เรื่องราวดังต่อไปนี้ มีพื้นฐานมาจากเรื่องจริงที่เคยการพิจารณาของสภาเภสัชกรรมและศาลปกครองสูงสุดมาแล้ว เป็นกรณีที่เภสัชกรที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ได้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาน้ำสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยวิธีการโฆษณานั้นมีลักษณะดังนี้
1. โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ยาน้ำสมุนไพร ให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาของบริษัทขายตรงว่า ชื่อของยาน้ำ หมายความว่า ยืนยาวเป็นนิรันดร กินแล้วอายุยืนยาว ชะลอความแก่ เป็นยาอายุวัฒนะ กินแล้วปรับสมดุลของห้าธาตุ มีพลังชีวิต โรคทุกโรคหายหมด กินดีทุกโรค และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม มีสรรพคุณกินเข้าไปได้ครบทุกอย่าง เป็นยาอายุวัฒนะ เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา
88 (1) (2) และ (8) ประกอบมาตรา 88 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510
2. โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีลักษณะเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณ โดยไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์หรือการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับและมีการเผยแพร่ อันเป็นการหลอกลวงและจูงใจให้ผู้ฟังหลงเชื่อและตัดสินใจซื้อไปรับประทาน ซึ่งมีลักษณะเป็นเชิงพาณิชย์ มิใช่เป็นการให้ความรู้หรือข้อเท็จจริงทางวิชาการ ทั้งยังเป็นการโฆษณาเพื่อประโยชน์ทางการค้าทางเครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตามมาตรา 40 และมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522
3. การโฆษณามีลักษณะซ้ำซากหลายครั้งต่อเนื่องเป็นเวลานาน เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลจำนวนมาก
สภาเภสัชกรรม พิจารณาจากข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งเภสัชกรรม พ.ศ.2538 เห็นว่ากรณีนี้ผู้ฟ้องคดีไม่รักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม กระทำผิดจริงและมีลักษณะซ้ำซากหลายครั้งต่อเนื่องเป็นเวลานาน เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลจำนวนมากการพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 1 ปี
เภสัชกรคนนี้ไม่พอใจผลการตัดสินว่า (เพราะตนเองก็มีความรู้) จึงได้ฟ้องศาลปกครอง โดยบอกว่าสภาเภสัชกรรมตัดสินไม่ถูกที่พักใช้ใบอนุญาต และพักใช้ใบอนุญาตนานถึง 1 ปี จนกระทั่งคดีขึ้นสู่ศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองสูงสุดก็พิจารณาจากพฤติกรรมของเภสัชกรคนนี้ก็เห็นว่าสภาเภสัชกรรมตัดสินได้ถูกต้องแล้ว ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 689/2555
ดังนั้น จากคดีดังกล่าวนี้ เทคนิคการโฆษณาสินค้าที่จะทำให้ถูกพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มีดังนี้
1. ต้องโฆษณาโอ้อวดเกินจริง
2. โฆษณานั้นไม่ได้อาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับ หรือมีข้อมูลรองรับแต่ข้อมูลนั้นไม่น่าเชื่อถือ
3. มีการกระทำในเชิงการค้า ไม่มีลักษณะการให้ข้อมูลความรู้เชิงวิชาการ
4. โฆษณาซ้ำซาก หลายครั้ง ต่อเนื่อง เป็นเวลานาน ข้อมูลเผยแพร่ในหลายหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลจำนวนมาก
เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง
จัดกิจกรรมการโฆษณาและการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างไร หลีกเลี่ยงการผิดกฎหมาย
http://rparun.blogspot.com/2014/03/promotion.html
จัดส่งยาทางไปรษณีย์ทำได้เพียงใด
ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโฆษณาความรู้ความสามารถของตน
สถานที่ประกอบธุรกิจของตนหรือสถานที่ตนปฏิบัติงาน ทำได้หรือไม่
สรุปข้อพึงระวังจรรยาบรรณวิชาชีพของเภสัชกร
กรณีโฆษณาผลิตภัณฑ์ให้ธุรกิจเอกชน
http://rparun.blogspot.com/2011/09/ethicrx01.html
__________
นายปกครอง. คอลัมน์ คดีปกครอง: ใบอนุญาตถูกพักใช้...เพราะโอ้อวดสรรพคุณ (ยา) เกินจริง!. บ้านเมือง ฉบับวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2556 หน้า 5
การโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณของยาหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้รักษา หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย รวมทั้งช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงนั้นมีให้เห็นอยู่เสมอ แต่การโฆษณาที่เกินความจริง ไม่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ ผู้โฆษณาอาจมีความผิดตามกฎหมาย และหากผู้ที่โฆษณาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์หรือการสาธารณสุขด้วยแล้ว อาจส่งผลให้ผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอีกด้วย
คดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ เป็นเรื่องของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะและเป็นเภสัชกรประจำร้านขายยา (ผู้ฟ้องคดี) ได้โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ยาน้ำสมุนไพรและผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ในการบรรยายให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาของบริษัทขายตรงว่า ชื่อของยาน้ำ หมายความว่า ยืนยาวเป็นนิรันดร กินแล้วอายุยืนยาว ชะลอความแก่ เป็นยาอายุวัฒนะ กินแล้วปรับสมดุลของห้าธาตุ มีพลังชีวิต โรคทุกโรคหายหมด กินดีทุกโรค และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม มีสรรพคุณกินเข้าไปได้ครบทุกอย่าง เป็นยาอายุวัฒนะ
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สภาเภสัชกรรม) มีคำสั่งให้พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรของผู้ฟ้องคดีเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากการโฆษณามีลักษณะโอ้อวดทำให้ผู้ฟังหลงเชื่อ และไม่มีข้อมูลทางวิชาการอ้างอิง อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการฟังความข้างเดียว เป็นการตัดต่อเทปการบรรยายใส่ร้ายผู้ฟ้องคดี และเป็นการบรรยายในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตดังกล่าว
การที่ผู้ฟ้องคดีได้บรรยายสรรพคุณยาดังกล่าว ถือเป็นการโอ้อวดสรรพคุณยาอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 หรือไม่? ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้ ห้ามมิให้โฆษณาขายยาในลักษณะเป็นการโอ้อวดสรรพคุณยา หรือวัตถุอันเป็นส่วนประกอบของยาว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้ อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาด หรือใช้ถ้อยคำอื่นที่มีความหมายเดียวกัน หรือแสดงสรรพคุณยาอันเป็นเท็จหรือเกินความจริงหรือแสดงสรรพคุณว่าสามารถรักษาหรือป้องกันโรคหรืออาการของโรคที่รัฐมนตรีประกาศได้ (มาตรา 88 (1) (2) (8)) และการโฆษณาขายยาทางเครื่องขยายเสียง ทางฉายภาพหรือทางสิ่งพิมพ์นั้น จะต้องได้รับอนุมัติข้อความ เสียง หรือภาพที่ใช้ในการโฆษณาจากผู้อนุญาตเสียก่อน (มาตรา 88 ทวิ (1) (2)) นอกจากนั้น พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ยังห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร และการโฆษณาจะต้องได้รับการตรวจพิจารณาจากผู้อนุญาต (มาตรา 40 และมาตรา 41)
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การบรรยายโฆษณายาน้ำสมุนไพร โดยมิได้ให้ความรู้หรือข้อเท็จจริงทางวิชาการเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพตามแนวทางแพทย์ทางเลือกด้วยสมุนไพร แต่เป็นการโอ้อวดสรรพคุณยาหรือวัตถุอันเป็นส่วนประกอบของยาว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาด และมีลักษณะเป็นเท็จหรือเกินความจริง และเป็นโรคหรืออาการของโรคที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศห้ามโฆษณา เป็นการบรรยายโดยใช้เครื่องขยายเสียงและฉายแผ่นใสโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามมาตรา 88 (1) (2) และ (8) ประกอบมาตรา 88 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510
ส่วนการบรรยายเกี่ยวกับอาหารเสริมที่มีลักษณะเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณ โดยไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์หรือการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับและมีการเผยแพร่ อันเป็นการหลอกลวงและจูงใจให้ผู้ฟังหลงเชื่อและตัดสินใจซื้อไปรับประทาน ซึ่งมีลักษณะเป็นเชิงพาณิชย์ มิใช่เป็นการให้ความรู้หรือข้อเท็จจริงทางวิชาการ ทั้งยังเป็นการโฆษณาเพื่อประโยชน์ทางการค้าทางเครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตามมาตรา 40 และมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522
เมื่อผู้ฟ้องคดีบรรยายว่าตนเป็นเภสัชกร เป็นนักวิชาการที่จบการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก และแนะนำสรรพคุณยาน้ำสมุนไพรในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณในลักษณะดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการใช้วิชาชีพเภสัชกรเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและชักจูงผู้ฟังให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาแผนปัจจุบันและหันมาใช้ยาหรืออาหารเสริมที่ผู้ฟ้องคดีแนะนำ อันเป็นการกระทำที่ผิดข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งเภสัชกรรม พ.ศ.2538 จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีไม่รักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม ตามที่ข้อบังคับดังกล่าวกำหนดไว้เมื่อผู้ฟ้องคดีกระทำผิดจริง และมีลักษณะซ้ำซากหลายครั้งต่อเนื่องเป็นเวลานาน เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลจำนวนมากการพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 1 ปี จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 689/2555) คดีนี้นอกจากจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับ ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกร ว่า จะต้องรักษาจรรยาบรรณ โดยการรักษามาตรฐานการประกอบวิชาชีพในระดับที่ดีที่สุด และจะต้องไม่ใช้วิชาชีพของตนเพื่อจูงใจ ชักชวน หรือให้คำรับรองที่เป็นเท็จหรือเกินจริง อันจะส่งผลให้บุคคลอื่นเสียหายแล้ว ยังเป็นข้อเตือนใจแก่ประชาชนทั่วไปว่า ในการเลือกซื้อเลือกใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ นั้น ควรที่จะระมัดระวังในการรับข้อมูลจากสื่อต่างๆ โดยต้องศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ด้วย เช่น การสอบถามจากแพทย์โดยตรง หรือการอ่านเอกสารที่เชื่อถือได้ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อจะได้ยาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตครับ!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น