วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2558

พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510: 2.1 ผู้รับอนุญาต คือ ใคร

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์



ส่วนที่ 2 ผู้รับอนุญาต

2.1 ผู้รับอนุญาต คือ ใคร
2.2 คุณสมบัติทั่วไปผู้รับใบอนุญาต
2.3 ประเภทของใบอนุญาต
2.4 อายุของใบอนุญาตและการต่ออายุใบอนุญาต
2.5 กรณีผู้อนุญาตไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต
2.6 กรณีผู้รับอนุญาตถูกพักใช้ใบอนุญาต
2.7 กรณีผู้รับอนุญาตถูกเพิกถอนใบอนุญาต
2.8 กรณีการเลิกกิจการ
2.9 กรณีการเปลี่ยนตัวผู้รับอนุญาต
2.10 หน้าที่ทั่วไปของผู้รับอนุญาตผลิต ขาย นำเข้ายา
2.11 หน้าที่เฉพาะของผู้รับอนุญาตผลิตยา
2.12 หน้าที่เฉพาะผู้รับอนุญาตขายยา




2.1 ผู้รับอนุญาต คือ ใคร
          “ผู้รับอนุญาต” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ และในกรณีนิติบุคคลเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต ให้หมายความรวมถึงผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการด้วย

 ภาพแสดงความแตกต่างของคำว่า "ผู้ขออนุญาต" "ผู้อนุญาต" "ผู้รับอนุญาต" (ผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้นำเข้า) "ผู้ใด"

           เมื่อเข้าข่ายผู้รับอนุญาตตามกฎหมายแล้ว ก็มีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับผู้รับอนุญาต เช่น การห้ามผลิตหรือขายยานอกสถานที่ที่ได้รับอนุญาต เว้นแต่เป็นการขายส่งตามมาตรา 19(1), การขึ้นทะเบียนตำรับยา, การทำบัญชีที่เกี่ยวข้องกับยา


ตัวอย่าง แพทย์หากสั่งซื้อยาเข้ามาใช้ในคลินิก มีหน้าที่ต้องทำบัญชีซื้อยาหรือบัญชีขายยาตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 หรือไม่อย่างไร

          มาตรา 26 ให้ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันปฏิบัติดังต่อไปนี้
          .....
          (6) ทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
          .....
          ความในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับแก่ผู้รับอนุญาตซึ่งได้รับใบอนุญาตขายยาตามมาตรา 15 (4) และ (5) โดยอนุโลม

เนื่องจากการขายยาซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตน ไม่ต้องได้รับใบอนุญาตขายยาตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 13(3) ส่งผลให้แพทย์คนดังกล่าวไม่อยู่ในฐานะผู้รับอนุญาตขายยาตามมาตรา 12 เมื่อไม่เป็นผู้รับอนุญาตขายยาแล้ว จึงไม่มีหน้าที่ทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามมาตรา 26(6) ด้วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เป็นความเหลื่อมล้ำของวิชาชีพและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับยา หากเป็นสถานที่ขายยาซึ่งเป็นผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันต้องมีหน้าที่ทำบัญชีทั้งบัญชีซื้อยาหรือบัญชีขายยาและเภสัชกรก็ต้องมีบทบาทในการควบคุมการทำบัญชียาด้วย แต่ถ้าเป็นการจ่ายยาของแพทย์สำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายแล้ว กลับไม่ต้องมีภาระหน้าที่ในการทำบัญชียา ซึ่งเป็นผลของกฎหมาย นอกจากนี้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ในปัจจุบันก็ไม่ได้มีมาตรการให้แพทย์ต้องทำบัญชียาด้วย
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น