วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโฆษณาความรู้ความสามารถของตน สถานที่ประกอบธุรกิจของตนหรือสถานที่ตนปฏิบัติงาน ทำได้หรือไม่


ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
         
          การโฆษณามีอิทธิพลในการเพิ่มความน่าเชื่อถือ เพิ่มจำนวนผู้มารับโฆษณาจากผู้ประกอบวิชาชีพ สถานที่ปะกอบธุรกิจ สถานที่ทำงานของผู้ประกอบวิชาชีพ การควบคุมเรื่องการโฆษณาความรู้ความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพ สถานที่ประกอบธุรกิจของผู้ประกอบวิชาชีพ ตลอดจนสถานที่ผู้ประกอบวิชาชีพได้ปฏิบัติงาน หากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพมักจะมีวัตถุประสงค์หลักในเรื่องป้องกันการแย่งกันประกอบวิชาชีพโดยป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีทุนมากกว่าใช้การโฆษณาเพื่อเรียกผู้รับบริการไปใช้บริการของตนจนทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นไม่สามารถประกอบวิชาชีพได้ เพื่อให้เกิดการกระจายตัวไปรับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพรายอื่น ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และป้องกันการทำลายระบบวิชาชีพในภาพรวม เรื่องการป้องกันโฆษณาโอ้อวดในข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพและตามกฎหมายอื่น เช่น พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคทั่วไป ไม่ให้ผู้บริโภคได้รับความไม่เป็นธรรมจากโฆษณาหรือเข้าใจผิดในสาระสำคัญของบริการ
          ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพจะโฆษณาได้หรือไม่ โฆษณาได้มากน้อยเพียงใด พิจารณาจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องและคดีจรรยาบรรณที่เกิดขึ้นจริง ดังต่อไปนี้

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
1. กรณีการประกอบวิชาชีพในสถานประกอบการด้านยา  พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ไม่มีเรื่องการโฆษณาสถานประกอบการด้านยา (เช่น ร้านขายยา) กำหนดไว้โดยเฉพาะต้องมีหลักเกณฑ์ในการโฆษณาอย่างไร จึงต้องกลับไปใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 และมาตรา 23 ในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณา ซึ่งเนื้อหาและวิธีการโฆษณามีดังนี้
          1.1 เนื้อหาการโฆษณา การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม  ทั้งนี้ ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการ
          ข้อความดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม
          (1) ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง ยกเว้นข้อความที่ใช้ในการโฆษณาที่บุคคลทั่วไปสามารถรู้ได้ว่าเป็นข้อความที่ไม่อาจเป็นความจริงได้โดยแน่แท้
          (2) ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง หรือไม่ก็ตาม
          (3) ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ
          (4) ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน
          (5) ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
- ข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่อิงกับพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (รายละเอียดโปรดดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)
                   - เรื่องโฆษณาขายยาโดยวิธีแถมพกหรือออกสลากรางวัล ไม่สามารถกระทำได้ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 90 (แม้ว่ากฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 จะอนุญาตเรื่องการโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ระบุหรือประกาศว่าผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคได้ก็ตาม)
          1.2 วิธีการโฆษณา การโฆษณาจะต้องไม่กระทำด้วยวิธีการอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกายหรือจิตใจ หรืออันอาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้บริโภค  ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

2. กรณีการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 มีมาตรการควบคุมผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการ (ผู้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 25(1) อาจเป็นได้ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด หรือผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ แต่บุคคลเช่นว่านั้นจะได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินการตามประเภทใด หรือสถานพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์ใดให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง) โดยห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการโฆษณาหรือประกาศหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาหรือประกาศด้วยประการใด ๆ ซึ่งชื่อ ที่ตั้งหรือกิจการของสถานพยาบาล หรือคุณวุฒิ หรือความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลเพื่อชักชวนให้มีผู้มาขอรับ บริการจากสถานพยาบาลของตน โดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริง หรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล
          จะเห็นว่าผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมไม่สามารถเป็นผู้ดำเนินการในสถานพยาบาลรูปแบบใดได้เลย จึงไม่เป็นผู้กระทำความผิดกรณีฝ่าฝืนพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 แต่อาจถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอื่นได้
          นอกจากนี้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 11 (.. 2546) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโฆษณาสถานพยาบาล ให้นิยาม การโฆษณาสถานพยาบาล หมายความว่า การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลทางวิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เคเบิลทีวี วิทยุกระจายเสียง เครื่องขยายเสียง การฉายภาพหรือภาพยนตร์ สิ่งพิมพ์ทุกชนิด เช่น แผ่นพับ ใบปลิว หนังสือ นิตยสาร วารสาร และสื่ออื่น ๆ รวมถึงแผ่นป้ายโฆษณา วัสดุอื่น ๆ ที่มีข้อความโฆษณาให้ประชาชนเห็นได้ และให้หมายรวมถึงการกระทำไม่ว่าโดยวิธีการใด ๆ ให้ประชาชนเห็นหรือทราบ ข้อความ ภาพ เครื่องหมาย หรือรวมถึงการกระทำอย่างใด ๆ ที่ทำให้บุคคลโดยทั่วไปเข้าใจความหมายเพื่อประโยชน์ของสถานพยาบาล” และกำหนดโฆษณาที่สามารถกระทำได้และไม่สามารถกระทำได้ดังต่อไปนี้
            2.1 การโฆษณาสถานพยาบาลที่สามารถกระทำได้ ให้กระทำได้ดังนี้
          - การโฆษณาชื่อและที่ตั้ง ถ้ามีการแสดงภาพประกอบ ให้แสดงได้เฉพาะสถานที่ตั้งอาคารและอาคารสถานพยาบาล
          - การโฆษณาคุณวุฒิ หรือความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพนั้น ๆ
          - การโฆษณาบริการทางการแพทย์ ให้แจ้งเฉพาะบริการที่มีในสถานพยาบาล วัน เวลา ที่ให้บริการตามที่ได้รับอนุญาต
          - การโฆษณาแจ้งอัตราค่ารักษาพยาบาล หรือค่าบริการที่มีในสถานพยาบาล
          - การโฆษณาอัตราค่ารักษาพยาบาลหรือค่าบริการที่มีเงื่อนไขจะต้องแจ้งรายละเอียดของเงื่อนไขไว้ในการโฆษณานั้น และจะต้องแจ้งเงื่อนไขให้ผู้รับบริการทราบล่วงหน้าก่อนให้บริการ จะต้องกำหนดวันเริ่มต้นและสิ้นสุดของระยะเวลาที่ใช้อัตราค่ารักษาพยาบาลหรือ ค่าบริการในเรื่องนั้น ๆ ไว้ให้ชัดเจน
          - การเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการทางการแพทย์และเผยแพร่ผลงานวิจัย และให้ระบุคำเตือนไว้ว่ามีความเสี่ยงของการไม่ได้ผลหรืออาจเกิดอันตรายหรือเกิดผลข้างเคียงกับผู้ใช้บริการ โดยที่ขนาดตัวอักษรต้องเท่ากับตัวอักษรที่โฆษณาและความเร็วของเสียงต้องไม่เร็วไปกว่าเสียงปกติ
          - การโฆษณาแจ้งข่าวสาร เช่น แจ้งทำลายเวชระเบียน แจ้งย้ายสถานที่ แจ้งกิจกรรมในวันสำคัญต่าง ๆ ให้กระทำได้โดยเฉพาะกิจกรรมและวันเวลาที่จัดกิจกรรมนั้น
            2.2 โฆษณาสถานพยาบาลที่ไม่สามารถกระทำได้ มีดังต่อไปนี้
          - การใช้ข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่ไม่มีมูลความจริงทั้งหมด หรือเพียงบางส่วน หรือมีลักษณะเป็นการหลอกลวงหรือปกปิดความจริงหรือทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นจริง
          - การใช้ข้อความที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าในสถานพยาบาลมีผู้ประกอบวิชาชีพ (บุคลากร) เครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ทางการแพทย์แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่มีให้บริการในสถานพยาบาล
          - การใช้สถาบัน หน่วยงาน องค์กร หรือบุคคล ที่มิได้ผ่านการรับรองจากหน่วยงานของรัฐเพื่อรับรองมาตรฐานสถานพยาบาลของตน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต
          - การโฆษณาแจ้งบริการโรคที่ไม่มีอยู่ในสาขาที่ผู้ประกอบวิชาชีพมีหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตร
          - การอ้างอิงรายงานวิชาการ ผลงานวิจัย สถิติ หรือยืนยันหรือรับรองข้อเท็จจริงอันใดอันหนึ่งในการโฆษณา เพื่อแสดงหรือเปรียบเทียบความสามารถในการให้บริการหรือการรักษาพยาบาลโดย ข้อมูลที่อ้างอิงนั้นมิใช่ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต
          - การใช้ข้อความหรือรูปภาพ โอ้อวดเกินจริงหรือข้อความที่กล่าวอ้างหรือบ่งบอกว่าของตนดีกว่า, เหนือกว่า, ดีที่สุด, รายแรก, แห่งแรก รับรองผล 100% หรือการเปรียบเทียบหรือการใช้ข้อความอื่นใดที่มีความหมายในทำนองเดียวกันมา ใช้ประกอบข้อความโฆษณาด้วยความประสงค์ที่จะทำให้ผู้รับบริการหรือผู้บริโภค เข้าใจว่าการบริการของสถานพยาบาลแห่งนั้นมีคุณภาพมาตรฐานที่ดีกว่า เหนือกว่า หรือสูงกว่าสถานพยาบาลอื่นหรือเกิดความคาดหวังว่าจะได้รับบริการที่ดีกว่า หรือได้ผลสูงสุด
          - การโฆษณากิจการสถานพยาบาลหรือการโฆษณาความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในการรักษาพยาบาลคุณภาพ หรือประสิทธิภาพประสิทธิผลของผู้ประกอบวิชาชีพหรือสรรพคุณของเครื่องมือเครื่องใช้ของสถานพยาบาล หรือกรรมวิธีการรักษา หรือโรคที่ให้การรักษาหรือเปรียบเทียบผลก่อนและหลังการรักษาไปในทำนองให้เข้าใจผิด โดยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการที่เป็นมาตรฐานวิชาชีพหรือทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังในสรรพคุณเกินความจริง
          - การใช้ชื่อสถานพยาบาล หรือข้อความที่ทำให้ผู้รับบริการหรือประชาชน อ่าน ฟัง ดูแล้วเข้าใจผิดหรือหลงเชื่อว่าสถานพยาบาลนั้น มีการประกอบกิจการดังที่โฆษณาซึ่งไม่ตรงกับที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ
          - การโฆษณาด้วยวิธีการอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกาย หรือจิตใจหรือก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้ใช้บริการหรือประชาชนทั่วไป
          - การใช้ภาพหรือเสียงที่ไม่เหมาะสมสร้างความหวาดกลัว หรือมีลักษณะเป็นการส่อไปในทางลามกอนาจาร หรือมีลักษณะเป็นการกระตุ้น หรือยั่วยุทางกามารมณ์
          - การใช้ภาพหรือเสียงโดยไม่สุภาพหรือโดยการร้องรำทำเพลงหรือแสดงอาการทุกข์ทรมานของผู้ป่วย
          - การโฆษณาที่มีลักษณะที่เป็นการให้ร้าย เสียดสี หรือทับถมสถานพยาบาลหรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่น
          - การโฆษณาที่มีลักษณะอันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
          - การโฆษณาที่รวมอยู่กับข้อความถวายพระพร หรือข้อความอย่างอื่นที่อ้างอิงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เว้นแต่ชื่อของสถานพยาบาล หรือผู้ประพันธ์บทความดังกล่าว
          - การโฆษณาการให้บริการ ฟรี โดยไม่เรียกเก็บค่าใช่จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากผู้อนุญาต ทั้งนี้ จะต้องกำหนดวัน เวลา และสถานที่ให้บริการและจะต้องแสดงรายละเอียดว่าจะให้บริการฟรีในเรื่องใดให้ชัดเจน
          - การโฆษณาที่จัดให้มีการแถมพก แลกเปลี่ยน ให้สิทธิประโยชน์ รางวัล หรือการเสี่ยงโชค จากการเลือกรับบริการทางการแพทย์อย่างใดอย่างหนึ่งจากสถานพยาบาลนั้น เว้นแต่การให้สิทธิประโยชน์เหล่านั้น ผู้รับบริการเป็นผู้รับประโยชน์โดยตรงและมาตรฐานการรับบริการทางการแพทย์จะ ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไปของสถานพยาบาล การให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จะต้องระบุเงื่อนไขและรายละเอียดของสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้ชัดเจนและจะต้องกำหนดวันเริ่มต้นและสิ้นสุดของระยะเวลาที่ให้สิทธิประโยชน์นั้น ๆ
          - การให้ส่วนลดค่าบริการหรือค่ารักษาพยาบาล เว้นแต่เป็นการให้ส่วนลดเพื่อการอนุเคราะห์บุคคลด้อยโอกาสหรือตามแผนงานของกระทรวงสาธารณสุขหรือที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง หรือ เป็นการให้ส่วนลดต่อสมาชิกกลุ่มบุคคลหรือสถาบันหรือองค์กรโดยเป็นการประกาศหรือแจ้งให้ทราบเฉพาะกลุ่มนั้น ๆ เท่านั้น การให้ส่วนลดจะต้องกำหนดประเภทของบริการให้ชัดเจน และกำหนดวันเริ่มต้นและสิ้นสุดของระยะเวลาที่ให้ส่วนลดให้ชัดเจน ทั้งนี้ การให้ส่วนลดต้องไม่เกิน 1 ปี กรณีการให้ส่วนลดที่มิได้เกี่ยวกับ การให้บริการทางการแพทย์ หรือค่ารักษาพยาบาลและมิได้เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการสถานพยาบาล หากผู้รับบริการหรือผู้บริโภคเป็นผู้รับประโยชน์โดยตรงจะกระทำก็ได้
         
3. กรณีการควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพโดยกฎหมายวิชาชีพ หากเป็นผู้ประกอบด้านสุขภาพ จะมีกฎหมายวิชาชีพเฉพาะของตน เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือแพทย์จะถูกควบคุมโดยมีพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ซึ่งมีข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 (และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือเภสัชกรถูกควบคุมโดยพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 ซึ่งมีข้อบังคับสภาเภสัชกรรมว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2538 (และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมถูกควบคุมโดยพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2537 ซึ่งมีข้อบังคับทันตแพทยสภาว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทีนตกรรม พ.ศ.2538 ซึ่งข้อบังคับสภาวิชาชีพนี้มักจะมีเนื้อหาในส่วนการควบคุมเรื่องการโฆษณาที่คล้ายคลึงกัน เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่โฆษณา ใช้ จ้าง หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาการประกอบวิชาชีพ ความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพของตน หรือหากอนุญาตให้มีการโฆษณาได้จะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้นในส่วนของการพิจารณาคดีจรรยาบรรณวิชาชีพ ถ้าหากเป็นการโฆษณาสถานประกอบการ เช่น ร้านขายยา สถานพยาบาล หากผู้รับอนุญาตไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วจะไม่สามารถถูกพิจารณาคดีจรรยาบรรณวิชาชีพได้เลย

คดีจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพ
            คดีจรรยาบรรณวิชาชีพในที่นี้ เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบวิชาชีพถูกตัดสินว่ากระทำผิดข้อบังคับสภาวิชาชีพในเรื่องการโฆษณาของตน และไม่พอใจในผลการตัดสินจึงได้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง ตัวอย่างเช่น

            แพทย์ ลงรูปภาพเปรียบเทียบดวงตาก่อนและหลังทำศัลยกรรม พร้อมชื่อ ของสถานพยาบาล ในหนังสือแฟชั่นรีวิว ฉบับที่ 234 เดือนตุลาคม 2545 ซึ่งลักษณะของรูปภาพทำให้เข้าใจว่าหากทำศัลยกรรม กับสถานพยาบาล ช. คลีนิคแล้ว จะทำให้มีดวงตาสวยงามเช่นที่ปรากฏในรูปภาพ โดยมิได้มีการระบุข้อความเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ทั้งที่รูปภาพดังกล่าวนั้นไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า เป็นรูปภาพของบุคคลเดียวกัน และการทำศัลยกรรมก็ไม่อาจรับรองผลได้ว่าผู้ทำศัลยกรรมทุกคนจะมีดวงตาสวยงาม ดังรูปภาพ กรณีจึงถือว่าเป็นการโฆษณาหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาสถานพยาบาลโดยโอ้อวดกิจกรรมของสถานพยาบาลทำให้ประชาชน เกิดความคาดหวังในสรรพคุณเกินความจริง จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2526 เรื่อง การปฏิบัติตนเกี่ยวกับสถานพยาบาล โดยเฉพาะข้อ 13 “ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ทำการเผยแพร่หรือตอบปัญหาทางสื่อมวลชน ถ้าแสดงตนว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมสามารถแจ้งสถานที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ แต่ต้องไม่เป็นการสื่อไปในทำนองโฆษณาโอ้อวดเกินความเป็นจริง หลอกลวง หรือทำให้ผู้ป่วยหลงเชื่อมาใช้บริการและในการแจ้งสถานที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ปรากฏหมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัวในที่เดียวกัน”
          กรณีนี้แพทยสภาลงโทษว่ากล่าวตักเตือน ศาลปกครองเห็นว่าเป็นการพิจารณาเรื่องร้องเรียนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
          (ที่มา: คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.112/2553 วันที่ 6 พฤษภาคม 2553) 

          ทันตแพทย์ให้สัมภาษณ์แก่ผู้อื่นโดยที่ทราบว่าผู้นั้นเป็นนักข่าวเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพทันตกรรมของตน การขอสัมภาษณ์ดังกล่าวย่อมคาดหมายได้ว่าผู้ขอสัมภาษณ์ประสงค์ที่จะนำข้อมูลที่ให้สัมภาษณ์ไปใช้เพื่อการเผยแพร่ ต่อมานักข่าวนั้นได้นำข้อมูลที่ได้จากสัมภาษณ์ไปเผยแพร่ในรูปบทความทางหนังสือพิมพ์โดยปรากฏรูปภาพของทันแพทย์พร้อมข้อความบอกชื่อนามสกุลใต้รูปภาพ และมีคำสัมภาษณ์ที่มีข้อความในลักษณะของการโฆษณาความรู้ความสามารถของทันตแพทย์เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่ได้ทราบข้อความดังกล่าวเกิดความสนใจและยังเป็นการจูงใจเพื่อให้มาใช้บริการของตน อีกทั้งยังปรากฏรูปภาพของทันตแพทย์กำลังทำฟันแก่ผู้ป่วยและพนักงานนวดกำลัง นวด พร้อมทีข้อความว่านวดไปทำฟันไป จึงเป็นการแสดงให้ปรากฏเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงการให้สัมภาษณ์ การกระทำดังกล่าวถือเป็นการแสดงเจตนาและเป็นการยินยอมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลการประกอบวิชาชีพทันตกรรมของผู้ฟ้องคดีให้ปรากฏแก่ประชาชนหรือสาธารณชนทางสื่อมวลชนอย่างชัดเจน อันเป็นการประพฤติผิดข้อบังคับทันตแพทยสภาว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2538 ข้อ 22 ซึ่งมีข้อความว่า ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมต้องไม่โฆษณา ใช้ จ้าง หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาการประกอบวิชาชีพทันตกรรม ความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของตน นอกจากนี้ทันตแพทย์ยังมีเว็บไซต์ www.bangkokdentalspa.com ที่เป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในการประกอบวิชาชีพของตน แสดงให้เห็นเจตนาได้ว่า ผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์หรือเจตนาที่จะเผยแพร่การประกอบวิชาชีพทันตกรรมของ ตนให้เป็นที่แพร่หลาย ซึ่งเกินไปกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ 25 ของข้อบังคับซึ่งมีข้อความว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมอาจแสดงข้อความเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพทันตกรรมของตนที่สำนักงานได้เพียงข้อความเฉพาะเรื่องต่อไปนี้ คือ (1) ชื่อ นามสกุล และอาจมีคำประกอบชื่อได้เพียงคำว่าทันตแพทย์ หรือทันตแพทย์หญิง อภิไธย ตำแหน่งทางวิชาการ ฐานันดรศักดิ์ ยศ และบรรดาศักดิ์ เท่านั้น (2) ชื่อปริญญา ประกาศนียบัตร วุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติ หรือคุณวุฒิอย่างอื่น ซึ่งตนได้รับมาโดยวิธีการถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของทันตแพทยสภาหรือสถาบันนั้นๆ ที่ทันตแพทยสภารับรอง (3) สาขาของวิชาชีพเวชกรรม (4) เวลาทำการ” อันเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรมตามข้อ 28 ซึ่งมีข้อความว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมต้องระมัดระวังตามวิสัยที่พึงมี มิให้การประกอบวิชาชีพทันตกรรมของตนแพร่ออกไปในสื่อมวลชนเป็นไปในทำนองโฆษณาคุณวุฒิ ความรู้ความสามารถของตนหรือของผู้อื่น”  
          กรณีนี้ทันตแพทยสภาลงโทษภาคทัณฑ์ ศาลปกครองเห็นว่าดำเนินการเกี่ยวกับการสอบสวนและใช้ดุลพินิจในการลงโทษแก่ผู้ฟ้องคดีให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับทันตแพทยสภาว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2538 แล้ว
          แม้ว่าทันตแพทย์จะอ้างว่าการให้ข้อมูลโดยการให้บริการของผู้ฟ้องคดีเป็นข้อมูลความรู้ทั่วไป และถือเป็นการใช้เสรีภาพในทางวิชาการที่ได้รับการรับรองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 นั้น แต่เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลปกครองชั้นต้น และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือปัญหาเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ จึงเป็นกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดไม่อาจรับไว้วินิจฉัยได้ตาม ข้อ 101 วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543
          (ที่มา: คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.328/2553 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553) 

           สัตวแพทย์ แม้ว่าจะไม่ถือว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ (สำหรับมนุษย์) แต่มีข้อบังคับจรรยาบรรณวิชาชีพที่คล้ายคลึงกัน กรณีนี้เป็นเรื่องสัตวแพทย์ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ของตนในวารสาร พ.  ฉบับวันที่ 8 สิงหาคม 2548  โดยไม่ได้ดำเนินการให้นักข่าวของวารสารดังกล่าวนำบทความมา ตรวจสอบก่อนว่าจะขัดกับการประกอบวิชาชีพของตนหรือไม่ก่อนนำลงตีพิมพ์เพื่อ เผยแพร่ต่อสาธารณชน ประกอบกับการให้นักข่าวถ่ายภาพเพื่อประกอบบทความขณะที่ผู้ฟ้องคดีสวมเสื้อสัตวแพทย์ที่มีเครื่องหมายของโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อติดอยู่ แม้จะมีขนาดเล็กที่ไม่อาจสังเกตเห็นได้ แต่เมื่ออ่านประกอบบทความแล้วย่อมทราบได้ว่าเป็นของโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ อันอาจนำไปใช้ในทางโฆษณาการประกอบวิชาชีพของตน จึงเป็นการไม่ระมัดระวังตามวิสัยที่พึงมีเพื่อป้องกันมิให้การประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ของตนแพร่ออกไปในสื่อมวลชนเป็นไปในทำนองเผยแพร่ความรู้ความสามารถของตน แม้สัตวแพทย์จะอ้างว่าขณะนั้นอยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม ก็อยู่ในวิสัยที่จะถอดเพียงเสื้อสัตวแพทย์ที่มีตราสัญลักษณ์ของโรงพยาบาลสัตว์ได้ แต่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยที่พึงมี จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับสัตวแพทยสภาว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ. 2546 ข้อ 24 ซึ่งมีข้อความว่า ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ต้องระมัดระวังตามวิสัยที่พึงมี มิให้การประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ของตนแพร่ออกไปในสื่อมวลชนเป็นไปในทำนองโฆษณา คุณวุฒิ ความรู้ความสามารถของตนหรือของผู้อื่น
            กรณีนี้สัตวแพทยสภาลงโทษว่ากล่าวตักเตือน ศาลปกครองเห็นว่าเป็นโทษที่เบาที่สุดตามพ.ร.บ. วิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 จึงชอบด้วยกฎหมาย
          (ที่มา: คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.265/2554 วันที่ 19 กรกฎาคม 2554) 

            จากคดีที่ขึ้นศาลปกครอง จะเห็นว่าแพทยสภา ทันตแพทยสภา สัตวแพทยสภา ได้พิจารณาคดีจรรยาบรรณวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพหากมีการโฆษณา การประกอบวิชาชีพของตนแพร่ออกไปในสื่อมวลชนเป็นไปในทำนองโฆษณาคุณวุฒิ ความรู้ความสามารถของตนหรือของผู้อื่น หรือมีการแสดงสถานที่ประกอบการหรือสถานที่ทำงานของตน ว่าเป็นการฝ่าฝืนจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่ลงโทษเพียงว่ากล่าวตักเตือนหรือเต็มที่เพียงภาคทัณฑ์เท่านั้น


วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

คำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมอปลอมตรวจโรคและจ่ายยา

ข้อสังเกต คำพิพากษานี้เป็นเรื่องผู้แอบอ้างว่าเป็นแพทย์ตรวจโรคผู้อื่น เป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ถ้ามีการจ่ายยาแผนปัจจุบันด้วย การจ่ายยาไม่เข้าข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 13(3) ถือว่าเป็นการขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่รับอนุญาตตามมาตรา 12 ด้วย (ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ - สรุป)



คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11570/2553
พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี
     โจทก์
นายกิติพงษ์ ศรีผุดผ่อง กับพวก
     จำเลย

ป.อ. มาตรา 91
พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 4, 26, 43
พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 12, 101

          พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 4 บัญญัติว่า “วิชาชีพเวชกรรม” หมายความว่า วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค... การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามพระราชบัญญัติดังกล่าว สั่งจ่ายยารักษาให้แก่สายลับหลังจากจำเลยที่ 1 ตรวจและวินิจฉัยโรคให้แก่สายลับแล้ว โดยจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่จัดยาให้ตามใบสั่งแพทย์ของจำเลยที่ 1 และเก็บเงิน ล้วนเป็นการกระทำที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 อีกกระทงหนึ่งด้วย

________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 264 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 5, 6, 62, 106 พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4, 26, 43 พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12, 101 ริบของกลางและคืนธนบัตรจำนวน 220 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ

            จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหาปลอมเอกสารและข้อหาประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ให้การปฏิเสธในข้อหาร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 และประเภท 4 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

          จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4, 26, 43 พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 12, 101 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมเอกสาร ลงโทษจำคุก 1 ปี ฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน และฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี เฉพาะฐานปลอมเอกสารและฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน และ 3 เดือน ตามลำดับ รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 9 เดือน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4, 26, 43 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12, 101 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ลงโทษจำคุก 8 เดือน ฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน และฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 12 เดือน คืนธนบัตร 220 บาท ที่ใช้ล่อซื้อและยาของกลางแก่เจ้าของข้อหาและคำขออื่นให้ยก

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองในความผิดฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเสียด้วย และลดโทษให้แก่จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4 บัญญัติว่า “วิชาชีพเวชกรรม” หมายความว่าวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การผดุงครรภ์ การปรับสายตาด้วยเลนซ์สัมผัส การแทงเข็ม หรือการฝังเข็มเพื่อบำบัดโรคหรือเพื่อระงับความรู้สึก และหมายความรวมถึงการกระทำทางศัลยกรรม การใช้รังสี การฉีดยาหรือสสาร หรือการสอดใส่วัตถุใดๆ เข้าไปในร่างกาย ทั้งนี้ เพื่อการคุมกำเนิด การเสริมสวย หรือการบำรุงร่างกายด้วย การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามพระราชบัญญัติดังกล่าว สั่งจ่ายยารักษาให้แก่สายลับหลังจากจำเลยที่ 1 ตรวจและวินิจฉัยโรคให้แก่สายลับแล้ว โดยจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่จัดยาให้ตามใบสั่งแพทย์ของจำเลยที่ 1 และเก็บเงิน ล้วนเป็นการกระทำที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

          พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 3,000 บาท มีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4, 26, 43 จำคุก 6 เดือน ปรับ 3,000 บาท และมีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12, 101 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 1 ปี ปรับ 4,000 บาท ความผิดฐานปลอมเอกสารและความผิดฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 1,500 บาท และจำคุก 3 เดือน ปรับ 1,500 บาท ตามลำดับ รวมจำคุก 1 ปี 9 เดือน ปรับ 7,000 บาท จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 86 จำคุก 8 เดือน ปรับ 2,000 บาท มีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4, 26, 43 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำคุก 4 เดือน ปรับ 3,000 บาท และมีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12, 101 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 1 ปี ปรับ 4,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกสำหรับจำเลยทั้งสองให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสองฟัง และคุมความประพฤติของจำเลยทั้งสองไว้ โดยให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนดเวลาที่รอการลงโทษ กับให้จำเลยทั้งสองกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยทั้งสองเห็นสมควรจำนวน 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1


( สิริรัตน์ จันทรา - ธนฤกษ์ นิติเศรณี - สมยศ เข็มทอง )

ศาลจังหวัดนนทบุรี - นายวราวุธ ถาวรศิริ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายรัถยา สัตยาบัน

หมายเหตุ 
          ศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยว่า ความผิดฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม กับความผิดฐานขายยาบรรจุเสร็จหลายขนาน โดยจัดเป็นชุดในคราวเดียวกัน เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายต่างพระราชบัญญัติกันโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลแตกต่างกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละความผิดได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรม ไม่ใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท (ฎีกาที่ 5678/2544) เมื่อพิจารณาถึงความหมายของ "วิชาชีพเวชกรรม" ตามพระราชบัญัญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 4 ว่า "วิชาชีพเวชกรรม" หมายความว่า วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค..." ซึ่งลักษณะการกระทำต่อมนุษย์ตามความหมายวิชาชีพเวชกรรมดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าหาได้หมายความรวมถึงการสั่งจ่ายหรือการจัดยาให้แก่ผู้ป่วยด้วย ไม่ ทั้งในความเป็นจริงอาจมีผู้มาให้จำเลยที่ 1 ตรวจวินิจฉัยโรค โดยไม่มีการสั่งจ่ายยา หรือขายยาก็เป็นได้ ดังนั้น ตามคำพิพากษาฎีกาที่บันทึกนี้วินิจฉัยว่าการสั่งยาของจำเลยที่ 1 และการที่จำเลยที่ 2 จัดยาให้แก่ผู้ป่วยตามใบส่งแพทย์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอีกกระทงหนึ่งด้วย จึงชอบด้วยเหตุผล 

วรวิทย์ ฤทธิทิศ

วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ยาจากองค์การเภสัชกรรมหลายตัวเป็นยาเถื่อนหรือไม่ จึงไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา


ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
ทำไมยาจึงต้องมีเลขทะเบียนตำรับยา
          ผู้ผลิตยาแผนปัจจุบันจะต้องได้รับใบอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 12 และผู้ผลิตยาแผนโบราณจะต้องได้รับใบอนุญาตผลิตยาแผนโบราณตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 46 เมื่อได้รับใบอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันหรือผลิตยาแผนโบราณ ถือว่าเป็น “ผู้รับอนุญาต” ตามกฎหมายนี้ และต้องปฏิบัติตามกฎหมายในส่วนที่เป็นหน้าที่ของผู้รับอนุญาตด้วย โดยในมาตรา 79 ให้ผู้รับอนุญาตผลิตยาไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณก่อนการผลิตจะต้องนำตำรับยานั้นมาขึ้นทะเบียนตำรับยาก่อน เมื่อได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาแล้วจึงจะผลิตยาได้ ด้วยเหตุนี้ยาจึงต้องมีเลขทะเบียนตำรับยาเนื่องจากผลของกฎหมาย

การค้นหาเลขทะเบียนตำรับยา
          ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถค้นหาข้อมูลทะเบียนตำรับยาได้ที่ http://fdaolap.fda.moph.go.th/logistics/drgdrug/DSerch.asp  ซึ่งสามารถค้นหาได้จากชื่อการค้า ชื่อสารสำคัญ (ชื่อตัวยาออกฤทธิ์) ทะเบียนยา ชื่อผู้รับอนุญาต ชื่อผู้ผลิตต่างประเทศ ชื่อผู้แทนจำหน่าย

องค์การเภสัชกรรม คือ ใคร
          องค์การเภสัชกรรมได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509 ซึ่งกำหนดให้รวมโรงงานเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุขกับกองโอสถศาลา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยมีเหตุผลเพื่อความประหยัดและให้ปฏิบัติงานได้รวดเร็ว เพื่อปรับปรุงกิจการผลิตยาและจำหน่ายยาให้แก่หน่วยราชการ องค์การ เทศบาล และประชาชนเสียใหม่ เพื่อผลิตและจำหน่ายยาในราคาที่ถูกลงและกว้างขวางยิ่งขึ้น
          พระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509 มาตรา 6 กำหนดให้ องค์การเภสัชกรรมมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
          (1) ผลิตยาและเวชภัณฑ์
          (2) ส่งเสริมให้มีการศึกษาและวิจัยการผลิตยาและเวชภัณฑ์
          (3) ส่งเสริมการวิเคราะห์ยาและเวชภัณฑ์รวมทั้งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยาและเวชภัณฑ์
          (4) ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนและให้ซึ่งยาและเวชภัณฑ์
          (5) ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตยาและเวชภัณฑ์

เหตุใดยาจากองค์การเภสัชกรรมจึงไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา
          เนื่องจากพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 13(1) ไม่ใช้บังคับกับองค์การเภสัชกรรมให้ต้องได้รับใบอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันก่อนการผลิตยาแผนปัจจุบัน และมาตรา 47(1) ไม่ใช้บังคับกับองค์การเภสัชกรรมให้ต้องได้รับใบอนุญาตผลิตยาแผนโบราณก่อนการผลิตยาแผนโบราณ เมื่อองค์การเภสัชกรรมไม่ได้ขอใบอนุญาตและรับใบอนุญาตผลิตยาแล้ว จึงไม่อยู่ในฐานะผู้รับอนุญาตตามมาตรา 12 และมาตรา 46 ไม่เข้าข่ายผู้รับอนุญาตผลิตยาตามมาตรา 79 ซึ่งจะต้องนำตำรับยานั้นมาขึ้นทะเบียนตำรับยาก่อน เมื่อได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาแล้วจึงจะผลิตยาได้ ด้วยเหตุนี้ยาที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมจึงไม่จำเป็นต้องมีเลขทะเบียนตำรับยาและไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72(4) ด้วย

เหตุใดยาบางตัวขององค์การเภสัชกรรมจึงมีเลขทะเบียนตำรับยา
          กฎหมายไม่ได้ห้ามองค์การเภสัชกรรมหากต้องการขอเป็นผู้รับอนุญาตผลิตยาและขอขึ้นทะเบียนตำรับยา กฎหมายใช้คำว่า “ไม่ใช้บังคับ” เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ได้รับการยกเว้นในมาตรา 13 หรือมาตรา 47 องค์การเภสัชกรรมจึงมีสิทธิขอรับใบอนุญาตผลิตยาและขึ้นทะเบียนตำรับยาได้ ด้วยเหตุนี้ ยาบางตัวขององค์การเภสัชกรรมจึงพบเลขทะเบียนตำรับยา เพื่อเป็นหลักประกันของคุณภาพยาและการตรวจสอบข้อมูลจากภายนอก เช่น จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา



รูปที่ 1 ตัวอย่างยาที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา หากไม่มีคุณภาพด้วย จะต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 หรือไม่
          หากยาที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมเข้าข่ายยาปลอม ยาผิดมาตรฐาน ยาเสื่อมคุณภาพ ยาที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยา ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 72 ผู้ผลิตถือว่าฝ่าฝืนต่อกฎหมายมาตราดังกล่าวซึ่งใช้บังคับเป็นการทั่วไป ใช้ได้ทั้งผู้รับใบอนุญาตผลิตยาหรือไม่ได้รับใบอนุญาตผลิตยา
          หากเป็นยาปลอมกรณีทั่วไป ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่ง 10,000 – 50,000 บาท ถ้าเป็นยาปลอมเพราะเรื่องฉลาก กล่าวคือ ยาที่แสดงชื่อว่าเป็นยาอื่นหรือแสดงเดือนปีที่ยาสิ้นอายุซึ่งมิใช่ความจริง  ยาที่แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือที่ตั้งสถานที่ผลิตยาซึ่งมิใช่ความจริง ยาที่แสดงว่าเป็นยาตามตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งมิใช่ความจริง หากพิสูจนได้ว่ายานั้นไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่ผู้ใช้ยาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ก็ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่ง 10,000 50,000 บาท
          ยาผิดมาตรฐานหรือยาที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 5 ปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท

กฎหมายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมีผลต่อการขึ้นทะเบียนตำรับยาขององค์การเภสัชกรรมอย่างไร
          ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ฉบับรัฐบาล และฉบับประชาชน โดยหลักได้ตัดข้อความที่เป็นองค์การเภสัชกรรมออกไป ไม่ได้ยกเว้นองค์การเภสัชกรรมให้สามารถผลิตยาได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตผลิตยาไว้อย่างชัดแจ้งเหมือนเดิม เพื่อประโยชน์ในด้านการตรวจสอบข้อมูลและมีมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้น องค์การเภสัชกรรมจึงต้องได้รับใบอนุญาตผลิตยาก่อนการผลิตยา และต้องขอขึ้นทะเบียนตำรับยาทุกตัวก่อนการผลิตยาด้วย อย่างไรก็ตามหากยังประสงค์ให้องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาโดยไม่ต้องรับใบอนุญาตก่อน ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ฉบับรัฐบาล ยังเปิดช่องให้ประกาศกำหนดไว้ต่างหากได้ด้วย   

__________
หมายเหตุ: เรื่องการนำเข้ายาก็มีลักษณะทำนองเดียวกับข้อความข้างต้น

เมื่อร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ

เมื่อร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

ร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 คืออะไร
          ร้านขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ หรือเรียกอย่างย่อว่า ร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 (มีที่มาจากจากมุมขวาบนของแบบขออนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ เขียนว่า ข.ย.2) ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของร้านขายยาแผนปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2530 มาตรา 15(3)

รายการยาที่ขายได้ในร้านขายยา ข.ย.2
          หากสังเกตจากคำว่า “ขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ” จะพบว่ารายการยาที่สามารถขายในร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 มีดังต่อไปนี
          (1) ยาสามัญประจำบ้าน (เนื่องจากตามกฎหมายแล้ว ใครก็สามารถขายได้โดยไม่ต้องขออนุญาต)
          (2) ยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ
          ทั้งนี้ รายการยาตามข้อ (1) และ (2) ต้องบรรจุในภาชนะหรือหีบห่อที่ปิดหรือผนึกไว้ และมีฉลากครบถ้วน กล่าวคือ ต้องไม่มีการแบ่งขาย แบ่งบรรจุ หรือทำให้ภาชนะหรือหีบห่อเปลี่ยนรูปไปจากเดิม นอกจากนี้ต้องไม่ใช่ยาอันตราย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาอันตราย หรือไม่ใช่ยาควบคุมพิเศษ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ เนื่องจากผู้มีสิทธิขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ มีเพียงร้านขายยาแผนปัจจุบัน ประเภท ข.ย.1 เท่านั้น
          นอกจากนี้ ร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 ยังได้รับสิทธิขายยาแผนโบราณ โดยไม่ต้องได้รับใบอนุญาตก่อน ตามมาตรา 47(2 ทวิ)

ความผิดเมื่อขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ
          หากร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ อาจมีความผิดดังนี้
          (1) ขายยาแผนปัจจุบันไม่ตรงตามประเภทของใบอนุญาต เนื่องจากผู้มีสิทธิขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ คือ ผู้ได้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน ตามมาตรา 15(2) หรือร้านขายยา ประเภท ข.ย.1 ไม่ใช่ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ตามมาตรา 15(3) หรือร้ายขายยา ประเภท ข.ย.2 ดังนั้น จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 19(2) ต้องรับโทษตามมาตรา 102 กล่าวคือ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2,000 – 5,000 บาท
          (2) ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรหรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ผู้รับอนุญาตขายยาตลอดจนลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 16 ไม่มีสิทธิขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 32 ผู้ฝ่าฝืนต้องได้รับโทษตามมาตรา 107 กล่าวคือ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่ง 1,000 – 5,000 บาท อย่างไรก็ตามแม้ว่าร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 จะมีเภสัชกรเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการและเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลานั้นก็ไม่มีสิทธิขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 เช่นกัน เรื่องจากเป็นขายยาแผนปัจจุบันไม่ตรงตามประเภทของใบอนุญาต ตามข้อ (1)
          (3) การประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ความผิดฐานนี้ไม่ได้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 แต่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 เนื่องจากการขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยาเป็นการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม และการขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยยา (ปัจจุบัน คือ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510) เป็นหน้าที่ของเภสัชกรเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 32 หากผู้มิใช่เภสัชกรขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 50

          ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 เมื่อขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 19(2) เสมอ หากผู้ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษไม่ใช่เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ จึงจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 32 และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 ด้วย

พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบสามารถทำอะไรได้บ้าง
          พนักงานเจ้าหน้าที่หากตรวจพบว่ามีการขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ในร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 มีประเด็นที่เกี่ยวข้องดังนี้
          (1) ประเด็นการตั้งข้อกล่าวหา สามารถตั้งข้อกล่าวหาร้านยาขายยาแผนปัจจุบันไม่ตรงตามประเภทของใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 19(2) ได้เสมอ ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 32 และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 ให้ดูเป็นรายกรณีไป
          (2) ประเด็นการริบยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษที่พบในร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 นั้น หากเป็นยาที่ชอบด้วยกฎหมายและอาจขายได้หากได้รับใบอนุญาตให้ขายยาจากพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อน เช่น ไม่ใช่รายการยาตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 72 กล่าวคือ เป็นยาปลอม ยาผิดมาตรฐาน ยาเสื่อมคุณภาพ ยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ยาที่ทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก หรือยาที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยา จึงไม่ใช่สิ่งของที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิดโดยตรงอันจะพึง ต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 อีกทั้งบทลงโทษที่เกิดขึ้นจะลงโทษตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510  มาตรา 102 สำหรับกรณีขายยาแผนปัจจุบันไม่ตรงตามประเภทของใบอนุญาต หรือลงโทษตามมาตรา 107 สำหรับกรณีขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งไม่เข้าข่ายพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 126 จึงไม่สามารถริบยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 ได้ (ดูแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 998/2512, 187/2517, 1377/2517 )


ข้อสังเกตอื่น
           ร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 ถ้าไม่มีผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการอยู่ ผู้รับอนุญาตก็ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 22 อยู่แล้ว แต่ถ้าขายยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ เป็นช่องว่างของกฎหมายที่ไม่มีบทลงโทษ (ประเด็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 จะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป)

วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

คำพิพากษาศาลฎีกา คดีผลิตยาแผนโบราณโดยไม่ขอขึ้นทะเบียนตำรับยา





คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3804/2540
พนักงานอัยการ สำนักงาน อัยการ สูงสุด
     โจทก์
ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล เวชพงศ์ โอสถ กับพวก
     จำเลย

ป.อ. มาตรา 90
ป.วิ.อ. มาตรา 2(6), 120, 123
พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 46, 47(2), 72(4), 76(1), 79, 122, 123
พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2522 มาตรา 3


          ในการผลิตยาแผนโบราณตาม พระราชบัญญัติยานั้นนอกจากผู้ผลิตจะต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามมาตรา 46 วรรคหนึ่งแล้ว ยังต้องปรากฏว่ายาแผนโบราณที่จะผลิตนั้นต้องเป็นยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ไว้แล้วตามมาตรา 72(4) หรือผู้ผลิตได้นำตำรับยานั้นมาขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และได้รับ ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาแล้วตามมาตรา 79 จึงจะผลิตยานั้นได้ หากเป็นการปรุงยาตามตำราที่รัฐมนตรีประกาศตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 76(1) โดยผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ และเป็นการทำเพื่อขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตนตามมาตรา 47(2) แล้ว จึงจะสามารถผลิตยานั้นได้โดยไม่ต้องรับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยจำเลยที่ 1ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ผลิตยาแผนโบราณตามใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเภสัชกรรมส่วนจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเวชกรรม และเภสัชกรรม การที่จำเลยทั้งสองได้ดำเนินการผลิตยาแผนโบราณเป็นยาเม็ดลูกกลอนของกลาง จำนวน 2 ถุง ซึ่งมีผู้อื่นมาว่าจ้างให้จำเลยทั้งสองผลิต และยาของกลางมีส่วนผสมของมหาหิงคุ์ซึ่งถือว่าเป็นยาแผนโบราณ โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและไม่นำตำรับยาไปขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งจำเลยมิได้ผลิตเพื่อรักษาคนไข้ของตนเอง การที่จำเลยทั้งสองมิได้ผลิตยาของกลางเพื่อขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตน แม้จำเลยทั้งสอง จะได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ กรณีก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตาม พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 47(2) และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและไม่นำตำรับยาไปขอขึ้น ทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงไม่ได้ใบรับอนุญาตจากผู้อนุญาตให้ผลิตยาแผนโบราณได้ตามมาตรา 46 วรรคหนึ่งจำเลยทั้งสองจึงต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาฯมาตรา 72(4),79,122,123 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรม แม้ขณะ ป.ลงชื่อในคำร้องทุกข์ ขณะนั้นรายละเอียดต่าง ๆยังไม่ได้กรอกข้อความลงไป และ ป.ไม่ทราบว่าจะแจ้งความให้ดำเนินคดีจำเลยในความผิดฐานใดก็ตามแต่เมื่อปรากฏ ว่า ป.เป็นผู้ได้ตรวจค้นพบยาของกลางและได้บันทึกการยึดยาไว้ เมื่อผลการตรวจพิสูจน์พบว่าของกลางเป็นเนื้อที่เยื่อของพืชและมหาหิงคุ์ซึ่ง เป็นยาแผนโบราณ ผู้บังคับบัญชาจึงมอบหมายให้ ป.ไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี ดังนั้น เมื่อป.ได้รับมอบหมายให้ไปร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และการจะสอบสวนจำเลยในความผิดฐานใดนั้นย่อมเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะ ดำเนินการต่อไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสอบสวน ดังนั้นการสอบสวนจึงชอบแล้ว



________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยทั้งสองเป็นผู้ได้รับอนุญาต ให้ผลิตยาแผนโบราณจากผู้อนุญาตตามกฎหมาย เมื่อระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม 2534 ถึงวันที่ 4 กันยายน 2534 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตยาโดยยาดังกล่าวมีส่วนผสมเนื้อเยื่อของพืชและ มหาหิงคุ์ ซึ่งเป็นยาแผนโบราณตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 เป็นยาเม็ดลูกกลอนใช้ชื่อว่ายาเทวดา จำนวน 1 ถึง และยาเม็ดลูกกลอนไม่มีชื่อจำนวน 1 ถุง ซึ่งเป็นยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและจำเลยทั้งสองไม่นำตำรับยานั้นมาขอ ขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่ใช่เป็นกรณีที่ได้รับการยกเว้นอัน เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 72(4),79, 122, 123, 126 พระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522มาตรา 3 และริบของกลาง

          จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

          ศาล ชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 72(4), 79, 122, 123เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษหนักเท่ากัน ให้ลงโทษตามมาตรา 122 ให้ปรับจำเลยที่ 1จำนวน 5,000 บาท ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 เดือนและปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 2 รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ริบของกลาง

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

          ศาล อุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          จำเลยทั้งสองฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ผลิตยาแผนโบราณตามสำเนาใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผน โบราณ สาขาเภสัชกรรม จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเวชกรรมและเภสัชกรรม จำเลยทั้งสองได้ดำเนินการผลิตยาแผนโบราณเป็นยาเม็ดลูกกลอนจำนวน 2 ถุง ซึ่งมีผู้อื่นมาว่าจ้างให้จำเลยทั้งสองผลิตตามใบรับบดยาผงและปั๊มเม็ด กับรายการส่วนผสมเจ้าพนักงานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจค้นสถานการค้าของจำเลยที่ 1 พบยาแผนโบราณดังกล่าวเมื่อนำไปตรวจสอบแล้วพบว่ายาของกลางมีส่วนผสม ของมหาหิงคุ์ซึ่งถือว่าเป็นยาแผนโบราณโดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ขึ้นทะเบียน ตำรับยาและไม่นำตำรับยาไปขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งจำเลยมิได้ ผลิตเพื่อรักษาคนไข้ของตนเอง

          มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่าในการผลิตยาแผนโบราณตามพระราชบัญญัติยานั้น นอกจากผู้ผลิตจะต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามมาตรา 46 วรรคหนึ่งแล้ว ยังต้องปรากฏว่ายาแผนโบราณที่จะผลิตนั้นเองเป็นยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ไว้แล้ว ตามมาตรา 72(4) หรือผู้ผลิตได้นำตำรับยานั้นมาขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และได้รับ ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาแล้ว ตามมาตรา 79 จึงจะผลิตยานั้นได้ อย่างไรก็ตามหากเป็นการปรุงยาตามตำราที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา 76(1) โดยผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณและเป็นการทำเพื่อขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตน ตามมาตรา 47(2) แล้ว จึงจะสามารถผลิตยานั้นได้โดยไม่ต้องรับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงในคดีนี้ยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองมิได้ผลิตยาของกลางเพื่อขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตน แม้จำเลยทั้งสองจะได้ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ กรณีก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 47(2)และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและไม่นำตำรับยาไปขอขึ้น ทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงไม่ได้ใบรับอนุญาตจากผู้อนุญาตให้ผลิตยาแผนโบราณได้ตามมาตรา 46 วรรคหนึ่งจำเลยทั้งสองจึงต้องมีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

          มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อมาว่าการสอบสวนไม่ชอบ เพราะนายประธาน ประเสริฐวิทยาการเบิกความว่า ขณะลงชื่อในคำร้องทุกข์เอกสารหมาย จ.9 รายละเอียดต่าง ๆ ยังไม่ได้กรอกข้อความลงไป ไม่ทราบว่าจะแจ้งความให้ดำเนินคดีจำเลยในความผิดฐานใดในประเด็นนี้นายประธาน เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ได้ตรวจค้นพบยาของกลางและได้บันทึกการยึดยาไว้ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.8เมื่อผลการตรวจพิสูจน์พบว่าของกลางเป็นเนื้อเยื่อของพืชและมหาหิงคุ์ซึ่ง เป็นยาแผนโบราณผู้บังคับบัญชาจึงมอบหมายให้ไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีตาม เอกสารหมาย จ.9ร้อยตำรวจเอกทรงธรรม ศรีกาญจนา พนักงานสอบสวนเบิกความว่า นายประธานได้มาร้องทุกข์และนำเอกสารหมายจ.1 ถึง จ.8 มามอบให้ เห็นว่า ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายประธานได้รับมอบหมายให้ไปร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนการจะสอบสวนจำเลยทั้งสองในความผิดฐานใดนั้น ย่อมเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการต่อไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ จากการสอบสวนดังนั้นการสอบสวนจึงชอบแล้ว

          พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกา คดีล่อซื้อยาลดความอ้วนเฟนเตอมีน (phentermine)





คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2429/2551
พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด
     โจทก์
นางวิสาลักษณ์ ศิริวงศ์
     จำเลย

ป.วิ.อ. มาตรา 226

          สิบตำรวจตรี ส. ขอซื้อยาลดความอ้วนซึ่งมีส่วนผสมของเฟนเตอมีนจากจำเลย จำเลยบอกว่าไม่มีและที่ร้านของจำเลยไม่ได้ขายลดความอ้วนดังกล่าวสิบตำรวจตรี ส. จึงบอกว่าคนรักต้องการใช้ยาลดความอ้วน จำเลยจึงบอกว่าจำเลยมียาลดความอ้วนอยู่ 1 ชุด ที่จำเลยซื้อมาไว้รับประทานเอง สิบตำรวจตรี ส.ขอซื้อยาลดความอ้วนชุดนั้นจำเลยจึงขายให้และเมื่อมีการตรวจค้นร้านขายยาของจำเลยก็ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายอื่นแต่อย่างใด เมื่อจำเลยไม่มีเฟนเตอมีนของกลางไว้เพื่อขายดังที่โจทก์ฟ้อง และรับฟังไม่ได้ว่าที่ร้านขายยาของจำเลยเคยมีการขายเฟนเตอมีนมาก่อน ดังนั้น การที่จำเลยขายเฟตเตอมีนของกลางให้แก่สิบตำรวจตรี ส. จึงเกิดจากการถูกล่อให้กระทำความผิด โดยจำเลยไม่มีเจตนาจะกระทำความผิดในการขายเฟตเตอมีนมาก่อน พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นพยานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบโจทก์ไม่สามารถอ้างเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226

________________________________


          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2544 เวลากลางวัน จำเลยมีเฟนเตอมีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 15 แคปซูล น้ำหนัก 0.549 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อขาย และจำเลยได้ขายเฟนเตอมีนดังกล่าวให้แก่ผู้ล่อซื้อในราคา 250 บาท โดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อและเฟนเตอมีนจำนวนดังกล่าว เป็นของกลาง เฟนเตอมีนของกลางหมดไปในการตรวจวิเคราะห์ส่วนธนบัตรของกลางเจ้าพนักงานเก็บ รักษาไว้ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 89

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 วางโทษจำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน คำขออื่นให้ยก

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยและนายอัชฌาณัฐ สามีประกอบกิจการร้านขายยาชื่อ นิววัฒนาเพิ่มสิน โดยนายอัชฌาณัฐได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินกิจการ ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยได้ขายยาลดความอ้วนของกลางจำนวน 15 แคปซูล ให้แก่สิบตำรวจตรีสมเกียรติ ผู้ล่อซื้อในราคา 250 บาท ยาลดความอ้วนของกลางทั้ง 15 แคบซูล ได้มีการตรวจวิเคราะห์โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว ผลการตรวจวิเคราะห์ตรวจพบเฟนเตอมีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ผสมอยู่จำนวน 0.549 กรัม มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมีเฟนเตอมีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อขายและขายเฟนเตอมีนโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นควรวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยก่อน โดยจำเลยยื่นคำแก้ฎีกาว่าจำเลยไม่ทราบข้อเท็จจริงว่ายาลดความอ้วนที่จำเลยขายให้แก่สิบตำรวจตรีสมเกียรติมีเฟนเตอมีนผสมอยู่ เนื่องจากจำเลยไม่ใช่แพทย์หรือเภสัชกรจึงไม่ ทราบมาก่อนว่าในยาลดความอ้วนมีส่วนผสมของเฟนเตอมีนอยู่ด้วย เท่ากับว่าจำเลยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด ปัญหานี้พันตำรวจโทมานพ พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความว่า ในชั้นสอบสวนพยานแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (เฟนเตอมีน) ไว้ในครอบครองเพื่อขายและขายเฟนเตอมีนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพซึ่งตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวระบุว่านาย อัชฌาณัฐ สามีจำเลยร่วมฟังการสอบสวนและได้ลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกคำให้การของจำเลย ด้วย และปรากฏจากบันทึกคำให้การดังกล่าวว่า จำเลยตอบคำถามพนักงานสอบสวนว่า จำเลยทราบดีว่ายาลดความอ้วนที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้เป็นของกลางเป็นวัตถุ ออกฤทธิ์ซึ่งการขายหรือมีไว้ในครอบครองเป็นความผิดจำเลยเบิกความว่าในการสอบ สวนตามบันทึกคำให้การพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำจำเลยและพิมพ์ตามที่จำเลยให้ การ แต่จำเลยเบิกความต่อไปว่า ที่ตอบว่าจำเลยทราบดีนั้น จำเลยไม่ทราบมาก่อนว่ายาลดความอ้วนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ เพิ่งมาทราบจากพนักงานสอบสวน เห็นว่า จำเลยจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ส่วนนายอัชฌาณัฐ สามีจำเลยจบการศึกษาระดับปริญญาโท หากจำเลยเพิ่งทราบจากพนักงานสอบสวนว่ายาลดความอ้วนของกลางเป็นวัตถุออกฤทธิ์ ซึ่งการขายหรือมีไว้ในครอบครองเป็นความผิดจำเลยก็ชอบที่จะให้การปฏิเสธ เนื่องจากไม่ปรากฏว่ามีการบังคับขู่เข็ญหรือกระทำด้วยประการใดให้จำเลยให้ การรับสารภาพแต่อย่างใดประกอบกับจำเลยและสามีมีอาชีพค้าขายโดยประกอบกิจการ ร้านขายยามิใช่เป็นประชาชนทั่วไปที่เพียงแต่บริโภคยา จำเลยจึงน่าจะต้องทราบว่ายาลดความอ้วนดังกล่าวมีเฟนเตอมีอันเป็นวัตถุออก ฤทธิ์ในประเภท 2 ผสมอยู่ และน่าจะต้องทราบว่าการขายหรือมีไว้ในครอบครองยาลดความอ้วนดังกล่าวเป็นความ ผิด ดังนั้น ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่ทราบว่ายาลดความอ้วนที่จำเลยขายให้แก่สิบ ตำรวจตรีสมเกียรติมีเฟนเตอมีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ผสมอยู่ จึงฟังไม่ขึ้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าการมีเฟนเตอมีนไว้ในครอบครองเป็นความผิดต่อกฎหมาย จำเลยเบิกความว่าจำเลยซื้อยาลดความอ้วนของกลางทั้ง 15 แคปซูล มาจากพนักงานขายยาโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทำตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพ เวชกรรมแต่อย่างใด ข้อเท็จจึงฟังได้ว่าจำเลยมีไว้ในครอบครองซึ่งเฟนเตอมีนของกลางโดยไม่ได้รับ อนุญาต ปัญหาว่า จำเลยครอบครองเฟนเตอมีนของกลางไว้เพื่อขายหรือไม่และการกระทำของจำเลยเป็น ความผิดฐานขายเฟนเตอมีนโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า ในการล่อซื้อเฟนเตอมีนจากจำเลย เมื่อสิบตำรวจตรีสมเกียรติขอซื้อยาลดความอ้วนจากจำเลยโดยบอกว่าจะเอาไปให้คน รัก จำเลยบอกว่าไม่มีและที่ร้านของจำเลยไม่ได้ขายยาลดความอ้วนสิบตำรวจตรีสม เกียรติจึงบอกว่าคนรักของสิบตำรวจตรีสมเกียรติจะต้องใช้ยาลดความอ้วนและจะ กลับไปต่างจังหวัดในวันที่ล่อซื้อนั้นเอง จำเลยจึงบอกว่าจำเลยมียาลดความอ้วนอยู่ 1 ชุด ที่จำเลยซื้อมาไว้รับประทานเอง สิบตำรวจตรีสมเกียรติขอซื้อยาลดความอ้วนชุดนั้น จำเลยจึงขายให้ในราคา 250 บาท และเมื่อมีการตรวจค้นร้านขายยาของจำเลยก็ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายอื่นแต่อย่าง ใด ที่โจทก์ฎีกาว่าก่อนการล่อซื้อได้มีการสืบทราบมาก่อนเกิดเหตุแล้วว่าจำเลย ลักลอบขายยาลดความอ้วนนั้น แม้สิบตำรวจตรีสมเกียรติพยานโจทก์จะเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุได้มีการสืบทราบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่า ที่ร้านขายยาของจำเลยมีการลักลอบขายยาลดความอ้วน โดยทางกองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติดได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยาโดยให้ส่งตัวอย่างยาลดความอ้วนมาให้ดูด้วย แต่โจทก์ก็มิได้ส่งหนังสือหรือตัวอย่างยาลดความอ้วนดังกล่าวต่อศาลคำเบิก ความของสิบตำรวจตรีสมเกียรติจึงเป็นคำเบิกความลอยๆ และไม่สอดคล้องกับบันทึกการจับกุมที่ระบุว่าจากการสืบสวนเจ้าพนักงานตำรวจ สืบทราบว่าร้านขายยานิววัฒนาเพิ่มสินมีการลักลอบขายเฟนเตอมีน ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้เบาะแสมาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแต่ อย่างใด นางนัยนา ซึ่งรับราชการอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในตำแหน่งเภสัชกร มีหน้าที่ตรวจสอบวัตถุออกฤทธิ์ที่จำหน่ายในท้องตลาดเบิกความเป็นพยานโจทก์ ว่า พยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2544 ให้ไปร่วมตรวจสอบกับเจ้าพนักงานตำรวจในวันรุ่งขึ้นโดยยังไม่ได้บอกว่าให้ไป ตรวจอะไร ตามคำเบิกความของนางนัยนาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและ ยาก็ไม่ปรากฏว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสืบทราบมาว่าที่ร้านขายยาของ จำเลยมีการลักลอบขายยาลดความอ้วนดังที่สิบตำรวจตรีสมเกียรติเบิกความ ส่วนพันตำรวจโทมานพ พนักงานสอบสวนเบิกความว่า จากการสอบสวนผู้ร่วมจับกุมซึ่งไม่ปรากฏว่าเป็นใครได้ความว่านางนัยนาได้รับ แจ้งจากเจ้าพนักงานตำรวจว่าที่ร้านขายยาของจำเลยมีการลักลอบขายยาลดความอ้วน ดังนี้พยานโจทก์จึงรับฟังเอาแน่นอนไม่ได้ว่าหน่วยงานใดเป็นผู้สืบทราบและรับ ฟังไม่ได้ว่าก่อนการล่อซื้อจับกุมมีการสืบทราบมาก่อนดังที่สิบตำรวจตรีสม เกียรติเบิกความนายศักดิ์ชัย พยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งเป็นเภสัชกรประจำ อยู่ที่ร้านขายยาของจำเลยเบิกความว่า พยานไม่เคยเห็นยาลดความอ้วนของกลางอยู่ในร้านดังนี้ พยานหลักฐานตามที่โจทก์นำสืบจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเฟนเตอมีนของกลางไว้ เพื่อขายดังที่โจทก์ฟ้อง และรับฟังไม่ได้ว่าที่ร้านขายยาของจำเลยเคยมีการขายเฟนเตอมีนมาก่อน ดังนั้น การที่จำเลยขายเฟนเตอมีนของกลางให้แก่สิบตำรวจตรีสมเกียติจึงเกิดจากการถูก ล่อให้กระทำความผิด โดยจำเลยไม่มีเจตนาจะกระทำความผิดในการขายเฟนเตอมีนมาก่อน พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นพยานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ โจทก์ไม่สามารถอ้างเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนรับฟังลงโทษจำเลยได้นั้น เห็นว่า เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ในชั้นพิจารณารับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้เช่นนี้แล้ว ลำพังแต่คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนก็ไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้ อย่างไรก็ตามคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเฟนเตอมีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ และ 89 ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการมีเฟนเตอมีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง และ 106 วรรคหนึ่ง อยู่ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่างซึ่งแต่ละอย่างอาจเป็น ความผิดได้อยู่ในตัวเองเมื่อทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยมีเฟนเตอมีนไว้ในครอบ ครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเฟนเตอมีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับ อนุญาตซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

          พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่ง วางโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 21,000 บาท คำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน และปรับ 14,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ภายในกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์



( ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว - พีรพล พิชยวัฒน์ - พิสิฐ ฐิติภัค )


หมายเหตุ  

          ในการล่อให้กระทำความผิดนั้น แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเยอรมันแต่เดิมศาลจะไม่ลงโทษจำเลยที่ถูกล่อให้กระทำความ ผิด (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด) หากการล่อให้กระทำความผิดดังกล่าวขัดต่อหลักนิติรัฐ โดยตามแนวคำพิพากษาของศาลถือว่ากรณีดังต่อไปนี้เป็นการขัดต่อหลักนิติรัฐ เช่น ถ้าจำเลย (คือผู้ที่ถูกล่อให้กระทำความผิด) ยังไม่เคยถูกลงโทษมาก่อน จำเลยเป็นผู้ติดยาเสพติดเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไม่ถือว่าเป็นการขัดต่อหลักนิติรัฐหากว่าตัวผู้ค้ายาเสพติดเป็นผู้เข้าหาตัว ผู้ล่อให้กระทำความผิดเอง (BverfG NJW 1987, 1870) นอกจากนี้คำถามของเจ้าพนักงานตำรวจที่ถามหญิงโสเภณีว่าเธอพร้อมที่จะมีเพศ สัมพันธ์กับเขาหรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันเคยวินิจฉัยไว้ว่าไม่ถือว่าเป็นการขัดต่อหลักนิติรัฐ (BverfG NStZ, 1985, 131) การล่อให้กระทำความผิดที่ขัดต่อหลักนิติรัฐตามแนวคำพิพากษาศาลเยอรมันข้าง ต้น จะนำไปสู่อุปสรรคในการฟ้องร้องดำเนินคดีและอุปสรรคในกระบวนพิจารณาคดี (Strfverfolgungs - und Prozesshindernis) ผลในทางกฎหมายก็คือกระบวนพิจารณาไม่อาจที่จะดำเนินต่อไปได้ ศาลไม่อาจที่จะวินิจฉัยลงในเนื้อหาของคดีได้และต้องยุติคดีลง ในทางตรงกันข้าม แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเยอรมันในปัจจุบัน (ตั้งแต่คำวินิจฉัยของศาลในคดี BGHSt 32, 345; BGH Strv 1989, 518) เห็นว่าการล่อให้กระทำความผิดที่เป็นการขัดต่อหลักนิติรัฐนั้นเป็นแต่เพียง เหตุในการลดโทษอย่างสำคัญ ("wesentlichen Strafmilderungsgrund) และลงโทษจำเลยในอัตราโทษขั้นต่ำตามกฎหมาย ส่วนความเห็นในทางตำรานั้นยังไม่เป็นที่ยุติ บางฝ่ายเห็นไปในทำนองเดียวกันกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเยอรมันแต่เดิม ส่วนศาสตราจารย์ Roxin เห็นว่าการล่อให้กระทำความผิดที่เป็นการขัดต่อหลักนิติรัฐนั้นเป็นเหตุตัดใน การลงโทษซึ่งเป็นเรื่องในทางสารบัญญัติ (ein materiellrechtlicher Strafausschiessungsgrund) (ผลในทางกฎหมายก็คือยกเว้นโทษให้จำเลยนั่นเอง) ไม่ใช่เรื่องอุปสรรคในกระบวนพิจารณาคดี (kein Prozesshindernis) เพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ขัดต่อหลักนิติรัฐนั้นไม่ได้เกี่ยว ข้องแต่แรกในเรื่องของกระบวนพิจารณาแต่เกี่ยวข้องตั้งแต่แรกในเรื่องของการ เกิดขึ้นของการกระทำความผิดและด้วยเหตุนี้เอง ศาสตราจารย์ Roxin จึงเห็นว่ารัฐจึงไม่มีสิทธิลงโทษจำเลยในกรณีดังกล่าว (Vgl. Roxin, Strafverfahrensrecht, 25.Auflage 1998, บทที่ 10, หัวข้อ 27f.)
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุ เป็นไปตามแนวเดิมที่ศาลฎีกาเคยวางหลักไว้ว่าถ้าจำเลยถูกล่อให้กระทำความผิด แล้วพยานหลักฐานดังกล่าวรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ ซึ่งดูเหมือนจะต่างกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาของเยอรมันในปัจจุบันที่เห็นว่า การล่อให้กระทำความผิดเป็นแต่เพียงเหตุลดโทษ ผู้เขียนหมายเหตุเห็นว่าหลักที่ศาลฎีกาของไทยวางไว้เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะรัฐไม่น่าที่จะสามารถลงโทษจำเลยที่ถูกล่อให้กระทำความผิดได้ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักที่ว่ารัฐไม่อาจที่จะลงโทษบุคคลที่การกระทำความผิดของเขาเกิด ขึ้นจากการเริ่มต้นของรัฐได้ (venire contra factun proprium)
          
          
          
          สุรสิทธิ์ แสงวิโรจนพัฒน์
          
          
หมายเหตุ
           ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผ่านมาในเรื่องการล่อให้กระทำความผิดมีเส้นแบ่ง แยกอยู่ที่ว่า พยานหลักฐานที่ได้มาจากการล่อให้กระทำความผิดนั้นเป็นพยานหลักฐานที่จำเลยมี อยู่แล้วหรือว่าเป็นสิ่งที่จำเลยทำให้มีขึ้นมาใหม่ ดังนั้นถ้าเป็นกรณีที่จำเลยมีพยานหลักฐานนั้นอยู่แล้ว เช่น มีเมทแอมเฟตามีนอยู่ในความครอบครองแล้วเจ้าพนักงานไปล่อซื้อได้มา ก็ถือว่าเมทแอมเฟตามีนนั้นเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 266 แต่ถ้าเป็นกรณีที่จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดมาก่อนดังเช่นข้อเท็จจริงตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2551 เมื่อเจ้าพนักงานไปล่อซื้อ จำเลยจึงไปแสวงหาเฟนเตอมีนของกลางมา ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่าเฟนเตอมีนของกลางเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ ตามมาตรา 226 ดังกล่าว ซึ่งเป็นการวินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผ่านมา
           ผู้เขียนมีความเห็นเพิ่มเติมว่า หลังจากมีการเพิ่มมาตรา 226/1 โดยผลของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 281 พ.ศ.2551 จำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงการกระทำของเจ้าพนักงานในเรื่องการไปล่อซื้อด้วย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า หลังจากที่มาตรา 226/1 มีผลบังคับใช้แล้ว การที่เจ้าพนักงานจะกระทำการล่อซื้อต้องกระทำไปโดยมีอำนาจตามกฎหมาย เช่น กฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติด เป็นต้น ที่ให้อำนาจและกำหนดหลักเกณฑ์ของการที่เจ้าพนักงานจะไปล่อซื้อซึ่งส่งผลให้ การล่อซื้อนั้นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ควรมีการปรับปรุงแก้ไข ป.วิ.อ. ให้สอดคล้องกับหลักการของมาตรา 226/1 มิฉะนั้นการล่อซื้อของเจ้าพนักงานที่ไม่มีกฎหมายรองรับอาจถูกตีความว่าเป็น การกระทำที่ไม่ชอบและส่งผลให้พยานหลักฐานที่ได้มาจากการล่อซื้อเป็นพยานหลัก ฐานที่รับฟังไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/1 ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่เป็นบทตัดพยานหลักฐานที่เด็ดขาด แต่ก็ควรมีกฎหมายกำหนดให้ชัดเจนในเรื่องอำนาจของเจ้าพนักงานในการรวบรวมพยาน หลักฐานว่าจะต้องกระทำอย่างไรจึงจะชอบด้วยกฎหมาย
          
          
          
          พรเพชร วิชิตชลชัย

คำพิพากษาศาลฎีกา คดีนามบัตรดอกเตอร์ออฟออปโตเมตรี

คดีนี้้ ผู้จบปริญญา "ดอกเตอร์ออฟออปโตเมตรี" แปลว่า"จักษุแพทย์ศาสตร์บัณฑิต" แสดงตนในใบปลิวและนามบัตรว่าเป็นจักษุแพทย์เพื่อประโยชน์ในการสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้มีเจตนาจะประกอบวิชาชีพเวชกรรม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  282/2523
พนักงานอัยการกรมอัยการ
     โจทก์
นายวิทยา กฤตลักษณ์กุล
     จำเลย

พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2511 มาตรา 21, 36


          จำเลย ศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศฟิลิปปินส์ได้รับปริญญา"ดอกเตอร์ออฟออปโตเมตรี" แปลว่า"จักษุแพทย์ศาสตร์บัณฑิต" ซึ่งความหมายของ "จักษุแพทย์" นั้น ได้แก่ผู้ตรวจสอบสายตา ผู้ประกอบแว่น (ไม่ได้หมายถึงผู้รักษาตาด้วยยาหรือการผ่าตัด) จำเลยได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลแผนปัจจุบัน สาขาเวชกรรมซึ่งมีแพทย์ประจำ แต่ตัวจำเลยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เมื่อจำเลยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำเลยได้พิมพ์นามบัตรและใบปลิวโฆษณามีคำว่า จักษุแพทย์ และชื่อสถานพยาบาลของจำเลย แต่ไม่ได้แสดงออกซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่ได้แสดงใบปลิว และนามบัตรว่าได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการตรวจ การป้องกันและการบำบัดโรคตาและพร้อมที่จะประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามใบปลิวและ นามบัตรที่ใช้โฆษณานั้น ดังนี้ เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาจะแสดงวิทยฐานะทางการศึกษากับแสดงหลักฐานการประกอบ อาชีพเพื่อหาคะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้นหาได้มีเจตนาที่จะแสดงว่า จำเลยพร้อมที่จะประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม บังอาจพิมพ์ใบปลิวและนามบัตรโฆษณาต่อประชาชนว่าจำเลยเป็นจักษุแพทย์มีสถานพยาบาลชื่อสยามคอนแท็คเลนส์คลีนิค อยู่เลขที่ 2/7 ถนนสุขุมวิท 18 แขวงคลองเตย อันแสดงว่าพร้อมที่จะประกอบวิชาชีพเวชกรรม ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511มาตรา 4, 21, 36 และริบของกลาง

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเชื่อว่าจำเลยแสดงตนพร้อมที่จะประกอบวิชาชีพเวชกรรมรักษา โรคทางตา โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511มาตรา 21, 36 จำคุก 1 ปี และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยเพียงแต่แสดงวิทยฐานะทางการศึกษากับชื่อและที่ตั้งสถานพยาบาลของจำเลย มิใช่แสดงว่าพร้อมที่จะประกอบวิชาชีพเวชกรรม พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยศึกษาที่มหาวิทยาลัยมนิลากลางประเทศฟิลิปปินส์ ได้รับปริญญา เรียกชื่อว่า "ดอกเตอร์ ออฟ ออปโต เมตรี" ซึ่งมีคำแปลว่า "จักษุแพทย์ศาสตร์บัณฑิต" ความหมายของจักษุแพทย์นั้นปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 ว่าได้แก่ ผู้ตรวจสอบสายตา ผู้ประกอบแว่น (ไม่หมายถึงผู้รักษาตาด้วยยาหรือการผ่าตัด) จำเลยได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลแผนปัจจุบัน สาขาเวชกรรม ชื่อสยามคอนแท็คเลนส์คลีนิคแล้วจำเลยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร จึงพิมพ์นามบัตรกับใบปลิวที่ใช้โฆษณามีคำว่า จักษุแพทย์ และชื่อสถานพยาบาลของจำเลยถึงแม้จำเลยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็น ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากคณะกรรมการแพทยสภาและทางสมาคมจักษุ โสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย แจ้งให้แพทยสภาทราบว่า ปริญญาของจำเลยถือว่าเป็นจักษุแพทย์ไม่ได้ ก็เป็นแต่เพียงวิทยฐานะทางการศึกษาของจำเลยนั้น ไม่อยู่ภายในข้อบังคับที่จะเข้าเป็นสมาชิกของแพทยสภา และมิใช่ความรู้ในวิชาชีพเวชกรรมของผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 ที่แพทยสภาจะอนุมัติหรือออกวุฒิบัตรแสดงความรู้หรือความชำนาญให้แก่ผู้ ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 เท่านั้น ส่วนการที่จำเลยมีสถานพยาบาลด้วยก็ปรากฏว่าจำเลยได้รับอนุญาตให้ตั้งสถาน พยาบาลแผนปัจจุบันสาขาเวชกรรม ซึ่งมีแพทย์ประจำ โดยจำเลยมิได้รักษาโรคตา ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นใดอีกว่า การที่จำเลยโฆษณาหาเสียงสมัครรับเลือกตั้งดังกล่าวได้มีการแสดงออกซึ่งการ กระทำใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่ได้แสดงใบปลิวและนามบัตรว่าเป็นจักษุแพทย์ ตามใบปลิวและนามบัตรที่ใช้โฆษณานั้น ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยมีเจตนาจะแสดงวิทยฐานะทางการศึกษาตามที่เรียนสำเร็จและได้รับปริญญา บัตรมากับแสดงหลักฐานการประกอบอาชีพ เพื่อจะหาคะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการที่จำเลยสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น หาได้มีเจตนาที่จะแสดงว่า จำเลยพร้อมที่จะประกอบวิชาชีพเวชกรรมอันจะเป็นความผิดตามฟ้องไม่

          พิพากษายืน