วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รายงานการศึกษาเตรียมยกเลิกพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

เอกสารต่อไปนี้ เป็นรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลดีและผลเสียของการบริโภคพืชกระท่อม เพื่อเป็นแนวทางในการเสนอว่าควรยกเลิกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือไม่ ขอนำมาเก็บไว้ในที่นี้เพื่อป้องกันเอกสารนี้สูญหายไปในอนาคต (นำเอกสารนี้มาจาก http://www.senate.go.th/senate/report_detail.php?report_id=37)

รายงานการศึกษาเรื่อง ผลดี และผลเสียของการบริโภคพืชกระท่อม เพื่อเป็นแนวทางในการเสนอว่าควรยกเลิกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือไม่
ชื่อคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการ วิสามัญศึกษาผลดีและผลเสียของการบริโภคพืชกระท่อม เพื่อเป็นแนวทางในการเสนอว่าควรยกเลิกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือไม่
วันที่ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณารายงาน การประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๒๔ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)  เป็นพิเศษ 
วันอังคารที่  ๔  พฤศจิกายน  ๒๕๔๖
สาระสำคัญของรายงาน
ประวัติความเป็นมาของการบริโภคพืชกระท่อมในประเทศไทย
พืชกระท่อม
     กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า มิตราไจนา สเปซิโอซา คอร์ท (Mitragyna Speciosa Korth) จัดอยู่ในตระกูล รูเบียซีอี (Rubiaceae) มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย มาลายู จนถึงเกาะนิวกินีด้วย ที่พบในประเทศไทยมีอยู่ ๓ พันธุ์ คือ แตงกวา (ก้านเขียว) ยักษาใหญ่ (รูปใบใหญ่) และก้านแดง มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละที่ เช่น ในประเทศไทย ภาคเหนือเรียกอีด่าง อีแดง กระอ่วม ภาคใต้ เรียกท่อม หรือท่ม ในมลายูเรียกคูทุม (Kutum) หรือ คีทุมเบีย (Ketum Bia) หรือ เบียก (Biak) ลาวเรียก ไนทุม (Neithum) อินโดจีน เรียก โคดาม (Kodam)
     ในประเทศไทยมีการนำมาใช้เป็นยาแก้โรคบิด ท้องร่วง และปวดมวนท้อง ชาวนานิยมบริโภคโดยการเคี้ยวใบสด หรือเอาใบมาย่างให้เกรียมและตำผสมกับน้ำพริกรับประทานเป็นอาหาร เพื่อให้มีแรงทำงานและสามารถทนตากแดดอยู่กลางแจ้งได้เป็นเวลานานโดยไม่ รู้สึกเหนื่อย ชาวมลายูใช้ใบกระท่อมตำพอกแผล และใช้ทั้งใบเผาให้ร้อนวางบนท้องรักษาโรคม้ามโต ตลอดจนใช้กระท่อมเพื่อทดแทนฝิ่นในท้องที่ซึ่งหาฝิ่นไม่ได้ และบ่อยครั้งมีการใช้ใบกระท่อมเพื่อควบคุมการติดฝิ่น โดยเฉพาะในประเทศนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน
สรรพคุณทางยา
     ตำราแพทย์แผนโบราณ ใช้ใบกระท่อมปรุงเป็นยา เรียกว่า ประสะกระท่อม ใช้รักษาโรคบิด แก้ปวดมวนท้อง ปวดเบ่ง ปวดเมื่อยร่างกาย ท้องเฟ้อ ท้องเสีย ท้องร่วง ทำให้นอนหลับ และระงับประสาท ในมุมมองของแพทย์แผนไทยส่วนใหญ่ จะนำพืชกระท่อมมาใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง และที่กล่าวว่ามีประสะกระท่อมนั้น แสดงว่าในใบกระท่อมนั้นมีพิษอยู่ด้วย คนโบราณนั้น หากยาชนิดไหนที่มีพิษจะมีการประสะ คือ ทำให้พิษอ่อนลง และสามารถทำได้หลายรูปแบบ อาทิต้ม การคั่ว หรือผสมกับสารตัวอื่นในปริมาณที่เท่ากัน ก็จะเรียกว่าประสะ ในทางแผนโบราณนั้นหากเป็นยาจะต้องมีการผสม มีประสะ แก้พิษ จะต้องเป็นตำรับซึ่งจะต้องมีความพอดี รับประทานเข้าไปแล้วจะไม่มีผลข้างเคียงและไม่ติด เนื่องจากแพทย์เป็นผู้สั่งใช้ และที่สำคัญในอดีตเคยมีการนำกระท่อมมาทดแทนฝิ่นหรือเฮโรอีนได้ เนื่องจากกระท่อมสามารถลดอาการถอนยา อาการปวดเมื่อย และรักษาอาการอยากยาได้
สาระสำคัญที่พบในใบกระท่อม
     ใบกระท่อมประกอบด้วยแอลคะลอยด์ทั้งหมดประมาณร้อยละ ๐.๕ ในจำนวนนี้เป็นมิตราไจนีน (Mitragynine) ร้อยละ ๐.๒๕ ที่เหลือเป็น สเปโอไจนีน (Speciogynine) ไพแนนทีน (Paynanthine) สเปซิโอซีเลียทีน (Speciociliatine) ตามลำดับ ซึ่งชนิดและปริมาณแอลคะลอยด์ที่พบแตกต่างกันตามสถานที่ และเวลาที่เก็บเกี่ยว ซึ่งแบ่งตามสูตรโครงสร้างได้สารประกอบ ๔ ประเภท คือ
     ๑. อินโดลแอลคะลอยด์ (Indole Alkaloids)
     ๒. ออกอินโดลแอลคะลอยด์ (Oxindole Alkaloids)
     ๓. ฟลาวานอยด์ (Elavanoids)
     ๔. กลุ่มอื่น ๆ เช่น ไฟโตสเตอรอล (Phytosterol), แทนนิน (Tannins)    
     อาการของผู้ติดใบกระท่อม
     มีลักษณะคล้ายกับแอมเฟตามีน คือ เบื่ออาหาร ทำงานได้มากเกินปกติ ตื่นเต้น เพราะประสาทถูกกระตุ้น แต่ยังไม่เคยมีรายงานผู้เสพติด ใบกระท่อมก่อปัญหาอาชญากรรมหรืออุบัติเหตุ เหมือนที่ได้รับรายงานกรณีผู้เสพติดแอมเฟตามีน
     อาการขาดยา
     ที่พบ คือ จะไม่มีแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูก แขนขากระตุก รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สามารถทำงานได้ อารมณ์ซึมเศร้า จมูกแฉะ น้ำตาไหล บางรายจะมีท่าทางก้าวร้าว แต่เป็นมิตร (Hostility) นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ซึ่งตรงกับข้ามกับอาการขาดยาแอมเฟตามีนที่จะทำให้รู้สึกง่วงนอนมาก หิวจัด และมือสั่น
     สรุปได้ว่า พืชกระท่อมมีสารแอลคะลอยด์ Mitragynine อยู่ในใบ มีฤทธิ์ระงับอาการปวด เช่นเดียวกับมอร์ฟีน โดยมีความแรงต่ำกว่ามอร์ฟีนประมาณ ๑๐ เท่า และมีข้อดีกว่ามอร์ฟีนอยู่หลายประการ ดังนี้
     ๑. กระท่อมไม่กดระบบทางเดินหายใจ
     ๒. ไม่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน
     ๓. พัฒนาการในการติดยาเกิดช้ากว่ามอร์ฟีนหลายปี
     ๔. ไม่มีปัญหาเรื่องอาการอยากได้ยา (Craving) จึงไม่มีกรณีผู้ติดกระท่อม ก่อเหตุร้ายหรือพัวพันกับอาชญากรรมใดเลย
     ๕. อาการขาดยาไม่ทรมานเท่ามอร์ฟีน และสามารถบำบัดได้ง่ายกว่ายากล่อมประสาท ระยะ ๒ – ๓ สัปดาห์ ขณะที่ผู้ติดมอร์ฟีนอาจต้องพึ่ง Mitragynine ซึ่งเป็นสารเสพติดเช่นเดียวกัน เป็นเวลานาน ๓ เดือนขึ้นไป
     ๖. การควบคุมทางกฎหมาย ไม่มีสนธิสัญญาที่เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศห้ามการปลูกเหมือนฝิ่น
     ๗. ใช้บำบัดอาการติดฝิ่นหรือมอร์ฟีนได้
การบริโภคใบกระท่อมในประเทศไทย
     คนไทยจะนิยมบริโภคใบกระท่อมกันเมื่อใดไม่อาจทราบได้แน่นอน เมื่อย้อนไปตรวจดูประวัติศาสตร์กฎหมายถึง พ.ศ. ๑๙๐๓ ในสมัยพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาในกฎหมายตราสามดวง ว่าด้วยลักษณะโจร ก็ไม่ได้บัญญัติให้กระท่อมเป็นสิ่งผิดกฎหมาย คงมีแต่เฉพาะฝิ่นเท่านั้นที่ห้ามการบริโภค ครอบครองหรือจำหน่าย การที่แพทย์พื้นบ้านได้ใช้กระท่อมเป็นตัวยาสมุนไพรไทย แสดงให้เห็นว่า คนไทยได้ใช้กระท่อมกันมาเป็นเวลานานและใช้กันอย่างแพร่หลายนั่นเอง
     จากการศึกษาและสอบถามจากประเทศเพื่อนบ้านกับประเทศไทย คือ ลาว เขมร มาเลเซีย อินโดนีเซีย พบว่า พืชกระท่อมที่อยู่ในรูปของ ต้น ใบ ราก ไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมายของประเทศเหล่านี้ และประชาชนบางกลุ่มที่นิยมบริโภคในรูปของใบสดเพื่อกระตุ้นในการทำงาน อีกทั้งในข้อตกลงของสหประชาชาติก็ไม่ได้กำหนดให้กระท่อมเป็นสิ่งเสพติดหรือ ผิดกฎหมาย คงมีประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่กำหนดให้กระท่อมเป็นพืชที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้กำหนดให้ต้นกระท่อมเป็นพืชหวงห้าม จะตัดฟันต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ทำให้เกิดปัญหาว่าหากประชาชนมีต้นกระท่อมอยู่ในสวนหรือที่ดินก็จะไปตัดโดย พลการไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันการครอบครองกระท่อมก็ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒
     กระท่อมเพิ่งปรากฏเป็นยาเสพติดต้องห้ามตามกฎหมายเป็นครั้งแรกในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) ซึ่งเหตุผลที่แท้จริงของการออก พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. ๒๔๘๖ เนื่องจากฝิ่นที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดผลิตฝิ่นสุก ฝิ่นดิบ มีราคาแพง ทำให้คนหันมาสูบกระท่อมแทนฝิ่น ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าแท้ที่จริงการตรา พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. ๒๔๘๖ และใช้สืบเนื่องมาจนทุกวันนี้มีเหตุผลและหลักการทางการค้าทางภาษีของรัฐ หาใช่เพราะเหตุที่พืชกระท่อมเป็นพืชเสพติดเองไม่ ซึ่งหลักเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเป็นแนวทางในการพิจารณาเพื่อจัดให้ เป็นยาเสพติดที่จะต้องควบคุมนั้นมีดังนี้
     ๑. เมื่อไม่ได้เสพแล้วก่อให้เกิดอาการขาดยา
     ๒. มีประโยชน์ทางการแพทย์น้อยหรือไม่มีเลย
     ๓. ก่อให้เกิดปัญหาทางสาธารณสุข
     ๔. ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพืชกระท่อม
     ปัจจุบันพืชกระท่อมถูกควบคุมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ตามมาตรา ๗ (๕) มาตรา ๒๖ มาตรา ๔๘ มาตรา ๕๗ มาตรา ๗๕ วรรค ๒ มาตรา ๗๖ วรรค ๒ มาตรา ๗๖/๑ วรรค ๓ และวรรค ๔ มาตรา ๘๙ มาตรา ๙๒ วรรค ๒ มาตรา ๙๓ วรรค ๑ วรรค ๒ วรรค ๓ มาตรา ๙๓/๑ วรรค ๒ และมาตรา ๑๐๑ ทวิ
ผลกระทบของการยกเลิก “พืชกระท่อม” ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ
     ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
     ผลดี
     - พืชกระท่อมมีอยู่มากมายในประเทศไทย ดังนั้น สามารถนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้
     - ใช้ทำยาสมุนไพรรักษาโรคตามตำราแพทย์แผนโบราณ เช่น ช่วยระงับอาการไอ ระงับอาการปวดฟัน ระงับอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รักษาโรคเบาหวาน รักษาอาการปวดประจำเดือน บิด ท้องร่วง กล่อมประสาท สมานแผลในปาก ห้ามเลือด ลดความดัน แก้พิษจากพืชและสัตว์
     - เนื้อไม้นำมาสร้างอาคารบ้านเรือน, เฟอร์นิเจอร์
     - สามารถสกัดเอาสารแอลคะลอยด์ที่พบในพืชกระท่อม ประมาณ ๔๐ ชนิด มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนปัจจุบันได้อย่างมากมาย เช่น ใช้ระงับอาการปวดได้เช่นเดียวกับมอร์ฟีน ขยายหลอดเลือด ลดความดัน ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับประเทศ
     - ลดการสูญเสียเงินตราในการสั่งซื้อมอร์ฟีนจากต่างประเทศได้ปีละหลายสิบล้านบาทถ้าสามารถนำพืชกระท่อมมาใช้ทดแทนได้
     ผลเสีย
          -
     ผลกระทบด้านสังคมและสาธารณสุข
     ผลดี
     - ใช้ใบกระท่อมทดแทนการติดฝิ่นหรือมอร์ฟีนซึ่งมีฤทธิ์รุนแรงกว่าได้ ทำให้ผู้บริโภคมีสุขภาพดีขึ้น
     - เมื่อบริโภคแล้วจะทำงานได้มากกว่ากรณีปกติทั่วไปและไม่ปรากฏว่าเป็นผู้ก้าว ร้าวหรือไม่ก่ออาชญากรรมแต่อย่างใด ซึ่งตรงข้ามกับผู้เสพสุราหรือยาบ้า
     - ประชาชนผู้บริโภคพืชกระท่อมแล้วทำงานจะเกิดความรู้สึกที่ดีและได้รับความเป็นธรรมและยอมรับจากสังคม
     - เมื่ออารยประเทศต่าง ๆ ไม่ได้มีการควบคุมพืชกระท่อมเลย ดังนั้น การที่ประเทศไทยไม่ควบคุมก็ไม่เสียหายต่อชาวโลกเช่นกัน
     ผลเสีย
     - ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร ท้องผูก
     - เมื่อบริโภคไปนาน ๆ อาจทำให้ติดได้ เมื่อไม่ได้บริโภคจะรู้สึกไม่มีแรง ซึมเศร้า นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร บางรายก้าวร้าวแต่เป็นมิตร (Hostility) อย่างไรก็ตามไม่เคยปรากฏว่ามีคนเสียชีวิตหรือทำร้ายผู้อื่นจากการบริโภคพืช กระท่อม
     ผลกระทบด้านการเมือง
     ผลดี
     - สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับรัฐบาลได้หากพิสูจน์และชี้แจงให้ประชาชนเห็นอย่าง ชัดเจนเป็นรูปธรรมว่า “พืชกระท่อม” จริง ๆ แล้วไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษอย่างแท้จริง เมื่อเทียบกับสุราหรือบุหรี่ และการนำพืชกระท่อมไปบริโภคจะมีผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนมากกว่า
     - สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับระบบการเมืองเพราะสามารถแก้ปัญหาพืชกระท่อมได้ โดยระบบรัฐสภาและนำไปสู่ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบการเมืองมากขึ้น
     - ลดภาระหน้าที่และงบประมาณจำนวนมากที่รัฐจะต้องใช้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดความเกี่ยวกับ “พืชกระท่อม”
     ผลเสีย
     -  หากพนักงานเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในทางมิชอบจะทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมและส่งผลต่อความเชื่อมั่นในรัฐบาล
     -  อาจเกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิด ในวงกว้าง ซึ่งอาจพัฒนาเป็นความขัดแย้งทางการเมือง เนื่องจาก “รัฐประกาศสงครามกับยาเสพติดแตกหัก”
     ผลกระทบด้านกฎหมาย
     ผลดี
     - ไม่มีประเทศใดในโลก และ UN ก็ไม่ควบคุม “พืชกระท่อม” ให้เป็นยาเสพติด
     - การควบคุม “พืชกระท่อม” ตามกฎหมายมาจากสาเหตุ “ภาษี” ที่รัฐจัดเก็บจาก “ฝิ่น” ได้น้อยลง เพราะมีการเสพกระท่อมแทน
     - การออก “พระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. ๒๔๘๖” รัฐอ้าง “เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน” โดยไม่มีการศึกษาวิจัยถึงผลดีและผลเสีย ของการบริโภคพืชกระท่อมเลย
     - ลดปริมาณคดียาเสพติดและภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ตำรวจ อัยการ และศาล ได้ในระดับหนึ่งที่จะต้องไปเสียเวลากับการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด เกี่ยวกับพืชกระท่อม
     ผลเสีย
            -
     ผลกระทบทางด้านวิชาการ
     หากประเทศไทยยังกำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดต่อไปในอนาคตการที่จะนำพืช กระท่อมมาศึกษาหรือวิจัย จะต้องไปขออนุญาตจากต่างประเทศ เนื่องจากต่างประเทศได้จดลิขสิทธิ์ไปแล้ว ดังเช่น หญ้าเปล้าน้อย
     ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ
     จากการศึกษาหางานทางวิชาการ การเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านพืชกระท่อมมาชี้แจง แสดงความคิดเห็นและตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการวิสามัญ การตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ปรากฏว่าทางองค์การสหประชาชาติและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติด และจากการศึกษาข้อเท็จจริงและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งที่บริโภคและ ไม่บริโภคใบกระท่อม เจ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ แพทย์พื้นบ้าน แพทย์แผนปัจจุบัน และอื่น ๆ สรุปโดยภาพรวมไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงของประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการเมือง และด้านกฎหมายแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมว่า “ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับผลดีตอบแทนที่คุ้มค่ายิ่งจากการนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์”
     มีข้อสังเกตบางประการของคณะกรรมาธิการฯ พบว่าตั้งแต่ได้พิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าว ไม่พบว่ามีสื่อมวลชนแขนงใดวิพากษ์วิจารณ์ นอกจากนี้ฝ่ายปกครองก็ต้องการให้ยกเลิกพืชกระท่อมออกจากกฎหมายว่าด้วยยาเสพ ติดให้โทษเช่นกัน เนื่องจากมิอาจทวนกระแสข้อเท็จจริงในสังคมได้
     ดังนั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะประโยชน์ในการที่จะทำการศึกษา วิจัย และพัฒนาให้ใช้เป็นยารักษาโรคทั้งแผนโบราณ และแผนปัจจุบัน ผลการวิจัยใช้เป็นประโยชน์เพื่อการประกอบอาชีพ คณะกรรมาธิการฯ จึงเห็นสมควรที่จะให้ยกเลิก “พืชกระท่อม” ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ โดยเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ในมาตรา ๗ (๕) มาตรา ๗๕ วรรค ๒ มาตรา ๗๖ วรรค ๒ มาตรา ๗๖/๑ วรรค ๓ และวรรค ๔ และมาตรา ๙๒ วรรค ๒ และแก้ไขบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๑๓๕ (พ.ศ. ๒๕๓๙) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ
มติที่ประชุมวุฒิสภา  ที่ประชุมรับทราบ
หน่วยงานที่รับผิดชอบ  กระทรวงสาธารณสุข
ผลการติดตามปฏิบัติตามมติ
ค้นหารายละเอียดของรายงาน คณะกรรมาธิการ วิสามัญศึกษาผลดีและผลเสียของการบริโภคพืชกระท่อม  เพื่อเป็นแนวทางในการเสนอว่าควรยกเลิกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ประเภท  ๕  ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือไม่
สำนักกรรมาธิการ ๒
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น