามเวลาที่กำหนดไว้
- ต้องมีการเคร่งครัดร้านขายยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษไม่ให้ขายยาได้ทุกประเภท
- ต้องให้มีจำนวนร้านขายยาและสถานที่พอเหมาะกับจำนวนประชาชนที่มาใช้บริการ เพื่อลดปัญหาด้านแข่งขัน ค้ากำไรเกินควรโดยการขายยาต่ำกว่ามาตรฐานแก่ประชาชน

4. สรุปผลแบบสอบถามเรื่องโครงการเสริมความรู้เรื่องยาและโรค
ผลการสรุปแบบสอบถามพบว่า
- ประชาชนไม่คุ้นเคยกับยาสามัญประจำบ้าน คุ้นแต่ยาที่โฆษณาตามที่ต่าง ๆ มากกว่า
- บรรยายเป็นวิชาการมากเกินไป ประชาชนผู้ฟังมีปัญหาเรื่องศัพท์เทคนิค
- โรคทางเดินหายใจควรใช้เวลาอธิบายมากขึ้น เพราะเป็นกันแทบทุกคน
- การแก้ปวดลดไข้ ประชาชนผู้ฟังมีความตระหนักว่ายามีทั้งคุณและโทษ
- ความรู้เรื่องโรค ได้รับความสนใจมาก ควรมีภาพยนตร์มาฉายประกอบคำบรรยาย
- ข้อเสนอในการอบรมครั้งต่อไป เช่น ความรู้เรื่องโรคติดต่อ การปฐมพยาบาล การวางแผนครอบครัว ยาเกี่ยวกับระบบผิวหนัง สิ่งที่สามารถใช้แทนยาได้ในชนบท ยาระบบทางเดินอาหาร อาการของโรคเกี่ยวกับสมอง ยาปฏิชีวนะ

5. สรุปผลงานของฝ่ายสังคมสงเคราะห์ ภช.
ทำหน้าที่บริจาคเสื้อผ้า ยา อาหาร ค่ารักษาพยาบาล ในรายงานเขาบันทึกไว้ว่า “งานฝ่ายสังคมสงเคราะห์ในปีที่แล้วเป็นไปในรูปแบบฉาบฉวย เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การให้สิ่งของหรือวัตถุนิยมเป็นเรื่องที่ง่ายมากสำหรับผู้ให้และผู้รับ” “งานที่มั่นคงถาวรและเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุในแนวทางวิชาชีพเภสัช คือ “การให้ความรู้””

6. สรุปผลการปฏิบัติงาน โครงการเสริมความรู้เรื่องโรคและการศึกษาปัญหาสาธารณสุขของชนบทไทย ณ ศพอ. 5 แห่ง ระหว่างวันที่ 20 มีนาคม – 30 พฤษภาคม 2518
ศพอ. คือ ศูนย์การแพทย์และอนามัย
จากบันทึกรายงานมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ บางคนรู้ว่า เภสัชกรถูกสร้างขึ้นในรูปแบบที่สังคมไม่ต้องการและรู้สึกผิดหวังต่อบทบาทของ เภสัชกรที่ไม่สามารถรับใช้มวลชนได้อย่างเต็มภาคภูมิ บางคนไม่รู้วัตถุประสงค์ของการมาฝึกงาน ชาวบ้านเชื่ออย่างฝังใจว่ายาฉีดดีกว่ายากิน นิสิตพูดภาษาท้องถิ่นไม่ได้ มีปัญหาเรื่องกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่

7. ประเมินผลโครงการตู้ยาประจำหมู่บ้าน
มีการตั้งตู้ยาประจำหมู่บ้าน รวม 42 แห่ง ในพื้นที่ภาคต่าง ๆ ในสมัยนั้น (ปี 2517-2518) เมื่อประชาชนเจ็บป่วย จะซื้อยาจากบรเวณใกล้เคียงหมู่บ้าน หรือให้หมอเถื่อนรักษาก่อน ถ้าอาการทรุดค่อยพามาโรงพยาบาล แต่การมาโรงพยาบาลการคมนาคมมีปํญหาเรื่องเส้นทาง เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาก นอกจากนี้พบว่าชาวบ้านติดยาแก้ปวดมาก นิยมรักษาด้วยเวทมนต์ คิดว่ายาฉีดคือยาที่ดีที่สุด ทางชมรมได้มีการติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะ พบว่าหมู่บ้านที่มีตู้ยาประจำหมู่บ้าน มีการส่งข่าวกลับมายังชมรมเป็นระยะ 25 แห่ง ชมรมส่งจดหมายเตือนไป 1 ครั้ง 9 แห่ง ชมรมส่งจดหมายเตือนไป 2 ครั้ง 3 แห่ง ไม่เคยติดต่อมาเลย 5 แห่ง

8. เล็ก ๆ   น้อย ๆ สำหรับชมรมเภสัชเพื่อชุมชน
ศาสตราจารย์ นาวาเอก พิสิทธิ์ สุทธิอารมณ์ ร.น. คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสมัยนั้น ได้กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการ และเป็นโครงการหนึ่งที่คณะได้เล็งเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนตลอดมา เป็นประโยชน์ต่อนิสิต และประเทศชาติเป็นการส่วนรวม หวังว่าคงจะมีการปฏิบัติสืบทอดต่อไปและได้ขยายขอบเขตของงานให้กว้างออกไป โดยร่วมมือกับบุคลากร ๆ ในฝ่ายสาธารณสุขในการศึกษาปัญหาและช่วยกันแก้ไขและให้บริการแก่ประชาชนคนละ ไม้คนละมือ ในภาวะที่บ้านเมืองกำลังต้องการความร่วมมือร่วมใจด้วยกันทุกฝ่าย

9. สรุปผลการสัมมนา ที่ชะอำ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
กิจกรรมนี้เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนออกค่าย สังเกตจากวัตถุประสงค์แล้ว ต้องการสร้างถาวรวัตถุ คือ โรงเรียนให้กับหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการสื่อสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมมือและรับฟังคำแนะนำด้านสาธารณสุข และต้องการฝึกทักษะการทำงานของชาวค่าย

10. ข้อคิดเห็นในการทำงานของชมรมเภสัชเพื่อชุมชน
อ.สำลี ใจดี อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมเภสัชเพื่อชุมชน (14 กันยายน 2518) กล่าวไว้ว่า ชมรมนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก ศรัทธาและแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์  14 ตุลา 16 ต้องการความร่วมมือร่วมใจ มิต้องการสร้างความแตกแยก

“ชมรมนี้ มีวัตถุประสงค์ให้นิสิตสนใจปัญหาของสังคมที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพของตนเอง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ศึกษาติดตาม และเริ่มรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะที่เป็นหน่วยหนึ่งของสังคมซึ่งใช้ภาษีอากร ของประชาชนมาร่ำเรียน ดำเนินการโดยเริ่มบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ด้านการนำความรู้ความสามารถในวิชาชีพมาใช้ เช่น ช่วยเผยแพร่แนะนำความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้อง ปลอดภัย ได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท และสร้างความสำนึกในหน้าที่ให้แก่ตนเองในการมีบทบาทร่วมรับผิดชอบปัญหา สาธารณสุขของชาติ”

“ในฐานะที่ครูได้เห็นการทำงานและให้ความสนับสนุนมาตั้งแต่ชมรมเริ่มก่อ ตั้ง ซึ่งก็ไม่ง่ายนักในการก่อตั้ง แต่การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ต่อไปนั้น จะยากยิ่งกว่า ถ้าผู้ดำเนินงานทุกคนไม่เข้าใจจุดประสงค์อย่างแท้จริงว่าตนเองกำลังทำอะไร กันอยู่ ในกรณีที่มีปัญหาไม่เข้าใจกันก็น่าจะหันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันว่า เรากำลังทำอะไร เพื่ออะไร เพื่อให้ได้วิธีการดำเนินงานที่ดีที่สุด อย่าไปยึดมั่นอยู่กับทิฐิและตำแหน่งอะไรทั้งสิ้น เพราะหนทางที่เภสัชกรจะก้าวไปสู่อนาคตข้างหน้าเพื่อรับใช้สังคมนั้นยังมี ปัญหาที่เราทุกคนจะต้องเรียนรู้และช่วยกันหาแนวทางแก้ไขอีกมากมายนัก”

11. โครงการปี 2518-19
ชมรมเภสัชเพื่อชุมชน มีโครงการที่ดำเนินการทำในช่วงปี 2518 – 19 ดังนี้
(1)   โครงการสาธารณสุขเพื่อชนบท เป็นโครงการร่วมระหว่างนิสิต 4 คณะ คือ คณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ เพื่ออกไปพัฒนาทางด้านสาธารณสุขร่วมกัน
(2)   โครงการเผยแพร่ความรู้เรื่องยาแก่เยาวชน
(3)   โครงการของฝ่ายสังคมสงเคราะห์
(4)   โครงการตู้ยาประจำหมู่บ้าน
(5)   โครงการค่ายอาสาสมัคร
(6)   โครงการเสริมความรู้เรื่องโรคและการศึกษาปัญหาสาธารณสุขของชนบทไทย

อ่านจบแล้ว รู้สึกทึ่งและรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของชมรมนี้ในอดีตเมื่อช่วงปี พ.ศ.2518 กันหรือไม่ครับ
สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ รายชื่อที่ปรึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้นะครับ

ที่ปรึกษาชมรม
  1. พันโทสามารถ อังศุสิงห์
  2. ศาสตราจารย์ นาวาเอก พิสิทธิ์ สุทธิอารมณ์
  3. พลตำรวจโทกฤช ปัจฉิมสวัสดิ์
  4. นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานุภาพ
  5. อาจารย์สำลี ใจดี


อาจารย์ที่ปรึกษาชมรม

  1. อาจารย์จำนงค์ วิสุทธิสุนทร
  2. อาจารย์รพีพล ภโววาท

เนื้อหาในนี้เป็นเนื้อหาอย่างย่อนะครับ ถ้าใจรายละเอียด ให้ติดตามหนังสือชื่อ “เภสัชเพื่อชุมชน” ชมรมเภสัชเพื่อชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นครับ

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
บันทึก 6 พฤษภาคม 2554

http://rparun.exteen.com/20110508/entry

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น