ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
2.12
หน้าที่เฉพาะผู้รับอนุญาตขายยา
ผู้รับอนุญาตขายยา มีกรณีที่
พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510
กำหนดมาตรการเป็นพิเศษ ดังนี้
(1) ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตขายยานอกสถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต
เว้นแต่เป็นการขายส่ง กรณียาแผนปัจจุบัน ตามมาตรา 19(1) กรณียาแผนโบราณ ตามมาตรา
53
ขาย หมายความว่า ขาย หมายความว่า
ขายปลีก ขายส่ง จำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการมีไว้เพื่อขายด้วย
ขายส่ง หมายความว่า
ขายตรงต่อผู้รับอนุญาตขายยา ผู้รับอนุญาตขายส่งยา กระทรวง ทบวง กรม สภากาชาดไทย
องค์การเภสัชกรรม ผู้ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์
ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน
หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์
(2) ห้ามผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันไม่ตรงตามประเภทของใบอนุญาต
ตามมาตรา 19(2)
(3) ห้ามผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ
ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ
ตามมาตรา 19(3)
(4) ต้องแสดงป้าย จัดแยกเก็บยา
จัดสถานที่ให้เป็นส่วนสัด จัดทำฉลาก ทำบัญชีซื้อขาย และตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ตามมาตรา 26
(5) ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรหรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 32
(6) ปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับการขายยาแผนปัจจุบัน
พ.ศ. .... ซึ่งจะยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2525)
ออกตามความในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2528)
ออกตามความในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ศึกษารายละเอียดได้จาก วิเคราะห์กฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน
พ.ศ. 2556 (http://rparun.blogspot.com/2014/03/ministerialregulation25561227-license.html)
คำถาม: นายเอ
เป็นผู้รับอนุญาตและเป็นเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านขายยาแผนปัจจุบัน
ประเภท ข.ย.1 ได้ออกนอกร้านเพื่อไปซื้อยาจากร้านขายส่งยา
ระหว่างเดินทางกลับร้านของตนได้พบกับเพื่อน คือ นายบีซึ่งเป็นแพทย์
นายบีเห็นว่านายเอมียาจำนวนมาก แต่ได้ขอซื้อยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) จำนวน 1 แผง และนายเอได้ขายยานั้นให้กับนายบี
การกระทำของนายเอมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 หรือไม่?
คำแนะนำ: คำถามนี้ต้องการทดสอบความเข้าใจเรื่องการใช้นิยามศัพท์ของกฎหมาย
แม้ว่าคำถามนี้อาจจะดูไร้สาระ
แต่ลองสมมติตนเองเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าหากพบกรณีดังกล่าวจะสามารถดำเนินคดีได้หรือไม่อย่างไร
คำถามนี้เป็นการซักซ้อมเรื่องการสังเกตถ้อยคำที่ใช้ในกฎหมาย
ตีความกฎหมาย และหลักการสำคัญของกฎหมาย คือ
"บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำ
นั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย"
(หลักสิทธิมนุษยชนด้วย)
นิยาม "ขายส่ง" ตาม
พ.ร.บ.ยาฯ จะเห็นได้ว่าขัดต่อความรู้สึกของคนทั่วไป
เพราะไม่ได้เน้นที่จำนวนแต่เน้นที่ผู้รับ (ลูกค้า) ว่าเป็นใคร
จากนิยาม "ขายส่ง"
ที่กฎหมายบัญญัติว่า “ขายส่ง” หมายความว่า ขายตรงต่อผู้รับอนุญาตขายยา
ผู้รับอนุญาตขายส่งยา กระทรวง ทบวง กรม สภากาชาดไทย องค์การเภสัชกรรม
ผู้ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์
ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน
หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์
ลองพิจารณาให้ดี กฎหมายเขียนว่า
"ขายส่ง" หมายความว่า ขายตรงต่อ.... ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม, และผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นใครก็ไปดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
คือ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 (คนทั่วไปก็อาจเข้าใจว่าเป็น "แพทย์"
นั่นเอง) และไม่จำเป็นต้องมีคลินิกก็ได้
กฎหมายที่เราเห็นขณะนี้ คือ มาตรา
19(1) เขียนว่า
ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาต...ขายยาแผนปัจจุบันนอกสถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต
เว้นแต่เป็นการขายส่ง ตรงนี้ให้เฉพาะผู้รับอนุญาต
ต่อมาเราก็มาดูว่ามีเงื่อนไขอื่นเกี่ยวกับการขายส่งอีกไหม
ขั้นแรก เห็นว่าน่าจะมีมาตรา 15
ผู้ที่ได้รับใบอนุญาต ข.ย.1
หรือใบอนุญาตตามมาตรา 15(2) ถือว่าได้รับใบอนุญาตขายส่ง ตามมาตรา 15(3) ตามมาตรา
15 วรรคสาม ดังนั้น จึงมีสิทธิที่จะขายส่งได้
ถ้าถามว่าลูกจ้างของผู้รับอนุญาตทำได้ไหม
ก็ให้ดูมาตรา 16
"มาตรา 16 ใบอนุญาตที่ออกตามมาตรา 15
ให้คุ้มกันถึงลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับอนุญาตด้วย"
ใบอนุญาตที่มีคุ้มกันถึงลูกจ้างหรือตัวแทน
ก็หมายความว่า ถ้าผู้รับอนุญาตมีใบอนุญาตไม่ว่าจะเป็นผลิต ขาย นำเข้า, หากลูกจ้างหรือตัวแทนหากจะผลิต
ขาย นำเข้ายานั้นก็ไม่ต้องไปขอใบอนุญาตอีก ดังนั้นลูกจ้างก็ทำได้
ปัญหาต่อไป
ผู้รับอนุญาตหรือลูกจ้างก็ขายยานอกสถานที่ในกรณีที่เป็นการขายส่งได้
แล้วยาที่ขายมีระดับการควบคุมการขายอย่างไร
ยาที่ขายเป็นไอบูโพรเฟน
ชนิดรับประทาน ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม NSAIDs จัดเป็นยาอันตราย
และร้านยาที่จะขายยาอันตรายได้ก็ต้องเป็นร้านขายยา ข.ย.1
(หรือผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 15(2)) ซึ่งกรณีนี้เขาเป็นร้าน ข.ย.1
อยู่แล้วจึงมีสิทธิขายยานี้ได้
คนที่ขายยาอันตรายได้เป็นใคร
"มาตรา 32
ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรหรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่"
ดังนั้น แม้จะเป็นผู้รับอนุญาต
แต่ก็ติดปัญหาตรงที่ว่า
หากไม่ใช่เภสัชกรแล้วก็ไม่สามารถขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษได้ ตามมาตรา 32
จึงเป็นที่มาของโจทย์นี้ว่า
ทำไมจึงต้องให้นายเอเป็นทั้งผู้รับอนุญาตและเป็นเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ
(คนเดียวควบ 2 ตำแหน่งก็ได้เพราะกฎหมายไม่ห้าม
และไม่ติดขัดเรื่องจำนวนเหมือนกับผู้ผลิตยา)
ด้วยเหตุนี้
การกระทำของนายเอจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น