วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

คำพิพากษาศาลฎีกา คดีผลิตยาแผนโบราณโดยไม่ขอขึ้นทะเบียนตำรับยา





คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3804/2540
พนักงานอัยการ สำนักงาน อัยการ สูงสุด
     โจทก์
ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล เวชพงศ์ โอสถ กับพวก
     จำเลย

ป.อ. มาตรา 90
ป.วิ.อ. มาตรา 2(6), 120, 123
พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 46, 47(2), 72(4), 76(1), 79, 122, 123
พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2522 มาตรา 3


          ในการผลิตยาแผนโบราณตาม พระราชบัญญัติยานั้นนอกจากผู้ผลิตจะต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามมาตรา 46 วรรคหนึ่งแล้ว ยังต้องปรากฏว่ายาแผนโบราณที่จะผลิตนั้นต้องเป็นยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ไว้แล้วตามมาตรา 72(4) หรือผู้ผลิตได้นำตำรับยานั้นมาขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และได้รับ ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาแล้วตามมาตรา 79 จึงจะผลิตยานั้นได้ หากเป็นการปรุงยาตามตำราที่รัฐมนตรีประกาศตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 76(1) โดยผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ และเป็นการทำเพื่อขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตนตามมาตรา 47(2) แล้ว จึงจะสามารถผลิตยานั้นได้โดยไม่ต้องรับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยจำเลยที่ 1ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ผลิตยาแผนโบราณตามใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเภสัชกรรมส่วนจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเวชกรรม และเภสัชกรรม การที่จำเลยทั้งสองได้ดำเนินการผลิตยาแผนโบราณเป็นยาเม็ดลูกกลอนของกลาง จำนวน 2 ถุง ซึ่งมีผู้อื่นมาว่าจ้างให้จำเลยทั้งสองผลิต และยาของกลางมีส่วนผสมของมหาหิงคุ์ซึ่งถือว่าเป็นยาแผนโบราณ โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและไม่นำตำรับยาไปขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งจำเลยมิได้ผลิตเพื่อรักษาคนไข้ของตนเอง การที่จำเลยทั้งสองมิได้ผลิตยาของกลางเพื่อขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตน แม้จำเลยทั้งสอง จะได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ กรณีก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตาม พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 47(2) และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและไม่นำตำรับยาไปขอขึ้น ทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงไม่ได้ใบรับอนุญาตจากผู้อนุญาตให้ผลิตยาแผนโบราณได้ตามมาตรา 46 วรรคหนึ่งจำเลยทั้งสองจึงต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาฯมาตรา 72(4),79,122,123 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรม แม้ขณะ ป.ลงชื่อในคำร้องทุกข์ ขณะนั้นรายละเอียดต่าง ๆยังไม่ได้กรอกข้อความลงไป และ ป.ไม่ทราบว่าจะแจ้งความให้ดำเนินคดีจำเลยในความผิดฐานใดก็ตามแต่เมื่อปรากฏ ว่า ป.เป็นผู้ได้ตรวจค้นพบยาของกลางและได้บันทึกการยึดยาไว้ เมื่อผลการตรวจพิสูจน์พบว่าของกลางเป็นเนื้อที่เยื่อของพืชและมหาหิงคุ์ซึ่ง เป็นยาแผนโบราณ ผู้บังคับบัญชาจึงมอบหมายให้ ป.ไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี ดังนั้น เมื่อป.ได้รับมอบหมายให้ไปร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และการจะสอบสวนจำเลยในความผิดฐานใดนั้นย่อมเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะ ดำเนินการต่อไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสอบสวน ดังนั้นการสอบสวนจึงชอบแล้ว



________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยทั้งสองเป็นผู้ได้รับอนุญาต ให้ผลิตยาแผนโบราณจากผู้อนุญาตตามกฎหมาย เมื่อระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม 2534 ถึงวันที่ 4 กันยายน 2534 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตยาโดยยาดังกล่าวมีส่วนผสมเนื้อเยื่อของพืชและ มหาหิงคุ์ ซึ่งเป็นยาแผนโบราณตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 เป็นยาเม็ดลูกกลอนใช้ชื่อว่ายาเทวดา จำนวน 1 ถึง และยาเม็ดลูกกลอนไม่มีชื่อจำนวน 1 ถุง ซึ่งเป็นยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและจำเลยทั้งสองไม่นำตำรับยานั้นมาขอ ขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่ใช่เป็นกรณีที่ได้รับการยกเว้นอัน เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 72(4),79, 122, 123, 126 พระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522มาตรา 3 และริบของกลาง

          จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

          ศาล ชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 72(4), 79, 122, 123เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษหนักเท่ากัน ให้ลงโทษตามมาตรา 122 ให้ปรับจำเลยที่ 1จำนวน 5,000 บาท ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 เดือนและปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 2 รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ริบของกลาง

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

          ศาล อุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          จำเลยทั้งสองฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ผลิตยาแผนโบราณตามสำเนาใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผน โบราณ สาขาเภสัชกรรม จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเวชกรรมและเภสัชกรรม จำเลยทั้งสองได้ดำเนินการผลิตยาแผนโบราณเป็นยาเม็ดลูกกลอนจำนวน 2 ถุง ซึ่งมีผู้อื่นมาว่าจ้างให้จำเลยทั้งสองผลิตตามใบรับบดยาผงและปั๊มเม็ด กับรายการส่วนผสมเจ้าพนักงานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจค้นสถานการค้าของจำเลยที่ 1 พบยาแผนโบราณดังกล่าวเมื่อนำไปตรวจสอบแล้วพบว่ายาของกลางมีส่วนผสม ของมหาหิงคุ์ซึ่งถือว่าเป็นยาแผนโบราณโดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ขึ้นทะเบียน ตำรับยาและไม่นำตำรับยาไปขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งจำเลยมิได้ ผลิตเพื่อรักษาคนไข้ของตนเอง

          มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่าในการผลิตยาแผนโบราณตามพระราชบัญญัติยานั้น นอกจากผู้ผลิตจะต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามมาตรา 46 วรรคหนึ่งแล้ว ยังต้องปรากฏว่ายาแผนโบราณที่จะผลิตนั้นเองเป็นยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ไว้แล้ว ตามมาตรา 72(4) หรือผู้ผลิตได้นำตำรับยานั้นมาขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และได้รับ ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาแล้ว ตามมาตรา 79 จึงจะผลิตยานั้นได้ อย่างไรก็ตามหากเป็นการปรุงยาตามตำราที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา 76(1) โดยผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณและเป็นการทำเพื่อขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตน ตามมาตรา 47(2) แล้ว จึงจะสามารถผลิตยานั้นได้โดยไม่ต้องรับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงในคดีนี้ยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองมิได้ผลิตยาของกลางเพื่อขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตน แม้จำเลยทั้งสองจะได้ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ กรณีก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 47(2)และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและไม่นำตำรับยาไปขอขึ้น ทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงไม่ได้ใบรับอนุญาตจากผู้อนุญาตให้ผลิตยาแผนโบราณได้ตามมาตรา 46 วรรคหนึ่งจำเลยทั้งสองจึงต้องมีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

          มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อมาว่าการสอบสวนไม่ชอบ เพราะนายประธาน ประเสริฐวิทยาการเบิกความว่า ขณะลงชื่อในคำร้องทุกข์เอกสารหมาย จ.9 รายละเอียดต่าง ๆ ยังไม่ได้กรอกข้อความลงไป ไม่ทราบว่าจะแจ้งความให้ดำเนินคดีจำเลยในความผิดฐานใดในประเด็นนี้นายประธาน เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ได้ตรวจค้นพบยาของกลางและได้บันทึกการยึดยาไว้ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.8เมื่อผลการตรวจพิสูจน์พบว่าของกลางเป็นเนื้อเยื่อของพืชและมหาหิงคุ์ซึ่ง เป็นยาแผนโบราณผู้บังคับบัญชาจึงมอบหมายให้ไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีตาม เอกสารหมาย จ.9ร้อยตำรวจเอกทรงธรรม ศรีกาญจนา พนักงานสอบสวนเบิกความว่า นายประธานได้มาร้องทุกข์และนำเอกสารหมายจ.1 ถึง จ.8 มามอบให้ เห็นว่า ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายประธานได้รับมอบหมายให้ไปร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนการจะสอบสวนจำเลยทั้งสองในความผิดฐานใดนั้น ย่อมเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการต่อไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ จากการสอบสวนดังนั้นการสอบสวนจึงชอบแล้ว

          พิพากษายืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น