วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558

ระยะเวลาในการพิจารณาคดีจรรยาบรรณวิชาชีพ

ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 466/2557 กรณีที่มีการพิจารณาคดีจรรยาบรรณวิชาชีพหรือจริยธรรมวิชาชีพล่าช้า และตามกฎหมายเฉพาะไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ว่าให้พิจารณาเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาใด จึงต้องนำพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 45 มาใช้บังคับ ควรมีกำหนดระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องเรียน มิฉะนั้นถือว่าพิจารณาล่าช้าเกินสมควร เพื่อคุ้มครอง"สิทธิของคู่กรณีที่จะต้องได้รับการพิจารณาโดยรวดเร็ว"



__________

คอลัมน์ คดีปกครอง: '90 วัน'...ระยะเวลาอันสมควร ในการพิจารณาอุทธรณ์!
นายปกครอง. บ้านเมือง ฉบับวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2558 หน้า 3
         
          คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังฉบับนี้เป็นกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยให้ฝ่ายปกครองทำหน้าที่ภายในเวลาที่กำหนด เนื่องจากฝ่ายปกครองทำหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
          โดยคดีนี้สามีของผู้ฟ้องคดีได้เข้ารับการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลของรัฐ หลังจากแพทย์ตรวจดูอาการแล้วก็ให้กลับบ้าน แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยเกิดอาการช็อกไม่รู้สึกตัว จึงได้เข้าตรวจรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลอื่น
          ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นหนังสือร้องเรียนต่อแพทยสภา ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2553 ว่า แพทย์ของโรงพยาบาลของรัฐประมาทเลินเล่อวินิจฉัยโรคโดยประเมินอาการไม่ถูกต้อง และปล่อยให้กลับบ้านทั้งที่มีอาการป่วยอย่างหนัก จึงขอให้ตรวจสอบการทำงานของแพทย์ดังกล่าว เลขาธิการแพทยสภารับเรื่องร้องเรียนไว้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียน
          แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไป 1 ปี ก็ยังไม่ได้รับทราบคำวินิจฉัย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แพทยสภาพิจารณาเรื่องร้องเรียน
          แพทยสภาชี้แจงว่า จำเป็นต้องแสวงหาข้อเท็จจริงต่างๆ ให้ครบถ้วนและให้ความเป็นธรรมกับคู่กรณีทุกฝ่าย และไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนได้
          เรื่องนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 45 ได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งไว้ต้องพิจารณาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ทั้งหมดหรือบางส่วนให้รายงานความเห็นพร้อมเหตุผลไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลานั้น และผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงาน และขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้อีกไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลา ซึ่งรวมระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์คือเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์
          ดังนั้น คดีนี้ การที่แพทยสภาพิจารณาเรื่องร้องเรียนนานกว่า 1 ปี ถือว่าแพทยสภาละเลยหรือล่าช้าในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือไม่?
          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 และข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับคดีด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่แพทยสภาควรต้องดำเนินการในการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิจารณาสอบสวนความผิดด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมไว้ จึงต้องนำมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาใช้บังคับ

          ซึ่งเมื่อพิจารณาเทียบเคียงจากระยะเวลาขั้นสูงในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของฝ่ายปกครองตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว "ระยะเวลาอันสมควร" ที่จะถือเป็นเกณฑ์เบื้องต้นว่า แพทยสภาจำต้องพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ฟ้องคดีให้เสร็จสิ้นนั้น ควรมีกำหนดระยะเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่แพทยสภาได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องเรียน หาใช่ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดหรือไม่สามารถจะกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนได้ตามที่แพทยสภากล่าวอ้างแต่ประการใด และการที่เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง ทั้งที่เวลาได้ล่วงพ้นไปกว่า 1 ปี 6 เดือนแล้ว จึงถือว่าแพทยสภาปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ฟ้องคดีล่าช้าเกินสมควร (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 466/2557) คดีนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีแก่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอุทธรณ์หรือพิจารณาเรื่องร้องเรียนดังเช่นคดีนี้ว่า เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจะต้องเคารพต่อสิทธิของคู่กรณี โดยจะต้องพิจารณาโดยรวดเร็ว และที่สำคัญจะต้องอยู่ภายในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หากกฎหมายที่ให้อำนาจไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ ก็จะต้องนำระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประกันความเป็นธรรมให้แก่คู่กรณีในกระบวนการพิจารณาทางปกครองและมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการทั่วไปมาใช้บังคับ เพื่อคุ้มครอง"สิทธิของคู่กรณีที่จะต้องได้รับการพิจารณาโดยรวดเร็ว"...ครับ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น