วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประวัติความเป็นมาของพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537-ส่วนที่ 2 การรับหลักการร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร

ประวัติความเป็นมาของพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

ส่วนที่ 2 การรับหลักการร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร
          การรับหลักการของพระราชบัญญัติหรือไม่ เป็นขั้นตอนการพิจารณาในวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎร ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 18 ปีที่ 1 ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญ ครั้งที่ 2) วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2536 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ทั้ง 4 ฉบับ มีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้[1]
          1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่เห็นด้วยที่มีการนำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณา เนื่องจากว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เริ่มร่างมาหลายสมัยแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณาเลยสักครั้งเดียว
          2. เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในอาชีพเภสัชกร เพราะถ้าหากอยู่ในรูปแบบเดิม คือ อยู่ในความควบคุมของการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งมีคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะทำหน้าที่ควบคุม จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมเวลาที่มีเรื่องร้องเรียน
          3. เภสัชกรได้รอโอกาสที่จะให้มีสภาเภสัชกรรมเข้ามาควบคุมการทำงานของเภสัชกรด้วยกันเองมานานแล้ว เพราะทำให้สามารถเข้าใจได้ลึกซึ้งถึงความต้องการของวิชาชีพกลุ่มนี้ และเพื่อมิให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน
          4. ตามมาตรา 46 ถือได้ว่าเป็นการตัดสิทธิของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมมากเกินไป ทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกันได้ ควรที่จะให้โอกาสแก่คนที่ได้กระทำความผิดมาแล้วได้มีโอกาสแก้ตัวได้บ้าง
          เมื่อการอภิปรายยุติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับ ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ และคณะรัฐมนตรีได้เสนอให้ส่งคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขพิจารณาโดยใช้ร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณา กำหนดการแปรญัตติภายใน 7 วัน

          คณะกรรมาธิการสาธารณสุข พิจารณาร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. .... ประกอบด้วย
1. นายอร่าม อามระดิษ  ประธานคณะกรรมาธิการ
2. นายทรงธรรม ปัญญาดี รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง
3. นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง
4. นายวิชัย ชัยจิตวณิชกุล รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สาม
5. นายวัลลภ ยังตรง รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สี่
6. นายประเสริฐ มงคลศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการ
7. นายทรงศักดิ์ ทองศรี ผู้ช่วยโฆษกคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง
8. นายภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ผู้ช่วยโฆษกคณะกรรมาธิการ คนที่สอง
9. นายประเทือง ปานลักษณ์
10. นางพิมพา จันทร์ประสงค์
11. นายวิชัย วงศ์ไชย
12. นายสมมาศ เฮงสวัสดิ์
13. นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
14. นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์
15. นายสุรพล เกียรติไชยากร
16. นางนิภา พริ้งศุลกะ เลขานุการคณะกรรมาธิการ
17. นายไกรสิทธิ์ ไกรสิทธิพงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการ

          คณะกรรมาธิการสาธารณสุขได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เสร็จแล้ว จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติพร้อมด้วยรายงานของคณะกรรมาธิการต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 18 ปีที่ 2 ครั้งที่ 11 (สมัยสามัญ ครั้งที่ 1) วันพุธที่ 27 ตุลาคม 2536 เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่  2 และ 3 ต่อไป




[1] สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, นิติบัญญัติ ฉบับที่ 16  (พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537), หน้า 7-8

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น