วันจันทร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2558

สถานะทางกฎหมายของคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol)

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
สถานะทางกฎหมายของคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol)  

ข้อมูลประกอบการพิจารณา
(1) ที่ใช้ภายในสำหรับผู้ใหญ่ ยาควบคุมพิเศษ ลำดับที่ 64
(2) สำหรับเด็ก ยาควบคุมพิเศษ ลำดับที่ 39
(3) สำหรับสัตว์ ยาควบคุมพิเศษ ลำดับที่ 61
(4) ยาจำพวกปฏิชีวนะ (Antibiotics ) ยาอันตราย ลำดับที่ 37 ยกเว้น
  ก. สำหรับใช้เฉพาะที่ ทั้งนี้ไม่รวมถึงยาจำพวกเพนิซิลลิน
  ข. เพนิซิลลิน วี โปแตสเซียม ( Penicillin V Potassium ) ที่ผลิตขึ้นเป็นยาบรรจุเสร็จชนิดดรายไซรัป ( Dry Syrup ) ซึ่งในน้ำยา 5 มิลลิลิตร มีเพนิซิลลิน วี (Penicillin V ) ขนาด 200,000 ยูนิต
  ค. ที่เป็นยาควบคุมพิเศษ
(5) ไม่มีรายชื่อ Chloramphenicol ในรายการยาสามัญประจำบ้าน 
(6) เพิกถอนทะเบียนตำรับยา
     (6.1) ทะเบียนตำรับยาในรูปแบบชนิดผงบรรจุซองทุกตำรับที่มีตัวยาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) อยู่ในสูตรตำรับ (คำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 187/2530 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา)
     (6.2) ทะเบียนตำรับยาที่มีคลอแรมเฟนิคอล(Chloramphenicol) อนุพันธ์ และเกลือของยานี้ (derivatives and its salts) รวมทั้งเกลือของอนุพันธ์ผสมอยู่ ซึ่งนำมาใช้ในสัตว์ที่ใช้บริโภค (Food producing animals) ทุกรูปแบบ (คำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 678/2531 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา) แต่ต่อมามีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 1222/2558 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา ยกเลิก คำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 678/2531 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา แต่เนื้อหาสาระจริง ให้นำฟลอเฟนิคอล (florphenicol) มาใช้กับสัตว์ที่ใช้บริโภคได้
     (6.3) ตำรับยาผสมระหว่างคลอแรมเฟนิคอล(Chloramphenicol) กับ ไนโทรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin) ซัลฟิซอกซาโซล (Sulfisoxazole) และ เมธิลีน บลู (Methylene Blue) (คำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 574/2532 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา)


คลอแรมเฟนิคอล ชนิดหยอดตา ป้ายตา หยอดหู เป็นรูปแบบยาใช้เฉพาะที่ กรณีที่นำมาใช้สำหรับมนุษย์ในผู้ใหญ่ไม่เข้าข่ายยาควบคุมพิเศษ ลำดับที่ 64 เนื่องจากไม่ใช่ยาใช้ภายใน (ตัวอย่างรูปแบบยาใช้ภายใน เช่น ยารับประทาน ยาฉีด)

แต่ถ้ามีข้อบ่งใช้สำหรับเด็กเมื่อไหร่ จะถูกจัดเป็นยาควบคุมพิเศษลำดับที่ 39 หรือมีข้อบ่งใช้สำหรับสัตว์ จะถูกจัดเป็นยาควบคุมพิเศษลำดับที่ 61 ทันที เนื่องจากการใช้สำหรับเด็กหรือสำหรับสัตว์นั้นประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ไม่ได้กำหนดรูปแบบการใช้ จึงต้องรวมทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นรับประทาน ยาฉีด ยาใช้ภายนอก ยาใช้เฉพาะที่ เป็นยาควบคุมพิเศษทั้งหมด

ไม่มีรายการยาคลอแรมเฟนิคอล เป็นยาสามัญประจำบ้าน ดังนั้น จึงตัดสถานะที่ระบุว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านออกได้เลย

ทีนี้ต่อมาดูสถานะยาอันตราย ไม่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง คลอแรมเฟนิคอล เป็นยาอันตรายไว้เป็นพิเศษ แต่ว่าคลอแรมเฟนิคอล ก็ถือว่าเป็นยาจำพวกยาปฏิชีวนะได้ ซึ่งเป็นยาอันตรายลำดับที่ 37 กรณีที่เป็นรูปแบบรับประทานถ้ามีข้อบ่งใช้ในมนุษย์ที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็อาจเป็นยาอันตรายก็ได้ แต่เนื่องจากมีการควบคุมคลอแรมเฟนิคอลที่ใช้ภายในสำหรับผู้ใหญ่ เป็นยาควบคุมพิเศษ ลำดับที่ 64 ซึ่งมีสถานะที่เข้มงวดกว่าแล้ว จึงต้องจัดให้คลอแรมเฟนิคอลสำหรับผู้ใหญ่ชนิดรับประทานให้เป็นยาควบคุมพิเศษ 



ถ้ามีรูปแบบยาทาผิวหนังซึ่งตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 จะถูกกำหนดเป็นยาใช้ภายนอก หากใช้กับผู้ใหญ่จึงต้องเป็นยาอันตราย


ถ้าเป็นคลอแรมเฟนิคอล ชนิดหยอดตา ป้ายตา หยอดหู สำหรับผู้ใหญ่ เข้าข่ายยาปฏิชีวนะที่ใช้เฉพาะที่ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของยาอันตราย ลำดับที่ 37 จึงไม่เป็นยาอันตราย มีสถานะเป็นยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ เท่านั้น


สรุป
1. คลอแรมเฟนิคอลที่มีข้อบ่งใช้สำหรับเด็กหรือสัตว์ ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นรูปแบบรับประทาน ยาฉีด ยาใช้ภายนอก ยาใช้เฉพาะที่ เป็นยาควบคุมพิเศษ (สำหรับเด็ก เป็นยาควบคุมพิเศษ ลำดับที่ 39 สำหรับสัตว์เป็นยาควบคุมพิเศษ ลำดับที่ 61)
2. คลอแรมเฟนิคอลที่มีข้อบ่งใช้สำหรับมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ หากเป็นรูปแบบใช้ภายใน เช่น รูปแบบยารับประทาน เป็นยาควบคุมพิเศษ ลำดับที่ 64
3. คลอแรมเฟนิคอลที่เป็นยาใช้ภายนอก (เช่น สำหรับทาผิวหนัง) เป็นยาอันตราย ลำดับที่ 37 (แต่ต้องไม่ลืมว่าถ้าระบุข้อบ่งใช้สำหรับเด็กหรือสัตว์ด้วยจะเป็นยาควบคุมพิเศษทันที)
4. คลอแรมเฟนิคอลชนิดหยอดตา ป้ายตา หยอดหู เป็นรูปแบบยาใช้เฉพาะที่ ยกเว้นไม่เป็นยาอันตรายลำดับที่ 37 จึงมีสถานะเป็นยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ
5. ไม่มีการกำหนดให้คลอแรมเฟนิคอลทุกรูปแบบเป็นยาสามัญประจำบ้าน ดังนั้น จึงไม่เป็นยาสามัญประจำบ้าน
6. หากเข้าข่ายกรณีดังต่อไปนี้ เป็นยาที่ถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับยาแล้ว ห้ามผลิต ขาย นำเข้าในประเทศไทย
     (6.1) ทะเบียนตำรับยาในรูปแบบชนิดผงบรรจุซองทุกตำรับที่มีตัวยาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) อยู่ในสูตรตำรับ (คำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 187/2530 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา)
     (6.2) ทะเบียนตำรับยาที่มีคลอแรมเฟนิคอล(Chloramphenicol) อนุพันธ์ และเกลือของยานี้ (derivatives and its salts) รวมทั้งเกลือของอนุพันธ์ผสมอยู่ ซึ่งนำมาใช้ในสัตว์ที่ใช้บริโภค  (Food producing animals) ยกเว้นยาฟลอเฟนิคอล (florfenicol) (คำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 1222/2558เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา) 
     (6.3) ตำรับยาผสมระหว่างคลอแรมเฟนิคอล(Chloramphenicol) กับ ไนโทรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin) ซัลฟิซอกซาโซล (Sulfisoxazole) และ เมธิลีน บลู (Methylene Blue) (คำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 574/2532 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา)

7. อื่น ๆ เช่น กรณียาคลอแรมเฟนิคอลสำหรับใช้ภายใน ต้องแสดงในฉลากและเอกสารกำกับยาว่า (1) ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้ (2) ห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ป่วยด้วยโรคตับ หญิงมีครรภ์ ระยะให้นมบุตร (3) ยานี้อาจทำให้เกิดอันตรายถึงตายได้ ให้ใช้ตามแพทย์สั่งโดยเคร่งครัด





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น