วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

คำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมอปลอมตรวจโรคและจ่ายยา

ข้อสังเกต คำพิพากษานี้เป็นเรื่องผู้แอบอ้างว่าเป็นแพทย์ตรวจโรคผู้อื่น เป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ถ้ามีการจ่ายยาแผนปัจจุบันด้วย การจ่ายยาไม่เข้าข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 13(3) ถือว่าเป็นการขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่รับอนุญาตตามมาตรา 12 ด้วย (ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ - สรุป)



คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11570/2553
พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี
     โจทก์
นายกิติพงษ์ ศรีผุดผ่อง กับพวก
     จำเลย

ป.อ. มาตรา 91
พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 4, 26, 43
พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 12, 101

          พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 4 บัญญัติว่า “วิชาชีพเวชกรรม” หมายความว่า วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค... การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามพระราชบัญญัติดังกล่าว สั่งจ่ายยารักษาให้แก่สายลับหลังจากจำเลยที่ 1 ตรวจและวินิจฉัยโรคให้แก่สายลับแล้ว โดยจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่จัดยาให้ตามใบสั่งแพทย์ของจำเลยที่ 1 และเก็บเงิน ล้วนเป็นการกระทำที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 อีกกระทงหนึ่งด้วย

________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 264 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 5, 6, 62, 106 พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4, 26, 43 พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12, 101 ริบของกลางและคืนธนบัตรจำนวน 220 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ

            จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหาปลอมเอกสารและข้อหาประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ให้การปฏิเสธในข้อหาร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 และประเภท 4 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

          จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4, 26, 43 พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 12, 101 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมเอกสาร ลงโทษจำคุก 1 ปี ฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน และฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี เฉพาะฐานปลอมเอกสารและฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน และ 3 เดือน ตามลำดับ รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 9 เดือน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4, 26, 43 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12, 101 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ลงโทษจำคุก 8 เดือน ฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน และฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 12 เดือน คืนธนบัตร 220 บาท ที่ใช้ล่อซื้อและยาของกลางแก่เจ้าของข้อหาและคำขออื่นให้ยก

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองในความผิดฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเสียด้วย และลดโทษให้แก่จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4 บัญญัติว่า “วิชาชีพเวชกรรม” หมายความว่าวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การผดุงครรภ์ การปรับสายตาด้วยเลนซ์สัมผัส การแทงเข็ม หรือการฝังเข็มเพื่อบำบัดโรคหรือเพื่อระงับความรู้สึก และหมายความรวมถึงการกระทำทางศัลยกรรม การใช้รังสี การฉีดยาหรือสสาร หรือการสอดใส่วัตถุใดๆ เข้าไปในร่างกาย ทั้งนี้ เพื่อการคุมกำเนิด การเสริมสวย หรือการบำรุงร่างกายด้วย การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามพระราชบัญญัติดังกล่าว สั่งจ่ายยารักษาให้แก่สายลับหลังจากจำเลยที่ 1 ตรวจและวินิจฉัยโรคให้แก่สายลับแล้ว โดยจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่จัดยาให้ตามใบสั่งแพทย์ของจำเลยที่ 1 และเก็บเงิน ล้วนเป็นการกระทำที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

          พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 3,000 บาท มีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4, 26, 43 จำคุก 6 เดือน ปรับ 3,000 บาท และมีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12, 101 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 1 ปี ปรับ 4,000 บาท ความผิดฐานปลอมเอกสารและความผิดฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 1,500 บาท และจำคุก 3 เดือน ปรับ 1,500 บาท ตามลำดับ รวมจำคุก 1 ปี 9 เดือน ปรับ 7,000 บาท จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 86 จำคุก 8 เดือน ปรับ 2,000 บาท มีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4, 26, 43 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำคุก 4 เดือน ปรับ 3,000 บาท และมีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12, 101 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 1 ปี ปรับ 4,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกสำหรับจำเลยทั้งสองให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสองฟัง และคุมความประพฤติของจำเลยทั้งสองไว้ โดยให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนดเวลาที่รอการลงโทษ กับให้จำเลยทั้งสองกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยทั้งสองเห็นสมควรจำนวน 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1


( สิริรัตน์ จันทรา - ธนฤกษ์ นิติเศรณี - สมยศ เข็มทอง )

ศาลจังหวัดนนทบุรี - นายวราวุธ ถาวรศิริ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายรัถยา สัตยาบัน

หมายเหตุ 
          ศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยว่า ความผิดฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม กับความผิดฐานขายยาบรรจุเสร็จหลายขนาน โดยจัดเป็นชุดในคราวเดียวกัน เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายต่างพระราชบัญญัติกันโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลแตกต่างกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละความผิดได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรม ไม่ใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท (ฎีกาที่ 5678/2544) เมื่อพิจารณาถึงความหมายของ "วิชาชีพเวชกรรม" ตามพระราชบัญัญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 4 ว่า "วิชาชีพเวชกรรม" หมายความว่า วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค..." ซึ่งลักษณะการกระทำต่อมนุษย์ตามความหมายวิชาชีพเวชกรรมดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าหาได้หมายความรวมถึงการสั่งจ่ายหรือการจัดยาให้แก่ผู้ป่วยด้วย ไม่ ทั้งในความเป็นจริงอาจมีผู้มาให้จำเลยที่ 1 ตรวจวินิจฉัยโรค โดยไม่มีการสั่งจ่ายยา หรือขายยาก็เป็นได้ ดังนั้น ตามคำพิพากษาฎีกาที่บันทึกนี้วินิจฉัยว่าการสั่งยาของจำเลยที่ 1 และการที่จำเลยที่ 2 จัดยาให้แก่ผู้ป่วยตามใบส่งแพทย์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอีกกระทงหนึ่งด้วย จึงชอบด้วยเหตุผล 

วรวิทย์ ฤทธิทิศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น