วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

จัดส่งยาทางไปรษณีย์ทำได้เพียงใด



ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

          ปัจจุบันเริ่มเห็นทั้งโรงพยาบาล ร้านยา และบริษัทยา เริ่มให้บริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้รับบริการ แต่จะทำได้หรือไม่เพียงใด
          ขั้นตอนแรก พิจารณาว่าใครเป็นผู้จัดส่ง เช่น ร้านขายยา บริษัทยา โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน องค์การเภสัชกรรม หรือสภากาชาดไทย เป็นผู้จัดส่งยา เพราะจะมีรายละเอียดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องแตกต่างกัน
          ขั้นตอนที่สอง พิจารณาว่าก่อนการจัดส่งนั้น ผู้รับบริการได้พบและผ่านขั้นตอนของบริการทางการแพทย์จากใคร หรือได้รับบริการการประกอบวิชาชีพจากผู้ประกอบวิชาชีพมาก่อนหรือไม่ เช่น มีการพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคก่อน จากนั้นแพทย์สั่งยา แล้วให้ไปรอรับยาที่บ้านหรือไม่ หรือว่าไม่ต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยโรคแพทย์เลย อยู่ๆ มาให้จัดยาให้เลย หรือมาพบเภสัชกรที่สถานพยาบาลเพื่อให้ส่งยาเลย
          สิ่งที่ต้องทราบต่อมา คือ นิยามคำว่า “ขาย” ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 หมายความว่า “ขายปลีก ขายส่ง จำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการมีไว้เพื่อขายด้วย” และ “ขายส่ง” หมายความว่า “ขายตรงต่อผู้รับอนุญาตขายยา ผู้รับอนุญาตขายส่งยา กระทรวง ทบวง กรม สภากาชาดไทย องค์การเภสัชกรรม ผู้ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์”

ลักษณะของคำว่า “ขายส่ง” ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510
          นิยาม “ขายส่ง” เป็นนิยามที่เพิ่มเข้ามาโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2530 บริบทของกฎหมายในสมัยนั้นวิชาชีพแพทย์ พยาบาล สัตวแพทย์ แยกออกมาเป็นกฎหมายเฉพาะแล้ว ส่วนทันตแพทย์และเภสัชกร ยังอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ หรือพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่ใช้ในขณะนั้น
          ลักษณะของคำว่า “ขายส่ง” ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ไม่ได้พิจารณาที่ปริมาณการขาย แต่ให้พิจารณาว่าผู้รับยานั้นเป็นใคร ถ้าสังเกตจากนิยามขายส่งให้ดีจะพบว่า ผู้รับยาต้องเป็นผู้รับอนุญาต (ผู้รับอนุญาตขายยา ผู้รับอนุญาตขายส่งยา ผู้รับอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล) ผู้ประกอบวิชาชีพ (แพทย์ พยาบาล สัตวแพทย์ ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันซึ่งหมายถึงทันตแพทย์ เภสัชกร) กระทรวง ทบวง กรม สภากาชาดไทย องค์การเภสัชกรรม
          หากพิจารณาในนิยาม “ขายส่ง” จะเห็นคำว่า “ขายตรง” ซึ่งคำว่า “ขายตรง” นี้ เป็นคำที่แสดงให้เห็นลักษณะการขายที่นำเสนอต่อกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ณ สถานที่ของบุคคลเหล่านั้น ทั้งอาจจะเป็นที่พักอาศัย สถานที่ทำงาน หรือสถานที่อื่นก็ได้
          นอกจากนี้ในพระราชบัญญัติ พ.ศ.2510 มาตรา 19(1) เอง ก็ได้กล่าวไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันนอกสถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่เป็นการขายส่ง ประโยคนี้ก็สื่อว่า การขายยา (จำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ในทางการค้า) ต้องทำในสถานที่ขายยาเท่านั้น มีความประสงค์ให้ประชาชนมารับบริการในสถานที่ขายยาเท่านั้น ยกเว้นกรณีที่เป็นขายส่ง ซึ่งก็เป็นการขายตรง เป็นการนำยาไปนำเสนอ นำยาไปส่งให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งก็อาจไม่ได้ทำในสถานที่ขายยาของตัวผู้รับใบอนุญาตเองอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ มาตรา 19(1) จึงยกเว้นเรื่องขายส่งไว้ให้ไม่ต้องทำในสถานที่ขายยาของผู้รับอนุญาตได้  
          ส่วนวิธีการในการ “ขายส่ง” ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ไม่ได้กล่าวไว้ว่าต้องทำอย่างไรให้ยาไปถึงกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นจึงอาจใช้วิธีใดก็ได้ เช่น ให้บุคคลนำยาไปส่ง การจัดรถขนส่ง หรือการส่งไปรษณีย์ ให้กับผู้รับยา
         
การจัดส่งยาทางไปรษณีย์ของสถานพยาบาลของรัฐ สภากาชาดไทย และองค์การเภสัชกรรม
          กรณีสถานพยาบาลของรัฐ (ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 กำหนดเฉพาะกระทรวง ทบวง กรม ในหน้าที่ป้องกันหรือบำบัดโรค) สภากาชาดไทย และองค์การเภสัชกรรม แม้ว่ามีการขายยาหรือจ่ายยาแผนปัจจุบันให้กับผู้ป่วย ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 13(3) ก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับใบอนุญาตขายยาตามมาตรา 12 ได้ เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจึงไม่ถือว่าเป็นผู้รับอนุญาตตามมาตรา 12 จึงไม่มีหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรา 19(1) ซึ่งห้ามขายยานอกสถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่เป็นการขายส่ง เพราะบทบัญญัติตามมาตรา 19(1) ใช้บังคับกับผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเท่านั้น
          ดังนั้น การจ่ายยา การแจกยา ตลอดจนถึงการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ของสถานพยาบาลของรัฐ สภากาชาดไทย และองค์การเภสัชกรรม จึงสามารถทำได้ไม่ฝ่าฝืนมาตรา 19(1)

การจัดส่งยาทางไปรษณีย์ของสถานพยาบาลเอกชน
          ถ้าเป็นสถานพยาบาลเอกชน เช่น โรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิก โดยทั่วไปจะไม่ได้ขอรับใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน แต่ที่ยังจ่ายยาได้ เพราะถือว่าเป็นการขายยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผ้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตน ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 13(3) แต่ก่อนที่จะเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 13(3) นี้ได้ ต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยโรคของแพทย์ก่อน เมื่อเข้าข่ายมาตรา 13(3) แล้ว ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นลักษณะเดียวกับโรงพยาบาลของรัฐ คือ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับใบอนุญาตขายยาตามมาตรา 12 ได้ เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจึงไม่ถือว่าเป็นผู้รับอนุญาตตามมาตรา 12 จึงไม่มีหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรา 19(1) ซึ่งห้ามขายยานอกสถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่เป็นการขายส่ง เพราะบทบัญญัติตามมาตรา 19(1) ใช้บังคับกับผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเท่านั้น
          ดังนั้น การจ่ายยา การแจกยา ตลอดจนถึงการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ของสถานพยาบาลเอกชนซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ผู้ป่วยผ่านการตรวจวินิจฉัยโรคหรือได้รับการรักษาในแต่ละครั้งแล้ว จึงสามารถทำได้ไม่ฝ่าฝืนมาตรา 19(1)
          ถ้ายังไม่ได้ผ่านการตรวจวินิจฉัยหรือได้รับการรักษาจากแพทย์ อยู่ๆ ผู้ป่วยก็เข้ามาที่ห้องยาเพื่อมาขอซื้อยาจากเภสัชกร หรือโทรศัพท์เข้ามาเพื่อจะโอนเงินแล้วขอให้ส่งมาไปให้ กรณีนี้จะไม่เข้าข่ายการขายยาของแพทย์เฉพาะสำหรับคนไข้ของตน มาตรา 13(3) หากมีการขายยาหรือมีการจัดส่งยาจะเป็นการขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 12 ทันที  ถ้าสถานพยาบาลเอกชนมีใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน ก็มีสถานะเป็นผู้รับอนุญาตเป็นผู้รับอนุญาตตามมาตรา 12 ห้ามขายยานอกสถานที่ตามมาตรา 19(1) แต่การจัดส่งยาให้กับประชาชนไปนอกสถานที่ขายยา ไม่เข้านิยามคำว่า "ขายส่ง" เพราะไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพ (แพทย์ พยาบาล สัตวแพทย์ ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันซึ่งหมายถึงทันตแพทย์ เภสัชกร) จึงไม่มีสิทธิทำได้ เพราะเป็นถือว่าฝ่าฝืนมาตรา 19(1)

การจัดส่งยาทางไปรษณีย์ของร้านขายยา บริษัทยาที่มีใบอนุญาตขายยา
          ร้านขายยาหรือบริษัทยา เมื่อมีใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันแล้ว (ซึ่งอาจจะเกิดจากการขอรับใบอนุญาตหรือได้รับใบอนุญาตขายส่งโดยอัตโนมัติในกรณีที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ายา) ถือว่าเป็นผู้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ถ้าร้านยามีการส่งยาทางไปรษณีย์ หรือจัดรถส่งยาให้กับผู้รับอนุญาตขายยาด้วยกัน หรือจัดส่งยาให้กับผู้รับอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพ (แพทย์ พยาบาล สัตวแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร) กระทรวง ทบวง กรม สภากาชาดไทย องค์การเภสัชกรรม แม้ว่าจะเป็นการขายยานอกสถานที่ที่ได้รับอนุญาตให้ขายยา แต่ก็สามารถทำได้ เพราะเข้าข่ายนิยาม “ขายส่ง” การกระทำดังกล่าวจึงไม่ถือว่าฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 19(1
          ดังนั้น บริษัทยา ร้านขายยาสามารถจัดยาส่งไปรษณีย์ให้กับร้านขายยาด้วยกันได้
          หากเป็นการจัดส่งยาแผนปัจจุบันให้กับประชาชนไปนอกสถานที่ขายยา ไม่เข้านิยามคำว่า "ขายส่ง" เพราะไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพ (แพทย์ พยาบาล สัตวแพทย์ ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันซึ่งหมายถึงทันตแพทย์ เภสัชกร) อีกทั้งมาตรา 19(1) เองนั้นประสงค์ให้ประชาชนมารับบริการ ณ สถานที่ขายยา จึงไม่มีสิทธิทำได้ เพราะเป็นถือว่าฝ่าฝืนมาตรา 19(1)
          กรณียาแผนโบราณที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน ผู้รับอนุญาตขายส่งยาแผนปัจจุบัน ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ไม่ต้องได้รับใบอนุญาตขายยาแผนโบราณ ตามมาตรา 47(2 ทวิ) จึงไม่ถือว่าเป็นผู้รับอนุญาตขายยาแผนโบราณตามมาตรา 46 หากมีการขายยาแผนโบราณที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านนอกสถานที่ที่ได้รับใบอนุญาต ไม่ถือว่าฝ่าฝืนมาตรา 53 เพราะมาตรา 53 ใช้บังคับกับผู้รับอนุญาตขายยาแผนโบราณเท่านั้น
          มีข้อสังเกตว่า ร้านขายยาหรือบริษัทยาอ้างเหตุจัดส่งยาให้กับประชาชนทั่วไปได้ยากกว่ากรณีสถานพยาบาลจัดส่งยา เนื่องจากติดขัดที่คำว่า “ผู้รับอนุญาต” หากสถานพยาบาลอ้างเหตุที่ไม่เข้าข่าย “ผู้รับอนุญาต” ได้เมื่อใด ก็สามารถจัดส่งยาได้ทันที เพราะบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 19(1) ใช้บังคับกับผ้รับอนุญาตเท่านั้น

การจัดส่งยาทางไปรษณีย์กรณีที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน
          การขายยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบัน ไม่ต้องได้รับใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันตามมาตรา 13(3) การขายยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณไม่ต้องรับใบอนุญาตขายยาแผนโบราณ ตามมาตรา 47(3) จึงไม่ถือว่าเป็นผู้รับอนุญาขายยาแผนปัจจุบันตามมาตรา 12 และไม่ถือว่าเป็นผู้รับอนุญาตขายยาแผนโบราณ ตามมาตรา 46 เมื่อไม่ถือว่าเป็นผู้รับอนุญาตแล้ว จึงไม่มีหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรา 19(1) หรือมาตรา 53 ซึ่งห้ามขายยานอกสถานที่ และใช้บังคับเฉพาะผู้รับอนุญาตเท่านั้น
          หากมีการจัดส่งยาสามัญประจำบ้านทางไปรษณีย์จึงไม่ถือว่าฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 19(1) หรือฝ่าฝืนมาตรา 53



คนอื่นฝากซื้อยาแล้วจัดส่งยาทางไปรษณีย์ไปให้
          บางกรณีอาจจะมีญาติสนิท มิตรสหายฝากซื้อยาไปให้ เนื่องจากได้ราคายาที่ถูกกว่า หรือไม่สะดวกไปซื้อยาเอง อาจจะโอนเงินไปให้ล่วงหน้าหรือเก็บเงินปลายทาง ตอนที่รับเงินมาและยาถูกจัดส่งไปยังผู้ฝากซื้อ มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น จะถือว่าเป็นการขายยาตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 หรือไม่นั้น ให้พิจารณาว่าหากกระทำนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ทางการค้า หรือทำเป็นธุรกิจ ก็จะเข้านิยามคำว่า “ขาย” ทันที ซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตขายยา แต่ถ้าไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ทางการค้า ก็ไม่เข้านิยามคำว่า “ขาย” จึงไม่ต้องขอรับใบอนุญาตขายยา  

บทลงโทษเป็นอย่างไร
          กรณียาแผนปัจจุบัน ผู้รับอนุญาตฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 19(1) ต้องระวางโทษตามมาตรา 102 คือ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงห้าพันบาท ส่วนกรณียาแผนโบราณผู้รับอนุญาตฝ่าฝืนมาตรา 53 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงสามพันบาท

          กรณีที่ไม่มีใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน หรือไม่ได้รับข้อยกเว้นตามมาตรา 13 แล้วมาทำหน้าที่จัดส่งยา ถือว่าเป็นการขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 12 ต้องระวางโทษตามมาตรา 101 คือต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท กรณีที่ไม่มีใบอนุญาตขายยาแผนโบราณ หรือไม่ได้รับข้อยกเว้นตามมาตรา 47 แล้วมาทำหน้าที่จัดส่งยา ถือว่าเป็นการขายยาแผนโบราณโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 46 ต้องระวางโทษตามมาตรา 111 คือต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินห้าพันบาท



จรรยาบรรณวิชาชีพเภสัชกรรม
          เภสัชกรต้องประจำอยู่ ณ สถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตลอดเวลาที่เปิดทำการ และให้มีหน้าที่ควบคุมการขายยาให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ตามมาตรา 39(3) และมีหน้าที่ควบคุมการส่งมอบยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ หรือยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ ตามมาตรา 39(6) นั่นหมายความว่าเรื่องการอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ขายยาเป็นหน้าที่ต้องบังคับให้ทำอยู่แล้ว แต่ในส่วนที่กฎหมายใช้คำว่า “ควบคุม” ในกฎหมายไม่ได้หมายความว่าจะต้องดำเนินการในเรื่องนั้นด้วยตนเอง (แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของเภสัชกร)
          อย่างไรก็ตามข้อบังคับสภาเภสัชกรรมว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2540 กำหนดให้เภสัชกรหากมีการขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยามีหน้าที่จำหน่าย จ่าย หรือส่งมอบยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษด้วยตนเอง เภสัชกรหากมีการจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ต้องตรวจสอบความถูกต้องงเหมาะสมของยาที่จะจ่ายและส่งมอบยาให้กับผู้ป่วยที่มารับบริการ ตลอดจนให้คำปรึกษาด้านยาแก่ผู้ป่วยและประชาชนที่มารับบริการด้วยตนเอง  และข้อบังคับสภาเภสัชกรรมว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2538 ข้อ 14 กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมต้องปฏิบัติตามข้อจำกัดและเงื่อนไขการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ที่คณะกรรมการสภาเภสัชกรรมกำหนดโดยเคร่งครัด ซึ่งอาจจะหมายความว่า ถ้าไม่ดำเนินการส่งมอบยาด้วยตนเอง หรือไม่ให้คำปรึกษาด้านยาเลยอาจจะเป็นการฝ่าฝืนจรรยาบรรณวิชาชีพก็ได้


          กรณีที่เป็นการจัดส่งวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และยาเสพติดให้โทษในบางประเภท จะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป
 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น