วันเสาร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2558

พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510: 4.3 กรณีศึกษาช่วงเวลาการเปิดร้านขายยาแผนปัจจุบัน

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์


4.3 กรณีศึกษาช่วงเวลาการเปิดร้านขายยาแผนปัจจุบัน
          โปรดศึกษา เวลาเปิดทำการตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ได้ที่ http://rparun.blogspot.com/2012/08/openingtime.html

           กรณีที่เข้าใจกันว่าร้านขายยาแม้เปิดร้านทั้งวัน แต่ต้องมีเภสัชกรอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวันนั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2527 ได้หมดระยะเวลาผ่อนผันโดยสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2529 แล้ว ดังนั้น เมื่อเปิดร้านเพื่อขายยาจึงต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำตลอดเวลาที่เปิดทำการ  

           นอกจากนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกมายืนยันอีกครั้ง โดยมีการประชาสัมพันธ์เรื่อง “ย้ำชัด ๆ ร้านขายยาแผนปัจจุบัน จะซื้อ...จะขายยา ต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำตลอดเวลา” ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 11 มกราคม 2553 หน้า 15





           รศ.ดร.ทิพาพร พิมพิสุทธิ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เขียนถึงความเป็นมาเรื่องการกำหนดให้ร้านขายยาต้องมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาที่เปิดทำการ ในหนังสือ "การกำหนดและการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ" (PA370) ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง สรุปได้ดังนี้


           เรื่องการกำหนดให้ร้านขายยาต้องมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาที่เปิดทำการ นี้มีการเล่าถึงประวัติความเป็นมาของนโยบาย คือ เพื่อให้เภสัชกรควบคุมการขายและจำหน่ายยาเพื่อให้ประชาชนได้ยาที่มีมาตรฐาน คุณภาพดี เหมาะสมกับโรคภัยไข้เจ็บ และปลอดภัยในการใช้ยา นโยบายนี้เกิดขึ้นมาจากการริเริ่มผลักดันของข้าราชการมากกว่าการริเริ่มจากสมาชิกรัฐสภา และการกล่าวถึงกลุ่มธุรกิจ สมาคมที่คัดค้านว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น สมาคมร้านขายยา แต่ในขณะที่เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยเห็นว่าการกำหนดนโยบายนี้ไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติแต่อย่างใด

           กลุ่มผู้คัดค้านได้พยายามผลักดันนโยบายให้มีการผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายออกไป ซึ่งทำได้สำเร็จ โดยมีการขยายระยะเวลาให้ร้านยาต้องมีเภสัชกรประจำอย่างน้อย 3 ชั่วโมงติดต่อกันในเวลาเปิดทำการ ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2529 (ปัจจุบันในทางกฎหมายไม่มีการผ่อนผันให้อีก) โดยเหตุผลในการอ้าง คือ เภสัชกรมีจำนวนไม่เพียงพอ เงินเดือนของเภสัชกรสูง ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะจ้างเภสัชกร การอยู่ร้านทำให้ราคายาของร้านยาเพิ่มสูงขึ้น เภสัชกรไม่ยอมมาอยู่ประจำร้านยาเนื่องจากความมั่นคงน้อยกว่างานที่ทำประจำอยู่เดิม

           หนังสือเล่มนี้มีการตั้งข้อสังเกตบางประการที่ทำให้นโยบายนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ขาดการศึกษาวิจัยเรื่องสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม ตัวอย่างเช่น ประชาชนต้องการบริการจากเภสัชกรในร้านขายยามากน้อยเพียงใด ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่มีเภสัชกรให้บริการในการซื้อยามากน้อยเพียงใด ที่สำคัญ คือ เภสัชกรนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างไร

(ที่มา: ทิพาพร พิมพิสุทธิ์. การกำหนดและการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ (PA370). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ฉบับปรับปรุงใหม่ พ.ศ.2551. หน้า 128-141
http://e-book.ram.edu/e-book/p/PA370%2851%29/PA370-6.pdf )





1 ความคิดเห็น:

  1. เราเสนอสินเชื่อจาก€ 100,000.00 ถึง 200,000,00 €ในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมและไม่มีการตรวจสอบเครดิตเราเสนอสินเชื่อส่วนบุคคลสินเชื่อรวมหนี้เงินร่วมทุนสินเชื่อธุรกิจสินเชื่อเพื่อการศึกษา ? เรามีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% !!!
    อีเมล: guaranteeloanoffer@outlook.com หรือติดต่อ WhatsApp @ +38972751056

    ตอบลบ