วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เมื่อร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ

เมื่อร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

ร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 คืออะไร
          ร้านขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ หรือเรียกอย่างย่อว่า ร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 (มีที่มาจากจากมุมขวาบนของแบบขออนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ เขียนว่า ข.ย.2) ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของร้านขายยาแผนปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2530 มาตรา 15(3)

รายการยาที่ขายได้ในร้านขายยา ข.ย.2
          หากสังเกตจากคำว่า “ขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ” จะพบว่ารายการยาที่สามารถขายในร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 มีดังต่อไปนี
          (1) ยาสามัญประจำบ้าน (เนื่องจากตามกฎหมายแล้ว ใครก็สามารถขายได้โดยไม่ต้องขออนุญาต)
          (2) ยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ
          ทั้งนี้ รายการยาตามข้อ (1) และ (2) ต้องบรรจุในภาชนะหรือหีบห่อที่ปิดหรือผนึกไว้ และมีฉลากครบถ้วน กล่าวคือ ต้องไม่มีการแบ่งขาย แบ่งบรรจุ หรือทำให้ภาชนะหรือหีบห่อเปลี่ยนรูปไปจากเดิม นอกจากนี้ต้องไม่ใช่ยาอันตราย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาอันตราย หรือไม่ใช่ยาควบคุมพิเศษ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ เนื่องจากผู้มีสิทธิขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ มีเพียงร้านขายยาแผนปัจจุบัน ประเภท ข.ย.1 เท่านั้น
          นอกจากนี้ ร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 ยังได้รับสิทธิขายยาแผนโบราณ โดยไม่ต้องได้รับใบอนุญาตก่อน ตามมาตรา 47(2 ทวิ)

ความผิดเมื่อขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ
          หากร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ อาจมีความผิดดังนี้
          (1) ขายยาแผนปัจจุบันไม่ตรงตามประเภทของใบอนุญาต เนื่องจากผู้มีสิทธิขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ คือ ผู้ได้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน ตามมาตรา 15(2) หรือร้านขายยา ประเภท ข.ย.1 ไม่ใช่ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ตามมาตรา 15(3) หรือร้ายขายยา ประเภท ข.ย.2 ดังนั้น จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 19(2) ต้องรับโทษตามมาตรา 102 กล่าวคือ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2,000 – 5,000 บาท
          (2) ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรหรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ผู้รับอนุญาตขายยาตลอดจนลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 16 ไม่มีสิทธิขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 32 ผู้ฝ่าฝืนต้องได้รับโทษตามมาตรา 107 กล่าวคือ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่ง 1,000 – 5,000 บาท อย่างไรก็ตามแม้ว่าร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 จะมีเภสัชกรเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการและเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลานั้นก็ไม่มีสิทธิขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 เช่นกัน เรื่องจากเป็นขายยาแผนปัจจุบันไม่ตรงตามประเภทของใบอนุญาต ตามข้อ (1)
          (3) การประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ความผิดฐานนี้ไม่ได้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 แต่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 เนื่องจากการขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยาเป็นการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม และการขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยยา (ปัจจุบัน คือ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510) เป็นหน้าที่ของเภสัชกรเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 32 หากผู้มิใช่เภสัชกรขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 50

          ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 เมื่อขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 19(2) เสมอ หากผู้ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษไม่ใช่เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ จึงจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 32 และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 ด้วย

พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบสามารถทำอะไรได้บ้าง
          พนักงานเจ้าหน้าที่หากตรวจพบว่ามีการขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ในร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 มีประเด็นที่เกี่ยวข้องดังนี้
          (1) ประเด็นการตั้งข้อกล่าวหา สามารถตั้งข้อกล่าวหาร้านยาขายยาแผนปัจจุบันไม่ตรงตามประเภทของใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 19(2) ได้เสมอ ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 32 และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 ให้ดูเป็นรายกรณีไป
          (2) ประเด็นการริบยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษที่พบในร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 นั้น หากเป็นยาที่ชอบด้วยกฎหมายและอาจขายได้หากได้รับใบอนุญาตให้ขายยาจากพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อน เช่น ไม่ใช่รายการยาตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 72 กล่าวคือ เป็นยาปลอม ยาผิดมาตรฐาน ยาเสื่อมคุณภาพ ยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ยาที่ทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก หรือยาที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยา จึงไม่ใช่สิ่งของที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิดโดยตรงอันจะพึง ต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 อีกทั้งบทลงโทษที่เกิดขึ้นจะลงโทษตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510  มาตรา 102 สำหรับกรณีขายยาแผนปัจจุบันไม่ตรงตามประเภทของใบอนุญาต หรือลงโทษตามมาตรา 107 สำหรับกรณีขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งไม่เข้าข่ายพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 126 จึงไม่สามารถริบยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 ได้ (ดูแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 998/2512, 187/2517, 1377/2517 )


ข้อสังเกตอื่น
           ร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 ถ้าไม่มีผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการอยู่ ผู้รับอนุญาตก็ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 22 อยู่แล้ว แต่ถ้าขายยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ เป็นช่องว่างของกฎหมายที่ไม่มีบทลงโทษ (ประเด็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 จะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น