คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4080/2550
|
|
ป.วิ.พ. มาตรา 142
พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 39
การสอบสวนของแพทยสภาจำเลยจะชอบด้วยกระบวนการสอบสวนหรือไม่
ต้องมีข้อเท็จจริงที่จะนำมาพิจารณาปรับเข้ากับข้อกฎหมาย
เมื่อโจทก์ไม่ได้ยกขึ้นกล่าวไว้ในคำฟ้องจึงไม่มีประเด็นการสอบสวนชอบหรือไม่
จำเลยจึงไม่จำเป็นที่จะต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1
ยกขึ้นวินิจฉัยว่ากระบวนการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมไม่เป็นธรรมต่อจำเลย จึงไม่ชอบเพราะหากมีประเด็นนี้ในศาลชั้นต้น
จำเลยอาจจะนำสืบข้อเท็จจริงต่างจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยได้
การที่จะยกข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยขึ้นวินิจฉัยเอง จะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงในประเด็นแห่งคดีด้วย
โจทก์ไม่ได้ตรวจร่างกาย
ป. ก่อนที่ ส. จะจ่ายมา
เมื่อยาดังกล่าวเป็นไดอาซีแพมหรือแวเลี่ยมวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท
4 และเออโกตามีน ทาร์เตรต ซึ่งเป็นยาอันตราย
การกระทำของโจทก์จึงเป็นการขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่
อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของผู้ป่วยได้และอาจเป็นเหตุให้เสื่อมเสีย
เกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
การที่คณะกรรมการของแพทยสภาจำเลยเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวของโจทก์เป็น
อันตรายต่อสังคมทั่วไปและเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม
ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับแพทย์สภา
ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม
พ.ศ.2526 หมวด 1 ข้อ 2
และมีมติภาคทัณฑ์โจทก์ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม
พ.ศ.2525 มาตรา 39 (3) จึงเป็นดุลพินิจที่ชอบ
________________________________
โจทก์ฟ้องว่า
โจทก์ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยได้รับอนุญาตจากจำเลยและเปิดสถานพยาบาลชื่อรวมแพทย์ข้างฟากคลินิก
(ที่ถูกรวมแพทย์ข้ามฟากโพลีคลินิก) ตั้งอยู่เลขที่ 75/18 ตำบลปากน้ำ
อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2538
เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรปราการส่งพลตำรวจสมัครประสิทธิ์
ศิริจินดา เข้าไปล่อซื้อยาจากโจทก์และจับกุมโจทก์กับพวกในข้อหาขายยาไดอาซีแพมหรือแวเลี่ยม
วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 และยาแผนปัจจุบันอันตราย
โดยไม่มีใบอนุญาตและใบสั่งยาจากแพทย์และยินยอมให้มีการประกอบโรคศิลปะโดยผิดกฎหมาย
ต่อมาอัยการจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์กับพวก
เพราะโจทก์กับพวกไม่ได้กระทำความผิด คณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมที่จำเลยแต่งตั้งแสวงหาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าคดีมีมูล
จำเลยจึงตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนชุดที่ 1 สอบสวนโจทก์และมีความเห็นควรลงโทษว่ากล่าวตักเตือนโจทก์
แต่จำเลยกลับลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์ตามคำสั่งแพทยสภาที่ 2/2541 ลงวันที่ 31 มีนาคม
2541
โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด
ขอให้จำเลยเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉย
ทำให้โจทก์เสียหายเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์
ขอให้เพิกถอนหรือยกเลิกคำสั่งแพทยสภาที่ 2/2541 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2541
จำเลยให้การว่า
คำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เหตุที่มีการออกคำสั่งดังกล่าวเนื่องจากได้รับคำร้องเรียนจากประชาชนว่าโจทก์มีพฤติการณ์ที่ไม่ชอบ
เลขาธิการแพทยสภาจึงเสนอเรื่องต่อประธานอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม
เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง คณะกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาเวชกรรม ชุดที่ 5
มีความเห็นและมีมติว่าคดีมีมูล จำเลยจึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการสอบสวนชุดที่ 1
สอบสวนแล้วมีความเห็นว่า โจทก์สั่งยาไดอาซีแพมหรือแวเลี่ยมให้แก่คนไข้โดยไม่ได้ตราจร่างกายและยาดังกล่าวเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท
4
ถือว่าพฤติกรรมดังกล่าวไม่เหมาะสมเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมหมวด
1 ข้อ 2 เห็นสมควรลงโทษว่ากล่าวตักเตือน จำเลยพิจารณาสำนวนการสอบสวนและความเห็นของคณะอนุกรรมการสอบสวนชุดที่
1 แล้ว เห็นควรเพิ่มโทษเป็นภาคทัณฑ์
จึงเสนอมติของจำเลยต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ซึ่งดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งแพทยสภาเพื่อให้ความเห็นชอบแล้วก่อนที่จำเลยจะออกคำสั่งดังกล่าว
จำเลยดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์กับพวกไม่มีผลต่อการสอบสวนด้านจริยธรรมโจทก์
และเหตุที่อัยการจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์เป็นเพราะคดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค
1 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งแพทยสภาที่ 2/2542 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2541
ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า
“ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบและไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า
โจทก์ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยได้รับอนุญาตจากจำเลย
ตามใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมเอกสารหมาย จ.1
โจทก์เปิดสถานพยาบาลใช้ชื่อว่ารวมแพทย์ข้ามฟากโพลีคลินิก เลขที่ 75/81
ถนนศรีสมุทร
ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 10
ตุลาคม 2538
พลตำรวจสมัครประสิทธิ์ ศิริจินดา
ปลอมตัวเป็นคนไข้เข้าไปที่คลินิกของโจทก์อ้างว่าไม่สบายปวดศีรษะตัวร้อนและ
นอนไม่หลับขอให้ช่วยจัดยาให้
โจทก์คิดค่ารักษาพยาบาลในราคา 90 บาท
จากนั้นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจ
สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรปราการจับกุมโจทก์
ชั้นจับกุมแจ้งข้อหาแก่โจทก์ว่าจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4
และจำหน่ายยาแผนปัจจุบันอันตรายโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์
พนักงานสอบสวนส่งยาของกลางไปตรวจพิสูจน์ปรากฏผลตามรายงานการตรวจวิเคราะห์
เอกสารหมาย
ล.9 พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์กับพวก
ต่อมามีการร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของโจทก์โดยแนบสำเนาข่าวจากหนังสือ
พิมพ์เกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์ถูกจับกุมในคดีดังกล่าวไปยังสำนักงานเลขาธิการ
แพทยสภา
ตามเอกสารหมาย ล.13
เนื่องจากโจทก์เป็นแพทย์ซึ่งประกอบวิชาชีพเวชกรรมอยู่ภายใต้ระเบียบข้อ
บังคับของจำเลยว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม
พ.ศ.2526 เอกสารหมาย ล.4 ออกตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525
คณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ชุดที่ 5
ของจำเลยสอบสวนและพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติกรรมของโจทก์อาจจะทำให้เกิดความ
เสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพเวชกรรมและยินยอมให้มีการกระทำความ
ผิดต่อกฎหมายในสถานพยาบาล
คดีมีมูล ตามบันทึกสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงเอกสารหมาย ล.14
จึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการแพทยสภาพิจารณา ซึ่งมีความเห็นว่าข้อกล่าวหามีมูล
ตามบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการแพทยสภาเอกสารหมาย ล.15
จากนั้นส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการสอบสวนชุดที่ 1
ของจำเลยสอบสวนต่อไปโดยแจ้งข้อกล่าวหาให้โจทก์ทราบและหมายเรียกโจทก์ไปชี้
แจง
ตามเอกสารหมาย ล.1
และโจทก์ให้ปากคำต่อคณะอนุกรรมการสอบสวนตามคำให้การเอกสารหมาย
ล.5 คณะกรรมการสอบสวนสอบปากคำนายมานิตย์ อรุณกูร พลตำรวจสมัครประสิทธิ์
ศิริจินดาและนายพีรชัย นิลสุวรรณโฆษิต ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ล.6 ถึง
ล.8
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการส่งเอกสารเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้
แก่คณะอนุกรรมการสอบสวน
ตามเอกสารหมาย ล.2 คณะอนุกรรมการสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า
ยาที่ล่อซื้อจากคลินิกของโจทก์ที่เรียกว่าไดอาซีแพมหรือแวเลี่ยมเป็นวัตถุ
ออกฤทธิ์ในประเภท
4 ผู้ป่วยจะซื้อยาดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตจากแพทย์
ซึ่งแพทย์ต้องตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยก่อนจึงจะสั่งยาชนิดนี้ให้แก่ผู้ป่วย
แต่โจทก์ไม่ได้ตรวจและวินิจฉัยโรคเช่นเดียวกับแพทย์ทั่วไปก่อนที่จะสั่งยา
ให้แก่ผู้ป่วย
พฤติกรรมของโจทก์อาจจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
เวชกรรม
จึงมีความเห็นควรลงโทษโจทก์
โดยการว่ากล่าวตักเตือนตามรายงานผลการสอบสวนเอกสารหมาย
ล.3 คณะกรรมการแพทยสภาพิจารณาแล้วมีมติให้ภาคทัณฑ์โจทก์
ตามบันทึกรายงานการประชุมเอกสารหมาย
ล.10 ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการแพทยสภา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขซึ่งดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งแพทยสภา
พิจารณาแล้วเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการแพทยสภา
ตามเอกสารหมาย ล.16 จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์ตามคำสั่งเอกสารหมาย ล.7
คดีมีปัญหาวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยว่า
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1
หยิบยกกระบวนการสอบสวนของจำเลยขึ้นวินิจฉัยโดยที่โจทก์มิได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้องชอบด้วยกฎหมาย
หรือไม่ เห็นว่า การสอบสวนของจำเลยจะชอบด้วยกระบวนการสอบสวนหรือไม่
ย่อมต้องมีข้อเท็จจริงที่จะนำมาพิจารณาปรับเข้ากับข้อกฎหมาย
เมื่อโจทก์ไม่ได้ยกขึ้นกล่าวไว้ในคำฟ้องจึงไม่มีประเด็นการสอบสวนชอบหรือไม่
จำเลยจึงไม่จำเป็นที่จะต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ดังนั้น
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1
ยกขึ้นวินิจฉัยว่ากระบวนการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่เป็นธรรมต่อจำเลยเพราะหากมีประเด็นนี้ในศาลชั้นต้น
จำเลยอาจจะนำสืบข้อเท็จจริงต่างจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยก็ได้
การที่จะยกข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยขึ้นวินิจฉัยเอง
จะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงในประเด็นแห่งคดีด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
และเพื่อมิให้คดีต้องล่าช้าศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค
1 ยังมิได้วินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาใหม่
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า
จำเลยมีคำสั่งภาคทัณฑ์โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ตามคำแก้ฎีกาของโจทก์ซึ่งโจทก์เคยอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค
1 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่ได้วินิจฉัย สรุปได้ว่า
โจทก์ได้ตรวจร่างกายพลตำรวจสมัครประสิทธิ์ ศิริจินดา แล้วโดยชอบ
และได้วินิจฉัยอาการของพลตำรวจสมัครประสิทธิ์
จึงได้เขียนใบสั่งยาตามเอกสารหมาย
จ.2
โจทก์เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออก
ฤทธิ์ไดอาซีแพมหรือแวเลี่ยมโดยชอบ
การกระทำของโจทก์จึงมิได้ผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด
อัยการจังหวัดสมุทรปราการจึงได้มีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ โจทก์มิได้กระทำการใดๆ
อันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
จำเลยจึงไม่อาจมีคำสั่งลงโทษโจทก์ได้นั้น เห็นว่า การกระทำใดๆ
อันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพหรือไม่ไม่จำเป็นต้อง
เป็นการกระทำความผิดอาญา
แต่เป็นเหตุอื่นใดก็ได้แล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ไป
คดีนี้สืบเนื่องมาจากมีหนังสือร้องเรียนโจทก์ ตามเอกสารหมาย ล.13
ว่าที่คลินิกรวมแพทย์ข้ามฟากโพลีคลินิกของโจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจดำเนิน
คดีฐานลักลอบจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท
4 แล้วเหตุใดคลินิกยังเปิดดำเนินการได้
จำเลยโดยนายกแพทย์สภาขณะนั้นจึงมีคำสั่งส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการจริยธรรม
แห่งวิชาชีพเวชกรรมพิจารณา
คณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ชุดที่ 5 ได้สอบข้อเท็จจริงแล้ว
จึงสรุปผลการแสดงหาข้อเท็จจริง เห็นว่ากรณีคดีมีมูล
รายละเอียดปรากฏตามเอกสารสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงเอกสารหมาย ล.14
คณะกรรมการแพทยสภาจึงได้ประชุมเพื่อพิจารณากรณีของโจทก์และมีมติว่าคดีมีมูล
ให้ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนโจทก์
กรณีกระทำการอันอาจให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
และยินยอมให้มีการประกอบโรคศิลปะโดยผิดกฎหมายในสถานพยาบาลซึ่งตนเป็นผู้
ดำเนินการอยู่
รายละเอียดปรากฏตามสำเนาบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการแพทยสภา ครั้งที่
2/2539
เอกสารหมาย ล.15 คณะกรรมการสอบสวนชุดที่ 1
ดำเนินการสอบสวนแล้วได้ข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้สืบทราบว่า
สถานพยาบาลรวมแพทย์ข้ามฟากโพลีคลินิก
ตั้งอยู่เลขที่ 75/18 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ
จังหวัดสมุทรปราการซึ่งมีโจทก์เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลได้มีการจำหน่าย
วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและยาแผนปัจจุบันประเภทอันตรายแก่นักเรียนจึงได้
ขอความร่วมมือกับเจ้าพนักงานตำรวจทำการล่อซื้อและดำเนินการจัดกุมในข้อหา
จำหน่ายยาโดยไม่มีใบสั่งแพทย์
จึงมีมติเห็นว่าการกระทำของโจทก์ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับแพทยสภา
ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมหมวด 1
ข้อ 2 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมไม่ประเพฤติหรือกระทำการใดๆ
อันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพสมควรลงโทษว่ากล่าวตัก
เตือน
รายละเอียดปรากฏตามสรุปสำนวนสอบสวนเอกสารหมาย ล.3
คณะกรรมการแพทยสภาจึงได้ประชุมในครั้งที่
9/2540 แล้วมีมติภาคทัณฑ์โจทก์
รายละเอียดปรากฏตามบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการแพทยสภาเอกสารหมาย ล.10
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวทั้งหมดสรุปได้ว่า
เหตุที่จำเลยภาคทัณฑ์โจทก์ก็เนื่องมาจากการจ่ายยาไดอาซีแพมหรือแวเลี่ยมซึ่ง
เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอันเป็นยาอันตรายแก่คนใช้โดยไม่ได้ตรวจ
ร่างกายให้ละเอียด
โดยพลตำรวจสมัครประสิทธิ์เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า
เมื่อพยานเข้าไปในคลินิกของโจทก์พบนางสาวสุพรรณี อาจหาญ
พยานแจ้งว่ามีอาการปวดศีรษะนอนไม่หลับนางสาวสุพรรณีได้จ่ายยาให้
สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในสรุปสำนวนสอบสวนเอกสารหมาย ล.3
โดยได้ความเพิ่มเติมจากคำให้การของพลตำรวจสมัครประสิทธิ์ต่อคณะกรรมการแพทย
สภาว่า ขณะมีการล่อซื้อโจทก์ตรวจคนไข้อยู่ห้องอื่น
นางสาวสุพรรณีได้ตะโกนบอกอาการให้โจทก์ทราบ
โจทก์จึงบอกให้นางสาวสุพรรณีจัดยาให้
และในบันทึกการจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจได้บันทึกพฤติการณ์ในการจับกุมโดยมี
รายละเอียดการล่อซื้อไว้ด้วย
โจทก์และนางสาวสุพรรณีก็ให้การรับสารภาพ ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 8
จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้ตรวจร่างกายพลตำรวจสมัครประสิทธิ์ก่อนที่นางสุพร
รณีจะจ่ายยา
เมื่อจัดส่งยาดังกล่าวไปตรวจวิเคราะห์พบว่าเป็นไดอาซีแพมหรือแวเลี่ยมวัตถุ
ออกฤทธิ์ในประเภท
4 และเออโกตามีน ทาร์ เตรต ซึ่งเป็นยาอันตราย
ตามผลการตรวจวิเคราะห์เอกสารหมาย ล.9
การกระทำของโจทก์จึงเป็นการขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่อาจเกิดอันตรายต่อ
สุขภาพและชีวิตของผู้ป่วยได้และอาจเป็นเหตุให้เลื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่ง
วิชาชีพ
ดังนั้น การที่คณะกรรมการของจำเลยพิจารณาแล้ว เห็นว่า
พฤติกรรมดังกล่าวของโจทก์เป็นอันตรายต่อสังคมทั่วไป
และเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม
ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับแพทยสภา
ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม
พ.ศ.2526 หมวด 1 ข้อ 2
และมีมติภาคทัณฑ์โจทก์ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม
พ.ศ.2525 มาตรา 39 (3) ถือว่าเป็นดุลพินิจที่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1
พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ
ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
( บุญส่ง น้อยโสภณ - ชาลี ทัพภวิมล - สิทธิชัย พรหมศร )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น