วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

จัดกิจกรรมการโฆษณาและการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างไร หลีกเลี่ยงการผิดกฎหมาย

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
ปรับปรุงล่าสุด 27 กรกฎาคม 2558

          หลายท่านคงประสบปัญหาช่วงที่ยอดขายผลิตภัณฑ์สุขภาพในร้านหรือสถานประกอบการของตนไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ กำลังคิดหาช่องทางการโฆษณาและการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดขาย แต่จะทำอย่างไรจึงป้องกันไม่ให้ฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะถ้าถูกลงโทษขั้นต่ำเป็นลงโทษปรับก็มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นต้นทุนของร้านหรือสถานประกอบการเพิ่มเติมเข้าไปอีก และส่งผลถึงภาพลักษณ์ได้ว่าเป็นผู้ประกอบการที่ไม่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย
          ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จะกล่าวถึงในที่นี้ ได้แก่ ยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตรายที่ใช้ทางสาธารณสุข ของดเว้นไม่กล่าวถึงวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และยาเสพติดให้โทษ
          ก่อนที่จะเข้าสู่กิจกรรมการโฆษณาและการส่งเสริมการขายในแต่ละหัวข้อ ต้องมาทำความเข้าใจหลักการที่สำคัญของกฎหมายก่อนว่าจะถือว่าฝ่าฝืนกฎหมายหรือต้องถูกลงโทษในกรณีใดได้บ้างนั้น ต้องทราบไว้ก่อนว่า จะรับโทษทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำสิ่งที่กฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ซึ่งเป็นหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 39 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2
          นอกจากนี้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59  วรรคแรก ได้บัญญัติไว้ว่า “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา” นั่นหมายความว่า ถ้าไม่ได้เจตนาก็ไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายนั้น ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดว่าต้องรับโทษกรณีที่เป็นการกระทำโดยประมาท ก็ไม่ต้องรับโทษเนื่องจากการกระทำโดยประมาทนั้น
          เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 และมาตรา 59 อยู่ในภาค 1 ของประมวลกฎหมายอาญา จึงสามารถนำไปใช้กับกฎหมายอื่นซึ่งกำหนดโทษทางอาญาได้ด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 เว้นแต่กฎหมายนั้นๆ จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ไม่มีบทบัญญัติว่ากรณีประมาททำให้ยาที่ผลิตขึ้นหรือยาที่ขายเป็นยาปลอม ก็ไม่มีบทบัญญัติให้รับโทษฐานผลิตหรือขายยาปลอมโดยประมาท ดังนั้นจึงไม่สามารถลงโทษตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ได้

          ต่อไปมาพิจารณากิจกรรมการโฆษณาและการส่งเสริมการขายดังต่อไปนี้ว่าสามารถกระทำได้มากน้อยเพียงใด


          1. การลดราคา
                    กรณีการลดราคาแม้ว่าจะมีการจูงใจให้เกิดการบริโภคเพิ่มมากขึ้นได้ ถ้าพิจารณาดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพแล้วไม่ว่าจะเป็นยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตรายที่ใช้ทางสาธารณสุข จะพบว่าไม่มีการห้ามเกี่ยวกับการลดราคา เนื่องจากกฎหมายในขณะนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะใช้คุ้มครองประชาชนทั่วไป และการลดราคานั้นประชาชนจะได้รับประโยชน์มากกว่า บางคนอาจโต้แย้งว่ายาห้ามลดราคาไม่ใช่หรือ โดยอ้างพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 90 ว่า “ห้ามมิให้โฆษณาขายยาโดยวิธีแถมพกหรือออกสลากรางวัล” ถ้าตั้งใจอ่านมาตรา 90 ให้ดีจะพบว่ากฎหมายมีวัตถุประสงค์ห้าม 2 กรณีที่สำคัญคือ กรณีแรกเป็นการห้ามการโฆษณาขายยาโดยวิธีแถมพก และกรณีที่สองเป็นการห้ามโฆษณาขายยาโดยวิธีการออกสลากรางวัล และถ้าพิจารณาส่วนอื่นพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ก็ไม่ได้บัญญัติห้ามเรื่องการลดราคายาไว้ ดังนั้น จึงไม่สามารถลงโทษเรื่องการลดราคายาได้ เพราะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 39 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2
                    กรณีสินค้าประเภทอื่น เช่น อาหาร เครื่องสำอาง ยกตัวอย่างโฆษณาของห้างสรรพสินค้าบางแห่งที่โฆษณาลดถูกกว่าเดิม ก็ไม่ได้มีข้อห้ามว่าห้ามโฆษณาเรื่องลดราคาเช่นเดียวกัน
                    แต่ถ้าแสดงราคาไม่ถูกต้องไม่ได้ถูกต้อง เช่น ติดป้ายข้างกล่องว่าราคา 100 บาท แต่ขายจริงราคา 105 บาท ไม่ได้ถูกลงโทษตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 แต่ถูกลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 40 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
                    
          2. การสะสมแต้ม แสตมป์ คูปอง  
                    การโฆษณาว่าซื้อสินค้าแล้วจะได้รับการสะสมแต้ม แสตมป์ หรือคูปอง เป็นกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อมีการซื้อสินค้าให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้ และจะได้รับมาฟรี หรือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนของแต้มที่ แสตมป์ หรือคูปองที่ได้รับมานี้ หรือไม่ต้องมีการเสี่ยงโชค
                    เมื่อเป็นส่วนที่ได้รับมาฟรีผลิตภัณฑ์ยาจึงไม่สามารถมีการสะสมแต้มได้ เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 90 ห้ามโฆษณาขายยาโดยวิธีการแถมพก เพราะการได้รับแต้ม แสตมป์ หรือคูปอง เป็นส่วนที่แถมเมื่อมีการซื้อยา ส่วนผลิตภัณฑ์อาหาร (เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ไม่ได้มีบทบัญญัติห้ามไว้ จึงสามารถทำได้ เครื่องสำอางตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ไม่ห้ามไว้จึงสามารถทำได้ ส่วนเครื่องมือแพทย์ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 มาตรา 59(3) ห้ามเพียงการโฆษณาต้องไม่จัดให้มีรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคโดยวิธีใด ๆ แต่ไม่กล่าวถึงเรื่องการแถม จึงสามารถทำได้ วัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ไม่ได้ห้ามไว้จึงสามารถทำได้ 
                    กรณีศึกษา สินค้าในกลุ่มยาไม่สามารถเข้าร่วมการสะสมแต้มได้ เนื่องจากฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 90

          3. การแลกแต้ม แลกสินค้า
                    เมื่อมีการสะสมแต้ม แสตมป์ หรือคูปองจำนวนหนึ่งแล้ว อาจถึงช่วงเวลาที่ต้องใช้ประโยชน์จากแต้มหรือคะแนนเหล่านั้น มีประเด็นที่ต้องพิจารณาดังนี้
                    กรณีการแลก แลกเปลี่ยน เพื่อประโยชน์ทางการค้า เป็นส่วนหนึ่งของคำว่า “ขาย” ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551  เป็นส่วนหนึ่งของคำว่า “จำหน่าย” ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ดังนั้น จึงต้องพิจารณาถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขาย เพราะจะมีผลต่อใบอนุญาตในการขาย และสถานที่ขายด้วย
                    หากนำแต้ม แสตมป์ หรือคูปอง ไปแลกสินค้าอื่นที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์สุขภาพก็ไม่มีปัญหา
                    ถ้านำแต้มไปแลกเป็นยา ก็ให้คิดว่าเป็นการใช้แต้มนั้นเป็นเงินแล้วไปซื้อยา ซึ่งก็ต้องทำตามเงื่อนไขเกี่ยวกับการขายยาไม่ว่ายานั้นจะเป็นยาประเภทใด เช่น ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณ ซึ่งต้องมีใบอนุญาตขายยา หรือต้องทำตามเงื่อนไขเกี่ยวกับการขายส่ง ยกเว้นยาสามัญประจำบ้านไม่ต้องมีใบอนุญาตขายยาและสามารถขายที่ไหนก็ได้
                    ถ้านำแต้มไปแลกเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง ก็ไม่มีปัญหา เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดให้มีใบอนุญาตขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้
                    ถ้านำไปแลกเป็นเครื่องมือแพทย์ ก็ต้องพิจารณาว่าเครื่องมือแพทย์นั้นเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องใช้ใบอนุญาตขายเครื่องมือแพทย์หรือไม่ ถ้าเป็นการแลกถุงยางอนามัย เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด ไม่ต้องมีใบอนุญาตขายเครื่องมือแพทย์อยู่แล้ว ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นชุดตรวจเชื้อเอชไอวีต้องมีใบอนุญาตขายเครื่องมือแพทย์ ดังนั้นต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการขายเครื่องมือแพทย์

          4. การแจกสินค้าตัวอย่าง
                    การแจกเพื่อประโยชน์ทางการค้า เป็นส่วนหนึ่งของคำว่า “ขาย” ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551  เป็นส่วนหนึ่งของคำว่า “จำหน่าย” ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ดังนั้น จึงต้องพิจารณาถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขาย เพราะจะมีผลต่อใบอนุญาตในการขาย และสถานที่ขายด้วย
                    การแจกยาตัวอย่าง ถ้าเป็นยาสามัญประจำบ้าน ไม่ต้องได้รับใบอนุญาตขายยา ไม่มีบทลงโทษไว้ จึงไม่ถือว่าฝ่าฝืนกฎหมาย แต่ถ้าเป็นยาที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านจะต้องมีใบอนุญาตขายยา และห้ามขายนอกสถานที่เว้นแต่เป็นการขายส่ง ดังนั้น การแจกยาตัวอย่างซึ่งไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านนอกร้านยา นอกบริษัทยาซึ่งได้รับใบอนุญาตขายยาจึงไม่สามารถทำได้ แต่ถ้านำยาที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านนั้นไปแจกให้โดยตรงต่อแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เภสัชกร พยาบาล จะเข้านิยามขายส่งตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ทันที ดังนั้นจึงไม่ถือว่าฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 19(1) หรือมาตรา 53



                    ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ หากมีการแจกยาตัวอย่างให้กับประชาชนทั่วไปโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ อาจมีปัญหาด้านจริยธรรมหรือจรรยาบรรณวิชาชีพในประเด็นไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน
                    การแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง ก็ไม่มีปัญหา เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดให้มีใบอนุญาตขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้
                    การแจกตัวอย่างเครื่องมือแพทย์ ก็ต้องพิจารณาว่าเครื่องมือแพทย์นั้นเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องใช้ใบอนุญาตขายเครื่องมือแพทย์หรือไม่ ถ้าเป็นการแจกถุงยางอนามัย เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด ไม่ต้องมีใบอนุญาตขายเครื่องมือแพทย์อยู่แล้ว ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นชุดตรวจเชื้อเอชไอวีต้องมีใบอนุญาตขายเครื่องมือแพทย์ ดังนั้นต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการขายเครื่องมือแพทย์ 
                    กรณีศึกษา นำตัวอย่างผลิตภัณฑ์วิตามินซีไปแจก ขั้นแรกดูให้ดีก่อนว่าวิตามินซีที่นำไปแจกนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาหรืออาหาร (มี เครื่องหมาย อย.และเลข 13 หลัก) ก็สามารถนำไปแจกได้ แต่ถ้าขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ยา (มีคำว่า Reg.No.) ต่อมาก็ดูว่ามีระบุยาสามัญประจำบ้านในกรอบสีเขียวหรือไม่ ถ้ามีก็เป็นยาสามัญประจำบ้าน แจกนอกสถานที่ได้ ถ้าไม่ใช่ให้แจกในร้านยาเท่านั้น หรือในสถานที่ที่มีใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน

เครื่องหมาย อย.

                     กรณีการแจกสินค้าตัวอย่างนี้ สามารถนำไปใช้กับกรณีการเร่ขายได้เช่นกัน

          5. การแถม  
                    ผลิตภัณฑ์ยาไม่สามารถแถมได้ เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 90 ห้ามโฆษณาขายยาโดยวิธีการแถมพก อาหารตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 เครื่องสำอางตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 วัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ไม่ห้ามไว้จึงสามารถทำได้ ส่วนเครื่องมือแพทย์ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 มาตรา 59(3) ห้ามเพียงการโฆษณาต้องไม่จัดให้มีรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคโดยวิธีใด ๆ แต่ไม่กล่าวถึงเรื่องการแถม จึงสามารถทำได้ วัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ไม่ได้ห้ามไว้จึงสามารถทำได้
                    สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีบันทึกเรื่อง การโฆษณาขายยาโดยวิธีแถมพก (เรื่องเสร็จที่ 142/2522) ซึ่งคณะกรรมการกฤษีกาได้พิจารณาเรื่องการโฆษณาขายยาโดยวิธีการแถมพก ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 90 โดยมีความเห็นว่า “ข้อห้ามการโฆษณาขายยาโดยวิธีการแถมพก บทบัญญัติมาตรา 90 มิได้จำกัดว่าต้องเป็นการโฆษณาแถมพกให้กับผู้ใด ดังนั้น ผู้ที่จะได้ของแถมพกจึงอาจเป็นผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ป่วย หรือเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะหรือร้านขายยาก็ได้ แต่โดยที่บทบัญญัติมาตรา 90 นี้ เป็นกรณีห้ามเกี่ยวกับวิธีแถมพกเพื่อคุ้มครองการตัดสินใจเลือกซื้อของผู้ซื้อ ข้อเท็จจริงจึงต้องได้ความว่าการแถมพกของอย่างหนึ่งอย่างใดนั้นเป็นการให้เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการขายยาตามปกติ หรืออีกนัยหนึ่งการให้ของนั้นแก่ผู้ซื้อมีขึ้นเนื่องจากการขายยาหรือมีความสัมพันธ์โดยตรงหรือใกล้ชิดกับการขายยาเท่านั้น จึงจะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 90 นี้ แต่ถ้าการให้ของนั้นเป็นการแจกอย่างแท้จริง คือมิได้มีขึ้นเนื่องจากการขายยาหรือมิได้มีความสัมพันธ์โดยตรงและใกล้ชิดกับการขายยา ก็จะถือว่าเป็นการโฆษณาขายยาโดยวิธีแถมพกอันฝ่าฝืนมาตรา 90 นี้ไม่ได้”
                    กรณีศึกษา บริษัทยาโฆษณาขายยาต่อร้านขายยาว่าซื้อยาครบ 10 กล่อง แถม 1 กล่อง ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการโฆษณาขายยาโดยวิธีการแถมพกตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 90 แต่ถ้าเป็นการคิดราคายา 11 กล่องในราคา 10 กล่อง ไม่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 เนื่องจากพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ไม่ได้มีบทบัญญัติห้ามลดราคายา
                    กรณีศึกษา บริษัทยาโฆษณาขายยาต่อร้านขายยาหรือแพทย์ว่า ซื้อยาครบตามยอดซื้อที่กำหนดไว้ จะได้ไปศึกษาดูงาน ได้ไปท่องเที่ยว หรือได้รับสวัสดิการของสถานพยาบาล ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการโฆษณาขายยาโดยวิธีการแถมพกตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 90
                    กรณีศึกษา ร้านสะดวกซื้อติดป้ายประกาศว่าซื้อผลิตภัณฑ์ลูกอมซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้าน 1 ซอง ได้รับแสตมป์ 6 ดวง ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการโฆษณาขายยาโดยวิธีการแถมพกตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 90
                    กรณีศึกษา ร้านขายยาติดป้ายว่าซื้อผลิตภัณฑ์วิตามินซีซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ยาจำนวน 4 กล่อง แถมผลิตภัณฑ์วิตามินซีนั้นอีก 1 กล่อง หรือแถมสินค้าอื่น ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการโฆษณาขายยาโดยวิธีการแถมพกตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 90
                    ส่วนการแถมพกตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 มาตรา 8 ดูหัวข้อการจับสลากรางวัลต่อไป

          6. การจับสลากรางวัล การเสี่ยงโชค
                    พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 90 กำหนดห้ามโฆษณาขายยาโดยวิธีออกสลากรางวัล ส่วนพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 มาตรา 59(3) ห้ามการโฆษณาต้องไม่จัดให้มีรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคโดยวิธีใด ๆ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ายาและเครื่องมือแพทย์ได้ห้ามเรื่องการจับสลากรางวัลและการเสี่ยงโชคไว้แล้ว ส่วนผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นในกฎหมายนั้นไม่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะ จึงต้องพิจารณาตามกฎหมายทั่วไป ในกรณีนี้ คือ พระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522
                    การชิงโชค การจับสลากรางวัล ตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 มาตรา 8 “การจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค โดยวิธีใด ๆ ในการประกอบกิจการค้าหรืออาชีพ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตก่อนจึงจะทำได้” ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50 บาท ขึ้นไปจนถึง 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 มาตรา 14
                    กฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503) ข้อ 15 ซึ่งแก้ไขโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2548) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 กำหนดว่า ผู้ใดประสงค์จะจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคโดยวิธีใดๆ ในการประกอบกิจการค้าหรืออาชีพตามมาตรา 8 ให้ทำคำขอรับใบอนุญาตให้จัดให้มีการเล่นแถมพกหรือรางวัลในการเสี่ยงโชคโดยวิธีใดๆ ในการประกอบกิจการค้าหรืออาชีพ (พ.น. 36 01-50) ยื่นต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตประจำท้องที่ ดังนี้
                     (1) ในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นที่กรมการปกครอง
                     (2) ในจังหวัดอื่น นอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นที่ที่ทำการปกครองอำเภอ หรือที่ทำการปกครองกิ่งอำเภอ”
                    ในกรุงเทพมหานคร ให้ออกใบอนุญาตได้เมื่ออธิบดีกรมการปกครองสั่งอนุมัติแล้ว ในจังหวัดอื่น นอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ออกใบอนุญาตได้เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งอนุมัติแล้ว ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503) ข้อ 4 ซึ่งแก้ไขโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2548) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478
                    ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคโดยวิธีใดๆ ในการประกอบกิจการค้าหรืออาชีพ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503) ข้อ 15 ข้อ  18 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 20 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 กำหนดดังนี้
กำหนดอายุใบอนุญาต
ค่าธรรมเนียม
1 วัน
ไม่เกิน 7 วัน
ไม่เกิน 1 เดือน
ไม่เกิน 6 เดือน
ไม่เกิน 1 ปี
300 บาท
600 บาท
1,500 บาท
6,000 บาท
9,000 บาท
                    คนดีที่จะทำให้ถูกต้องตามกฎหมายนี่ต้นทุนสูงจริง ๆ ถ้าไม่ขออนุญาตให้คำนวณความน่าจะเป็นที่จะถูกลงโทษตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 มาตรา 8 ก็แล้วกัน แต่ปกติก็ไม่ค่อยเห็นข่าวพวกนี้อยู่แล้ว เห็นแต่ข่าวตำรวจไปปิดบ่อนตามบ้านในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือในคดีเด็ดของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7
                    นอกจากนี้ยังมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 เข้ามาเกี่ยวข้องอีก เนื่องจากมีเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณาแถมพก เสี่ยงโชค หรือจับสลากรางวัล หากไม่มีกฎหมายใดบัญญติไว้โดยเฉพาะ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 21 แล้ว จะต้องมาใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ทันที ซึ่งก็ได้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ได้วางหลักเกณฑ์การโฆษณาไว้ในข้อ (3) (4) (5) ของกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในเรื่องเนื้อหาการโฆษณา ไม่ต้องขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ต้องมีเนื้อหา ดังนี้
                    - ข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ระบุหรือประกาศว่าผู้ประกอบธุรกิจจะจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค ก่อนที่ผู้ประกอบธุรกิจนั้นได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน
                    - ข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ระบุหรือประกาศว่าผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการพนันแล้ว หรือข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ระบุหรือประกาศว่าผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีการประกวดชิงรางวัล โดยข้อความโฆษณาดังกล่าวมิได้ระบุรายละเอียด ดังต่อไปนี้
                     (ก) หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข หรือข้อกำหนดในการเสี่ยงโชคหรือในการประกวดชิงรางวัล
                     (ข) วัน เดือน ปีที่เริ่มต้นและสิ้นสุดของการจัดให้มีการเสี่ยงโชคหรือการประกาศชิงรางวัล เว้นแต่กรณีที่เป็นการโฆษณาทางวิทยุ โทรทัศน์ ข้อความโฆษณาที่กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการเสี่ยงโชคหรือการประกวดชิงรางวัลนั้นจะให้ปรากฏในส่วนที่เป็นภาพหรือในส่วนที่เป็นเสียงอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ แต่ข้อความโฆษณาที่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดนั้นจะต้องให้ปรากฏทั้งในส่วนที่เป็นภาพและส่วนที่เป็นเสียง
                     (ค) ประเภทและลักษณะของของแถมพกหรือรางวัลจำนวนและมูลค่าของของแถมพกหรือรางวัลแต่ละสิ่ง หรือมูลค่ารวมในแต่ละประเภท เว้นแต่กรณีที่การโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่ระบุมูลค่าของของแถมพกหรือรางวัลแต่ละสิ่ง หรือมูลค่ารวมในแต่ละประเภทก็ได้ แต่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องระบุมูลค่ารวมของแถมพกหรือรางวัลทุกประเภทไว้แทน
                    ในกรณีที่สิ่งซึ่งจัดเป็นของแถมพกหรือรางวัลเป็นสิ่งซึ่งมีมูลค่าที่ผู้บริโภคอาจทราบได้โดยทั่วไป และข้อความโฆษณานั้นได้แสดงให้ผู้บริโภคทราบถึงประเภทและลักษณะของของแถมพกหรือรางวัลไว้โดยชัดแจ้งแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่ระบุมูลค่าของของแถมพกหรือรางวัลนั้นไว้ก็ได้
                     (ง) เขตหรือถิ่นที่มีการจัดให้มีการเสี่ยงโชคหรือการประกวดชิงรางวัล เว้นแต่กรณีที่เป็นการจัดให้มีขึ้นทั่วราชอาณาจักร
                     (จ) วัน เดือน ปี เวลา และสถานที่ซึ่งกำหนดไว้สำหรับการทำการเสี่ยงโชคหรือการตัดสินการประกวดชิงรางวัล
                     (ฉ) สื่อโฆษณาที่จะใช้ในการประกาศรายชื่อผู้ได้รับของแถมพกหรือรางวัลจากการเสี่ยงโชคหรือการประกวดชิงรางวัล
                     - ข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ระบุหรือประกาศว่าผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีการให้ของแถม หรือให้สิทธิหรือประโยชน์โดยให้เปล่า โดยข้อความโฆษณาดังกล่าวมิได้ระบุรายละเอียด ดังต่อไปนี้
                     (ก) หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข หรือข้อกำหนดในการให้ของแถม หรือให้สิทธิหรือประโยชน์
                     (ข) วัน เดือน ปีที่เริ่มต้นและสิ้นสุดของการจัดให้มีการให้ของแถม หรือให้สิทธิหรือประโยชน์ เว้นแต่
                          (1) กรณีที่เป็นการโฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ ข้อความโฆษณาที่กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการให้ของแถม ให้สิทธิหรือประโยชน์นั้น จะให้ปรากฏในส่วนที่เป็นภาพหรือในส่วนที่เป็นเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ข้อความโฆษณาที่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดนั้นจะต้องให้ปรากฏทั้งในส่วนที่เป็นภาพและส่วนที่เป็นเสียง
                           (2) กรณีที่เป็นการให้ของแถมโดยการติดของแถมไว้กับสินค้าในลักษณะที่ผู้บริโภคสามารถเห็นของแถมนั้นได้อยู่แล้ว หรือโดยการบรรจุของแถมไว้ในหีบห่อของสินค้านั้นและได้ระบุข้อความไว้ที่หีบห่อบรรจุสินค้านั้นว่าได้จัดให้มีการให้ของแถมโดยให้เปล่าพร้อมกับการขายสินค้านั้นแล้ว
                      (ค) ประเภท ลักษณะ และมูลค่าของของแถม สิทธิหรือประโยชน์แต่ละสิ่ง หรือมูลค่ารวมในแต่ละประเภท เว้นแต่กรณีที่เป็นการโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่ระบุมูลค่าของของแถม สิทธิหรือประโยชน์แต่ละสิ่ง หรือมูลค่ารวมในแต่ละประเภทก็ได้ แต่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องระบุมูลค่ารวมของของแถม สิทธิหรือประโยชน์ทุกประเภทไว้แทน
                     ในกรณีที่สิ่งซึ่งจัดเป็นของแถม หรือสิทธิหรือประโยชน์โดยให้เปล่านั้น เป็นสิ่งซึ่งมีมูลค่าที่ผู้บริโภคอาจทราบได้โดยทั่วไป และข้อความโฆษณานั้นได้แสดงให้ผู้บริโภคทราบถึงประเภทและลักษณะของของแถม สิทธิหรือประโยชน์โดยให้เปล่าไว้โดยชัดแจ้งแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่ระบุมูลค่าของของแถม สิทธิหรือประโยชน์ โดยให้เปล่านั้นไว้ก็ได้
                      (ง) เขตหรือถิ่นที่จัดให้มีการให้ของแถม ให้สิทธิหรือประโยชน์โดยให้เปล่า เว้นแต่กรณีที่เป็นการจัดให้มีขึ้นทั่วราชอาณาจักร
                      (จ) สถานที่ที่กำหนดไว้ให้ผู้บริโภคมารับของแถม หรือสิทธิหรือประโยชน์โดยให้เปล่า เว้นแต่
                           (1) กรณีที่จัดให้มีการรับของแถม สิทธิหรือประโยชน์ ณ ร้านค้า หรือตัวแทนจำหน่ายสินค้านั้นทั่วไปทุกแห่ง  หรือ
                           (2) กรณีที่เป็นการให้ของแถมโดยการติดของแถมไว้กับสินค้าในลักษณะที่ผู้บริโภคสามารถเห็นของแถมนั้นได้อยู่แล้ว  หรือโดยการบรรจุของแถมไว้ในหีบห่อของสินค้านั้นและได้ระบุข้อความไว้ที่หีบห่อบรรจุสินค้านั้นว่าได้จัดให้มีการให้ของแถมโดยให้เปล่าพร้อมกับการขายสินค้าแล้ว

          7. แผ่นพับและการโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต
                    ผู้ประกอบการหลายคนต้องการทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อช่วยในการโฆษณาสินค้าที่มีขายของตน โดยอาจจะทำเป็นแผ่นพับอย่างง่าย ๆ แจกให้กับลูกค้าหรือประชาชนทั่วไป หรือจัดทำเว็บไซต์ขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ต สิ่งที่ควรระลึกไว้ คือ การจัดทำแผ่นพับ การจัดทำเว็บไซต์นั้นเป็นรูปแบบของการโฆษณา นั่นหมายความว่าบางผลิตภัณฑ์จะต้องมีการขออนุญาตก่อนการโฆษณา จึงต้องระวังเรื่องการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนการโฆษณา
                    ผลิตภัณฑ์ยา ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณาตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 88 ทวิ เครื่องมือแพทย์ ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณาตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 มาตรา 57 ผลิตภัณฑ์อาหารจะต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณาหากมีการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหาร ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 41 ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ไม่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณา
                    ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการทำแผ่นพับขึ้นเอง ควรใช้แผ่นพับที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องสำหรับกรณีผลิตภัณฑ์ยา สังเกตจะมีคำว่า ฆท ..../..(ปี พ.ศ.).. กรณีผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์  สังเกตจะมีคำว่า ฆพ ..../..(ปี พ.ศ.).. (มักมีปัญหาบ่อยมากเมื่อแนะนำเครื่องมือแพทย์ เช่น เตียง ที่นอนลม เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องวัดน้ำตาลในเลือด) กรณีผลิตภัณฑ์อาหาร สังเกตจะมีคำว่า ฆอ ..../..(ปี พ.ศ.).. (มักมีปัญหาบ่อยมากสำหรับผลิตภัณฑ์คอลลาเจน กลูตาไธโอน)
                    ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณา เช่น เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย ก็ควรเลือกใช้สื่อแผ่นพับหรือโฆษณาที่สามารถระบุตัวตนผู้จัดทำสื่อนั้นขึ้นมาให้ได้ หรือหากจัดทำขึ้นมาเองก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ข้อความที่โอ้อวดเกินจริง หรือหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เช่น เครื่องสำอางห้ามใช้ข้อความว่า "รอยหลุมสิวดูตื้นขึ้น...รอยดำ รอยอักเสบแดงแลดูจางลง...ช่วยลดปัญหาสิวเกิดซ้ำซ้อน" มีลักษณะว่าเป็นการแสดงสรรพคุณของยา ไม่สามารถกระทำได้ (ดู http://www.fda.moph.go.th/www_fda/data_center/ifm_mod/nw/ผลการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค_ฉบับที่_109__ปีงบประมาณ_2555.pdf
                    กรณีศึกษา แผ่นพับแนะนำเรื่องโรค การปฏิบัติตน เทคนิคการใช้ยา หากไม่มีการสื่อถึงชื่อการค้าของยาเพื่อจะขายยาของตนแล้ว ไม่ถือว่าเป็นการโฆษณาขายยา

          8. บริการตรวจสุขภาพ 
                    หลายคนใช้วิธีการจูงใจหรือเชิญชวนด้วยวิธีการให้มาใช้บริการตรวจสุขภาพ เช่น การวัดความดันโลหิต การเจาะปลายนิ้วเพื่อตรวจน้ำตาลในเลือด เพื่อเป็นการคัดกรองโรคผู้ป่วย ประเด็นนี้อาจถูกตั้งข้อสงสัยจากบางวิชาชีพ เช่น พยาบาล เทคนิคการแพทย์ ว่าการกระทำนี้มีลักษณะเป็นการก้าวล่วงการประกอบวิชาชีพของเขาหรือไม่
                    แต่กฎหมายวิชาชีพมักมีข้อยกเว้นกระทำต่อตนเอง พยาบาลมีข้อยกเว้นการช่วยเหลือหรือเยียวยาแก่ผู้ป่วยตามหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามธรรมจรรยาโดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน เทคนิคการแพทย์มีข้อยกเว้นการช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยตามหน้าที่ ตามกฎหมาย หรือตามธรรมจรรยา โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน ไม่ถือว่าต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
                    ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงหรือหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นระหว่างวิชาชีพ อาจเตรียมเครื่องมือเหล่านั้นให้ผู้ป่วยได้บริการตนเอง (ตรวจด้วยตนเอง) เนื่องจากจะได้รับการยกเว้นในประเด็นการประกอบวิชาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกฎหมายวิชาชีพทุกวิชาชีพ หรือถ้าอ้างเรื่องการมิได้รับประโยชน์ตอบแทนก็ห้ามคิดค่าบริการจากการตรวจสุขภาพนี้

          9. บริการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ
                    สิ่งที่ควรท่องไว้ให้ขึ้นใจ คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าจะต้องมีการขึ้นทะเบียนหรือจดแจ้งอย่างถูกต้องเสมอ (มักมีปัญหากับกรณีที่สั่งผลิตภัณฑ์ทางไปรษณีย์ ทางเว็บไซต์ หรือไปนำผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศด้วยตนเอง) และการนำผลิตภัณฑ์นั้นมาขายในสถานประกอบการจะต้องมีฉลากอย่างถูกต้อง เช่น มีฉลากภาษาไทย หรือมีข้อความครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น หากจัดบริการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ถ้าดำเนินการอย่างไม่ถูกต้องมักมีปัญหาอย่างน้อย 2 เรื่อง เสมอ คือ นำเข้าผลิตภัณฑ์นั้นโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้จดแจ้งอย่างถูกต้อง ขายผลิตภัณฑ์นั้นโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้จดแจ้งอย่างถูกต้อง และกรณีแสดงฉลากไม่ถูกต้อง
                    ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ควรขายผลิตภัณฑ์ที่มีการขึ้นทะเบียนหรือมีการจดแจ้งอย่างถูกต้อง ขั้นตอนต่อมาก็ให้ตรวจสอบดูว่าฉลากผลิตภัณฑ์ที่ขายได้แสดงฉลากครบถ้วนหรือไม่ เช่น ฉลากภาษาไทย มีชื่อ-ที่ตั้งของผู้ผลิตที่ชัดเจน มีระบุส่วนประกอบสำคัญ ไม่มีข้อความที่อวดอ้างเกินจริงบนฉลาก

          10. บริการรับสั่งสินค้าทางโทรศัพท์ ทางอินเตอร์เน็ต พร้อมบริการจัดส่ง
                    ผลิตภัณฑ์ยาที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน จะต้องมีการขายในสถานที่ซึ่งได้รับอนุญาตขายยา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนเข้ามารับบริการในสถานที่นั้น เว้นแต่กรณีขายส่งตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 จึงจะได้รับการยกเว้นให้สามารถขายนอกสถานที่ที่ได้รับใบอนุญาตได้ ดังนั้น จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่ประชาชนทั่วไปจะมาสั่งซื้อยาทางโทรศัพท์ หรือทางอินเตอร์เน็ต แล้วมีบริการจัดส่งยาไปให้ กรณีที่ยานั้นเป็นยาแผนปัจจุบัน จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 19(1) หรือกรณีเป็นยาแผนโบราณจะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 53  
                    ส่วนผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันแล้วไปทำกิจกรรมเปิดให้สั่งซื้อยาแผนปัจจุบันทางโทรศัพท์หรือทางอินเตอร์เน็ตแล้วมีบริการจัดส่ง จะเป็นการขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 12 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือไม่มีใบอนุญาตขายยาแผนโบราณแล้วเปิดให้สั่งซื้อยาแผนโบราณ จะเป็นการขายยาแผนโบราณโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 46 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5,000 บาท
                    ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ (เช่น เตียง รถเข็น เสาแขวนน้ำเกลือ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด ถุงมือ ถุงยางอนามัย) ผู้ขายสามารถส่งออกนอกสถานที่ได้ ไม่ได้มีข้อห้ามเหมือนผลิตภัณฑ์ยา (ส่วนกรณีที่ห้ามขายนอกจากสถานที่ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 มาตรา 40 นั้น ใช้เฉพาะผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องมือแพทย์)
                    นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงด้วยว่า กิจกรรมดังกล่าวอาจเข้าข่ายการตลาดแบบตรง ตามพระราชบัญญัติการขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 27 ซึ่งจะต้องมีการจดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรงต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ และถ้าเป็นการขายทางออนไลน์หากมีการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ อาจต้องแจ้งหรือดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วย

ติดตามเรื่องอื่นได้ที่
จัดส่งยาทางไปรษณีย์ทำได้เพียงใด
ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโฆษณาความรู้ความสามารถของตน สถานที่ประกอบธุรกิจของตนหรือสถานที่ตนปฏิบัติงาน ทำได้หรือไม่ 
สรุปข้อพึงระวังจรรยาบรรณวิชาชีพของเภสัชกร กรณีโฆษณาผลิตภัณฑ์ให้ธุรกิจเอกชน
http://rparun.blogspot.com/2011/09/ethicrx01.html
เภสัชกรต้องโฆษณาสินค้าอย่างไรให้ถูกพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
http://rparun.blogspot.com/2014/04/license.html 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น